About
CRAFTYARD

When We Make A Zine

Parking Lot Press อาร์ตปรินท์จากลานจอดรถที่เปิดเวิร์กช็อปเพื่อคนชอบนิตยสารทำมือ

Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • ชวนมายด์และแพรนิเล่าถึงการรวมตัวกันของเพื่อน 4 คนที่อยากเปิดบูธขาย Art Print จนเกิดเป็น ‘Parking Lot Press’ ก่อนเดินหน้าผลักดันให้การเป็น Self – Publishing ด้วยการทำแมกกาซีนเล่มแรกชื่อ ‘Vroomๆ’ ที่ทำให้เราได้ฟังความท้าทายของคนแวดวงนี้ นอกจากนี้ พวกเธอจะมาพูดถึงเสน่ห์ของ Zine ผ่านเวิร์กช้อปที่จัดขึ้นก็เพื่อหาทุนมาทำ Vroomๆ เล่มต่อไปนี่ล่ะ

ชื่อ ‘Parking Lot Press’ ในที่นี้เราไม่ได้พูดถึงที่จอดรถนะ แม้ว่ามันจะเป็นต้นไอเดียของการตั้งชื่อ แต่จริงๆ แล้วเกิดจากการรวมตัวกันของเพื่อน 4 คนที่รักในการทำ Art Print และ Zine อย่าง มายด์ - รุจิรดา หอมหวล, แพรนิ - ณิชาพร จิรพงศานานุรักษ์, เกรซ - อัญญาวี เจริญธนากิต และ ตะวัน - นัชชา เตชะจันตะ ที่อยากเปิดบูธขาย Art Print ในงาน Bangkok Art Book Fair 2022 และเพราะต้องจัดบูธที่ลานจอดรถไง ก็เลยเป็นที่มาของชื่อสุดเก๋นี้ไปเลย

แม้รวมตัวกันได้ไม่นาน แต่ Parking Lot Press ก็กำลังเติบโตอย่างน่าตื่นเต้นและน่าสนใจ เพราะนอกจากจะจัด Zine Making Workshop เพื่อหาทุนผลิต Art Book ดีๆ สักเล่มแล้ว พวกเธอที่เพิ่งเป็นเด็กจบใหม่ก็ต้องเจอกับความท้าทาย นั่นก็คือ ต้นทุนการผลิตที่สูงซะเหลือเกิน “จะเป็นศิลปิน หรือสายผลิตที่ไทยต้องทำงานประจำ ทำงานเสริม ต้องทำหลายอย่าง ไม่อย่างนั้นไม่มีต้นทุนทำ Art Book แน่ๆ ค่ะ”

Parking Lot Press

ภาพ : Parking Lot Press

Parking Lot Press

ภาพ : Parking Lot Press

การเดินทางของ Parking Lot Press

ต้องเท้าความก่อนว่า ทั้ง 4 คน เรียนจบจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ภาควิชาออกแบบนิเทศศิลป์ (Communication Design) แต่เกรซและตะวันขอหยุดพัก Parking Lot Press เพื่อไปเรียนต่อและทำงานส่วนตัวก่อน (อนาคตกลับมาแน่นอน) วันนี้เลยได้พบกับมายด์กับแพรนิที่ยิ้มทักทายเรามาแต่ไกล

“ตอนนั้นเราอยากทำพรินต์มาก แล้วทั้งมายด์ เกรซ ตะวันเป็นรุ่นพี่เรา 1 ปี ก็ส่งธีสิสพรินต์กันหมด เราชอบผลงานของทั้ง 3 คนมาก ก็เลยรวมตัวหารค่าบูธกัน จัดตรงลานจอดรถ เราเอารถของพ่อเกรซมาเปิดขายผลงานท้ายรถ ซึ่งผลงานเป็นแค่ Personal โปรเจ็กต์นะ ยังไม่มีที่เป็นส่วนกลางในนามของพวกเรา แต่ผลตอบรับดีมากๆ คนรู้จักเรามากขึ้น แล้วมันดีตรงที่ว่าเราได้เจอคนที่ชอบอะไรเหมือนๆ กัน” แพรนิเล่าถึงการจัดบูธครั้งแรกที่ Art Book Fair 2022 ให้ฟังด้วยรอยยิ้ม

Parking Lot Press

ภาพ : Parking Lot Press

Parking Lot Press

ภาพ : Parking Lot Press

Parking Lot Press

ภาพ : Parking Lot Press

Parking Lot Press

ภาพ : Parking Lot Press

Parking Lot Press

ภาพ : Parking Lot Press

ประสบการณ์ที่ว่ามานี้กลายเป็นแรงบันดาลใจที่ช่วยผลักดันให้พวกเธอริเริ่มทำแมกกาซีนเล่มแรกของ Parking Lot Press โดยเน้นคอนเซ็ปต์ที่ล้อไปกับชื่อด้วย เพื่อที่จะบินไปออกบูธขายครั้งแรกที่ Singapore Art Book Fair 2023 ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ‘Vroomๆ’ จึงเป็นแมกกาซีนเล่มแรกที่พาออกสำรวจวัฒนธรรมอาหารแบบ Local บนรถเข็นของคนไทย และการกินอาหารบนรถของคนไทย เหตุเพราะต้องรีบไปทำงาน หลังออกบูธขายในครั้งนั้น พวกเธอได้พบปะทำความรู้จักกับสำนักพิมพ์อิสระจากหลากหลายประเทศ หนึ่งในความโชคดีคือการได้พบกับชาวสิงคโปร์แห่ง ‘The Slow Press ซึ่งก่อนหน้านี้ก็เคยเจอกันมาแล้วในงาน Bangkok Art Book Fair 2022 ด้วยเช่นกัน

Parking Lot Press

Parking Lot Press

“หลังพวกเรากลับจากสิงคโปร์ เขาก็มาหาเราด้วย บอกว่าอยากจัด Exhibition เล็กๆ ด้วยกันระหว่าง Parking Lot Press กับ The Slow Press ซึ่งทางเขากำลังเปิดตัวหนังสือใหม่ แล้วด้วยความที่สำนักพิมพ์เขาทำเกี่ยวกับอาหารเหมือนกับ Vroomๆ เล่มแรกพอดี พวกเราก็เลยเอาตรงนี้มาจัดเวิร์กช้อปทำซีนเล็กๆ ร่วมกันที่คาเฟ่ Bask Project” และนั่นล่ะคือจุดเริ่มต้นไอเดียการจัด Zine Workshop Making หลักของ Parking Lot Press

Parking Lot Press

Parking Lot Press

Parking Lot Press

อันว่าด้วย Zine Making Workshop

Zine หรือ ซีนต่างจากนิตยสารยังไง จะเทียบง่ายๆ ก็ต้องมองให้เป็นขั้วตรงข้าม ถ้านิตยสารคือสื่อสิ่งพิมพ์กระแสหลัก ใน 1 เล่มประกอบไปด้วยคอลัมน์หลายหัวข้อหลายหมวดหมู่ มีการจัดรูปแบบที่ค่อนข้างตายตัว ซีนก็คือสื่อกระแสนอกที่มีความ Niche เล่าเฉพาะเรื่องที่สนใจให้กลุ่มคนที่สนใจในเรื่องเดียวกันได้เข้ามาแลกเปลี่ยนกัน อีกทั้งรูปแบบการทำซีนก็จัดว่ามีความเป็นอิสระและอาร์ตจ๋าขั้นสุด

Parking Lot Press

Parking Lot Press

“ซีนเป็นได้ทุกอย่าง ค่อนข้างเป็นงานแฮนด์เมด มันมีความคราฟต์ ไม่ได้เบสจากอะไรเป็นหลัก แต่เกิดจากความสนใจส่วนตัว ทำให้เนื้อหาของซีนมีหลากหลายมาก แม้กระทั่งเทคนิคการทำซีนจะทำเป็นคอลลาจ เขียน วาดรูป หรือเปิดมาแล้วเป็นแผ่นซีดีก็ได้ อีกสิ่งที่สังเกตได้ชัดคือ ซีนแต่ละเล่มจะมีวิธีการพับ เข้าเล่มที่มีไซส์ต่างกัน มันไม่มีกฎตายตัว แต่ขึ้นอยู่กับดีไซน์ที่เราต้องการ เลยมีความเป็นอาร์ตสูง และส่วนใหญ่ถูกตีพิมพ์จากสำนักพิมพ์อิสระ หรือทำกันเอง เป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถทำเองได้”

Parking Lot Press

ทั้งคู่ผลัดกันเล่าถึงเสน่ห์ของซีนในช่วงแรกของการทำ Zine Making Workshop อีกสิ่งน่าสนใจคืออุปกรณ์ที่ทั้งคู่เตรียมมา นอกจากจะมีเครื่องเขียน กระดาษสำหรับตกแต่งหลายๆ แบบแล้ว เรายังเห็นนิตยสารเล่มเก่าหมดอายุ เศษผ้า ดอกไม้แห้งที่เก็บไว้นานแล้ว เปลือกซองขนมและห่อกระดาษจากผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ทั้งคู่ขนมาให้ผู้ร่วมกิจกรรมได้เลือกหยิบมาลองครีเอตกันอย่างอิสระ

Parking Lot Press

Parking Lot Press

Parking Lot Press

Parking Lot Press

“เราอยากเน้นเรื่อง Upcycling ด้วยคอนเซ็ปต์ Make Trash To Art เรามองเห็นว่าสิ่งของที่ใช้แล้วหรือถูกทิ้ง ถ้าเอามาใช้ให้เกิดคุณค่า เราอยากทำให้เห็นว่ามันสามารถเกิดเป็นอาร์ตในมุมมองใหม่ๆ ได้ หรือในรูปแบบอื่นๆ ได้นะ” ถือเป็นข้อดีที่ช่วยฝึกให้ผู้ร่วมเวิร์กช้อปได้ออกจากกรอบความคิดหรือคอมฟอร์ตโซนเพื่อใช้จินตนาการทดลองสร้างสิ่งใหม่ๆ ได้ดีเลย

Parking Lot Press

Parking Lot Press

Parking Lot Press

“อันนี้คือจุดประสงค์ของการจัดเวิร์กช้อปของพวกเราเลย การทำซีนมันเป็นอะไรที่เกี่ยวข้องกับการ Express หรือใช้เวลาเพื่อกลับมาสำรวจตัวเองอีกครั้งโดยไม่ต้องกลัวว่าซีนที่เราทำจะไม่สวย ไม่เพอร์เฟกต์ หรือคิดอยากทำซีนเกี่ยวกับเรื่องนี้ๆ แล้วคนจะชอบหรือไม่เข้าใจไหมไม่สำคัญ พื้นที่นี้คือการทดลอง แค่เราชอบ ทำมันด้วยความรักก็จบ”

Parking Lot Press

ภาพ : Parking Lot Press

สถานีต่อไปขอมุ่งสู่การเป็น Self – Publishing

“ตอนที่เราเข้าเรียนมหาลัยช่วงแรกๆ Art Book Fair ก็ยังไม่ค่อยมีและไม่ได้ใหญ่มากขนาดนั้น แต่ช่วงหลังๆ ถึงทุกวันนี้มันเติบโตมากขึ้น มีสำนักพิมพ์อิสระต่างประเทศมาออกบูธ มาจอยที่ไทยกันมากขึ้น และแม้ว่าสำนักพิมพ์อิสระบ้านเรายังไม่ค่อยเยอะเท่าไหร่ ส่วนใหญ่ก็มีทำกันเอง แต่เราเห็นเลยว่าหลายคนแม้กระทั่งคนที่ไม่ได้เรียนด้านนี้มา ต่างก็ให้ความสนใจกับวงการอาร์ตบุ๊กมากขึ้น เทคนิค Art Print ใหม่ๆ ก็มีเพิ่มมากขึ้น เราก็เลยอยากผลักดัน Parking Lot Press ให้มีภาพลักษณ์เป็น Self – Publishing มากขึ้นไปตามๆ กัน”

Parking Lot Press

ทั้งคู่ขอแอบกระซิบว่ากำลังซุ่มทำ Vroomๆ No.2 กันอยู่ โดยครั้งนี้จะพาคนอ่านไปเจอเรื่องอะไร รอติดตามกัน อย่างไรก็ตาม เส้นทางนี้ก็เต็มด้วยความท้าทาย เพราะหนังสือศิลปะในบ้านเราราคาสูงมาก สวนทางกับรายได้คนไทย ที่ถ้าจะต้องควักเงินซื้อหนังสือเล่มละพันก็คงเหงื่อตกน่าดู ส่วนฝั่งคนทำหนังสือโดยเฉพาะในวงการ Art Print ก็ต้องต่อสู้กับต้นทุนที่สูงลิบ ผลิตน้อยก็แพง ผลิตมากก็กลัวขายไม่ออก ไม่ว่าจะเลือกทางไหนก็เหมือนต้องเล่นเกมเสี่ยงดวง

Parking Lot Press

ภาพ : Parking Lot Press

“นิตยสารบ้านเราราคาเท่าต่างประเทศเลย แต่คุณภาพเขาดีกว่า ด้วยพื้นฐานของเขา และเงินเดือนที่เยอะกว่าเรา ราคาพันกว่าบาท เขาซื้อได้อยู่แล้ว แต่ของเราถ้าขายถูกไป เราในฐานะคนทำหนังสือกันเองก็จะไม่ได้กำไร ตอนนี้ Self – Publishing หลายๆ คนก็คิดราคาหนังสือกันแค่ต้นทุน แต่ค่าไอเดียนี่ไม่มีเลย”

Parking Lot Press

อ่านมาถึงตรงนี้คงสงสัยว่า ทำไมถึงยังทำต่อ “เพราะ Passion ล้วนๆ” เป็นคำตอบที่น่าจะเหมารวมทั้งคนทำหนังสือ และศิลปินสายวาดในบ้านเราทุกคนที่แม้ว่าจะต้องแลกมาด้วยการทำงานประจำ รับจ๊อบเพิ่ม ทำฟรีแลนซ์ด้วยก็ยอม

Parking Lot Press

สำหรับใครที่ชื่นชอบการทำซีน และอยากติดตามการเติบโตของ Parking Lot Press ก็เข้าไปกดฟอลกันได้ที่ Instagram : Parking Lot Press ส่วนเรารอซื้อ Vroomๆ เลยล่ะ!

Tags: