Bangkok Spanish Design Week
‘มีเรียม รูเอดา’ ดีไซเนอร์ชาวสเปนกับเบื้องหลัง ‘Bangkok Spanish Design Week 2024’ ที่ทรงวาด
- ถอดแนวคิดงาน ‘Bangkok Spanish Design Week 2024’ ไปกับ ‘มีเรียม รูเอดา’ เจ้าของสตูดิโอกราฟิกดีไซน์สัญชาติสเปน ‘MESA312’ ที่เนรมิตทรงวาดให้เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนศิลปะ วัฒนธรรม และโชว์งานดีไซน์คอนเซปต์แน่นๆ แบบสเปนให้โลกได้เห็น
ที่จริงแล้ว เราทุกคนใกล้ชิดกับงานดีไซน์ของชาวสเปนกว่าที่คิดนะ!
ยกตัวอย่างง่ายๆ ก็ผู้ออกแบบโลโก้ ‘จูปาจุ๊ปส์ (Chupa Chups)’ อมยิ้มที่เรากินกันในวัยเด็กจนฟันผุ ซึ่งแท้จริงแล้วคือ ‘ซัลบาดอร์ ดาลี (Salvador Dalí)’ ศิลปินเซอร์เรียลลิสม์ชาวสเปน ที่ทุกคนมักจะรู้จักเขาในลุคหนวดเเหลมๆ และภาพวาดนาฬิกาหลอมละลาย ‘The Persistence of Memory’ ยังไงล่ะ แถมเจ้าของบริษัทจูปาจุ๊ปส์ที่เป็นผู้คิดค้นผลิตภัณฑ์ตัวนี้ขึ้นมาก็คือ ‘เอนริค เบอร์เเนตต์ (Enric Bernat)’ เพื่อนสนิทของซัลบาดอร์ ที่เป็นนักวิทยาศาสตร์และนักธุรกิจชาวสเปนอีกเช่นกัน
น่าแปลก ที่น้อยคนเท่านั้นจะรู้ว่าผลิตภัณฑ์ชื่อดังระดับโลกที่มีวางขายอยู่ทุกหนทุกแห่งมีที่มาที่ไปอย่างไร รวมไปถึงสิ่งประดิษฐ์และดีไซน์เจ๋งๆ จากสเปนอีกนับไม่ถ้วนที่ไม่ถูกเรียกจนคุ้นปากกันสักที
‘มีเรียม รูเอดา (Myriam Rueda)’ นักออกแบบชาวสเปนที่หลงรักประเทศไทย จนย้ายหลักแหล่งมาอยู่กรุงเทพฯ เป็นเวลา 16 ปีแล้ว มองเห็นช่องโหว่ตรงนี้ เธอเลยตัดสินใจเนรมิตถนนทรงวาดบ้านเราให้เป็นที่จัดแสดงงาน ‘Bangkok Spanish Design Week 2024’ ครั้งแรก ซึ่งกำลังจะเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้!
