About
TRENDS

ส่องปัญหาขนส่งสาธารณะในท่องเที่ยวไทย

‘เทรถแดงเชียงใหม่-ไม่นั่งแท็กซี่ภูเก็ต’ ท่องเที่ยวไทยจะเจริญได้ต้องมีระบบขนส่งสาธารณะที่ดี

เรื่อง นิรัช ตรัยรงคอุบล ภาพประกอบ ANMOM Date 17-03-2022 | View 1652
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • ปฏิเสธไม่ได้ว่าขนส่งสาธารณะมีผลต่อการท่องเที่ยว และในเมื่อเราจะสนับสนุนให้คนไทยหันมาเที่ยวไทย แต่ขนส่งมวลชนไม่เอื้อ เราจะไปถึงเป้าหมายหรือ?
  • ชินคันเซ็นของญี่ปุ่นคือหนึ่งในตัวอย่างของขนส่งสาธารณะที่ดันการท่องเที่ยวให้คึกคัก ส่วนไทยเรากลับอยู่ในวังวนของปัญหาเดิมๆ ที่ฉุดรั้งท่องเที่ยวไทยไม่ได้เดินหน้าไปไหน
  • ระบบขนส่งสาธารณะที่ดีและยั่งยืนคือปัจจัยสำคัญจริงๆ ที่จะดันให้ท่องเที่ยวไทยเติบโตได้

หากคุณลองค้นหาใน Google ว่า “วิธีขึ้นรถแดงเชียงใหม่” จะปรากฏ 17,500,000 ผลลัพธ์ซึ่งไม่ใช่แค่อธิบายลักษณะหรือวิธีใช้รถโดยสารชนิดนี้ แต่บางบทความจั่วหัวเอาไว้เลยว่า “เทคนิคเรียกรถแดงอย่างไรไม่ให้ถูกโก่งราคา” ซึ่งเป็นบทความภาษาไทยแนะนำนักท่องเที่ยวชาวไทยด้วยกันเอง หรือถ้าหากยังจำกรณีรถแท็กซี่ภูเก็ต 600 บาทได้ ก็จะเห็นว่าข่าวที่ออกมาสร้างภาพลักษณ์ที่แย่ลงให้กับเมืองท่องเที่ยว ตอกย้ำทัศนคติว่าเป็นเมืองที่ค่าครองชีพสูง และไม่ต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวไทยสักเท่าไหร่ ซึ่งถ้าคำนวณระยะทางกับค่าน้ำมันแล้ว ราคาดังกล่าวก็ดูจะแพงเกินจริงเมื่อเทียบกับราคาค่าโดยสารในเมืองหลวง

ท่ามกลางวิกฤตที่เราหวังพึ่งนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติไม่ได้อีกต่อไปแล้ว แต่คนไทยกลับต้องเตรียมเงินจ่ายค่าเดินทางพอๆ กับค่าที่พักและอาหาร จนเกิดดราม่าเรื่องแท็กซี่ภูเก็ตที่ผ่านมา ขนส่งมวลชนที่น่าจะเป็นตัวสนับสนุนให้คนอยากเที่ยวไทยมากขึ้นกลับกลายเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้นักท่องเที่ยวไม่อยากเดินทาง โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่ไม่มีรถยนต์เป็นของตัวเอง และไม่ได้เที่ยวกับทัวร์เหมือนเดิม ถ้าเรายังพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ดีเพื่อย้ายคนจำนวนมากในราคาถูกไม่ได้ จะคาดหวังให้การท่องเที่ยวเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนได้อย่างไร

