Pakk Taii Design Week
ส่อง 8 ไฮไลท์ปักษ์ใต้ดีไซน์วีค ชู 5 คอนเซปต์ใน 3 จังหวัด 38 พื้นที่เพื่อนักสร้างสรรค์ภาคใต้
- มัดรวมไฮไลท์…หลบเรินแล้วผลิบาน: เทศกาลปักษ์ใต้ดีไซน์วีคครั้งแรกของเหล่านักสร้างสรรค์ 14 จังหวัดทั่วภาคใต้ที่จะจัดขึ้นในสงขลา ตรัง และปัตตานี 12 – 20 สิงหาคม 2566 นี้
ไม่กี่ปีก่อน มีคำถามเกิดขึ้นกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ (เช่นภาคใต้) ว่า ‘เรากลับบ้านครั้งสุดท้ายคือเมื่อไร’ จนเกิดกระแสโยกย้ายสภาพการณ์มุ่งสู่บ้านเกิด แต่การกลับบ้านเกิดไม่ใช่เรื่องที่ราบรื่นได้ตามใจคิด บางคนเจอโจทย์ที่ยากและท้าทายรออ้าแขนรับพวกเขาอยู่แล้วแน่นอน นั่นก็คือ ‘กลับบ้านมาจะเริ่มต้นยังไงดี’ หรือ ‘กลับบ้านมาจะทำอะไรดี’
เชื่อสนิทใจว่า ภูมิภาคเล็กๆ อย่างภาคใต้ น้อยนักที่จะเกิดอุตสาหกรรมทางด้านความคิดสร้างสรรค์แขนงต่างๆ ขึ้นเป็นรูปธรรมจริงจัง บ่อดักหล่อเลี้ยงฝันหรือแพสชั่นของคนที่มีต้นทุนการทำงานด้านนี้จึงอาจวูบหายทีละเปลาะ แต่ยังมีกลุ่มคนสร้างสรรค์กลุ่มหนึ่งในระดับ Active Citizen ไหลมารวมตัวกันเพื่อก่อร่างเป็นจุดศูนย์กลางทางความคิดสร้างสรรค์ให้ส่งต่อไปยังคนข้างนอก และเพื่อให้คนข้างนอกหันกลับมามองเห็นมาตรฐานของคำว่า ‘ความคิดสร้างสรรค์’ กันเสียใหม่
กลับมายังคำถามข้างต้นที่ว่า กลับบ้านมาจะทำอะไรดี? นั่นจึงกลายเป็นโจทย์หลักของเทศกาล Pakk Taii Design Week 2023 ที่ชื่อว่า The Next Spring: หลบเรินแล้วผลิบาน ก็เพราะจะได้กลับบ้านมาสร้างสรรค์ผลงานให้ผลิบานในบ้านเกิดของตัวเอง และมองหาความเป็นไปได้ครั้งต่อๆ ไปในการสร้างบ้านเกิดให้เป็น ‘บ้านที่เราอยากกลับไปอยู่’ ได้จริง
งานนี้เป็นความร่วมมือขององค์การเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) สำนักนายกรัฐมนตรี และกลุ่มคนทำงานสร้างสรรค์ที่เป็นหัวแรงหลักในพื้นที่ปักษ์ใต้ ร่วมกันตีโจทย์และค้นหาคุณค่าทุนวัฒนธรรมทางภาคใต้ด้วยความคิดสร้างสรรค์ เพื่อสร้างโอกาสทางอาชีพ ส่งเสริมรายได้ทางธุรกิจ เพิ่มขีดความสามารถในกลุ่มคนทำงานสร้างสรรค์ และเชื่อมโยงนักสร้างสรรค์หลากอุตสาหกรรมได้หลากหลายยิ่งขึ้น ที่มีนักเรียน นักศึกษา นักพัฒนา และเครือข่ายผู้ประกอบการใน 14 จังหวัด ทั้งยังเชิญชวนบุคคลด้านปรมาจารย์ในพื้นที่หลักมาร่วมปล่อยของและแสดงศักยภาพด้วยกัน
‘เอ๋-ปกรณ์ รุจิระวิไล’ หนึ่งในหัวเรือหลักของเทศกาลปักษ์ใต้ดีไซน์วีค อธิบายว่า เทศกาลปักษ์ใต้ดีไซน์วีคคือการกลับไป ’ตีความ’ คำว่า ‘ปักษ์ใต้’ ไปสู่ ‘Creativity’ ใหม่ๆ โดยกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่อยู่ในแวดวงอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ทั้ง 14 จังหวัด แทนที่จะจัดงานครอบคลุมทั่วภาคใต้ แต่เชิญเหล่านักสร้างสรรค์รุ่นใหม่มาสร้างผลงานผ่านคอนเซปต์ทั้ง 5 แทน ซึ่งเน้นการชูรากวัฒนธรรมท้องถิ่นของปักษ์ใต้ แล้วสร้างฐานเป็นนิทรรศการ ศิลปะจัดวาง การฉายภาพยนตร์ เวิร์กช็อปครีเอทีฟ ฯลฯ เพื่อกินความคำว่าปักษ์ใต้ด้วย Creativity จนครบทั้ง 14 จังหวัด
เทศกาล Pakk Taii Design Week 2023 The Next Spring หลบเรินแล้วผลิบาน ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 12-20 สิงหาคมนี้ นำเสนอผ่าน 5 คอนเซปต์ ได้แก่ Pakk Taii Roots: รากของปักษ์ใต้, Pakk Taii Homecoming: ปักษ์ใต้คืนถิ่น, Pakk Taii Open House: ต้อนรับสู่ใต้, Pakk Taii Neighborship: เกลอปักษ์ใต้ และ Pakk Taii Market หลาดสร้างสรรค์ ด้วยกิจกรรมทั้ง 6 รูปแบบ เช่น นิทรรศการและศิลปะจัดวาง กิจกรรมและอีเวนต์ ศิลปะการแสดงและดนตรี เสวนาและเวิร์กช็อป ตลาดและโปรโมชั่น สุดท้ายคือ งานทดลองบนพื้นที่จริง (Experiment) จัดแสดง 3 จังหวัด กว่า 38 พื้นที่ คือ จังหวัดสงขลา ที่ย่านเมืองเก่าสงขลา แหลมสนชุมชนหัวเขา อำเภอหาดใหญ่ ที่ตลาดกิมหยง และ Lorem Ipsum จังหวัดตรัง ที่โรงพยาบาลตรังชาตะ ย่านทับเที่ยง และจังหวัดปัตตานี ที่ Malayu Living ย่านอารมย์ดี
คอนเซปต์แรกเริ่มด้วย Pakk Taii Roots: รากของปักษ์ใต้ ทำความรู้จักและมองไปยังอนาคต ‘รากของปักษ์ใต้’ ซึ่งเล่าเรื่องราวของ ‘คน’ หลากหลายเชื้อชาติที่หลอมรวมกันเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม โดยมีจีน 5 เหล่า คือ กวางตุ้ง ไหหลำ แต้จิ๋ว ฮากกา และฮกเกี้ยน รวมถึงเปอนารากัน มลายู-มุสลิม และไทยพุทธสกุลช่าง ในรูปแบบร่วมสมัยที่ประยุกต์ขึ้นผ่านนิทรรศการศิลปะ แฟชั่น งานออกแบบ ภาพยนตร์สารคดี ศิลปะจัดวาง การแสดง และอื่นๆ
ต่อด้วย Pakk Taii Market: หลาดสร้างสรรค์ ตลาดและพื้นที่การแสดง ได้แก่ The Next Spring Space เต็มไปด้วยตลาดกว่า 30 ร้าน เวิร์กช็อปทำหนังตะลุงและศิลปะสำหรับเด็ก ตามด้วย Local Market ตลาดมัสยิดบ้านบน ชมและชิมอาหารฮาลาลดั้งเดิม รวมไปถึงการแสดงวงดนตรีของคนรุ่นใหม่ชาวปักษ์ใต้ และ Local Market ตลาดงานคราฟต์วัดกลาง กับการเดินชมตลาดนัดที่รวบรวมงานแฮนด์เมดกว่า 20 ร้าน การแสดงรำมโนราห์และการแสดงโขน แถมยังมีเวิร์กช็อปเล็กๆ จากจังหวัดพัทลุง
มาถึง Pakk Taii Neighborship: เกลอปักษ์ใต้ 3 โปรแกรมใหญ่ใน 3 จังหวัด ประเดิมด้วยเมืองหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ที่ตลาดกิมหยง โดยเครือข่ายนักสร้างสรรค์รุ่นใหม่ที่จะเปลี่ยนโฉม “ตลาดกิมหยง” ให้กลายเป็นพื้นที่ทดลองที่ใช้ได้จริง ถัดมาที่จังหวัดตรังกับการสร้างโปรเจกต์ใหญ่ชุบชีวิต ‘โรงพยาบาลตรังชาตะ’ โรงพยาบาลทำคลอดเก่าแก่ที่ถูกทิ้งร้างให้เกิด ‘พื้นที่สร้างสรรค์’ แห่งใหม่ ด้วยสมาชิกเครือข่ายย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศไทย (TCDN) อีกหนึ่งสถานที่คือ ย่านอารมย์ดี จังหวัดปัตตานี ล้อมวงร่วมคิดและมองปัตตานีในมุมใหม่ผ่านงานเทศกาลฯ โดยกลุ่ม Melayu Living
สุดท้ายกับ Pakk Taii Open House: ต้อนรับสู่ใต้ การเปิดบ้านที่นำเสนอผ่านนิทรรศการ วงพูดคุย อาหารและเครื่องดื่มเมนูพิเศษ ผลิตภัณฑ์ออกแบบใหม่ กิจกรรมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และมีเวิร์กช็อป การเดินทัวร์ โดยเจ้าบ้านชาวปักษ์ใต้ทั้ง 14 กลุ่ม คือ มัสยิดบ้านบน, อาคาร Historic Center, San.Songkhla, พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา, บ้านรัตนพฤกษ์ ชอว์, บ้านหมออัมพร, Titan Project Space, ท่าเรือศักดิ์สิทธิ์พิทักษ์, สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ (ASA Cloud), คาเฟ่อเมซอน เมืองเก่าสงขลา, ร้านหนังสืออิสระ dot.b, ร้านกาแฟ The Stand Brew Bake, Pakorn Architect และห้องสมุด ยับ เอี่ยน ฉ่อย
เทศกาลปักษ์ใต้ดีไซน์วีคจะเกิดขึ้นทั้งทีจากคอนเซปต์ที่เล่ามาทั้งหมด คราวนี้ เราขอจิ้มหมุดไฮไลท์ของงานให้ค่อยๆ หยบแล (แอบดู) พร้อมๆ กัน
1) Chinese Spring: Heaven, Earth, Land, and Home – the Journey in between โดย นักรบ มูลมานัส / สถานที่ : บ้านเก้าห้อง สมาคมฮกเกี้ยน จังหวัดสงขลา และ a.e.y.space
นิทรรศการศิลปะที่คิวเรตโดย ‘นักรบ มูลมานัส’ ศิลปินที่ใช้การเล่าเรื่องด้วยภาพตัดแปะคอลลาจและกราฟิกร่วมสมัยสไตล์ไทยและตะวันตก ที่จะพาย้อนเวลากลับไปสู่อดีต เพื่อเรียนรู้รากของวัฒนธรรมจีนทั้ง 5 เหล่า ได้แก่ ฮกเกี้ยน แต้จิ๋ว ไหหลำ ฮากกา และกว่องสิว ในวันที่พวกเขาข้ามน้ำข้ามทะเลเข้ามายังพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย ความพิเศษของนิทรรศการนี้คือ ผู้เข้าชมได้สร้างสรรค์ ‘โคมจีน’ ในแบบของตัวเองเพื่อจัดแสดงเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการด้วย
2) รีบอร์น-บอร์นเฮีย เปอรานากัน (Reborn-Bornhere) โดย Southson X One.dd X Verywhere / สถานที่ : บ้านเขียนเจริญ
นิทรรศการออกแบบที่นำเอาอัตลักษณ์ของสถาปัตยกรรม และงานออกแบบในวัฒนธรรมเปอนารากันมาเป็นแนวคิดหลักในการทำงานสร้างสรรค์ นำเสนอนิทรรศการในรูปแบบเปอร์นารากันดีไซน์: ชุดเฟอร์นิเจอร์ และกราฟิกเปอนารากันร่วมสมัย โดย Southson X One.dd X Verywhere การรวมตัวของ3 ทีมดีไซน์ ทั้ง Southson Design ก่อตั้งโดย ‘กัณห์ ไตรจันทร์’ นักออกแบบรุ่นใหม่ที่นำอัตลักษณ์ซึ่งเป็นรากฐานทางวัฒนธรรมปักษ์ใต้มาปรับใช้กับการทำงานออกแบบภายใน ‘One.dd’ ทีมออกแบบทางสถาปัตยกรรม และ ‘Verywhere’ ทีมออกแบบกราฟิกและแบรนดิ้ง ทั้ง 3 ทีมจุดประกายแนวคิดจากการรีเสิร์ชศิลปะของวัฒนธรรมเปอนารากัน ที่มีองค์ประกอบและสีของฟาซาดอาคาร เฟอร์นิเจอร์ การตกแต่งภายใน และสัญญะต่างๆ ในวัฒนธรรมเปอนารากันอย่างเข้มข้น ก่อนจะนำมาเล่าใหม่ผ่านงานออกแบบ เพื่อนำเสนอมิติใหม่ของเปอนารากันในยุคปัจจุบัน
3) บินละห์ (BILLAH) โดย Melayu Living / สถานที่ : ท่าเรือแหลมสน ชุมชนหัวเขา
Melaya Living กลุ่มคนขับเคลื่อนกิจกรรมสร้างสรรค์และกิจกรรมเชิงวัฒนธรรมในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ นำโดยราชิต ระเด่นอาหมัด ด้วยงานศิลปะจัดวางชื่อว่า ‘บินละห์’ (BILLAH) ที่พูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างทะเลสาบสงขลาและอ่าวปัตตานีซึ่งเป็นเมืองท่าสำคัญในอดีต รวมถึงความสัมพันธ์อันดีทางวัฒนธรรมที่มีการละเล่นว่าวเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งในชุมชนแหลมสนมีชมรมการทำ ‘ว่าวควาย’ ส่วนปัตตานีนั้นมีการละเล่นว่าวที่เรียกว่า ‘ว่าวเบอร์อามัส’
Melaya Living จึงออกแบบชิ้นงานด้วยการถอดกระบวนท่าการโบยบินของว่าวให้ออกมาเป็นรูปทรงของงานศิลปะจัดวาง ที่ปลายด้านหนึ่งของโครงสร้างจุ่มลงไปในทะเล จากนั้นจึงค่อยๆ คลี่ตัวออกบนพื้นดิน ในขณะที่ปลายอีกด้านของโครงสร้างจะโบยบินขึ้นสู่ท้องฟ้า ใกล้ๆ กันยังมีงานออกแบบอีกหนึ่งชิ้นที่สร้างขึ้นในโบราณสถานสำคัญอย่าง ‘บ้านในกำแพงแหลมสน’ อีกด้วย
4) Local Creative โดย Creative Nakhon / สถานที่ : หอศิลป์สงขลา 2 (Songkhla Art Center 2) และวัดมัชฌิมาวาสวรวิหาร (วัดกลาง สงขลา)
นิทรรศการ Local Creative โดย Creative Nakhon เหล่าคนทำงานสร้างสรรค์ที่รวมตัวกันเพื่อขับเคลื่อนเมืองนครศรีธรรมราชด้วยงานออกแบบและความคิดสร้างสรรค์ ที่มี ศุภชัย แกล้วทนงค์, สุธาทิพย์ โมราลาย, ชัชวาลย์ รัตนพันธุ์, ณัฐนันท์ รุจิวณิชย์กุล, วิสิทธิ์ เตชสิริโกศ และแก้วตระการ จุลบล หลังจากประสบความสำเร็จและได้เสียงตอบรับอย่างดีในงาน Creative Nakhon ครั้งที่ผ่านๆ มา นอกจากผลงานสร้างสรรค์จากศิลปิน นักออกแบบ และนักสร้างสรรค์ในท้องถิ่นจำนวน 10 คู่ผลงานแล้ว งานครั้งนี้ยังมีการแสดงสด (Live Performance) ซึ่ง Co-create ระหว่างช่างศิลป์ ศิลปิน นักดนตรี และนักเต้น ท่ามกลางมนตร์ขลังในวัดมัชฌิมาวาสอายุกว่า 400 ปี
5) Open Stage Music ฟัง เสียง สำเนียง ปักษ์ใต้ / โดย ศิลปินสำเนียงใต้ / สถานที่ : บริเวณ The Next Spring Space (ลานจอดรถเทศบาลฯ)
เหล่าคนรักเสียงดนตรีแจ๊ซ ร็อก เร็กเก้ บลูส์ โฟล์ก ไซเคเดลิก ฟลาเมงโก ฟังก์ ฯลฯ หรือดนตรีวิถีชีวิตชาวใต้อย่างดนตรีรองแง็ง! รีบมาร์กปฏิทินลงวันที่ 12-13 สิงหาคม และ 18-20 สิงหาคมไว้เลย
Open Stage Music คือการเปิดพื้นที่ให้เหล่าศิลปินปักษ์ใต้มารวมตัวกัน หนึ่งในความตั้งใจสำคัญของ Pakk Taii Design Week 2023 โดยศิลปินสำเนียงใต้จะเป็นผู้หยิบดนตรีท้องถิ่นดั้งเดิม และสำเนียงภาษาใต้อันเป็นเอกลักษณ์ผสานกับแนวทางดนตรีที่ร่วมสมัยให้ทุกคนได้รู้จัก
เช่นศิลปิน อาดัมแอนด์ซัน (Adam & Son) สองพ่อลูกจากจังหวัดพัทลุงที่บรรเลงดนตรีโฟล์กด้วยบทเพลงเพื่อชีวิต ที่น่าติดตามมากๆ คือ ‘วงดนตรีรองเเง็งสวนกวี’ จากจังหวัดกระบี่ ที่มีรูปแบบการทำวงสวนครัว เป็นการร่วมวงของคนที่ใช้เวลาว่างด้วยการร้องเล่นดนตรีรองแง็งร่วมกัน หรือ ‘วงอัสลีมาลา’ (Ussaleemala) วงดนตรีที่บอกเล่าวิถีชีวิตและวัฒนธรรมทางปักษ์ใต้ด้วยท่วงทำนองรองเง็งดั้งเดิมของดนตรีร่วมสมัย ส่วนวงดนตรีอิสระจากจังหวัดภูเก็ตอย่าง ‘วงสวนไดโนเสาร์’ (Suandainosaw) น่าสนใจตรงที่ถ่ายทอดกลิ่นอายของดนตรีแอมเบียนส์และสำเนียงไทยแบบร่วมสมัย ออกมาเป็นแนวดนตรีเฉพาะตัวอย่างโฟล์ก ร็อก เร็กเก้ และไซเคเดลิก
หรือหากใครชอบดื่มด่ำในท่วงทำนองของดนตรีแจ๊ซ ยังมีศิลปินจากจังหวัดนครศรีธรรมราช อย่าง ‘บินหลาแจ๊ส’ (BINLHAJAZZ) ที่นำภาษาใต้ไปคลุกกับทำนองเพลงแจ๊ซและฟังก์จนออกมาเป็นดนตรีที่กลมกล่อมฟังแล้วสนุกสนาน ผ่าน Tenor Saxophone และเสียงร้องโซลแจ๊ซแบบปักษ์ใต้ …สนุกแน่นอน
6) เปิดบ้าน SKA Heritage / โดย SKA Heritage / สถานที่ : ย่านเมืองเก่าสงขลา และวัดมัชฌิมาวาสวรวิหาร (วัดกลาง สงขลา)
การรวมตัวของนักออกแบบงานคราฟต์และนักสร้างสรรค์งานชุมชน ซึ่งเป็นคลื่นลูกใหม่ในวิสาหกิจเพื่อชุมชน ชื่อว่า SKA Heritage ที่จะพาผู้ชมงานให้เข้าร่วม 3 กิจกรรม อย่างครีเอทีฟเวิร์กช็อปผ้ามัดย้อมเปอลางี หรือ ปะลางิง จาก Adel Kraf ผ้าทอพื้นเมืองลายโบราณซึ่งเป็นมรดกทางภูมิปัญญาสืบทอดมากว่า 100 ปี ที่มีเทคนิคการพิมพ์ลายบนผืนผ้าด้วยบล็อกไม้และแกะสลักเป็นลวดลายต่างๆ การทำโคมไฟกรงนก จาก Kufan.Gallery ของ ฟาน-กูฮิรฟาน ตูแวตีเงาะ ซึ่งเคยทำโปรเจกต์ธีสิสโดยนำงานจักสานของกลุ่มแม่บ้านในชุมชนมะนังดาลำ จ.ปัตตานี มาออกแบบใหม่ให้ร่วมสมัย จนได้รับรางวัล Best Young Designer 2019 ฯลฯ หรือ Songkhla Tour ในชื่อกิจกรรม ‘Singora in Harmony the City of Lagoon’ ตามรอยเส้นทางเชิงวัฒนธรรมในย่านเมืองเก่าสงขลา และ Singora Kids เสี่ยงโชค Happy Go Lucky เวิร์กช็อปศิลปะสำหรับเด็ก
7) Singorama /โดย Singorama Team / สถานที่: หอศิลป์สงขลา 2 (Songkhla Art Center 2)
การฉายภาพยนตร์ด้วยบรรยากาศสุดชิลที่ติดริมทะเลสาบสงขลาเต็มอิ่ม 9 วัน 9 คืนจาก Singorama Film Festival : The Next Spring โดยมี ‘เอกพงษ์ สราญเศรษฐ์’ หรือ ‘เอก’ ผู้กำกับหน้าใหม่และหนึ่งในผู้กำกับสารคดีการเมืองอย่าง ‘Breaking the Cycle’ (2023) เป็น Festival Director ประจำงาน
Singorama คือเทศกาลภาพยนตร์ประจำย่านเมืองเก่าสงขลา จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2022 ที่เหล่านักสร้างสรรค์ในย่านเมืองเก่าร่วมมือกับ GDH ด้วยการฉายภาพยนตร์เรื่อง ‘ตั๊ดสู้ฟุด’ ‘พี่มากพระโขนง’ ‘ฉลาดเกมส์โกง’ และ ‘เพื่อนสนิท’ พวกเขามุ่งหวังสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคนในพื้นที่ให้เชื่อมถึงกัน เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนประสบการณ์ต่อพื้นที่ในชุมชนด้วยเช่นเดียวกัน
โปรแกรม Singorama ครั้งนี้จะมี 3 กิจกรรมหลัก นั่นคือ การฉายภาพยนตร์กลางแจ้ง ทั้งหนังเก่า หนังใหม่ หนังสั้น จนถึงทีวีซีรีส์ ทั้งที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตความเชื่อของท้องถิ่น และการสร้างสรรค์ด้วยฝีมือของนักทำหนังชาวใต้ มีกิจกรรมถาม-ตอบแลกเปลี่ยนแง่มุมในประเด็นการเดินทางของศิลปิน และกิจกรรมห้องสมุดมนุษย์ (Human Library) พูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญหลากแขนงทางด้านศิลปะ ภาพยนตร์ หนังสือ ฯลฯ ที่ร้าน dot.b ยังมีการวาดโปสเตอร์หนังบนผ้าใบ การพากย์สด และการร่วมเป็นส่วนหนึ่งที่ ‘ใครก็ได้’ พร้อมจะเป็น ‘ผู้สร้าง’ ภาพยนตร์สั้นประจำเทศกาลฯ ด้วยตัวเอง
สำหรับภาพยนตร์ในโปรแกรม Singorama เอกไฮไลต์ให้เลยว่าห้ามพลาดกับเรื่อง ‘ร่างทรง’ กำกับโดย โต้ง-บรรจง ปิสัญธนะกูล ด้วยการบรรยายสดถึงเบื้องหลังการทำงานของผู้กำกับและผู้ช่วยผู้กำกับอย่าง เยเมนส์-ศิววุฒิ เศวตานนท์ ด้วย หรือ ‘แปลรักฉันด้วยใจเธอ’ กำกับโดย บอส-นฤเบศร์ กูโน กับการฉายจุใจแบบมาราธอน ส่วน ‘พญาโศกพิโยคค่ำ’ ชวนคุยกับผู้กำกับชาวใต้เป็นครั้งแรกกับ ไทกิ ศักดิ์พิสิษฐ์ คนทำหนังทดลองร่วมสมัยที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งในไทย และร่วมชมภาพยนตร์ฟุตเทจจากทางบ้านในหัวข้อ ‘สิ่งที่มีความหมายกับชีวิตคุณ’ เป็นการปิดท้ายเทศกาลภาพยนตร์ Singorama ครั้งนี้
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ทาง Singorama Film Festival
8) ลอง Table Food Fest /โดย Long Table Team / สถานที่ : บ้านสงครามโลก และท่าน้ำศักดิ์สิทธิ์พิทักษ์
แพลตฟอร์มเชิงทดลองของเชฟเทเบิลรุ่นใหม่ที่ฟอร์มทีมเฉพาะกิจของนักสร้างสรรค์ชาวสงขลาเพื่อเล่าเรื่องราวความอร่อยด้วย 25 เมนูใหม่ ภายใต้ 5 คอร์ส โดย 25 เชฟ ผ่าน 5 ทีม และนักออกแบบผลิตภัณฑ์อีก 5 คน จากร้านบาร์สุดชิก Grandpa Never Drunk Alone, ศิลปินนักจัดดอกไม้ fakeflorist, XIX Hatyai คาเฟ่ในเมืองหาดใหญ่, ทีม seek ผู้รันวงการอาหารหาดใหญ่ อย่างไอศกรีมเจลาโต้ BIMBI เป็นต้น
ลองเทเบิลเปิดให้ทุกคนมีส่วนร่วมในรูปแบบของ ‘ตลาดอาหารและความรู้’ นำเสนอวัฒนธรรมอาหารการกินชาวปักษ์ใต้ วัตถุดิบ ภูมิปัญญาท้องถิ่นประจำบ้าน พร้อมให้ทุกคนลองชิม ลองดู ลองทำ และลองดื่ม ผ่านประสบการณ์ที่ได้ ‘ลอง’ จนอิ่ม ใน 1 คอร์ส/เมนู ราคาไม่เกิน 100 บาท หรือ 5 คอร์ส ราคา 350-500 บาท ยังมีโต๊ะกลางแบบ Long Table พื้นที่นั่งชิม นั่งคุย ให้แชร์เรื่องราวกับเพื่อนร่วมโต๊ะ
นอกจากเมนูที่น่าลอง นักออกแบบผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่ทั้งห้าได้ร่วมออกแบบผลิตภัณฑ์ในเวิร์กช็อป ‘ลองเทเบิล’ ที่ร้อยเรียงไอเดียจากคำขวัญของจังหวัดสงขลาอย่าง ‘นกน้ำเพลินตา สมิหลาเพลินใจ เมืองใหญ่สองทะเล เสน่ห์สะพานติณ ถิ่นธุรกิจแดนใต้’ ด้วยการตีความเป็นรูปแบบผลิตภัณฑ์สุดคัลต์จำนวน 5 คอร์ส สำหรับผู้ที่สนใจจองคอร์สอาหารทั้งแบบ Long Table และ Take Away เท่านั้น
ในคอร์สแรก ฝ้าย-อภิชา ศรีสุข นำท่อนคำขวัญแรกของจังหวัดสงขลาอย่าง ‘นกน้ำเพลินตา’ ออกแบบด้วยการนำสิ่งที่พบเจอในอุทยานนกน้ำคูขุดมาผสมผสานด้วยกัน คอร์สที่ 2 กับท่อนคำขวัญ ‘สมิหลาเพลินใจ’ ออกแบบโดย หมอก-สลิตา นิพัทธสัจก์ การดึงคาแรกเตอร์ของหนูและแมว รวมไปถึงกิจกรรมบนชายหาดของชาวสงขลามาละเลงเป็นผลิตภัณฑ์ คอร์สที่ 3 กับท่อนคำขวัญ ‘เมืองใหญ่สองทะเล’ ออกแบบโดย วินเนอร์-ปวีณวิทย์ พุฒสง่า อย่างการนำสีของแสงอาทิตย์ยามเช้าไล่เฟดไปยามแสงอาทิตย์ตกดิน ส่วนคอร์สที่ 4 ออกแบบโดย ปัง-ฐิติกร กิชัยรัมย์ ด้วยคำขวัญ ‘เสน่ห์สะพานติณ’ เล่าการเดินทางบนสะพานติณผ่านเอกลักษณ์ของอำเภอสิงหนคร เกาะยอ และจังหวัดสงขลา และคอร์สที่ 5 เป็นคำขวัญท่อนสุดท้าย คือ ‘ถิ่นธุรกิจแดนใต้’ ออกแบบโดย ปราง-สีตวรรณ สิงหเศรษฐ ด้วยการออกแบบธนบัตรนางเงือกริมหาดสมิหลา (สงขลา) และตลาดกิมหยง (หาดใหญ่) ในลุคใหม่
นอกจากนี้ ‘BIMBI’ นักสร้างสรรค์ด้านอาหารในเวิร์กช็อป Long Table Food Fest เจ้าของแบรนด์ไอศกรีมเจลาโต้ดั้งเดิมสไตล์อิตาลีในหาดใหญ่ เขายังมีอีเวนต์สุดเอ็กซ์คลูซีฟที่ a.e.y.space ให้อิ่มใจกันด้วย 3 เซสชั่น ไม่ว่าจะ ‘BIMBI Media Exhibition’ มินิเอ็กซิบิชั่นเล่าถึงการเปลี่ยนผ่านของป้ายโฆษณายุคต่างๆ มาทำเป็น Art Exhibition ผ่านเรื่องราววิวัฒนาการของ ‘ป้าย’ ในยุคเก่าและสื่อโฆษณาที่ถูกนำมาใช้ในยุคสมัยใหม่ เริ่มจัดแสดงในวันที่ 5-20 สิงหาคม 2566 (ระหว่างวันที่ 5-20 สิงหาคม มินิเอ็กซิบิชั่นเปิดให้เข้าชมทุกวัน ยกเว้นวันพุธ)
ครึกครื้นใจไปกับ ‘Vinyl Music Session’ โดยยูโกะ จาก 22 Nakhonnok Listening Bar ใครชื่นชอบทำนองการผสานดนตรีแจ๊ซ โซลฟังก์ ไทยป๊อป ฯลฯ ในจังหวะสนุกๆ ที่หาฟังไม่ง่าย พลาดไม่ได้เลย ปล่อยจอยกันได้ในวันที่ 13-14 สิงหาคม เวลา 17.00-18.30 น
แถมด้วยเวิร์กช็อป ‘THE BLOOMING VASE – Workshop by fakeflorist and BIMBI’ เวิร์กช็อปจัดแจกันดอกไม้ด้วยวัสดุรีไซเคิล โดย fakeflorist และ BIMBI ในคอนเซปต์ ‘Blooming’ ที่ผู้เข้าร่วมเวิร์กช็อปนำแจกันดอกไม้กลับไปตกแต่งมุมโปรดเพิ่มความสดชื่นในบ้าน วอล์กอินเข้าร่วมเวิร์กช็อปได้ในวันที่ 14, 19 และ 20 สิงหาคม มีวันละ 20 ชุด ราคาชุดละ 349 บาท (รวมแจกันรีไซเคิลและดอกไม้) เริ่มเวลา 13.00-16.00 น.
หลบเรินแล้วผลิบานไปกับเทศกาล Pakk Taii Design Week 2023 ในวันที่ 12-20 สิงหาคม 2566 เตรียมเปิดแผนที่ พกหมวก ถือร่ม เตรียมท้องให้ว่าง ปล่อยหัวโล่งๆ แล้วดูดซับความคิดสร้างสรรค์ต่อเติมกำลังใจกันดีกว่า
ขอขอบคุณข้อมูลจาก ทีมงาน Pakk Taii Design Week 2023 ผู้จัดโปรแกรม Singorama และ Pannipa Sotthi
ขอขอบคุณภาพจาก Pakk Taii Design Week 2023
ติดตามข่าวสาร Pakk Taii Design Week 2023 ได้ที่เฟซบุ๊ก: Pakk Taii Design Week
อินสตาแกรม: pakktaiidesignweek
หรือเว็บไซต์: Pakk Taii Design Week 2023