มารู้จักมีเรียมให้มากขึ้น ถอดรหัสความเหมือนและต่างของงานดีไซน์ไทยและสเปน พร้อมกับเข้าใจแนวคิดของดีไซน์วีกครั้งแรกของต่างชาติในไทย ที่ขนนักออกแบบสเปนเบอร์ใหญ่ๆ มามากมาย รับรองว่า ทุกคนจะต้องตื่นเต้นกับเทศกาลนี้เหมือนเราแน่นอน
Myriam Rueda and MESA312
แม้มีเรียมจะบอกตลอดบทสนทนาว่า “เราไม่แคร์ว่าคนจะรู้จักชื่อเราหรือเปล่า แค่รู้จักงานเราก็พอแล้ว” แต่ขอใช้พื้นที่นี้บอกเล่าความเป็นมาของเธอและสตูดิโอหน่อยแล้วกัน เพราะพอจะมองออกว่าสิ่งที่ผู้หญิงชาวสเปนคนนี้กำลังจะทำในย่านทรงวาด จะกลายเป็นก้าวช้าๆ สั้นๆ ที่มีผลกระทบยิ่งใหญ่ ต่อวงการดีไซน์ไทยและสเปน
มีเรียมเป็นกราฟิกดีไซเนอร์ชาวบาร์เซโลนา ในปี พ.ศ.2550 เธอจากบ้านเกิดมาอยู่ประเทศไทยเป็นเวลา 2 ปี ตกหลุมรักในสีสันและความวุ่นวาย ที่ผสมปนเปกับความเรียบง่ายและสงบได้อย่างลงตัวของประเทศไทย จนในที่สุดก็ย้ายมาอยู่ที่นี่แบบถาวร และไม่เคยจากไปไหนอีกเลย
ด้วยความที่ชอบความจัดจ้านของบรรยากาศ สีสัน Typography และแพ็กเกจจิงของสินค้าในย่านเยาวราชเป็นพิเศษ มีเรียมเลยตัดสินใจเปิดกราฟิกสตูดิโอ ‘MESA312’ บนถนนทรงวาด
ซี่งนอกจากเธอจะรับทำแบรนดิงและออกแบบแพ็กเกจจิงให้องค์กรในไทยและสเปนหลายแห่งแล้ว MESA312 ยังเป็นที่จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม เวิร์กช้อปศิลปะ และจุดรวมตัวศิลปินที่ต้องการสเปซจัดแสดงงานในราคาที่เป็นมิตรอีกด้วย
ถึงจะไม่ได้เป็นคนไทยโดยเเท้ แต่มีเรียมก็ยังคงพยายามสร้างความเคลื่อนไหวบางอย่างในอาร์ตซีนที่นี่ ได้มากบ้างน้อยบ้าง แต่ก็พูดได้อย่างเต็มปากว่าสม่ำเสมอ เพราะตั้งแต่เปิดสตูดิโอมา ผู้คนทั้งไทยและต่างชาติต่างแวะเวียนมาพูดคุยและขอคำแนะนำจากเธออยู่ตลอด แม้แต่ในวันที่เรานัดพบกัน เธอก็เพิ่งจบบทสนทนากับกลุ่มศิลปินชาวต่างประเทศไป
Culture Meets Design
“มีเรียมมองว่างานดีไซน์ไทยและสเปนต่างกันยังไง?” เราถือโอกาสถาม เพราะไหนๆ ก็ได้มาคุยกับเธอที่คลุกคลีกับทั้งสองวัฒนธรรมมาอย่างเข้มข้นแล้ว
“เราคิดว่างานดีไซน์ของสเปนมีความทางการกว่า คลาสสิกกว่า เวลาทำงานแบรนดิงให้คนสเปนจะรู้เลยว่าเล่นอะไรมากไม่ค่อยได้ ต้องเป็นหัวข้อ ตามด้วยรูปภาพ อะไรแบบนี้ ในขณะที่ศิลปินไทยส่วนใหญ่จะทำงานที่ครีเอทีฟกว่า ไม่ได้หมายความว่าคนสเปนไม่ครีเอทีฟนะ แต่งานของคนไทยจะมีความสดใหม่ ความกล้าลองมากกว่า ทั้งในแง่ของวัสดุที่ใช้ สี แล้วก็ฟอร์แมต ถ้าไปทำแบบนี้ที่สเปน คนไม่น่าเก็ต หนำซ้ำอาจจะโดนหาว่า ‘Are you crazy?’” มีเรียมตอบพร้อมหัวเราะ
เธอเสริมอีกว่า ในฐานะคนสเปนเธอค่อนข้างที่จะเคร่งเรื่องการทำงานมากๆ ทุกอย่างต้องเป๊ะ แต่การมาทำงานกับคนไทยนี่แหละ สอนให้รู้ว่าการทำงานแบบไม่ต้องรู้สึกว่า “หัวใจจะวายทุก 5 นาที” เป็นยังไง เพราะคนที่นี่ผ่อนคลายกว่าเยอะ
“ถ้าอย่างนั้นความพิเศษของงานดีไซน์สเปนคืออะไรล่ะ?” เราถามต่อ เพราะเท่าที่ฟังดูเธอจะชอบการทำงานแบบไทยมาก
“คอนเซปต์” มีเรียมตอบหลังจากนิ่งคิดไปสักพัก “ช่วงเริ่มทำงานที่สเปนแรกๆ เจ้านายเราพูดอย่างนึงที่เราจำได้ขึ้นใจเลย เขาบอกว่า ‘ไม่ว่าจะดีไซน์อะไรมา เอาไปให้คุณยายอายุ 90 ที่บ้านของเธอดู ถ้าเขาดูแล้วไม่เข้าใจ แปลว่าเป็นงานดีไซน์ที่แย่’ นั่นแหละ ต้องให้เขาตอบให้ได้ว่าเรากำลังพยายามจะขายอะไร โดยห้ามใบ้เลยสักนิด ถ้าคุณยายตอบไม่ได้ เราก็ต้องเริ่มใหม่”
สิ่งที่มีเรียมพูดมาทั้งหมดคือแก่นการดีไซน์แบบสเปน ซึ่งเก่งเรื่องการตีความคอนเซปต์ออกมาเป็นภาพให้เข้าใจง่าย เธอมองว่างานดีไซน์ควรจะเข้าถึงทุกคนได้ ไม่ใช่เเค่กลุ่มคนที่ชอบเสพอาร์ตอย่างเดียว เทียบกับผลงานของศิลปินไทยที่ยังคงอิงกระแสเป็นหลัก ข้อนี้ถือว่าเป็นจุดแข็งที่เธออยากจะนำเสนอเลยก็ว่าได้
Iconic VS Talent
‘Bangkok Spanish Design Week 2024’ คือส่วนผสมที่ลงตัวระหว่างงานคอนเซปต์แน่นๆ แบบสเปน และความครีเอทีฟสนุกๆ แบบไทยที่ว่า
โดยต้นคิดของเทศกาลนี้มาจากมุมมองที่มีเรียมมีต่อวงการศิลปะในบ้านตัวเองนี่แหละ ที่แม้คนเก่งๆ จะเยอะ แต่ทำไมไม่รู้…ดันเงียบกริบบนเวทีโลก เชื่อว่าหลายคนคงเพิ่งได้รู้ว่านอกจากจูปาจุ๊ปส์แล้ว ชุดนักบินอวกาศ เรือดำน้ำ ไซริงค์ยาแบบพลาสติก หรือแม้แต่กบเหลาดินสอเอง ก็ล้วนมีต้นกำเนิดมาจากนักคิดค้นและนักออกแบบชาวสเปนทั้งนั้น น่าเศร้าที่ทุกวันนี้วงการออกแบบสเปนในสายตาชาวโลกยังคงเป็นเช่นนั้นอยู่ “โดยเฉพาะในไทย ถ้าไม่ได้ทำโปรเจกต์ใหญ่ๆ กับแบรนด์ดังๆ ก็ยากที่คนจะมารู้จัก” เจ้าของไอเดียเสริม