CC 3

นิยามของความเคลื่อนที่

ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่นักท่องเที่ยวชาวไทยชอบไปมาก เพราะนอกจากจะมีสถานที่ท่องเที่ยวอันสวยงามแล้ว การคมนาคมของเขาก็สะดวกสบายมากพอที่จะพาเราขึ้นเหนือไปฮอกไกโดหรือลงใต้ไปเกาะโอกินาว่าด้วยตัวเองโดยไม่ต้องกังวลว่าจะโดนหลอกหรือเสียค่ารถแพงเพราะมีมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ หรือถ้าอยากผจญภัยหน่อย ก็สามารถนั่งเครื่องบินมาลงที่ปูซานก่อน หลังจากเที่ยวจนพอแล้วค่อยนั่งเรือเฟอร์รี่มาขึ้นที่ฟูกุโอกะ แล้วนั่งรถไฟความเร็วสูงไปเที่ยวที่เมืองอื่นๆ ต่อ นี่คือตัวอย่างของขนส่งสาธารณะที่ดีซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการท่องเที่ยว ยิ่งในยุคที่คนรุ่นใหม่ชอบท่องเที่ยวด้วยตัวเอง การเดินทางที่สะดวกเป็นจุดตัดสินใจหลักว่าจะไปเที่ยวที่ไหน อยู่นานแค่ไหน หรือถ้าหากพวกเขาเข้าไปหาข้อมูลแล้วพบว่ามีการเตือนเรื่องระวังโดนแท็กซี่โกงหรือระวังโดนชาวบ้านโก่งราคา นอกจากจะทำให้ภาพลักษณ์แย่ลงแล้ว อาจจะสูญเสียเม็ดเงินด้านการท่องเที่ยวไปด้วย

CC 2

รถไฟความเร็วสูง หรือ ชินคันเซ็น ของประเทศญี่ปุ่นถูกสร้างขึ้นในปี 1964 ปีเดียวกับการจัดกีฬาโอลิมปิกครั้งแรกของประเทศ มีหน้าที่ขนถ่ายคนจำนวนมากที่หลั่งไหลมาร่วมงาน และโชว์ศักยภาพว่าสังคมและเศรษฐกิจได้ฟื้นคืนอย่างรวดเร็วหลังแพ้สงครามโลกในปี 1945 ชินคันเซ็น จึงไม่ได้ทำหน้าที่เป็นเพียงแค่ขนส่งสาธารณะเท่านั้น แต่ยังเป็นศักดิ์ศรีและหมุดหมายสำคัญที่บอกว่าทุกอย่างจะดีขึ้นไม่มีวันกลับมาเป็นเหมือนเดิมแล้ว หลังจากนั้นประเทศญี่ปุ่นก็พัฒนาระบบขนส่งสาธารณะให้เข้าถึงทุกเมือง และแต่ละเมืองหรือภูมิภาคก็จะมีระบบขนส่งของตัวเองเพื่อคอยอำนวยความสะดวกประชาชน

การลงทุนในระบบขนส่งจึงถือว่าเป็นความคุ้มค่าเพราะคนจำนวนมากได้ประโยชน์ พวกเขาสามารถไปทำงานได้ตรงเวลา จ่ายค่าเดินทางไม่แพง ดึงดูดนักท่องเที่ยวอีกมหาศาล

แม้บ้านจะอยู่ห่างไกลในชนบท แต่อย่างน้อยก็มีรถบัสวิ่งผ่านตรงเวลาทุกชั่วโมงเพื่อขนคนมายังจุดเชื่อมต่อถัดไป คนญี่ปุ่นมีตัวเลือกในการเดินทางมากมาย ทั้งเดินเท้า จักรยาน รถบัส รถไฟใต้ดิน รถไฟความเร็วสูง รถยนต์ส่วนตัว เครื่องบิน ข้อมูลของปี 2014 บอกว่า รถไฟใต้ดินญี่ปุ่นมีผู้โดยสารวันละ 6.84 ล้านคน หรือมากกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนประชากรในกรุงเทพ เป็นเหตุผลที่ว่าทำไมญี่ปุ่นถึงไม่มีสถานการณ์ ‘รถติด’ เหมือนที่เราต้องเจอในทุกวันจนชินชา

CC 5

การท่องเที่ยวระดับโลก การขนส่งระดับล่าง

สมมติคนที่คุณกำลังคุยๆ กันอยู่ชวนไปเที่ยวงานนมัสการที่พระธาตุกู่จาน จังหวัดยโสธร เชื่อว่าคนอีกจำนวนมากจินตนาการไม่ออกเลยว่าจะเดินทางไปยังไงถ้าไม่ใช้รถยนต์ส่วนตัว (แย่กว่านั้นคือไม่รู้ด้วยซ้ำว่ายโสธรอยู่ตรงไหนของประเทศ!) เพราะยโสธรเป็นจังหวัดที่แทบจะไม่มีขนส่งสาธารณะ ถ้าไม่นั่งเครื่องบินมาลงที่สนามบินอุบลราชธานีหรือสนามบินแล้วเช่ารถต่อ ก็คิดไม่ออกแล้วว่าเราจะไปถึงพระธาตุกู่จานอย่างไรให้สะดวกสบายและไม่ต้องใช้เงินเยอะ นี่เป็นแค่ตัวอย่างเล็กมากๆ ที่ทุกคนล้วนเสียโอกาสเพราะขนส่งมวลชนเข้าไม่ถึง นักท่องเที่ยวไปยาก คนในท้องถิ่นขาดรายได้

CC 1

ตัวเลขการท่องเที่ยวในปี 2019 บอกว่าเมืองไทยมีชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวมากถึง 40 ล้านคน สร้างรายได้ให้กับประเทศถึง 1.93 ล้านล้านบาท รั้งอันดับ 5 ประเทศที่คนเดินทางมาเที่ยวมากที่สุด ในขณะที่การจราจรของกรุงเทพมหานครถูกจัดให้อยู่ในลำดับที่ 87 ของโลก ถึงแม้ว่างบประมาณเรื่องการคมนาคมจากส่วนกลางจะเทให้กับกรุงเทพฯ มากถึง 72% ยังไม่นับว่ารายได้จากการท่องเที่ยวมาจากแค่ไม่กี่เมืองเท่านั้น การกระจายรายได้จึงเป็นอีกหนึ่งปัญหาคอขวดที่ต้องรอให้การเดินทางถูกพัฒนาให้ดีขึ้นเสียก่อน

CC 4

เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนที่แท้จริงในประเทศไทย

ไม่นานมานี้เพิ่งมีข่าวเปิดตัว “แทรมขอนแก่น” รถไฟฟ้าสายแรกในต่างจังหวัดที่เป็นความหวังของคนนอกพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งเคยวางแผนไว้ว่าจะเริ่มสร้างในปี 2562 แต่ก็ต้องเลื่อนมาอย่างต่อเนื่องเพราะมีเงินลงทุนไม่เพียงพอ นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ขนส่งมวลชนในต่างจังหวัดได้รับการพูดถึงเพราะก่อนหน้านี้มีโครงการ “โมโนเรลหาดใหญ่” ที่เคยวาดฝันเอาไว้ว่าจะเป็นรถไฟฟ้าสายแรกในต่างจังหวัด แต่โครงการก็ถูกพับเก็บไปแบบไร้กำหนดปัดฝุ่น ส่วนโปรเจ็คท์ “แทรมภูเก็ต” ก็ถูกเปลี่ยนให้เป็น “ระบบรถโดยสารอัจฉริยะไร้คนขับ” ซึ่งเพิ่งจะผ่านขั้นตอนรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนส่วนเพิ่มเติมเมื่อปีที่ผ่านมานี้เอง

ข้อมูลจากเว็บไซต์ World Economic Forum บอกว่าแผนการสร้างขนส่งสาธารณะในอีก 100 เมืองทั่วโลก สามารถกระจายงานให้ผู้คนได้มากถึง 4.6 ล้านตำแหน่ง ซึ่งเป็นงานที่มีความยั่งยืนเพราะเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของทุกคน แถมยังมีตัวเลขงานวิจัยบอกอีกว่าทุกการลงทุนในขนส่งมวลชนประมาณ 10 ล้านเหรียญสหรัฐ จะสร้างกำไรคืนให้กับพื้นที่ได้มากถึง 39 ล้านเหรียญฯ ตรงกับแผนการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟฟ้าหรือระบบขนส่งมวลชน (TOD) ในระยะประมาณ 600 เมตร ซึ่งหมายถึงแหล่งท่องเที่ยว ร้านค้า และสถานที่ในการทำกิจกรรมต่างๆ ที่สามารถเดินไปจากขนส่งสาธารณะได้โดยใช้เวลาไม่เกิน 10 นาที ในขณะเดียวกันที่ดินรอบๆ บริเวณสิ่งก่อสร้างที่เกิดขึ้นใหม่นั้นก็จะมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นด้วย โดยประเภทของ TOD ยังสามารถแบ่งย่อยได้หลายระดับ เช่น พื้นที่ซึ่งอยู่ใกล้รถไฟฟ้าสามารถเป็นศูนย์กลางการค้า ส่วนพื้นที่ซึ่งห่างไกลออกมาอาจพัฒนาเป็นที่อยู่อาศัยโซนใหม่

CC 6

ในยามที่น้ำมันแพงเกินกว่าจะขับรถไปไหนไกลๆ หลายวันได้ ขนส่งสาธารณะยังมีบทบาทช่วยลดภาระส่วนนี้ของนักท่องเที่ยว แถมยังลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมหาศาล ตัวอย่างเช่นในปี 2019 รถไฟใต้ดินในวอชิงตันสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ของเมืองได้มากถึง 300,000 เมตริกตัน เพราะลดการใช้น้ำมันเบนซินในยานพาหนะชนิดอื่นได้ 40 ล้านแกลลอน การศึกษายังพบอีกว่าการเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะมีความปลอดภัยมากกว่ารถยนต์ส่วนตัว ลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุได้ 90% ในเมื่อประโยชน์ของการคมนาคมเพื่อทุกคนมีมากมายขนาดนี้ มีเหตุผลอะไรที่การพัฒนาด้านการเดินทางจะให้ความสำคัญกับถนนและสนามบินเท่านั้น?

วาทกรรมเรื่องค่าครองชีพแพงในบางจังหวัดหรือการเตือนกันเองให้ระวังโดนมิจฉาชีพหลอกไม่ควรเกิดขึ้นในประเทศที่มีขนาดเล็กอย่างบ้านเรา นักท่องเที่ยวชาวสิงคโปร์คนหนึ่งเคยพูดว่า “ภูเก็ตมีขนาดไม่ต่างจากโซนที่อยู่อาศัยในประเทศของเรา แต่ที่นี่ยังไม่มีรถไฟฟ้าหรือขนส่งสาธารณะที่เข้าถึงทุกพื้นที่ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย เพราะฉันเห็นศักยภาพของความหลากหลายบนเกาะแห่งนี้ การท่องเที่ยวสิงคโปร์สู้ไม่ได้เลยถ้าภูเก็ตพัฒนาเรื่องสาธารณูปโภคพื้นฐานให้ดีขึ้น” ยิ่งในสถานการณ์ที่ต้องพึ่งพานักท่องเที่ยวในประเทศ

ภูเก็ตมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องปรับตัวเพื่ออำนวยความสะดวกชาวไทยผู้มีรายได้ไม่สูงเท่าชาวต่างชาติ ไม่ใช่การตอบกลับด้วยประโยคที่ว่า “จนก็ไม่ต้องมา” ซึ่งประเด็นนี้สำคัญอย่างยิ่งในเรื่องการกระจายรายได้ เพราะการท่องเที่ยวที่หยุดชะงักทำให้พลเมืองชาวภูเก็ตส่วนหนึ่งมีสถานะ ‘ยากจนเฉียบพลัน’ เพราะขาดเม็ดเงินจากการท่องเที่ยวจนไม่สามารถส่งลูกให้เรียนต่อในโรงเรียนได้ตามปกติ

การปรับตัวไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นทางรอดของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้ยังคงหายใจต่อไปได้ จะดีแค่ไหนถ้าบทความแนะนำการท่องเที่ยวในต่างประเทศจะบอกว่าเหตุผลหนึ่งที่คนทั่วโลกควรมาภูเก็ตเพราะมีขนส่งมวลชนที่ดี เหมือนที่พวกเราชื่นชมการเดินทางในญี่ปุ่น เกาหลีใต้ หรือไต้หวัน การเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาแต่สามารถเร่งให้เร็วขึ้นได้ถ้าคนในพื้นที่ร่วมกันผลักดันไปพร้อมกับหน่วยงานที่กำลังขับเคลื่อนอยู่ นี่เป็นอีกหนึ่งนิยามของความยั่งยืนที่ไม่ได้พัฒนาเพื่อการท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ยังส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้อยู่อาศัยไปพร้อมกันอีกด้วย


Source:
• https://journals.sagepub.com/doi/pdf/10.1177/0047287517741997
• https://brandinside.asia/kk-khonkhenmodel-development-before-gov/
• https://www.isranews.org/content-page/item/
• https://www.worlddata.info/asia/thailand/tourism
• https://en.wikipedia.org/wiki/Tokyo_Metro
• https://www.dailynews.co.th/articles/544901/
• https://www.prachachat.net/property/news-798329
• https://www.khaosod.co.th/lifestyle/news_5188927
• http://thailandtod.com/Whatistod.html
• https://www.ananda.co.th/blog/thegenc/tod/
• https://www.weforum.org/agenda/2021/04/here-s-why-cities-should-invest-in-public
• https://www.nhtsa.gov/press-releases/early-estimates-2019-motor-vehicle-traffic-data-show-reduced-fatalities-third

Tags: