About
ART+CULTURE

The Trumpet Guy

‘ภาม ภูธน’ หนุ่มทรัมเป็ตที่กล้าข้ามเซฟโซนจนชนะ Solo Competition จาก TIJC ครั้งที่ 15

Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • ชวนเพื่อนๆ มารู้จัก ภาม – ภูธน เขมาภิระโต หนุ่มน้อยนักทรัมเป็ตจากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่กล้าข้ามเซฟโซนของตัวเองจนคว้าชัยใน Solo Competition จากเทศกาลดนตรีแจ๊ซนานาชาติครั้งที่ 15 เขาจะมาเล่าการเดินทางบนถนนดนตรีแจ๊ซเพื่อไต่เต้าไปสู่การเป็นนักทรัมเป็ตระดับโลกให้ฟัง

เป็นเวลากว่า 9 ปีแล้วที่นักดนตรีแจ๊ซชั้นปีที่ 4 อย่างภามที่ยังคงเดินตามแพสชั่นบนนครแห่งการบรรเลงเครื่องลมทองเหลืองที่ชื่อว่า ‘ทรัมเป็ต’ หรือที่เรามักเห็นหน้าค่าตาเครื่องดนตรีชนิดนี้ในวงโยธวาทิตกันอยู่บ่อยๆ

ความใฝ่ฝันที่เขาเคยตั้งมั่นไว้ตั้งแต่เด็กว่า “ผมอยากเป็นนักทรัมเป็ตระดับโลก” ในวันนี้ที่เราได้เจอกัน เขายังคงยืนยันคำเดิมด้วยน้ำเสียงล่กๆ ลนๆ อันเป็นลักษณะนิสัยชอบตื่นเต้นเป็นปกติของเขาเวลาที่เพิ่งจะรู้จักใครได้ไม่นาน

จากความฝันที่ว่าพาเขามาสู่ความสำเร็จอีกขั้น คือการชนะการประกวด Solo Competition จากเวที Thailand International Jazz Conference ครั้งที่ 15 จัดที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งก่อนหน้านี้เขาเคยลงแข่งมาแล้ว และเคยลงแข่งในรูปแบบวงร่วมกับเพื่อนของเขาด้วย การลงประกวดของภามนี่ล่ะที่น่าสนใจ เพราะนักทรัมเป็ตคนนี้บอกกับเราเองว่า เขาเป็นคนที่กลัวการแข่งขันเอามากๆ เวทีนี้เลยเป็นเสมือนการก้าวผ่านเซฟโซนของตัวเองด้วยเช่นกัน

ดนตรีแจ๊ซ

ภาม – ภูธน เขมาภิระโต นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาดนตรีแจ๊ซ เอกทรัมเป็ต วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล

เริ่มจับทรัมเป็ต

ถ้าเราเติบโตมากับสภาพแวดล้อมแบบใด สิ่งนั้นอาจหล่อรวมให้เกิดเป็นความชอบหรือตัวตนของเราในวันข้างหน้าได้เช่นกัน ประโยคนี้ถ้าเทียบกับวัยเด็กของนัก (ทรัมเป็ต) ศึกษา ปี 4 คนนี้แล้วก็ดูจะไม่เกินจริงเลย บรรดาแผ่นซีดีที่คนรุ่นพ่อหยิบใส่เครื่องเล่นเพลง ก่อนที่แผ่นจะเริ่มเล่นเพลงของวงต่างๆ ที่เปิดบ่อยหน่อยก็คงจะเป็นวง The Beatles หรือร็อกแอนด์โรลล์เท่ๆ ของวง Creedence Clearwater Revival ทำเอาเด็กชายภามค่อยๆ ซึมซับเสน่ห์ของเสียงดนตรีมาเรื่อยๆ จนเกิดความชอบฟังเพลงเก่า ขึ้นมา ซึ่งก็ได้มาจากการเปิดเพลงของพ่อนี่ล่ะ

ดนตรีแจ๊ซ

ตอนประถมต้นเด็กชายคนนี้บังเอิญไปเจอทรัมเป็ตของรุ่นพี่ในโรงเรียน ตอนนั้นยังไม่รู้จักว่าคืออะไร แค่รู้สึกว่าเท่ดี เลยขอรุ่นพี่มาลองเป่าดู เราถามไปว่าเป่าครั้งแรกเป็นยังไงบ้าง นักทรัมเป็ตตอบซื่อๆ ว่าเป่ายากมาก เป่าออกมาเป็นเสียงปู๊ดๆ แป๊ดๆ ไม่ได้ออกเป็นโทนที่ไพเราะอย่างทุกวันนี้เลย เขาหัวเราะให้กับการทำความรู้จักเจ้าทรัมเป็ตเป็นครั้งแรกของเขา

ดนตรีแจ๊ซ

โลกดนตรีของภามมาเริ่มต้นและเริ่มจริงจังตอนเข้าสู่ช่วงมัธยมต้น เหตุเกิดที่หน้าห้องวงโยธวาทิต จะมีโต๊ะปิงปองที่เขาชอบมาเล่นอยู่ทุกวัน ระหว่างนั้นก็แอบมองทรัมเป็ตในห้องนั้นอยู่บ่อยๆ วันหนึ่งรุ่นพี่ทรัมเป็ตวงโยฯ ก็เดินเข้ามาชักชวนด้วยคำพูดตามประสาวัยสะรุ่น

“อยากเท่เหมือนกูเปล่า อยากเล่นเป็นเปล่า” ด้วยใจชอบทรัมเป็ตมาแต่ไหนแต่ไร มีเหรอจะลังเล ภามก็ตอบตกลงสมัครเข้าวงโยฯ แล้วก็เริ่มฝึกเล่นทรัมเป็ตตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ดนตรีแจ๊ซ

สัมผัสเพลงแจ๊ซ

“จุดที่ทำให้อยากเรียนดนตรีเพราะผมอยู่วงโย ซึ่งตอนเเรกผมคิดจะสอบเข้าดนตรีคลาสสิก เเต่พอฟังเพลงเเจ๊สไปเรื่อยๆ เเล้วรู้สึกถูกจริตกว่าครับ” ภามเล่าถึงความตั้งใจจะมุ่งเรียนสายดนตรีในช่วงมัธยมปลายให้ฟัง ซึ่งตอนนั้นเขาก็เริ่มหันไปคลุกคลีกับดนตรีแจ๊ซบ้างแล้ว เพราะบังเอิญไปเจอเพลงแจ๊ซของ ‘Arturo Sandoval’ นักทรัมเป็ตแจ๊ซชาวคิวบา-อเมริกันเข้า แล้วรู้สึกว่าเสียงที่ได้ยินออกจะแปลกหู ฟังแล้วไม่เข้าใจ แต่มันเพราะเหลือเกิน

“ผมวิ่งไปถามครูวงโยฯ ว่าดนตรีนี้เรียกว่าอะไร พอรู้ว่าคือดนตรีแจ๊ซ ครูก็แนะนำเพลง So What ของ Miles Davis มือทรัมเป็ตระดับโลก ผมฟังแล้วตกใจเลย เพราะไม่เข้าใจว่าเขาเล่นอะไร เขาจะเป็นคนเล่นน้อยๆ ให้ความรู้สึกเย็นๆ สบายๆ แต่ฮาร์โมนีของเขายากมากและเพราะมากๆ ผมพยายามแกะโซโลของเขาแต่ก็ไม่เข้าใจอยู่ดี ไม่รู้ว่าเขาคิดอะไรอยู่ แต่เขาเท่มาก”

ดนตรีแจ๊ซ

ดนตรีแจ๊ซมีรูปแบบบรรเลงที่ไม่ตายตัวและจะเล่นด้วยการเน้นอิมโพรไวส์ หรือการคิดโซโลแบบด้นสดออกมาเลย นักดนตรีแจ๊ซจะต้องอาศัยการฟังเสียงจากเครื่องดนตรีอื่นขณะเล่น เพื่อประสานเสียงและบรรเลงบทเพลงร่วมกับนักดนตรีแจ๊ซในวงร่วมกัน ดนตรีแจ๊ซจะเล่นด้วยเครื่องดนตรีชนิดไหนก็ได้ อีกทั้งยังสามารถผสมผสานแนวเพลงอื่นๆ เข้ามาได้อย่างไม่มีถูกผิด ท่วงทำนองแจ๊ซจึงเต็มไปด้วยความสร้างสรรค์ที่ให้ความรู้สึกแปลกใหม่ และบางทีก็คาดไม่ถึงอยู่เสมอ

เหตุผลที่ว่ามานี้ผนวกกับการได้ฟังอัลบั้ม Red Clay ของ Freddie Hubbard นักทรัมเป็ตระดับโลกชาวอเมริกันอีกคนที่ถือว่ามีลีลาการเล่นโซโลที่กินขาดมากๆ ในความคิดของภาม ก็นับว่าเป็นจุดสำคัญที่ทำให้เขาเลือกเรียนต่อด้านดนตรีแจ๊ซที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ดนตรีแจ๊ซ

ชีวิตนักดนตรีที่มีแต่ซ้อมกับซ้อม

นักดนตรีที่ต้องการพัฒนาฝีมือให้ดีขึ้นก็ต้อง ‘ฝึกซ้อม’ อย่างสม่ำเสมอ นักทรัมเป็ตขี้กังวลคนนี้เลยพาเราเดินขึ้นอาคารเรียน และระหว่างที่ลิฟต์กำลังเคลื่อนตัวไปยังชั้น 3 เราก็ได้ยินเสียงเครื่องเป่าที่ทั้งกำลังเป่าไต่ระดับโน้ตตีคู่ไปกับเสียงเป่าเป็นบทเพลงวนไปวนมาอยู่หลายเพลง กระทั่งประตูลิฟต์เปิดออก ฉากตรงหน้าก็ฉายภาพชีวิตนักศึกษาดนตรีที่ต่างคนต่างนั่งหลบมุมซ้อมเครื่องดนตรีของตน ทำเอาเราเผลอพูดกับภามไปว่า ‘ที่นี่ดูจริงจังมากๆ เลย’ ระหว่างที่เดินผ่านพวกเขา

“ที่นี่การแข่งขันสูงมากๆ ครับ เป็นภาพที่ก่อนผมจะเข้ามาและหลังจากที่เข้ามาเรียนแล้ว มันก็ไม่ต่างไปจากเดิมเลย ผมเป็นคนขี้ตื่นตระหนก ขี้กังวลเป็นนิสัยอยู่แล้ว ตอนเข้ามาเรียนปี 1 แรกๆ เห็นเพื่อนๆ ที่เคยเรียนที่นี่มาตั้งแต่ Pre-College เขามาเล่นแจมกับรุ่นพี่ ทุกคนเก่งกันมากๆ ผมเครียดมาก แล้วก็ได้แต่มองตัวเองว่า เราทำอะไรอยู่วะ” ขอวงเล็บด้วยว่า แม้ตอนนี้จะเป็นนักศึกษาปี 4 ใกล้จบแล้ว เขาก็ยังคงรู้สึกแบบนั้นอยู่บ้างในบางครั้ง

ดนตรีแจ๊ซ

ดนตรีแจ๊ซ

การฝึกฝนดนตรีสไตล์แจ๊ซควรจะฝึกเล่นด้วยการเข้าไปแจมกับเพื่อนนักดนตรีแจ๊ซด้วยกัน จะเป็นวิธีที่เวิร์กที่สุดแล้วในความคิดภาม เขาเลยพาเราไปหยุดที่มุมโล่งๆ มุมหนึ่งของชั้น 3 ก่อนเฉลยว่า หลังพักเรียน ภามจะมาแจมกับเพื่อนสนิทของเขาที่นี่ทุกวัน เพราะการได้ยินเพื่อนโซโล ก็เหมือนได้ถอดการเรียนรู้ภาษาดนตรีของเพื่อนไปในตัวด้วย นี่ล่ะคือข้อดีที่จะช่วยพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ในด้านนี้ไปพร้อมกันด้วย

“เวลาเรียนหรือเล่นทรัมเป็ตคนเดียว ผมจะเครียด คิดเยอะ เกร็ง เล่นไม่ออก เพื่อนเลยมักจะบอกผมเสมอว่าให้เล่นไปเลย ไม่ต้องคิดอะไร นอกจากอาจารย์ ผมก็มีเพื่อนเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ผมพัฒนาการเล่นมาจนถึงทุกวันนี้เลย ผมสบายใจและมีความกล้าทุกครั้งเวลาที่ได้เล่นดนตรีกับเพื่อน”

ภามยังมีโอกาสได้ไปลองเล่นดนตรีที่บาร์แจ๊ซอยู่หลายที่จากคำชักชวนของอาจารย์ด้วย “มันเหมือนเราได้ฟังว่าโลกข้างนอกเขาเล่นยังไงบ้าง บางทีก็มีฝรั่งมาเล่นให้ดู เราก็ได้ฟังภาษาแจ๊ซของคนอื่นๆ มันเป็นประสบการณ์ที่ดีช่วยให้ผมพัฒนาขึ้นเยอะมาก”

ดนตรีแจ๊ซ

Solo Competition

TIJC ปี 2024 ที่ผ่านมาจัดเป็นครั้งที่ 15 ความพิเศษของเทศกาลในทุกปีคือการเชิญนักดนตรีแจ๊ซระดับโลกมาแสดงบนเวที ซึ่งหาดูได้ยากแล้ว การเปิดโอกาสให้บุคคลทั้งภายในและภายนอกได้เข้าร่วมเวิร์กช็อปกันอย่างใกล้ชิดกับนักดนตรีแจ๊ซนับว่าหายากยิ่งกว่า TIJC เลยจุดประกายแรงบันดาลใจให้ภามอยู่ตลอด จนเขาพูดขำๆ ว่า “จัด 3 วันไม่พอ เพราะรู้สึกไม่อิ่ม ถ้ามีสักวีคหนึ่งจะดีมากเลย เพราะผมจะได้ฟังนักดนตรีแจ๊ซระดับโลกแล้ว ยังได้ดูวิธีการเล่นของเขาได้แบบอิ่มๆ ด้วย”

ภายในเทศกาลยังจัดเวทีการประกวดเพื่อเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับนักดนตรีรุ่นใหม่ แม้ว่าภามจะพูดกับเราอยู่บ่อยๆ ว่าเล่นไม่ค่อยดี เป็นคนไม่ค่อยมั่นใจในตัวเอง ขณะที่ว่าเราพูดคุยกันเกินครึ่งชั่วโมงแล้ว ภามก็ยังดูเกร็งๆ กับเราอยู่เลย แต่พอมาคิดถึงเรื่องที่เขาเพิ่งจะชนะการประกวด Solo Competition จากเทศกาลดนตรีแจ๊ซนานาชาติไป ก็ดูเหมือนว่า การประกวดเวทีนี้ถือเป็นการเอาชนะความกลัวของเขาไปด้วยหรือเปล่า

“ใช่ครับ จริงๆ แล้วผมไม่กล้าลงแข่ง เพราะกลัวมากๆ แต่อาจารย์อยากให้ลองแข่ง เขามองว่าสกิลของผมโอเคพอที่จะลงแข่งได้แล้ว ผมก็เลยลองส่งคลิปออดิชันเข้าไป เพราะไม่อยากขัดใจเขา สรุปเข้ารอบ (หัวเราะ) ทีนี้ทางเทศกาลฯ เขาก็มี 3 เพลงมาเป็นโจทย์ให้ฝึกซ้อม เพื่อที่ตอนแข่งจริง เขาจะให้เราสุ่มหยิบลูกปิงปองมาเล่นเพลงใดเพลงหนึ่งจาก 3 เพลงนั้นครับ”

ดนตรีแจ๊ซ

ภามอธิบายถึงการลงแข่งขันให้ฟัง ก่อนจะเล่าถึงโมเมนต์ที่รู้ว่าตนเองชนะด้วยสีหน้างุนงง “ผมดีใจนะครับ แต่เหวอหนักกว่าอีก ซึ่งตอนนี้ก็ยังเหวออยู่ว่าเป็นไปได้ยังไง เพราะพอมาดูคลิปที่ตัวเองเล่นก็รู้สึกว่ายังต้องแก้อีกเยอะเลย”

อย่างไรก็ตาม พอถามว่าหลังจากนี้มีเล็งจะไปลงแข่งเวทีอื่นไหม เขาก็เผยด้วยความจริงใจว่า แม้จะชนะแต่เขายังคงไม่ชอบการแข่งขันบนเวทีอยู่ดี ภามให้เหตุผลว่า แม้นักดนตรีจะโชว์ลีลาการเล่นในแบบของตนเองมากแค่ไหน การตัดสินก็ยังคงเป็นไปตามรสนิยมของกรรมการ การแข่งขันเลยทำให้เขารู้สึกกดดันพอสมควร ทั้งนี้ ในอีกแง่หนึ่งภามก็มองว่าการมีอยู่ของเวทีการประกวดเป็นโอกาสสำคัญที่จะทำให้นักดนตรีที่เอ็นจอยกับการแข่งขันได้ท้าทายอะไรใหม่ๆ เพื่อพัฒนาฝีมือไปในตัวด้วย เพียงแต่วิธีนั้นไม่ใช่ทางของเขาเท่านั้นเอง

ดนตรีแจ๊ซ

ดนตรีแจ๊ซ

เส้นทางนักดนตรี (ไม่) เต้นกินรำกิน

‘นักดนตรีเป็นอาชีพเต้นกินรำกินที่ดูไม่มีอนาคต’ อาจจะดูเป็นการแสดงความคิดเห็นที่อคติมากไปหน่อย แต่สมัยก่อนนั้นก็คงต้องยอมรับว่า มีคนจำนวนไม่น้อยเลยที่เห็นด้วยกับประโยคนี้ แม้กระทั่งพ่อแม่ของภามเอง ก่อนจะเข้าเรียนดนตรีแจ๊ซ เขาก็เป็นอีกคนที่ต้องพิสูจน์ความตั้งใจให้พ่อแม่เชื่อมั่นในตัวเขาอยู่ด้วยเช่นกัน

“พ่อแม่เขาอาจไม่ได้มองภาพเดียวกับเราในเรื่องดนตรี ผมมีเพื่อนสนิทที่พ่อแม่เขาก็สนิทกับพ่อแม่ผม เขาก็ช่วยพูด ค่อยๆ ปรับความเข้าใจ พอเขาเห็นว่าผมมีความตั้งใจจริง เขาก็ยอม ตอนนี้มองว่าผมสามารถสร้างเนื้อสร้างตัวจากดนตรีได้ จากการไปเล่นดนตรีในบาร์แจ๊ซ ซึ่งอาจารย์ผมนี่แหละชวนไปเล่น หรืออย่างเวลาผมเรียนเสร็จ กลับมาเล่นทรัมเป็ตที่บ้าน ผมมักจะบอกแม่เสมอว่า ชอบเล่นมากเลยนะ แม่ก็อยากเห็นผมมีความสุข ก็เลยยอม”

ดนตรีแจ๊ซ

มาจนถึงวันนี้เขาดีใจที่ตนเองมีโอกาสได้เรียนในสิ่งที่รักแล้ว ความใฝ่ฝันที่ภามเปรยกับเราไว้ตั้งแต่แรกๆ ว่าอยากเป็นนักทรัมเป็ตระดับโลกก็ดูจะไม่ใช่เรื่องที่ฝันไป เพราะตั้งแต่ฟังภามให้สัมภาษณ์มา ไม่มีก้าวไหนเลยที่เขาจะมาเล่นๆ

“ถ้าเรียนจบปี 4 แล้ว ผมจะเก็บเงินเพื่อไปเรียนต่อที่ Julliard School ครับ ที่นั่นมีแต่คนเก่งๆ แล้วมี Wynton Marsalis เขาเป็นหัวหน้าทรัมเป็ตที่นั่นด้วย ถ้าได้ไป ผมก็คงได้ประสบการณ์เยอะแยะเลย”

ดนตรีแจ๊ซ

ส่วนอีกหนึ่งความฝันคือการทำเพลงแจ๊ซที่มีกลิ่นอายแบบ R&B หรือที่ภามเรียกว่าเป็นแจ๊ซฟิวชัน โดยเล่นเป็นวงกับเพื่อนๆ ของเขา “ผมว่าผมเติบโตมาด้วยกันกับเพื่อน เพื่อนเป็นเซฟโซนของผม ผมก็เลยอยากมีวงที่จะเล่นได้แบบมีความสุขกับเพื่อนๆ น่ะครับ”

Tags: