Leave The Legacy
จากส้มตำที่บ้านสู่ลาบจิงโจ้ของ แนท นาตาลี แชมป์ MasterChef Australia ในวันที่ยอมรับในรากเหง้าของตัวเอง
- แนท-นาตาลี ไทยพัน เด็กไทยที่เติบโตในเมลเบิร์น ผู้ชนะเลิศรายการ MasterChef Australia ผู้เชื่อในพลังของอาหารว่าใน 1 จานมีมากกว่า 1 เรื่องราว และเชื่อในการบันทึกความทรงจำผ่านรอยสัก
โดยปกติแล้วการดูรายการ MasterChef สำหรับผม คือการมาลุ้นผ่านหน้าจอว่าวันนี้ใครจะต้องคืนผ้ากันเปื้อนและกลับบ้านไป หรือบางครั้งอาจมาดูว่าความน่ากลัวของเหล่ากรรมการที่ไม่มีทีท่าว่าจะเผ็ดแสบน้อยลงเลยแม้แต่ซีซันเดียว ยกเว้น MasterChef Junior ไว้รายการหนึ่ง
กลับกัน แนท-นาตาลี ไทยพัน ทำให้ผมอยากรู้ในทุกๆ ตอนว่า เธอจะนำเสนออาหารไทยในเวที MasterChef Australia ออกมาอย่างไรบ้าง เพราะแค่จานแรกก็เสิร์ฟ ‘ลาบจิงโจ้’ ให้ได้ตื่นตากันไปข้าง แต่ทุกอย่างกลับน่าตื่นเต้นขึ้นไปอีก เมื่อเธอสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศมาได้! พร้อมไปรับหน้าที่เชฟประจำร้านอาหาร Alumni ในโรงแรม Crown Melbourne เป็นระยะเวลา 3 เดือน
การสัมภาษณ์ครั้งนี้ที่ทรูได้ชวน ONCE มาคุยกับแนท จึงค่อนข้างลุ้นเหลือเกินว่า เธอจะว่างหรือเปล่านะ ซึ่งคำตอบที่ได้รับกลับมาก็น่าชื่นใจสำหรับกองบรรณาธิการ ส่วนแนทเองก็ยอมรับว่ายังไม่ค่อยชินกับชีวิตที่ต้องคอยให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างๆ สักเท่าไหร่ ถึงอย่างนั้นเธอก็ตอบทุกคำถามอย่างเป็นตัวเอง
เราได้รู้อะไรบ้างจากการสัมภาษณ์ครั้งนี้
หนึ่ง เธอเชื่อว่าอาหารมีความสามารถในการเชื่อมโยงผู้คน และนำวัฒนธรรมที่หลากหลายเหล่านั้นมารวมกันอยู่ในจานจานเดียว
สอง เธอเชื่อว่าครอบครัวและการเดินทางคือสิ่งที่ทำให้เธอเชื่อในความสามารถของอาหาร
สาม เธอเชื่อว่ารอยสักคือเครื่องบ่งบอกความเป็นตัวของตัวเองและความคิดสร้างสรรค์ของคนคนหนึ่ง ไม่มีใครควรถูกตัดสินฝีมือการทำงานจากรอยสักของพวกเขา
และท้ายที่สุด อาจสำคัญเมื่อแนทมาเยือนประเทศไทย เธอชอบกินส้มตำ
First Dish
ตำแหน่ง MasterChef Australia ที่ได้มาได้เปลี่ยนแปลงชีวิตคุณไปยังไงบ้าง
โอ้โห มันบ้ามากเลยค่ะ! เราไม่เคยคิดฝันเลยว่าจะได้เข้าแข่ง MasterChef ไม่ต้องพูดถึงการชนะเลย! ตอนนี้ชีวิตกลายเป็นวงจรของการให้สัมภาษณ์ งานอีเวนต์ และโอกาสใหม่ๆ มากมาย รู้สึกเหมือนฝันไปเลยที่มีคนรู้จักเราทั่วโลก แล้วก็มีคนจำได้ทุกที่ที่ไปด้วย ยังไม่ชินเลย (หัวเราะ) แต่นี่ก็ถือเป็นไฮไลต์ของชีวิตจริงๆ นะ ทำให้เราได้เข้าใกล้ความฝันในการปฏิวัติวงการอาหารมากขึ้น
แปลว่าคุณมาสมัครรายการ MasterChef เพราะอยากปฏิวัติวงการอาหารงั้นเหรอ
พูดแบบไม่อายเลยก็คือ เพื่อนจากนิวซีแลนด์ส่งลิงก์มาให้ลองสมัครดู (หัวเราะ) เพราะเพื่อนรู้ว่าเราชอบทำอาหารให้คนอื่นลองชิม ชอบจัดงานเลี้ยงอาหารเย็น งานคลับอาหาร และงานปาร์ตี้ Potluck
พอเข้ามาแข่งขันแล้ว แนวคิดในการนำเสนออาหารจานต่างๆ ของคุณคืออะไร มีสิ่งไหนที่ต้องการเน้นเป็นพิเศษไหม
การทำอาหารสำหรับเรา คือ การแสดงออกถึงความรัก ความคิดสร้างสรรค์ และความอดทน มันเป็นวิธีการเล่าเรื่องอย่างหนึ่ง เชื่อมโยงผู้คนเข้าด้วยกัน และเคารพมรดก เราเลยเห็นด้วยกับความคิดที่ว่า อาหารมีความสามารถทางสากลในการเชื่อมโยงผู้คนเข้ากับรากเหง้าของพวกเขา และนำวัฒนธรรมที่หลากหลายเหล่านั้นมารวมกัน
การเดินทางของเราใน MasterChef Australia เลยเป็นประสบการณ์การเรียนรู้ที่ลึกซึ้งมาก มันผลักดันให้เราได้สำรวจตัวตน ยอมรับรากเหง้าของตัวเอง และนำเสนอผ่านเมนูอาหาร แถมยังช่วยให้เราตระหนักถึงพลังในการเชื่อมโยงของอาหาร
การจัดจานก็เป็นอีกหนึ่งศิลปะที่เพิ่มระดับความน่ากินของอาหารแต่ละจาน เราเชื่อว่าอาหารควรดูน่ากินเท่าเทียมกับรสชาติที่อร่อย
วิธีการจัดจานของเรามักได้รับแรงบันดาลใจจากธรรมชาติและความเรียบง่าย เน้นที่สีสัน เนื้อสัมผัส และรูปทรง เพื่อให้แน่ใจว่าแต่ละองค์ประกอบบนจานจะเล่าเรื่องราว ยกระดับ และเพิ่มประสบการณ์การรับประทานอาหาร ทำให้น่าจดจำและสนุกสนานมากขึ้น
ตลอดการแข่งขัน มีเมนูที่ประทับใจเป็นพิเศษไหม
น่าจะเป็นจานแรกของซีซันนะ ลาบจิงโจ้กับข้าวตัง หรือไม่ก็ไส้อั่วสก็อตช์เอ้กในรอบชิงชนะเลิศ มันผสมผสานรสชาติไทยกับเทคนิคยุโรปได้อย่างลงตัว
แต่อย่างหนึ่งของเหล่าคู่แข่งที่ทำให้เรารู้สึกอิจฉา คือความสามารถในการใช้เทคนิคแบบยุโรป หรือความสามารถในการนำวัตถุดิบที่ปกติใช้ทำอาหารคาวมาทำของหวาน
มีความรู้สึกอิจฉาไปแล้ว ความรู้สึกกดดันล่ะ ระหว่างทางหนักมากไหม
การแข่ง MasterChef มันหนักหนาสาหัสมากจริงๆ ค่ะ แต่พูดแล้วอาจจะแปลกนะ เรารู้สึกว่าทุกความยากลำบากที่เคยเจอมาในชีวิต เหมือนเป็นการเตรียมตัวให้เราพร้อมสำหรับจุดนี้
มีทริกสำหรับการจัดการความรู้สึกตัวเองไหม
ระหว่างแข่ง เราจัดการตัวเองด้วยการโฟกัสที่ความสุขในการทำอาหาร และความรักในสิ่งที่ทำ ออกไปวิ่ง เขียน วาด ฟังเพลง แล้วก็เต้นนิดหน่อยในอะพาร์ตเมนต์ เรามักจะเตือนตัวเองว่าทำไมถึงรักการทำอาหาร และทำไมมันถึงเป็นที่หลบภัยของเราเวลาชีวิตมันยากเกินไป เรามักจะใช้เวลาหลายชั่วโมงในครัวเป็นวิธีผัดผ่อนงาน ถ้าไม่ได้ทำอาหาร ก็จะเขียนและสร้างเมนูในฝัน ถ้าไม่ใช่อย่างนั้นก็วาดรูปเมนูในฝันแทน
การนึกถึงความทรงจำวัยเด็ก ความเชื่อมโยงกับรากเหง้า และรสชาติที่เป็นแรงบันดาลใจ ก็ช่วยให้มีสติในช่วงที่เครียดๆ ด้วย แต่สิ่งสำคัญที่สุด คือ ยิ่งเปิดใจตอนเข้าครัวมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งสนุกมากขึ้นเท่านั้น และอาหารก็มักจะออกมาดีด้วย
Second Dish
การเป็นเด็กไทยที่เติบโตในออสเตรเลียมีอิทธิพลต่อการรังสรรค์อาหารยังไงบ้าง
การเติบโตในออสเตรเลียกับพ่อแม่ที่เป็นคนไทย ให้มุมมองการทำอาหารที่ไม่เหมือนใครจริงๆ เราจำได้ว่าแม่นว่า แต่ละวันจะเต็มไปด้วยเรื่องราวที่สนุก ความสดใส และอาหารที่หลากหลาย เชื้อสายความเป็นคนไทยในตัวเราเป็นพื้นฐานสำคัญในเส้นทางอาชีพเชฟ พ่อกับแม่ได้ปลูกฝังเรื่องของการทำอาหาร รวมถึงประเพณีที่หลากหลายให้กับเรา การเติบโตมากับวัฒนธรรมที่แตกต่างได้สร้างสไตล์การทำอาหารให้เราโดยอัตโนมัติ ทั้งยังเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์เมนูอาหารแบบฟิวชัน ทำให้เราสามารถผสมผสานรสชาติไทยในแบบที่ยังคงเคารพรากเหง้าของตนเองเข้ากับเทคนิคตะวันตกที่เป็นอิทธิพลรอบๆ ตัวได้อย่างกลมกลืน
ย้อนกลับไปในวัยเด็ก คุณมีความทรงจำต่ออาหารจานไหนเป็นพิเศษหรือเปล่า
อาหารในวัยเด็กที่ชอบที่สุดคือลาบ หรือไม่ก็ส้มตำ ชอบกินกับข้าวเหนียว ผักสดเยอะๆ กะหล่ำปลีสด ถั่วฝักยาว สมุนไพรสด แน่นอนว่าต้องเสิร์ฟพร้อมกับเนื้อย่างหลากหลายชนิด โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ป่า
คนในครัวล่ะ คุณแม่และคุณยายมีความสำคัญกับคุณขนาดไหน
สิ่งที่เราเรียนรู้จากแม่และยายคือ อาหารไม่ใช่แค่เชื้อเพลิงสำหรับร่างกาย แต่เป็นรูปแบบของการดูแลเอาใจใส่ เป็นภาษาแห่งความรักที่บางครั้งอาจจะยากที่จะแสดงออกเป็นคำพูด มันไม่ใช่แค่เรื่องรสชาติโดยรวม แต่เป็นการทำให้ดีที่สุดจากสิ่งที่มี และสามารถทำอะไรที่น่าทึ่งได้จากสิ่งเหล่านั้น
ตอนเด็กๆ เราไม่ได้ถูกสอนมารยาทไทยอย่างเป็นทางการ แต่เราได้เรียนรู้วิธีการกินด้วยกัน แบ่งปันอาหารพร้อมกับเล่าเรื่องราว พ่อเก่งมากในการเชื่อมโยงอาหารเข้ากับเรื่องราวจากทุกที่ โดยเฉพาะเรื่องราวที่เกี่ยวกับวัยเด็กและชีวิตของเขา
