- ความบังเอิญที่ได้ใช้สบู่โฮมเมดตอนไปค้างบ้านเพื่อน ช่วยให้อาการโรคสะเก็ดเงินของคุณกวางบรรเทาลง จุดประกายให้หนุ่มสาวคู่นี้ชวนกันมาลองทำสบู่ใช้เองบ้าง
- ทั้งคู่สนุกกับการทดลองนำวัตถุดิบต่างๆ มาทำสบู่สูตรนั้นกลิ่นนี้ รู้ตัวอีกทีก็มีสบู่กองเต็มบ้าน เลยนำมาลองขาย โดยตั้งชื่อแบรนด์ว่า Soap but True ที่มาจากชื่อเพลง Sad but True ของวงร็อกในตำนาน Metallica วงโปรดของหนุ่มตั๋ม
- เมื่อพื้นฐานการทำสบู่แน่น การต่อยอดสร้างสรรค์สบู่สูตรใหม่ๆ ก็ตามมา แล้วพัฒนาสู่การทำสบู่แบบ Customized ซึ่งสบู่ทุกสูตรที่ทำใช้วิธีกวนเย็น (Cold Process) แล้วบ่มสบู่นาน 4 เดือนจึงนำมาจำหน่าย
- แม้ลูกค้าจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากการบอกปากต่อปาก แต่ทั้งคู่ยังยืนยันที่จะทำสบู่เป็นงานอดิเรก เพราะอยากสนุกกับการได้ทดลองทำสูตรใหม่ๆ ตามใจตัวเอง แล้วยึดอาชีพหลักทำงานศิลปะต่อไป
ไม่น่าเชื่อว่า สบู่โฮมเมดที่บ้านเพื่อนก้อนนั้นจะนำพาคุณกวาง - วิภาวรรณ จันทรโกศล กับแฟนหนุ่ม คุณตั๋ม - ถิรพันธุ์ บรรพพงศ์ เข้าสู่โลกของสบู่ทำมือที่มีเรื่องราวให้ค้นหาและเรียนรู้ไม่สิ้นสุด
จากวันนั้นถึงวันนี้ การเดินทางของความสะอาดในนาม Soap but True ย่างเข้าสู่ปีที่ 5 ทั้งคู่ยังสนุกและมีความสุขกับการตามหาวัตถุดิบ ทดลองทำสูตรใหม่ๆ และลุ้นว่าจะได้สบู่อย่างใจหรือเปล่าอยู่ทุกครั้งที่ทำ
เสน่ห์สบู่คราฟต์…ของดีที่ต้องรอหน่อยนะ
‘ทำใช้เอง…เหลือก็ขาย’ สโลแกนที่กลายเป็นจุดเริ่มต้นของสบู่ออร์แกนิกโฮมเมดแบรนด์ Soap but True หลังจากทั้งสองทดลองทำสบู่สูตรต่างๆ มาลองใช้ ไม่เพียงผื่นสะเก็ดเงินของคุณกวางจะดีขึ้น ผื่นแพ้เหงื่อใต้พุงและอาการคันรักแร้เพราะแพ้โรลออนของคุณตั๋มก็พลอยหายเป็นปลิดทิ้งด้วย
เมื่อใช้แล้วเห็นผล คนทำก็นึกสนุกหยิบวัตถุดิบโน่นนี่มาลองทำ จำนวนสบู่ค่อยๆ เพิ่มขึ้นจนใช้ไม่ทัน เลยแนะนำให้คนรอบตัวลองใช้ ถูกอกถูกใจจนกลายเป็นลูกค้าประจำแล้วบอกต่อๆ กันไป
“เริ่มแรกเราต้องการสบู่ที่อ่อนโยนต่อผิว ใช้แล้วไม่แพ้ แต่พอทำมาหลายปี เริ่มอยากได้สบู่ที่ครีเอทีฟกว่านั้น กลายเป็นว่าสรรพคุณสบู่เป็นเรื่องพื้นฐานของสบู่ทุกก้อนที่ทำ แต่ความพิเศษของแต่ละก้อนจะอยู่ที่วัตถุดิบที่เราใส่ลงไป” คุณกวางผู้จับพลัดจับผลูกลายมาเป็นผู้เชี่ยวชาญการคิดสูตรสบู่ทำมือบอกเรา
“เราทำสบู่น้ำมันด้วยวิธี Cold Process กวนเย็นด้วยมือผม (หัวเราะ) กวางทำสูตรแล้วตวงน้ำมันให้ ผมรับหน้าที่กวนสบู่ เพราะต้องใช้แรง เราจดละเอียดทุกขั้นตอนการทำว่าสูตรไหนมีส่วนผสมอะไร ปริมาณเท่าไหร่ ใส่ก่อนใส่หลัง แล้วผลเป็นยังไง เก็บรวมเป็นแฟ้มหนาเลย ถ้าสูตรไหนมีปัญหา จะได้เอาสูตรมากางดูว่าผิดพลาดตรงไหน แล้วค่อยแก้ไขปรับสูตรกันไป”
คุณกวางอธิบายต่อว่า “จริงๆ เราใช้เวลาทำสบู่ประมาณ 2-3 ชั่วโมงก็เสร็จ แต่ที่เราตากสบู่นาน 4 เดือน เป็นเวลาที่ได้จากประสบการณ์การทำสบู่มาว่าเป็นช่วงเวลาที่ลงตัวที่สุด ที่ช่วยลดค่า pH ให้เหมาะกับสภาพผิว ปล่อยให้สบู่ค่อยๆ คายน้ำออกมา และเป็นก้อนแข็งขึ้น คืออยากใช้สบู่เร็วกว่านั้นก็ได้ แต่อาจจะละลายเร็วนะ หรือใครจะเก็บสบู่ต่อก็อาจได้คุณภาพสบู่ดีกว่านี้ก็ได้”
“มุมหนึ่งลูกค้าอาจรู้สึกไม่อยากรอ แต่ก็เป็นการเร่งให้ตัดสินใจง่ายขึ้น (หัวเราะ) ผมคิดว่าการรอเป็นเสน่ห์ของงานคราฟต์ที่ไม่ใช่อยากได้เมื่อไหร่ก็เข้าซูเปอร์มาร์เก็ต”
‘สีสบู่’ นี้ได้แต่ใดมา
ด้วยอาชีพหลักที่ทั้งคู่ทำงานด้านสื่อสิ่งพิมพ์ ซึ่งเผชิญกับยุคดิจิทัลดิสรัปต์ การทำสบู่จึงเป็นเหมือนการ ‘ปล่อยของ’
“เราคิดคอนเซปต์สบู่แต่ละคอลเลกชันเหมือนตอนวางธีมเล่มในแมกกาซีน กวางจะวาดสบู่ 8 สูตร 8 สี เพื่อให้ได้โทนสีตามที่ต้องการ แล้วมาดูว่าสีนั้นเป็นวัตถุดิบใดได้บ้าง ส่วนตั๋มจะเคาะว่าสูตรไหนได้ไปต่อ สีไหนทำได้จริง หรือทำลวดลายไหนได้บ้าง” กราฟฟิกดีไซเนอร์สาวบอกเรา
คุณตั๋มยกมือออกตัวว่า “ซึ่งทฤษฎีสีที่ผมเป็นช่างภาพและรีทัชเชอร์ได้เห็นมาใช้ไม่ได้กับการทำสบู่เลยครับ” ว่าแล้วเจ้าตัวก็หัวเราะพลางยกตัวอย่างมาเล่าให้ฟัง “เราเคยอยากทำสบู่โทนฟ้าม่วง ผมเด็ดดอกอัญชันมาบดคั้นน้ำแล้วใส่ตอนกวนสบู่เลย โดยลืมไปว่าน้ำด่างทำให้เกิดปฏิกิริยาการเปลี่ยนสี จากสีฟ้าม่วงที่ต้องการเลยกลายเป็นสีเทาอมเขียวไปซะอย่างงั้น หรืออีกครั้งที่จะทำสบู่สีส้ม ก็ใช้ผิวส้มขูดแล้วตากแห้งก่อนนำมาบดเป็นผง แต่ใส่เท่าไหร่ก็ได้แค่สีน้ำตาลจางๆ เลยเสิร์ชหาข้อมูลจนเจอว่า ต้องใช้น้ำมันที่แช่พริกปาปริกา ทีนี้ก็ออกมาส้มสมใจเลยครับ แล้วพอผมอยากได้สบู่สีเหลืองแต่ก็นึกไม่ออกว่าต้องใช้วัตถุดิบอะไรมาทำ เพราะเลม่อนเป็นกรด เจอน้ำด่างก็ต้องเปลี่ยนสีอีกแน่นอน ค้นหากันอยู่พักหนึ่งจนเจอว่า ต้องใช้แครอต มะเขือเทศ หรือมะละกอที่ตาเราเห็นเป็นสีส้มนี่แหละครับ ทำออกมาแล้วได้สีเหลืองใสปิ๊งเลย ล่าสุดเราทำสบู่นมกล้วย ตั้งใจให้ข้างบนขาวเหมือนนม ข้างล่างเหลืองจะได้เป็นสบู่นมกล้วย ทำเสร็จกลายเป็นสีกล้วยตาก เพราะผงกล้วยดิบอบแห้งในสบู่โดนความร้อนจากน้ำด่างเลยไหม้กลายสภาพเป็นสีน้ำตาลแทน”
สบู่ Customized ความท้าทายที่ภูมิใจ
ทำสบู่สูตรใหม่อยู่ตลอดเวลาหลายปีติดต่อกัน เลยอยากรู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้ทั้งสองยังแฮปปี้กับการทำสบู่ต่อไป คราวนี้สองคนประสานเสียงตอบแทบจะพร้อมกันว่า “คนใช้สบู่นี่แหละที่เซอร์ไพรส์เราตลอด”
“การทำสบู่ของเราคือการทดลอง ซึ่งทำให้พื้นฐานแน่นโดยไม่รู้ตัว นานวันเข้าเราพอรู้แล้วว่าวัตถุดิบอะไรมิกซ์กันได้ กระทั่งเพื่อนกวางที่เป็นแม่ลูกอ่อน ซึ่งเป็นลูกค้าประจำมาเปรยว่า มีน้ำนมเหลือเต็มตู้แช่เลย เอาไปทำสบู่ได้ไหม ได้ยินแล้วเหวอเลย แต่พอได้สติก็คิดว่านมวัวกับนมคนก็น่าจะคล้ายกันนะ จึงรับปากมาลองทำดู”
“เอาเข้าจริงไม่เป็นอย่างนั้นเลยครับ ทั้งกลิ่น สี และความเข้มข้นต่างกัน บางคนมีไขมันเยอะ บางคนน้ำนมใส โดยเฉพาะกลิ่น มีความเฉพาะตัวมากกก ผมกังวลว่าถ้าทำไม่สำเร็จ จะหาน้ำนมที่ไหนมาคืนเขานะ (หัวเราะ) ครั้งแรกตอนใส่น้ำด่างตอนกวน จากน้ำนมสีเหลืองกลายเป็นสีน้ำตาลเลย เพราะความร้อนที่เกิดจากการกวน ทำให้นมไหม้ นี่เป็นความรู้ใหม่ของเราเลยว่า ของเหลวที่ใช้ละลายด่างถ้ามีสารแขวนลอยจะทำให้เกิดความร้อนที่ทำให้ส่วนผสมไหม้ได้ วิธีแก้เลยต้องนำน้ำนมไปแช่ฟรีซก่อน แล้วค่อยๆ ผสมน้ำด่างทีละน้อยตอนกวน เพื่อคุมอุณหภูมิไม่ให้ร้อนเกินไปจนไหม้”
ที่สุด ‘สบู่น้ำนมแม่’ ก็สำเร็จด้วยดี และกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทั้งสองภูมิใจ เพราะมีความยูนีคมาก แต่ก็ไม่ได้ทำขายเหมือนสบู่สูตรอื่น แต่จะรับสั่งทำแบบ Personal-Order เท่านั้น
ดูเหมือนว่า สบู่น้ำนมแม่จะทำให้ทั้งสองกล้าที่จะใช้วัตถุดิบที่ไม่คุ้นเคยมากขึ้น ฉะนั้น เมื่อมีผู้มาว่าจ้างให้ทำสบู่ล้างพลังงานลบสำหรับสายมู จึงตอบรับออเดอร์นี้อย่างไม่ลังเล
“ลูกค้ารีเควสต์ให้มีใบเสจ (Sage) ตามความเชื่อทางตะวันตกเชื่อว่าล้างพลังงานไม่ดี ช่วยปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายได้ ขั้นตอนนี้ภาษา Soaper เรียกว่าการทอด คือการนำไปใส่ในน้ำมันอุ่นให้ร้อนเพื่อให้น้ำมันของใบเสจออกมา ซึ่งไม่ได้ซับซ้อนอะไร แต่วัตถุดิบที่ยากถือเป็นการวัดฝีมือคนทำสบู่คือเกลือ เพราะใส่แล้วจะดูดน้ำทำให้ส่วนผสมร้อนและแข็งเร็วมาก แต่ประสบการณ์การทำสบู่ของเราก็พอตัวครับ เลยผ่านมาได้ด้วยดี”
จากสบู่สู่การเดินทาง
ตั้งแต่เข้าสู่โลกสบู่ทำมือ จุดหมายการเดินทางของทั้งสองก็มีสบู่เป็นเข็มทิศโดยไม่รู้ตัว
“ผมซื้อสบู่จากเฮลซิงกิ ที่นั่นเขามีเครื่องขูดสบู่เป็นฝอยๆ แล้วชั่งขาย เห็นแล้วเกิดไอเดียว่า ถ้าผมทำสบู่สีน้ำตาลตัดหน้าเรียบ แล้วใช้สบู่ขูดฝอยแบบนี้โรยหน้า ก็จะได้สบู่ที่คล้ายขนมโรยหน้าด้วยมะพร้าว”
“ส่วนกวางมีช่วงหนึ่งเคยอยากได้ Mango Butter แล้วเสิร์ชเจอว่าอินเดียเป็นแหล่งของวัตถุดิบนี้ ทำเอาอยากจองตั๋วบินไปอินเดียแล้วขนซื้อกลับมาเลย (หัวเราะ)”
หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กลับสู่ภาวะที่การเดินทางระหว่างประเทศเป็นปกติ ประเทศแรกที่ทั้งคู่อยากไปคือสเปน ซึ่งนอกจากเป็นการตามรอยถิ่นกำเนิดของมะกอก ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่นำมาทำสบู่แล้ว ยังเป็นแรงบันดาลใจที่ช่วยให้ครีเอตสบู่ได้มากขึ้นอีกด้วย
ดูเหมือนว่า การทำสบู่โฮมเมดของทั้งสองคือการทดลองทำสูตรใหม่ๆ อยู่เสมอ เมื่อเราถามถึงสบู่ว่ามีสูตรไหนที่คิดว่าลงตัวแล้วบ้างไหม หนุ่มตั๋มตอบด้วยความมั่นใจเสียงดังฟังถนัดว่า “ไม่มีครับ (หัวเราะ) เพราะสบู่ก็เหมือนอาหาร แต่ละคนชอบไม่เหมือนกัน ผมเองไม่ชอบลาเวนเดอร์ แต่บังเอิญเราได้ลาเวนเดอร์แห้งจากฝรั่งเศสมา เลยเอามาลองทำดู ปรากฏว่าขายดีมากครับ”
คุณกวางเสริมขึ้นว่า “ถึงเราจะทำสบู่กันมาหลายปี แต่กวางรู้สึกว่ายังมีอะไรให้เรียนรู้อยู่เสมอ ไม่มีวันจบสิ้น อย่างตอนเราทำสบู่เมนทอล ความที่เราบ่มสบู่นาน 4 เดือนก็เกรงว่าความเย็นจะระเหยไปก่อน เลยเพิ่มปริมาณเมนทอลไป ตอนทำเราก็แสบตากันหมดจากไอของเมนทอล ส่วนลูกค้าใช้แล้ว ฟีดแบ็กกลับมาว่า อาบแล้วหนาวเลยแฮะ (หัวเราะ) ซึ่งเราไม่ได้มองเป็นความผิดพลาดร้ายแรง แต่นี่คือเสน่ห์ของงานคราฟต์นะ ที่ต้องศึกษา เรียนรู้ ลองผิดลองถูกกันต่อไป เพราะถ้าทุกอย่างเป็นสูตรตายตัว ทำซ้ำแบบเดิมทุกครั้ง แม้การันตีว่าทำแล้วสำเร็จทุกครั้ง แต่คงไม่ค่อยสนุกเท่าไหร่สำหรับเรา”
นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ตอบคำถามใครหลายคนที่มักถามว่า ทำไมไม่ทำสบู่ขายเป็นอาชีพหลักไปเลย
“ผมอยากสนุกในการทำสบู่อย่างที่เราทำแบบนี้ต่อไป ไม่งั้นจะกลายเป็นว่า เราไม่ได้ทดลองทำสูตรใหม่ๆ เพียงเพราะสูตรนี้ขายดีที่สุด”
Soap but True สบู่ออร์แกนิกส์โฮมเมด
https://www.facebook.com/soapbuttrue
deco_k@hotmail.com
โทร.08-5165-3504 (คุณกวาง)