‘รวมคลื่น ให้หนังเคลื่อน’
ถอดไอเดีย Microwave Film Fest เทศกาลรวมคลื่นคนสร้างสรรค์เพื่อเคลื่อนวงการหนังไทย
- คุยกับ ‘แบงค์- ชัยพฤกษ์ เฉลิมพรพานิช’ จากทีมผู้จัด ‘Microwave Film Festival’ ถึงแนวคิดของเทศกาลภาพยนตร์เชื่อมต่อคนทุก Gen ทุกวงการ ที่ถูกออกแบบมาให้สนุก สร้างสรรค์ และเบลนด์ไปกับเมือง
แม้สิงหาคมที่ผ่านมาจะเป็นเดือนที่สภาพอากาศแปรปรวนจนตามไม่ทัน แต่ ‘ปักษ์ใต้ดีไซน์วีค’ ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 2 แล้ว ก็ยังคงทำหน้าที่แต่งแต้มอาคารบ้านเรือนสไตล์ชิโนโปรตุกีสในย่านเมืองเก่าสงขลาไปด้วยเวนิวศิลปะและงานออกแบบ และนำพาผู้คนที่ไม่ว่าจะเป็นสายฮ็อป สายช้อป สายชิม มารวมตัวกันที่นี่ เพื่อให้จิตวิญญาณความสร้างสรรค์ของพี่น้องชาวใต้ได้แรงอก! ได้ออกมาโลดเเล่นกันแบบเต็มที่
‘Microwave Film Festival’ คือเทศกาลโดยกลุ่มคนรักหนัง ที่ทำให้บรรยากาศดีไซน์วีคในปีนี้ไม่เหมือนที่ผ่านมา พวกเขาเปิดบทสนทนาใหม่ๆ ให้วงการครีเอทีฟ จัดเวิร์กช้อปให้คนในพื้นที่ได้เข้าใจศิลปะการทำหนังผ่านการลงมือทำ แถมยังยกอุปกรณ์มาฉายหนังกลางแปลงตั้งแต่รุ่นเก่ายันใหม่ล่าสุดให้เราดูกันริมทะเลสาบสงขลา เป็นการเติมสีสันให้เมือง เเละเติมประกายในแววตาให้เหล่าคนทำหนังรุ่นใหม่
‘แบงค์- ชัยพฤกษ์ เฉลิมพรพานิช’ ตัวเเทนจากทีมผู้จัดที่เชื่อว่าวงการหนังไทยจะเคลื่อนไปได้ไกลกว่านี้ถ้าทุกคน “เปิดกว้าง” และมี “จุดร่วมกัน” จะมาเล่าให้เราฟังถึงที่มาที่ไปของเทศกาลภาพยนตร์ที่ไม่จำเป็นต้องมีโลโก้รูปหนามเตย การเบลนด์งานสร้างสรรค์ไปกับเมือง รวมไปถึงช่องโหว่ในวงการที่หนทางในการสมานไม่ไกลเกินเอื้อม
รวมคลื่น
‘อยากคุยเรื่องวงการภาพยนตร์ไทยต้องไปหาใคร?’
‘หนังสั้นจุลนิพนธ์นักศึกษา สุดท้ายไปอยู่ที่ไหน?’
‘ทำไมการทำหนังถึงยังเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับเด็กๆ ในหลายพื้นที่?’
