Hecheomoyeo!
‘The Hecheomoyeo’ คอลเลกทีฟคนสร้างสรรค์จากทั่วทุกมุมโลก ที่ฉีกทุกกฎเกณฑ์การแสดงงานศิลปะ
- คุยกับ ‘นีล- สมิธ’ ผู้ริเริ่มและตัวตั้งตัวตีของ ‘The Hecheomoyeo’ คอลเลกทีฟศิลปะนานาชาติที่รวบรวมผลงานคนสร้างสรรค์ไปจัดแสดงทั่วโลก เพราะเชื่อว่าคนทุกคน และงานทุกประเภทควรได้รับการมองเห็น
เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เรามีโอกาสได้ไปเดินเที่ยวเล่นที่ ‘อาร์ตมาร์เก็ต’ ตามคำเชิญชวนของเพื่อนคนหนึ่ง…พวกเรานัดกันที่ ‘HUGS Songwat’ คาเฟ่ของสองสามีภรรยาชาวญี่ปุ่นในย่านวัฒนธรรมสุดฮิป เพื่อกินข้าวเช้าและจิบกาแฟ ก่อนจะไปจับจ่ายใช้สอยบูธร้านค้าเล็กๆ ซึ่งตั้งอยู่ด้านหน้าร้าน
แต่สิ่งที่เราสังเกตเห็นระหว่างกำลังนั่งกินอย่างเอร็ดอร่อยคือ งานศิลปะนับร้อยชิ้นที่อยู่ตามฝาผนังร้านทั้งในชั้น 1 และชั้น 2 ซึ่งดูแล้วไม่ใช่ฝีมือคนคนเดียวแน่นอน เพราะบางชิ้นก็ดูมีเทคนิคที่ซับซ้อน บางชิ้นก็ดูเหมือนทำโดยมือใหม่
‘งานพวกนี้เป็นของใครกันนะ?’ เราเก็บความสงสัยไว้ในใจ ก่อนจะเดินออกมาช้อปปิ้งข้างนอกและพบกับงานคราฟต์ ภาพวาด งานศิลปะอีกจำนวนมาก แถมยังมี Live Painting อยู่ที่มุมร้านอีก ที่สำคัญ! พ่อค้าแม่ขายเหล่านี้ไม่ใช่คนไทยไปแล้วเกินครึ่ง
หลังจากถามไถ่และเสิร์ชหาอยู่สักพักก็พบว่า พวกเขาคือ ‘The Hecheomoyeo’ คอลเลกทีฟศิลปะนานาชาติที่รวมตัวกันเพื่อจัดนิทรรศการ เน็ตเวิร์กกิง และจัดกิจกรรมกันแบบที่เราเห็นกัน
‘แล้วใครกันอยู่เบื้องหลังทั้งหมดนี้?’ เราตัดสินใจทักเพจไปเพื่อหาคำตอบ จนได้พูดคุยกับ ‘นีล- สมิธ’ ชาวอเมริกันผู้ริเริ่มและเป็นตัวตั้งตัวตีของกลุ่ม และด้วยความบังเอิญว่าตอนนี้นีลก็อยู่กรุงเทพฯ พอดี เราเลยตัดสินใจนัดแนะชวนเขาพูดคุยกันซะเลย ว่าจุดเริ่มต้นในการรวมตัวคนหลากหลายประเทศนี้เกิดขึ้นได้ยังไง? เขาทำไปทำไม? และมันช่วยอะไรคนทำงานสร้างสรรค์บ้าง?
Hecheomoyeo and How it Began
ย้อนกลับไปเมื่อ 3 ปีที่แล้ว นีลจากบ้านเกิดในรัฐคอนเนคติกัต ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อมาเป็นครูสอนภาษาอังกฤษในประเทศเกาหลีใต้ แต่ทุกอย่างกลับไม่เป็นอย่างที่คิดไว้… นีลพบว่าการสอนไม่ใช่ทาง เขาเลยเริ่มเล่นสนุก โดยการเจียดเวลาว่างมาถ่ายเอกสารชีตที่ใช้ในการสอน ตัดแปะเป็นศิลปะคอลลาจ จนได้ไปแสดงงานตามนิทรรศการต่างๆ และทิ้งอาชีพครูเพื่อก้าวสู่การเป็นอาร์ทิสต์อย่างเต็มตัวในที่สุด
นีลได้คลุกคลีและพูดคุยกับศิลปินคนอื่นมากขึ้น เข้าใจธรรมชาติของโลกศิลปะมากขึ้น พอได้จังหวะที่เหมาะเจาะเลยตัดสินใจจัดนิทรรศการแบบกลุ่มเมื่อเดือนสิงหาคมปี 2566 เพื่อช่วยโปรโมตแกลเลอรีน้องใหม่ในกรุงโซล ไปพร้อมๆ กับการซัปพอร์ตเพื่อนศิลปินด้วยกันเอง
“อย่างที่รู้กันว่าวัฒนธรรมเกาหลีมีความอนุรักษนิยมมากๆ แบ่งต่างชาติกับคนในชาติตัวเองออกจากกันแบบชัดเจน ตอนนั้นเราเลยมีแนวคิดว่าอยากจัดอะไรที่เบลนด์ทุกคนเเละงานทุกแบบเข้าด้วยกัน อยากให้เป็นอาร์ตสเปซที่ดูวุ่นวายหน่อยๆ แล้วให้คนที่มาดูตีความกันเอาเองว่า พวกเราต้องการจะสื่ออะไร”
ในส่วนของชื่อ นีลเล่าว่า ตอนแรกกะจะเรียกกันง่ายๆ ว่า ‘Artist Networking’ นี่แหละ แต่ดันมีเพื่อนศิลปินชาวเกาหลีคนนึงเสนอคำว่า ‘Hecheomoyeo (เฮ-ชโย-โม-โย)’ มา ซึ่งเป็นคำสั่งที่ใช้กันในกรมทหารเกาหลี แปลสั้นๆ ง่ายๆ ว่า “รวมพล!” เขาเลยให้ผ่านในทันที “แถมมันยังฟังดูบ้าๆ อ่านยากอีกต่างหาก เลยยิ่งชอบ” นีลเล่าพร้อมหัวเราะ
A Space for All
นานวันเข้านิทรรศการกลุ่มที่ว่านั้นก็ค่อยๆ ก่อตัวเป็น ‘คอลเลกทีฟ’ หรือการรวมพลของคนทำงานสร้างสรรค์ในรูปแบบนิทรรศการ ที่ไม่แบ่งแยกเพศ เชื้อชาติ ศาสนา อายุ ใดๆ ทั้งสิ้นเพื่อคอลเเล็บ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และสร้างบรรยากาศการทำงานที่ดี
จากแรกเริ่มมีศิลปินเข้าร่วมแค่ 15 คน ก็ค่อยๆ เพิ่มเป็น 60 คน และ 190 คนในครั้งถัดไป จนในนิทรรศการครั้งที่ 8 (พฤศจิกายน 2567) สมาชิกของ The Hecheomoyeo เพิ่มขึ้นเป็น 327 คน จากทั่วทุกมุมโลก! แถมนีลยังเคลื่อนย้ายพลพรรคมาจัดแสดงที่กรุงเทพฯ บ้านเราด้วยนะ โดยมีโลเกชันหลักเป็นคาเฟ่ ‘HUGS Songwat’ ซึ่งเป็นที่มาของงานศิลปะนับร้อยที่เราเห็นในร้านนั่นเอง
การจะเข้ามาเป็นสมาชิกไม่ยากเลย “มันเป็นคอลเลกทีฟ โอเพนดอร์ เพราะฉะนั้น เเค่พูดว่าตัวเองเป็นสมาชิกของที่นี่ กรอกฟอร์มสั้นๆ แล้วนำงานมาแขวนในวันจริง แค่นี้ คุณก็เป็นเมมเบอร์แล้ว ไม่มีพิธีรีตองอะไรมากมาย” นีลอธิบายด้วยท่าทีสบายๆ
