ภูเถา
‘โรงกลั่นภูเถา’ พื้นที่ทดลองของชายวัยเกษียณที่อยากเห็นสุราชุมชนไทยไปไกลถึงสากล
- โรงกลั่นสุราภูเถา ตั้งอยู่ที่ อ.หนองโดน จ.สระบุรี เป็นผลงานในวัยเกษียณของ ดร.ศุภพงศ์ ภูวพัฒนะพันธุ์ อาจารย์ด้านการแปรรูปผลิตผลทางการเกษตร มีแนวคิดที่จะเพิ่มมูลค่าผลผลิตให้กับเกษตรกร ปัจจุบันผลิตสุราจากข้าวหอมมะลิในชื่อ Rocka ที่หลายๆ คนเริ่มหันมาให้ความสนใจ
“สักวันหนึ่งผมจะทำเหล้าไทยให้คุณภาพเท่าเหล้านอก เพราะเรามีวัตถุดิบที่ดีหลายอย่างมาก พอยิ่งเริ่มหยิบจับข้าวมาใช้ ยิ่งรู้ว่าข้าวที่ดีที่สุดในการเอามาทำคือข้าวหอมมะลิ ถึงหลายคนจะบอกว่าทำยาก แต่ผมว่าถ้าเราทำได้ก็จะยิ่งดี” ถ้อยคำของ ดร.ศุภพงศ์ ภูวพัฒนะพันธุ์ กำลังพาเราไปรู้จักกับโลกสุราตามสไตล์ของเขา
จากการพูดคุยกันสักระยะก็พอจับใจความได้ว่า ความตั้งใจลึกๆ ของเขาคือ ‘จะทำเหล้าไทยให้ไปได้ไกล โดยใช้ข้าวไทย’ ไม่ใช่น้ำเสียงหรอกที่หนักแน่น แต่การกระทำของเขาต่างหากที่เสมอต้นเสมอปลายมาจนถึงทุกวันนี้
นักทดลอง
ทันทีที่เราเดินทางมาถึง ดร.ศุภพงศ์ก็ยิ้มต้อนรับอย่างเจ้าบ้านใจดี ก่อนพาไปนั่งคุยแบบเป็นกันเองที่ศาลาริมน้ำ สถานที่ประจำในการรับแขก หย่อนตัวลงนั่งยังไม่ถึง 5 นาที เครื่องดื่มต้อนรับหลากชนิดก็มาวางเรียงรายอยู่ตรงหน้าซะแล้ว
เขาย้อนเล่าจุดเริ่มต้นให้ฟังว่า แรกเริ่มเดิมทีต้องการแก้ปัญหาข้าวเน่าเสียในพื้นที่ เลยชักชวนเกษตรกรใน อ.หนองโดน จ.สระบุรี มาปลูกพืชมูลค่าสูงอย่างองุ่นแทนการปลูกข้าว ช่วงนั้นเองที่ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ชิ้นแรกของภูเถา ‘เกรปปีน่า’ ขึ้นมาเป็นตัวแรก
“ เกรปปีน่าเป็นเหล้าจากองุ่นพันธ์ุเดียวกับที่ใช้ทำไวน์ มันเริ่มมาจากเราปลูกทั้งองุ่นทำไวน์และองุ่นกินสด แต่บ้านเราฝนเยอะ พอฝนลงก็มีปัญหาองุ่นแตกเน่า ทำให้เสียหายค่อนข้างเยอะ ผมเลยเกิดไอเดียเอาองุ่นที่ขายสดไม่ได้มาทำ ตอนแรกจะทำเป็นไวน์ แต่เอาองุ่นกินสดไปทำเป็นไวน์ มันไม่ค่อยเหมาะ ก็เลยเอามาทำเป็นเหล้าแทน”
นอกจากองุ่น เขายังรับซื้อผลผลิตทางการเกษตรอื่นๆ จากชาวบ้านในพื้นที่ เพื่อนำมาหมักและกลั่นให้เป็นแอลกอฮอล์ ถ้าตามในเพจจะเห็นว่าได้ทดลองบ่ม หมัก ผลไม้ชนิดอื่นๆ อยู่บ่อยๆ สวมบทเป็นนักทดลองรายวันเพื่อหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ เสมอ
….ไม่ใช่แค่วันสองวันที่ลองผิดลองถูก แต่ชายวัย 78 ปี ยังคงสนุกกับการคิดค้น ทดลอง และพัฒนาอย่างใส่ใจอยู่ตลอดเวลา
มาเวน ร็อคก้า
‘ทำไมอาจารย์ไม่ใช้ข้าวมั่ง?’ เป็นคำถามที่เป็นจุดประกายให้เขาตัดสินใจทำเหล้าจากข้าวหอมมะลิ ‘มาเวน ร็อคก้า’ จึงเกิดขึ้นในเวลาต่อมา ส่วนชื่อก็มาจากคำว่า Rice ที่หมายถึงข้าวบวกกับ Vodka กลายเป็น Rocka
“ตอนที่ผมมาเริ่มทำเหล้าใหม่ๆ ก็คิดนะว่าในฐานะที่เป็นอาจารย์และนักวิชาการ ก็อยากทำอะไรให้มันมีคุณภาพไปเลย” นักทดลองสุราจึงไม่รอช้า หยิบจับเอาข้าวของไทยมาแปรรูป เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับพืชผลทางเกษตร จากปัญหาข้าวหัก ข้าวหอมมะลิตกเกรด สู่สุราชุมชนที่เราเห็น
“ผมใช้ลูกแป้งหมักนี่แหละ แล้วก็ดูแลควบคุมอุณหภูมิให้ดี ขั้นตอนสำคัญคือต้องดูลูกแป้งไม่ให้มันตาย จากนั้นก็เอามาหมักมากลั่นจนแอลกอฮอล์สะอาด เพื่อไม่ให้มีอาการปวดหัวหรือเมาค้าง เครื่องกลั่นผมก็ทำขึ้นมาใหม่นะ”
การกลั่นนับเป็นช่วงเวลาที่ต้องละเอียดที่สุด เพราะเป็นปลายทางของการเดินทางก่อนจะส่งถึงคนดื่ม และเมื่อคุณภาพเป็นสิ่งแรกที่ต้องให้ความสำคัญ ทุกขวดของภูเถาจึงเป็นฝีมือการกลั่นจากคุณลุงเองทั้งหมด
ส่วนขวดรูปบ้านที่ไปสะดุดตาหลายๆ คนทำจากเซรามิกแบบแฮนด์เมดใบต่อใบ และเป็นอีกหนึ่งไอเดียน่ารักๆ จากคุณลุงด้วยเช่นกัน “ผมคิดว่าเราน่าต้องมีขวดเลยอยากทำขวดเซรามิก ซื้อไปกินหมด ก็ยังใช้เป็นแจกันเป็นของแต่งบ้านต่อได้ ก็เลยทำขึ้นมา แล้วข้อดีของเซรามิกคือมันจะมีรูให้เหล้าหายใจได้ เก็บไว้ได้นาน”
หลังจากใช้เวลาขลุกอยู่ที่นี่เกือบชั่วโมง เข้าใจคำว่า ‘เหล้าสะอาด’ มากขึ้นก็วันนี้ อย่าง Rocka เองกลิ่นก็ไม่มีความฉุนบาดจมูก มีกลิ่นหอมข้าวหอมมะลิบางๆ และทุกครั้งที่เราเอ่ยถามออกไปว่า…ภูเถาแตกต่างจากที่อื่นยังไง เขาจะยิ้มรับแล้วเอามือดันแก้วมาไว้ตรงหน้า
และเรื่องเป็นยังไงต่อจากนั้น…มันคงเล่าเป็นคำไม่ได้ ฝากทุกคนจินตนาการต่อเองก็แล้วกันนะ!
รายละเอียดเพิ่มเติม
Facebook : โรงกลั่น ภูเถา (โรงกลั่นภูเถา)
ที่อยู่ : https://www.google.com/maps
ติดต่อ : 06-3187-5871