About
ART+CULTURE

Print Never Dies

การเติบโตจากสมัยนั้นสู่สมัยนี้ของ ‘พิแน’ นักเล่าเรื่องที่พูดไม่เก่งเท่าวาดและหลงรักสื่อสิ่งพิมพ์

Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • ‘พิแน’ หรือ ‘แพร-ณิชาพร จิรพงศานานุรักษ์’ ศิลปินนักเขียนและวาดภาพประกอบอิสระที่เป็นที่รู้จักกันในผลงาน Zine ‘สมัยนั้น สมัยนี้’ และล่าสุดนิทรรศการเดี่ยวแจ้งเกิด ‘Dear my old friends’ มาคุยกับเธอถึงการเติบโตในฐานะศิลปิน ความหลงใหลในหนังสือทำมือ และเรื่องที่อยากจะเล่า

พิแนปรากฏตัวพร้อมแฟ้มใหญ่ที่พกหนังสือทำมือตั้งแต่ปี 2019 ถึงปัจจุบัน มานับสิบเล่ม ตามบรีฟที่เราบอกว่า “มีอะไรอยากโชว์ ก็เอามาเลยนะ”

เรานัดเธอในช่วงบ่ายของวันพฤหัสที่ ‘Mana Craft’ คาเฟ่ไวบ์โฮมมี่ ที่จัดแสดงนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกของเธอ ‘Dear my old friends’ ที่เล่าเรื่องการเติบโตของตัวพิแนเองผ่านการบอกลาตุ๊กตาในวัยเด็กที่กำลังจะต้องบริจาคไปเพราะเคลียร์พื้นที่ในบ้านรับปีใหม่ ในงานประกอบไปด้วย งานเขียน งานเซรามิก งานไม้ งานผ้า และที่สำคัญที่สุด…หนังสือนิทาน 9 บทที่แพรเขียนเอง และวาดภาพประกอบเอง ‘Dear my old friend, บันทึกก่อนจากลา แด่เพื่อนเก่าของฉัน ’ ซึ่งเป็นตัวจุดประกายให้เกิดนิทรรศการนี้

แม้วาดได้ เขียนได้ เล่าเรื่องเป็น รูปแบบการสื่อสารที่พิแนชอบมากที่สุดคือ ‘Zine’ หรือ หนังสือทำเอง เพราะมันจะเป็นอะไรก็ได้ อยากให้หน้านึงใหญ่ หน้านึงเล็ก หรือใช้กระดาษไม่เหมือนกันเลยสักหน้าก็ทำได้ แถมยังรวบรวมข้อมูลได้เยอะๆ อีก เหมาะกับคนช่างสังเกตที่มีเรื่องอยากจะเล่าแบบเธอ

พิแนเชื่อว่าสิ่งพิมพ์จะไม่ตาย

เชื่อว่ายังไงคนเราก็ยังต้องการเสพศิลปะในรูปแบบที่จับต้องได้อยู่

มารู้จักพิแนให้มากขึ้นผ่านผลงานของเธอ และพลิกหน้า Zine ที่เธอภูมิใจนำเสนอสุดๆ ไปพร้อมๆ กันเลย

พิแน

Slice of Life

คนที่พูดน้อยใช่ว่าจะไ่ม่มีเรื่องเล่า บางทีเขาแค่อาจจะแค่ไม่อยากเล่าผ่านการพูดต่างหาก พิแน หรือ ‘แพร’ เป็นหนึ่งตัวอย่างที่ดีของคนเหล่านั้น เพราะถึงแม้แพรจะเคลมว่าไม่เก่งเรื่องการเอกซ์เพรสตัวเองเอาซะเลย แต่งานของเธอกลับเล่าเรื่องได้ด้วยน้ำเสียงที่จริงใจ แบบที่ฟังแป๊บเดียวก็รู้แล้วว่าการเล่าแบบนี้ผ่านการฝึกซ้อมและเตรียมตัวมาเยอะแน่นอน

“การสังเกต เก็บความรู้สึก แล้วถ่ายทอดออกมาผ่านงาน” เป็นนิสัยที่ติดตัวแพรมาตั้งแต่เด็ก กิจกรรมยามว่างในวัยเด็กของเธอคือนั่งดูปลาคาร์ปสีส้มที่พ่อเลี้ยงไว้ว่ายวนไปมาอยู่ริมบ่อน้ำ โตขึ้นมาหน่อยก็ชอบเดิน เดินไปไหนก็ได้ในกรุงเทพฯ แล้วก็สังเกตสิ่งรอบๆ ตัว แถมยังพกสมุดติดตัวไว้ตลอดเวลาเพื่อสเก็ตช์นู่นวาดนี่ แพรเล่าย้อนไปตอนสมัยมัธยมว่า แม้กระทั่งในวงเมาท์ที่ทุกคนมีเรื่องมาคุยกันไม่หยุด เธอก็เลือกที่จะนั่งฟังเงียบๆ มากกว่า แล้วหยิบดินสอปากกามาสเก็ตช์หน้าเพื่อนๆ เพื่อเก็บโมเมนต์

พิแน

พอเข้ามหาวิทยาลัย ความอยากที่จะเล่าเรื่องก็ทำให้แพรเลือกเรียน Communication Design งานศิลปะของเธอเลยไม่ได้ออกมาในรูปแบบ Fine art จ๋าๆ แบบที่ดูเข้าถึงยาก จับต้องไม่ได้ ถึงจะมีงานภาพวาดที่เน้นลายเส้นบ้าง สุดท้ายแล้วแพรก็เอามารวบรวมและเรียบเรียงจนมันสามารถเล่าเรื่องได้อยู่ดี และมักจะเอางานมารวบรวมในรูปแบบหนังสือ ที่เธอหลงใหลมาโดยตลอด

“เราชอบหนังสือหรือ zine มาก เพราะว่าเหมือนได้อยู่กับงานศิลปะแบบจับต้องได้ มันเป็นเศษกระดาษที่มารวมกันแล้วกลายเป็น ‘Something Very Precious’ มันอยู่กับเราตรงนี้ ไม่ใช่งานศิลปะชิ้นใหญ่ที่เราได้แค่มอง”

พิแน

เรื่องราวที่แสนจะธรรมดาที่เธอจับสังเกตมา ถูกเอามาเล่าให้มีมิติที่กว้างและลึกขึ้น เรียกว่า ‘Slice of Life’ หรือแปลตรงๆ ว่าเศษเสี้ยวนึงของชีวิต “เหมือนเป็นความธรรมดาของชีวิตบางอย่าง ที่มันไม่ต้องแฟนตาซี ไม่ต้องแต่งขึ้นมาใหม่ เราชอบอะไรที่เป็นเรื่องคนๆ หรือ Non Fiction มากๆ อย่างหนังที่เอามาทำเล่ม ‘Little Edie Diary’ ก็เป็นหนังสารคดี” แพรอธิบาย พร้อมเปิดหนังสือทำมือที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากภาพยนตร์เรื่อง Grey Gardens ให้เราดู ซึ่งในเล่มนี้แพรหยิบตัวละคร Little Edie มาเล่าในรูปแบบไดอารีที่ตัวละครจดบันทึกเอง

พิแน

Visual Diary

“ทำไมถึงตั้งชื่อในวงการของตัวเองว่า ‘พิแน’ ?” เราถามแพรด้วยความสงสัย โอเคแหละพอจะนึกออก ก็ผวนมาจากชื่อ ‘แพร-นิ’ ไง แต่อะไรคือความพิเศษของมันล่ะ แพรขำก่อนจะเล่าว่า

“โห…บางคน question มากเลยนะกับ ‘พิแน’ เราใช้ครั้งแรกตอนไป Illustration Fair เมื่อปีที่แล้ว คนเดินมาแล้วก็ดูงงๆ ว่า เอ๊ะ อันนี้คือภาษาไทยรึเปล่า? เราว่าอาจจะเป็นความสงสัยนี้ก็ได้นะ ที่ทำให้คนมาเจองานเรา (หัวเราะ)

ส่วนที่มา เราใช้ชื่อนี้มา 3-4 ปีแล้ว ตอนนั้นแค่เปิดแอคเคาท์ไว้ลงสเก็ตช์เล่นๆ อยากลงงานตัวเอง ตอนนี้กลับมารีเฟล็กซ์แล้วรู้สึกว่ามันก็เป็นเราตรงที่ มันก็เหมือนกับงานของเราที่บางทีมันก็แค่ตรงๆ เป็นการเล่าเรื่องดิบๆ อย่างชื่อเรายังตั้งดิบๆ เลย แล้วมันก็คือชื่อเรา แค่นั้นเลย”

พิแน

พูดถึงความ “ดิบ” แพรยื่น ‘Visual Diary’ เล่มที่คิดว่าน่าจะอธิบายความดิบในลายเส้นของเธอได้ดีที่สุดให้เราดู “เล่มนี้เกิดจากตอนที่เราไปแลกเปลี่ยนที่เบลเยียม เราเจออะไรเราก็วาดตอนนั้นเลย มันจะมีความเป็นสเก็ตช์ดิบๆ หน่อย ซึ่งงานนี้มันมาจากภาพจริง แต่ว่าเราเอามาสแกนแล้วเก็บเป็นเล่ม เป็น  Zine” เป็นอย่างที่แพรบอก เราเปิดดูและพบกับภาพสเก็ตช์ที่ไม่เนี้ยบมากแต่ก็ไม่ถึงกับยุ่งเหยิงของเบลเยียมและผู้คน ไม่ว่าจะในคาเฟ่ สวนสนุก หรือพาเหรดกลางถนน ดูแล้วแพรไม่ได้สนใจว่าภาพนี้จะต้อง ‘เหมือน’ หรือ ‘สวย’ แต่เน้นเก็บช่วงเวลา ณ ตอนนั้นให้จริงที่สุดมากกว่า

พิแน

พิแน

“ผลลัพธ์ไม่สำคัญสำหรับเราเลย แต่โปรเซสสำคัญมาก เวลาวาดบางรูปก็จะอยู่กับมันนาน แค่ภาพนึงก็อาจจะฝนอยู่ประมาณนึง ให้ดีเทลกับสโตรคของลายเส้น เราว่ามันเป็นการ meditate ไปในตัว ใช้เวลาอยู่กับมันจนถึงจุดที่รู้สึกว่า โอเคพอละ เเล้วก็ออกมา”

พิแน

พิแน

นอกจากนี้แพรยังแอบแง้มให้ฟังว่าตอนไปอยู่เบลเยียม เธอมีโอกาสได้ไปฝึกงานเป็นนักวาดภาพประกอบในร้านหนังสืออิสระที่นั่นด้วย ทำให้ความสัมพันธ์ของเธอกับสิ่งพิมพ์ยิ่งเเน่นแฟ้นขึ้นไปอีก “ในร้านมันจะมีเครื่อง risograph (เครื่องพิมพ์สัญชาติญี่ปุ่นจากยุค 80)…น่าจะรู้จักเนาะ เราก็พิมพ์งานตัวเองเล่น ไม่ได้ค่าตอบแทนแต่ได้พิมพ์งานตัวเองเล่น แล้วก็เอางานตัวเองมาขายในร้านเขาอีกที (หัวเราะ) แล้วทุกๆ เสาร์อาทิตย์ที่ร้านจะจัดกิจกรรม drink & draw ทุกคนก็จะมากินเบียร์ วาดรูป แล้วก็มีศิลปินหนึ่งคนเป็นโมเดอเรเตอร์ เราอยู่กับสิ่งนี้แทบทุกอาทิตย์ ตลอด 6 เดือน จนแอบมีความคิดหนึ่งว่าถ้ากลับมาไทยแล้วอยากเปิดร้านหนังสือ แบบทำ art zine อะไรบางอย่าง ถ้ามีทุน…อาจจะอีกซักสิบปีอะไรงี้”

พิแน

Print is Dead?

พูดถึงสิ่งพิมพ์ เราถือโอกาสถามแพรว่า “คิดยังไงกับวลีที่ว่า สิ่งพิมพ์กำลังจะตายแล้ว?” เพราะตอนนี้เทรนด์ของดิจิทัล e-book หรือสื่อในรูปแบบออนไลน์ก็เริ่มเข้ามาแทนที่เรื่อยๆ แพรสวนตอบโดยไม่ต้องคิดนานว่า มันก็มีส่วนจริง แต่สิ่งพิมพ์คงยังไม่ถึงขั้นตายหายไป เพราะกลุ่มคนที่ยังคงรักและเชื่อในสิ่งนี้เช่นเธอ ก็ยังคงผลิตและสร้างความเคลื่อนไหวในวงการนี้อยู่เรื่อยๆ แพรเชื่อว่าเทรนด์ของสิ่งพิมพ์จะกลับมา แค่ตอนนี้ก็เริ่มเห็นได้บ้างแล้ว “ทุกอย่างมันเป็น cycle เพลงที่ฟังก็เหมือนกัน มีช่วงนึงทุกคนอินกับเพลง 70s จังหวะช้าๆ เครื่องดนตรีเยอะๆ เดี๋ยวเขาก็จะวนกลับมา อย่างแฟชั่นก็ด้วย สิ่งพิมพ์ก็เป็นสื่อนึงเหมือนกัน”

พิแน

Zine เล่มที่ 3 ถูกหยิบออกมาจากกระเป๋า ‘สมัยนั้น-สมัยนี้’ คือเล่มที่เธอภูมิใจนำเสนอสุดๆ เพราะเป็นเล่มธีสิสที่ใช้เวลาทำถึง 1 ปีเต็ม และเก็บเกี่ยวข้อมูลโดยการสัมภาษณ์คนถึง 50 คน ! ถ้าจะให้พูดถึงเสน่ห์ของสิ่งพิมพ์ก็คงต้องเป็นเล่มนี้แหละ ที่จะเล่าได้ดีที่สุด เพราะในทุกๆ ดีเทล ตั้งแต่ฟอนต์ เนื้อหา ไปจนถึงเนื้อกระดาษ แพรเลือกมาอย่างดีด้วยความใส่ใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่สื่อแบบออนไลน์คงไม่สามารถให้ได้

โดยหนังสือเซ็ตนี้จะเเบ่งเป็น 2 เล่ม ‘สมัยนั้น’ บอกเล่าเรื่องราวของวัยรุ่นยุคก่อน และ ‘สมัยนี้’ บอกเล่าเรื่องราวของวัยรุ่นในยุคปัจจุบัน ด้านหลังของทั้ง 2 เล่มจะติดกัน เมื่ออ่านไปเรื่อยๆ ทั้งสองยุคสมัยจะมาเจอกันตรงกลาง แพรเล่าว่าเหมือนเป็นการ “เชื่อมสะพาน” ของคนทั้งสองยุคให้เข้าใจกันมากขึ้น

พิแน

ส่วนรูปเล่ม ในขณะที่ ‘สมัยนี้’ ทำจากกระดาษมันๆ แบบแมกกาซีนที่เราหยิบจับกันทั่วไปทุกวันนี้ ‘สมัยนั้น’ กลับพิมพ์ด้วยกระดาษเนื้อด้านๆ แบบสมัยก่อน รวมไปถึงภาพวาดและฟอนต์ที่แพรไปค้นคว้าจากหอสมุดแห่งชาติด้วยตัวเอง เอเลเมนต์อย่าง ‘มานะ มานี’ แบบเรียนสมัยก่อน นิตยสารคู่สร้างคู่สม และฟอนต์หนาๆ ของหนังสือพิมพ์ที่อ่านแล้วรู้สึกว่าเป็นเสียงที่มีอำนาจ เลยถูกใส่ลงไปเพื่อให้กลิ่นอายของยุคก่อนเด่นชัดมากที่สุด

เธอแอบกระซิบว่าเมื่อก่อนนี้ขายแพงมาก เพราะผลิตเองด้วยต้นทุนที่สูง แต่หลังจากมี Spacebar Zine มาช่วยดูแลเรื่องการผลิต ก็ทำออกมาได้ทีละเยอะขึ้นในราคาที่ถูกลง ซึ่งถ้าใครสนใจจะสัมผัสความดีเทลของพิแนด้วยตัวเอง ตอนนี้ก็ยังมีให้จับจองกันอยู่เรื่อยๆ ที่ร้าน

พิแน

พิแน

พิแน

พิแน

Dear my old friends

คือนิทรรศการที่เกิดจากการหลอมรวมความเป็นพิแนเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการเล่าเรื่องที่มาจากเศษเสี้ยวชีวิตของเธอจริงๆ การไม่ยึดติดกับผลลัพธ์ การทดลองกับเทคนิคทางศิลปะและร่วมมือกับผู้คนที่หลากหลาย เพื่อสื่อสารออกมาให้ได้อารมณ์ที่สุด และที่ขาดไม่ได้คือการนำสิ่งพิมพ์มาเป็นตัวหลักของการแสดงงาน

พิแน

พิแน

พิแน

พิแน

พิแน

ผลตอบรับที่ดีเกินคาดคือรางวัลของความใส่ใจในรายละเอียด คนมางานเปิดนิทรรศการ ‘Dear my old friends’ กันแบบเเน่นสเปซ จนแทบไม่มีที่ยืน เราที่อยู่ตรงนั้นด้วยขอยืนยันอีกเสียง แพรเล่าด้วยรอยยิ้มว่า แค่มีคนเดินเข้ามาบอกว่าการมาดูตุ๊กตาเก่าๆ พวกนี้ ทำให้พวกเขาหวนนึกถึงคนเก่าๆ ในชีวิต เธอก็รู้สึกคอมพลีทมากๆ แล้ว การได้เห็นผลงานของเธอสื่อสารกับคน คือสิ่งที่ทำให้แพรอยากเป็นศิลปินต่อไป “เคยมีเหตุการณ์ที่มีคนเดินมาบอกว่างานเราช่วยชีวิตเขามากเลย ทำให้รู้สึกว่าเราได้คุยกับคนไปด้วย…ทำให้เรามีแรงอยากที่จะทำต่อไป”

พิแน

พิแน

พิแน

แต่อย่างที่ทราบกันดี การจะเป็นศิลปินไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งในโลกทุนนิยมแบบนี้ มองไปทางไหนก็เจอแต่ข้อจำกัด ไม่ว่าจะทางความรู้ การเงิน หรือความสามารถ แรงขับเคลื่อนในการทำนิทรรศการครั้งแรกของแพรส่วนหนึ่งเกิดจากการอยากยืนยันกับตัวเองว่าอยากอยู่ในสายงานนี้จริงๆ เธอเชื่อว่าถ้าเธอจริงใจกับสิ่งที่ทำ ยังไงจะต้องมีคนเห็น

พิแน

ในฐานะที่รุ่นราวคราวเดียวกัน และกำลังอยู่ในช่วงวัยที่ค้นหาตัวเอง เราถามแพรด้วยความอยากรู้จากใจจริงว่า “มองอนาคตตัวเองไว้ยังไง” คำตอบที่ได้เรียบง่าย แพรยังคงอยากให้งานและตัวตนของเธอเติบโตพร้อมกันไปเรื่อยๆ เธอเชื่อว่าศิลปินไม่จำเป็นที่จะต้องยึดอยู่กับลายเส้นเดียว หรือใช้เพียงแค่มีเดียมเดียว ยกตัวอย่างง่ายๆ แบบ David Hockney ที่ลายเส้นเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามช่วงวัย แถมยังเล่าเรื่องแบบ Slice of Life เหมือนแพรอีก!

พิแน

งานสิ่งพิมพ์ก็เป็นอีกอย่างนึงที่เธอจะไม่ทิ้ง “อยากทำงานสิ่งพิมพ์ ไม่รู้ว่าในอนาคตมันจะเป็นยังไง แต่เรารู้สึกว่ามันมีเสน่ห์จริงๆ และมันทำอะไรได้มากกว่านี้มาก ถ้าเรามีทุนเราคงทำอะไรกับมันได้มากขึ้น”

ชมนิทรรศการ ‘Dear My Old Friends’ ได้ตั้งแต่วันนี้ – 28 กรกฎาคม 2567 ที่ Mana Art Gallery เวลา 8:00 น. – 18:00 น. (ปิดทุกวันจันทร์)

ติดตามผลงานและเรื่องเล่าของ พิแน / Pi-near ได้ที่
Website: https://pear-ni.com/
Instagram: pi_near
Facebook: พิแน

Tags: