About
RESOUND

การรวมตัวของคนแปลกหน้า

นภษร ศรีวิลาศ กับการรวมตัวของคนแปลกหน้า ที่มาบอกเล่าความงามไม่ประดิษฐ์ของชีวิต

เรื่อง วิชชุ ชาญณรงค์ ภาพ Annetology Date 25-02-2021 | View 2906
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • Window Magazine Thailand นิตยสารที่ไม่เหมือนนิตยสารบ้านทั่วไป เกิดขึ้นจากความกล้าต่าง และเป็นการรวมตัวของคนแปลกหน้าที่มาทำโปรเจกต์ร่วมกัน
  • ที่มาของชื่อ Window Magazine มาจากการเข้าไปดูชีวิตของใครสักคนผ่านบ้านของเขา และไม่ใช่บ้านที่ถูกประดิษฐ์หรือปรุงแต่งให้สวยงามเพื่อถ่ายภาพลงนิตยสาร แต่เป็นการเปิดบ้านที่มีความเรียลไลฟ์จริงๆ
  • จากการทำนิตยสาร สู่คอนเซ็ปต์ร้านหนังสือ ที่เปิดขายแค่วันเสาร์ ขายหนังสือเพียงปกเดียวและจะเปลี่ยนปกไปทุกๆ 11 สัปดาห์

หากมองย้อนกลับไปเราต้องยอมรับว่า 3-4 ปี ที่ผ่านมา วิกฤตสื่อสิ่งพิมพ์อยู่ในช่วงขาลง บางฉบับทำได้ เพียงแค่เหลือทิ้งไว้เพียงความทรงจำ… ข่าวคราวการปิดตัว ล้มหายตายจากไปของแมกกาซีนทั้งหัวเล็กและหัวใหญ่ ทำให้เราต้องถอนหายใจอยู่เสมอเพราะ พ.ศ.นี้ คือยุคทองของโลกดิจิทัล ท่ามกลางโลกที่ขยับไวสุดๆ เนื้อหาท่วมหน้าจอ สามารถรีเฟรชเนื้อหาใหม่ๆ ขึ้นมาได้ทุกวินาที

แต่ใครจะไปคิดว่า…ยังมีคนบางกลุ่ม กล้าลองผิดลองถูกลุกขึ้นมาชุบชีวิตให้ภาพถ่ายและตัวหนังสือ โลดแล่นอยู่บนหน้า กระดาษโดยไม่สนกระแส และนี่จึงเป็นที่มาของ Window Magazine Thailand โปรเจกต์กล้าๆ ระหว่างคนแปลกหน้า ซึ่งรวมตัวกันทำหน้าที่ ‘ปรุง’ เนื้อหาให้เรื่องราวแต่ละชิ้นได้สร้าง ‘บทสนทนา’ กันและกัน ด้วยเหตุผลและข้อตกลงง่ายๆ ที่ว่า อยากทำ!

ในวันที่ฟ้าอากาศก็ช่างแสนดีซะเหลือเกิน…เรามายืนอยู่หน้าร้านเล็กๆ ที่มีสติ๊กเกอร์สีขาวบางๆ อ่านว่า WINDOW ติดอยู่บนบานกระจก นี่คือคาเฟ่และแกลเลอรีที่ทุกๆ วันเสาร์ จะถูกจับแต่งองค์ทรงเครื่องใหม่ให้กลายร่างเป็นร้านหนังสือกึ่งแกลเลอรีบรรยากาศอบอุ่น ดูกันเอง ตกแต่งง่ายๆ เหมือนไม่มีอะไร แต่กลับมีอะไรเต็มไปหมด และวันนี้เรามีนัดพูดคุยกับเธอ...ย้วย-นภษร ศรีวิลาศ

window gallery & cafe

โลกหลังบานกระจก Window Gallery and Café

ตรงปากซอยขนาดย่อมของอินทามระ 3 มองผาดๆ ตรงชั้นล่างของอาคารพาณิชย์ขนาดหนึ่งคูหา บางคนอาจจะเหมารวมว่าเป็นร้านกาแฟเล็กๆ ที่เสิร์ฟความ Urban ให้กับคนเมืองเหมือนทั่วไป การได้เลื่อนบานกระจกใสๆ บานใหญ่เข้าไปภายในราวกับอยู่อีกโลกหนึ่งทันที เสียงเพลงบรรเลงเบาๆ เปิดคลอต้อนรับผู้มาเยือนทั้งขาจรและขาประจำ แต่ถ้าหากมองลึกลงไปในรายละเอียด ห้องเล็กๆ ถูกรีโนเวทให้กลายเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยเสน่ห์

