

WAT About Siam
WAT About Siam จากเพจเที่ยววัดสู่เจดีย์เซรามิกฉลุลายที่ใครได้รับต้องคิดถึงเมืองไทย
- WAT About Siam เป็นเพจพาเที่ยววัด ที่ก่อตั้งโดยคนรุ่นใหม่อย่าง เซน-ณภัทร โกศลสุภรัตน์ จากความหลงใหลในด้านศิลปวัฒนธรรมไทยมาตั้งแต่วัยเยาว์
- เซนพัฒนาจากความชอบด้านศิลปวัฒนธรรมไทย มาสู่งานดีไซน์แท่นวางเทียนเซรามิกทรงเจดีย์ระฆังคว่ำ โดยถอดแบบมาจากสถาปัตยกรรมวัดไทย ฉลุลายไทยรอบองค์เพื่อให้มองเห็นแสงสว่างเมื่อจุดเทียน
- แท่นวางเทียนเซรามิกของ WAT About Siam เป็นเครื่องเตือนใจให้เรานึกถึงการเดินทางท่องวัด เหมาะสำหรับเป็นของฝากของที่ระลึกหรือเป็นของตกแต่งบ้านแนวพุทธบูชา
เสน่ห์ของสถาปัตยกรรมวัดไทย ไม่เพียงแต่ถ่ายทอดความงดงามจับตาต้องใจให้แก่ผู้คนที่ชื่นชอบด้านศิลปวัฒนธรรมเท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงเอกลักษณ์ความเป็นไทย และดึงดูดใจให้นักท่องเที่ยวต่างชาติอยากเข้ามาสัมผัสด้วยตา
หากแต่สองปีก่อนที่การเดินทางทั่วโลกต้องหยุดชะงักจากโรคระบาดโควิด ทัวร์เที่ยว (วัด) ไทยตกอยู่ในภาวะเงียบเหงา ซบเซา และร้างผู้คน แต่ช่วงเวลานั้นกลับจุดประกายให้คนรุ่นใหม่อย่าง เซน-ณภัทร โกศลศุภรัตน์ ผู้ก่อตั้งเพจพาเที่ยววัด WAT About Siamได้เริ่มต้นผลิต ‘เจดีย์เซรามิก’ แท่นวางเทียนแนวพุทธบูชา ที่ย่อส่วนมาจากสถาปัตยกรรมของวัดไทย สำหรับเป็นของฝากหรือของที่ระลึก ที่ชวนให้นึกถึงการมาเยือนวัดไทย

เซน-ณภัทร โกศลสุภรัตน์
ซึมซับ
เซนเล่าว่า เธอซึมซับและสนใจเรื่องศิลปวัฒนธรรมไทยมาตั้งแต่เด็ก เพราะครอบครัวมักจะพาไปเที่ยววัด และเล่าเรื่องราวของสถาปัตยกรรมวัดไทยให้ฟังอยู่เสมอ
“คุณพ่อเคยเรียนมัคคุเทศก์ค่ะ สิ่งนี้จึงอยู่ในสายเลือดของท่าน ชอบเที่ยววัด เที่ยววัง ชอบเดินชมสถานที่เก่าๆ เวลาไปเที่ยววัด จะชอบอธิบายให้ฟังว่าอะไรคือช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบันคืออะไร ครุฑยุดนาคมีที่มายังไง พอเรียนมหาวิทยาลัย เลยเลือกเรียนอักษรฯ จุฬาฯ (ภาคภาษาและวัฒนธรรม) หลักสูตรนานาชาติ ซึ่งก็มุ่งเน้นไปที่ศิลปวัฒนธรรมโดยตรง แต่จะเป็นการเรียนวัฒนธรรมศึกษาทั้งโลก ” เซนเล่าถึงที่มาของความสนใจ
“ตอนเรียนอักษรฯ ลองทำหลายอย่างมาก ตั้งแต่ละครเวที โรงแรม ลองฝึกงานหลายๆ แบบ แต่เรื่องของวัฒนธรรมไทยกลับเป็นสิ่งที่อยู่ในใจตลอดมา พอเรียนปริญญาตรีจบ เลยไปเรียนมัคคุเทศก์ต่อ 1 ปี ควบคู่กับทำงานประจำด้าน Digital Marketing ที่ไปเรียนมัคคุเทศก์เพราะคิดว่าอยากทำเป็นอาชีพเสริม จนเรียนจบปี 2019 สอบทุกอย่างจนได้ใบประกาศเป็นไกด์ได้ เจอโควิดมา ทำทัวร์ไม่ได้ ก็เลยเริ่มทำเพจตั้งแต่ช่วงนั้น”
สื่อสาร
ความรู้ที่เซนได้รับในตำราเรียน อาจเป็นเรื่องราวของวัฒนธรรมทั่วโลกก็จริง หากแต่ความรู้นอกตำราหรือเชิงลึกที่เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมไทย เธอบอกว่าได้มาจากการเรียนมัคคุเทศก์กับศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. หม่อมราชวงศ์สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์
“อาจารย์คุณชายเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงในวงการมัคคุเทศก์ ท่านบอกว่าถ้าอยากรู้จักวัฒนธรรมไทยหรือเรียนรู้วิถีชีวิตคนไทย ต้องไปที่วัด เพราะวัดเป็นทุกอย่างในชีวิตของคนไทยในอดีต คนอยุธยาถึงขนาดมีคติว่าเศรษฐีต้องสร้างวัดให้ลูกหลานได้นั่งเล่น สมัยก่อนวัดเป็นศูนย์รวมของอีเวนท์ต่างๆ ในประเทศ ทั้งการเกิด ก็จะตั้งชื่อที่วัด เรียนหนังสือก็เรียนกันที่วัด จัดงานบวช งานแต่ง งานเทศกาลมหรสพต่างๆ ก็ทำที่วัด ไม่สบายก็ยังไปที่วัด จนสถานที่สุดท้ายในชีวิต ก็ยังเป็นที่วัด เรียกได้ว่าตั้งแต่เกิดจนตาย ชีวิตคนไทยในอดีตเกี่ยวข้องกับวัดหมด
“เราเองก็ชอบสถาปัตยกรรมในวัดเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว เลยเป็นที่มาของการทำเพจเที่ยววัด แต่ไม่ได้มุ่งเน้นไปที่เรื่องของศาสนา เราตั้งใจให้คนที่ไม่ว่าจะนับถือศาสนาอะไรก็สามารถติดตามได้ จึงเน้นเรื่องของศิลปวัฒนธรรม และสถาปัตยกรรมในวัดมากกว่า”
เซน เล่าถึงความตั้งใจแรกที่สร้างเพจ WAT About Siam ซึ่งสอดแทรกเรื่องราวของศิลปวัฒนธรรมไทย และงานดีไซน์เจดีย์ ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากวัดไทย
“ช่วงนั้นโควิดระบาด ทำทัวร์เที่ยววัดไม่ได้ เลยคิดว่าอยากลองทำโปรดักส์ ที่สื่อถึงศิลปวัฒนธรรมไทย เจดีย์ชิ้นนี้ถือเป็นชิ้นแรก เราคิดว่าถึงแม้ชาวต่างชาติจะมาเที่ยววัดในช่วงโควิดไม่ได้ ถ้าได้เห็นผลงานชิ้นนี้ บางครั้งก็อาจจะชวนให้เขานึกถึงเมืองไทย และถ้าวันหนึ่งที่เขากลับมาเที่ยวบ้านเราแล้วชอบ ถึงจะยกวัดกลับไปไม่ได้ ก็ยังมีของฝากที่จะทำให้เขานึกถึงวัฒนธรรมไทย เป็นการเผยแพร่วัฒนธรรมไปในตัว”
เซนเล่าอย่างฉะฉาน สมเป็นอดีตพิธีกรประจำวงดนตรีสากลสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (C.U. Band) และยังเคยดำเนินรายการในงานสำคัญมากมาย เช่น งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ณ เวทีมหรสพ พระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง งานวันที่ระลึกวันทรงดนตรี งาน Thailand International Jazz Conference (TIJC) งานอุ่นไอรักคลายความหนาว เป็นต้น

ภาพจาก Wat About Siam
ส่องแสง
เจดีย์เซรามิกชิ้นแรกของ WAT About Siam เป็นเจดีย์ทรงกลมหรือทรงระฆังที่ได้รับอิทธิพลมาจากลังกา ผลงานการออกแบบดั้งเดิมของนักศึกษา (ในขณะนั้น) คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เซนเห็นเข้าเกิดปิ๊งไอเดีย จึงติดต่อขอซื้อแบบมาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ โดยมีการปรับดีไซน์เพิ่มเติมเพื่อให้ช่างปั้นสามารถขึ้นรูปได้ตามสัดส่วนที่สมบูรณ์

ภาพจาก Wat About Siam

ภาพจาก Wat About Siam
“ถ้าไปวัดพระแก้ว จะเห็นองค์พระศรีรัตนเจดีย์เป็นเจดีย์ทรงระฆังอิทธิพลลังกานี้เหมือนกัน แต่ถามว่าแท่นวางเทียนของเราใกล้เคียงเจดีย์รูปแบบไหนที่สุด จะเป็นเจดีย์ระฆังที่แพร่หลายในสมัยสุโขทัยค่ะ เพราะว่าไม่มีซุ้มจระนำ 4 ด้าน สมัยอยุธยากับรัตนโกสินทร์ส่วนมากจะมีซุ้มหมด เป็นเจดีย์ทรงคลาสสิกที่เราคิดว่าคนไทยน่าจะคุ้นเคยมากที่สุด และดีเทลต่างๆ ก็น่าจะสร้างออกมาเป็นเซรามิกค่อนข้างง่ายที่สุดแล้ว ก็เลยเริ่มจากเจดีย์ทรงนี้ ฉลุลายประจำยามรอบองค์เพื่อเวลาจุดเทียนจะได้มีแสงส่องออกมา”

ภาพจาก Wat About Siam

ภาพจาก Wat About Siam
‘The En-Lightening Stupa’ เป็นชื่อคอลเลกชันแรกของแท่นวางเทียนทรงเจดีย์ WAT About Siam มีทั้งหมด 3 สีด้วยกัน คือ ขาวด้าน ขาวเงา และสีดำ ใช้เทคนิคเผาเคลือบที่มีคุณสมบัติทนไฟสูง ใช้สำหรับจุดวางบนหิ้งพระ หรือตกแต่งบรรยากาศภายในบ้าน ก็สุดแสนจะโรแมนติกมีจำหน่ายเป็นเซ็ตกล่องพรีเมียมพร้อมเทียนหอมไขถั่วเหลืองทำมือจากธรรมชาติ 100% จำนวน 4 กลิ่นในธีมพรหมวิหาร 4 ได้แก่ เมตตา (กลิ่นมะลิ) กรุณา (กลิ่นคาโมมายด์) มุทิตา (กลิ่นชาขาว) และอุเบกขา (กลิ่นกำยาน) โดยมีการ์ดให้ความรู้เกี่ยวกับรูปแบบเจดีย์ในประเทศแนบไว้ในกล่อง


ภาพจาก Wat About Siam
สร้างสรรค์
ความประณีตงดงามของเจดีย์ย่อส่วน ถูกถ่ายทอดเป็นชิ้นงานดีไซน์ศิลปวัฒนธรรมไทยได้อย่างทันสมัย และยังทำให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจเรื่องราวของศิลปวัฒนธรรมไทยผ่านงานดีไซน์ได้มากขึ้นด้วย
“ศิลปวัฒนธรรมไทยมีความเป็นเอกลักษณ์สูง แม้ว่าจะได้รับอิทธิพลมาจากหลากหลายชาติ แต่เราก็เอามาประยุกต์ให้เป็นแบบของตัวเองได้อย่างโดดเด่น เรามองว่าสิ่งเหล่านี้สืบทอดกันมาหลายรุ่น เป็นอัตลักษณ์ที่มีเสน่ห์ และถ้าเราเก็บดูแลรักษาเอาไว้ ก็จะช่วยให้เรามี Ingredients ทางวัฒนธรรม ไปต่อยอดเป็น Soft Power รูปแบบต่างๆ ที่ทำให้เราโดดเด่นและแตกต่างได้ในยุคโลกาภิวัตน์นี้

ภาพจาก Wat About Siam
“มันคือการประยุกต์เอาสิ่งเหล่านี้เข้ากับไลฟ์สไตล์ปัจจุบัน แทนที่จะเป็นวัดเฉยๆ ดีไซน์เป็นโปรดักส์รูปแบบต่างๆ ก็สามารถเป็นเครื่องเตือนใจได้ ถึงแม้จะอยู่ที่บ้าน รวมไปถึงการทำเรื่องศิลปวัฒนธรรมให้ทุกคนเอื้อมถึงได้นั้น เป็น gap ที่คนรุ่นใหม่อย่างเรามองว่า อยากทำให้เข้าถึงง่ายขึ้นโดยที่ไม่จำเป็นต้องไปตั้งอยู่ในวัดเท่านั้น”
“สำหรับเรา เป็นเรื่องสนุกดี ถ้านำมาทำให้เป็นเรื่องสนุกและคนเข้าถึงง่าย ก็น่าจะช่วยให้ศิลปวัฒนธรรมเหล่านี้ยังอยู่กับเราไปได้อีกนานโดยเฉพาะกับคนรุ่นใหม่ ถ้าเขาเห็นว่ามันสนุกและน่าสนใจ เขาจะสามารถใส่ความคิดสร้างสรรค์ลงไปได้ เพราะสุดท้ายแล้ว วัฒนธรรมก็เป็นเรื่องของเราทุกคน ในฐานะคนรุ่นใหม่ อยากจะมีพื้นที่ได้สร้างสรรค์สิ่งเหล่านี้ มีอิสรภาพในการประยุกต์และถ่ายทอดบนความเหมาะสม” เซนทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้ม
แวะไปติดตามให้กำลังใจเธอได้ทางเพจเฟซบุ๊ค WAT About Siam
สำหรับใครที่อยากอุดหนุนแท่นวางเทียนเซรามิกทรงเจดีย์ ปัจจุบันมีวางจำหน่ายแล้วทั้งหมด 3 แห่งทั่วประเทศ ได้แก่ ร้าน JEDI Café & Bar (ตรงข้ามวัดภูเขาทอง) กรุงเทพฯ, ร้านกาแฟขณะ (khana coffee brewers) ข้างวัดเกตการามุ จ.เชียงใหม่ และบ้านอาจ้อ จ.ภูเก็ต หรือผ่านช่องทางออนไลน์ได้ทุกวัน