ถ้าตอนนี้สามารถพูดกับคุณยายได้ อยากจะบอกอะไรท่าน
ไม่ต้องกังวลนะคะ อาหารที่ยายเคยชอบกินจะไม่มีวันถูกลืม วิธีที่ยายเรียนรู้มาจากครอบครัวจะยังคงอยู่ หนูจะทำทุกอย่างเพื่อให้แน่ใจว่าเรื่องราวและการเชื่อมโยงผ่านอาหารเหล่านี้จะยังคงมีชีวิตต่อไป และไม่ถูกกลืนหายไปตามกาลเวลา หนูจะรับหน้าที่นี้ ร่วมกับคนอื่นๆ เพื่อให้แน่ใจว่าเราจะได้เห็นและได้ยินเรื่องราวทั้งหมดที่ทำให้เราเป็นคนไทย และทำให้อาหารไทยเป็นอาหารไทยจริงๆ
Third Dish
เรารู้มาว่าในปี 2016 คุณออกเดินทางจากออสเตรเลียไปยังประเทศต่างๆ (สวิตเซอร์แลนด์, ญี่ปุ่น และนิวซีแลนด์) เล่าถึงช่วงเวลาเหล่านั้นให้ฟังหน่อยได้ไหม
การใช้ชีวิตในหลายประเทศ โดยเฉพาะในเมืองที่มีหิมะ ทำให้หาวัตถุดิบเอเชียที่ปกติจะหาได้ในเมืองใหญ่อย่างเมลเบิร์นยากขึ้น เมื่อหาของเอเชียได้จำกัด เราก็ยิ่งคิดถึงอาหารไทยและอาหารชนิดอื่นมากขึ้น
ตอนอยู่ที่นิวซีแลนด์ เมืองที่เราอาศัยอยู่ (วิกตอเรีย) มีคนหลากหลายเชื้อชาติและหลายวัยที่คิดถึงอาหารที่พวกเขาโตมากับมัน จะยิ่งเห็นชัดเจนมากในช่วงโควิด โชคดีที่ในนิวซีแลนด์ไม่มีการล็อกดาวน์จริงจัง แถมยังออกไปเล่นสโนว์บอร์ดได้อีกต่างหาก! แต่ทุกคนก็เริ่มคิดถึงครอบครัวและความอบอุ่นจากมื้ออาหารที่บ้าน เราเลยเริ่มรับทำอาหารตามคำขอของคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นอาหารเช้าสไตล์อังกฤษ อาหารค่ำวันอาทิตย์ หรืออาหารไทยที่เราเองก็เติบโตมากับมัน
การเดินทางรอบโลกเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราหลงรักความเชื่อมโยงของอาหารกับเรื่องราวและวัฒนธรรม เริ่มมองวัตถุดิบเป็นโปรไฟล์รสชาติที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ทำให้เราสามารถสร้างสรรค์อาหารไทยหรืออาหารชนิดใดก็ได้ด้วยวัตถุดิบท้องถิ่นและผลผลิตตามฤดูกาล
การเดินทางเหล่านั้นให้อะไรคุณบ้าง
การเดินทางช่วยเพิ่มพูนรสนิยมและมุมมองของเราจริงๆ นะ การได้สัมผัสวัฒนธรรมอาหารที่แตกต่างเป็นเรื่องที่เปิดหูเปิดตามาก ทำให้เราเข้าอกเข้าใจคนอื่นมากขึ้น เข้าใจโลกได้ดีขึ้น และทำให้ตระหนักถึงความเรียบง่ายของการแบ่งปันอาหารกับใครสักคน รวมถึงพลังของอาหารที่สามารถเล่าเรื่องราวที่หล่อหลอมวัฒนธรรมให้ออกมาเป็นอย่างทุกวันนี้
เราวางแผนจะไปเยือนเมืองไทยเร็วๆ นี้แน่นอน และอยากร่วมงานกับเชฟท้องถิ่นเพื่อสร้างสรรค์อะไรพิเศษๆ ด้วย
Fourth Dish
รอยสักแรกบนร่างกายคุณได้มาจากการท่องเที่ยวหรือเปล่า
รอยสักแรกเป็นภาพเขาแบบง่ายๆ ที่เราใช้เวลาอยู่ที่นั่น 1 ปีโดยไม่มีมือถือ แล็ปท็อป หรือการติดต่อกับโลกภายนอก เป็นสัญลักษณ์แห่งความแข็งแกร่งสำหรับเรา เป็นเครื่องเตือนใจว่าแม้จะผ่านความยากลำบาก ชีวิตก็ยังคงดำเนินต่อไป และเราสามารถเลือกที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไปได้
แปลว่าทุกรอยสักมีความหมายในตัวของมัน
รอยสักแต่ละอันมีเรื่องราว แม้แต่รอยสักง่ายๆ อย่าง ‘For Now’ ที่อยู่บนฝ่ามือขวา เราอยากสื่อถึงธรรมชาติที่ไม่จีรังของชีวิตและประสบการณ์ ทุกอันเป็นเครื่องเตือนใจถึงประสบการณ์ทั้งหมดที่เราผ่านมาในชีวิต ตอบไม่ได้เลยว่าชอบอันไหนมากที่สุด
มีแผนจะสักเพิ่มเร็วๆ นี้ไหม
ว่าจะสักเพิ่มอีกไม่กี่อันเร็วๆ นี้แน่นอน จริงๆ เราไม่ได้วางแผนรอยสักของตัวเอง แต่มักจะสักหลังจากที่บทหนึ่งในชีวิตผ่านไป ไม่ว่าจะยาก ง่าย สนุก หรือแค่ความทรงจำที่อยากเก็บไว้
ในบางประเทศยังมีร้านอาหารที่ไม่ยอมรับการสักนอกร่มผ้าของคนในครัว คุณมีความเห็นต่อเรื่องนี้ยังไงบ้าง
เราเชื่อว่ารอยสักเป็นการแสดงออกถึงความเป็นตัวของตัวเองและความคิดสร้างสรรค์ มันไม่ได้ส่งผลต่อความสามารถในการทำอาหาร เราอยากส่งเสริมให้สถานประกอบการเหล่านี้มองข้ามรูปลักษณ์ภายนอก มุ่งเน้นไปที่ทักษะ ความหลงใหลในการทำอาหาร และยอมรับในความหลากหลายของผู้คน
Bonus
ได้ยินมาว่าคุณไม่ชอบกล้วยสุก มีความคิดที่จะจัดการจุดอ่อนนี้ไหม
นี่เป็นคำถามที่ตลกมากเลย (หัวเราะ) จริงๆ เราไม่ได้มีปัญหากับการทำอาหารด้วยกล้วยนะ แค่ไม่ชอบกล้วยสุกเท่านั้นเอง แต่เราชอบกล้วยไทยลูกเล็กๆ สีเขียวเวลาย่างมากๆ ที่จริงเราทำอาหารด้วยกล้วยบ่อยมาก เพราะเป็นผลไม้ที่มีในบ้านทุกคน แต่ไม่มีใครกินหมด เราเลยมักจะทำเค้กกล้วย ขนมปังกล้วย บานอฟฟีพาย ฯลฯ แล้วแช่แข็งไว้ให้เพื่อนร่วมบ้านหรือครอบครัวกิน
แล้วแบบนี้คุณชอบกล้วยบวชชีไหม
น่าเสียดายที่ไม่ค่อยชอบเท่าไหร่ เพราะมันหวานเกินไปสำหรับเรา แต่อะไรก็ตามที่ไม่ชอบ เรามักจะพยายามทำให้ชอบด้วยการสร้างเวอร์ชันใหม่ของมัน ถ้าเป็นเรา คงจะทำให้มันสดชื่นขึ้น ไม่หวานมาก และมีเนื้อสัมผัสที่หลากหลายกว่านี้
ติดตามชมการแข่งขัน MasterChef Australia Season 16 ทุกวันจันทร์-ศุกร์ 19.30 น. ทางช่อง Lifetime 145, 339 และแอปฯ TrueVisions Now