ภาพแต่ละภาพที่ปรากฏ อยู่บนฝาผนังถูกบอกเล่าผ่านมุมมองของความงามและมุมมองของช่างภาพสะกดสายตาอย่างน่าประหลาด จากเดิมแนวคิดเริ่มต้นของ Window Gallery and Café เกิดจากความตั้งใจให้เป็นสเปซของการนำเสนอคอลเลกชัน ที่มีทั้งแนวสตรีท ภาพอาคารสวยๆ ภาพถ่ายชวนละมุน บรรจุอยู่ในกรอบภาพขนาดเล็กใหญ่ไล่เรียงกันไป ที่เจ้าของร้านคัดสรรมาเพื่อเสิร์ฟให้กับผู้สนใจได้ลองเลือกภาพติดไม้ติดมือกลับบ้านพร้อมให้ทุกคนเป็นเจ้าของ แต่ตอนนี้มันทำหน้าที่มากกว่านั้น

window magazine thailand

จากแกลเลอรีสู่ Window Magazine

นภษร เล่าว่า “มันเกิดจากความบังเอิญแรก เมื่อพี่เอ็กซ์สถาปนิกเจ้าของไอเดีย ได้ออกแบบบ้านหลังใหม่ให้กับคนรัก (พี่มิ่ง) ทั้งคู่เอาภาพถ่ายที่ชอบมาจัดเรียงเพื่อตกแต่งบ้านและแอบคิดในใจว่าน่าจะมีคนชอบแบบนี้เหมือนกัน วันดีคืนดีเขาเลยปั้นร้านเล็กๆ ขึ้นโดยใช้ชื่อว่า ‘Window Gallery and Café’ เป็นคอมมูนิตี้เล็กๆ จับเอาศิลปินกับเจ้าของบ้านที่อยากได้ภาพถ่ายดีๆ ไว้แต่งบ้านมาเจอกัน ทั้งยังมีแนวร่วมกับศิลปินและคาเฟ่เก๋ใกล้ๆ ร่วมมือกันเพื่อแสดงงานภาพถ่ายหมุนเวียนไปตามวาระ

จากนั้นมาความชอบในงานสถาปัตย์ฯ ของเอ็กซ์ก็เริ่มเปลี่ยน เขาหันมาให้ความสนใจกับบ้านที่มีชีวิตมากกว่าบ้านที่สร้างด้วยความสมบูรณ์แบบ บวกกับความเป็นสถาปนิกที่ชอบอ่านหนังสือชอบถ่ายภาพและมีความสนใจนิตยสารเมืองนอกอย่าง ‘The Selby’ และ ‘Apartamento’ เป็นพิเศษ จากนั้นมาพี่เขาก็แอบทดอะไรบางอย่างไว้ในใจ…

ความบังเอิญต่อมา คือ ย้วยเคยไปสัมภาษณ์ทีม ‘Apartamento’ ที่สเปน แล้วเขียนลงใน ‘The Cloud’ ซึ่งเป็นบทสัมภาษณ์ของคนทำนิตยสารราย 6 เดือนที่เรียกตัวเองว่าเป็น ‘an everyday life interiors magazine’ วางแผงปีละ 2 เล่มและเป็นที่รอคอยของนักอ่านทั่วโลก ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ย้วยอยู่ระหว่างขอพักงาน(ประจำ)

นภษร ศรีวิลาศ

“วันดีคืนดี พี่เอ็กซ์ก็ทักมาหาเพราะชอบไอเดียนี้มากๆ เราสนทนากันโดยไม่เคยรู้จักกันมาก่อน เรียกว่าเป็นการรวมตัวของคนแปลกหน้าคงไม่ผิด

“น้องนักเขียนอีกคนเขาอยู่อะเดย์ ก็บังเอิญเป็นลูกค้าร้านพี่เอ็กซ์อยู่แล้วและย้วยก็รู้จักเขา พอได้คุยกันก็ตัดสินใจร่วมแจมโปรเจกต์นี้ด้วยกัน จะว่าไปก็ภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งเล็กๆ ในงานนี้นะ เพราะเราใช้เวลาเซ็ตอัพทีมกันสั้นมาก เรียกว่าเป็นแพชชั่นสุดๆ เป็นแมกกาซีนเชิงทดลองสุดๆ ลงมือทำเองกันเกือบหมด

นภษร ศรีวิลาศ

“ในเล่ม 80% ใช้ภาพฟิล์มพี่เอ็กซ์พี่มิ่งช่วยกันถ่าย ซึ่งเล่มแรกย้วยช่วยไม่เยอะมาช่วยเต็มตัวเล่มสองมากกว่า และมีเรื่องอยากกระซิบว่า พี่เอ็กซ์นอกจากเขาเป็นสถาปนิก ที่ชอบถ่ายภาพแบบ โดยเฉพาะแนววิชวลอาร์ตๆ แล้วพี่เค้ายังเขียนหนังสือดีมากกก เขาเป็นรักการอ่านและภาษาดี แต่ละประโยคเขียนแบบ หนูตกงานอะ” (หัวเราะ)

“ตอนแรกย้วยและน้องที่เคยทำหนังสือมาก่อนเราก็บอกพี่เจ้าของโปรเจกต์ว่า เวลาจะทำนิตยสารสักเล่ม มันต้องคิดแบบนี้ จะต้องมีสปอนเซอร์ มีโฆษณา มีธีมแบบบนี้ๆ ตอนประชุมกันพี่เค้าก็หักมุมเลยว่า ไม่ๆ ขอไม่ทำแบบนั้นแล้วเขาก็อธิบายไอเดียของเขา ยอมรับว่าฟังทีแรกอึ้งเหมือนกัน เพราะมันแหกกฎเยอะมาก

นภษร ศรีวิลาศ

“เมื่อโจทย์เป็นแบบนั้น ทุกอย่างมันจึงเรียลมาก คุยกันแบบไหลๆ ไปเรื่อยๆ แขกแต่ละคนที่ติดต่อขอสัมภาษณ์ เราขอให้เขาจัดบ้านให้น้อยที่สุด หรือไม่ต้องจัดเลยก็ได้ เพราะฉะนั้น ภาพอาจมีแม้กระทั่งถังขยะหรือมุมรกๆ ในบ้านเขา อีกมุมหนึ่งทำให้เราเห็นแง่งาม เห็นความเป็นชีวิต และสอนเราว่าไม่ควรตัดสินอะไรใครจากภายนอก

“ดังนั้นจะเห็นว่า บางทีทุกรูปในเล่มอาจจะไม่มีทางไปอยู่ในแมกกาซีนสวยๆ เล่มไหนได้เลย แต่สำหรับพวกเรา มองว่ามันคือเรียลไลฟ์ เขาเป็นอย่างไรก็ให้เป็นอย่างนั้น ปรับให้น้อยที่สุดและโจทย์ของการเล่าเรื่องคือ อีดิทให้น้อยที่สุด เพื่อให้เข้าใจถึงความเป็นเจ้าของบ้านหลังนี้

“สมมติว่า โต๊ะตัวหนึ่ง หนังสือหรือสื่อบางฉบับ อาจจะบอกว่าใครออกแบบ แต่เล่มนี้เราจะพูดว่าโต๊ะตัวนี้อยู่ในชีวิตเขายังไง แต่ละหน้ามันคือการคิวเรทตามวิธีคิดของเขา เหมือนเอ็กซิบิชั่นชีวิตของคนๆ นั้นที่ Window Magazine เลือกมาให้ นอกจากการสัมภาษณ์ที่แบ่งกันแล้ว เรื่องของวัสดุ ขั้นตอนของการเลือกกระดาษทุกอย่าง พี่เอ็กซ์เลือกเองหมด แม้กระทั่งบางเล่มออกมารูปไม่ตรงกับตาที่เขาต้องการ ก็จะไม่ให้ผ่านคิวซี ซึ่งพิมพ์แต่ละรอบออกมา ประมาณห้าร้อยเล่ม พี่เอ็กซ์เช็กเองหมด เปิดดูทุกหน้า”

 

นภษร ศรีวิลาศ

Episode 1 ฉีกกรอบไม่พอ ต้องขยี้ไอเดียให้สุด

เพราะกระบวนการทำนิตยสารเล่มนี้เกิดขึ้นด้วยขั้นตอนและการทำทุกอย่างแตกต่างกับวิธีคิดคนทำหนังสืออย่างสิ้นเชิง หลายคนบอกว่า Window Magazine เหมือนอาร์ตบุคมากกว่างานสัมภาษณ์ กว่าจะเป็นสามร้อยกว่าหน้า รวมเป็นเล่ม #1 ตามมาติดๆ ด้วย #2 จึงเป็นการทำหนังสือเชิงทดลองที่อย่าว่าแต่เซอร์ไพรส์คนอ่านเลย คนทำก็เซอร์ไพรส์

“สำหรับทีมเบื้องหลังเราใช้นักเขียนราว 6-7 คน แบ่งงานและเรื่องสัมภาษณ์ไปตามคอนเนกชั่น และความสนใจของแต่ละคน เอาง่ายๆ วิธีคิดแบบปกติทั่วไป หนังสือบ้านก็ต้องไปถ่ายบ้านสวยๆ ดีไซน์เก๋ๆ สิวะ ส่วนคนที่ให้สัมภาษณ์ก็ต้องเป็นคนดังสิวะ ปกก็ต้องแบบเอาไอเทมที่แพงๆ เจ๋งๆสิวะ

“แต่ Window Magazine คิดมุมกลับ ความไม่ประดิษฐ์ คือ ความงาม ภาพบางภาพก็ไม่ชัด คนเคยทำหนังสือบางคนอาจจะขัดใจภาพแบบนี้เอามาลงได้ไง เนื้อหาและเท็กซ์ของบทสัมภาษณ์ก็ฉีกกรอบ คำถามใช้ตัวอักษรตัวบางแล้วขีดเส้นใต้ ส่วนคำตอบเป็นอักษรตัวหนา เพราะอยากเน้นให้คำตอบสำคัญที่สุด สะท้อนตัวตนของคนนั้นให้มากที่สุด ยอมรับตรงๆ เลยว่าตอนแรกในสายตาของคนทำหนังสือมาก่อนเราก็เหวอๆ เพราะรู้สึกไม่ค่อยยูสเซอร์เฟรนลี่กับการอ่าน แต่เมื่อเขามองเป็น Visaul Art อยากแหกคอกกฎอะไรบางอย่าง เรายอมรับในความคิดเห็นนั้น”

Episode 2 ทรานฟอร์มการจัดจำหน่ายรูปแบบใหม่

“หลังจากตัวเล่มพิมพ์ออกมาเสร็จเราเอาไปฝากวางจำหน่ายตามร้านหนังสืออิสระและร้านต่างๆ ที่พอจะมีคอนเนกชั่น อีกทางหนึ่งก็บอกต่อเพื่อนๆ หรือคนในวงกลมรอบตัว ทีนี้ยังคงเหลือแมกกาซีนอีกตั้งเกือบ 400 เล่ม โจทย์ต่อมาคือ เราจะขายกันยังไงดี ย้วยก็เลยโยนไอเดียว่า เปิดร้านกันไหม ขอแค่วันเดียวในรอบสัปดาห์ ซึ่งย้วยชอบอะไรแบบนี้ ชอบแมกกาซีนมาก ชอบการขายแปลกๆ

“เคยเดินทางแล้วมีร้านเสื้อผ้าร้านหนึ่งอยู่แถวๆ ชินจุกุ ขายเสื้อยืดสีขาวอย่างเดียวทุกแบรนด์ทุกยี่ห้อจากทั่วโลกแล้วเปิดแค่วันเสาร์วันเดียว ลูกค้าก็จะมาต่อแถวยาวมากเพื่อรอเลือกเสื้อในร้าน แล้วก็มีโมเดลร้านหนังสือร้านหนึ่งย่านกินซ่าที่ญี่ปุ่น ชื่อว่า ‘โมริโอกะ โชเต็น’ (Morioka Shoten Ginza)

“คอนเซ็ปต์คือ ขายหนังสือแค่เล่มเดียวในหนึ่งสัปดาห์แล้วก็มีการจัดนิทรรศการในร้าน สัปดาห์ถัดไปก็เปลี่ยนเป็นเล่มอื่น เราเลยปิ๊งว่าเอาไอเดียนี้มามิกซ์กันได้ไหม เพราะทุกคนต่างก็มีงานประจำ จะมาเปิดทุกวันก็ไม่ได้ อาจไม่ใช่โมเดลบิสิเนสที่ดีนัก หรือได้ผลลัพธ์ว่านิตยสารจะขายดีแบบเทน้ำเทท่า แต่เราอยากได้ไวรัลที่มันเป็นแบบปากต่อปาก

“พอพี่เอ็กซ์ตกลง ทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วมาก D.I.Y. เราตกลงกันทำร้าน ไปซื้อของ ทำนี่ นั่น โน่น ภายใน 3 วันเสร็จ และตั้งสมมติฐานไว้ว่า คนน่าจะอยากมาที่นี่เพราะ หนึ่งได้ถ่ายรูปสวยๆ สองคือ คอนเซ็ปต์แปลกๆ สามได้สนทนาแลกเปลี่ยน ทำความรู้จักกัน ถ้ามีสื่อมาสัก 3 สื่อก็ถือคุ้มแล้ว (หัวเราะ) ดังนั้นจึงเกิดเป็นคอนเซ็ปต์ ร้านหนังสือที่เปิดวันเดียว คือวันเสาร์ ขายหนังสือปกเดียวและจะเปลี่ยนปกไปทุก 11 สัปดาห์ คือเราก็พยายามจะเล่นกับเลข 1 หรือบางทีก็อาจจะคั่นเอาหนังสือที่เข้ากับช่วงนั้นมาวาง ค่อยๆ ดูว่ามันเหมาะกับสถานการณ์หรือประเด็นอะไรรึเปล่า”

window magazine thailand

I was there ตัดกลับมาที่ชีวิตของย้วย-นภษร ณ ตอนนี้

เราชวนย้วยเท้าความย้อนอดีตไปตั้งแต่เส้นทางชีวิตที่ผ่านมา ตั้งแต่นักเรียนเศรษฐศาสตร์ผู้วิ่งเล่นในแวดวงตลาดทุน และงานสายแบรนดิ้งเพื่อความยั่งยืน จากนั้น เบนเข็มสู่วงการสื่อกับการเป็นคนในแวดวงสื่อสิ่งพิมพ์ที่ดูแลงาน เขียนด้านแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ต่อยอดมาสู่งานออนไลน์ ที่แข่งขันกับพฤติกรรมการเสพและบริโภคข่าวสารอย่างเร็ว

นภษร ศรีวิลาศ

หลายคนอาจจะรู้จักเธอ ผ่านเพจที่ชื่อ น้องนอนในห้องลองเสื้อ ว่าด้วยผู้หลงรักการลองเสื้อคอลเลกชันใหม่ แถมยังขยันป้ายยาชุดสีดีจากแบรนด์ทั่วโลก นอกจากนี้ใครบางคนอาจเป็นแฟนคลับติดตามผลงานของเธอผ่านบทบาทของบรรณาธิการบทความด้านธุรกิจ ของเว็บไซต์บนก้อนเมฆอย่าง The Cloud ที่อ่านสนุก โดยเฉพาะเรื่องราวของแบรนด์ผ่านโปรเจกต์ที่ชื่อ ทายาทรุ่นสอง …

คุยกันไปกว่าครึ่งค่อนทาง ย้วยถือโอกาสคั่นเวลาด้วยการเสิร์ฟชาถ้วยอุ่นๆ สลับไปกับกรุ่นกลิ่นของกาแฟดริป ตรงมุมเคาท์เตอร์ใกล้ๆ ที่มีสมาชิกอีก 3-4 คน เข้าร่วมวงสนทนากันในวันสบายๆ “ย้วยเพิ่งตัดสินใจเปลี่ยนงานใหม่เมื่อไม่นานมา ตอนนี้สนุกกับร้านหนังสือที่เปิดแค่วันเสาร์แห่งนี้ และย้ายมาทำงานประจำที่สำนักพิมพ์แซลมอน ถือเป็นการเปลี่ยนบทบาทใหม่ ที่ผ่านมาเราก็ไม่คิดว่าจะไปทำอย่างอื่นได้ แต่บางทีก็ต้องตัดสินใจตามใจตัวเอง ยอมรับว่าช่วงโควิดระลอกแรก หนักหนาเหมือนกันกับการทำงานที่ต้องใช้พลังเยอะมาก วันหนึ่งเราทำงานสัมภาษณ์ 3-4 คน มันดูดพลังสุดๆ บางครั้งหมดแรงแทบไม่อยากจะเจอใครอีก เลยต้องกลับมานั่งทบทวนบาลานซ์ชีวิตใหม่”

บทบาท ความท้าทายใหม่ๆ เป็นอย่างไรบ้าง

“ตอนนี้ถือว่าเป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน โฟกัสกับหน้าที่รับผิดชอบใหม่ ความท้าทายใหม่ๆ กับทำหน้าที่บรรณาธิการหนังสือเล่มที่แซลมอน เพราะเป็นงานที่ยังไม่เคยทำเลยใช้เวลากับมันอยู่พอสมควร

“โชคดีที่เลือกเรียนเศรษฐศาสตร์ เพราะมันสอนให้เรามองในเชิงโครงสร้าง ผลกระทบเชิงบวกเชิงลบ หลักบริหารธุรกิจจะเห็นแค่กำไร ตัวเลข โซลิดสุดๆ แต่เศรษฐศาสตร์ต้องตั้งคำถามว่า คิดต้นทุนหรือยัง ทำสิ่งนี้แล้วสะท้อนอะไร ผลกระทบเป็นยังไง ผลประโยชน์เกิดขึ้นกับใคร

“ช่วงหนึ่งเราสนใจเรื่อง Social Interprise มากๆ แต่ก็ยอมรับว่ายังไม่ลึกเรื่องนั้น เราไม่ได้เป็นคนอ่านหนังสือเก่ง แต่ชอบเสพนิตยสารเมืองนอก ช่วงหนึ่งล้มละลายไปกับการซื้อพวกนั้นเยอะมาก ตื่นเต้น และชอบมากเวลาได้พลิกกระดาษเปิดไปทีละหน้าๆ ล่าสุดย้วยเพิ่งเปิดอ่านงานของนักเขียนรุ่นใหญ่ๆ พอได้อ่านแล้วก็โอ้โห ภาษาเขา วิธีปลอบประโลมของเขาขั้นนี้เลยเหรอ เราไม่ถนัดนิยาย อ่านได้แต่เขียนแบบนั้นไม่ได้และชอบอ่านหนังสือเล่มมากกว่า

“ส่วนงานอดิเรก เราชอบแฟชั่นมากๆ การได้ไปลองชุดในร้านต่างๆ จนทำให้มีหนังสือเล่มเล็กๆ ชื่อห้องลองเสื้อ พอเกิดโควิดก็ไปเที่ยวที่ไหนไม่ได้ เลยดูซีรีส์เกาหลีแทน ดูแล้วก็ได้เรียนรู้ เก็บเอาแนวคิดหลายๆ อย่างทั้งมุมมองการเมือง สังคม วัฒนธรรม การทำธุรกิจใหม่และเรื่องวิธีคิดต่างๆ ก็เอามาช่วยซัพพอร์ทในงานเราได้เหมือนกัน”

“ถ้าคุณไม่อ่านหนังสือ คุณจะรู้อะไร” มีความเห็นกับประโยคนี้ยังไง

“ย้วยเคยอ่านงานที่พี่แหม่ม วีรพรเขียนแล้วชอบมากๆ เขาบอกว่า ชีวิตนี้ยังไม่เจอใครที่เจ๋งๆ แล้วเป็นคนไม่อ่านหนังสือ เห็นด้วยกับเขามาก คงยากถ้าจะทำให้ทุกคนรักการอ่านเพราะมันแล้วแต่ความสนใจและเงื่อนไขในชีวิต

“จริงๆ ในยุคนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นหนังสือก็ได้ จะอ่านอะไรก็ดีทั้งนั้น การ์ตูน นิยายในอินเตอร์เนท หรือคอมเมนท์ต่อบางเรื่อง บางทีเราก็ตื่นเต้นที่ได้รู้ว่า คนเจ๋งๆ อ่านอะไร คนวงการสร้างสรรค์อ่านอะไร ซึ่งหลายคนอ่านหนังสือเท่มาก บางคนเป็นนักแต่งเพลงแต่อ่านหนังสือการเมือง เป็นนักการเมืองแต่อ่านมุราคามิ มีคนอย่างนี้เยอะ

นภษร ศรีวิลาศ

“เวลามีใครแนะนำหนังสือ เราว่ามันสะท้อนความคิด ตาเป็นประกาย วิธีคิดเขาก็ออกมาหมดเลย อันนี้มันห่อหุ้มคนด้วยสเปซ แต่อันนี้ห่อหุ่มคนด้วยรสนิยมการอ่าน ย้วยเชื่อเสมอว่าการอ่านมันเหมือนเรียนทางลัด ยิ่งเรารู้เยอะ เรายิ่งมีทางเลือกในชีวิตเยอะ อันนี้คลาสสิกมาก ที่เล่าแบบนี้ ไม่ได้บอกว่าตัวเองเจ๋งที่อ่านหนังสือนะ แต่คนเจ๋งๆ ทุกคนบนโลกที่ประสบความสำเร็จ ทุกคนเป็นนักอ่าน ”

การเดินทางชาร์จพลังชีวิตและวิธีการบำบัดตัวเอง

“ส่วนตัวแล้วชอบเที่ยวเมืองมากกว่าเที่ยวธรรมชาติ ต่างประเทศ ที่ๆ ไปบ่อยสุดคือเกาหลีใต้และเป็นคนไม่มีปัญหากับการเที่ยวคนเดียวที่เกาหลีฯ ถ้าเทียบญี่ปุ่นกับเกาหลีเราเลือกเกาหลีฯ นะ บางคนบอกว่ามันประดิษฐ์ไป แต่ย้วยชอบนะหรือเพราะเมืองประดิษฐ์และมีชีวิตชีวานี่แหละ ทำให้เราตื่นตาตื่นใจ ส่วนการไปเที่ยวญี่ปุ่นคนเดียว สำหรับย้วยมัน Isolate ไปหน่อย เดินบนถนนแล้วรู้สึกโดดเดี่ยว แต่เกาหลีใต้จะเฟรนลี่กว่ามากกกกก (หัวเราะ)

นภษร ศรีวิลาศ

“เราชอบร้านหนังสือ โดยเฉพาะร้านแบบ Stand Alone ที่นั่นเยอะมาก เวลาไปเที่ยว ก็ไม่ค่อยมีแพลน ที่ผ่านมาจะดูโลเคชันไว้หลวมๆ ไปทีละย่าน ชอบที่ไหนก็จะอยู่ตรงนั้นนานหน่อย ทำให้เที่ยวกับใครไม่ค่อยได้ แต่เอาเข้าจริง คนเกาหลีก็ไม่เฟรนลี่เหมือนในซีรีย์นะผู้คนแข่งขันกันสูงมาก ประเทศนี้ชอบสร้างอะไรใหม่ๆ อยู่เสมอ แต่เป็นยุคที่ยอมรับการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะแฟชั่น เทคโนโลยี เรียกว่าทุกอย่างมันรันไปหมดจริงๆ เมื่อก่อนก็สูสีกับไทยมาตลอดเราไปพลาดตรงไหนเนี่ย !?!!? (หัวเราะ)

“สำหรับประเทศอื่นๆ ก็ชอบนะอย่างโคเปนฮาเกน เดนมาร์ก ชอบทุกอย่างที่นั่น อาคารสวย ตึกสวย แลดูชีวิตดี ถ้าเปิดประเทศได้เมื่อไหร่ต้องวางแผนไปให้ได้แน่ๆ ตอนนี้ไปไหนไม่ได้ก็ไปเที่ยวแต่เกาหลีในจอ ดู Netflix แล้วก็อยู่ประจำที่ร้านนี้ทุกวันเสาร์ ใครเหงาๆ แวะมาได้จ้ะ ย้วยจะชงชาให้ดื่ม ถ้าไม่เขินจนเกินไป ก็จะชวนมานั่งคุยกัน…(ยิ้ม) ….”

Window Gallery and Cafe
ซอยอินทามระ 3 ถนนสุทธิสารวินิจฉัย แขวงสามเสนใน
เขตพญาไท กรุงเทพฯ
โทร. 08-9210-1882
สนใจแมกกาซีนสามารถติดตามและสั่งซื่อได้ที่
Facebook : windowmagazinethailand
http://www.windowmagazinethailand.com

Tags: