- ชวนคุยกับผู้หญิงธรรมดาที่พกพาดีกรีศิลปินไปสร้างชื่อเสียงให้ไทยไกลถึงเมืองนอกเมืองนามาแล้ว ผ่านงานศิลปะจากขยะซึ่งตอนนี้คือปณิธานชีวิตที่ถูกปักไว้ในใจของเธอแล้ว
- คนภูเก็ตและทุกคนที่รู้จักดีจะเรียกเธอคนนี้ว่า “ครูป้อม” ซึ่งความท้าทายในการสร้างงานศิลป์จากขยะในทะเลนั้น เธอบอกว่าทำอย่างไรให้มันออกมาไม่เป็นขยะ แต่กลับมาเป็นสิ่งของดีไซน์ใหม่และใช้งานจนกว่าจะหมดสภาพไม่ไหวแล้วจริงๆ และนี่คือเรื่องเล่าจากผู้หญิงตัวเล็กๆ ที่หวังจะเป็นอีกหนึ่งแรงช่วยเยียวยาโลก
เมื่อต้องไปอยู่ต่างประเทศคุณจะพกอะไรติดตัวไป?....พาสปอร์ต สมาร์ตโฟน เสื้อผ้าหรือบัตรเครดิต อาจเป็นสิ่งที่ใครต่อใครนึกถึง แต่สำหรับครูป้อม-ประสพสุข เลิศวิริยะปิติ Eco-Artist จากภูเก็ตกลับหอบหิ้วสิ่งไร้ค่าในสายตาทุกคนใส่กล่องใบโตเดินทางไปไกลถึงบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนาเพื่อนำไปต่อยอดงานศิลปะในต่างแดน
‘ขยะทะเล’ จากน้ำมือมนุษย์ที่ไทยมีชื่อติดอันดับ 7 ของโลกในฐานะประเทศทิ้งขยะพลาสติกลงทะเลมากที่สุดคือสิ่งๆ นั้น
ไม่เฉพาะไปต่างประเทศ แต่ทุกครั้งที่มีโอกาสเดินทางไปทำงานต่างจังหวัด เธอก็มักจะขนเศษไม้ อวน เชือก ขวดพลาสติกและขยะอื่นๆ อีกมากมายจากริมหาดไปรังสรรค์เป็นชิ้นงานที่มีคุณค่าเสมอ ด้วยความตั้งใจอยากใช้ศิลปะสร้างความตระหนักถึงผลกระทบต่อธรรมชาติและกระตุ้นจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อมพร้อมกับประกาศให้โลกรู้ว่า ‘คนไทยก็มีหัวใจสีเขียว’
เริ่มต้นจากศิลปิน Pure Art
ก่อนหักเหชีวิตมาเป็นศิลปินภูเก็ต ครูป้อมเคยเป็นมนุษย์เงินเดือนอยู่กรุงเทพมีประสบการณ์หลากหลายทั้งฝ่ายศิลป์ ดีไซเนอร์ ช่างภาพนิตยสาร ผู้จัดการไปจนถึง Make-up Artist กระทั่งมีงานสารคดีให้ลงใต้มาเยือนทะเลอันดามันครั้งแรกเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้วและกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ทิ้งความวุ่นวายในเมืองหลวงมาใช้ชีวิตตามฝันที่เมืองท่องเที่ยว
“ตอนนั้นมาเที่ยวทะเลอันดามันครั้งที่เกาะราชา เป็นความประทับใจที่ตราตรึงมาก ยามเช้าเมื่อขึ้นไปบนดาดฟ้าเรือเจอแสงแดดกระทบน้ำทะเลแยกเป็นเฉดสีเหมือนหลุดไปอยู่อีกโลกหนึ่ง จำได้ว่าวันกลับตอนก้าวขาขึ้นท่าเรืออ่าวฉลองบอกกับตัวเองเลยว่าสักวันจะมาใช้ชีวิตอยู่ที่ภูเก็ต” เธอเผยถึงแรงบันดาลใจด้วยใบหน้าที่บ่งบอกถึงการตัดสินใจถูกที่เลือกทางนี้
ถัดจากนั้น 2-3 ปีเกิดวิกฤตฟองสบู่แตก นิตยสารต้นสังกัดปิดตัวลงเป็นจังหวะดีสำหรับเดินตามความฝันจัดกระเป๋าย้ายมาอยู่ภูเก็ตแต่ก็ยังไปๆ มาๆ อยู่ประมาณ 3 ปีจนในที่สุดตัดสินใจย้ายถาวรพร้อมเปลี่ยนบทบาทมาเป็นไกด์และครูพิเศษสอนศิลปะให้กับโรงเรียนนานาชาติ
ระหว่างนั้นก็ทำงานด้านศิลปะที่ชอบควบคู่ไปด้วย เมื่อถึงหน้ามรสุมก็จะไปเก็บสะสมเศษไม้จากหาดต่างๆ มาสร้างงานประติมากรรมของตัวเอง จนกระทั่งได้เจอกับศิลปินชาวเยอรมันคนหนึ่งมาเห็นงานเชิงเทียนหัวอินเดียนแดงแล้วชอบผลงานและพยายามขอซื้อแต่ครูป้อมไม่ขาย เขาเลยชวนไปจัดนิทรรศการแสดงผลงานร่วมกันที่ The Loft Gallery เมื่อปี 1997
“นั่นคือครั้งแรกของการจัดแสดงงานและเป็นผู้หญิงไทยคนแรกที่ได้จัดแสดงงานที่นี่ ตอนนั้นโชว์ผลงานทั้งหมด 15 ชิ้นประสบความสำเร็จมากขายได้ชิ้นละเป็นหมื่น เพราะยุคนั้นยังไม่ค่อยมีใครทำงานไม้ส่วนใหญ่จะเป็นภาพวาด แต่ลูกค้าจะเป็นฝรั่งเสียส่วนใหญ่เพราะคนไทยมองว่างานไม้แบบนี้ใครก็ทำได้ไม่ลงทุน ต่างกับวิธีคิดของต่างชาติที่มองว่ามีความครีเอทและอเมซซิ่งมาก หลังจากนั้นก็ได้รับเชิญไปแสดงงานต่อเนื่องปีละครั้งจนเป็นที่รู้จักในกลุ่มศิลปินมากขึ้น”
สึนามิ…จุดเปลี่ยนสู่ Eco-Artist
“เราอยากเป็นสื่อกลางระหว่างทะเลกับมนุษย์ เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าพวกเราสร้างมลพิษและทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างไร โดยเอาศิลปะมารับใช้สังคม”
ความคิดนี้เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์สึนามิ ครั้งนั้นเธอรอดมาได้หวุดหวิดเพราะมีนัดส่งงานลูกค้าแทนการไปนั่งวาดรูปที่หาดในหานตามปกติ แต่ร่องรอยที่ถูกทิ้งไว้หลังคลื่นยักษ์สงบคือภาพความพังพินาศ ความสูญเสียและทะเลขยะ ในฐานะคนทำงานศิลปะจึงมีความคิดต้องทำอะไรสักอย่างและเป็นที่มาของการเริ่มเก็บวัสดุจากเหตุการณ์สึนามิมาสร้างงานทั้งหมด 25 ชิ้น นำมาจัดแสดงในชื่อ ‘The Remains of the Day’ ในปีถัดมาภายใต้คอนเซปต์ศิลปะจากขยะที่นำมาใช้ได้จริง
นับตั้งแต่นั้นมาการเก็บรวบรวมขยะจากทะเลมาจัดนิทรรศการเป็นงานศิลปะ สร้างแรงดึงดูดให้ผู้คนเข้ามาและเกิดการสื่อสารระหว่างกันว่าเกิดอะไรขึ้น ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ความรู้ ชี้ให้เห็นถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นทั้งในเรื่องสิ่งแวดล้อมและอันตรายต่อสัตว์ทะเล จนมีโอกาสได้ต่อยอดลงพื้นที่กับชุมชน ทำงานร่วมกับกรีนพีซ จัดค่ายเยาวชน ทำเวิร์กช้อปกับองค์กรต่างๆ ตั้งแต่ความตื่นตัวทางด้านนี้ในสังคมยังไม่เป็นกระแสมากนัก
“ทำงานด้านนี้ลืมเรื่องเงินไปได้เลย เราทำเพราะอยากทำและสนใจเรื่องการศึกษา ต้องการเผยแพร่ความรู้และประสบการณ์เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากกว่า”
ชิ้นงานจากขยะแต่ไม่ใช่ขยะ
Eco-Art ในที่นี้คือศิลปะที่มาจากขยะจริงๆ ไม่ใช่วัสดุเหลือใช้หรือข้าวของเครื่องใช้ที่ไม่ใช้แล้ว ซึ่งเธอบอกว่า “อย่าถามว่ามีอะไรบ้าง ถามว่าไม่มีอะไรดีกว่า เพราะมันเยอะมากตั้งแต่ถุงขนม รองเท้าแตะ ไปจนถึงของเล่นและอุปกรณ์ประมง” ซึ่งแต่ละอย่างจะถูกนำมาแยกประเภทเก็บไว้อย่างเป็นระเบียบเพื่อการหยิบจับนำมาใช้ได้อย่างสะดวกภายใต้แนวคิดใช้งานได้จริงและนานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
“ความยากอยู่ที่วัสดุราคาถูกที่เป็นขยะ เช่น ขวด ถุงพลาสติก รองเท้าแตะ ไม่ใช่เศษไม้ที่มีความสวยในตัวอยู่แล้วเหมือนตอนทำ Pure Art ทำอย่างไรให้มันออกมาไม่เป็นขยะแต่กลับมาเป็นสิ่งของดีไซน์ใหม่และใช้งานจนกว่าจะหมดสภาพไม่ไหวแล้วจริงๆ เพื่อลดขยะให้มากที่สุด นี่คือความท้าทายอย่างหนึ่งของการทำงานขยะทะเล”
งานแต่ละชิ้นจึงไม่ใช่แค่การเอาวัสดุมารีไซเคิลแต่ยังเพิ่มคุณค่าด้วยการใส่ดีไซน์เข้าไปด้วยทำให้กลายเป็นงานเอกลักษณ์ที่สร้างมูลค่าได้ในเวลาเดียวกัน อย่างเช่นโคมไฟชิ้นหนึ่งที่ทำจากขวดแก้วเก่าๆ ขายได้สูงถึง 4 หมื่นบาท รวมทั้งผลงานกระเป๋าถือแฟชั่นจากพลาสติกที่ทำให้เธอเป็นศิลปินหญิงไทยคนเดียวที่เป็นที่รู้จักในบอสเนียฯ ระหว่างไปใช้ชีวิตอยู่ที่นั่น 3 ปี (2009-2011) หลังงานนิทรรศการได้รับความสนใจจากสื่อท้องถิ่นอย่างมากจนมีการนำเสนอเรื่องราวทั้งในหนังสือพิมพ์และทางทีวี
การไปครั้งนั้นเธอยังหอบผลงานของเด็กๆ จากการจัดค่ายเยาวชนไปด้วยกว่า 300 ชิ้นเพื่อนำไปต่อยอดในการจัดนิทรรศการและเวิร์กช็อปให้กับเด็กในหมู่บ้านร่วมกับผลงานของตัวเองโดยเตรียมวัสดุอุปกรณ์ที่มีอยู่แล้วไปใช้ต่อให้เกิดประโยชน์แทนที่จะทิ้งไว้เฉยๆ นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมถึงต้องหอบหิ้วขยะทะเลเดินทางข้ามน้ำข้ามทวีปไปด้วย
“ขยะที่พี่เก็บมาต้องได้ใช้และจะไม่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง งานของพี่ต้องเอาไปต่อยอดได้ เช่น ถุงพลาสติกที่ทำเป็นปลาในงานกรีนพีซก็เอามาทำเป็นหุ่นเชิดในงานแสดงหุ่นโลกที่ภูเก็ต ขบวนปลาแมงกะพรุนในงานพาเหรดเกี่ยวกับขยะทะเลก็เอาไปทำเวิร์กช้อป เอาไปเป็นสื่อการสอนได้”
ชื่อของครูป้อมยังฟังดูไม่คุ้นหูสำหรับใครหลายคน แต่บางทีคุณอาจจะเคยได้ชมผลงานของเธอมาแล้วแบบไม่รู้ตัวมาแล้วในงานศิลปะจากขยะต่างๆ อาทิ นิทรรศการศิลปะจัดวาง Installation art ‘Blue Ocean สาส์นจากทะเล’ ในงาน HEART for the Ocean : บอกรักทะเล บอกเลิกพลาสติก ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร หรือ ‘S.O.S Message from the Sea’ ที่ศูนย์การค้าจังซีลอน ป่าตอง ภูเก็ต รวมทั้งหุ่นเงาปลาในการแสดงคอนเสิร์ตประกอบนิทานเรื่อง ‘สุดสาคร’ จากคณะหุ่นสายเสมาของมหาวิทยาลัยมหิดล ในวันเด็กปี 2563 และล่าสุดหากใครมีโอกาสไปเยือนหาดกะตะหลังเดือนมิ.ย.ปีที่แล้วคงได้เห็นเต่าทะเลยักษ์เด่นตระหง่านอยู่ริมหาด
ยุวจิตรกรไทย…ปลุกพลังคนรุ่นใหม่
เมื่อถามว่ามีงานชิ้นไหนที่ชอบมากที่สุด เธอบอกว่าชอบผลงานตัวเองทุกชิ้น เพราะแต่ละครั้งที่ทำล้วนมีโมเมนต์และเรื่องราวต่างกันไป แต่สิ่งที่ประทับใจคือการทำงานแต่ละครั้งไม่เคยรู้สึกโดดเดี่ยว ตรงกันข้ามกลับได้เจอคนที่สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมเหมือนกัน ได้แลกเปลี่ยนความคิดแบ่งปันเป้าหมายเพื่อนำไปต่อยอดต่อไป
เป็นที่มาของการเกิดโครงการ “ยุวจิตรกรอันดามัน” สอนเด็กๆ ทำกระดาษทำมือในโรงเรียนต่างๆ บนเกาะลันตา ภายใต้โจทย์ 5 หัวข้อเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้ผลงานของเด็กๆ มา 150 ชิ้นที่สะท้อนให้เห็นว่าเด็กไทยก็ใส่ใจสิ่งแวดล้อมเพียงแต่ไม่มีเวทีให้พวกเขาเหล่านั้นได้แสดงออก
“จากประสบการณ์มันบอกว่างานพวกนี้ (ศิลปะเพื่อสิ่งแวดล้อม) ถ้าไม่ทำต่อเนื่องก็ไม่มีประโยชน์ เหมือนการสร้างภาพ ไม่ได้เอาจริงเอาจัง และคิดว่าทรัพยากรบุคคลมีความสำคัญ ทำอย่างไรให้มันมีคุณค่า เป็นตัวขับเคลื่อนประเทศ รวมถึงโลกด้วย ประเทศที่ก้าวหน้าล้วนให้คุณค่าของคำว่าทรัพยากรบุคคลทั้งนั้น และเด็กก็คือหัวใจของการพัฒนา”
หลังจากนั้นโครงการยุวจิตรกรอันดามัน จึงถูกปรับหมุดหมายเป็นทั่วประเทศพร้อมเปลี่ยนชื่อเป็น “ยุวกรจิตรกรไทย” โดยยังคงคอนเซปต์เดิม คือ การใช้เวลาประมาณ 1 เดือนเดินสายสอนตามโรงเรียนในพื้นที่นั้นๆ อย่างทั่วถึง โดยจะจัดขึ้นปีละครั้ง ตอนนี้ผ่านมาแล้ว 4 ครั้งและทุกครั้งเธอจะหอบหิ้วขยะทะเลจากภูเก็ตและผลงานของเด็กๆ ชุดก่อนหน้านั้นไปจัดนิทรรศการแลกเปลี่ยนมุมมองกัน เช่น ภาคใต้ไปโชว์ภาคเหนือ ภาคเหนือมาโชว์ภาค หากไม่เจอโควิดเสียก่อนเป้าหมายต่อไปคือพะเยา
เธอบอกว่าจริงๆ ไม่อยากใช้คำว่าครู เพราะไม่ได้เป็นครูไปสอนแต่อยากไปจุดประกายมากกว่า เป็นการแลกเปลี่ยนความคิดกัน เพราะบางทีเราก็ไม่รู้ว่าในมุมของเด็กเขาคิดอะไรกัน และใช่ว่าผู้ใหญ่จะถูกเสมอไป มันเหมือนการบูรณาการ มีกระบวนการคิด เขียน จินตนาการ วาดรูปและสอนแนวทาง
ตามไปดูสเปซของศิลปะจากขยะ
เดิมทีผลงานของครูป้อมจะมีโชว์อยู่ที่สตูดิโอที่ Phuket Art Village ซอยไสยวน ราไวย์ ที่รวม 8 สตูดิโอ 8 ศิลปินต่างสไตล์อยู่รวมกัน แต่ล่าสุดงานชิ้นใหญ่ๆ จะถูกย้ายไปไว้ที่สตูดิโอใหม่ที่ Blue Tree Phuket ส่วนที่ราไวย์จะเหลือเพียงงานแฮนด์เมดเล็กๆ เท่านั้น
หลังไปจัดแสดงงานที่นั่น ทางเจ้าของบลูทรีเห็นแล้วแฮปปี้เลยกันห้องไว้ให้ใช้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ซึ่งตอนนี้ยังไม่ได้สรุปชัดเจนว่าจะนำไปต่อยอดอย่างไรบ้าง แต่มีไอเดียเยอะมาก เช่น อยากทำเป็นห้องนิทรรศการหมุนเวียน เนื่องจากที่นี่ยังไม่มีงานศิลปะด้านนี้เป็นเรื่องเป็นราวนัก ส่วนใหญ่จะเป็นภาพวาด อยากให้เป็นแหล่งพบปะของศิลปินด้วยกัน หากใครสนใจจะจัดนิทรรศการก็สามารถรวมกลุ่มมาแสดงได้ เดือนหนึ่งอาจจะมีศิลปินสัก 5 คน เหมือนเปิดเป็นสเปซของอีโค่อาร์ต หรือบางทีโรงเรียนสามารถมาทำกิจกรรมตรงนี้ได้ด้วย”
ศิลปะจากขยะไม่เพียงเปลี่ยนแนวทางในการทำงานเท่านั้นแต่ยังเปลี่ยนแปลงการใช้ชีวิตของเธอไปด้วย เมื่อทุกวันนี้เธอเลิกซื้อของที่ไม่จำเป็น ใช้ของที่มีอยู่ให้นานที่สุด ซ่อมได้ก็ซ่อม อย่างการรีโนเวทสตูดิโอใหม่ที่ Phuket Art Village ปลายปีที่แล้วนอกจากโครงสร้างหลักแทบทุกอย่างก็พยายามเอาของเก่ามารีไซเคิลแทบทั้งหมด ไม่ว่าจะประตู หน้าต่าง โต๊ะ เป็นต้น ที่สำคัญไม่ทิ้งและเก็บเมื่อเจอ
เธอเชื่อว่าการรณรงค์เรื่องขยะเป็นกระแสอยู่แล้ว ทุกคนรู้ดีว่าควรทำอย่างไร ขึ้นอยู่กับจะทำหรือไม่ มีความจริงใจจะแก้ปัญหาหรือเปล่า มันเริ่มได้ตั้งแต่ตอนนี้ไม่ต้องรอ อยากเห็นประเทศไทยขับเคลื่อนไปพร้อมกันทุกภาคส่วน เกิดเป็นแรงกระเพื่อมที่เชื่อมถึงกัน ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย
“แต่พี่เชื่อว่าศิลปะทำได้ พลังมนุษย์สามารถเปลี่ยนโลกได้ในวันเดียว ถ้าทุกคนร่วมมือกัน”
ขอบคุณภาพชิ้นงานศิลปะ : ประสพสุข เลิศวิริยะปิติ
Eco Art Studio
ที่ตั้ง : Phuket Art Village ซอยไสยวน ราไวย์ จ.ภูเก็ต
FB : Eco Artist Pom