- Sunday Craft Market โปรเจกต์เล็กๆ ของสองคนรุ่นใหม่ ที่อยากเห็นคนในชุมชนบ้านหนองหม้อ เปลี่ยนมายเซ็ตของตนเอง และลุกขึ้นมาทำอะไรด้วยตัวเองโดยไม่ต้องรอความช่วยเหลือจากภาครัฐ
- ชุมชนบ้านหนองหม้อ เป็นชุมชนที่ขึ้นชื่อด้านเศรษฐกิจพอเพียง เป็นแหล่งผลิตสินค้าโอท็อป และมีฐานการเรียนรู้ต่างๆ ที่สามารถพัฒนาไปเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวสร้างสรรค์
- มายด์เซ็ตคือสิ่งสำคัญที่สุดและยากที่สุด ในการเปลี่ยนแปลงความเคยชินของผู้คนในชุมชน
“เราคืออะตอมหนึ่ง เป็นเพียงเม็ดๆ หนึ่งของจุดที่เราอยู่ ถ้ามันเจริญ ก็ต้องเจริญจากเม็ดนี้ และก็ควรเจริญจากตรงที่มันอยู่ เพราะเมล็ดพันธุ์นี้เหมาะกับอากาศตรงนั้น การเอาเมล็ดพันธุ์ไปปลูกที่อื่น มันเจริญได้ไม่เยอะหรอก”
คุณเอ-วรินทร ธนูทองสัมพันธ์ หนึ่งในผู้ริเริ่ม ‘Sunday Craft Market’ บอกกับเราถึงความเชื่อที่ว่า ทำไมคนรุ่นใหม่จึงควรกลับไปพัฒนาบ้านเกิด และนั่นก็เป็นเหตุผลเดียวกัน ที่ทำให้เขาหันหลังจากเมืองหลวง แล้วมาร่วมพัฒนาชุมชนบ้านหนองหม้อ ตำบลป่าอ้อดอนชัย จังหวัดเชียงราย บ้านเกิดของภรรยา คุณญาดา ฉลุรัตน์ ให้เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวสร้างสรรค์
ตลาดนัดเล็กๆ ที่เกิดจากคนตัวเล็ก
Sunday Craft Market เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปลายปี 2562 เป็นโปรเจกต์เล็กๆ โดย คุณเอ นักออกแบบเฟอร์นิเจอร์ และคุณญาดา ครีเอทีฟ อีเว้นท์ นักสร้างแบรนด์ให้กับการท่องเที่ยวในภาคเหนือ อยากเห็นการพัฒนาเปลี่ยนแปลงของคนในชุมชนบ้านหนองหม้อ ซึ่งเป็นชุมชนผู้ผลิตสินค้าโอท็อปของภาคเหนือ จึงชักชวนคนในหมู่บ้าน มาออกร้านเปิดตลาดนัดเฉพาะกิจ เพื่อขายสินค้าที่แต่ละครัวเรือนเป็นผู้ผลิต ทั้งงานฝีมือ สินค้าโอท็อป พืชผักปลอดสารพิษ ขนมไทย ฯลฯ ในปีแรก ทั้งคู่สวมบทบาทเป็นทั้งผู้จัด ออกทุนทรัพย์ หาสปอนเซอร์ รวมทั้งใช้สนามหญ้าในรั้วบ้านเป็นพื้นที่จัดงาน
“ชุมชนแห่งนี้มีสินค้าโอท็อปเยอะมาก และมีหลายกลุ่มที่ทำ แต่ที่ผ่านมาสินค้าเหล่านี้ถูกมองว่าเชยเพราะมายเซ็ตของคนที่ทำ ตั้งกลุ่มเป้าหมายเป็นชาวบ้านด้วยกัน ทำให้ข้าวแต๋น 20 บาท ก็ขาย 20 บาทอยู่อย่างนั้น โปรดักส์ที่ทำก็จะตอบสนองในราคา 20 บาท ส่วนลูกหลานที่เป็นคนรุ่นใหม่พอกลับมาบ้าน อยากเปลี่ยนแปลง อยากเอาความสมัยใหม่เข้ามา แต่พอถูกถามว่าจะทำไปทำไม ทุกวันนี้ก็ขายได้อยู่แล้ว ความที่เป็นพ่อแม่ลูก ไม่ใช่หุ้นส่วนทางธุรกิจ ก็อธิบายลำบาก ทำให้หาข้อสรุปไม่ได้
