เดอะ มนต์รักแม่กลอง
เดอะมนต์รักแม่กลอง การทดลองของ ‘โชห่วยชุมชน’ ที่สร้างตราสินค้าจากสนามเรื่องเล่า
- ด้วยความหลงใหลและความผูกพันกับเมือง ‘แม่กลอง’ ทำให้ทั้ง 4 คนที่มีใจรักในแม่กลองเหมือนกัน มารวมตัวกัน ‘เล่าเรื่อง’ เพื่อบอกต่อเสน่ห์ของแม่กลองสู่สาธารณชน
- จากนิตยสารท้องถิ่นรายสะดวกในชื่อมนต์รักแม่กลอง ที่ตีพิมพ์ระหว่าง พ.ศ.2551-2558 ได้เปลี่ยนวิธีเล่าเรื่องด้วยตัวอักษรมาทดลองเล่าผ่านผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นของแม่กลองดูบ้าง
- ‘เดอะมนต์รักแม่กลอง’ คือร้านค้าออนไลน์ที่จดทะเบียนเป็นบริษัทเมื่อ พ.ศ.2562 แต่ปวารณาตัวขอเป็นโชห่วยชุมชน มุ่งเน้นการสื่อสารถึงวิถีชีวิตคนแม่กลองและคุณค่า ‘ของดี’ เมืองแม่กลอง มากกว่าการตั้งเป้ายอดขายและแสวงหาผลกำไรเฉกเช่นธุรกิจทั่วไป
อานุภาพแห่งการไลค์และพลังของการแชร์ ทำให้เพจ ‘เดอะมนต์รักแม่กลอง สมุทรสงคราม’ เดินทางมาถึงเราในที่สุด
ทว่า นี่ไม่ใช่ร้านค้าออนไลน์ที่ขายสินค้าอุปโภคบริโภคที่ผลิตขึ้นในพื้นถิ่นแม่กลองเท่านั้น
แต่นี่คือการทดลอง!
ทดลองทำธุรกิจที่ไม่ได้เอาผลกำไรเป็นที่ตั้ง
ทดลองนำผลิตภัณฑ์ธรรมดาอย่างกะปิ น้ำปลา น้ำตาล เกลือ ฯ ที่บริโภคกันในแม่กลองมาเสนอขายต่อสังคม
ทดลองจำหน่ายโดยมีช่องทางการขายแค่เฟซบุ๊กกับเพจเท่านั้น
ทดลองว่าการบอกเล่าเรื่องราวอย่างจริงใจไม่กี่ประโยคบนฉลาก จะส่ง ‘สาร’ สำคัญไปถึงลูกค้าอย่างที่ตั้งปณิธานไว้ไหม
และทดลองว่าการทำธุรกิจแบบนี้จะรักษาสมดุลทางบัญชีได้หรือเปล่า
สี่สหายผู้ก่อการ เดอะมนต์รักแม่กลอง ประกอบด้วย พี่นก - นิสา คงศรี พี่หนู - ภัทรพร อภิชิต พี่โจ - วีรวุฒิ กังวาน นวกุล และคุณก๊อก - กึกก้อง เสือดี จะมาเล่าถึงการเป็นสื่อท้องถิ่นของแม่กลอง และการก่อร่างสร้างเดอะมนต์รักแม่กลอง
รวมพลคน ‘ช่างเล่า’
ก่อนที่ ‘มนต์รักแม่กลอง’ จะเติมคำว่า เดอะ นำหน้าเช่นในปัจจุบัน เคยใช้เป็นชื่อนิตยสารท้องถิ่นรายสะดวกที่ตีพิมพ์และวางจำหน่ายบนแผงหนังสือในช่วง พ.ศ.2551-2558 เป็นผลงานของพี่โจกับพี่หนู คนแปลกหน้าต่างถิ่นสองคนที่มาตกหลุมรักแม่กลอง
พี่โจเป็น NGO ในร่างศิลปินที่ผันตัวมาเปิดร้านกาแฟแกลเลอรี่ในตลาดน้ำอัมพวา รับอาสาดูแลด้านศิลปกรรม เพราะถนัดการวาดและมีฝีมือด้านถ่ายภาพ ส่วนพี่หนูอดีตคนทำงานสื่อสารมวลชนขอรับผิดชอบด้านเนื้อหา “เมืองนี้มีอะไรน่าสนใจหลายอย่าง เราคนทำหนังสือ เห็นแล้วก็นึกอยากเขียนหนังสือขึ้นมาเลย เพราะที่นี่มีต้นทุนเยอะ” พี่หนูว่าอย่างนั้น
พี่โจเสริมขึ้นว่า “เรานำไอเดียไปเสนอและปรึกษาขอคำแนะนำจากพี่สุรจิต ชิรเวทย์ (อดีต ส.ว.สมุทรสงครามและแกนนำเครือข่ายประชาชนคนรักแม่กลอง) แล้วท่านก็ทำให้เราเห็นแม่กลองในมิติที่ล้ำลึกขึ้น เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ตัดสินใจทำมนต์รักแม่กลองขึ้นมา”
ในที่สุด ‘มนต์รักแม่กลอง’ นิตยสารท้องถิ่นรายสะดวกเล่มกะทัดรัด แต่อัดแน่นด้วยเนื้อหาที่สะท้อนวิถีชีวิตและภูมิปัญญาชาวบ้าน อันเป็นเสน่ห์ของแม่กลอง ได้วางขายบนแผงหนังสือสมที่ตั้งใจ และได้รับเสียงตอบรับดีมากจากผู้อ่าน เมื่อนิตยสารเติบโตขึ้นเรื่อยๆ กองบรรณาธิการรุ่นบุกเบิกที่มีทั้งหมดสองคนถ้วนจึงเปิดรับเพื่อนร่วมทีม
“ผมเรียนจบตอนปี 2553 เป็นยุคท้องถิ่นนิยม เป็นกระแสที่วัยรุ่นอยากกลับบ้าน พอผมเห็นประกาศเลยสมัครไป อยากกลับมาเล่าเรื่องบ้านเรา แล้วถ้าเราดูแลบ้านเมืองเล็กๆ ของตัวเองไม่ได้ ก็อย่าหวังไปทำอย่างอื่นเลย” คุณก๊อก สมาชิกน้องใหม่บอกเหตุผลที่อยากมาร่วมงานกับมนต์รักแม่กลอง
“ก๊อกเป็นเด็กแม่กลองที่ทำงานเพื่อชุมชนมาตั้งแต่เด็ก ทำกิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมกับพี่สุรจิตด้วย เขาสนใจงานด้านนี้มาตลอด แล้วที่บอกว่าเพิ่งเรียนจบ คือระดับปริญญาโทนะ เขาเป็นคนแรกที่ยื่นใบสมัครมา เราก็ตื่นเต้นสิ เพราะงานนี้เป็นงานอาสาสมัคร ก๊อกเป็นฐานข้อมูลคนสำคัญของเมืองนี้ชนิดหาตัวจับยากและมีความรู้เรื่องราวในท้องถิ่นบ้านเกิดเป็นอย่างดี เป็นประโยชน์มากต่อการทำงานของเรา” พี่โจบอก
กำเนิดโชห่วยชุมชน
ยุคสมัยเปลี่ยนไป มนต์รักแม่กลองห่างหายจากแผงไปนาน กระทั่งช่วงที่คุณสุรจิตป่วย ทุกคนเลยเกิดแรงฮึดอยากทำอะไรเพื่อแม่กลอง จึงกลับมารวมตัวกันอีกครั้ง เพราะคุณสุรจิตเป็นผู้ที่เสียสละทำเพื่อประโยชน์ของแม่กลองมาโดยตลอด
“แม้การทำนิตยสารจะขาดช่วงไปบ้าง แต่เราทำกิจกรรมอื่นซึ่งเชื่อมโยงกับมนต์รักแม่กลองเสมอ เมื่อเกิดเหตุการณ์บางอย่างกับแม่กลอง เราออกไปเคลื่อนไหวแสดงจุดยืน ซึ่งพี่นกก็ออกมาเรียกร้องด้วยเหมือนกัน เราเห็นกันในยามยาก เผชิญวิกฤตมาด้วยกัน ความสัมพันธ์เป็นอย่างนั้นอยู่หลายปี ที่ผ่านมาจังหวะชีวิตของแต่ละคนก็ดำเนินไปตามเส้นทางชีวิตตัวเอง แต่ในที่สุดเราก็กลับมาเชื่อมโยงกันเพราะแม่กลอง อย่างที่ได้มาร่วมงานกันกับพี่นก” พี่หนูเล่าถึงการมาร่วมทีมของพี่นกในการเป็นโปรดิวเซอร์ให้เดอะมนต์รักแม่กลอง
“ตลอด 30 ปีที่อยู่กรุงเทพฯ แม่กลองอยู่ในสายเลือดเรา คิดเสมอว่าวันนึงต้องกลับบ้าน เพราะความรื่นรมย์ในชีวิตพี่คือทรงจำวัยเยาว์ของเด็กบ้านสวน ที่ผ่านมางานไม่เอื้อให้เราอยู่บ้านได้ (พี่นกเป็นผู้กำกับภาพยนตร์สารคดีอิสระ ต้องอยู่กองถ่าย และเดินทางเยอะอยู่ตลอด) แต่เมื่อเวลานั้นมาถึง พี่ตัดสินใจง่ายมากที่จะกลับบ้าน”
เมื่อถามถึงบทบาทของ ‘เดอะมนต์รักแม่กลอง’ คุณก๊อกเล่าว่า “เราคุยกันเยอะว่าเราคือยี่ปั๊วหรือเป็นศูนย์โอท็อป แต่สุดท้ายเราสรุปว่า เราจะเป็น ‘สื่อชุมชน’ ที่เล่าเรื่องบ้านเมืองเราผ่านผลิตภัณฑ์ชุมชน ซึ่งมีมากมายมหาศาลเลยก็ว่าได้ที่เรายังเล่าไม่หมด (หัวเราะ) แต่อนาคตเราอาจเล่าเรื่องบ้านคนอื่นด้วยก็ได้”
“ผลิตภัณฑ์ที่นำมาขายต้องเล่าเรื่องได้ มีมิติ มีประเด็นที่เกี่ยวกับแม่กลองที่อยากนำเสนอ” พี่โจช่วยย้ำจุดยืน
พี่หนูขอยกตัวอย่างเพื่อให้เข้าใจแจ่มแจ้ง “อย่างเกลือนาแก้วซึ่งเป็นยี่ห้อเกลือทะเลของเรา จังหวัดอื่นก็มีเกลือทะเล แต่เราอยากให้เห็นเบื้องหลังว่า ชาวนาเกลือต้องยืนหยัดรักษาที่ดินและวิถีชีวิตของพวกเขา การนำเสนอของเราจึงไม่ได้แค่บอกว่าที่นี่เป็นแหล่งผลิต แต่บอกถึงคุณค่า อาชีพ ความสำคัญของนาเกลือ ว่าทำไมเราถึงต้องช่วยกันรักษาเอาไว้”
ฉลากสินค้า…สนามเรื่องเล่า
มาคุยกันถึง ‘หัวน้ำปลาแท้ตราผู้ใหญ่แดง’ ผลิตภัณฑ์เปิดตัวของเดอะมนต์รักแม่กลอง กันบ้าง
คุณก๊อกหนุ่มแม่กลอง เล่าว่า “ถ้ามองว่าเราคือโชห่วย เรามีความสัมพันธ์กับผู้ผลิตมากกว่าการซื้อมาขายไป อย่างผู้ใหญ่แดงเรารู้จักกันมานาน เราต่อสู้ในประเด็นต่างๆ ของบ้านเมืองมาด้วยกัน แกเป็นผู้ใหญ่บ้านชุมชนประมงชายฝั่ง ต่อสู้เพื่ออนุรักษ์ป่าชายเลนบ้านบางบ่อที่ได้รับผลกระทบจากการกัดเซาะชายฝั่งมาตลอด จนทะเลจะกินพื้นที่หมู่บ้านแล้ว แกปลูกป่าชายเลนรับคลื่น แล้วผลพลอยได้ก็คือปลาต่างๆ กลับมา เมื่อปลามากขึ้นก็นำไปหมักกับเกลือสมุทรตามสูตรที่จำมา หมักในโอ่งดินเผาปีนึง เดิมทีหมักไว้แจกมิตรรักแฟนเพลง น้ำปลาขวดนี้จึงไม่ใช่แค่เครื่องปรุงรสที่ได้จากภูมิปัญญา แต่ยังมีระบบนิเวศ ป่าชายเลน และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมรวมอยู่ด้วย และเหนือสิ่งอื่นใด น้ำปลาของแกอร่อยมากครับ”
สำหรับ ‘ยิ้มทั้งน้ำตาล’ ทุกคนยกให้พี่นกในฐานะผู้ผลิตที่เรียนรู้และทำทุกขั้นตอนด้วยตัวเองเป็นคนเล่า
“เหนื่อยสายตัวแทบขาดเลยนะ เพราะต้องขึ้นตาลเช้าเย็นไปเปลี่ยนกระบอกที่รองน้ำตาล แล้วต้องเคี่ยวทุกวัน อุ่นทุกเย็น นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมถึงราคาสูง ยุคหลังชาวสวนเลยขายเป็นน้ำตาลสดแทน ให้คนเอาไปเคี่ยวผสมน้ำตาลทราย ปริมาณเยอะขึ้น ราคาถูกลง แล้วก็ขายง่ายกว่า แต่ช่วงโควิด-19 คนทำน้ำตาลถูกตัดขาดจากผู้ซื้อ บางเตาเหลือค้างสต๊อกเป็นตัน แต่เราคงช่วยทุกคนไม่ได้ เลยขอช่วยคนที่ทำน้ำตาลมะพร้าวเนื้อแท้ละกัน พี่ชวนเตาตาลบ้านที่รู้จักกันกลับมาเปิดเตาทำน้ำตาลมะพร้าวเนื้อแท้ แล้วขายในเดอะมนต์รักแม่กลอง โดยพี่หนูตั้งชื่อให้ว่ายิ้มทั้งน้ำตาล”
“เป็นการเรียกความหวังกลับมา ให้ชาวสวนตาลต่อสู้ต่อ เพราะด้วยวิกฤตที่เจอ พี่มองว่าเป็นวิบากกรรมของคนขยันนะ โชคดีที่ผลตอบรับจากลูกค้ากลับมาอย่างถล่มทลาย เราขายได้เยอะมาก ตอนนำเงินก้อนแรกไปให้เตาตาลหลังจากที่ขายไม่ได้และไม่มีรายได้มาเป็นเดือนๆ เราก็ได้เห็นยิ้มทั้งน้ำตาลจริงๆ” พี่หนูย้อนความหลังให้ฟัง
สื่อชุมชนเพื่อสังคมอุดมคติ…แล้วคนทำได้อะไร?
“พี่อยากนำเสนอเรื่องราวของบ้านเมืองอันเป็นที่รักของเรา เพราะเราเห็นคุณค่านั้น พี่มาอาศัยอยู่ ได้รับประโยชน์จากที่นี่ บ้านเมืองนี้มีบุญคุณกับพี่ พี่ก็ตอบแทนด้วยการนำเสนอสิ่งดีๆ นี้ออกไป กำไรที่ได้จากการขาย เราระดมทุนไว้จัดกิจกรรมและผลิตสื่อมนต์รักแม่กลอง นี่คือวิธีสร้างสังคมเข้มแข็ง เราทำเท่าที่แรงอันน้อยนิดของเราทำได้”
“พี่เห็นด้วยกับพี่หนู แต่พี่แสดงออกด้วยการวาด” เราตั้งใจฟังเหตุผลของพี่โจ “ก่อนจะวาดภาพประกอบบนฉลากได้ พี่ต้องอินก่อนนะ ตอนป้าบุญช่วยออกเรือไปป้องเคยตาดำมาทำกะปิ พี่ก็ลงเรือไปกับป้า ไปดูเคยตาดำรับแสงตะวันแรกตอนฟ้าสางว่าเป็นยังไง ส่วนตัวพี่อินกับบ้านเมืองนี้ อินกับผู้ผลิต และอินกับผลิตภัณฑ์ การได้ไปเห็นด้วยตัวเองว่าเขาตั้งใจทำกันขนาดไหน ทำให้เรายิ่งเชื่อมั่นในคุณภาพผลิตภัณฑ์และดีใจที่สิ่งแวดล้อมได้รับการใส่ใจดูแล ส่งผลให้เราอยากทำงานนี้ต่อ และนี่ก็คือความสุขที่ได้รับ
อ.ศิลป์ พีระศรี บอกไว้ว่า ‘เงินจำเป็นแต่เงินไม่สำคัญ’ เราไม่ปฏิเสธเงินแต่เราไม่ได้ถือเงินเป็นเรื่องใหญ่”
ส่วนพี่นกนิ่งประมวลคำตอบจากตัวเองได้ความว่า “พี่ว่าพี่ได้ความเหนื่อยนะ (หัวเราะ) เพราะพี่ทำทั้งสองส่วนคือเป็นผู้ผลิตน้ำตาลมะพร้าวเอง แล้วก็เป็นทีมเดอะมนต์รักแม่กลองด้วย” เราเลยถามต่อว่า ‘งั้นอะไรยังทำให้พี่นกยอมเหนื่อยต่อไป’ “พี่ไม่มีเหตุผลมาตอบหรอก ทำไมต้องทำ ทำไมต้องเหนื่อย แค่รู้ว่าเวลาทำ มีความสุขดี ถึงจะเหนื่อยแต่ไม่ได้ทุกข์ใจ ไม่ได้รู้สึกทรมาน เหนื่อยของพี่แค่ได้นอนก็หาย ได้เห็นหน้ากัน หัวเราะกันก็ผ่อนคลาย เพราะทำงานทุกอย่างเหนื่อยอยู่แล้ว แต่นี่เป็นความเหนื่อยที่ไม่สร้างปัญหาให้ชีวิตเรา
แต่ถ้าในฐานะคนแม่กลอง พี่รู้สึกเหมือนเป็น ‘สะพาน’ นำสินค้าจากผู้ผลิตไปยังผู้บริโภคที่ต้องการสินค้าของเรา การเป็นคนกลางมันภูมิใจนะ ได้เห็นความตื่นเต้นดีใจของผู้ผลิตที่มีคนต้องการสิ่งที่เขาทำ ได้รับคำขอบคุณจากผู้บริโภคที่เราส่งต่อของคุณภาพดีให้เขา ที่สำคัญทำให้คนอื่นได้รู้จักบ้านเมืองเราเยอะขึ้น”
ปิดท้ายที่คุณก๊อกสถาปนิกหนุ่มผู้หลงใหลในคุณค่าสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น “เราเหมือนเป็นโทรโข่งให้ผู้ผลิตรายเล็กๆ ให้สิ่งที่เขาทำได้ถูกบอกเล่าออกไป ให้เขาได้ภูมิใจว่ามีคนเห็นคุณค่าสิ่งที่เขาทำ แล้วเขาก็จะรักษาคุณภาพสินค้าเอาไว้ และสิ่งแวดล้อมชุมชนก็ได้รับการดูแลอีกทางหนึ่ง”
ในทางปฏิบัติไม่อาจกล่าวได้ว่า เดอะมนต์รักแม่กลอง เป็นธุรกิจที่เติบโตเร็วหรือได้กำไรมาก แต่ทั้งสี่ก็ยังคงมุ่งมั่นตั้งใจแสวงหาคำตอบและแนวทางต่อไป โดยบอกกับเราว่า “เมื่อตั้งเป้าหมายชัดเจนแล้ว ก็แค่ทำต่อไป”
ชุมชนไหนชื่นชอบแนวความคิดนี้และอยากนำไปทำบ้าง ทั้งสี่คนให้กำลังใจว่า
“ทุกพื้นที่มีดีหมด ขอแค่ซื่อสัตย์กับความรู้สึกตัวเอง และยึดมั่นในความตั้งใจนั้น ทุกคนทำได้”
เดอะ มนต์รักแม่กลอง
45 หมู่ 6 ต.แพรกหนามแดง อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม 75110
โทร.08-1804-1403
www.facebook.com/เดอะมนต์รักแม่กลอง-สมุทรสงคราม
เดอะมนต์รักแม่กลอง.com