About
CRAFTYARD

Sealeaf

เวิร์กช็อปกระจกสีจาก Sealeaf Studio เปลี่ยนภาพของ Stained Glass ให้เข้าถึงง่าย

เรื่อง สุธาสินี สุทธะโส ภาพ นรวีร์ ศรีมะโน Date 28-02-2024 | View 2193
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • Sealeaf Studio คือสตูดิโอทำงาน Stained Glass ของ วาวา – ปณีตา อรัญนารถ ที่ประยุกต์การทำงานกระจกสีออกมาเป็นของตกแต่งบ้านสุดน่ารัก จากความตั้งใจอยากให้ศิลปะประเภทนี้เป็นที่รู้จักมากขึ้น และอยากชวนผู้คนที่สนใจมาเรียนรู้เสน่ห์ของกระจกสีไปด้วยกัน

ปกติแล้วเรามักจะเห็น Stained Glass หรือศิลปะกระจกสีที่ตกแต่งอยู่ในสถาปัตยกรรมในยุโรป ในโบสถ์คริสต์ เป็นลวดลายแบบดั้งเดิมที่เน้นบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเมือง ความเชื่อ ศาสนา มาตั้งแต่อดีตแล้ว ถ้าร่วมสมัยเข้ามาอีกหน่อยจะนึกถึงโคมไฟที่ทำจากกระจกสีเป็นลวดลายดอกไม้ หรือรูปทรงเหลี่ยมๆ อย่างโคมไฟในร้านไอศกรีมที่เห็นอยู่ประจำ

แม้เป็นงานศิลปะมากสีสันสะดุดตา โดยเฉพาะตอนที่กระทบกับแสงแดดจนเกิดเป็นเงาสะท้อนกลับ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘กระจกสี’ ยังเป็นศิลปะที่ให้ความรู้สึกห่างไกล เฉพาะทาง จนเกือบเข้าไม่ถึง อย่างน้อยเมื่อ 2 ปีที่แล้ว วาวา เจ้าของ Sealeaf Studio ก็เคยรู้สึกแบบนั้น เธอจึงตั้งใจเปิดเวิร์กช้อป และประยุกต์การทำกระจกสีแบบดั้งเดิมมาเป็นของตกแต่งบ้านชิ้นเล็ก ก็เพราะต้องการให้ศิลปะกระจกสีเดินทางเข้าหาผู้คนได้ง่ายขึ้น

และไม่แน่ว่า วันหนึ่งอาจเกิดคอมมูนิตีคนรัก Stained Glass ที่ค่อยๆ ขยายวงกว้างเรื่อยๆ เลยก็ได้

Stained Glass

Stained Glass

การค้นพบที่ทำเอาตกหลุมรัก

เมื่อธันวาคม 2023 ที่ผ่านมา เราไปทำเวิร์กช้อปที่ Wamp.co สถานที่จัดเวิร์กช้อปในซอย เพชรเกษม 12 วันนั้นเป็นวันเดียวกันกับที่คาเฟ่ข้างๆ ‘Sealeaf House Café’ เปิดทำการวันแรก เราเลยถือโอกาสแวะเข้าไป ชั้นล่างของคาเฟ่ตกแต่งด้วยกรอบรูป ของขวัญคู่รักในงานแต่ง โคมไฟตั้งโต๊ะ โมบายรูปดวงจันทร์ ปลาวาฬ ผีเสื้อ หรือของชิ้นเล็กชิ้นน้อย ซึ่งทั้งหมดที่ว่ามานี้ทำจากกระจกสี

Stained Glass

ทันทีที่ทักบอก ‘น่ารักจัง’ วาวา เจ้าของคาเฟ่และศิลปินทำ Stained Glass แฮนด์เมดตกแต่งบ้าน ก็เล่าว่า เธอเปิดพื้นที่ชั้นล่างหรือที่เรายืนอยู่นี้เป็นคาเฟ่กึ่งแกลเลอรีเล็กๆ เพื่อจัดแสดงผลงาน ส่วนชั้น 2 คือ Sealeaf Studio เป็นพื้นที่จัดเวิร์กช้อปทำกระจกสี และพื้นที่ทำงาน Custom ของลูกค้าด้วย

อยากรู้จังว่าทำยากไหม?

Stained Glass

วันนี้เรากลับมาหาอีกครั้ง และก่อนที่วาวาจะตอบคำถามเรา เธอเล่าย้อนกลับไปเมื่อ 2 ปีก่อน ถึงจุดเริ่มต้นการทำงานกระจกสี เกิดจากการลองค้นหาความชอบด้านศิลปะในช่วงเรียนมหาวิทยาลัย พอค้นพบว่าชื่นชอบศิลปะภาพประกอบ และศิลปะคราฟต์แฮนด์เมด วาวาก็ดั้งด้นซื้ออุปกรณ์มาทำงานคราฟต์ เช่น เย็บสมุด ปักผ้า ทว่า เธอกลับไม่ได้มีแพสชั่นกับชิ้นงานที่ทำ แต่เพราะความชอบวาดภาพประกอบ บวกความสนใจเรื่องงานประดิษฐ์ ก็พาให้วาวาลองสมัครฝึกงานกับบริษัทกราฟิก หลังเรียนจบเธอทำงานเป็นกราฟิกดีไซเนอร์อยู่พักหนึ่ง ช่วงนี้เองที่เธอได้พบสิ่งสำคัญ

Stained Glass

บานหน้าต่างที่ตกแต่งด้วยกระจกสีหลายๆ ชิ้นตามสไตล์ศิลปะโมเสก หรือแบบศิลปะตะวันตกที่เราพบเห็นได้ในวิหาร ในโบสถ์คริสต์ วัดไทยบางแห่งเองก็ดึงศิลปะกระจกสีมาใช้ตกแต่งด้วย เช่น วัดเบญจมบพิตรฯ ซึ่งเราเชื่อว่าหลายคนอาจจะเห็นผ่านๆ ตามาไม่มากก็น้อย วาวาเองก็บอกแบบนั้น

Stained Glass

Stained Glass

แต่ตอนทำงานกราฟิกดีไซน์ เธอเข้าโซเชียลเพื่อเลื่อนดูผลงานศิลปะไปเรื่อยๆ จนไปเจอบานหน้าต่างลักษณะคล้ายงานกระจกสีในโบสถ์ ต่างกันก็ตรงลวดลายที่มีความร่วมสมัย ไม่ใช่ลวดลายแบบดั้งเดิมอย่างที่คุ้นตา เธอบอกกับเราด้วยน้ำเสียงตื่นเต้นว่า ครั้งนั้นให้ความรู้สึกเหมือนตกหลุมรักไปเลย

“พอวาเห็น ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่างานแบบนี้เรียกว่าอะไร แต่มีความรู้สึกว่า เอ๊ะ วัสดุที่ใช้คืออะไร เป็นงานอะคริลิกเอามาประกอบเข้าด้วยกันเหรอ คืออยากรู้ไปหมดตามประสาคนที่ไม่รู้เรื่องอะไรเลย ช่วงนั้นก็เลยค้นหาข้อมูลไปเรื่อยๆ จนมารู้ว่ามันเรียกว่า Stained Glass ศิลปะกระจกสีแบบเดียวกับที่เห็นในโบสถ์คริสต์”

Stained Glass

การทำศิลปะกระจกสีมีขั้นตอนที่ละเอียดยิบ เริ่มจากการวาดแม่แบบลงกระดาษ แล้วตัดออกมาเป็นชิ้นส่วนต่างๆ เพื่อนำไปวาดลงบนกระจกสี ในที่นี้วาวามีกระจกผิวเรียบและผิวขรุขระที่มีคุณสมบัติทั้งโปร่งแสงและทึบแสงให้เลือกตามใจชอบ จากนั้นใช้มีดตัดกระจกกรีดให้เกิดรอย แล้วใช้คีมหนีบกระจก แยกกระจกออกมาเป็นชิ้นๆ ก่อนนำเข้าเครื่องเจียระไนลบคมตามมุมกระจก จากนั้นนำกระจกแต่ละชิ้นมาห่อด้วยเทปฟอยล์ทองแดง (Copper Foil) เสร็จแล้วนำไปเชื่อมกับตะกั่วด้วยบัดกรีเพื่อประกอบเป็นชิ้นงานขึ้นมา

Stained Glass

การทำกระจกสีมีสิ่งสำคัญที่เธอกำชับอยู่เสมอ นั่นคือก่อนเริ่มทำจะต้องสวมถุงมือ ถุงเท้า ถุงแขน และหน้ากากแบบแว่นเพื่อป้องกันกระจกบาด เพราะระหว่างทำงานเราจะพบเศษกระจกกระจัดกระจายอยู่เต็มไปหมด

Stained Glass

Stained Glass

เรียนรู้จากศูนย์และต่อยอดไปเรื่อยๆ

“ตอนที่รู้ว่ามันคือ Stained Glass แต่รูปแบบที่จะทำยังไม่ค่อยมีในไทย เราเริ่มจากศูนย์ด้วยการศึกษาเอง ทั้งเรื่องวัสดุ อุปกรณ์ เช่น กระจกสี เขาไม่มีขายในไทย วาเลยต้องสั่งของจากร้านต่างประเทศนำเข้ามาเอง เวลาทำของพังหรือสั่งของมาผิดก็รู้สึกเสียเวลา เพราะต้องสั่งแล้วรอของอีกเป็นเดือนๆ แล้วมันเสียภาษีเยอะ วิธีทำก็ศึกษาจากยูทูบแล้วลองฝึกทำไปเรื่อยๆ อันนี้ค่อนข้างยาก เพราะไม่มีใครมาบอกเราว่าต้องทำยังไง”

Stained Glass

วาวาแชร์ประสบการณ์การลองผิดลองถูกสารพันวิธีทำกระจกสีช่วงแรกๆ ให้ฟัง ทั้งมีดตัดกระจกมีกี่ขนาด ก็ซื้อมาลองหมด เครื่องเจียระไนที่ไม่รู้ว่าก่อนเจียรต้องเติมน้ำลงไป หลังซื้อมาลองใช้ได้ไม่นานก็ต้องแบกเครื่องส่งซ่อม ประเด็นคือไม่รู้อีกว่าจะต้องเอาไปซ่อมที่ไหน เธอเล่าปะปนไปกับเสียงหัวเราะว่าเป็นช่วงเวลาที่ปวดหัวที่สุด แต่ผลงานชิ้นแรกที่ทำกระจกสีออกมาเป็นโมบายขนาดเล็ก กลับเติมเต็มความภาคภูมิใจที่ทำให้เธอยังคงทำต่อไป

Stained Glass

พอเริ่มถนัดมือจนสามารถรับงาน Custom จากลูกค้าได้ ความท้าทายใหม่ๆ ก็เข้ามาอยู่เรื่อยๆ ซึ่งทำให้เธอได้เรียนรู้ไปในตัวว่า ศิลปะกระจกมีอะไรให้ค้นหาอีกมากมาย รวมถึงการทำธุรกิจที่ไม่เคยทำ วันนี้ต้องสวมบทบาทผู้บริหารเพื่อรับมือกับทุกอย่างให้ได้ด้วยเช่นกัน

Stained Glass

อย่างตอนลูกค้าสั่งงานกระจกสีขนาดใหญ่ เธอต้องบอกลูกค้าไว้แต่เนิ่นๆ ว่าชิ้นงานอาจใช้เวลา เนื่องจากไม่เคยทำ หลังจากนั้นวาวาเหมือนต้องกลับไปนับหนึ่งใหม่ ด้วยการศึกษาเทคนิคการวางกระจกบนรางตะกั่วสำหรับงานชิ้นใหญ่ เรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหา สิ่งที่น่ากังวลกว่าคือเรื่องขนส่งที่มือใหม่หัดจัดส่งอย่างเธอแทบอยากจะกุมขมับ

“ปกติร้านที่ทำงาน Stained Glass ให้กับโบสถ์ เขาจะมีช่างวิศวะประจำร้านที่จะเข้ามาวัดขนาดและติดต่อ มีบริการจัดส่งที่มีอุปกรณ์ขนส่งมารองรับแบบครบจบ ซึ่งวาไม่มี แล้วครั้งนั้นลูกค้าสั่งงานชิ้นใหญ่ ซึ่งเราต้องไปส่งเองถึงเชียงใหม่ วาไม่รู้จะทำยังไงเลยตีลังไม้เพื่อใช้ขนงาน แล้วก็ขับรถกันไปแบบช้าๆ เบาๆ เพราะเส้นทางที่ไปขรุขระมาก แต่ของก็ไปถึงลูกค้าอย่างปลอดภัยนะ (หัวเราะ)”

Stained Glass

ประสบการณ์ในครั้งนั้นเธอจะต่อยอดเป็นแพลนเตรียมรับงานชิ้นใหญ่ในอนาคตแต่คงไม่ใช่อันใกล้ เพราะเธออยากโฟกัสเทคนิคการทำกระจกสีแบบใหม่ๆ “ตอนนี้เราเริ่มอยากลองนำกระจกสีไปอบเพื่อให้ได้เทกซ์เจอร์ที่มีความ Melt ซึ่งเหมาะกับการไปทำเป็นเครื่องประดับ แต่เป็นแค่ไอเดีย เพราะเรายังต้องโฟกัสงานลูกค้าและการสอนเวิร์กช้อป”
ตอนนี้ Sealeaf Studio มีวาวาเป็นเสาหลักและมีเพื่อนของเธอเข้ามาเป็นผู้ช่วย การรับงานชิ้นเล็กจะใช้ระยะเวลาทำ 7-10 วัน ส่วนงานชิ้นใหญ่ใช้เวลาทำ 12-14 วัน

Stained Glass

อยากให้ศิลปะกระจกสีเข้าถึงง่าย

“Stained Glass มันมีเสน่ห์และมีเรื่องราวในตัวเองอยู่แล้ว อยู่ที่ว่าเราจะตีความและมองมันยังไง เอาแค่ตัวกระจก ถ้าวางไว้เฉยๆ แล้วเรามามองเงาที่เกิดจากแสงกระทบกระจกในช่วงเวลาที่ต่างกัน เงาที่สะท้อนบนพื้นจะคนละแบบกันเลย” ไม่ว่าจะมองในวันนี้ เมื่อวาน หรือในวัยที่มากขึ้น สิ่งที่เห็นอาจจะให้ความหมายที่ไม่เหมือนกันเลยก็ได้ นี่ล่ะคือเสน่ห์ที่วาวามองเห็นในงานเธอเอง

อย่างที่เกริ่นช่วงแรกๆ ว่า Stained Glass ดูเป็นศิลปะที่เข้าถึงยาก ความตั้งใจที่อยากจะทำให้ศิลปะประเภทนี้เข้าถึงง่าย ทำให้วาวาเปิดเพจไอจีและเฟสบุ๊กในชื่อ Sealeaf Studio ช่วงกุมภาพันธ์ 2021 แล้วทยอยลงผลงาน เพื่อให้ผู้คนคุ้นตาไปกับกระจกสีของวาวา ก่อนที่เธอจะขยับขยายรับงาน Custom และเปิดเวิร์กช้อปเพื่อพาผู้คนที่สนใจมาเรียนรู้วัสดุกระจกสี

Stained Glass

“เราไม่อยากให้คนที่สนใจเรื่องกระจกสีเป็นเหมือนเราเมื่อ 2 ปีก่อน ที่อยากทำแต่เหมือนจะไปเจอทางตัน ตั้งแต่ธันวาปีที่แล้ว เราเริ่มจัดเวิร์กช้อปอย่างต่อเนื่องเดือนละ 1-2 ครั้ง คลาสละ 4 คน 5 ชั่วโมงที่เราจะประกบสอนทุกอย่างเลย ทำให้เราได้เจอคนที่ชอบในสิ่งเดียวกันมากขึ้นเรื่อยๆ คนส่วนใหญ่ที่มาเรียนก็อยากต่อยอดไปสร้างงานของเขาเอง เรารู้สึกยินดีมากๆ เพราะในอนาคตเราจะได้เจอคนทำ Stained Glass หน้าใหม่ๆ ที่อาจอยากจัดแสดงผลงาน พอคนชอบมากขึ้นก็จะเกิดคอมมูนิตีคนรักกระจกสีที่ขยายวงกว้างมากขึ้น จุดตรงนี้ล่ะที่จะเข้าถึงผู้คนได้ง่ายกว่าเดิมเยอะ” วาวาเล่าถึงความตั้งใจหลักให้ฟังด้วยสายตาเป็นประกาย

Stained Glass

Sealeaf Studio จะไม่ได้มีแค่กระจกสีเท่านั้น ด้วยนิสัยชอบทดลองสิ่งใหม่ๆ ทำให้วาวาในวันนี้พูดด้วยน้ำเสียงเปี่ยมพลังว่า อนาคตเราอาจจะได้เห็นศิลปะแบบใหม่ๆ มากขึ้น และไม่ว่าผลงานศิลปะในอนาคตจะมีหน้าตาเป็นแบบไหน เธอจะชวนผู้คนมาทำความรู้จักผลงานที่ว่านี้ไปด้วยกัน

Stained Glass

“จริงๆ แล้ววาอยากให้ Sealeaf Studio เป็นพื้นที่ศิลปะที่เข้าถึงง่าย คือทุกคนไม่จำเป็นจะต้องรู้สึกแบบนั้นก็ได้ วาเพียงแค่อยากทำให้ทุกคนเข้าถึงได้ง่าย แค่นั้นก็น่าจะ complete สำหรับวาแล้ว”

ถ้าใครสนใจอยากมีชิ้นงานกระจกสีไว้ตกแต่งบ้านหรือในห้อง หรืออยากลองลงเวิร์กช้อปกับวาวา สามารถติดต่อเธอได้ทาง Instagram : sealeaf.studio เลยนะ

Sealeaf Studio และ Sealeaf house café
ที่อยู่ : 158 9 ซอยเพชรเกษม 12 แขวงวัดท่าพระ เขตบางใหญ่ กรุงเทพฯ 10600
เบอร์โทร : 089-757-5913
Instagram : sealeaf.studio และ Facebook Page : Sealeaf.studio

Tags: