Deep in Mind Sea
รู้จักตัวตนที่ไม่มีใครเคยเห็นของ Mackcha ผ่านนิทรรศการ Deep in Mind Sea
- DEEP IN MIND SEA นิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกของ MACKCHA หรือ แม็กกี้ – ชรารัตติ์ สาระอาภรณ์ ที่จะพาเราไปรู้จักกับตัวตนอีกด้านหนึ่งของเธอ ให้เราได้ดำดิ่งสู่ห้วงทะเลของหัวใจศิลปิน และรู้จักเธอมากขึ้นผ่านผลงานในครั้งนี้
- MACKCHA ถ่ายทอดมวลอารมณ์และเรื่องราวในชีวิต ผ่านคาแรกเตอร์ CHALOTTE (ชาลอต) เด็กหญิงเจ้าน้ำตาที่มีลายเส้นเรียบง่าย โทนสีสบายตา แววตาโศกแต่นุ่มลึกชวนมอง
ถ้าการอ่านหนังสือ ทำให้เราเข้าใจตัวเองมากขึ้นจากการได้สำรวจชีวิตคนอื่นผ่านตัวอักษร การเดินเข้าไปในนิทรรศการ DEEP IN MIND SEA ครั้งนี้คงไม่ต่างกัน เพราะการได้ทำความรู้จักใครสักคนผ่านความรู้สึกที่อัดแน่นอยู่ในภาพวาด อาจช่วยสะท้อนความเข้าใจบางอย่างในตัวเอง
เรานัดเจ้าของผลงาน MACKCHA หรือ แม็กกี้ - ชรารัตติ์ สาระอาภรณ์ หลายคนอาจรู้จักเธอในฐานะอินฟลูเอนเซอร์หรือยูทูบเบอร์มาบ้างแล้ว รอยยิ้มและเสียงหัวเราะเป็นภาพจำที่ทำให้ใครต่อใครต่างพากันเรียกเธอว่า ‘พระอาทิตย์’ แต่นิทรรศการในครั้งนี้จะพาเราไปรู้จักอีกด้านหนึ่งของความสดใส เพื่อให้ได้รู้จักแม็กกี้มากยิ่งขึ้น พร้อมสำรวจส่วนลึกในจิตใจของตัวเองไปในขณะเดียวกันด้วย
หนทางที่เลือกเดิน
แม็กกี้ชอบวาดรูป มีความสุขกับการจับปลายดินสอสะบัดพู่กันแต้มแต่งสี เคยเดินสายประกวดวาดรูปและคว้ารางวัลมาแล้ว ตั้งใจฝึกฝนจนสอบติดคณะที่คาดว่าจะได้คลุกคลีอยู่กับการวาดรูป แต่กลับค้นพบว่าความสุขในการไปเรียนเริ่มร่วงหล่นระหว่างทาง จนกลายเป็นความฝืนทน อาชีพที่อยู่ปลายทางของใบปริญญาไม่ใช่จุดหมายชีวิตอีกต่อไป ผ่านช่วงตั้งคำถามเพื่อทบทวนตัวเองอยู่หลายครั้ง และพบว่ากำลังเดินบนเส้นทางที่ไม่ได้เลือกเอง คำตอบที่ลึกลงไปคือการหวังให้แม่ภูมิใจเพียงเท่านั้น
แต่แล้วความรู้สึกอันหนักอึ้งก็ถูกปลดล็อก เมื่อเสียงปลายสายจากแม่บอกให้เลือกเส้นทางที่เธอมีความสุข เพราะแม่จะมีความสุขด้วยเช่นกัน หนึ่งสัปดาห์หลังจากนั้น เธอก้าวออกจากรั้วสถานศึกษา เพื่อกลับมาค้นหาสิ่งที่ตัวเองอยากทำจริงๆ อีกครั้ง
การวาดรูปยังคงเป็นคำตอบ ทำให้แม็กกี้ใช้เวลาหลังจากนั้นทำงานศิลปะ จนสามารถหารายได้ประคับประคองตัวเองได้จากการขาย NFT และทำช่อง YOUTUBE แต่ยังคิดจะกลับไปเรียนอีกครั้งในสาขาที่ตรงสายกว่าเดิม ไม่นานความคิดนี้ก็ถูกเบรก ด้วยเสียงจากคนรอบข้างที่ย้ำบอกเธอว่า ‘สิ่งที่เป็นอยู่นั้นดีมากแล้ว’ การได้มีเวลาทำสิ่งที่รักอย่างตั้งใจ การได้ทำงานศิลปะที่ไม่ต้องอยู่ในกรอบหรือกฎเกณฑ์ของใคร ซึ่งอาจทำให้เธอสูญเสียความเป็นตัวเองไปทีละนิด
เมื่อได้ทบทวนถึงเป้าหมายตัวเองอีกครั้ง… เธอตัดสินใจจะแน่วแน่ในเส้นทางที่เลือกเดิน โดยไม่ยอมให้ปัจจัยภายนอกมาสั่นคลอนสิ่งที่เธอทำ นี่เป็นหนทางที่เลือกแล้วว่าจะสร้างงานศิลปะไปเรื่อยๆ ในแบบของเธอ
รู้จัก ‘Mackcha’ ผ่าน ‘ชาลอต’
“แค่อยากมีรูปโปรไฟล์น่ารักๆ เป็นของตัวเองแบบไม่ซ้ำใคร” นั่นเป็นเหตุผลง่ายๆ ให้แม็กกี้เริ่มวาดเด็กผู้หญิงคนหนึ่งขึ้นมาจากความเป็นตัวเอง จนเป็นที่รู้จักในชื่อ ‘ชาลอต’
ชาลอตมีความเป็นเด็ก ผมสีขาวหยิกสั้น มีประกายความเศร้าปรากฏในแววตา สวมชุดมีระบายเหมือนริ้วคลื่นราวกับว่าโผล่พ้นออกมาจากใต้ทะเล มีเพื่อนสนิทเป็นวาฬและสัตว์ใต้น้ำอีกหลายชนิด ทุกสิ่งอย่างสัมพันธ์และสะท้อนตัวตนของ MACKCHA ไว้ทั้งหมด “คงเพราะเราใส่ความชอบ ใส่เป็นตัวเองทุกอย่างลงไป เลยรู้สึกเหมือนเชื่อมต่อกันเลยกลายเป็นว่ามีคาแรคเตอร์ไปแบบที่ไม่ได้ตั้งใจ” (ยิ้ม)
เธอถ่ายทอดมวลอารมณ์ความรู้สึก เรื่องราวในชีวิต รวมทั้งความหวังเอาไว้ในผลงาน ผ่านลายเส้น โทนสี และแววตาของชาลอต ยิ่งเราจ้องมองเข้าไปในประกายตาสีฟ้าหม่น ยิ่งเหมือนถูกสะกดให้ดำดิ่งลงไปใต้ท้องทะเลลึกหรือก้นบึ้งความรู้สึกของผู้เป็นศิลปิน
ไม่แปลกใจเลยว่า ทำไม DEEP IN MIND SEA เข้าถึงความรู้สึกของผู้คนได้มากมาย
เพราะ MACKCHA ไม่เพียงจับพู่กันแล้วสาดสีลงบนผืนผ้าใบ แต่กลับสาดเอาความรู้สึกที่กองอยู่ในส่วนลึกของจิตใจลงไปด้วยในทุกครั้ง ทุกภาพวาดจึงหอบเรื่องราวบางอย่างสาดเข้ามาในหัวใจของเราในขณะเดินชมนิทรรศการ
อีกมุมหนึ่งของพระอาทิตย์
จะเห็นว่าไม่มีรอยยิ้มอยู่บนใบหน้าของชาลอต นั่นเป็นความตั้งใจของเธอที่อยากถ่ายทอดอีกมุมหนึ่งของตัวตนให้ผู้คนมากมายได้รับรู้ อย่างที่แม็กกี้ย้ำกับเราเสมอว่า เธอที่สดใสก็คือเธอ เธอที่แสนเศร้าก็คือเธอ ไม่ว่าจะด้านที่เลือกแสดงออกหรือเก็บไว้ ล้วนเป็นความจริง ทั้งสองสิ่งไม่ใช่เรื่องโกหก
“แม็กรู้สึกว่ายิ้มในชีวิตจริงไปเยอะมากแล้ว สิ่งที่โหยหากับการทำงานศิลปะ เลยเป็นอีกด้านหนึ่งที่ไม่เคยแสดงออกในชีวิตจริง ไม่ใช่ว่าแสดงออกไม่ได้ แต่อาจเพราะไม่ถนัดจะทำหน้านิ่งๆ หรือแสดงออกว่าเศร้า เลยตัดสินใจถ่ายทอดมุมนี้ลงไปในงานศิลปะแทน” เธออธิบาย
แม้สีหน้าและแววตาจะดูเศร้า แต่เราว่าชาลอตกล้าหาญที่เผชิญกับความเศร้านั้นอย่างไม่ปิดบัง
เราทุกคนต่างมีช่วงเวลาเหล่านั้น ช่วงเวลาที่มรสุมขนาดกลางถึงใหญ่พัดเข้ามาในชีวิต หรือเพียงชั่วครู่ที่ความเศร้าแวะเข้ามาทายทัก แต่กลับเป็นชั่วขณะที่พรากรอยยิ้มไปจากเราได้แบบไม่ทันรู้ตัว… ภาพตรงหน้าทำให้เราเห็นตัวเองในวันนั้น
