About
CRAFTYARD

ปักจิตปักใจ

ภวัญญา แก้วนันตา แห่ง ‘ปักจิตปักใจ’ ครูสอนปักผ้า ผู้ค้นพบพรสวรรค์มหัศจรรย์ของผู้พิการทางสายตา

เรื่อง วีณา บารมี ภาพ อรุโณทัย พุทธรักษา Date 19-05-2022 | View 3100
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • ปักจิตปักใจ เป็นธุรกิจเพื่อสังคม ที่เพิ่มอาชีพทางเลือก ‘งานปักผ้า’ ให้กับผู้พิการทางสายตา ก่อตั้งโดยคุณผึ้ง-วันดี สันติวุฒเมธี และได้รับการสนับสนุนจากสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย
  • ปักจิตปักใจ เปิดอบรมฟรีให้กับผู้พิการทางสายตามาแล้วทั้งหมด 4 รุ่น โดยมีครูป้าหนูเป็นผู้สอนวิธีการปักผ้าแบบ ‘ซาชิโกะ’ ซึ่ง เป็นเทคนิคการปักผ้าแบบโบราณของญี่ปุ่น โดยใช้แสงจากเตาไฟเพียงน้อยนิด
  • ปัจจุบันมีผู้พิการทางสายตาในโครงการปักจิตปักใจเหลือเพียง 14 คน ผลงานทุกชิ้นนอกจากจะใช้งานได้จริงในชีวิตประจำวันแล้ว ยังเปรียบเสมือนเครื่องหมายของความพยายาม ที่ช่วยเตือนสติให้กับคนตาดีทั่วไป

ใครจะไปเชื่อว่า งานเย็บปักถักร้อยที่ต้องใช้ดวงตาเพ่งมอง ในวันนี้จะกลายเป็นหนึ่งในอาชีพทางเลือกให้กับผู้พิการทางสายตา นอกเหนือไปจากอาชีพที่มีอยู่ในปัจจุบันอย่างงานขายล็อตเตอรี พนักงานร้านนวด และร้องเพลง

ดวงตาที่ไร้แสงสว่างนำทาง อาจเป็นข้อจำกัดในการใช้ชีวิตบางอย่างก็จริง แต่พรสวรรค์ในการใช้ประสาทสัมผัสของคนตาบอด ได้พิสูจน์ให้เห็นผ่านผลงานปักผ้าในโครงการ ‘ปักจิตปักใจ’ แล้วว่า พวกเขาปักผ้าได้งดงามไม่แพ้ใครเลยนะ

ภวัญญา แก้วนันตา แห่ง ‘ปักจิตปักใจ’ ครูสอนปักผ้าผู้ค้นพบพรสวรรค์ อันมหัศจรรย์ของผู้พิการทางสายตา

จากครูประถม สู่ครูสอนปักผ้า

“ฟังดูแล้วไม่น่าจะเป็นไปได้ แต่มันคือความเป็นไปได้ และเป็นสิ่งมหัศจรรย์” ป้าหนู-ภวัญญา แก้วนันตา ครูสอนปักผ้า ในโครงการ ‘ปักจิตปักใจ’ เริ่มต้นบทสนทนา “ปกติคนเราใช้ตาเพื่อตัดสินทุกอย่าง แต่คนตาบอดใช้ประสาทสัมผัสในการตัดสิน การฟัง การได้กลิ่น และการสัมผัส ซึ่งเขาทำได้ดีกว่าคนตาดีเสียอีก” เธอเล่าด้วยรอยยิ้มถึงงานจิตอาสาที่ทำมาเป็นเวลา 4 ปี

ภวัญญา แก้วนันตา แห่ง ‘ปักจิตปักใจ’ ครูสอนปักผ้าผู้ค้นพบพรสวรรค์ อันมหัศจรรย์ของผู้พิการทางสายตา

ปักจิตปักใจ เป็นธุรกิจเพื่อสังคม ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2561 โดยคุณผึ้ง-วันดี สันติวุฒเมธี นักเขียนอิสระ และนักกิจกรรมเพื่อสังคม เรื่องราวเริ่มต้นจากการที่เธอไปเรียนเย็บกระเป๋ากับป้าหนู ซึ่งในขณะนั้นเปิดร้านสอนปักผ้าชื่อ ‘Sewing Studio by Phanue’ ครูป้าหนู ผู้ผันตัวเองจากการเป็นครูโรงเรียนประถม ได้ถ่ายทอดถึงเรื่องราวและวิธีการปักผ้า ‘ซาชิโกะ’ ซึ่งเป็นการปักผ้าในสมัยเอโดะของหญิงสาวชาวญี่ปุ่น ที่มักจะทำในช่วงเวลากลางคืนหลังทำงานบ้านเสร็จ โดยใช้เพียงแสงสลัวจากเตาไฟ และด้ายเดี่ยวเส้นใหญ่เป็นอุปกรณ์ในการปักผ้า