“เราเลยกังวลว่า ถ้าไม่มีการพัฒนาทักษะ องค์ความรู้ต่างๆ เหล่านี้ สักวันมันจะหายไป อีกทั้งที่นี่เป็นหมู่บ้านที่เงียบเหงา ไม่ค่อยมีกิจกรรม คนในชุมชนก็เหมือนคนที่ไฟเริ่มหมดไปเรื่อยๆ เลยชวนมาทำกิจกรรมร่วมกันในชุมชน เพราะอยากเห็นชุมชนที่เราอยู่ ทุกคนแฮปปี้กับสิ่งที่ตัวเองเป็น สิ่งที่ตัวเองมี และไม่ต้องออกไปขายของนอกบ้าน” คุณเอ เริ่มต้นเล่า
ไม่รอภาครัฐ…แต่ลุกขึ้นมาทำเอง
ปีนี้ ตลาดนัดงานคราฟท์จัดต่อเนื่องเป็นครั้งที่สอง เมื่อวันที่ 17 มกราคม – 14 กุมภาพันธ์ 2564 และเปิดขายเฉพาะวันอาทิตย์ ตั้งแต่บ่าย 2 โมงถึง 3 ทุ่ม ตลาดเล็กๆ ที่ใช้พื้นที่เพียง 1 ไร่ กลายเป็นศูนย์รวมแห่งความสามัคคีของคนหลายวัย ทั้งพ่อค้าแม่ค้าในชุมชน และคนนอกชุมชน เพื่อนฝูงพันธมิตรของคุณเอและคุณญาดา ซึ่งล้วนเป็นคนรุ่นใหม่ และเป็นเจ้าของคาเฟ่ในตัวเมืองเชียงราย ทำให้งานเล็กๆ บูมขึ้นมาในช่วงเวลาสั้นๆ
คุณญาดาเล่าว่า “ก่อนหน้าที่มีความคิดจะจัดงาน หมู่บ้านมีโครงการท่องเที่ยวชุมชนที่จะเข้ามาสนับสนุน ทางชุมชนก็จัดเตรียมรถรางไว้รอเพื่อที่จะต้อนรับนักท่องเที่ยว แต่งบประมาณปีนั้น หมดที่หมู่บ้านเราพอดี เลยสร้างความรู้สึกผิดหวังให้กับชาวบ้าน ส่วนหนึ่งเพราะมายเซ็ตของเขารอการสนับสนุนจากภาครัฐ ไม่ได้มีความมั่นใจว่าเราสามารถลุกขึ้นมาทำเองได้ ด้วยความที่เรามีประสบการณ์ทำงานด้านการท่องเที่ยว จึงคิดว่าอยากจะทำอะไรให้ชุมชนที่เราอยู่
“ช่วงแรก จึงไปรวมกลุ่มกรรมการหมู่บ้านและกลุ่มโอท็อปเพื่อคุยกันว่า อยากพัฒนาให้เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวสร้างสรรค์ แต่เพราะการใช้ชีวิตประจำวันของคนในชุมชน ยังไม่พร้อมที่จะเซอร์วิสนักท่องเที่ยวทุกวัน จึงต้องปรับวิธีการเที่ยวใหม่ เป็นการสร้างจุดสนใจให้คนมารวมตัวกัน ไม่จำเป็นต้องเปิดบ้านให้เป็นที่เที่ยวทุกหลัง แต่จะสร้างจุดศูนย์กลางให้คนเห็นว่าหมู่บ้านเรามีอะไร เพื่อให้เขาจดจำและกลับมาหาเรา โดยที่เราไม่ต้องออกไปหาเขา”
Sunday Craft Market จึงเปรียบเสมือน ‘ห้องรับแขกของชุมชน’ และทำให้ผู้คนรู้จักชุมชนบ้านหนองหม้อ ชุมชนที่ขึ้นชื่อในเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้งมีฐานการเรียนรู้มากมาย ทั้งการผลิตสินค้าโอท็อปต่างๆ และด้านการเกษตร โดยเฉพาะเป็นแหล่งปลูกหม่อนของภาคเหนือ มีฐานการเรียนรู้เกี่ยวกับชาใบหม่อน แยมหม่อน เยลลี่ลูกหม่อน ฯล
“ถึงแม้ชุมชนบ้านหนองหม้อ จะไม่มีอัตลักษณ์ที่แน่ชัด คนส่วนใหญ่ทำงานรับจ้าง คนที่อยู่บ้านคือคนสูงอายุ แต่สิ่งที่เรามีคือไอเดีย ความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นเมนหลักที่เราจะใช้พัฒนาให้เป็นหมู่บ้านสร้างสรรค์ แม้ว่าปีแรกมันจะยังไม่เกิด และอาจต้องใช้ระยะเวลาหลายปี แต่เราก็มีแพลนที่จะทำให้มันไปต่อได้”
ฟีดแบ็คของงาน ถือว่าดีเกินคาด
น้ำลูกหม่อนสีม่วงเข้ม ถูกเสิร์ฟให้เราลองชิม เมนูนี้ถือเป็นซิกเนเจอร์ของร้าน Garden 232 คาเฟ่เล็กๆ ที่เปรียบเสมือนห้องรับแขกของครอบครัว
“ร้านนี้เกิดมาจากต้นหม่อนที่แม่ปลูก เอาไปทำแยมบ้าง ทำน้ำบ้าง ซึ่งมันคือความครีเอทีฟที่เราเห็นอยู่ในดีเอ็นเอของคนที่นี่ และด้วยความที่เขาชอบเรียนรู้ เลยนำมาพัฒนาต่อให้ และเราก็คิดว่า Garden 232 จะเป็นโมเดลที่เราใช้สื่อสารกับคนอื่นด้วย”
น้ำลูกหม่อนของที่นี่ ออกรสเปรี้ยวนิดๆ หวานหน่อยๆ สดชื่นและชุ่มคอกำลังดี แต่ก็อดสงสัยไม่ได้ ร้านอยู่ลึกขนาดนี้ จะมีลูกค้าตั้งใจมาบ้างหรือเปล่า “คำถามเดียวที่ทุกคนถามคือ มาเปิดร้านตรงนี้จะมีคนมาเหรอ แต่คำตอบเกิดจาก ตอนนั้นมีงานศพที่วัด กลุ่มวัยคุณป้า แม่อุ้ย ที่มาช่วยกันทำกับข้าวด้านหลังวัด คุยกันว่า ทำไมรถเข้าออกเยอะจัง มันเป็นจุดที่เขาเห็นแล้วว่า ต่อให้เราอยู่ลึกแค่ไหน ถ้าเราพรีเซนต์ตัวเองได้ว่าเราคือใคร แล้วเราน่าจดจำยังไง คนจะคิดถึง และเขาจะมาหาเราเอง”
เช่นเดียวกับการจัดงานในปีแรก ที่ต่างคนต่างก็ลุ้นว่า จะมีคนมางานเยอะแค่ไหน แต่เมื่องานผ่านไปเพียงอาทิตย์แรก ก็ทำให้คนจัดยิ้มออก เพราะฟีดแบ็คที่ได้รับ ถือว่าดีเกินคาด
“อาทิตย์แรก ไม่มีใครมั่นใจกับเรา คนจะมาเยอะแค่ไหน ชาวบ้านก็ไม่มั่นใจ เตรียมของมาแล้ว จะขายให้ใคร ร้านก็ลึก ที่ก็ลึก แถมไม่ใช่ทางผ่าน คนที่มาคือมาด้วยใจล้วนๆ มาวัดดวงด้วยกัน แต่ผลตอบรับมันเกินกว่าที่เราคิดไว้มาก” คุณเอเล่าบ้าง และที่ว่าเกินคาดนั้น หมายถึงในแต่ละอาทิตย์ มีนักท่องเที่ยวไม่ต่ำกว่า 1,000 คน ที่เหนือกว่านั้น คือ มายเซ็ตของคนรุ่นพ่ออุ้ยแม่อุ้ยเริ่มเปลี่ยน จากที่เคยตั้งคำถามก่อนจัดงานว่า “จะทำไปทำไม” และ “จะทำยังไง” กลายเป็นเริ่มสนุกและตื่นเต้นกับงานในอาทิตย์ถัดไป
สินค้าโอท็อป แค่ปรับดีไซน์ ก็ขายได้แล้ว
จากมะนาวที่ขายไม่ออกในสัปดาห์แรก เมื่อลองเปลี่ยนแพคเกจจิ้งใหม่ เป็นการใส่ตะกร้าสานชะลอมเก๋ๆ สำหรับเป็นของฝากหรือของที่ระลึก ทำให้อาทิตย์ต่อมา สามารถขายได้หมดเกลี้ยง และช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้าไปในตัว
“สิ่งที่เขาขาย คือสิ่งที่เขาเป็น และเขาอยู่กับมันจนชิน แต่คนอื่นเขาไม่รู้ คนที่เข้ามาเห็น ก็ชอบ ประทับใจ ทำให้สินค้าขายดี อาทิตย์ต่อมา ก็เริ่มใส่ไอเดียตัวเองลงไป ทำแพคเกจจิ้งใหม่ให้น่าสนใจ โดยเรียนรู้จากร้านอื่นๆ ที่ขายของคล้ายๆ กัน” คุณเอ อธิบาย
“เราบอกคนในชุมชนว่า ถ้าขายของกิน ไม่มีใครรู้หรอกว่าอร่อยหรือเปล่า เพราะเขาไม่ได้ชิม แต่ถ้ามันสวย คุณก็ขายได้แล้ว หรือถ้าถ่ายรูปแล้วสวย ก็ขายได้แน่ๆ ถ้าซื้อไปอร่อย เขาจะกลับมาหาคุณอีก เราบอกให้เขาคิดง่ายๆ แค่นี้ ไม่ต้องคิดอะไรมาก เป็น key message ที่พยายามจะสื่อสาร คือ ทำให้ง่ายเข้าไว้ เป็นเรื่องใกล้ตัว และนำเสนอความเป็นตัวเอง
“โจทย์ที่เราตั้งไว้คือ มีความสุขกับสิ่งที่เรามีหรือ inside out ฉะนั้น การพัฒนาหรือการปรับปรุงเพิ่มมูลค่าอะไรต่างๆ เราอยากให้มันเกิดจากอินไซด์ของเขา แล้วให้เอาต์ออกมา ซึ่งมันยั่งยืนกว่า เพราะถ้าไม่ได้มาจากตัวเขาจริงๆ วันหนึ่งเขาจะเบื่อ และเอียนกับมัน เราอยากให้เกิดภาพนี้มากกว่า เพราะฉะนั้น โครงการนี้อาจไม่ได้ใช้เวลาแค่ปีสองปี เพราะมันคือการปรับมายเซ็ตของคนสูงอายุ”
ปีต่อไป…ยกให้ชุมชนเป็นเจ้าของงาน
Sunday Craft Market จบไปแบบสวยงาม ส่วนหนึ่งได้รับการสนับสนุนจาก ททท.เชียงราย แต่หลักๆ มาจากทุนทรัพย์ส่วนตัวของผู้จัด ที่ยอมควักกระเป๋าตัวเอง เพื่อหลีกเลี่ยงขั้นตอนที่ยุ่งยากและการดีลกับภาครัฐ
“เราเริ่มต้นด้วยความง่าย ทุกอย่างง่ายๆ เราคิดแค่นี้เลย เราลงมือทำ เพราะอยากทำงานจริงๆ แล้วก็ลุกขึ้นมาทำทันที ซึ่งมันคล่องตัวกว่า เลยเลือกที่จะไม่ขอรับสปอนเซอร์จากใครเลย ททท.เป็นเหตุผลยกเว้นเพราะเราเข้าใจกัน และเขาไม่ได้ต้องการอะไรจากเรา ไม่มีเงื่อนไขใดๆ แต่พร้อมที่จะสนับสนุนในสิ่งที่เราทำอย่างเต็มที่” คุณญาดาเล่าต่อว่า “อีกอย่างคือ เราอยากเปลี่ยนมายเซ็ต ไม่ว่าจะเป็นคนในชุมชน หรือทุกๆ คน ที่รอพึ่งคนอื่น รอพึ่งภาครัฐ อะไรก็ตามที่มันจะเข้ามาหาเรา แต่นั่งเฉยๆ มันไม่ได้อะไร แล้วจะให้เขาจำเราในแบบไหน”
สำหรับการจัดงานในปีต่อๆ ไป ทั้งคู่ตั้งใจที่จะยกให้ชุมชนเป็นเจ้าของงานอย่างเต็มตัว “เราอยากดึงทุกกลุ่มของหมู่บ้านให้เข้ามามีส่วนร่วม ทั้งกลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มโอท็อป กลุ่มนักเรียน บ้าน วัด โรงเรียน จะเป็นความร่วมมือของทุกกลุ่ม ไม่งั้นจะกลายเป็นว่าเราจัด แล้วชุมชนเอาของมาเฉยๆ ซึ่งเราไม่ต้องการแบบนั้น
“เราอยากให้ทุกคนรู้สึกเป็นเจ้าของงาน และมีส่วนร่วมในการจัดงาน ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ ไปคนเดียวมันถึงเร็ว แต่ไปด้วยกันมันสนุกกว่า อย่างน้อยๆ ถ้าคนในชุมชน มีกิจกรรมทำร่วมกัน แล้วมันก่อให้เกิดรายได้ จะทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนขึ้น
“ปีต่อไปเราจะขายบูท และตั้งเป็นกองทุนของหมู่บ้านเพื่อทำเรื่องนี้โดยเฉพาะ ต้นทุนและกำไรจะเป็นของชุมชน เงินที่เหลือจะเอาไปพัฒนาหมู่บ้าน เพื่อเดินไปสู่การเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวสร้างสรรค์ เราอยากให้มันค่อยๆ โตไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น ภาพจะไม่ได้จบที่งานนี้ แต่ไปจบที่หมู่บ้าน” คุณเอ สรุป
โมเดลต้นแบบ ตลาดของชุมชน
“เราอยากให้ตลาดเป็นโมเดลสำหรับชุมชนอื่นที่อยากทำ หรือต้องการดึงคุณค่าในตัวเองออกมาสื่อสาร” คุณญาดาเล่าถึงปลายทางที่ฝันไว้ คุณเอ เสริมว่า “เราเป็นเพียงคนจุดไฟส่องให้คนอื่นเห็นว่าชุมชนเราเป็นแบบนี้ เพราะผมเชื่อว่าทุกชุมชนมีสิ่งที่ดี เพียงแต่ว่าจะทำยังไงให้คนอื่นเห็น
“สิ่งหนึ่งที่ผมเชื่อคือ ถ้าเราภูมิใจกับสิ่งที่เราทำ ทุกอย่างจะดีหมด แต่คุณต้องภาคภูมิใจก่อน คนรุ่นเก่าเขาชินกับสิ่งที่ทำมานาน จนลืมไปแล้วว่ามันสำคัญตรงไหน วันหนึ่งมีคนเดินมาแล้วบอกว่า สิ่งนี้มันสำคัญนะ สิ่งนี้มันดี มันจะกระตุ้นให้เขารู้สึกเหมือนย้อนเวลากลับไปเมื่อ 30-40 ปีที่แล้ว วันที่ไฟยังไม่หมด
“พอมันกลับมา เขาจะเริ่มทำอะไรต่อไปได้อีก เพราะศักยภาพของคนไม่มีวันหมด ถึงจะอายุ 60 เกษียณแล้วก็ตาม”
“อีกเรื่องที่เราคาดหวังจากการทำโปรเจกต์นี้ ในช่วงปีที่ผ่านมาเทรนด์ของบ้านเรา รายได้หลักมาจากการท่องเที่ยว จนเกิดมีการท่องเที่ยวชุมชนขึ้น แต่พอมีโควิด-19 มันตอบโจทย์แล้วว่า ถ้าเกิดสถานการณ์ที่คนมาเที่ยวไม่ได้ รายได้จากการท่องเที่ยวหายไป แล้วเขาจะทำยังไง ซึ่ง ณ ตอนนี้แม้ว่ารายได้จากการท่องเที่ยวหายไป แต่คุณยังมีภาพลักษณ์ให้คนจำได้ มีสินค้ามีของที่เขาต้องการอยู่ เขาก็คิดถึงเรา รายได้จะเกิดจากตรงนั้น ถ้าเราเตรียมตัวไว้ ให้เขาจำเราแบบนี้ ไม่ว่าจะสถานการณ์ใดๆ จะเกิดขึ้น เราจะสามารถพลิกแพลงตัวเองให้รับมือกับเรื่องพวกนี้ได้” คุณญาดา สรุปทิ้งท้าย
พลังเล็กๆ ที่มาจากมายด์เซ็ตที่ดี จะช่วยนำพวกเขาไปสู่เป้าหมายที่ตั้งใจไว้เป็นแน่…
Sunday Craft Market
54 ม.9 ต.ป่าอ้อดอนชัย อ.เมืองเทศบาลนครเชียงราย จ.เชียงราย
โทร. 063-661-6155
www.facebook.com/SundayCraftMarket/
ภาพประกอบกิจกรรมของงานจากเพจ Sunday Craft Market