หลังจากวางแพลนอยู่นาน มีเรียมตัดสินใจจับมือกับ ‘NOMON Design’ สตูดิโองานออกแบบจากบาร์เซโลนาที่เธอย้ำว่า “มีคอนเนกชันกับดีไซเนอร์ชาวสเปนเยอะสุดๆ” และสถานเอกอัครราชทูตสเปนประจำประเทศไทย เพื่อคิวเรตผลงานออกแบบจากหมวดสถาปัตยกรรม แฟชั่น กราฟิกดีไซน์ และโปรดักต์ดีไซน์ ภายใต้คอนเซปต์ ‘Iconic VS Talent’ โดยแบ่งเป็น 2 พาร์ตหลักๆ ได้แก่ ‘Iconic’ ที่จะมานำเสนองานของศิลปินรุ่นเก๋า เบอร์ใหญ่ๆ ซึ่งเคยสร้างตำนานไว้แล้ว ให้คนได้รู้จักมากขึ้น อย่างเช่น นักคิดค้นเจ้าของผลงานที่กล่าวถึงข้างต้น ส่วน ‘Talent’ จะนำเสนองานศิลปินหน้าใหม่ ไฟแรง ที่เพิ่งถูกค้นพบ
เราขอให้มีเรียมบอกชื่อศิลปินที่เธอตั้งหน้าตั้งตารอที่สุดมาสัก 2-3 ชื่อ “เอาจริงๆ ตั้งหน้าตั้งตารอทุกคนเลย แต่ถ้าจะให้เลือกจริงๆ ก็คงมี ‘ลอรา เมเซเกร์ (Laura Meseguer)’ Typographer ที่เราชอบมากๆ ‘ฮวานโฮ ซาเอส (Juanjo Sáez) นักวาดการ์ตูนที่เล่าถึงโลกความเป็นจริงได้สนุกสุดๆ อยากรู้ว่าคนไทยจะมีรีแอกชันยังไงกับงาน และอีกอันนึงที่น่าสนใจก็คือนิทรรศการของ ‘ครูซ โนบิโญ (Cruz Novillo)’ เราคิดว่าคนน่าจะเซอร์ไพรส์ถ้าได้รู้ว่าจริงๆ แล้วเขาอยู่เบื้องหลังแบรนด์ดังๆ ที่เราพบเจอกันในชีวิตประจำวันเยอะมาก” และนี่เป็นเพียงน้ำจิ้มเท่านั้น
เพราะในงานจริงเราจะได้พบกับการแสดงงานแบบจุใจทั่วถนนทรงวาด ที่ได้รับการซัพพอร์ตพื้นที่จากคอมมูนิตีที่กำลังเติบโตอย่าง ‘Made in Songwat’ อีกทีนึง บ้างก็อยู่ในคาเฟ่ บ้างก็ตั้งเด่นอยู่บนลานกว้าง หรือจะตั้งแอบๆ อยู่ในโกดังทิ้งร้างที่ยังไม่เคยมีใครใช้จัดแสดงงานศิลปะมาก่อนก็มี!
และไม่ต้องกลัวเลยว่ามาเดินแล้วจะจำเจ เข้าถึงยาก ในงานจะมีทั้ง Talk ที่ให้นักศึกษาและนักออกแบบชาวไทยได้ไปแลกเปลี่ยนมุมมองกับดีไซเนอร์ชาวสเปน เวิร์กช้อป ร้านค้า และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งมีเรียมแอบกระซิบว่า แม้ทั้งหมดจะเป็นงานออกแบบของชาวสเปน แต่เธอไม่ลืมเติม Interactive Elements ลงไปด้วย ถึง NOMON Design จากฝั่งสเปนจะแอบเอะใจนิดๆ แต่เธอก็ไม่สน เพราะอยู่ไทยมานานจนรู้ว่า “คนไทยขี้เล่น” อยากถ่ายรูป อยากจับ อยากมีส่วนร่วม
What’s to Come
ฟังดูยิ่งใหญ่สุดๆ ไปเลยใช่ไหมล่ะ? ยังไงก็ตาม ความยิ่งใหญ่ก็ยังมาพร้อมกับข้อจำกัดมากมาย “เราเป็นคนช่างฝัน ชอบขอนู่นขอนี่ แต่บางทีสิ่งที่ขอก็ไม่ได้เกิดขึ้นเสมอไป” มีเรียมบอกกับเรา
ด้วยความที่เป็นการจัด Bangkok Spanish Design Week ครั้งแรก น้อยคนที่จะเข้าใจและมองเห็นในสิ่งที่เธอกำลังทำอยู่ ทำให้ปีนี้มีเรียมอาจจะไม่สามารถพานักออกแบบหลายๆ คนมาถึงกรุงเทพฯ ได้ตามที่ต้องการ ด้วยข้อจำกัดด้านงบประมาณ ซึ่งเธอหวังว่าในปีถัดๆ ไป เธอจะสามารถทำได้ เพราะมั่นใจว่าถ้าศิลปินเบอร์ต้นของสเปนได้มาเห็นกรุงเทพฯ ในแบบที่เธอเห็น คงตกหลุมรักเช่นกัน
“ถ้าพูดกันในเชิงของ Visual หรือภาพ กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่เจ๋งมาก
เราว่าผลงานออกแบบจะต้องบูมแน่นอน ถ้าดีไซเนอร์สเปนหลายๆ คนที่ไม่เคยมาไทยได้มา อย่าง ลอรา เมเซเกร์ Typographer ที่เพิ่งพูดถึงไป เรานึกภาพออกเลยว่าผู้หญิงคนนั้นจะต้องคลั่งถ้าได้มาเห็นกรุงเทพฯ เอาแค่ Typography ในทรงวาดก็เท่มากๆ แล้ว คิดดูสิว่าถ้าคนเจ๋งๆ ได้มาเจอเมืองเจ๋งๆ ผลงานที่ออกมาจะหลุดโลกแค่ไหน” มีเรียมบรรยายภาพฝันของตัวเอง พร้อมแววตาที่เป็นประกาย
“สุดท้าย คาดหวังอะไรไหมกับผลลัพธ์และรีแอกชันคนดู?” เรายิงคำถามสุดท้ายก่อนมีเรียมจะพาพวกเราไปเดินเล่นดูโลเกชันจัดแสดงงานในย่านทรงวาด
“ถ้าให้พูดตรงๆ ก็คาดหวังให้มีคนมาเยอะๆ” เธอตอบพร้อมหัวเราะ “แต่ไม่มีทางรู้หรอกจนกว่างานจะเกิดขึ้น” เธอเล่าย้อนไปถึงตอนที่จัดงาน ‘Sant Jordi’ เทศกาลหนังสือของชาวกาตาลุญญาที่คนจะนำดอกกุหลาบแดงกับหนังสือมาแลกกัน “ตอนนั้นคิดว่าไม่น่าจะมีคนสนใจมาก แต่ผลกลับตรงกันข้ามเลย มีศิลปินไทยเบอร์ใหญ่ที่เราชอบมากๆ อย่าง ‘วีรพร นิติประภา’ และ ‘นักรบ มูลมานัส’ มาขอคอลแลป ตกใจมาก! แถมวันจริงคนก็มากันจนล้น ต้องต่อคิวรอ”
ประสบการณ์ครั้งนั้นทำให้เธอไม่คาดหวังอะไรมาก เว้นแต่ความสงสัยที่ว่า ผู้คนจะคิดยังไงกับงานออกแบบของสเปนและจะได้เรียนรู้อะไรจากงานนี้ ก็ได้แต่หวังว่าผลตอบรับจะออกมาดี เพราะแม้งานครั้งนี้จะยังไม่ทันเกิดขึ้น เธอก็มีแนวทางสำหรับปีต่อไปแล้ว คือ 1. นำเสนอเรื่องความยั่งยืนผ่านงานดีไซน์มากขึ้น และ 2. จัดงานที่ไม่ได้ใหญ่โตอะไรกว่าเดิมมากมาย แต่ต้องดีกว่า “Not Bigger, but Better” 🙂
งาน ‘Bangkok Spanish Design Week 2024’
จะเริ่มจัดแสดงวันที่ 21 – 24 พฤศจิกายน 2567 บริเวณถนนทรงวาด ติดตามความเคลื่อนไหวของกิจกรรมได้ที่
Instagram: bangkokspanishdesignweek, mesa_312_
Facebook: MESA 312