ภวัญญา แก้วนันตา แห่ง ‘ปักจิตปักใจ’ ครูสอนปักผ้าผู้ค้นพบพรสวรรค์ อันมหัศจรรย์ของผู้พิการทางสายตา

“ป้าหนูว่าคนตาบอดจะทำได้ไหม?” คุณผึ้งถามโพล่งขึ้นมาในวันหนึ่ง “ตอนนั้นก็อึ้งไปสักพัก แต่เราคิดว่าการปักผ้าซาชิโกะมีเรื่องราวที่สอดคล้องกับคนบอดอยู่เหมือนกัน” ป้าหนูเล่า และหลังจากตกปากรับคำแล้ว จึงเริ่มมองหาอุปกรณ์ในการช่วยคนตาบอดปักผ้า โดยเริ่มต้นจากที่สนเข็ม

“หัวใจของการปักผ้าคือ ต้องเอาด้ายเข้าไปในรูเข็มให้ได้ก่อน ซึ่งคนตาบอดเขามองไม่เห็น ต้องฟังเสียงแทน เราจึงทำเป็น Set Box ขึ้นมา โดยอุปกรณ์ทุกอย่างจะผูกกับลูกกระพรวนเพื่อใช้เสียงเป็นตัวกำหนด ส่วนด้ายเราใช้ฝ้ายเมืองเส้นใหญ่”

ภวัญญา แก้วนันตา แห่ง ‘ปักจิตปักใจ’ ครูสอนปักผ้าผู้ค้นพบพรสวรรค์ อันมหัศจรรย์ของผู้พิการทางสายตา

ปักด้วยมือ มองด้วยใจ

เมื่อคนตาบอดฝึกฝนการสนเข็มจนชำนาญแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการปักผ้า ป้าหนูจะเริ่มจากการใช้ผ้าผืนเล็กๆ ฝึกให้คนตาบอดเดินเส้นจนชินมือ โดยใช้ด้ายเดี่ยวสำหรับการปักลงบนผ้าให้เกิดลวดลายเป็นเส้นตรงที่มีความยาวเท่าๆ กัน ตามรูปทรงเรขาคณิต วงกลม สี่เหลี่ยม สามเหลี่ยม ไปจนถึงรูปสัตว์ และธรรมชาติ

 

ภวัญญา แก้วนันตา แห่ง ‘ปักจิตปักใจ’ ครูสอนปักผ้าผู้ค้นพบพรสวรรค์ อันมหัศจรรย์ของผู้พิการทางสายตา

“เรามีแทมเพลตพลาสติกให้เขายึดแผ่นพลาสติกกับงาน เวลาปักจะค่อยๆ ปักจากขอบแทมเพลตด้านนอกเข้ามาด้านในเรื่อยๆ สำหรับคนตาบอด บางคนตาบอดแต่กำเนิด เขาไม่รู้จัก นก กวาง ม้าน้ำเป็นยังไง เราจึงต้องมีแทมเพลตให้แล้วบอกว่าอันนี้คือรูปอะไร แยกซองใส่ชิ้นงานเป็นชุด เช่น ซองนี้เป็นรูปดิน ฟ้า ทะเล เขาจะเรียนรู้ว่าถ้าเป็นท้องฟ้า จะมีรูปนก ดวงดาว บนดินมีรูปสัตว์ เขาจะค่อยๆ จำ แล้วจินตนาการงานออกมาเอง”

ภวัญญา แก้วนันตา แห่ง ‘ปักจิตปักใจ’ ครูสอนปักผ้าผู้ค้นพบพรสวรรค์ อันมหัศจรรย์ของผู้พิการทางสายตา

ภวัญญา แก้วนันตา แห่ง ‘ปักจิตปักใจ’ ครูสอนปักผ้าผู้ค้นพบพรสวรรค์ อันมหัศจรรย์ของผู้พิการทางสายตา

งานปักที่ไม่ใช้ตามอง ตัดข้อจำกัดเรื่องอายุ

ตั้งแต่ปี 2561 ปักจิตปักใจ เปิดอบรมให้กับผู้พิการทางสายตามาแล้ว 4 รุ่น ได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณจากสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทยนับตั้งแต่สมัยคุณเติร์ด-ต่อพงศ์ เสลานนท์ เป็นนายกสมาคมฯ แต่ละรุ่นใช้เวลาอบรมเพียง 2 เดือน สำหรับการอบรมรุ่น 5 ที่กำลังจะมีขึ้นในปีนี้ ย่นเวลาให้เหลือเพียง 7 วันเพื่อลดความเสี่ยงจากการเดินทางของคนตาบอดในช่วงสถานการณ์โควิด

ปักจิตปักใจ มีผู้พิการทางสายตาผ่านการอบรมแล้วทั้งหมด 33 คน ปัจจุบันเหลือเพียง 14 คน เนื่องจากบางส่วนเสียชีวิต ทำแล้วไม่ชอบบ้าง บางคนมีภาระครอบครัวหรือสุขภาพไม่ดี โดยทางโครงการฯ เป็นผู้ส่งอุปกรณ์ทุกอย่างให้กับคนตาบอด และทุกๆ สิ้นเดือนจะมีค่าแรงให้เป็นกำลังใจสำหรับความพยายาม โดยคำนวณจากฝีมือและคุณภาพงานเป็นหลัก

ภวัญญา แก้วนันตา แห่ง ‘ปักจิตปักใจ’ ครูสอนปักผ้าผู้ค้นพบพรสวรรค์ อันมหัศจรรย์ของผู้พิการทางสายตา

ป้าหนูแอบกระซิบว่า สมาชิกของปักจิตปักใจ มีอายุตั้งแต่ 20 กว่าไปจนถึง 78 ปี โดยเฉพาะป้าพัดผู้มีอาวุโสที่สุด กลับมีฝีมือในการปักผ้าได้งดงามมากที่สุด และทุกวันนี้ยังรับหน้าที่เป็นครูช่วยสอนงานคนตาบอดอีกแรงหนึ่งด้วย เพราะฉะนั้น อายุที่มากขึ้นไม่ได้เป็นข้อจำกัดในการปักผ้าสำหรับคนตาบอดแม้แต่น้อย

ภวัญญา แก้วนันตา แห่ง ‘ปักจิตปักใจ’ ครูสอนปักผ้าผู้ค้นพบพรสวรรค์ อันมหัศจรรย์ของผู้พิการทางสายตา

งานปักที่มองไม่เห็น เป็นงานปักที่นุ่มนวล

ถ้าความไม่สมบูรณ์แบบคือความงดงามที่ธรรมชาติรังสรรค์ งานฝีมือของคนตาบอดที่เรียงรายอยู่ภายในสตูดิโอปักจิตปักใจ ซึ่งใช้บ้านของป้าหนูเป็นฐานทัพนั้น น่าจะเรียกว่าเป็นผลงานที่เกิดจากความตั้งใจมากกว่าจะเพ่งมองกันที่ความประณีตสวยงาม ซึ่งมักจะวัดกันที่สายตา

“ตอนสอนคนบอดรุ่นแรกๆ เครียดมาก เหงื่อแตกเลย (หัวเราะ) ด้วยความที่เขามองไม่เห็น เขาจะส่งเสียงดังและเรียกครูอยู่ตลอดเวลา คนตาบอดจะกังวลมากว่างานของเขาไม่สวย เพราะเขาเอาใจไปเทียบกับงานตัวอย่างที่เขาจับ ซึ่งก็คือแผ่นตัวอย่างที่ครูทำเสร็จแล้ว แต่เราจะบอกเขาเสมอว่าความสวยไม่ได้อยู่ที่เหมือนของครู ความสวยคือความตั้งใจ และงานปักก็เหมือนลายมือของนักเรียน แต่ละคนไม่เหมือนกันเลย ซึ่งงานปักของคนตาบอดจะมีลายมือของเขาอยู่ เพราะฉะนั้นงานที่ออกมาจะไม่เหมือนกับที่เรียนครั้งแรกๆ เลย

ภวัญญา แก้วนันตา แห่ง ‘ปักจิตปักใจ’ ครูสอนปักผ้าผู้ค้นพบพรสวรรค์ อันมหัศจรรย์ของผู้พิการทางสายตา

“เราจะสอนให้เขารู้จังหวะการปัก ความยาวด้านบนเท่ากับเม็ดข้าวสาร เว้นวรรคของการด้นกว้างเท่ากับก้านไม้ขีด มันจะมีจังหวะสั้นยาวไม่เหมือนการด้นการเนาที่เราทำกัน ซึ่งดูออกว่าอันนี้เป็นฝีมือคนบอดทำ ไม่ใช่คนตาดีมาช่วยทำ เพราะลายมือไม่เหมือนกัน จังหวะการปักของคนตาดีจะเป็นจังหวะที่สม่ำเสมอ เส้นจะดูแข็ง แต่ถ้าคนตาบอดทำ เส้นจะไม่เท่ากัน แต่มันนุ่มนวล สำหรับบางงานที่เป็นงานเร่ง เราจะให้คนพิการ (ที่ตามองเห็น) ช่วยขึ้นงานให้ก่อน แต่จริงๆ แล้วเขาทำได้ไม่สวยเท่าคนตาบอดขึ้นงานเอง ดูกระด้างกว่า” ป้าหนูอธิบาย

ภวัญญา แก้วนันตา แห่ง ‘ปักจิตปักใจ’ ครูสอนปักผ้าผู้ค้นพบพรสวรรค์ อันมหัศจรรย์ของผู้พิการทางสายตา

แค่ตั้งใจ ใครๆ ก็ปักได้

ปัจจุบัน โครงการปักจิตปักใจ เปิดรับผู้พิการทางสายตาทุกคนที่อยากจะทำงานฝีมือ รักที่จะเรียนรู้ และอยากพัฒนาตนเอง โดยสามารถไปลงชื่อได้กับทางจังหวัด จากนั้นจะมีการส่งรายชื่อมายังสมาคมฯ เพื่อรอฝึกอบรมในครั้งต่อไป

“ที่ต้องจัดอบรมเพราะอยากได้นักเรียนเพิ่ม อยากสร้างโอกาสให้กับคนตาบอด ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนหลายแสนคนในประเทศไทย ปักจิตปักใจมีความตั้งใจที่จะพัฒนาศักยภาพมนุษย์ให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นแบบยั่งยืน โครงการเราไม่ได้ทำฉาบฉวย เราเป็นจุดเริ่มต้นของการทำให้เกิดคุณภาพทางจิตวิญญาณ ซึ่งเราเชื่อว่ามันจะเติบโตไปเรื่อยๆ ตัวเราเองยังพยายามที่จะหาโอกาสอบรมครู อยากให้มีครูมากขึ้น ไม่ใช่ครูป้าหนูคนเดียว ซึ่งการอบรมครูปักผ้าต้องได้ทุกสิ่งจากเราไป ทั้งด้านความคิด เรื่องราว ความรู้สึก อันนี้เป็นสิ่งที่ตั้งใจจะทำต่อไป”

ภวัญญา แก้วนันตา แห่ง ‘ปักจิตปักใจ’ ครูสอนปักผ้าผู้ค้นพบพรสวรรค์ อันมหัศจรรย์ของผู้พิการทางสายตา

เมื่อถามต่อถึงการทำงานร่วมกับคนตาบอดมาตลอด 4 ปี ป้าหนูบอกว่าสิ่งที่เธอได้รับนั้นให้คุณค่าทางจิตใจสูงส่ง และแง่คิดในการดำเนินชีวิตมากมาย “นับว่าเป็นบุญอย่างยิ่งที่ได้ทำงานตรงนี้ ชีวิตการทำงานของมนุษย์ทุกคน บางทีเราตีโพยตีพาย เหนื่อย ท้อแท้ ไม่ไหว แต่พอได้มาอยู่กับคนตาบอด เรามีพลังภายในที่มีคุณค่า อุปสรรคในการทำงานแทบจะไม่มีเลย เพียงแต่อยากมีทุนทรัพย์เยอะๆ เพื่อที่จะสร้างงานหรือได้ใช้วัสดุดีๆ แต่ทุกวันนี้เราก็ทำกันแบบพอเพียง เป็นธุรกิจที่ไม่ได้หวังผลกำไร” ป้าหนูทิ้งท้าย คนฟังพลอยหัวใจอิ่มเอมตามไปด้วย

ร่วมส่งกำลังใจและอุดหนุนสินค้าของผู้พิการทางสายตาผ่าน เฟซบุ๊กปักจิตปักใจ

Tags: