Eyes on
ย้อนดูงานสุดครีเอทของ ‘อ้าย เว่ยเว่ย’ ศิลปินผู้สร้างงานศิลปะท้าทายอำนาจรัฐ
- อ้าย เว่ยเว่ย เป็นศิลปินนักเคลื่อนไหวผู้ท้าทายอำนาจรัฐจีนโดยใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือสื่อสารทรงพลังที่สุดของเขา เพราะอะไรงานศิลปะของอ้าย เว่ยเว่ย จึงทรงพลังเป็นที่รักของคนในโลก แต่ถูกเกลียดจากรัฐบาลจีน เราขอพาไปหาคำตอบผ่าน 10 ผลงานเจ๋งๆ ของเขาที่ฝากไว้ในวงการศิลปะโลกตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
อ้าย เว่ยเว่ย เป็นศิลปิน นักเคลื่อนไหว และผู้สร้างภาพยนตร์ชาวจีนในหลากหลายสื่อ ตั้งแต่ประติมากรรม ศิลปะการจัดวาง สถาปัตยกรรมไปจนถึงภาพถ่าย เขาได้รับขนานนามว่า ‘ศิลปินผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในโลก’ จากการใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือในการตั้งคำถามเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพ วัฒนธรรม การเมืองในจีนและทั่วโลกอย่างตรงไปตรงมาโดยไม่เกรงกลัวอำนาจรัฐ
เขาถูกทำร้ายร่างกาย ถูกจับและควบคุมตัวเป็นเวลา 81 วัน สตูดิโอศิลปะของเขาถูกพังยับเยิน ไม่ใช่แค่ครั้งเดียวแต่ถึง 2 ครั้ง! แต่นั่นก็ไม่อาจหยุดหยั้งวีรกรรมเขาได้ ตรงกันข้ามกลับตอบโต้อย่างเผ็ดร้อนมากขึ้น
เพราะอะไรงานศิลปะของอ้าย เว่ยเว่ย จึงทรงพลังเป็นที่รักของคนในโลก แต่ถูกเกลียดจากรัฐบาลจีน เราขอพาไปหาคำตอบผ่าน 10 ผลงานเจ๋งๆ ของเขาที่ฝากไว้ในวงการศิลปะโลกตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
Droping a Han Dynasty Urn
ภาพขาวดำ 3 ภาพขณะอ้าย เว่ยเว่ย โยนแจกันโบราณสมัยราชวงศ์ฮั่น อายุราว 2,000 ปีลงพื้นจนแตกเป็นผุยผง เมื่อปี 1995 แนวคิดของงานชิ้นนี้คือการทำลายเพื่อการอนุรักษ์ กระตุ้นให้ผู้ชมตั้งคำถามถึงคุณค่าของวัฒนธรรมและวัตถุโบราณว่าควรค่าแก่การอนุรักษ์หรือไม่ในยุคสมัยใหม่ โดยได้แรงบันดาลใจมาจากช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมของทางการจีนในยุคเหมาเจ๋อตุง ถือเป็นหนึ่งในชิ้นงานที่มีการถกเถียงและมีมูลค่าอย่างมาก หลังขายได้เกือบ 1 ล้านดอลลาร์จากการประมูลของ Sotheby ในลอนดอน
Sunflower Seeds
ว่ากันว่านี่อาจจะเป็นผลงานที่โด่งดังที่สุดของเขา เมล็ดทานตะวันเคลือบดินเผาทำมือนับล้านเมล็ด ที่ผลิตโดยช่างฝีมือ 1,600 คนในเมืองจิ่งเต๋อเจิ้น ประเทศจีนภายใต้การดูแลของ อ้าย จัดแสดงครั้งแรกในปี 2010 ที่ Tate Modern ในลอนดอน และเปิดโอกาสให้ผู้ชมได้เดินลุยผ่านเมล็ดทานตะวัน ที่ออกแบบมาเป็นตัวแทนของชาวจีน ด้านหนึ่งเปรียบเป็นสัญลักษณ์ของความเสมอภาคที่ถูกกำหนดโดยคอมมิวนิสต์ สะท้อนถึงการกีดกันความเป็นปัจเจก และอีกด้านหนึ่งแสดงถึงพลังมวลชนที่ทำให้เห็นว่าการรวมตัวกันสามารถสร้างผลกระทบอันยิ่งใหญ่ได้