เป็นคำถามตั้งต้นของทีมผู้จัด ‘Microwave Film Festival’ เพราะไม่ว่าจะคร่ำหวอดในวงการมานานเท่าไหร่ ก็ยังไม่สามารถหาหนทางแก้ไข หรือหาคำตอบที่ชัดเจนได้ ทำให้ ‘แบงค์, โก้-ชาติชาย ไชยยนต์, เยเมนส์- ศิววุฒิ เสวตานนท์, เต้ย- กษิดิ์เดช มาลีหอม, โรส- พวงสร้อย อักษรสว่าง, เก่ง- จักรวาล นิลธำรงค์, และ อิฐ- ปฏิภาน บุณฑริก’ กลุ่มคนรักหนังที่มีแบ็กกราวน์เป็น Filmmakers และอาจารย์มหาวิทยาลัยเหล่านี้ รวมตัวกันออกแบบเทศกาลภาพยนตร์ในแบบที่พวกเขาอยากเห็น เทศกาลที่ไม่ได้มีแค่คนทำหนังกันเอง และมีอะไรให้ทำมากกว่าการนั่งมองจอ
จะมองว่าเป็นการนำภาพยนตร์ดีๆ ที่ถูกเเช่จนเย็นชืดมาอุ่นไมโครเวฟให้พร้อมกินอีกครั้งก็ใช่ แต่อีกนัยหนึ่งแบงค์อธิบายให้เราฟังถึงที่มาของชื่อชวนสงสัยของเทศกาลนี้ว่า อยากเล่นกับคำว่า ‘คลื่น’ “พอนึกถึงคำนี้เราก็จะนึกถึงเจเนอเรชัน คลื่นลูกเก่า ลูกใหม่ เราขอเรียกตัวเองว่าเป็นคลื่นลูกกลางแล้วกัน ที่จะเชื่อมให้รุ่นใหม่กับรุ่นใหญ่มาเจอกัน
อีกอย่างคือเราอยากจะรับทุกคลื่นความถี่ หมายความว่า ไม่ว่าคุณจะเป็นคนทำหนังอาร์ต หนังแมส หนังทดลอง หรืออะไรก็แล้วแต่ ‘เราคือคนทำหนังไทยด้วยกัน’ อยากให้เปิดรับกัน ไม่แบ่งกันว่าใครดีกว่าใคร เราเชื่อว่า Mindset ในการเปิดใจรับงานประเภทอื่นที่ไม่ใช่ทางที่ตัวเองถนัดควรจะถูกพูดไว้กับเจเนอเรชันนี้ คนในวงการจะได้เคารพซึ่งกันและกัน ทำให้อุตสาหกรรมนี้เฮลตี้ขึ้น ก็เลยเกิดคอนเซปต์หลักว่า มันคือ ‘เทศกาลรวมคลื่น เพื่อให้หนังเคลื่อน’ ”
เคลื่อนแรกคือการสร้างแพลตฟอร์มให้เหล่า ‘Young Filmmakers’ นำหนังของตัวเองมาเฉิดฉายบนจอใหญ่ โดยทางทีมงานได้คัดเลือกและจัดหมวดให้กับหนังเหล่านี้ เพื่อสะท้อนสิ่งที่เด็กรุ่นใหม่สนใจ ได้แก่ Family Hour (ประเด็นครอบครัว) New Wave Politics (การเมืองยุคใหม่) Memory Maze (ความสับสน อึน งง) และ What If Wonders (การตั้งคำถามกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้)
เคลื่อนที่สองคือการทำให้เด็กๆ ในพื้นที่ได้เห็นว่า การทำหนังไม่ใช่เรื่องไกลตัวอย่างที่คิด ผ่านการชมผลงานของคนรุ่นราวคราวเดียวกัน และเรียนรู้ผ่านคลาสและเวิร์กช็อปที่คราฟต์มาอย่างดี ว่าวงการภาพยนตร์ไม่ได้มีแค่ ผู้กำกับ และนักเขียนบท ยังบทบาทอื่นๆ ที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็น สไตลิสต์ โลเกชัน หรือซาวด์
และอีกเคลื่อนที่น่าสนใจมากๆ คือการสร้างบทสนทนาใหม่ๆ ผ่านการทอล์ก แบงค์เล่าว่า “เริ่มต้นจากปีที่แล้ว เราเชิญผู้กำกับจากฝั่งเมนสตรีมและฝั่งอินดี้มาเจอกัน เราเห็นสองปาร์ตี้นี้มานั่งคุยกัน แล้วเขาก็จับเข่าคุยกันว่า ‘เราอยู่วงการเดียวกัน แต่ไม่เคยได้นั่งคุยกันแบบนี้เลย’ เรานั่งดูอยู่กับเด็กๆ แล้วก็แบบ เฮ้ย! นี่สิวะ โอกาสรอดของหนังไทย ทุกคนควรจะได้มาเเลกเปลี่ยนกัน ก็เลยต่อยอดไอเดียนี้ในเทศกาล”
รวมคนสร้างสรรค์
สร้างบทสนทนาในวงการไปแล้ว ทีนี้มาลองสร้างบทสนทนาระหว่างวงการดูบ้าง ที่นี่เป็นที่เดียวเลยที่ทุกคนจะได้ดูทอล์กระหว่างผู้กำกับ ‘โต้ง- บรรจง ปิสัญธนะกูล’ กับ ‘ติ๊ก- สันติ ลอรัชวี’ นักออกแบบที่ศึกษาเรื่องสัญญะศาสตร์! ฟังแค่นี้ก็น่าสนใจแล้วใช่ไหมล่ะ?
หนังเป็นแพลตฟอร์มที่สามารถเชื่อมต่อกับศาสตร์อื่นๆ ได้แทบจะทุกศาสตร์ เทศกาลนี้เลยไม่หยุดอยู่แค่การพูดเรื่องหนัง ถ้าลองนึกดู ไม่ว่าจะอินทีเรียร์ แฟชั่น ดีไซน์ ดนตรี สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นองค์ประกอบของภาพยนตร์ เลยเกิดอีกคอนเซปต์หนึ่งที่แข็งแรงมากๆ ซึ่งก็คืออยากให้คนสร้างสรรค์จากวงการอื่นๆ เข้าถึงคอมมูนิตีนี้ด้วย และ “ไม่อยากให้คนทำหนังคุยกันแต่เรื่องหนัง”
“ไอเดียคือจะทำ Film Festival แบบไหนให้รู้สึกสนุกได้เหมือนเทศกาลดนตรี ถ้าเราทำแล้วมีแต่คนทำหนัง ก็เหมือนจัดกันเอง สนุกกันเอง ควรจะเปิดรับคนอื่นด้วย นักเขียนอาจจะ เฮ้ย! เเวะมาฟังหน่อย เปิดโลกดี แม้แต่ดีไซเนอร์ หรือนักท่องเที่ยวที่อยากเจออะไรใหม่ๆ ควรมีอะไรที่ดึงดูดคนพวกนี้มา ภาพของวงการหนังไทยจะได้ไม่น่าเบื่อ”
เจตจำนงของแก๊งไมโครเวฟถูกแสดงให้เราเห็นตั้งแต่ CI ที่ไม่ได้มีสัญลักษณ์บ่งบอกความเป็นเทศกาลหนังอย่าง ‘หนามเตย’ แม้แต่ใบมะกอกหรือ ‘Laurel Wreath’ ที่มักล้อมรอบรางวัลต่างๆ ยังถูกเปลี่ยนเป็นพืชท้องถิ่นอย่างสะตอ! ให้รู้สึกว่านี่เป็นเทศกาลสำหรับทุกคนจริงๆ มาแล้วไม่มีเคอะเขิน
คนนอกวงการไม่ต้องกลัวเลยว่ามาแล้วจะเหงา ส่วนคนในวงการมาแล้วก็จะได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ แน่นอน เพราะนอกจากทอล์กที่จัดกันแบบเป็นกิจจะลักษณะเเล้ว ทางทีมผู้จัดยังส่งเสริมให้คนมา ‘คุย’ กันแบบจริงๆ มากๆ โดยมีการจัดเตรียมสเปซไว้ให้หมดแล้ว “พาร์ตที่ดีที่สุดของดีไซน์วีคปีที่แล้วคือ คนมันๆ คนเจ๋งๆ ไปกองรวมกันที่บาร์ต่างๆ ในย่านเมืองเก่าสงขลา และตามสถานที่พวกนี้มันเกิดบทสนทนามูลค่ามหาศาลเสมอเลย การที่คนในวงการครีเอทีฟมารวมกัน
ถ้าไปเทศกาลหนังต่างประเทศจะมีพาร์ตให้ทุกคนมา Mingle นี่คือท่ามาตรฐานของทุกเทศกาลที่ไปมา แต่ประเทศไทยยังไม่ค่อยมีอะไรแบบนี้ เราเลยมีพาร์ตเน็ตเวิร์กกิงแบบจริงจัง โดยการนำบาร์ OFTR ลงมาป๊อปอัปอยู่ที่ หับ โห้ หิ้น (สถานที่ฉายหนังกลางแปลง ริมทะเลสาบสงขลา) ทำเป็นปาร์ตี้ เปิดรับนักสร้างสรรค์ทั้งหมดมาจอยกัน ไม่อยากให้มีแค่ Filmmaker อยากให้ทุกคนที่เป็นนักสร้างสรรค์มารู้จักกัน” แบงค์อธิบาย
รวมกันให้ชุมชน
‘เทศกาลต้องเบลนด์ไปกับเมือง’
การที่ Microwave Film Fest มาเปิดตัวที่สงขลาไม่ได้เป็นแค่เพียงการมาใช้สถานที่ แต่ทีมผู้จัดมีความตั้งใจที่จะนำความเป็นปักษ์ใต้มาอยู่ในงาน สร้างพื้นที่การเรียนรู้ให้กับคนรักหนังในภาคใต้ และผลักดันคนในท้องถิ่นเข้าสู่วงการด้วย
เริ่มจากโปรแกรม ‘The Souths’ ที่นำภาพยนตร์ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากความเป็นปักษ์ใต้ ตั้งแต่ยุคก่อนอย่าง ชู้ (พ.ศ. 2515), โอเค เบตง, มหาสมุทร์และสุสาน , มหาลัยวัวชน , มหาลัย’ เหมืองเเร่ , ปาดังเบซาร์ มาอยู่บนจอใหญ่ให้ได้ชมกัน ตามด้วยโปรแกรม ‘The Special’ ที่รวมหนังที่มีประเด็นน่าสนใจเกี่ยวกับพื้นที่ อย่าง The Last 14 ที่พูดถึงปลาโลมาน้ำจืด 14 ตัวสุดท้ายในทะเลสาบสงขลา และ นักรบผ้าถุง ที่พูดถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในอำเภอจะนะ
ผู้มาเยือนคนสำคัญอย่างเด็กมัธยมจากโรงเรียนในภาคใต้ และเหล่า Young Filmmakers เองก็ได้รับโอกาสให้ Explore เมืองนี้อย่างเต็มที่ แบงค์เล่าถึงกระบวนการตรงนี้ว่า “ก่อนที่จะลงมาทำเทศกาล เรากับเยเมนส์ลงมาสัมมนาให้น้องๆ มหาลัย และ มัธยมปลายที่สนใจภาพยนตร์ กว่า 300 คน เพื่อชวนให้เขาลองมาจอยน์เทศกาลในฐานะคนดู แล้วก็คัดเลือกน้อง ๆ จากตรงนั้นนี่แหละ มาเป็น Local Staff ในงานนี้” นอกจากจะเป็นการพาให้เด็กๆ ไปรู้จักวงการหนังในทุกมิติแล้ว ภาพรวมมันคือการแสดงให้เห็นพลังของสิ่งที่ภาพยนตร์สามารถเป็นได้
ส่วนในเทศกาล เด็กๆ ก็จะได้เข้าคลาสและเวิร์กช็อป Photo Trip, Sound Trip สนุกๆ แถมทางทีมยังมีคูปองอาหารให้ทุกคนไปเดินเล่นกินขนมระหว่างวันกันได้ตามสบาย ในขณะเดียวกันก็นัดแนะกันแบบหลวมๆ ว่า ‘ถ้าสนใจก็มาเจอกันที่นี่ เวลานี้นะ’ พอคุ้นชินกับเมืองจากการจับจ่ายใช้คูปองแล้ว ก็ให้พวกเขานี่แหละพาคนในวงการสร้างสรรค์ที่มาร่วมรันกิจกรรมเดินชมเมือง เป็นการสร้างคอนเน็กชัน และแลกเปลี่ยนความสนใจไปในตัว
“เราบอกเสมอว่าเทศกาลนี้ไม่ใช่ของเรา เป็นของพวกคุณด้วย เพราะฉะนั้น คุณเทกให้มันเป็นของพวกคุณได้เลย คุณใช้บัตร Young Filmmaker นี้ เบลนด์ในเทศกาลได้เลย คุณจงรู้สึกว่าคุณเป็นเจ้าของมัน” แบงค์ถ่ายทอดความตั้งใจของทีมให้เราฟัง เขาอยากให้เทศกาลนี้เป็นความทรงจำดีๆ ที่เด็กๆ จะได้จดจำไปตลอด
และอย่างที่หลายๆ คนอาจจะได้เห็นแล้วจากโปรแกรม เทศกาลนี้จะฉายเรื่อง ‘หลานม่า’ ด้วย! ในจุดนี้ทางทีมงานก็พยายามสร้างความเคลื่อนไหว พร้อมกับโมเมนต์น่ารักๆ ในพื้นที่ โดยการให้สตาฟฟ์ไปเคาะประตูบ้านที่มีผู้สูงวัย และเเจกตั๋วหนังให้ลูกหลานจูงกันมาดู ดีเทลเล็กๆ น้อยๆ พวกนี้นี่แหละที่ทำให้ภาพยนตร์ใกล้ตัวทุกคนมากขึ้น แม้จะเพียงสักนิดก็ยังดี
ความใส่ใจในรายละเอียดของทีมงาน และความสนุกรูปแบบใหม่ที่เพิ่งจะได้เห็นจากเทศกาลภาพยนตร์นี้ทำให้เราอดถามไม่ได้ว่า “จะได้เห็น Microwave Film Festival ที่อื่นไหม?”
“เทศกาลนี้ไม่มีกฎตายตัว มันเป็นเรื่องคอนเซปต์ ที่พอเเข็งแรงปุ๊บ จะไปอยู่ที่ไหนก็ได้” แบงค์ตอบ ไม่ว่าจะไปอยู่ที่ไหน เทศกาลนี้ก็สามารถปรับสภาพให้ตอบโจทย์กับพื้นที่นั้นๆ ไปได้เรื่อยๆ เชื่อว่าในอนาคตอันใกล้ เราคงได้เห็น Microwave Film Festival ในรูปแบบอื่นๆ ในที่สถานที่อื่นๆ อีก
แบงค์แอบกระซิบว่า Film Festival ในป่าก็เป็นสิ่งที่เขากำลังสนใจอยู่เหมือนกันนะ
ครั้งหน้า Microwave Film Festival จะไปจัดที่ไหน?
ติดตามข้อมูลข่าวสารได้ที่ Facebook: Microwave Film Fest, Instagram: microwavefilmfest