ส่วนความดูตัวเล็กตัวน้อยของชาลอตที่เราเห็นกันนี้ แม็กกี้เฉลยว่า จากวันแรกที่เริ่มวาดชาลอตมีความเด็กลงเรื่อยๆ แบบที่เธอเองก็ไม่รู้ตัว “คงเพราะวาดรูปเกี่ยวกับอารมณ์ เลยมองว่าพอเป็นเด็กแล้วมันดูซื่อตรง” บางทีเราอาจกำลังโตขึ้นโดยลืมความเป็นเด็กในตัวเอง คือสิ่งที่แม็กกี้ชวนให้เราคิด
ความเป็นเด็กที่เธอว่านี้อาจหมายถึง การยอมรับความรู้สึกตัวเองอย่างซื่อตรง การยอมรับว่าขณะนั้นกำลังเศร้าหรือเสียใจอาจไม่ใช่เรื่องแย่เสมอไป และไม่จำเป็นที่เราต้องดึงฉากม่านแห่งรอยยิ้มลงมาปิดไว้ทุกครั้ง
กำลังใจในจินตนาการ
ชาลอตเป็นเด็กที่ชอบทะเลและรักวาฬ แม็กกี้เองก็เช่นกัน
“หลังจากผ่านช่วงที่ต้องตั้งคำถามและทบทวนตัวเองอยู่หลายครั้ง แม็กมีโอกาสไปเที่ยวทะเล แค่ได้นั่งมองทะเลกลับรู้สึกดีขึ้นมาเฉยเลย ทั้งๆ ที่เจอปัญหามาหลายอย่าง จากนั้นก็เริ่มสนใจทะเลมากขึ้น” …เป็นพื้นที่ของความสบายใจ… ทะเลคงมีความหมายกับเธออย่างนั้น และคงเป็นเช่นเดียวกับหลายๆ คน
จากการนั่งพูดคุยกันมาสักระยะ เราได้รู้ว่าสำหรับแม็กกี้ ‘วาฬ’ เป็นเหมือนเครื่องหมายการมีชีวิตสำหรับเธอ “วาฬทำให้แม็กรู้สึกว่า การมีชีวิตอยู่มันมีค่า เพราะแค่เขากระโดดขึ้นมาเหนือน้ำ ยังทำให้เกิดออกซิเจนได้มากมาย แล้วเราเป็นมนุษย์ที่สามารถทำลายเขาได้ด้วยซ้ำ เราน่าจะทำอะไรที่มีประโยชน์และยิ่งใหญ่มากๆ ได้เหมือนกัน” เธอเล่าถึงจุดเปลี่ยนความคิดครั้งสำคัญด้วยรอยยิ้ม
แม็กกี้จึงหวังเล็กๆ ว่า การที่เธอวาดรูปสัตว์ทะเลอาจเป็นจุดเริ่มต้นให้ใครสักคนเริ่มหันมารักสัตว์ทะเลมากขึ้น เพราะเธอเชื่อว่า “ถ้าเรารักสิ่งนั้น เราจะอยากดูแล” ส่วนเธอเองจะอนุรักษ์และส่งต่อเรื่องราวของสัตว์ทะเลในแบบที่ตัวเองถนัดต่อไป
DEEP IN MIND SEA
นิทรรศการนี้มีทั้งหมด 3 โซนด้วยกัน ไล่เฉดโทนสีฟ้าสว่างสดใสไปถึงโทนสีน้ำเงินเข้ม อิงตามระดับสีน้ำทะเลเพื่อเปรียบกับส่วนลึกของจิตใจ โซนสุดท้ายจึงเป็นเหมือนพื้นที่ปลอดภัยของ MACKCHA
ถ้าสังเกตจะเห็นว่าภาพที่ตั้งอยู่ในห้องนี้แตกต่างจากทุกภาพในนิทรรศการ เป็นภาพที่เต็มไปด้วยร่องรอยของเรื่องราวที่เคยเกิดขึ้น “ตอนวาดแม็กปล่อยตัวเองเลย อยากทำอะไร รู้สึกยังไง ก็ให้เป็นไปตามนั้น เลยจะเห็นเป็นคราบน้ำ เพราะเป็นสิ่งที่ไม่สามารถควบคุมได้ และพอเกิดขึ้นแล้วก็ไม่สามารถแก้ไขได้” แม็กกี้บอกเราว่า ภาพนี้เหมือนรวมทุกอารมณ์ที่เกิดขึ้นภายในนิทรรศการ
ร่องรอยเหล่านี้ไม่ต่างอะไรกับ ‘ความรู้สึกทุกข์ สุข เศร้า เสียใจ’ ฉะนั้น ความท้าทายคือการต้องยอมรับว่า เราไม่สามารถควบคุมทุกอย่างในชีวิตได้เสมอไป และความไม่แน่นอนก็เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต
ติดตามศิลปินเพิ่มเติมได้ที่: Mackcha
สถานที่จัดแสดง: River City Bangkok ชั้น 2 (เข้าชมฟรี)
ระยะเวลาจัดแสดง: ตั้งแต่วันนี้ – 28 กุมภาพันธ์ 2566
เวลา: 11:00 – 19:00 น. (เปิดทุกวัน)