- ทำความรู้จักร้านชาอ๋องอิวกี่ ร้านชาเก่าแก่แห่งสี่กั๊กเสาชิงช้า เปิดขายมาตั้งแต่รัชกาลที่ 6 ถึงปัจจุบัน
- พูดคุยกับ นพพร ภาสะพงศ์ ทายาทรุ่นที่ 3 กับการสืบทอดร้านชาในตำนาน
- เก็บเกี่ยวเกร็ดความรู้เรื่องชาและสัมผัสจิตวิญญาณแห่งชาผ่านบทสนทนา
ใครผ่านไปผ่านมาแถวสี่กั๊กเสาชิงช้าอาจเคยเห็นร้านขายชา ติดชื่อร้านภาษาไทยอ่านออกเสียงเป็นจีนฮกเกี้ยนว่า ‘อ๋องอิวกี่’ ภายในตึกแถวหน้าตาเก่าแก่ ตรงหัวมุมถนนทิศที่จะไปศาลเจ้าพ่อเสือ ถ้าดูจากโลเกชัน เชื่อว่าหลายคนคงเคยผ่าน แต่สำหรับครั้งหน้า ถ้าอยากซื้อชาสักกล่อง ลองแวะไป
สืบสานตำนาน ‘อ๋องอิวกี่’ จากรุ่นสู่รุ่น
บริษัท ใบชาอ๋องอิวกี่ จำกัด หรือ ร้านชาอ๋องอิวกี่ มีอายุมากเหมือนหน้าตาตึก ไม่ใช่แค่หนึ่งชั่วอายุ แต่เปิดมานานตั้งแต่รุ่นก๋งในสมัยรัชกาลที่ 6 ปัจจุบันตกทอดมาถึงรุ่นที่ 3 ภายใต้การดูแลของ บี๋ – นพพร ภาสะพงศ์ นับเป็นเวลากว่า 100 ปีที่ครอบครัวของเธอทำหน้าที่ขายชาอยู่ตรงนี้ไม่ไปไหน บรรยากาศของร้านอาจมีเปลี่ยนไปตามยุคสมัย แต่หน้าที่ในการขายชาคุณภาพดีให้คนไทยยังคงเป็นพันธกิจที่เธอสานต่อ
ทายาทวัย 63 ปีคนนี้ไม่เพียงรักษาคุณภาพของชาตราปั้น ชายี่ห้อเก่าแก่ของร้านที่สร้างชื่อเสียงให้อ๋องอิวกี่เป็นที่รู้จัก เพื่อรักษากลุ่มลูกค้าเดิมที่เป็นแฟนพันธุ์แท้ เธอยังเฟ้นหาชาตัวใหม่และชาหายาก บรรจุในกล่องดีไซน์สวยทันสมัยภายใต้ชื่อ ‘อ๋อง ที’ (Ong Tea) เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าและเจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่
อย่างวันที่ไปร้าน เธอเปิดห่อชา ‘ซ่งลู่’ ให้ชม มันคือชาล้ำค่าที่เคยจมอยู่ใต้ทะเลพร้อมกับเรือสินค้า ก่อนหีบบรรจุชาจะถูกกู้ขึ้นมาแล้วพบว่าห่อชาข้างในไม่เสียหาย แถมยังส่งกลิ่นหอมหวนไม่ผิดไปจากร้อยปีที่แล้ว นับเป็นชาหายากที่เธอภาคภูมิใจ เธอแบ่งขาย และจะชงดื่มเฉพาะโอกาสพิเศษเท่านั้น
นี่คือร้านชาในสมัยรัชกาลที่ 6
ก่อนพาชมร้าน เธอเล่าถึงประวัติให้ฟังว่า ก๋งเป็นชาวฮกเกี้ยน แซ่อ๋อง เดินทางเข้ามาอยู่ในไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 ด้วยความที่บรรพบุรุษค้าขายชา ก๋งจึงยึดอาชีพขายชาโดยนั่งเรือกลับจีนนำชามาขาย เริ่มจากแบกกระด้งเดินเร่ ก่อนจะซื้อตึกแถวเปิดเป็นร้าน (หลังเดียวกับปัจจุบัน) สมัยนั้นย่านสี่กั๊กเสาชิงช้าถือเป็นย่านการค้าของชาวจีน บรรยากาศคึกคักเพราะอยู่ใจกลางพระนคร มีรถรางสองสายพาดผ่าน และมีร้านค้าร้านอาหารเปิดเรียงราย ถ้าจะเรียกว่าไชน่าทาวน์ยุคก่อนเยาวราชก็คงไม่ผิดนัก
ถามเธอว่า ในร้านมีอะไรเปลี่ยนไปบ้าง ถ้าไม่นับสินค้าที่เธอต่อยอดขึ้นใหม่ เห็นจะมีแค่ประตูกระจกทางเข้าร้านกับเครื่องปรับอากาศเท่านั้นที่เพิ่มขึ้นมา ฟังก์ชั่นหลักอย่าง ‘ถ้ำชา’ ยังคงถูกใช้งานถึงวันนี้ เธอเดินไปหลังโต๊ะชงชา เปิดตู้ที่ฝังอยู่ในผนังให้เห็นถ้ำชาชัดๆ มันคือ ช่องสี่เหลี่ยมหลายช่องในผนัง ไว้สำหรับเก็บใบชาเพื่อรักษากลิ่นและคุณภาพ ถ้ายื่นหน้าเข้าไปในถ้ำเปล่าๆ ก็จะยังได้กลิ่นหอมๆ เหมือนยังมีใบชาอยู่ในนั้น
ถัดมาคือไฮไลต์ ถ้าอยากได้ชาตัวไหน เธอจะชงให้ชิมเพื่อให้สูดกลิ่น ลิ้มรส และสัมผัสความรู้สึกของชาตัวนั้น ด้วยวิธีการชงชาแบบจีน เสิร์ฟในถ้วยชาชั้นดี พร้อมเพิ่มอรรถรสด้วยเรื่องราวของชา
เริ่มต้นเลคเชอร์วิชาวัฒนธรรมชา ความว่า จากหลักฐานจำนวนมากสันนิษฐานว่า ชาถูกค้นพบเมื่อประมาณ 2,700 ปีก่อนคริสตกาล โดยมีหลักฐานที่ทำให้เชื่อได้ว่า จีนเป็นประเทศแรกที่ค้นพบและใช้ประโยชน์จากต้นชา
โดยแรกเริ่มชาเป็นเพียงวัตถุดิบของอาหารและเครื่องดื่ม แต่หลังจากปัญญาชนชาวจีนนิยมดื่มชากันมากขึ้นทำให้ชาถูกทำให้อยู่ในขอบข่ายของ ‘วัฒนธรรม’ โดยเฉพาะการเกิดขึ้นของคัมภีร์ชาที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับศิลปะการดื่มชากับแนวคิดของลัทธิและพุทธศาสนา ชาในราชสำนักที่ได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญของจักรพรรดิเพื่อใช้ในทางการทูต รวมไปถึงวัฒนธรรมชาในชีวิตประจำวันของชาวบ้านอย่าง การส่งชาเป็นของหมั้น พิธียกน้ำชาในงานแต่งงาน หรือการต้อนรับเพื่อนบ้านใหม่ด้วยการมอบชา เป็นต้น
ดื่มด่ำกำซาบวิถีแห่งชา
นอกจากนี้ ชายังไปไกลและลุ่มลึกกว่าเดิม เมื่อมีผู้เอ่ยถึงวิถีแห่งชาไว้ว่า “ตอนผลิตต้องประณีต ตอนเก็บต้องแห้ง ตอนชงต้องบริสุทธิ์” รวมถึงการแสวงหาขั้นตอนอันสมบูรณ์แบบของการดื่มชาที่ว่า “ดวงตาพิจารณาสีสันของชา ปากชิมรสชา จมูกสูดกลิ่นหอมของชา หูได้ยินเสียงรินน้ำชา มือสัมผัสถ้วยชา” ซึ่งขั้นตอนทั้งหมดเกิดขึ้นตรงหน้าขณะที่เธอกำลังพาน้ำชาผ่านเข้าคอ
หลังจากได้ฟังและได้เห็นความพิถีพิถันในการชงชาตั้งแต่วินาทีที่นำใบชาออกจากห่อ รวมไปถึงความรู้สึกระหว่างบทสนทนาที่เกิดขึ้นในร้าน แม้จะเป็นช่วงเวลาไม่นานก็สัมผัสได้ถึงจิตวิญญาณแห่งชาในตัวเธอทะลุออกมา ทำให้เชื่อแล้วว่า ชาในถ้วยเป็นมากกว่าชาในถ้วยจริงๆ
ใครที่กำลังมองหาชาคุณภาพดี ชาหายาก ชาในตำนานตราปั้น หรือชุดถ้วยชา แวะไปได้ที่ร้านชาอ๋องอิวกี่ นอกจากจะได้ชากลับบ้าน ยังได้พูดคุยกับทายาทตัวจริง ไม่แน่ว่าถ้าเกิดคุยกันถูกคอขึ้นมา เธออาจหยิบชาหลังร้านที่ไม่ได้มีไว้ขาย ออกมาชงแก้กระหายก็ได้
ร้านชาอ๋องอิวกี่
เปิดทุกวันจันทร์-เสาร์ เวลา 08.00–17.00 น.
โทร.02-222-1748
เฟซบุ๊ก: Ong Tea By Bee