‘The Bird’s Nest’ National Olympic Stadium
“หากไม่มีผมก็คงไม่มีโปรเจ็กต์นี้ มันคงออกมาแตกต่างอย่างสิ้นเชิงทั้งรูปแบบและแนวคิด”
ศิลปินชาวจีนพูดถึงผลงานการออกแบบสนามกีฬารังนก หัวใจสำคัญของการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2008 ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ผลงานชิ้นเอกทางสถาปัตยกรรมที่ร่วมมือกับ Herzog & de Meuron สถาปนิกชาวสวิส ก่อนจะปลีกตัวออกมาเงียบๆ พร้อมกับวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลจีนอย่างเผ็ดร้อนและปฏิเสธการเข้าร่วมพิธีเปิด เพราะเขามองว่าการโชว์ภาพอลังการเบื้องหน้านั้นสวนทางกับความทุกข์ของประชาชนที่ถูกขับไล่ออกจากชุมชนในปักกิ่ง เพื่อสร้างภูมิทัศน์ที่สะอาดสวยงามสำหรับการเป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬายิ่งใหญ่ที่สุดในโลก
Forever Bicycles, 2013
Forever Bicycles, 2013 คือหนึ่งในเวอร์ชั่นของงานศิลปะการจัดวาง Forever Bicycles ใช้จักรยานแบรนด์ Yong Jiu แปลตามตัวอักษรว่า Forever ซึ่งเป็นแบรนด์จักรยานแถวหน้าของจีนทั้งหมด 3,144 คัน วางเชื่อมต่อกันเป็นโครงสร้าง 3 มิติเกิดเป็นภาพน่าทึ่งเหมือนเขาวงกตขนาดยักษ์ที่ Nathan Phillips Square โตรอนโต ประเทศแคนาดา แสดงถึงสภาพแวดล้อมทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปในจีนและทั่วโลก รวมไปถึงแนวคิดการผลิตเชิงพาณิชย์ในจำนวนมากและการบริโภคนิยมในสังคมสมัยใหม่
ภาพยนตร์สารคดี ‘So Sorry’
หากจะบอกว่าสารคดีที่ตั้งชื่อแบบเหน็บแนมเรื่องนี้คือจุดเริ่มต้นช่วงเวลาแห่งความขัดแย้งกับรัฐบาลจีนหนักที่สุดของอ้าย เว่ยเว่ย ก็คงไม่ผิดนัก เมื่อการบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับความพยายามในการเรียกร้องความยุติธรรมให้กับนักเรียนกว่า 5,000 คนที่เสียชีวิตในเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เสฉวน อันเป็นผลจากการคอรัปชั่นจนนำมาสู่การก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐานและการตรวจสอบที่หละหลวมนั้น ได้นำมาสู่การเผชิญหน้ากับตำรวจในเมืองเฉิงตูและเขาถูกทุบตีที่ศรีษะอย่างรุนแรงจนต้องเข้ารับการผ่าตัดสมองฉุกเฉิน โดยที่กล้องสามารถจับภาพไว้ได้ทั้งหมด หลังจากนั้นเขาก็ถูกสอดส่องและควบคุมตัวโดยรัฐ ผลงานชิ้นนี้ยังเป็นแรงบันดาลใจของสารคดีชีวประวัติเกี่ยวกับการต่อสู้ของเขา ‘Ai Weiwei: Never Sorry’ ที่ได้รับรางวัลในปี 2012 ด้วย
Law of the Journey
คำพูดผ่านศิลปะของอ้าย เว่ยเว่ย ไม่ได้มีแค่เรื่องราวในประเทศบ้านเกิดเท่านั้น แต่เขายังเป็นกระบอกเสียงให้กับเพื่อนร่วมโลก อย่างเช่นผลงานชิ้นนี้ที่ต้องการนำเสนอปัญหาและความยากลำบากของผู้ลี้ภัย หลังไปเยือนค่ายผู้ลี้ภัย 40 แห่งทั่วโลก ในรูปแบบประติมากรรมแพยางชูชีพสีดำที่มีหุ่นเป่าลมรูปคนไร้ใบหน้านับสิบในเสื้อชูชีพ เป็นตัวแทนของผู้ลี้ภัยจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งในเวอร์ชั่นปี 2016 แพยางมีขนาดความยาว 16 เมตร เป็นหนึ่งในผลงานที่นำมาแสดงใน Bangkok Art Biennale 2020 ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC)
Hansel and Gretel
นิทรรศการ ‘Hansel and Gretel’ ปี 2017 ที่นิวยอร์ก ถูกออกแบบมาเพื่อโชว์ศักยภาพ (และอันตรายที่อาจเกิดขึ้น) ของเทคโนโลยีเฝ้าระวัง โดยพาผู้ชมเข้าสู่โลกที่ทุกการเคลื่อนไหวจะถูกติดตามและจับตามองอยู่ตลอดเวลา ผ่านอุปกรณ์กล้องวงจรปิด ซอฟต์แวร์จดจำใบหน้า โดรน บีค่อน และโปรเจกเตอร์ที่ถูกติดตั้งไว้ทั่วพื้นที่การจัดแสดง เพื่อรณรงค์ให้ตระหนักถึงประเด็นการสอดแนม และการรักษาความเป็นส่วนตัวในยุคแห่งเสรีภาพ
Coronation
ไม่พูดถึงไม่ได้สำหรับการช่วยเติมเต็มประวัติศาสตร์ช่วงโรคระบาดครั้งใหญ่ของโลก Coronation เป็นภาพยนตร์สารคดีที่นำเสนอเรื่องราวที่เกิดขึ้นในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีนในช่วงโควิด-19 ปี 2020 และวิธีการจัดการของรัฐบาล ตั้งแต่การปิดเมือง การตั้งโรงพยาบาลสนามฉุกเฉินขนาดใหญ่ที่สร้างเสร็จในเวลาไม่กี่วัน ไปจนถึงการสะท้อนปัญหา ความรู้สึกและการใช้ชีวิตของประชาชนภายใต้การล็อกดาวน์ โดยมีอาสาสมัครหลายสิบคนและทีมงานเป็นผู้รวบรวมฟุตเทจอย่างลับๆ ให้ศิลปินชาวจีนที่กำกับจากยุโรป เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงสิ่งที่คนจีนต้องเผชิญ
1000 Years of Joys and Sorrows
นอกจากผลงานศิลปะร่วมสมัยและภาพยนตร์แล้ว อ้าย เว่ยเว่ย ยังมีผลงานหนังสือเรื่อง ‘1000 ปีแห่งความรื่นรมย์และข่มขื่น’ (1000 Years of Joys and Sorrows) ที่เปิดตัวเมื่อ 2 ปีที่แล้ว บันทึกความทรงจำของเจ้าตัวตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันที่บอกเล่าด้วยตัวเอง นำเสนอประวัติศาสตร์อันโดดเด่นของจีนในช่วงกว่า 100 ปีที่ผ่านมา พร้อมเรื่องราวชีวิตของเขาและ อ้าย ชิง ผู้เป็นพ่อและกวีเอกอันโด่งดังของจีน ที่ต้องเผชิญกับอำนาจรัฐ ล่าสุดมีฉบับภาษาไทยวางขายเรียบร้อยแล้ว
Water Lilies #1
ปิดท้ายด้วยโปรเจ็กต์ชิ้นใหญ่ล่าสุดและเป็นไฮไลต์ในนิทรรศการ ‘Ai Weiwei: Making Sense’ ที่ลอนดอน งานนี้ดัดแปลงมาจากภาพวาด ‘Water Lilies’ ของศิลปินชื่อดังชาวฝรั่งเศส โกลด โมเนต์ โดยใช้ตัวต่อเลโก้เกือบ 650,000 ชิ้น 22 เฉดสีสร้างสรรค์ผลงานยาว 15 เมตรแทนการใช้แปรง พร้อมเพิ่มฉากประตูดำมืดลงในภาพ สื่อถึงประตูสู่อุโมงค์ใต้ดินในเมืองซินเจียงของจีน ที่ครอบครัวของเขาถูกเนรเทศมาใช้แรงงานในยุคปฏิวัติวัฒนธรรม เพื่อไว้อาลัยให้กับพ่อผู้ล่วงลับ และสะท้อนถึงความไม่เป็นธรรมและการกดขี่ ที่สำคัญเป็นผลงานเลโก้ที่ใหญ่ที่สุดของเขา