เขาพยายามจะไม่ปฏิเสธผลงานของใครเลย นอกซะจากว่าผลงานจะมีความรุนแรงหรืออนาจารจนเกินไป ที่นี่เลยมีตั้งแต่ศิลปินตัวน้อยอายุ 8 ขวบ ไปจนถึงศิลปินที่เคยไปจัดแสดงงานที่มิวเซียมใหญ่ๆ แบบ MOCA มาแล้ว โดยทุกคนจะได้รับการปฏิบัติแบบเท่าเทียมกัน และได้พื้นที่แสดงงานเท่ากัน โดยส่วนมากอยู่ที่ 60 x 60 เซนติเมตร
ใครชอบวาดก็เอาภาพวาดมาแปะ ใครชอบถ่ายภาพก็เอาภาพถ่ายมาโชว์ ส่วนใครสนใจอาร์ตในฟอร์มอื่นๆ เช่น การเต้น เล่นดนตรี ถ่ายวิดีโอ หรือ Live Painting ก็ไม่ต้องกังวลไป เพราะนีลจัดนิทรรศการของเขาในรูปแบบ ‘Living Gallery’ เสมอ
พูดให้เข้าใจง่ายๆ มันคือแนวคิดที่แกลเลอรีเป็นมากกว่าสถานที่โชว์งานบนผนังสีขาว แต่เป็นสถานที่ที่มีชีวิตชีวา มีความเคลื่อนไหวอยู่ในนั้นด้วย เราเลยได้เห็นอีเวนต์สนุกๆ จาก The Hecheoyomeo อยู่บ่อยๆ
Art World Problems
ทั้งหมดนี้ นีลทำแบบเเทบจะไม่คิดเรื่องเงิน เขาอยากให้คนสร้างสรรค์ทุกคนที่มาจัดแสดงงานและขายงานได้ ได้รับเงิน 70-100% เข้ากระเป๋าตัวเอง อาจจะมีหักค่าขนส่งบ้างเล็กน้อย ถ้าต้องส่งงานไปแสดงที่ต่างประเทศ แต่ในส่วนของสถานที่ นีลพยายามดีลกับคนที่มีอุดมการณ์ตรงกันให้ได้มากที่สุด เพื่อที่จะได้ซัปพอร์ตศิลปินได้อย่างสุดทาง
อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนอาจจะสงสัยว่า ‘แล้วนีลได้อะไรจากการทำสิ่งนี้?’
“เมื่อก่อนเคยฝันว่าอยากเป็นใครสักคน ในที่ไหนสักที่ เป็นอะไรก็ได้ที่ไม่ใช่สิ่งที่เป็นอยู่ในตอนนั้น แต่วินาทีที่เราขึ้นไปพูดเกี่ยวกับภาพวาดตัวเองครั้งแรกต่อหน้าคนอีก 20 คน วินาทีนั้นแหละที่เรารู้สึกว่าไม่อยากเป็นใครแล้ว อยากอยู่ในปัจจุบันมากที่สุด ประสบการณ์นั้นมีความหมายกับเรามากๆ และตอนนี้เราอยู่ในโพสิชันที่อาจจะมอบสิ่งนี้ให้คนอื่นได้ เราเลยอยากทำมัน” นีลตอบ ในแบบที่เราสัมผัสได้ถึงความรู้สึกที่ออกมาจากใจจริง
เขาเสริมอีกว่า เป็นเรื่องยากมากสำหรับคนทำงานศิลปะ ที่จะทำให้งานของพวกเขาได้รับการมองเห็น เพราะโลกของศิลปะมันถูกทำให้ดูลึกลับ เข้าถึงยาก อะไรๆ ก็แพง จับต้องไม่ได้ แล้วการจะทำงานร่วมกับแกลเลอรีก็ไม่ง่ายอีก กว่าจะแสดงงานนึงได้ ต้องทั้งถ่ายรูป ตั้งชื่อ คิดคอนเซปต์ วัดขนาดงาน ซึ่งไม่ใช่ทุกคนที่จะทำสิ่งเหล่านี้เป็น
อีกอย่างคำว่า ‘ศิลปิน’ ก็ดูมาพร้อมกับคอนเซปต์อะไรบางอย่าง เช่น คุณต้องเรียนจบมหาวิทยาลัยด้านศิลปะมานะ ต้องเคยมีนิทรรศการ ต้องเคยขายงานออก ทั้งที่ในมุมมองของนีล แค่สร้างสรรค์อะไรบางอย่างขึ้นมา คุณก็มีสิทธิ์ใช้คำนี้เเล้ว
เจตจำนงที่อยากจะทลายกำแพงซึ่งกั้นคนศิลปะออกจากวงการ เลยทำให้ทุกๆ นิทรรศการของ The Hecheomoyeo เปิดกว้างมากๆ แถมไร้คอนเซปต์ เพราะนีลอยากชวนให้คนดูทุกคนมาร่วมตีความความยุ่งเหยิงนี้ด้วยกันมากกว่า แถมศิลปินก็จะได้ไม่ต้องสร้างสรรค์งานภายใต้กฎเกณฑ์อะไรด้วย
“เราไม่ได้จะบอกว่าวิธีการของ Hechemoyeo ดีที่สุดนะ มีแหละคนที่มองว่าระบบของแกลเลอรีและอาร์ตแฟร์ทั่วๆ ไปตอบโจทย์การแสดงผลงานของเขา แต่สำหรับคนที่มองว่าไม่ตอบโจทย์ เราก็แค่เสนออีกทางเลือกนึงให้ ซึ่งระบบนิเวศของวงการศิลปะควรจะเป็นแบบนี้แหละ มีทางเลือกหลายๆ แบบ” นีลสรุป
Teamwork Makes Dreams Work
‘การทำงานเป็นกลุ่มสอนอะไรให้นีล’ เราถาม เพราะอยากรู้ความเปลี่ยนแปลงที่ The Hecheomoyeo สร้าง
นีลตอบติดตลกกลับมาว่า “มันเหมือนพวกสารคดีกาเซลล์หนีสิงโตนั่นแหละ ถ้าเกาะกลุ่มกันโอกาสที่จะรอดก็สูงขึ้น (หัวเราะ)”
ถ้าเอาคำตอบแบบจริงจังก็คือ การอยู่ในคอลเลกทีฟช่วยสร้างความสัมพันธ์ ทำให้เรามีคนให้แชร์ไอเดีย แชร์ความคิดเห็น อะไรดีก็พากันไป อะไรไม่ดีก็ช่วยกันเลี่ยง
ส่วนในเรื่องของการขายงาน แน่นอนว่าการเกาะกลุ่มกันทำให้ถูกมองเห็นง่ายขึ้น นีลมองว่า Hechemoyeo เป็นเสมือนบ่อน้ำที่อุดมไปด้วยศิลปินน้อยใหญ่ เวลาคอลเลกเตอร์ อาร์ตไดเรกเตอร์ หรือแกลเลอรีมาเยี่ยมชมนิทรรศการ จะได้พบกับศิลปินที่มีให้เลือกกว่า 300 คนในสถานที่เดียว และเขาไม่ลืมที่จะเเปะ QR Code โซเชียลมีเดียของศิลปินทุกคนไว้ข้างผลงานเพื่อการนี้โดยเฉพาะ
ยังไงก็ตาม นีลย้ำกับศิลปินอยู่เสมอว่า “การซื้อ-ขายงานได้ไม่ใช่ทุกสิ่ง สิ่งที่สำคัญเเละควรโฟกัสมากกว่าคือการสร้างความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนกับแกลเลอรีและคอลเลกเตอร์ เพื่อที่เราจะได้ร่วมจอยโปรเจกต์ใหม่ในอนาคตได้อยู่เรื่อยๆ”
ก่อนจากกันนีลพาเราทัวร์แกลเลอรีเฉพาะกิจของเขา รวมทั้งสตูดิโอทำงานเซอร์ๆ ไม่มีแอร์ ไม่มีไฟฟ้า แต่มากไปด้วยแพสชัน ซึ่งตั้งอยู่บนชั้น 3 ของอาคาร HUGS Songwat ระหว่างนั้นมีศิลปินแวะเวียนเข้ามาทักทายเขาแบบไม่ขาดสาย
นีลชี้และเล่าถึงงานศิลปะแต่ละชิ้นตลอดทาง จนเราแปลกใจว่า คนคนนี้ต้องทุ่มเทขนาดไหนถึงจำชื่อและผลงานศิลปินในการดูแลกว่า 300 ชีวิตได้เกือบทั้งหมด!
‘นีลมีแพลนจะไปจัด Hecheomoyeo ที่ไหนต่อ?’ เราถามทิ้งท้าย
“เราจะไปอินโดนีเซียเดือนหน้า เป็นครั้งแรกเลย ตอนนี้มีศิลปินอินโดลงสมัครแล้ว 250 คน และคิดว่าเราน่าจะขนงานจากที่นี่ไปเสริมทัพสัก 100 ชิ้น หลังจากนั้นที่คุยๆ อยู่ก็มี ไต้หวัน ญี่ปุ่น และแอฟริกาใต้ และในที่สุดก็คงเป็นอเมริกา เพราะแม่เราตื่นเต้นมากๆ ที่จะได้มาดู” เขาพักถอนหายใจเฮือกใหญ่ “…เหนื่อยนะ ยิ่งคนเยอะก็ยิ่งเหนื่อย แต่ถ้าไม่ทำก็คงคิดถึงมันเหมือนกัน เลยว่าจะทำต่อไปเรื่อยๆ”
ใครอยากเป็นหนึ่งในสมาชิก หรืออยากติดตามการเดินทางครั้งต่อไปของ The Hecheomoyeo สามารถเข้าไปอ่านเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์: https://www.hcmy.org/
หรือติดตาม IG: thehecheomoyeo