จาก ก ไก่ ถึงชามตราไก่
‘ป๊อบ อังกูร’ กับแบรนด์ Phayanchana ที่ใช้พลังกราฟิกเสกอักษร ก-ฮ มีชีวิตด้วยงานดีไซน์
- คุยกับ ป๊อบ-อังกูร อัศววิบูลย์พันธุ์ เจ้าของแบรนด์ออกแบบกราฟิกและสินค้า ‘Phayanchana’ ผู้เชื่อว่าทุกการออกแบบมีช่องว่างให้คนลองเข้าไปทำเสมอ จนชนะรางวัล Golden Pin Design Award 2023 ด้วยโปสต์การ์ด ก ไก่ ถึง ฮ นกฮูก
“ผมว่าสิ่งที่ทำอยู่มันเหมือนกับนกพิราบครับ ตอนเดินๆ ก็ดูสะเปะสะปะ ต่างตัวต่างเดิน แต่พอตัวหนึ่งเริ่มจิกอะไรสักอย่างเข้า ตัวอื่นๆ จะมาจิกรวมกันอยู่ตรงนั้น มันต้องมีคนที่มองเห็นอะไรบางอย่างในสิ่งที่คนอื่นมองไม่เห็น แล้วนำไปสู่บางสิ่งบางอย่างต่อไป”
นี่คือสิ่งที่ ป๊อบ-อังกูร อัศววิบูลย์พันธุ์ นิยามการกระทำของเขาในตอนนี้ ที่แสดงออกผ่านงานออกแบบ ซึ่งว่าไปแล้วงานอันมีเอกลักษณ์ของเขาก็อาจเคยผ่านตาใครหลายคนมาบ้างไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะกับคนที่พึ่งไปเดินงาน Bangkok Design Week 2024 ที่ผ่านมา รวมไปถึงของปี 2022 และ 2023 ด้วย เพราะงานออกแบบของเขาเป็นแบรนด์สินค้าและกราฟิกที่มีชื่อว่า ‘Phayanchana’
แบรนด์ที่นำ ก ไก่ ถึง ฮ นกฮูก มาบิดเล็กผสมน้อย แปลงรูปร่างให้กลายเป็นภาพประกอบที่จำง่าย ขณะเดียวกันยังกะเทาะความทรงจำคนให้นึกออกว่า เหล่าตัวอักษรที่ถูกใช้น้อยไปจนถึงเลิกใช้ มีความหมายและหน้าตาจริงๆ เป็นอย่างไร
นอกจากนี้ เขายังนำเหล่าพยัญชนะทั้ง 44 ตัวมาต่อยอดเป็นสินค้า นำเสนอเรื่องราวในปีต่อๆ ไปแบบไม่จำเจ ด้วยโปรเจกต์ ‘วรรณรูป’ และ ‘สานอักษร’ ผ่านการเห็นช่องว่างที่ยังไม่ค่อยมีใครเข้ามาทำมากนัก
ป๊อบหวังว่าตัวเขาเองจะเป็นอีกหนึ่งเส้นทางที่คนรุ่นใหม่มองเข้ามา แล้วเห็นช่องว่างแห่งการสร้างสรรค์ หรือต่อยอดเช่นเดียวกับที่เขาเคยพบเจอ
พยัญชนะ
เราคุยกับป๊อบแบบค่อยเป็นค่อยไปพร้อมเครื่องดื่มในมือคนละแก้ว
ป๊อบเริ่มจากบอกเล่าถึงเรื่องในอดีตว่า ครั้งหนึ่งเขาเองก็เคยเป็นเด็กที่มีใจรักศิลปะชนิดไม่มีเสื่อมคลาย จนเวลาล่วงเลยมาพร้อมด้วยโอกาสในการเริ่มต้นทำงานที่บริษัทรับออกแบบนาม ‘Propaganda’ อยู่ 8 ปี ก่อนที่เขาจะเลือกสยายปีกออกมาเปิดบริษัทเป็นของตัวเองในชื่อ ‘ฌู่ดีไซน์’ อีก 5-6 ปี
ทว่า อันที่จริงแล้ว ในระหว่างนั้นตลอดกว่า 10 ปี โดยที่ไม่มีใครรู้ว่า ‘Phayanchana’ ได้เกิดขึ้นมา เป็นอีกเส้นทางหนึ่งที่ขนานกันไปตลอดนอกเวลางาน
ป๊อบบอกอย่าถามหาคอนเซปต์ เพราะตอนนั้นไม่ได้มีรูปร่างคล้ายจะกลายเป็นแบรนด์ด้วยซ้ำ เป็นเพียงงานที่ถูกออกแบบขึ้นจากความทรงจำวัยเด็ก ที่ครั้งหนึ่งเคยจำได้แต่ ก ไก่ เพราะมีปากแหลม ร่วมด้วยความเก็บกดจากการทำงานลูกค้าในบริษัทที่เน้นหนักไปทางนานาชาติ จนบางทีตัวเขาก็อยากกลับมาหาอะไรที่มัน ‘ไทยๆ’ ดูบ้าง และอยากทำลายกำแพงทางภาษาด้วยความสวยงามดูสักตั้ง
“มันแค่ถูกมองว่า พอเป็นของไทยก็ต้องเป็นลายไทย ยิ่งภาษายิ่งยากเลย พยัญชนะเยอะกว่าภาษาอังกฤษตั้งเกือบเท่าตัว มันคือกำแพงภาษาอย่างหนึ่ง แต่ถ้าเราลองเปลี่ยนภาษาตรงนี้ให้เป็นกราฟิก เป็นสินค้า เป็นความสวยงาม คนเขาก็ซื้อและมองข้ามเรื่องกำแพงภาษาไปได้ เหมือนเป็นช่องว่างที่ยังไม่มีใครจับไปเล่น” ป๊อบอธิบายถึงกลวิธีในการออกแบบของเขา นั่นคือ เปลี่ยนสิ่งนั้นให้กลายเป็นภาษาสากลที่เรียกว่า ศิลปะ
อย่างไรก็ตาม ป๊อบยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่า บางพยัญชนะของเขาอาจจะดูยัดเยียดไปบ้าง เพื่อความสวยงาม และเพื่อความเข้าใจของคน
เขาเปรียบให้เห็นภาพง่ายๆ ว่า การออกแบบพยัญชนะก็เหมือนกับการดวลกันในดาบเดียว หนึ่งลายต้องรู้เรื่องทั้งหมด วางตรงหน้าแล้วคนต้องอ๋อเลยว่าคือตัวอะไร เช่น ณ เณร ที่ต้องใช้เวลาพัฒนาอยู่หลายทีกว่าจะเข้าที่เข้าทาง ถึงแม้ว่าบนกระดาษจากปลายดินสอปากกาจะไม่ได้ถูกเขียนเหมือนในโปสต์การ์ด แต่ถ้าหลังการออกแบบ มีคนเห็นแล้วมองออกทันที การดวลดาบนี้ก็ถือว่ามีเขาเป็นผู้ชนะโดยปริยาย
“มีอาจารย์คนหนึ่งเอาโปสต์การ์ดชุดนี้ไปสอนเด็ก เขาบอกว่า พอเด็กเห็นเป็นรูปแบบนี้ ทำให้มีสมาธิ เพราะสามารถดึงความสนใจของเขาได้ ตัวผมเองไม่ได้ตั้งใจให้กลายเป็นสื่อการสอนด้วยซ้ำ หรือคนต่างประเทศซื้อไปแล้วเมลกลับมาว่า ช่วยเขาในการเรียนภาษาไทยและจำพยัญชนะได้มาก ผมเลยรู้สึกถึงความคุ้มค่าที่เราเสียเวลาไปกับมันตั้งหลายปี” ป๊อบเล่าพร้อมเสียงหัวเราะ
วรรณรูป
แต่ก่อนที่จะมีเสียงหัวเราะพร้อมรอยยิ้ม ก่อนที่แบรนด์พยัญชนะจะได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการในงาน Bangkok Design Week 2022 ป๊อบเองก็ต้องผ่านสถานการณ์หัวเราะไม่ออกมาก่อนเหมือนกัน สาเหตุไม่ใช่อะไรไกลอื่น หากแต่เป็นการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้ธุรกิจของเขาต้องปิดตัวลงไปอย่างช่วยไม่ได้
การสร้างแบรนด์นี้ขึ้นมาจึงเปรียบเสมือนกระสุนเม็ดสุดท้าย ดีไม่ดีป๊อบเองยังรู้สึกเหมือนเป็นการแทงหวยท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจที่ข้าวยากหมากแพง ตั๋วคอนเสิร์ตแรง แต่ค่าแรงเท่าเดิม ถึงอย่างนั้นมันก็ยังมีสถานะเป็นความฝันที่เขาคิดอยากทำมาตลอด เพียงแค่ถูกหยิบยกขึ้นมาทำก่อนจะถึงเวลาอันสมควรตามที่วาดฝันไว้ในอนาคต กระทั่งตอนนี้เขายังครุ่นคิดด้วยความรู้สึกขัดแย้งนิดหน่อยว่า ถ้าไม่มีโควิด ถ้าธุรกิจไม่พังลง แบรนด์นี้ก็คงจะยังไม่ได้เกิด
“เราล่มสลายจากจุดหนึ่งมา เราก็ต้องเลือกทำในสิ่งที่เราถนัดที่สุดต่อไป ตอนนั้นคิดว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องเอา Phayanchana มาทำ จริงๆ ยังไม่มีชื่อเลยด้วยซ้ำ คิดแค่ว่าถ้ากราฟิกเสร็จแล้ว งั้นเรามาลุยตัวสินค้ากันต่อ ก็เริ่มจากการเอาลายเส้นทั้งหมดมาทำเป็นภาพ Illustrated แล้วเอามาต่อยอดต่อไปเรื่อยๆ ให้ครบ 44 ชิ้น”
พอจะพูดได้ว่า ย่อหน้าข้างบนเป็นจุดเริ่มต้นที่มาจากความไม่รู้อะไรเลยในทีแรก สู่ความทะเยอทะยานที่อยากจะนำพยัญชนะทั้ง 44 ตัว มาทำเป็นสินค้า 44 ชิ้น แม้ในตอนนี้จะคิดออกมาได้ประมาณ 20 ชิ้น และมีแผนที่จะวางขายปีละ 5 ชิ้นตามความเหมาะสมของงบประมาณที่จำกัด รวมไปถึงกำลังผลิตที่ยากง่ายตามขนาด
มี 2 ชิ้นที่เราสนใจเป็นพิเศษ คือ ที่ใส่ไข่ลวกที่มีก้นเป็น ก ไก่ และที่ใส่ใข่เป็น ข ไข่ ตามความคิดไก่วางไข่ที่ใครเห็นแล้วก็ต้องอุทานคำว่า ‘น่ารัก’ ออกมา ถึงป๊อบจะบอกว่า บางคนนึกว่าเป็นแก้วช็อตกาแฟก็เถอะ
ส่วนอีกชิ้นหนึ่งมีขนาดใหญ่เกินพกมา นั่นคือฐานใส่ร่มรูปทรง ฏ ปฏัก อันที่จริงใส่ได้ตั้งแต่ไม้เท้ายันไม้เบสบอล เป็นการออกแบบที่ล้อไปกับความหมายของตัวปฏัก ซึ่งเป็นไม้ที่มีปลายเป็นเหล็กแหลมสำหรับบังคับสัตว์ ถือเป็นสินค้าที่ได้ทั้งการใช้งาน และมีความหมายครบถ้วนในตัวของมัน
แต่การจะหยุดตัวเองไว้ที่งานออกแบบ 44 ชิ้นก็กระไรอยู่ ป๊อบจึงยังคงนำความทรงจำมาใช้เป็นเครื่องมืออยู่เสมอ ซึ่งใน Bangkok Design Week 2023 ผลงานประจำปีนั้นเกิดจากการที่ครั้งหนึ่งในวัยเด็ก เขาเคยเห็นสติกเกอร์รูปพระนั่งสมาธิที่ประกอบสร้างมาจากคำว่า ‘อย่าเห็นแก่ตัว’ ของ ทยาลุ
ความทรงจำที่ผนวกเข้ากับแรงบันดาลใจนั้นเอง ก่อให้เกิดเป็นโปรเจกต์ที่มีชื่อว่า ‘วรรณรูป’ (Concrete Poetry) ขึ้นมา
“จริง ๆ คนอาจคิดว่างานนี้เริ่มจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่เห็นกันในอินเทอร์เน็ต แต่จริงๆ งานนี้เริ่มจากเสาชิงช้า ต่อด้วยสะพานพุทธ แล้วค่อยเป็นอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถ้าสกาลายังอยู่ผมก็อาจจะทำ เพราะผมชื่นชมและนับถือความเก่งของสถาปนิกเมื่อก่อนมาก มันสวยมากเลยครับ”
งานนี้ป๊อบบอกว่าตอนนั้นเขากำลังบ้าคลั่งสุดขีด ไฟแรงทะลุปรอท ขอจัดนิทรรศการด้วยกำแพงสูง 4 เมตร ยาว 10 เมตร ประดับไปด้วยวรรณรูปกว่า 44 รูป แยกย่อยได้ทั้งหมด 5 หมวด
หนึ่ง หมวดกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นสถานที่สำคัญเนื่องในวาระครบรอบ 240 ปี กรุงรัตนโกสินทร์ สอง หมวดพาหนะท้องถิ่นของแต่ละจังหวัด ที่ต้องการสื่อสารให้เกิดการท่องเที่ยวผ่านเสน่ห์ของยานพาหนะท้องถิ่น สาม หมวดสัตว์นานาชนิด ที่เกิดจากความคิดถึงสวนสัตว์เขาดิน สี่ หมวดดอกไม้หลากพันธุ์ ที่สวยงามทั้งรูปร่างและสีสัน และห้า หมวดจิปาถะ ไม่เฉพาะเจาะจงว่าต้องเป็นอะไร
สานอักษร
ตอนนี้ Phayanchana ก็ได้เดินทางมาถึงปีที่ 3 ของแบรนด์แล้ว ป๊อบมองว่า เมื่อปีแรกเริ่มนั้นงานของเขาถูกสร้างและจัดขึ้นในรูปแบบของ Graphic & Product ส่วนปีต่อมาคือ Graphic ล้วน ๆ เพราะฉะนั้นปีนี้ก็ถึงคิวของ Graphic on Product
“ผมคิดว่าเราจะทำอะไรได้บ้างเกี่ยวกับของไทย ก็เลยหยิบจับของไทยมาเล่น เช่น ผ้าขาวม้า ชามตราไก่ ถาดสังกะสี ทั้งหมดเป็นสิ่งที่มีอยู่ชีวิตประจำวัน และความทรงจำของใครหลายๆ คน รวมถึงตัวผมเองด้วย”
การออกแบบในปีนี้ยังคงยึดโยงอยู่กับความทรงจำเช่นเคย และยังคงมองหาลู่ทางในการผสมเข้ากับพยัญชนะอย่างที่เคยทำมา
ผ้าขาวม้าที่เส้นตัดกันเป็นลายคำว่า ‘ขาวม้า’
ชามตราไก่ที่วาดตัว ‘ไก่’ ด้วยรูปแบบวรรณรูป
“งานทั้งหมดเป็นงานหัตถกรรมทำมือ ทุกอย่างต้องใช้ความสามารถของมือคน ชามไก่ของลำปาง ผมออกแบบ แล้วให้เขาเอาไปฝึกเขียน งานเขียนมือมันดูมีคุณค่า แต่ละใบออกมาไม่เหมือนกันด้วย หรือผ้าขาวม้า ผมพยายามไปให้คนที่ทอผ้าขาวม้าทำกราฟิกตามที่ผมออกแบบ ซึ่งมารู้ตอนหลังว่า มันไม่สามารถทอออกมาเป็นผ้าขาวม้าจริงๆ ได้ ถ้าจะทำต้องใช้วิธี ‘เกาะล้วง’ ซึ่งหาช่างยากมาก และมีราคาที่แรงเกินไปสำหรับตัวผม”
ดั่งสัจธรรมของโลกทุนนิยม ป๊อบเชื่อว่าทุกคนต่างมีไอเดีย และบางไอเดียอาจถึงขั้นพลิกโลกได้เลย แต่สุดท้ายแล้ว งบประมาณก็เป็นสิ่งที่จะทำให้ของเหล่านี้เกิดขึ้นมาได้จริง ยิ่งแล้วใหญ่ เมื่อเขามีความคิดอยากจะให้ทุกคนสามารถหยิบจับผลงานเหล่านั้นเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้อย่างทั่วถึง ในราคาที่ไม่แรงจนเกินไป
แต่ก็นั่นแหละ จะคิดการใหญ่กระเป๋าตังค์ต้องนิ่ง ป๊อบได้รู้ว่าราคาผ้าขาวม้าของเขานั้นตกอยู่ที่ 12,000 บาทต่อผืน เรียกได้ว่าปาดเหงื่อถามตัวเองเลยว่า เราต้องขายกี่บาทกันนะถึงจะคืนทุน ป๊อบเลยหันหน้าไปพึ่งวิธี Silk Screen แทน ซึ่งก็ยังคงยากในการหาโรงงานรับทำ เนื่องจากขนาดของผืนที่ใหญ่กว่าปกติ ทำเอาเขาและเพื่อนที่ยินดีช่วยเหลือต้องลงไปลุยลงมือปาดผ้ากันเอง
“ใช้ความอุตสาหะเหมือนกันกว่าจะได้แต่ละผืนออกมา มันเหมือนเราค่อยๆ เข้มข้นและลงลึกเข้าไปในงานมากขึ้นเรื่อยๆ จากตอนแรกที่เรายังไม่รู้อะไรเลยด้วยซ้ำว่าแบรนด์นี้จะออกมาหน้าตาเป็นยังไง”
ป๊อบเปรยๆ ให้เราได้หูผึ่งเล็กน้อยว่า เขาเตรียมงานของปีหน้าไว้เรียบร้อยแล้ว ถึงอย่างนั้นก็ขออุบไว้ก่อน ที่แน่ๆ รอบนี้เขาพร้อมแล้วกับการจัดแสดง Product ล้วนๆ เลย
ช่องว่าง
“ผมพยายามทำให้ตัวอักษรมีชีวิต หยิบจับมันได้ ใช้งานมันได้ ให้มันอยู่ในชีวิตประจำวันของเราได้ กลายเป็นสินค้าไลฟ์สไตล์ให้เราใช้งานมันได้ มากกว่าแค่การพูดออกไป” ป๊อบบอกถึงความฝันของเขาในฐานะเจ้าของแบรนด์และนักออกแบบคนหนึ่ง
ถึงแม้ว่าในตอนนี้เขาจะยังไม่ได้มองภาพอนาคตใหญ่โตอะไรนัก เขาขอแค่เพียงให้แบรนด์ Phayanchana ยังคงมีวันพรุ่งนี้ให้เดินหน้าต่อไปในระยะยาว โดยที่จะยังคอยหาความเป็นไปได้ในการออกแบบสิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ ไม่ตามกระแสจนเกินไป เพราะหากวันหนึ่งกระแสนั้นหมดลง งานของเขาก็คงหยุดชะงักอยู่แค่ชั่วเวลาตรงนั้น
“ผมอยากให้งานของผมมีอายุยืนมากกว่าแค่ช่วงเวลาหนึ่งครับ” ป๊อบย้ำกับเรา
ท้ายที่สุดนี้ ป๊อบมองว่าในฐานะคนสร้างสรรค์คนหนึ่ง เขามีหน้าที่แสดงให้ผู้คนเห็นว่า บางสิ่งบางอย่างสามารถเป็นได้มากกว่าแค่สินค้า 1 ชิ้น ทุกอย่างมีแนวทางใหม่อยู่เสมอ และเขาก็พร้อมที่จะถางเส้นทางใหม่ขึ้นมา เช่นเดียวกับที่เขาเคยพบเส้นทางเหล่านั้นจากแรงบันดาลใจที่สลักอยู่ในความทรงจำ
“สักวันอาจจะมีเด็กคนหนึ่งมาบอกผมว่า พี่ครับ ผมเห็นงานนี้ของพี่ แล้วผมเอาไปคิดต่อ จนผมสามารถสร้างแบรนด์หรืองานของตัวเองได้เลย ผมรู้สึกว่า มันเหมือนกับที่เราเคยรับรู้ เหมือนกับที่เราเคยเห็นช่องว่างตรงนั้น แล้วเราก็ทำให้คนอื่นเห็นช่องว่างตรงนั้นด้วยเหมือนกัน หรือถ้ามันไม่เกิดขึ้น อย่างน้อยผมก็ได้สร้างเส้นทางนี้เอาไว้แล้ว รอแค่มีคนมาค้นพบอย่างเดียว”
ติดตามแบรนด์ Phayanchana ได้ที่
Facebook: Phayanchana
Instagram: phayanchana.official