About
CRAFTYARD

ตังปัก

มองตัวตนผ่านชิ้นงานเซรามิก Shophouse และลายครามของ ‘ตังปัก’ O.K.D Studio

เรื่อง นริสา ลี. ภาพ ฉัตรชัย มาตยภูธร Date 23-03-2023 | View 743
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • เราจะพาไปรู้จักตัวตนของ ‘ตังปัก’ แห่ง O.K.D Studio นักสร้างสรรค์เซรามิกที่พาเราไปสนุกกับตึกเก่าย่อส่วนผ่านชิ้นงานที่ถอดแบบประตู หน้าต่าง โครงสร้าง จนกลายเป็นกิจกรรมเวิร์กช็อปสุดน่ารักของงาน BKKDW2023 ที่ผ่านมา

แม้งาน BKKDW2023 จบไปแล้ว แต่ความคิดสร้างสรรค์ยังไม่จบ…

หนึ่งในกิจกรรมเวิร์กช็อปน่ารักที่สุดของงานนี้คือการออกแบบตึกเก่าด้วยตัวเอง จัดขึ้นในชุมชนเลื่อนฤทธิ์ สร้างสรรค์โดย ‘ตังปัก’ จาก O.K.D Studio

แม้เจ้าตัวบอกว่าสิ่งที่เขาทำอยู่ ถ้านับหนึ่งคือการเริ่มต้นและสิบคือความสำเร็จ ตังปักให้คะแนนตัวเองเพียงแค่หนึ่งหรือสอง เรียกว่าอยู่ในจุดเริ่มต้นที่กำลังเกิดประกายให้เขามองเห็นแนวทางของตัวเองชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ

แต่สิ่งที่น่าสนใจในตัวหนุ่มวัย 31 ปีคนนี้คือวิธีคิดและการสื่อสารงานเซรามิกซึ่งต้องลดอีโก้ตัวเองลง ทำให้งานพูดกับคนได้มากขึ้น เหมือนที่เขากำลังค้นพบแล้วว่างานเซรามิกของเขาจะเข้าถึงผู้คนได้อย่างไร

ตังปัก

ตังปัก – พิชชากร ชวนรุ่งเรือง

ตังปัก

แม้เลือกเรียนมัณฑนศิลป์แห่งรั้วทับแก้ว แต่ลึกๆ ตังปัก – พิชชากร ชวนรุ่งเรือง ก็ชอบงานด้านโปรดักส์ดีไซน์เป็นทุนเดิม เมื่อเขาพบว่าการเรียนในรั้วมหาวิทยาลัยช่วงนั้นสนุกไม่ต่างจากการใช้ชีวิตนอกรั้ว เขาจึงเลือกไปต่อด้วยเซรามิกที่พัดพาตัวเองให้ไปพบเจอโลกกว้าง ฝึกงานในโรงงานเถ้าฮงไถ่ จ.ราชบุรี โรงปั้นเซรามิกชื่อดังของเมือง ได้เห็นเทคนิคการวาดลวดลาย ได้พูดคุยกับคนในชุมชน และเราเชื่อว่าเขาได้อะไรหลายๆ อย่างที่ทำให้มองเห็น ‘ตัวเอง’ มากขึ้น

มีช่วงหนึ่ง ตังปักบอกว่าเขาเฟดตัวเองจากโลกเซรามิกเพราะต้องทำงานประจำ แต่สุดท้ายเพียงแค่ 3 ปี เขารู้สึกว่าห้องสี่เหลี่ยมของออฟฟิศคงไม่ตอบโจทย์บนเส้นทางที่เขาอยากเดิน จึงตัดสินใจออกมา และเปิดสตูดิโอส่วนตัว O.K.D Studio ที่มาจากคำว่า ‘โอกาสดี’

โอกาสสำหรับเขา เราว่ามันคงไม่ได้นำพามาซึ่งเงินทอง แต่มันคือช่วงเวลาที่จะได้ลองเดินตามฝันของตัวเอง

ตังปักเริ่มฝันของเขาด้วยสไตล์ลายคราม วาดลวดลายด้วยสีน้ำเงินโคบอลต์ เสน่ห์ของสีน้ำเงินในโทนนุ่มนวล เมื่อบวกกับฝีมือดรอว์อิ้งของเขา เราว่ามันเข้าตามากๆ ในขณะที่งานปั้นช็อปเฮาส์ก็เป็นงานกึ่งโปรดักส์ดีไซน์ที่เขาอยากสนุกมือ

ตังปัก

ผลงานชุดธีสิส

ตังปัก

ตังปัก

ตังปัก

“ตอนผมทำธีสิส ผมเอาช็อปเฮาส์กับลายครามผสมกัน พอเราได้เรียนประติมากรรมตอนปี 4 เราก็ขึ้นรูปเป็นทรงตึกเลย แต่ไม่อยากให้เป็นงานประติมากรรมทรงตึกธรรมดา เลยออกมาหน้าตาแบบนั้น แล้วก็เพนท์ลวดลายของตึกลงไปแบบลายคราม ถามว่าชอบอะไร ผมชอบทั้งสองอย่าง”

ตึกเก่า

“ผมเป็นคนชอบเดินสำรวจอยู่แล้ว โซนย่านเมืองเก่าก็เป็นโซนที่ผมชอบเดินเล่นบ่อยๆ มันมีเสน่ห์น่าสนใจมาก รูปทรงอาคารต่างๆ ผมมองว่าสามารถเอามาสร้างงานออกแบบได้ มาทำเป็นงาน souvenir ได้ แล้วเราก็ถนัดงานเซรามิก เลยจับสิ่งที่เราถนัดมาทำแล้วคิดต่อว่ามันจะเป็นแบบไหน”

ตังปัก

และสิ่งที่ได้คืองานเซรามิกช็อปเฮาส์ เขาทำให้มันแจ้งเกิดในงาน Bangkok Illustration Fair 2022 ที่ได้รับความสนใจมากมาย นำมาสู่กิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ในงานดีไซน์วีคเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และเราก็เห็นว่าทุกคนสนุกกับกิจกรรมของเขา

ตังปัก

กิจกรรมออกแบบตึกเก่าด้วยตัวเอง ตังปักแยกชิ้นส่วนประตู หน้าต่าง ตัวอาคารออกมาให้เห็น โดยสกัดไอเดียจากชุมชนย่านเก่าในกรุงเทพฯ ที่เขาได้เดินสำรวจ เช่น ทรงวาด เจริญกรุง แพร่งภูธร ฯลฯ ทุกคนจะได้ประกอบร่างตึกเก่า ระบายสี จากนั้นเขาจะนำชิ้นงานไปเผา เคลือบ แล้วส่งกลับไปให้อีกครั้ง

ตังปัก

ตังปัก

ตังปัก

ตังปักบอกว่าเขาอยากให้สิ่งที่ทำสื่อสารกับคน ให้ทุกคนเข้าถึงได้ สนุกกับมันได้เหมือนของเล่นชิ้นหนึ่งที่เขาทำขึ้นมา

3 ปีที่ผ่านมาหลังเดินตามฝันบนเส้นทางของตัวเอง เหมือนทุกช่วงเวลาคือบทเรียนที่ดี

“ในปีแรกผมยังเป็นตัวเอง ไม่คุยกับคน อย่างลายครามที่ทำ มันก็ต้องเป็นคนที่เคยมีประสบการณ์ร่วมถึงจะเข้าใจเหมือนกัน แต่นั่นเป็นเพียงคนกลุ่มเล็กๆ พอเรามาทำโปรดักส์ให้แมสขึ้น แต่มันคุยกับคนอื่นไม่ได้ เราก็มานั่งเศร้าว่าทำไมเป็นอย่างนั้นอย่างนี้” หลังจากนั้นเขาจึงค่อยๆ เรียนรู้และปรับงานให้เข้าถึงคนได้มากขึ้น จนกลายเป็นกิจกรรมสร้างสรรค์ตึกเก่าจากเซรามิกที่เราได้เห็นกัน

ตังปัก

“ผมคิดว่าถ้าเราสามารถส่งต่อให้คนรุ่นใหม่ได้ ให้เขาสร้างตึกในแบบของเขาเอง เรามีอาคารให้ มีประตู หน้าต่างให้ แล้วลองออกแบบตึกด้วยไอเดียของตัวเอง มันจะออกมาเป็นหน้าตาแบบไหน นี่คือวิธีการที่ผมคุยกับคนอื่น”

อนาคต

แม้เราจะมองตังปักผ่านชิ้นงานเซรามิก แต่เราก็อดสงสัยไม่ได้ว่าแท้จริงแล้ว อะไรคือตัวตนของเขา “งานเพนท์สไตล์ลายครามครับ แต่ผมปรับมาใส่ในชิ้นงานเซรามิกหกเหลี่ยม” เขาชี้ให้เราดูชิ้นงานหกเหลี่ยมที่เรียงต่อกันบนผนัง แต่ละชิ้นคือภาพวาดอาคารที่เขาสำรวจ

หกเหลี่ยมสามารถเรียงต่อกันไม่มีสิ้นสุด ไร้กรอบ ไร้ขอบเขต แตกต่างจากสี่เหลี่ยม

สีน้ำเงินโคบอลต์กับงานดรอว์อิ้งเป็นอาคารเก่าซึ่งเป็นพื้นฐานจากงานเพนท์ลายครามตามความถนัดของเขา

…เมื่อหลอมรวมกันมันคือ ‘ความเป็นตังปัก’

ตังปัก

“ในความคิดผม ย่านแต่ละย่านมันเชื่อมต่อกันในตัวของมันเอง แล้วมันก็ต่อกันไปไม่รู้จบ ชุดแรกผมวาดหัวลำโพงแล้วต่อด้วยสำเพ็ง พอมาต่อกันก็กลายเป็นแบบนี้” เขาอธิบาย

ตังปัก

“ผมคิดว่าพอเราจะสื่อสารให้คนอื่นเข้าใจแล้ว จุดที่ยากที่สุดคือทะเลาะกับตัวเอง ถ้าเราเอาอินเนอร์ตัวเองออกมาทำมันจะเหมือนเดิม ถ้าเราไม่ยอมเปลี่ยน จะคุยกับคนอื่นไม่ได้ อินเนอร์ของเราก็คืออีโก้ ซึ่งมันอาจคุยกับคนไม่ได้ เป็นศิลปินของมีอีโก้ไหม ต้องมีนะ แต่อีโก้ในความหมายของผมคือฝีมือ คุณควบคุมได้ว่าเพ้นท์แบบนี้ เผาแบบนี้ สีต้องออกมาเป็นแบบนี้ สามารถรู้ได้ว่าทำแบบนี้ งานจะไม่พลาด มันควรเป็นแบบนั้นมากกว่า เอาฝีมือใส่ลงไปในงาน ไม่ใช่เอาตัวเองลงไปในงานเพราะเราชอบ เก็บความชอบไว้ทำเป็นงานอาร์ตของตัวเองดีกว่า”

ตังปัก

เขาบอกว่าสำหรับงานเซรามิกตึกเก่าแล้ว เขายังต้องปรับสีให้ดีขึ้น ฉ่ำขึ้น เป็นดีเทลในขั้นตอนการผลิตที่ยังต้องพัฒนาต่อไป

ตังปัก

“ในอนาคตผมจะสร้างชิ้นงานหกเหลี่ยมให้ได้ 100 รูป อยากวาดต่อ พอวาดแล้วมันสนุก อยากวาดมันไปเรื่อยๆ แล้วยังมีพื้นที่อีกหลายแห่งให้เราเข้าไปสำรวจ”

และเมื่อถึงวันนั้น วันที่มีชิ้นงานครบร้อยชิ้น เราจะได้เห็นนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกของตังปัก

ทุกวันนี้ตังปักก็ยังรับจัดกิจกรรมสร้างสรรค์เซรามิกด้วยตัวเอง และในวันที่ 7 – 9 เมษายนนี้ เขายังร่วมกับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร จะกิจกรรมนี้ให้ทุกคนได้ร่วมสนุกอีกครั้งในงานเทศกาลมหาสงกรานต์ ประจำปี 2566  สามารถติดตามเพจของเขาที่ O.K.D Studio

Tags: