About
CRAFTYARD

ปั้นซะป๊ะ

‘ปั้นซะป๊ะ’ งานปั้นจากลำพูนที่เคลือบตามสูตรโบราณถ่ายทอดมุมน่ารักแม่หญิงชาวเหนือ

เรื่อง วีณา บารมี ภาพ พริบตา Date 23-10-2022 | View 2813
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • ลำพูน… เมืองเล็กๆ ที่ซ่อนปรมาจารย์ด้านงานคราฟต์ไว้มากมาย หนึ่งในนั้นคือ อดุลย์ เชื้อจิต ครูช่างนักปั้นดิน ผู้ถ่ายทอดวิถีชีวิตของชาวล้านนาผ่านงานปั้นตุ๊กตาดินเผาที่ไม่เหมือนใคร
  • ตุ๊กตาดินเผาของบ้านดงหลวง ใช้ดินพื้นถิ่น และกรรมวิธีการทำแบบโบราณ เช่น ทาเคลือบผิวดินด้วยน้ำเคลือบสูตรโบราณ และเผาดินด้วยความร้อนสูง 1,250 องศา
  • เอกลักษณ์เฉพาะของตุ๊กตาดินเผา ‘ปั้นซะป๊ะ’ ทุกตัว จะยืนเอียงคอ และหลับตายิ้มละไม ถ่ายทอดถึงบุคลิกชาวล้านนาที่มีความสุภาพนอบน้อม และสงบเสงี่ยม

‘ปั้นซะป๊ะ’ เป็นภาษาเหนือแปลว่า ‘ปั้นได้ทุกสรรพสิ่ง’

และหนึ่งในงานปั้นที่เป็นลายเซ็นของ อดุลย์ เชื้อจิต ครูช่างปั้นดิน ผู้ก่อตั้งกลุ่ม ‘ปั้นซะป๊ะ’ แห่งบ้านดงหลวง จ.ลำพูน นั่นก็คือ ‘’ตุ๊กตาดินเผา’ ที่ถ่ายทอดวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวล้านนา ใบหน้าของตุ๊กตาทุกตัวจะยืนเอียงคอ และหลับตาพริ้ม ด้วยท่าทีนอบน้อมถ่อมตน ซึ่งถอดแบบมาจากบุคลิกของแม่หญิงล้านนาโดยเฉพาะ

เริ่มจากดิน

ก่อนจะมาเป็นช่างปั้นอาชีพ อดุลย์ เคยเปิดโรงงานทำอิฐที่ใช้ในเชิงอุตสาหกรรมมาก่อน แต่ด้วยความชอบปั้นดินมาตั้งแต่เด็ก เขาจึงนำเอาเศษดินที่เหลือใช้ในโรงงานมาปั้นเป็นตุ๊กตาตกแต่งสวน โดยใช้ดินพื้นบ้านของลำพูน จนเมื่อดินในท้องถิ่นลดน้อยลง จึงเอาดินจากถิ่นอื่นมาผสม ทำให้เพิ่มสีสันของงานปั้นดินมากขึ้นกว่าเดิม

“ดินแต่ละที่ให้สีแตกต่างกัน อย่างดินแม่ริมด้านบนจะเหมือนกับดินลำพูน แต่ถ้าขุดลึกลงไปอีก 2 -3 เมตร จะได้ดินสีเทา ถ้าขุดลึกลงไปอีก จะได้ดินดำ คุณสมบัติของดินดำคือเหนียว ขึ้นรูปง่าย และทนความร้อนได้มากกว่า 1250 องศา แต่ถ้าเป็นดินจากลำปาง คือดินขาวกับดินแจ้ห่ม และดินจากพะเยา จะเคลือบออกมาสวย แต่ขึ้นรูปยาก เพราะไม่ค่อยเหนียว” อดุลย์ยกตัวอย่าง

ลำพูนเป็นจังหวัดที่มีชื่อเสียงในด้านเครื่องปั้นดินเผามายาวนาน และงานปั้นของอดุลย์ก็มีวิวัฒนาการมาจากการปั้นหม้อ หรือการปั้นดินให้เป็นเส้นยาวๆ ขนาดไม่หนามาก และนำมาขึ้นรูปทรง โดยให้ด้านในกลวง เพื่อประหยัดเวลาในการเผา

‘ปั้นซะป๊ะ’ ‘งานปั้นดินจากลำพูนที่ถ่ายทอด บุคลิกชาวล้านนาด้วยรอยยิ้มและกริยาน่ารัก

อดุลย์ เชื้อจิต

‘ปั้นซะป๊ะ’ ‘งานปั้นดินจากลำพูนที่ถ่ายทอด บุคลิกชาวล้านนาด้วยรอยยิ้มและกริยาน่ารัก

“เราเริ่มจากการปั้นพระพุทธรูป มีทั้งปางยืน ปางลีลา ปางประทานพร แล้วจึงปั้นเป็นรูปสัตว์ คน ตุ๊กตาเด็กยิ้ม ลิงยิ้ม ตอนนั้นขายดีมาก แต่ไม่ทนทานในการขนส่งเพราะเผาที่อุณหภูมิ 900 องศาฯ ตอนหลังเลยทำเตาเผาเอง และทาเคลือบ ‘น้ำก๊าบ’ ซึ่งเป็นพื้นฐานงานเคลือบแบบพื้นบ้าน”

‘ปั้นซะป๊ะ’ ‘งานปั้นดินจากลำพูนที่ถ่ายทอด บุคลิกชาวล้านนาด้วยรอยยิ้มและกริยาน่ารัก

น้ำก๊าบที่เขาพูดถึง คือน้ำเคลือบแบบภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สืบทอดกันมา 300-400 ปี ประกอบด้วยดินหินขี้เถ้าผสมกัน อัตราส่วนการผสมหากปริมาณหินเยอะ สีของดินจะออกขาว หากดินเยอะจะออกน้ำตาล และถ้าใช้ขี้เถ้าเยอะจะออกสีเขียว (หรือที่เรียกว่าศิลาดล)

‘ปั้นซะป๊ะ’ ‘งานปั้นดินจากลำพูนที่ถ่ายทอด บุคลิกชาวล้านนาด้วยรอยยิ้มและกริยาน่ารัก

ตุ๊กตาดินเผาของ ‘ปั้นซะป๊ะ’ ยังคงกรรมวิธีโบราณ โดยหลังปั้นดินเสร็จ จะนำไปตากให้แห้งดี ในที่ร่มใช้เวลาประมาณ 3 วัน หากอากาศชื้นหรือช่วงฤดูฝนจะใช้เวลาราว 5 วัน จากนั้นจะนำไปเผาที่อุณหภูมิ 800 องศาฯ นาน 5-6 ชั่วโมง เมื่อเผาเสร็จ จึงนำมาทาเคลือบด้วยน้ำก๊าบ แล้วจึงเผาอีกครั้งที่อุณหภูมิ 1,250 องศาฯ ต่อเนื่องอย่างน้อย 8 ชั่วโมง

‘ปั้นซะป๊ะ’ ‘งานปั้นดินจากลำพูนที่ถ่ายทอด บุคลิกชาวล้านนาด้วยรอยยิ้มและกริยาน่ารัก

สีสันโฟล์คอาร์ต

งานปั้นตุ๊กตาดินเผาของอดุลย์เป็นแนว Folk Art ที่ไม่ได้จำกัดสัดส่วนของรูปร่าง ทำให้ตุ๊กตาแต่ละตัวมีรูปทรงอ้วนกลมบ้าง ผอมเพรียวบ้าง โดยช่วงแรก ครูช่างปั้นเป็นตุ๊กตาตัวเล็กๆ ต่อมาจึงปั้นเป็นตุ๊กตารูปร่างสูงเพรียว ที่มีใบหน้ายิ้มแย้ม หลับตาเอียงคอ ซึ่งเป็นลายเซ็นในงานปั้นของอดุลย์

‘ปั้นซะป๊ะ’ ‘งานปั้นดินจากลำพูนที่ถ่ายทอด บุคลิกชาวล้านนาด้วยรอยยิ้มและกริยาน่ารัก

“อยากสื่อถึงความรู้สึกของคนล้านนาที่เป็นคนมีความสุข มีความอ่อนน้อมถ่อมตน รวมไปถึงการถ่ายทอดความงาม ความเรียบร้อยของผู้หญิงล้านนาเวลาไปวัดตอนเช้าๆ หรือวันเพ็ญที่คนนิยมไปวัดกัน ถึงแม้จะเป็นผู้หญิงเปรี้ยวจี้ดแค่ไหน ถ้าไปวัด ก็จะมีอากัปกิริยาที่สงบเสงี่ยม”

‘ปั้นซะป๊ะ’ ‘งานปั้นดินจากลำพูนที่ถ่ายทอด บุคลิกชาวล้านนาด้วยรอยยิ้มและกริยาน่ารัก

“เราเป็นคนที่อินกับวัฒนธรรมเหล่านี้ เลยเอามาใส่ในงานดินให้มากที่สุด และถ้าใครเห็นแล้วมีความสุข นั่นคือความตั้งใจของเรา เป็นความสุขที่ส่งผ่านก้อนดิน” อดุลย์เล่าด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม

‘ปั้นซะป๊ะ’ ‘งานปั้นดินจากลำพูนที่ถ่ายทอด บุคลิกชาวล้านนาด้วยรอยยิ้มและกริยาน่ารัก

‘ปั้นซะป๊ะ’ ‘งานปั้นดินจากลำพูนที่ถ่ายทอด บุคลิกชาวล้านนาด้วยรอยยิ้มและกริยาน่ารัก

ตุ๊กตาดินเผาชนเผ่าชาย-หญิง สวมเครื่องแต่งกายที่ถอดแบบมาจากชุดประจำเผ่า

งานปั้นของเขาเคยได้รับรางวัลจากกระทรวงวัฒนธรรมมาแล้วก่อนหน้านี้ เช่น คอลเลคชันตุ๊กตาดินเผา ที่ถ่ายทอดประเพณีแห่ไม้ค้ำโพธิ์ (สะหลี) ซึ่งเป็นประเพณีที่สืบทอดต่อกันมายาวนานของชาวล้านนา โดยที่บ้านดงหลวงจะจัดงานนี้ขึ้นทุกวันที่ 17 เมษายนของทุกปี คนในหมู่บ้านจะแต่งกายด้วยชุดพื้นเมือง มีการละเล่นพื้นบ้าน รวมทั้งขบวนแห่ 8 ขบวน ที่แสดงออกถึงวิถีชีวิต ภูมิปัญญาท้องถิ่นและความหลากหลายของไม้ค้ำโพธิ์

‘ปั้นซะป๊ะ’ ‘งานปั้นดินจากลำพูนที่ถ่ายทอด บุคลิกชาวล้านนาด้วยรอยยิ้มและกริยาน่ารัก

“มันอยู่ในสายเลือดของคนบ้านดงหลวงทุกคน ที่จะต้องมาแห่ขบวนนี้ร่วมกัน ซึ่งความรู้สึกดีใจ เสียใจ อยู่ในงานที่เราปั้นทั้งหมดเลย” เขาเล่าถึงคอลเลคชันที่ได้รับรางวัล

‘ปั้นซะป๊ะ’ ‘งานปั้นดินจากลำพูนที่ถ่ายทอด บุคลิกชาวล้านนาด้วยรอยยิ้มและกริยาน่ารัก

งานปั้นดินที่พัฒนาดีไซน์ให้ดูร่วมสมัย ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับงานคราฟท์ท้องถิ่น

เล่าเรื่องชาวล้านนา

ตุ๊กตาดินเผาของ ‘ปั้นซะป๊ะ’ ยังสะท้อนถึงวิถีชีวิตชาวล้านนาในยุคสมัยต่างๆ ตั้งแต่ยุคของพระนางจามเทวี สมัยรัชกาลที่ 5 จนมาถึงยุคปัจจุบันที่แสดงถึงเครื่องแต่งกายของชาวล้านนา เช่น ชุดมองเซิงหรือชุดการแสดงฟ้อนรำของชาวไทใหญ่ และชุดของชนเผ่าทั้งหมด 12 ชนเผ่า ได้แก่ ชาวยอง ไทลื้อ มอญ ไทยวน อาข่า ลาหู่ ม้ง ละว้า ปะหล่อง ชาวเมี่ยน (เย้า) กะเหรี่ยงโปว์ และกะเหรี่ยงแดง

‘ปั้นซะป๊ะ’ ‘งานปั้นดินจากลำพูนที่ถ่ายทอด บุคลิกชาวล้านนาด้วยรอยยิ้มและกริยาน่ารัก

อดุลย์ และพัชราภรณ์ เชื้อจิต ภรรยาคู่ชีวิต ทำหน้าที่เคลือบดิน และลงสีงานปั้น

“เราชอบความงามของเสื้อผ้าเหล่านั้น มันแสดงถึงความละเมียด ความละเอียดในการทำ เพราะเครื่องแต่งกายของแต่ละชนเผ่าเป็นงานมือทั้งหมด เราเอาชุดเหล่านั้นมาใส่ในงานปั้น และบางครั้งก็ถูกต่อยอดไปสู่งานเสื้อผ้าด้วยอย่างล่าสุดดีไซเนอร์เอางานปั้นตุ๊กตาชนเผ่าไปทำเป็นชุด OTOP ดีใจที่งานของเรานำไปต่อยอดได้ และทำให้งานใหม่ได้เกิด” อดุลย์เล่าอย่างภาคภูมิใจ

ปัจจุบัน นอกเหนือจากการปั้นดินเป็นอาชีพควบคู่ไปกับการทำเกษตรกรรมแล้ว เขายังเปิดเวิร์คช็อปสอนงานปั้นดินให้กับเด็กๆ ในหมู่บ้านและผู้ที่สนใจอยากมาเรียนปั้นดินโดยรับกลุ่มละไม่เกิน 20 คน

‘ปั้นซะป๊ะ’ ‘งานปั้นดินจากลำพูนที่ถ่ายทอด บุคลิกชาวล้านนาด้วยรอยยิ้มและกริยาน่ารัก

“การมาเรียนปั้นดิน อย่าเพิ่งคาดหวังว่าจะทำเป็นอาชีพ เพราะคนที่มาปั้นดิน ไม่ใช่ทุกคนที่จะเป็นช่างปั้นดินได้ทั้งหมด แต่ให้คิดว่าอย่างน้อยเป็นการได้ฝึกสมาธิ หรือได้ไอเดียอะไรบางอย่างกลับไป”

ครูช่างสำทับส่งท้าย พร้อมถ่อมตัวตามประสาชาวล้านนาว่า “เราไม่ได้มองว่าตัวเองเป็นศิลปิน เป็นแค่คนชอบปั้นดินเฉยๆ”

ปั้นซะป๊ะ
286/1 ม.11 ต.วังผาง อ.เวียงหนองล่อง จ.ลำพูน
โทร.0861869437
Facebook : ตุ๊กตาดิน สล่าดุลย์ ลำพูน

Tags: