สีสันของโม
เข้าใจซินเนสทีเซีย เห็นเสียง ได้ยินสี ผ่านนิทรรศการสร้างพลังบวกครั้งแรกของโม-กมลเนตร
- โม – กมลเนตร ตรีสุพัฒน์ศิลป์ ศิลปินที่ใช้นาม Netara ในยามวาดรูปและเป็นนักเขียนอิสระในชื่อ MosaiZ เธอเป็นซินเนสทีเซีย (Synesthesia) การรับรู้ข้ามช่องสัมผัสของเธอ ทั้งการได้กลิ่น ฟังเสียงจะเห็นเป็นสีและรูปทรง
- ในวันที่ยังไม่เข้าใจว่าตนเป็นอะไร เธอเขียนและวาดรูปถ่ายทอดความโดดเดี่ยว กระทั่งมาถึงการล่วงรู้และยอมรับในตัวตน ออกมาเป็นหนังสือที่มีเรื่องสั้นพร้อมภาพประกอบในชื่อ “แม้บิดเบี้ยวเพียงใด จงโอบกอดไว้เถิด”
- “แม้บิดเบี้ยวเพียงใด จงโอบกอดไว้เถิด” กลายเป็นนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรก ที่โมนำเรื่องราวในเล่มมาขยายเป็นผลงานขนาดใหญ่ ทั้งยังวาดชิ้นงานเพิ่มเติมพื่อจัดแสดงในครั้งนี้ด้วย โดยต้องการถ่ายทอดแง่มุมคนเป็นซินเนสทีเซีย ไปจนถึงการเคารพและยอมรับความแตกต่างและความหลากหลายในการรับรู้ของผู้คนที่ยังมีอีกมากบนโลกใบนี้
‘คนเรารับสัมผัสทั้งห้า การมองเห็น กลิ่น เสียง รส สัมผัส ผ่านตา หู จมูก และผิวหนัง มนุษย์ทั่วไปได้ยินเสียงผ่านหู แต่คนที่เป็นซินเนสทีเซียนอกจากได้ยินเสียงผ่านหูแล้ว กระแสประสาทในสมองอาจจะส่งไปถึงประสาทรับรู้การมองเห็น ทำให้เห็นสีสันขึ้นมา ซินเนสทีเซียมีหลากหลายรูปแบบ มีทั้งเห็นตัวเลขและอักษรเป็นสีเฉพาะ ได้ยินเสียงแล้วรับรู้ถึงรสชาติ ได้ยินเสียงเฉพาะยามรับรสบางรส เป็นต้น…’ ถ้อยคำที่โมเขียนอธิบายซินเนสทีเซียในนิทรรศการของเธอ
Synesthesia ไม่ใช่โรคที่ร้ายแรง มีการอธิบายทางวิทยาศาสตร์ไว้แล้วว่า เป็นเพียงอาการหรือลักษณะพิเศษทางการรับรู้ที่แตกต่างจากคนทั่วไป
‘แม้บิดเบี้ยวเพียงใด จงโอบกอดไว้เถอะ’ หรือ ‘NO MATTER HOW DIFFERENT YOU FEEL YOU ARE, EMBRACE IT’ เป็นนิทรรศการที่โมได้รวบรวมความกล้าตลอดทั้งชีวิต ลุกขึ้นมาบอกเล่าเรื่องราวของเธอผ่าน 4 ช่วงเวลา นับตั้งแต่การอยู่อย่างโดดเดี่ยว การค้นพบซินเนสทีเซีย ไปจนถึงการยอมรับ และโอบกอดตัวตนของเธอในที่สุด
เมื่อโลกของโมคือคำสาป?
“เรามองเห็นเป็นสี แต่ด้วยความที่ตอนนั้นยังไม่ถึงยุคอินเทอร์เน็ต เราเหมือนอยู่ในโลกแคบๆ การที่เราเห็นผนังสีขาวเป็นสีอื่น หรือกินขนมปังจืดๆ จนเราเห็นสีอื่นแทรกขึ้นมาติดขนมปังที่เรากิน เราก็ต้องเงียบ บอกใครไม่ได้ เพราะถูกห้าม ถูกหาว่าเพี้ยนบ้าง เรียกร้องความสนใจบ้าง จนเรามองว่าตัวเองมีคำสาป เป็นตัวประหลาดที่ต้องดิ้นรนทำตัวให้เหมือนคนทั่วไปอย่างที่คนใกล้ตัวบอกกับเรามาตลอด”
โมเล่าถึงสิ่งที่เธอต้องเผชิญมาตลอดตั้งแต่เด็ก ก่อนเพิ่มเติมด้วยว่าเธอเป็น Dyslexsia ภาวะบกพร่องทางด้านการอ่าน และการสะกดคำที่ทำให้โมเป็นเด็กเรียนช้า แต่ก็ไม่ได้ผลกระทบกับผลการเรียนมากนัก การวาดรูปและการเขียนเล่าเรื่องราวต่างๆ จึงถือเป็นสิ่งที่เธอถนัดและเป็นวิธีการสื่อสารที่ดีที่สุดสำหรับเธอ
“ที่บ้านทำร้านเพชร ออกแบบตัวเครื่องเพชรเอง คุณแม่วาดรูปเก่งมาก โมเลยได้สกิลมาจากตรงนั้น เราวาดหมด ไม่ว่าจะเจออะไร กระทั่งตอนหลับตา เราไม่เคยเห็นสีดำ แต่จะมองเห็นกลุ่มก้อนสีวิ่งอยู่ตลอด เราก็เอามาวาดอยู่เรื่อยๆ จนพบสไตล์ของตัวเอง งานของโมจะใช้สีเยอะ ทั้งสีอะคริลิก สีน้ำ และสีพาสเทล”
แม้ในภาพจะมีสีสันเพียงใด ก็ยังเคล้าไปด้วยความหม่นหมอง คำสาปของเธอยังคงไม่มีใครยื่นมือเข้ามารับฟัง แต่แล้ววันหนึ่งอาจารย์ที่เคยสอนโมกลับมาจากต่างประเทศ ก็เล่าถึงร้านไอศกรีมที่มีรสชาติให้เลือกกว่า 200 รสให้ฟัง ทำเอาคนรักไอติมอย่างโมทำตาโต โอ้โห เยอะขนาดนั้น จำได้ยังไง (หัวเราะ)
“เราค้นพบเลยว่าโลกที่เราอยู่มันช่างเล็กเหลือเกิน ก็เลยตัดสินใจกับตัวเองว่าขอออกไปตามหาดินแดนที่มีไอติม 200 รสดู เผื่อเราจะเจอคำตอบให้กับตัวเองมากขึ้น”
เปิดดวงตาที่เคยเก็บซ่อนอีกครั้ง
เดินทางไปเนเธอร์แลนด์ ประเทศที่ขึ้นชื่อว่าเปิดกว้างมากสำหรับความหลากหลาย แม้จะต้องเผชิญกับอุปสรรคที่ทำเอาโมวาดรูปและเกี่ยวเก็บประสบการณ์อย่างไม่คิดชีวิต แต่การตามหาไอศกรีม 200 รสชาติก็มีจุดเปลี่ยนสำคัญ
“เรากับเพื่อนนั่งล้อมวงคุยกัน มีเพื่อนคนหนึ่งเรียนด้านประสาทวิทยา เราเลยถามสิ่งที่เราเป็น ปรากฏว่าเพื่อนตอบกลับมาในไม่กี่วินาที ยูเป็นซินเนสทีเซียไง ไม่ใช่คนเพี้ยน โอ้โห ที่เรากังวลมาหลายปีคลี่คลายออกมาง่ายๆ เลย (หัวเราะ) แต่มันทำให้เราคิดนะ บางอย่างมันดูหนักหนา แต่จริงๆ ถ้าเราได้ออกมาดูอะไรข้างนอก มันอาจจะไม่ใช่ก็ได้”
การได้รู้ว่ายังมีอีกหลายคนที่เป็นเหมือนกันกับเธอ ก็พลอยให้รู้สึกว่า ‘ฉันก็ไม่ได้อยู่ตัวคนเดียวนี่นา’ จากที่เคยวาดรูปเพื่อเล่าความในใจ คราวนี้ศิลปินขอเปลี่ยนมาวาดตามสิ่งที่เห็นบ้าง ทั้งดาร์กช็อกโกแลตที่เป็นสีแดง ช็อกโกแลตนมที่ออกสีแดงน้ำตาล ยิ่งวาดก็ยิ่งสนุก
“เรารู้สึกว่ามันไม่ใช่คำสาปอีกต่อไปแล้ว เราเอ็นจอยไปกับมัน เพราะได้รับฟัง ค้นหาสิ่งใหม่ๆ ในตัวเองมากขึ้น เราลองฟังเพลงบาโรก ดูสิว่าสีจะเป็นยังไง โห สีมันผสมมาให้อย่างที่ไม่เห็นมาก่อนเลย ลองเปิดซิมโฟนีแล้วนั่งมองผนังสีขาว เราเห็นสีวิ่งสาดเข้ามาไม่หยุด เพื่อนที่เรียนปรัชญาก็กระตือรือร้นมาก ถามตลอดยูเห็นสีอะไรบ้าง เล่าสิๆ ไม่เคยมีใครทำมาก่อน เรารู้สึกตื่นเต้นกับสิ่งที่ค้นพบมากๆ”
เธอจึงจับแปรงพู่กันบันทึกสีที่มองเห็น ทั้งจากเพื่อนๆ จากการลิ้มรสชาติไอศกรีม จิบชา ไปจนถึงกิจวัตรต่างๆ ออกมาเป็นผลงานแและเรื่องสั้น จัดแสดงในนิทรรศการบริเวณชั้น 2 นั่นเอง
ฉันก็เป็นส่วนหนึ่งของโลกใบนี้เช่นเดียวกับคุณ 🙂
ตอนที่รู้ว่าเป็นซินเนสทีเซีย เธอยังต้องใช้เวลาอีกสักพักในการยอมรับตนเอง ส่วนหนึ่งเพราะความกลัวที่วิ่งตามมาแต่เด็ก และเพราะโมต้องวิ่งหาข้อพิสูจน์ที่ทำเอาเหนื่อยมากๆ “ถึงจุดหนึ่งก็รู้สึกว่า แล้วไงล่ะ ทำไมเราต้องมีใบประกาศ ทำไมต้องให้คนอื่นมาแปะป้ายว่าเราเป็นอะไร แค่เราเป็นเรา ก็เราเห็นจริงๆ คุณไม่เชื่อก็ไม่เป็นไร เพราะกว่าเราจะมาถึงจุดนี้ เราต้องใช้ความกล้ามากเลยนะ ก็ช่างมันละกัน” เพราะในท้ายที่สุดแล้ว มีแต่ตัวเราเท่านั้นที่จะต้องหอบหิ้วหัวใจตัวเอง
“การยอมรับในสิ่งที่ตัวเองเป็น มันทำให้เราแฮปปี้กับตัวเองมากๆ ได้เห็นว่าสิ่งที่เราทำมันมีคุณค่า ก่อนหน้านี้วาดรูปด้วยความไม่ชอบตัวเอง แต่ตอนนี้เราเลิกมองหาจุดที่ลงสีพลาดแล้ว เรากลับรู้สึกว่าถึงจะลงสีพลาดก็ไม่เป็นไร ปล่อยให้เป็นไปตามแบบของมันดีกว่า (ยิ้ม)”
อันที่จริงแล้วโมเชื่อว่าทุกคนคงมีสิ่งที่อาจจะไม่ชอบบ้าง แต่ Nobody is Perfect ทุกอย่างคงต้องมีก้าวสเต็ปของการยอมรับ แต่ในท้ายที่สุด เธอก็อยากให้เราทุกคนโอบกอดความเป็นเราด้วยความรัก และมองว่ามันก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ดำรงอยู่ในโลกนี้เช่นเดียวกันกับสิ่งอื่นๆ นั่นล่ะ
อย่างไรก็ตาม โมสร้างแท็ก #สีสันของโมบนทวิตเตอร์ เพื่อให้คนที่เป็นซินเนสทีเซียได้เข้ามาแบ่งปันเรื่องราว จะบอกเล่าผ่านตัวอักษรหรือภาพวาดก็ได้ เพราะตั้งใจไว้แล้วว่า อยากนำเสนอความหลากหลายทางการรับรู้ ให้ผู้คนได้เกิดความเข้าใจ และมองเห็นความสวยงามของทุกๆ ความแตกต่าง