About
DETOUR X Phattalung

พัทลุงในมุมไม่ปรุงแต่ง

เที่ยว ‘พัทลุง’ ในมุมไม่ปรุงแต่ง ความงามที่แท้ของชีวิตและธรรมชาติ

เรื่อง กาญจนา อายุวัฒน์ธนชัย ภาพ พริบตา Date 02-06-2020 | View 1583
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • คลองปากประกว้างใหญ่เหมือนแม่น้ำ ที่นี่เป็นวังปลาและรังยอขนาดยักษ์ มีปลาอาศัยความสมบูรณ์ของแหล่งน้ำ และคนอาศัยความชุกชุมของปลาพึ่งพาอาศัยตามวิถีดั้งเดิม
  • ทะเลน้อยยิ่งใหญ่เหมือนทะเลสาบ เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำรสจืด ถิ่นที่อยู่ของป่าพรุ นกน้ำ ปลา และเป็นทุ่งหญ้าแหล่งอาหารของฝูงควาย
  • หลาดใต้โหนดร่มรื่นเหมือนผืนป่า ตลาดนัดวันอาทิตย์ขายอาหารปลอดสารจากชาวบ้าน ตั้งอยู่ในบริเวณบ้านของนักเขียนผู้ล่วงลับ กนกพงศ์ สงสมพันธุ์

เราอาจเคยพบกันตอนรุ่งสาง ผมชอบดูพระอาทิตย์ขึ้น แสงอบอุ่นของรุ่งอรุณจะปลุกให้คนตื่น ปลาขยับ ดอกไม้บานสะพรั่ง นกบินออกจากรัง ฝูงควายพาเหรดเต็มทุ่ง ก่อนดวงอาทิตย์จะพ้นขอบคุ้ง ผมบอกหรือยังว่าผมชื่อ... พัทลุง แดนใต้

คลองปากประ

สวรรค์ของคนตื่นเช้า หลายคนบอกว่าที่นี่คือสวรรค์ อาจเป็นเพราะความสุขที่เกิดขึ้นเองและความงดงามของธรรมชาติ แต่สวรรค์ ณ ‘คลองปากประ’ ไม่มีความวิเศษพิสดาร มีเพียงชีวิตบ้านๆ ที่พบพานได้ทุกวัน คลองปากประเป็นแหล่งน้ำสำคัญของบ้านปากประ อ.ควนขนุน จ.พัทลุง เกิดจากลำน้ำหลายสายมาบรรจบกันก่อนไหลออกสู่ทะเลสาบสงขลา ทำให้คลองสายนี้สมบูรณ์เป็นวังปลาและเป็นแหล่งประมงพื้นบ้านให้ชาวบ้านจับสัตว์น้ำตามวิถีดั้งเดิม

เช้าตรู่ของทุกวันชาวบ้านจะแจวเรือไปยังยอของตัวเองเพื่อยกยอและตักปลาใส่ถังไปขายในตลาด มันเรียกว่า ‘ยอยักษ์’ หรือยอขันช่อที่มีขนาดใหญ่กว่าตัวคนหลายเท่า ทำจากแหผูกติดกับไม้สี่มุมต่อเข้ากับคันยก และมีตัวคานน้ำหนักคล้ายปั้นจั่นช่วยทุ่นแรง ไว้ดักจับปลาลูกเบร่ ที่เมื่อนำไปทอดกรอบคลุกข้าวสวยร้อนๆ อร่อยดีนัก

กิจวัตรของชาวบ้านดำเนินคู่ขนานไปกับการท่องเที่ยวที่จะไม่มาบรรจบหรือส่งผลกระทบซึ่งกันและกัน

ทุกเช้าเรือหลายลำจะพานักเดินทางล่องออกจากท่าอย่างเงียบเชียบ เพื่อเสาะหามุมที่หมายปองรอเก็บภาพ วิมานกำลังปรากฏ แสงแรกแย้มพ้นขอบน้ำ สีสันของฟากฟ้าเปลี่ยนไปทุกขณะ ตะวันละเลงสีชมพูอมม่วงบนท้องฟ้าที่เปรียบเหมือนผ้าแคนวาส ร่างของเจ้ายอยักษ์กลายเป็นลายเส้นสวยเกินบรรยาย มันคือโมงยามแห่งความหวัง ชาวบ้านหวังได้ปลาเต็มยอ ต้นไม้หวังแตกหน่อ นกบินไกลหวังอิ่มท้อง คนสะพายกล้องหวังเก็บภาพชั่วพริบตาให้คงอยู่ตลอดไป เมื่อตะวันสาดแสงแรงยิ้มแฉ่งเหนือยอใหญ่ เรือชาวบ้านบรรทุกปลาสดกลับไปขาย สวนทางกับเรือนักสำรวจที่ยังมุ่งหน้าจากคลองปากประเข้าคลองนางเรียมออกไปสู่ทะเลน้อย ปลายทางแห่งความหลากหลายของระบบนิเวศที่ซับซ้อนและอุดมสมบูรณ์

โลกใบใหญ่ของทะเลน้อย

ทะเลน้อยอาจมีขนาดกระจ้อยร่อยเมื่อเทียบกับทะเลสาบสงขลา แต่มันคือโลกขนาดมหึมาของสรรพชีวิตที่พึ่งพาพื้นที่ชุ่มน้ำ อันประกอบไปด้วย ป่าพรุ ป่าเสม็ด ป่าดิบชื้น พื้นน้ำ นกอย่างน้อย 200 ชนิด ปลาอีกกว่า 30 ชนิด และสัตว์ป่ามากมาย ทั้งหมดพึ่งพามันในฐานะถิ่นที่อยู่ แหล่งสืบพันธุ์ แหล่งอาหาร และมีผลพลอยได้ให้มนุษย์ในฐานะแหล่งท่องเที่ยว

เรือลำน้อยออกจากปากประแล่นผ่านป่าพรุเข้าสู่เขตพื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย (เรียกสั้นๆ ว่า ทะเลน้อย) ภายในอาณาเขตทั้งหมดกว่า 2.8 แสนไร่ มีพื้นที่ส่วนหนึ่งชื่อว่า ‘พรุควนขี้เสี้ยน’ ถูกขึ้นทะเบียนให้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ หรือแรมซาร์ไซต์ (Ramsar Site) แห่งแรกของประเทศไทยเมื่อปี 2541 มีลักษณะเป็นพื้นที่ราบลุ่ม มีไม้เสม็ดขาว กก และกระจูดขึ้นหนาแน่น ตั้งอยู่ตอนเหนือของทะเลน้อย

ทะเลน้อยกระจูด

การขึ้นทะเบียนเป็นแรมซาร์ไซต์ทำให้เกิดการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพที่เกี่ยวข้องกับชนิดพันธุ์และชุมชนประชากรทางนิเวศของนกน้ำและปลาขึ้นมาโดยปริยาย แถมชื่อฝรั่งไม่คุ้นหูยังทำให้คนอยากรู้จักทะเลน้อยและหันมามองพัทลุงมากขึ้น

การสำรวจเพียงไม่กี่ชั่วโมงเผยให้เห็นเพียงเสี้ยวหนึ่ง แต่นั่นก็มากพอให้เห็นตัวอย่างของความอุดมสมบูรณ์ อย่างป่าพรุเสม็ดกระจูดกอใหญ่ แพหญ้าเขียวสด นกตะกรุม นกกระสานวล นกกาบบัว ลิงแสม และปลาอีกหลายชนิดที่ใช้ชีวิตสุขสบายใต้ผืนน้ำ

กิจกรรมเพียงอย่างเดียวบนเส้นทางคือดื่มด่ำธรรมชาติ หอบอากาศบริสุทธิ์เข้าปอด เปิดโสตฟังเสียงนกร้อง และจดจำความสุขไว้เป็นพลังสำรองยามคิดถึง

เรือหันหัวกลับเข้าท่า ทว่าเส้นทางสำรวจทะเลน้อยยังไม่อวสานหากยังไม่เห็นฝูงกระบือลือนามที่ใครๆ เรียกว่า ‘ควายน้ำ’ จุดชมฝูงควายยอดนิยมอยู่บนถนเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 เป็นถนนเชื่อม จ.พัทลุงและ จ.สงขลาพาดผ่านทะเลสาบ มีความยาวทั้งสิ้นกว่า 17 กิโลเมตร ช่วงกลางของถนนเป็นทางยกระดับผ่านป่าพรุและผืนน้ำ ระยะทาง 5.4 กิโลเมตร มีจุดพักรถ 6 จุด ให้นักท่องเที่ยวแวะชมวิวทะเลน้อย ทะเลสาบสงขลา และฝูงควาย

ฝูงควายจะถูกปล่อยออกมากินหญ้าในช่วงเช้า ตรงไหนที่ทุ่งหญ้าจมอยู่ใต้น้ำเจ้าทุยจะดำน้ำลงไปกิน ตรงไหนเป็นแอ่งน้ำตื้นก็จะทิ้งตัวเหมือนแช่ปลักดิน การเลี้ยงควายบนพื้นที่ชุ่มน้ำจึงไม่เหมือนที่ใด ไลฟ์สไตล์ของควายก็แตกต่างไปจนกลายเป็นเรื่องแปลกอันซีน ถนนเฉลิมพระเกียรติฯ เป็น Scenic Route ตลอดสองข้างทางขนาบด้วยธรรมชาติจนถูกขนานนามว่า สะพานแห่งความสุข เหมาะอย่างยิ่งกับการเป็นฉากจบบริบูรณ์ของเส้นทางทะเลน้อย

ตลาดในบ้านนักเขียน หลาดใต้โหนด

ชื่อตลาดสื่อความหมายตรงไปตรงมา ‘หลาดใต้โหนด’ หรือตลาดใต้ต้นตาลโตนด เป็นตลาดนัดทุกวันอาทิตย์ ตั้งอยู่ใน อ.ควนขนุน จ.พัทลุง ความน่าสนใจทวีขึ้นเป็นกองเมื่อรู้ว่าตลาดแห่งนี้ตั้งอยู่ในบริเวณบ้านของ ‘กนกพงศ์ สงสมพันธุ์’ นักเขียนซีไรต์ชื่อดังผู้ล่วงลับ เจ้าของผลงานเรื่อง ‘แผ่นดินอื่น’

หลังการจากไป 9 ปี ญาติพี่น้องของนักเขียนหนุ่มตลอดกาล ได้ฟื้นชีวิตท้องนาผืนเก่าที่ปกคลุมไปด้วยต้นตาลโตนดให้เป็นตลาดนัดท้องถิ่น ชักชวนบ้านใกล้เรือนเคียงนำพืชผลทางการเกษตร อาหาร และขนมท้องถิ่นมาจำหน่าย โดยมีกติการ่วมกันว่า อาหารทุกอย่างต้องปลอดสารพิษ ไม่ใช้โฟม และลดการใช้พลาสติกให้มากที่สุด ภาพของตลาดใต้ต้นไม้ดูเป็นธรรมชาติเข้าไปใหญ่เมื่อทุกคนทำตามกติกา ใบตอง ใบไม้ ไม้ไผ่ กะลา ล้วนนำมาดัดแปลงเป็นจาน ชาม แก้วน้ำ

ส่วนเมนูของกิน ชาวบ้านพยายามรื้อค้นตำรับอาหารประจำถิ่นออกมา มีทั้งหมี่หุนตำนาน ข้าวยำ ขนมปำ ขนมม้า ขนมจีนแป้งข้าวสังข์หยด ข้าวเหนียวในหม้อข้าวหม้อแกงลิง และน้ำสมุนไพรนานาชนิด ทุกเมนูลดหวาน มัน เค็ม และสารปรุงแต่งที่เกินจำเป็นเพื่อสุขภาพ และจะน่ารักไปทั้งตลาดถ้านักท่องเที่ยวหิ้วปิ่นโตไปใส่อาหารและสะพายถุงผ้าซื้อผักผลไม้

Note to know

  • คลองปากประ ตั้งอยู่ที่บ้านปากประ อ.ควนขนุน จ.พัทลุง มีเรือชาวบ้านคอยให้บริการล่องเรือชมคลอง ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงเศษ
  •  ทะเลน้อย หรือเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย มีอาณาเขตติดต่อ 3 จังหวัด ได้แก่ อ.ควนขนุน จ.พัทลุง อ.ระโนด จ.สงขลา และ อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช
  • หลาดใต้โหนด ตั้งอยู่ที่บ้านจันนา อ.ควนขนุน จ.พัทลุง เปิดทุกอาทิตย์ เวลา
    07.00-17.00 น. facebook : หลาดใต้โหนด พัทลุง Tainod phattalung
Tags: