Wamp Co.
Wamp Co. – Crafting Community เพื่อเติมเต็มคนชอบทดลองสิ่งใหม่และพัฒนาใจไปพร้อมกัน
- ชวน พั้นช์ – พิมพ์นารา สินทวีวงศ์ มาพูดคุยถึงเส้นทางของ Wamp Co. – Crafting Community เวิร์กช้อปสเปซที่ขยันเติมเต็มพลังใจ จุดประกายความคิดให้กับคนชอบทดลอง คนว่างๆ และคนขี้เบื่อมาพบปะ นั่งถกประเด็น ทำงานศิลป์และฮีลลิ่งใจไปด้วยกัน
ก่อนหน้านี้เราสมัครเข้าร่วมเวิร์กช้อปหนึ่งจัดใน Wamp Co. สเปซที่ตั้งอยู่ในซอยเพชรเกษม 12 ติดกับ MRT ท่าพระ ซึ่งตอนที่เดินเลี้ยวเข้ามา ทำเอาเราประหลาดใจมาก เพราะไม่คิดว่าภายในซอยเล็กๆ ล้อมรอบไปด้วยตึกแถวเก่าๆ เรียงชิดกัน ดันแอบซ่อน Community ดีๆ ทั้งร้านหนังสือ Somewhere Bookshop Home & Cafe คาเฟ่เปิดใหม่เลยอย่าง Sealeaf House Cafe ที่คนตั้งใจมาเท่านั้นล่ะถึงจะรู้จัก
Wamp Co. ตั้งอยู่อย่างเงียบๆ ระหว่างคาเฟ่ทั้งสอง แต่เราประทับใจที่นี่ตั้งแต่วันที่มาทำเวิร์กช้อป เลยต้องขอวนกลับมาอีกครั้ง เพราะตั้งใจมาพบกับพั้นช์ ฟรีแลนซ์สาวสายออกแบบที่เพิ่งเรียนจบไม่นาน เรามารู้ว่าเธอลงมือสร้างสเปซแห่งนี้จากความทดลอง ทำให้ Wamp Co. กลายเป็นสถานที่ของเป็ดช่างทดลองและทยอยปลุกไฟให้ผู้คนที่แวะเข้ามาเสมอ
เราหวังว่าบทความนี้จะจุดประกายฝันให้กับใครก็ตามที่กำลังอยากลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างได้สู้ต่อไป เหมือนกับเราที่นั่งฟังการเดินทางของที่นี่ก็เหมือนรับการเติมพลังดีๆ ไปด้วย
หาตึกแถววงเวียนใหญ่
ก่อนมาหยุดที่ท่าพระ
Wamp Co. ตึกแถวขนาด 1 คูหา ความกว้างกำลังพอดีสำหรับการพบปะ 8-10 คน ที่นี่ให้ความรู้สึกสบาย เงียบสงบมีเพียงกลิ่นหอมกาแฟ เสียงดนตรีจังหวะเบาสบาย มีเสียง Ambient ของการทำเวิร์กช้อปและอาจมีเสียงพูดคุยเล็กน้อยที่คอยอยู่เป็นเพื่อนระหว่างที่คุณทำกิจกรรมอะไรก็ตามภายในพื้นที่นี้
แต่ก่อนที่จะมีไวบ์ชัดเจนอย่างที่เล่าไป พั้นช์บอกกับเราว่า จุดเริ่มต้นค่อนข้างงงหน่อยๆ เริ่มจากเส้นทางของ Wamp Co. เกิดขึ้นจากแก๊งเพื่อนมหาลัยใกล้จบ 4 คนที่อยากมีพื้นที่ทำงานส่วนตัว พั้นช์เองคือหนึ่งในนั้น เธอเติบโตมากับครอบครัวทำเครื่องหนังในย่านเจริญรัถ วงเวียนใหญ่ เลยสนใจงานด้านดีไซน์และงานคราฟต์ ทำให้อยากมีสเปซเปิดเวิร์กช้อปทำกระเป๋าหนังของตนเอง ก็เลยขอกระโดดขึ้นรถตุ๊กตุ๊กไปพร้อมเพื่อนอีก 3 คนเพื่อวิ่งตระเวนหาตึกแถวเช่าด้วยกัน
“พั้นช์กับเพื่อนๆ อีก 3 คนต่างมีความสนใจไม่เหมือนกัน คนหนึ่งเป็นช่างภาพ อยากมีพื้นที่ทำสตูดิโอรับถ่ายภาพ อีกคนออกแนวสไตลิสต์ ส่วนอีก 2 คนก็มองหาสเปซเหมือนๆ กัน เลยคิดกันกว้างๆ ว่าเราจะหาที่อยู่เพื่อทำ Working Space ให้คนเข้ามานั่งคุยงานได้และมีเวิร์กช้อป แต่เราก็จะอิงจากตึกที่หาได้ว่าเป็นแบบไหน ก็ค่อยๆ ปรับเอาหน้างาน”
ตั้งใจว่าจะมองแถววงเวียนใหญ่ แต่เพราะราคาสูงไปเลยเปลี่ยนใจ แต่มาเจอตึกแถวในซอยเพชรเกษม 12 แห่งนี้จากกลุ่มหาห้องแถวในเฟสบุ๊ก ซึ่งข้อดีก็คืออยู่ติดกับ MRT ท่าพระ เดินทางสะดวก อีกทั้งย่านนี้ค่อนข้างเงียบสงบ ไม่ได้วุ่นวายเท่าละแวกวงเวียนใหญ่เท่าไหร่ ตึกเลขที่ 158/7 พวกเธอตัดสินใจลงขันเช่าโดยทันที ก่อนค่อยๆ รีโนเวตพื้นที่โล่งๆ จากการต่อเติมประตูด้านหน้า หาเฟอร์นิเจอร์ของมือสองมาจัดวาง ติดต่อช่างให้มาช่วยดูเรื่องระบบปั๊มน้ำ ไฟ และกระเบื้องยาง ฟังดูเหมือนเรียบง่ายดีใช่ไหม แต่พั้นช์ส่ายหน้ายิ้มปริ่มๆ
“คือทุกคนใหม่มาก ไม่ค่อยรู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับการรีโนเวต แต่ละคนคือแบบอะไรเนี่ย ทำไม่เป็น ทำยังไงดี งบก็น้อย ทุกอย่างเหมือนเป็นการทดลอง ซึ่งนี่คือข้อดีของพวกเราที่มีนิสัยอยากทดลองอะไรใหม่ๆ แล้วก็ดีที่ไวลด์ 1 ในแก๊งเรามีพื้นหลังเรื่องการก่อสร้างจากที่บ้าน ก็เลยช่วยบรีฟช่างได้ เราก็ค่อยๆ พากันเติมให้ที่นี่มันสมบูรณ์มากขึ้น ใช้เวลาประมาณ 4-5 เดือนในการออกแบบและปรับปรุงค่ะ”
ไวลด์ – พีรณัฐ พานิชกุล, อัลเตอร์ – ธัญณัฐ ทะรังศรี, เม้ง กองจิต และ พั้นช์ ถ้าเอาอักษรตัวแรกของชื่อเล่นแต่ละคนมาเรียงกัน ก็จะได้เป็น ‘Wamp’ ที่พั้นช์เลือกมาชื่อเรียกที่นี่นั่นเอง
ทุกเรื่องมีครั้งแรกเสมอ
ไม่ใช่ว่าเราจะทำไม่ได้หรอก
“ตอนนั้นทุกคนยังเรียนไม่จบ ชีวิตยังไม่แน่นอน อะไรต่างๆ มันเลยเปลี่ยนง่ายมาก Wamp เองก็มีพื้นที่เล็ก ข้อจำกัดพวกนี้ทำให้แต่ละคนไม่ได้ไปต่อกับตรงนี้ คือเพื่อนๆ ก็ไปตามเส้นทางที่เขาสนใจ มีแต่พั้นช์ที่อยู่เพราะเช่าไปแล้ว”
พั้นช์ในวันที่น้อยประสบการณ์เลยต้องมาเป็นผู้กุมทิศทาง Wamp Co. ด้วยตนเอง ยังดีหน่อยที่ช่วงแรกๆ ไวลด์เข้ามาช่วยเธอคิดไอเดียและภาพรวมของที่นี่ให้เป็นคอมมูนิตี้รับรองศิลปินที่กำลังมองหาสถานที่จัดเวิร์กช้อป หรือใครก็ตามที่ชอบลองทำกิจกรรมใหม่ๆ
และในเมื่อยังไม่มีใครรู้จัก พั้นช์ก็ใช้วิธีโพสต์แนะนำ Wamp Co. ลงไอจีสตอรี่พร้อมคำเชิญชวนแบบกว้างๆ ใครอยากเข้ามาทำอะไรเข้ามาได้เลย แถมยังชวนเพื่อนที่รู้จักมาลองจัดเวิร์กช้อป ส่วนคนมาร่วมทำกิจกรรมช่วงแรกๆ ก็เป็นเพื่อนๆ ด้วยกันนี่ล่ะ แต่หลังจากเริ่มลงโปรโมตกิจกรรมด้วยภาพบรรยากาศที่เกิดขึ้น เวิร์กช้อปในครั้งต่อๆ ไปก็เริ่มมีคนหน้าใหม่ๆ เข้ามามากขึ้น
หน้าที่หลักๆ ของพั้นช์คือการเป็นตัวกลางประสานงานเพื่ออำนวยความสะดวกในเรื่องต่างๆ ยกเว้นเรื่องสอนให้ผู้จัดและผู้ร่วมกิจกรรม เธอจึงต้องเรียนรู้กระบวนการสร้างเวิร์กช้อปที่เริ่มตั้งแต่หาศิลปิน ร่วมคิดธีมหรือไอเดียของกิจกรรมที่ไม่ซ้ำกัน การวางแผนเรื่องจัดตารางใช้สถานที่ การแบ่งงบประมาณในส่วนต่างๆ การตั้งราคาเวิร์กช้อปเพื่อให้เข้าถึงผู้คนได้ง่าย การออกแบบภาพเพื่อเตรียมการโปรโมต ไปจนถึงจะใช้เวลาโปรโมตกี่วัน ยังมีเรื่องของการวางแผนระบบหลังบ้านที่จะต้องถาม-ตอบกับลูกค้า ฟีดแบ็กและความต้องการของคนที่เข้ามาที่นี่เลยเป็นส่วนสำคัญที่จะใช้เป็น Pain Point ปรับกิจกรรมในครั้งต่อๆ ไป
ฟังเธอเล่า เราก็อยากปาดเหงื่อแทน พั้นช์สารภาพกับเราตรงๆ เธอมอง Wamp Co. เป็นบ้านไม่ใช่ธุรกิจ ที่นี่เลยไม่ได้ทำเงินมากเท่าไหร่ ปีที่แล้วก็มีหยิบเงินเก็บจากการทำฟรีแลนซ์ด้านออกแบบมาลงทุนบ้าง “แต่ปีนี้ที่นี่ก็เริ่มทำเงินได้ โดยที่เราไม่ต้องควักเงินตัวเองแล้วนะ” ฟังน้ำเสียงเธอแล้วก็สัมผัสได้ถึงความสนุกและความอยากดื้อที่จะลงมือทำอย่างไม่กลัว เห็นแบบนี้ก็พลอยได้รับพลังดีๆ ไปด้วยเลย
Wamp Co. – Crafting
คอมมูนิตีของคนชอบลอง
Wamp Co. เน้นจัดอีเวนต์ทุกๆ เสาร์ – อาทิตย์ และเพราะเปิดกว้างเรื่องไอเดีย ที่ผ่านมาเลยได้เห็นคนมาจัดเวิร์กช้อปที่นี่หลายแขนงมาก ทั้งงานคราฟต์ งานเพนต์ จัดดอกไม้ กิจกรรมชวนดูหนัง เวิร์กช้อปสายมู เขียนกลอนชิมไวน์ก็มี “ส่วนวันธรรมดาเรามีจัด Book Club สบายๆ คลับ และสมาคมคนว่าง เพื่อชวนคนว่างๆ มานั่งพูดคุยประเด็นต่างๆ เช่น ความหลากหลายทางเพศ Adulthood หรือ Turning Point หัวข้อเราจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ”
พั้นช์ไม่เคยปล่อยให้ตารางกิจกรรมขาดช่วง เธอยังเติมเต็มพื้นที่แห่งนี้ให้เป็นเสมือนพื้นที่สำรวจจิตใจของผู้คน “เพราะคนในยุคนี้เหนื่อยล้ากันเยอะ ในบ้านเราไม่ค่อยมีพื้นที่ที่ จะรับฟังผู้คนมากเท่าไหร่ เราเลยขอเป็นพื้นที่ Healing ด้วย คนที่มาจัดเวิร์กช้อปเกี่ยวกับ Mental Health ก็ต้องเป็นนักบำบัดที่มีประสบการณ์ และเราต้องบอกให้ชัดเจนว่า นี่ไม่ใช่การรักษา เป็นเพียงเวิร์กช้อปสำรวจจิตใจเท่านั้น”
สำหรับเวิร์กช้อปอื่นๆ ศิลปินหรือผู้ที่สนใจอยากใช้สถานที่ Wamp Co. จัดกิจกรรมก็ไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์ ขอแค่มีไอเดีย มีสกิลในเรื่องที่อยากสอน ก็เข้ามาพูดคุยพร้อมออกแบบเวิร์กช้อปด้วยกัน แล้วทดลองสอนเธอเพื่อความมั่นใจก่อนเปิดสอนจริงก็ได้นะ
ตลอด 1 ปีกว่านับตั้งแต่เปิด พื้นที่แห่งนี้กำลังได้รับความสนใจจากกลุ่มคนสายอีเวนต์เยอะมาก แต่ที่พั้นช์ชื่นชอบมากๆ คือ ความชัดเจนของ Wamp Co. ทำให้คนที่แวะเวียนเข้ามาต่างก็เป็นคนที่มีความชอบคล้ายๆ กัน “เราเลยเขียนว่าเป็น Wamp Co. – Crafting Community คือไม่ใช่มานั่งทำงานคราฟต์ด้วยกัน แต่คือการมาร่วมกันสร้างร่วมกันเชปไดเร็กชั่นของ wamp ด้วยการดึงคนหลากหลายมาร่วมกันเปลี่ยน เราเลยเปิดกว้างแต่แรกว่าใครอยากทำอะไรมา อนาคต Wamp Co. อาจจะเปลี่ยนไปได้เรื่อยๆ อีก”
เมื่อแข็งแกร่ง
เราก็ต้องขยับขยาย
Wamp Co. อยู่ในจุดที่แข็งแรงแล้ว เธอกำลังมองภาพที่กว้างขึ้นไปอีกขั้น “เราอยากให้ Wamp Co. ไม่ได้ยึดอยู่กับสถานที่ แต่จะเป็นตัวกลางคอยหาสถานที่จัดเวิร์กช้อปให้ ซึ่งมาจากลิสต์ในมือเราว่า คนคนนั้นเหมาะจะไปจัดเวิร์กชัอปในพื้นที่ไหน แล้วก็โปรโมตให้โดยที่เราไม่ต้องออกไปไหน ตอนนี้มีทาง Glowfish สาทร อยากให้มีการจัดเวิร์กช้อปเดือนละครั้ง เราก็เลยเหมือนพาผู้จัดส่วนหนึ่งไปจัดเวิร์กช้อปที่นั่น” ฟังแค่นี้ก็ตื่นเต้นไปกับการเติบโตของ Wamp Co. แล้ว
หลังจากพูดคุยกันจบ เราทักเธอไปว่าสเปซของเธอ รวมถึงซอยนี้มีพื้นที่ทางเลือกดีๆ ที่จุดประกายอะไรหลายอย่างมากเลยนะ พั้นช์ยิ้มด้วยความดีใจแล้วขอแชร์เรื่องราวน่ารักให้ฟังว่า เจ้าของคาเฟ่ Sealeaf House Cafe ข้างๆ ก็คือหนึ่งในคนที่เคยมาจัดเวิร์กช้อปที่นี่ ซึ่งก็เคยพูดแบบนี้เหมือนกัน
“แล้วเหมือนเขากำลังหาตึกทำคาเฟ่และสตูดิโอพอดี พอเขาเข้ามาในซอยนี้ชอบ ก็เลยตัดสินใจมาเปิดคาเฟ่ที่นี่เลย แต่จริงๆ หลายคนที่เคยมาก็ชอบซอยนี้กันมากเลย”
เชื่อแล้วจริงๆ ว่าใครที่เลี้ยวเข้าซอยเพชรเกษม 12 เป็นต้องตกอยู่ในมนต์เสน่ห์ของ community อันเงียบสงบย่านนี้เกือบทุกคน