About
Overnight

Be Well

Devasom Khao Lak ทริปชู Well-being ผ่านการอาบป่า ฟังเสียงต้นไม้ และ Aqua Sound Bath

เรื่อง พัทธนันท์ สวนมะลิ Date 03-07-2024 | View 1987
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • ทริปพักผ่อนที่ Devasom Khao Lak Beach Resort & Villas บูติครีสอร์ต 5 ดาวที่อัดแน่นไปด้วยกิจกรรมผ่อนกายคลายใจ และห้องพักที่ชวนให้แขกรู้สึกเหมือนเป็นมหาราชามหารานี

ก่อนหน้านี้ไม่นานนักผมพึ่งกลับมาจากทริปกระบี่ 7 วัน 6 คืน เรียกได้ว่าสูบพลังงานชีวิตไปมากโข กะว่ากลับมากรุงเทพฯ จะขอนอนทิ้งตัวแบบลืมเสาร์-อาทิตย์กันไปข้าง แต่ล้อเครื่องบินยังไม่ทันเหยียบกรุงเทพฯ อีเมลของผมก็มีหมายเชิญจาก Devasom Khao Lak Beach Resort & Villas แจ้งเตือนขึ้นมา

ใจความประมาณว่า ตอนนี้ทางเทวาศรมกำลังเต็มไปด้วยกิจกรรมอันหลากหลายให้แขกได้ลองมาทำชนิดมีเวลา 3 วัน 2 คืนก็ไม่พอ อย่างไรก็ตาม ความน่าสนใจในทริปนี้เห็นจะเป็นเรื่องของกิจกรรมเชิง Mindfulness (การเจริญสติ) และ Well-being (สุขภาวะ) โดยในตารางเวลาประกอบไปด้วย Aqua Sound Bath, Kayak Adventure & Forest Bathing, Plant Sound Meditation และ Listening Lounge ที่เมื่ออ่านข้อมูลกำกับจะพบว่า กิจกรรมเหล่านี้ไม่เพียงแต่สร้างเสริมความผ่อนคลายของร่างกาย (ที่ผมกำลังต้องการอยู่พอดี) แต่ยังส่งเสริมให้จิตใจได้พักฟื้นจากความเครียด ความกดดัน หรือความรู้สึกไม่สบายรอบตัวอีกด้วย

เอาเป็นว่าแค่เห็นคำว่า ‘ผ่อนคลาย’ ใครจะไปปฏิเสธทริปนี้ลงกัน นี่มันสวรรค์มาโปรดชัดๆ

Devasom

วันที่ 1
สวรรค์ขนาด 105 ตารางเมตร

ถ้าให้เล่ากันตั้งแต่ต้น ทริปนี้ประกอบไปด้วยสื่อทั้งหมด 5 คน (รวมผมด้วย) ซึ่งยังไม่ทันจะขึ้นเครื่องดี เราก็เกือบจะเหลือเพียงแค่ 3 คนแล้ว เพราะอีก 2 คนเกิดเหตุขัดข้องระหว่างทาง ส่งผลให้การเดินทางมายังสนามบินล่าช้ากว่าที่คาดไว้ ยังดีที่ท้ายสุดเราก็ได้ร่วมเดินทางกันแบบสมบูรณ์ครบ 5 คน

เวลา 12:05 น. เราเดินทางมาถึงสนามบินภูเก็ต ที่นี่ เหมียว-วราภรณ์ อติรักษ์ Assistant Managing Director ของเทวาศรมได้มารอต้อนรับเราเป็นที่เรียบร้อย แล้วจึงพานั่งรถกันต่ออีกประมาณชั่วโมงครึ่ง ผ่านเส้นทางคดเคี้ยวเลี้ยวโค้งไปมาเหมือนหลงป่า เหมียวเล่าว่า จุดนี้เป็นความตั้งใจของโรงแรม หากเข้ามาตอนกลางคืนที่ไฟสลัวๆ จะยิ่งสัมผัสได้ถึงบรรยากาศ เพราะเธอหวังว่าเมื่อถึงจุดหมาย แขกจะได้รับประสบการณ์แรกเป็นความรู้สึกของการเลี้ยวผ่านป่าเข้ามาเจอกับอาณาจักรโบราณที่ตั้งตระหง่านอยู่ ณ ตรงนี้

เมื่อรถจอด พวกเราเดินเข้าไปยังล็อบบี้ที่เปิดโล่ง สายตาปะทะเข้ากับวิวของชายหาดและทะเล ถูกต้อนรับด้วยสายลมเย็นสบาย ก่อนจะรับกุญแจห้องของแต่ละคน และแยกย้ายกันไปสำรวจรูมไทป์ที่ถูกจัดเตรียมไว้ให้อย่างน่าตื่นเต้นในความสบายที่รอคอยให้เราได้ไปสัมผัส

แต่ก่อนหน้าจะเดินผ่านประตูหลัก ซึ่งจะมีเรื่องเล่าให้ฟังในภายหลัง พนักงานก็ได้ขอให้พวกเราตีฆ้องตรงหน้าทางเข้ากันคนละ 1 ที เนื่องจากชื่อ ‘เทวาศรม’ มาจากคำ 2 คำรวมกัน นั่นคือ Deva (เทวา) และ Arshrm (อาศรม) หรือในภาษาสันสกฤต เทวา หมายถึง ‘เทวดา’ อาศรม หมายถึง ‘ที่พักอาศัย’ เมื่อรวมกันแล้วจะได้ความหมายว่า ‘ที่พักอาศัย/บ้านของเทวดา’ การตีฆ้องจึงเปรียบเสมือนการแจ้งกับเทวดาว่า พวกเราได้มาถึงบ้านของท่านแล้วนั่นเอง แต่ตีแค่คนละทีนะ หลายทีเกรงว่าเทวดาจะรำคาญเอา

พวกเราถูกแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกพักที่ Seaside ‘Pool Paradise’ Suite อีกกลุ่มหนึ่งพักที่ BeachFront Pool Villas ซึ่งผมอยู่ในกลุ่มแรก

พนักงานพาผมมายังห้องพัก ในส่วนของความประทับใจให้สาธยายคงยาวเป็นหางว่าว ด้วยความที่ห้องนี้ถูกจัดวางให้มีความเอียง เลยสามารถมองเห็นได้ทั้งทะเลและลากูน (คลองน้ำจืด) ที่อยู่ติดกัน นอกจาก นี้ยังเป็นรูมไทป์เดียวที่ไม่ใช่ Villa ที่มีสระว่ายให้พร้อมตรงระเบียงห้อง ข้อสำคัญความเป็นส่วนตัวนั้นไม่เป็นสองรองใครจริงๆ

Devasom

วันที่ 1
(เดิน) ชม – (ดื่ม) ชา

ตารางกิจกรรมวันแรกถือว่าไม่แน่นมาก เริ่มจากไปทำเวิร์กช้อป Tea Appreciation แล้วต่อด้วยการเดินทัวร์ทำความรู้จักโรงแรม สำหรับนัดหมายแรกพวกเราไปรวมตัวกันที่ห้องสมุด อยู่ไม่ไกลจากล็อบบี้มากนัก และในคืนที่ 2 ห้องนี้จะถูกปรับฟังก์ชันไปใช้งานในอีกรูปแบบหนึ่งด้วย แต่ก่อนจะไปถึงวันนั้น เรามาโฟกัสกับชุดขนมไทยที่อยู่ตรงหน้ากันดีกว่า เพราะนอกจากจะประกอบไปด้วยขนมไทยที่ส่วนตัวไม่ค่อยได้เห็นบ่อยๆ อย่างสำปันนี กลีบลำดวน ช่อชะบา ขนมโคไส้น้ำตาล และเต้าส้อ ความละเมียดของ Devasom’s Afternoon Tea Set ก็นับว่าไม่แพ้ความอร่อยเลย แน่นอนว่าสำปันนีทำผมคอแห้งไม่น้อย เวิร์กช้อปชาจึงนับว่ามาถูกเวลาเอามากๆ

เริ่มต้นด้วยการแนะนำชาทั้ง 4 ตัว ได้แก่ Devasom Journey (Signature), Jasmine Green Tea with Rice and Pandan (ข้าวไร่ดอกข่า), White Tea with Pineapple Mango และ Oolong Tea with Safflower Harmony

ขอพูดถึงตัวซิกเนเจอร์สักหน่อย เพราะเห็นว่ามีส่วนผสมของสมุนไพรเป็นหลัก ตั้งแต่รากบัว เกสรบัว กลีบบัว ลูกกระวาน ใบกระวาน กานพลู ลูกมะตูม และใบเตยหอม พนักงานแจ้งว่าชาตัวนี้จะค่อนข้างเบา สามารถดื่มได้ทุกเวลา มีส่วนช่วยบำรุงโลหิต และคลายเครียดได้เป็นอย่างดี

น่าเสียดายที่ผมไม่สันทัดทั้งชา ทั้งสมุนไพร งานนี้เลยขอเลือก White Tea with Pineapple Mango ซึ่งเป็นชาผลไม้ มีส่วนประกอบเป็นชาขาว สับปะรด มะม่วง สตรอว์เบอร์รี และผิวส้ม ได้รับคำแนะนำมาว่าให้ดื่มแบบเย็นจะอร่อยมาก แต่ถ้าดื่มแบบร้อนต้องดื่มกันถึงน้ำที่ 4 (ชง 1 ครั้งเท่ากับ 1 น้ำ) ถึงจะค้นพบรสของตัวส้ม ถ้ายังไม่ถึงส้มแปลว่ายังสัมผัสไม่ถึงตัวตนของชานี้ น่าเสียดายอีกต่อหนึ่งที่ผมดื่มไหวแค่น้ำที่ 2 หลังจากนั้นก็เป็นการเวียนชิมของแต่ละคนกันแล้ว

หลังเสร็จจากเวิร์กช้อป พวกเราทั้ง 5 ก็ได้มารวมตัวกันที่ล็อบบี้อีกครั้ง เหมียวแนะนำให้เราได้รู้จักกับ บอน-อิศร์ อติรักษ์ Co-Founder และ Managing Director – Devasom Resorts (ผู้ร่วมก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ Devasom Resorts) อันที่จริงเหมียวแนะนำว่าบอนเป็นดีเจของรีสอร์ตแห่งนี้ด้วย แต่บอนรีบส่ายหัวปฏิเสธทันควัน ก่อนจะร่วมพูดคุยพร้อมเล่ารายละเอียดของสถานที่ให้เราฟัง

Devasom

“หลังจากที่เทวาศรมหัวหินที่ครอบครัวของเราเปิดเมื่อ 15 ปีก่อน เราก็มาที่เขาหลักกันต่อ เราอยากจะสร้างเทวาศรมให้อยู่ในบริบทของเขาหลักและพังงา ไม่ได้ไปลอกมาจากที่อื่น เราจึงลองศึกษาประวัติศาสตร์ของพื้นที่แถวนี้ แล้วนำเรื่องราวของอารยธรรมตามพรลิงค์ที่เป็นต้นกำเนิดของอารยธรรมศรีวิชัย สมัยพุทธศตวรรษที่ 11-13 มาเป็นโครงเรื่องของเทวาศรมเขาหลัก ซึ่งมีกลิ่นอายของเมืองโบราณที่เมื่อเราเข้ามา ด้วยเอเลเมนต์ที่โอบล้อมเรา ทั้งการตกแต่งสถาปัตยกรรม อารยธรรม และวัฒนธรรมศิลปะ สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นประสบการณ์ที่พาไปสู่ความอบอุ่น และความผ่อนคลายริมทะเล” บอนเล่า

พูดคุยได้ไม่นานนัก บอนก็ต้องขอตัว พร้อมทิ้งรายละเอียดคร่าวๆ ให้สื่อทั้งหลายได้เก็บไปเป็นข้อสงสัยรอวันถามอย่างละเอียดอีกที เพียงแต่ยังไม่ใช่ในวันนี้ และสำหรับตอนนี้ เหมียวขอรับไม้ต่อพาพวกเราเดินชมรีสอร์ตกันตั้งแต่ประตูหน้า จนถึงริมชายหาด

เริ่มต้นกันที่ประตูหลักที่แปะโป้งไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะมีเรื่องเล่าในภายหลัง เหมียวบอกว่านี่คือประตูป้อมโบราณที่เธอได้มาจากประเทศอินเดีย ถึงกับขอให้สถาปนิกแก้แบบปรับดีไซน์ให้รองรับกับขนาดประตูนี้ได้ ถ้าถามว่าขนมาได้อย่างไร เริ่มต้นด้วยการแยกส่วนใส่ตู้คอนเทนเนอร์ ขนจากเมืองทะเลทรายในอินเดียมายังท่าเรือ ลงทะเลมายังประเทศไทย ก่อนจะมาจบลงด้วยการเป็นประตูหลักให้กับเทวาศรมเขาหลักในทุกวันนี้

“จริง ๆ ที่นี่คือการผสมผสานของอารยธรรมตะวันออกเฉียงใต้ ถ้าย้อนไปยุคโบราณของแถบนี้จะเป็นเมืองตะกั่วป่า ซึ่งเป็นเมืองท่าสมัยก่อน เมื่อก่อนจะมีเส้นทางการค้าสายไหม ตั้งแต่ยุคศตวรรษที่ 6 และ 7 เพราะฉะนั้นอารยธรรม ซากสถาปัตยกรรม มันจะไม่มีเหลือให้เราได้ดูแล้ว เหล่าของประดับถ้วยชามรามไหจึงเป็นของโบราณจริงๆ ที่เราเดินทางไปค้นพบทั่วเอเชีย” เหมียวเล่าถึงที่มาที่ไปของสิ่งของส่วนใหญ่ในรีสอร์ตแห่งนี้

Devasom

เราเดินกันต่อตามเส้นทางที่ถูกเรียกว่า ‘ระเบียงคด’ จากตรงนี้เราจะมองเห็นห้องอาหารตะโกลา (TAKOLA Thai Restaurant) ตั้งอยู่ข้างล่างของล็อบบี้ ห้องอาหารนี้จะเสิร์ฟอาหารไทย และอาหารใต้ต้นตำรับ เป็น All Day Dining ที่อาหารเช้าเราก็จะมากินกันที่นี่ รวมถึงมื้ออาหารค่ำของวันแรกที่พวกเรามากันในจังหวะที่เทวาศรมกำลังร่วมกับ Baan Tepa on Tour พอดี เป็นทริปที่บ้านเทพาจัดไปทัวร์ประเทศ รอบนี้มาถึงพังงา ตามหาวัตถุดิบ แรงบันดาลใจ และศึกษาวัฒนธรรมการทำอาหารภาคใต้ รังสรรค์โดย เชฟตาม-ชุดารี เทพาคำ กับอาหาร 7 คอร์สให้เราได้ฝากท้องกันในคืนนี้ ทั้งนี้ทั้งนั้นขออนุญาตสรุปใจความส่วนนี้แบบสั้น ๆ ว่า… อร่อย!

Devasom

Devasom

สำหรับคนที่อยากลองทานสักครั้ง แม้อีเวนท์นี้จะจบไปแล้วก็ตาม เชฟตามได้ออกแบบ 3 เมนูสุดพิเศษเอาไว้ให้ได้มาลิ้มลองกันที่ห้องอาหารไทยตะโกลา ได้แก่ สลัดปลากะมง (สลัดปลากะมงสด ราดซอสกะทิมะนาวและน้ำมันปลากะมง), ปลาหมึกยัดไส้ (ปลาหมึกยัดไส้ราดด้วยซอสหมึกดำสมุนไพร) และข้าวเหนียวสังขยา (ข้าวเหนียวทอดกรอบนอกนุ่มใน มาพร้อมซอสสังขยาใบเตย)

Devasom

บนทางเดินระเบียงคด ด้านซ้ายมือจะเป็นอาคารของห้องพักแบบ Seaside Junior Suite with jacuzzi ถัดไปเป็นอาคารของห้องพักสวีท Pool Paradise ที่ผมพักอยู่ เหมียวแอบกระซิบมาว่า ส่วนตัวแล้ว เธอชอบห้องพักแบบสวีทอย่างหลังที่สุด

Devasom

ระหว่างทาง เหมียวขอพาเราแวะ Devasom Spa | Wellness กันก่อน เพราะวันนี้จะมีสื่อบางคนได้มาทำสปาตรงนี้หลังเดินทัวร์เสร็จ สัญลักษณ์ของสปานั้นเป็นดอกบัว Welcome Drink ของสปาเองก็เป็นน้ำรากบัว เพราะฉะนั้นหลังจากจบ Treatment ก็จะเปรียบได้ว่าเป็นบัวพ้นน้ำ เราเข้าไปเดินชมข้างในกันคร่าวๆ ผ่านห้องเตรียมยาที่มีตู้ยาโบราณจากอินเดีย เหมียวอยากให้มองห้องนี้เหมือนเป็น Alchemy Bar แถมเวลาทำลูกประคบ (Magic Ball) ที่นี่นำเอาส่วนผสมมาทำกันสดๆ ให้ได้กลิ่นหอมของสมุนไพรออกมาอย่างชัดเจน และมีฤทธิ์ในการรักษาที่ดี ก่อนเดินออกมา พนักงานให้ข้อมูลว่าในแต่ละวัน สปาจะรับลูกค้าเพียง 5 คนเท่านั้น

เดินต่อมาไม่ไกล จะเรียกว่าอยู่ติดกันก็ว่าได้กับอาคารที่ชั้น 1 กับ 2 เป็นที่ตั้งของรูมไทป์ Seaside Grand Deluxe ซึ่งเป็นห้อง Stadard ของรีสอร์ต อย่างไรก็ตาม นั่นไม่ใช่จุดหมายของเรา เหมียวพาเราเดินขึ้นไปถึงชั้นดาดฟ้า (เธอบอกขึ้นลิฟต์ก็ได้ แต่อยากให้ได้ออกแรงกันอย่างคุ้มค่า) ที่นี่เราได้พบกับรูมไทป์ระดับเพนต์เฮาส์ จะเรียกว่า Luxury ที่สุดก็ไม่เกินจริง กับความใหญ่ระดับ 430 ตร.ม. 2 ห้องนอนขนาดมาสเตอร์เบดรูมที่แยกกันต่างหาก ห้องครัว บาร์ และสระว่ายน้ำยาว 17 เมตร มีพื้นที่ส่วนกลางเหลือเฟือให้จัดบาร์บีคิวปาร์ตี้ส่วนตัวยังทำได้ ชื่อนั้นคือ ‘Devasom Sky Villa’ Two Bedroom Pool Penthouse

สื่อทั้ง 5 ต่างเดินชมกันอย่างตาลุกวาว ยิ่งเหมียวคอยเสิร์ฟข้อมูลใหม่ๆ ให้ตลอดทุกครั้งที่เข้าไปในห้องห้องหนึ่ง ยิ่งรู้สึกอยากเห็นตอนที่ห้องนี้ได้ทำหน้าที่รับแขกดูสักครั้ง

Devasom

“ห้องนอนใน Sky Villa จะไม่เชื่อมต่อกันเพื่อความเป็นส่วนตัว ในห้องจะมีอ่างจากุซชีที่ล้อมด้วยเสาโบราณ ได้แรงบันดาลใจมาจากบ้านโบราณในอินเดีย ประดับเป็น 4 เสาที่เปรียบเหมือนสัญลักษณ์ของความ Luxury มีรายละเอียดของพระราชวังโบราณ เข้ามาจะเห็นถึงกรอบซุ้ม มีการย่อมุม จินตนาการว่าเราเป็นมหาราชามหารานี ห้องนี้จะมิเศษตรงที่มีห้องอบไอน้ำภายในตัว ขัดแร่แช่ตัวครบจบที่ห้องเดียว ไม่ต้องลงไปข้างล่างกันเลย เอาจริง ๆ ตอนออกแบบ เราจะนึกว่าต้องหรูหราและดูดีพร้อมต้อนรับ คริสเตียโน โรนัลโด” เหมียวเล่าพร้อมเสียงหัวเราะ

อันที่จริงมีอีกรูมไทป์หนึ่งที่เราได้ไปดูกัน เป็นไทป์ที่สื่ออีกกลุ่มหนึ่งเข้าพัก มีชื่อว่า BeachFront Pool Villa เป็นห้องที่ค่อนข้างได้รับความนิยมเป็นพิเศษ ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจเท่าไหร่กับทำเลที่หันหน้าเข้าชายหาด สามารถเดินลงทะเลได้เมื่ออยาก หรือจะนั่งนอนเอนมองพระอาทิตย์ตกดินก็ไม่ต้องเอาตัวออกจากที่พักแม้แต่น้อย

ก่อนแยกย้าย เราถามเหมียวถึงความรู้สึกที่แต่ละรูมไทป์จะมอบให้กับแขก

“การเข้าไปเช็กอินในห้องแต่ละแบบ ประสบการณ์ที่ได้รับจะไม่เหมือนกันเลย” เธอตอบทันที “ด้วยรายละเอียดการตกตแต่งที่ต่างกัน อย่างวิลล่าทั้ง 10 หลัง แค่เข้าไปคนละหลังก็จะมีเลย์เอาต์ที่ต่างกันแล้ว หรือถ้ากลับมาพักที่นี่อีกครั้ง แล้วเลือกเปลี่ยนรูมไทป์ไม่เหมือนครั้งก่อน ก็จะให้ความรู้สึกไม่ซ้ำเดิมทันที”

ข้อมูลเล็กน้อยสำหรับสายดื่ม มินิบาร์ที่นี่ ถ้าเป็นรูมไทป์ Villa ขึ้นไปจะฟรีแอลกอฮอล์นะ

Devasom

Devasom

Devasom

Devasom

วันที่ 1
กิจกรรมประจำ (ทุก) สัปดาห์

เวลาประมาณ 16.30 น. ทุกคนต่างแยกย้ายกันไปคนละทาง กลุ่มหนึ่งกลับห้องพัก อีกกลุ่มไปเข้าสปา ส่วนผมก็ขอใช้เวลานี้เดินโต๋เต๋ในรีสอร์ตสักหน่อย แต่มองด้วยตาอย่างเดียวก็กลัวจะรับสารได้ไม่ครบถ้วน เลยขอรบกวนเวลาพนักงานช่วยเล่าให้ฟังหน่อยว่า ที่นี่มีอะไรให้ทำบ้าง ตอนนั้นเองที่ผมพบว่าใน 7 วัน รีสอร์ตนี้มีอะไรมากมายให้แขกได้สนุก ผ่อนคลาย และอร่อยไม่ซ้ำกันเลย

วันจันทร์ ช่วง Breakfast เหล่าพี่ ๆ ที่สปาเขาจะไปนั่งอยู่ที่หน้าห้องอาหาร Takola หากใครสนใจสามารถมาทำกิจกรรมหมุนเวียนของสปาได้เลย

วันอังคาร จะมี ‘Tastes of Thailand’ ห้องอาหาร Takola จะเสิร์ฟอาหารไทย 4 ภาค สัปดาห์ที่ผมไปเป็นอาหารภาคใต้ ส่วนสัปดาห์ถัดไปเห็นจะเป็นของภาคเหนือ อาหารจะเปลี่ยนไปตามแต่ละสัปดาห์ พร้อมการแสดงโชว์ที่ขึ้นอยู่กับอาหารภาคนั้นด้วย

วันพุธ จะมีสาธิตทำเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพให้ลูกค้าได้ทานหน้าห้อง Takola

วันศุกร์ 18.00-22.00 น. เป็น ‘Fisherman Night’ ที่จะนำเอาปลาสด ๆ ที่ชาวประมงท้องถิ่นตกได้มาให้แขกได้เลือกกันตรงนั้น แล้วนำไปปรุงแบบฉบับชาวเล

วันเสาร์ 18.00-22.00 น. เป็น ‘Churrasco Night’ สไตล์อาร์เจนติเนียนบาร์บีคิว ควบคู่ไปกับอาหารอีกมากมาย อีกทั้งยังมีดีเจมาเปิดดนตรีสดให้สนุกกันไปอีก

เอาเข้าจริงยังมีกิจกรรมอีกมากมายที่ยังไม่ได้เอ่ยถึง แต่ก็กลัวจะเป็นการเผยจนหมดเปลือก และโควตาหน้ากระดาษจะไม่พอสำหรับเรื่องอื่น หลังจากนี้ขอคืนหน้าที่การแนะนำข้อมูลให้กับพี่ๆ พนักงานจะเป็นการดีกว่า

ในส่วนที่ไม่ได้เป็น Weekly Event ข้างๆ สระว่ายน้ำจะมีกระท่อมเล็กๆ ที่เป็นศูนย์รวมกิจกรรมทางน้ำที่ไม่ได้ใช้เครื่องยนต์ ประกอบไปด้วย Kayak, Paddle Board และ Body Board ให้แขกสามารถใช้ได้เลย ไม่มีการจองล่วงหน้า พนักงานแนะนำว่าให้พายเล่นในลากูนมากกว่าออกไปพายในทะเล

ส่วน Kayak Adventure & Forest Bathing จะต่างจากการพายคายัคทั่วไป ซึ่งนั่นคือสิ่งที่เราจะได้รู้กันในวันพรุ่งนี้เช้า

Devasom

วันที่ 2
อาบป่า

เช้าวันต่อมา สื่อแต่ละคนต่างมากินข้าวเช้ากันโดยนัดหมาย บทสนทนาค่อนข้างไปในทางเดียวกัน คือนอนกันกี่โมง นอนดึกเหรอ นอนดึกเหมือนกัน ทำไมถึงนอนดึกล่ะ อ๋อ เคลียร์งานเหมือนกันเลย ชีวิตสื่อประมาณนี้

Devasom

เวลา 09.00 น. พวกเราเตรียมขึ้นเรือคายัคเพื่อร่วมกิจกรรม Kayak Adventure & Forest Bathing ตรงส่วน Kayak Adventure ยังพอเข้าใจว่า มันคือการพายเรือคายัค โดยมีผู้นำทางคอยชี้นกชี้ไม้ให้ความรู้ระหว่างทาง ต้นไม้บางชนิดก็ไม่คุ้นชื่อ ดอกไม้บางชนิดก็เพิ่งเคยเห็น นับว่าจรรโลงสายตาไม่น้อยสำหรับคนที่ปกติต้องมองแต่หน้าจอ และล้อมด้วยป่าคอนกรีตในเมือง แต่ในส่วนของ Forest Bathing นี่สิ มันคืออะไรกัน

Devasom

สงสัยได้ไม่นานนักก็พายมาถึงสุดฝั่งคลอง แน่นอนว่าตลอดทางการพายมานี้ชนกันยับเยิน สักพักหนึ่งผู้นำทางก็บอกให้เราหยุดพายและรวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อน หลับตา เอาเท้าแช่น้ำ นั่งฟังเสียงของสายลมที่พัดพาให้ผิวน้ำไม่หยุดนิ่ง สัมผัสกระแสน้ำที่ไหลผ่านขา สัมผัสความสงบผ่านใจ ปล่อยตัวจากการงานที่รั้งบ่าเอาไว้ ให้เสียงของธรรมชาติ เสียงของแมกไม้ และเสียงของนกนานาชนิดช่วยบรรเทาให้เราผ่อนกายคลายใจ หรือว่าง่ายๆ นี่คือการ ‘อาบป่า’ ให้ธรรมชาติฟื้นฟูตัวเรานั่นเอง

Devasom

วันที่ 2
นอนฟังต้นไม้

ถ้าความน่าเสียดายของเวิร์กช้อปชา คือตัวผมที่ไม่สันทัดเครื่องดื่มประเภทชา ความน่าเสียดายของเซสชัน Plant Sound Meditation ก็คงเป็นการที่มันได้รับความนิยมอย่างมาก จนผมไม่มีโอกาสได้เข้าไปร่วมด้วย กลับกัน ผมก็โชคดีตรงที่ผู้ดูแลเซสชันนี้คือ ไปป์-ธวิศรุต บุรพัฒน์ และ เฟิน-ชนชญา ไชยอิ่นคำ ทั้งคู่เป็นเจ้าของร้านหนังสืออิสระในเขาหลัก ชื่อว่า SOUL FRIEND & SPIRITUAL GARDEN ที่ผมเคยมีโอกาสได้พูดคุยกับทั้งสองในสมัยยังเป็นเด็กฝึกงาน

Devasom

ระหว่างที่ไปป์กำลังดำเนินเซสชันอยู่ ผมจึงไปขอข้อมูลจากเฟิร์นเป็นคำบรรยายประกอบภาพสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นตรงหน้า เธอบอกว่า ในครึ่งแรกจะเป็นการเริ่มนั่ง Meditate หรือจะเรียกว่าเป็นการนั่งสมาธิตั้งจิตภาวนา พร้อมกับกำหนดลมหายใจแบบมีแพตเทิร์น เช่น หายใจเข้า 4 หายใจออก 4 กลั้นหายใจ 6 เมื่อเสร็จจากกระบวนการนี้จะทำให้คลื่นสมองทำงานช้าลง และอยู่ในสภาวะที่เราผ่อนคลายมากขึ้น หลังจากนั้นจะเป็นการนอนฟังเสียงต้นไม้ ครั้งนี้พวกเธอเลือกใช้สองต้น หนึ่งคือต้นวาสนา สองคือต้นเสน่ห์จันทร์ ซึ่งไปป์จะใช้เครื่อง Modular Synthesizer ในการจูนเสียง แล้วก็ผสมกับเครื่องมือที่ใช้ในการทำให้ Bio Data จากต้นไม้ออกมาเป็นคลื่นเสียง เพราะฉะนั้น แต่ละต้น แต่ละอุณหภูมิ แต่ละวัน เสียงก็จะไม่เหมือนกัน ต้นไม้เองก็มีคาแรกเตอร์เสียงที่แตกต่างกันไป ประกอบกับการใช้ขันทิเบตในการสร้างแรงสั่นสะเทือนเพื่อช่วยจัดเรียงของเหลวในร่างกาย

“มันจะทำให้เราอยู่ในจุดที่เรียกว่า Theta Stage คืออยู่ในจุดที่เราใกล้จะหลับ แต่ยังรู้สึกตัว พอจะได้ยินเสียงกรนของตัวเอง มันจะผ่อนคลายขั้นสุด บางทีต่อให้เรานอนมาทั้งคืน อาจจะหลับไม่ลึกเท่าการอยู่ในสเตจนี้แค่ชั่วโมงเดียว ซึ่งเสียงพวกนี้จะพาเราไปยังจุดที่ผ่อนคลาย” เฟิร์นพูดถึงเซสชันด้านล่าง

Devasom

วันที่ 2
ค่ำคืนสุดท้าย

ก่อนเข้าสู่ค่ำคืนสุดท้าย ทางรีสอร์ตได้จัด Beach Picnic ให้พวกเราได้ไปนั่งกินลมชมวิวรอดูพระอาทิตย์ตก ก่อนเข้าไปกินอาหารกันที่ห้องอาหาร Devasom Beach Grill | Bar ซึ่งที่นี่จะเสิร์ฟเป็นอาหารเมดิเตอร์เรเนียน คนละประเภทกับ Takola และจะเปิดตั้งแต่เที่ยงเป็นต้นไป แต่สำหรับตอนนี้ขอโฟกัสกับช่วงเวลา Golden Hour ตรงหน้าก่อนดีกว่า เพราะคงไม่บ่อยนักที่จะได้มีช่วงเวลาสงบร่มรื่นริมชายหาด ฟังเสียงคลื่น พูดคุยทำความรู้จักกับเพื่อนร่วมทริปอย่างออกรส คุยถึงประสบการณ์ร่วมที่สื่อไทยต้องพบเจอ ก่อนจะเอาสิ่งเหล่านั้นโยนลงทะเลให้คลื่นอันรุนแรง แต่กลับดูสงบ อ่อนไหว และมีชีวิตชีวาได้ซัดหายไปอย่างไร้ความกังวลใจ

เมื่อฟ้าเริ่มค่ำ พระอาทิตย์ใกล้ลับขอบฟ้า พวกเราก็ขยับมานั่งกันอยู่ในห้องอาหารที่ 2 เทวาศรม ความพิเศษคือ บอนให้เกียรติมาร่วมพูดคุยกับพวกเราถึงข้อสงสัยเกี่ยวกับโรงแรมที่ยังตกค้างอยู่ในใจ

พวกเราขอให้บอนเล่าถึงที่มาที่ไปของเทวาศรม เขาหลัก อีกครั้ง เพียงแต่ครั้งนี้ เขามีเวลามากพอจะลงรายละเอียดให้เราได้รับฟังกัน

“ตอนที่เราเริ่มสร้างเทวาศรม เขาหลัก เราอยากจะพา DNA ของความเป็นเทวาศรมมาที่เขาหลักด้วย แต่เราไม่อยาก Copy & Paste รูปแบบ ดีไซน์ หรืออัตลักษณ์ของที่หัวหินมา เพราะเราคิดว่ามันคนละบริบทกัน เราก็เลยเอาประวัติศาสตร์ต่างๆ แล้วก็หลักฐานทางสถาปัตยกรรมที่ร่วมยุคร่วมสมัยของที่นี่มาเรียงกัน แล้วนำเป็นคอนเซปต์ในการพัฒนารีสอร์ตนี้ขึ้นมาในด้านงานออกแบบ

“ส่วนในด้านประสบการณ์ เราอยากจะให้แขกที่มาได้มาสัมผัสถึงความเป็นเมืองที่มีกลิ่นอายและโอบล้อมให้รู้สึกเหมือนย้อนอดีตไปสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้สมัยโบราณ แต่เราก็ไม่ได้ทำให้มันเคร่งขรึม หรือว่าวังเวงเกินไป เราคิดว่าเขาหลักเป็นที่ที่คนอยากมาพักผ่อนตากอากาศ เราเลยทำให้มันเป็นที่ที่ผ่อนคลาย เจือด้วยอารยธรรมที่มาจากต้นของคอนเซปต์ที่จับต้องได้จริง นั่นคืออารยธรรมที่อยู่ในพื้นที่แห่งนี้จริงๆ แต่ก็เป็นในลักษณะของการตีความ ซึ่งแต่ละท่าน แต่ละผู้ออกแบบ หรือแต่ละผู้พัฒนาอาจจะตีความได้แตกต่างกันไป

“พอเราพบว่าอารยธรรมสมัยนั้นจะมีความผสมผสานอารยธรรมอุษาคเนย์เราก็เลยเริ่มไปเสาะหาของตกแต่งที่เป็นของเก่าโบราณ เราไปไกลหลายประเทศมาก ไปเดินเที่ยวตามหาตามเมืองทะเลทราย ตามร้านขายของเก่า ตาม Junkyard ถ้าเป็นประตูไม้อินเดียโบราณจะเห็นว่าตรงกลางจะมีการแกะสลักเป็นรูปพระพิฆเนศ ทั้งประตูหลัก และประตูหน้าสปา เพราะพระคเณศเป็นสัญลักษณ์แห่งความสำเร็จ เฟอร์นิเจอร์หลายๆ ชิ้นก็เป็นงานโบราณ (Antique) หรืออาจจะถอดชิ้นส่วนไม้แกะสลักมา แล้วเอามาประกอบเป็นเครื่องเรือน อย่างโต๊ะที่เรานั่งอยู่ …อันนี้เป็นของใหม่ครับ” บอนจบเรื่องเล่าด้วยเสียงหัวเราะ

Devasom

บอนมองว่า ในแง่ของ Hospitality หรืองานบริการ ประเทศไทยนั้นเด่นไม่แพ้ชาติอื่นในโลก เห็นได้จากการที่ประเทศไทยเป็นต้นกำเนิดของแบรนด์โรงแรม Luxury มากมาย ตัวเขาเองก็ดีใจไม่น้อยที่ทีมผู้บริหารของเทวาศรมเป็นคนไทยล้วน แน่นอนว่าเขาไม่ได้ปิดกั้นคนต่างชาติ แต่มันคือความภูมิใจที่แสดงให้เห็นว่า คนไทยเองก็สามารถทำได้เหมือนกัน

บทสนทนาบนโต๊ะอาหารยังคงดำเนินต่อไป จนเหมือนกับทุกคนลืมไอศกรีมที่วางอยู่ตรงหน้าไปแล้ว เพราะเมื่อมาถึงเรื่อง Wellness ซึ่งเป็นสิ่งที่ปรับมาเรื่อยๆ ตามการค้นพบของบอนและทีมที่มองเห็นว่า เทวาศรมสามารถนำพากิจกรรมต่างๆ มานำเสนอให้กับลูกค้าและชุมชนในพื้นที่ได้มากกว่าที่มีอยู่เดิม ยกตัวอย่างเมื่อปีที่แล้ว เทวาศรมได้มีการจัดกิจกรรม Mindfulness, well-being, and nature เพราะบางทีคำว่า Wellness อาจจะยังเข้าถึงยากไปสำหรับคนหลายๆ กลุ่ม กิจกรรมนี้จึงมีขึ้นเพื่อให้ทุกคนได้โฟกัสกับช่วงเวลาที่มีความสุข ช่วงเวลาที่เราได้พักผ่อน เป็นการผนวก Art & Craft กับ Mindfulness กับ Well-being เข้าไว้ด้วยกัน

“เราพบว่าเราทำรีสอร์ตนี้ เรายังสามารถนำเสนอในแง่มุมของศิลปะและวัฒนธรรมได้ ทั้งกับลูกค้าที่มาเทวาศรม แล้วก็ Local Community แถวนี้ โดยตอนนี้เรากำลังอยู่ในระหว่างเซตอัพสตูดิโอเซรามิกขึ้นที่เทวาศรมเขาหลัก เมื่อเสร็จแล้ว เราจะเปิดให้ Local Artist สามารถเข้ามาใช้สตูดิโอนี้ได้ โดยเราไม่ได้หวังผลกำไร เราคิดเพียงว่า เราได้มีกิจกรรมดีๆ ให้แขกของเรา เป็น Art & Craft กับ Mindfulness กับ Well-being และเราได้สนับสนุนให้ Local Artist ได้มาใช้พื้นที่พัฒนาผลงาน และต่อยอดในอนาคตได้” บอนเล่าถึงแผนการในอนาคต

Devasom

Devasom

ก่อนไอศกรีมจะละลาย บอนขอตัว พร้อมบอกกับพวกเราว่า ในช่วง Listening Lounge with DJ Supersonic ซึ่งจะมีทุกวันพุธเวลา 19.00-23.00 น. พวกคุณจะตกใจว่าใครเป็นดีเจ ที่แน่ๆ ไม่ใช่เขาเหมือนที่เหมียวแนะนำ

Devasom

Devasom

ผมได้บอกเอาไว้ว่า ห้องสมุดของเทวาศรมสามารถปรับฟังก์ชันไปใช้งานในอีกรูปแบบหนึ่งได้ นั่นก็เพราะในช่วงกลางคืนของทุกวันพุธ ห้องนี้จะถูกปรับเป็น Listening Lounge ให้ดีเจมาเปิดเพลงจากแผ่นไวนิล ซึ่งไวนิลดีเจในค่ำคืนนี้ก็ไม่ใช่ใครที่ไหนอื่น แต่เป็นไปป์ ผู้ดูแลเซสชั่น Plant Sound Meditation นั่นเอง พวกเราบอกลาค่ำคืนนี้ด้วยเครื่องดื่มในมือคนละแก้ว พูดคุยจิปาถะเหมือนโลกภายนอกไม่มีอยู่จริง เข้านอนด้วยรอยยิ้ม และตื่นมาด้วยความเสียดาย

Devasom

วันที่ 3
ดูดวิญญาณ

เช้านี้เราตื่นมาพบกันที่สระว่ายน้ำ ร่วมกันทำ Aqua Sound Bath เป็นกิจกรรมสุดท้าย เซสชั่นนี้ใช้ทริกคล้ายๆ กันกับ Plant Sound Meditation นั่นคือการใช้เสียงเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว สร้างจุดโฟกัสให้ใจคนไม่ลอยไปไกล ประกอบกับความพิเศษด้วยการนอนลอยอยู่บนสระว่ายน้ำขนาดใหญ่ของรีสอร์ต แล้วปล่อยให้คลื่นเสียงช่วยปรับสมดุลตัวเราในยามเช้า สารภาพว่าทันทีที่สิ้นเสียง ‘If you’re ready, please slowly close your eyes. please relax your body, relax your mind’ ตัวผมก็หลับชนิดที่ปิดตาหล่นไม่รู้ตัว

Devasom

เมื่อเซสชันจบลง พวกเราก็มุ่งไปยัง Takola เพื่อกินอาหารเช้ามื้อสุดท้ายของทริปเพื่อความผ่อนคลายนี้ ทุกคนดูสดชื่น และอารมณ์ดี พูดคุยทบทวนความทรงจำของ 2 วันที่ผ่านมาอย่างสนุกสนาน ก่อนแยกย้ายกันไปเก็บกระเป๋ามารวมตัวกันที่ล็อบบี้

น่าเสียดายที่เวลา 3 วัน 2 คืน ผ่านไปเร็วเสียเหลือเกิน บอนมาส่งพวกเราถึงหน้าล็อบบี้ ทุกคนต่างกล่าวขอบคุณกันและกัน อาจไม่ได้ซาบซึ้งเคล้าน้ำตา แต่ก็เปี่ยมไปด้วยรอยยิ้มจากร่างกายและจิตใจที่มีสุขภาพดีขึ้นเพราะสถานที่แห่งนี้

บอนและพนักงานยืนโบกมือลาพวกเราจนลับตาไป รถตู้พาพวกเรามาส่งที่สนามบิน บทสนทนาก่อนแยกย้ายกลายเป็นการสอบถามว่าชอบกิจกรรมไหนที่สุด แต่ดูเหมือนว่าสิ่งที่ประทับตาและตรึงใจทุกคนเอาไว้อย่างอยู่หมัดตลอดทริปนี้คือ ห้องพักที่เตียงนั้นดูดวิญญาณเอามากๆ เลย

ถ้านอนนานกว่านี้อีกสักนิดคงได้ตกเครื่องกันแน่นอน ถ้าใครไม่เชื่อ ต้องไปที่เทวาศรม เขาหลัก แล้วลองดูด้วยตัวเองสักครั้งหนึ่ง


เครดิตภาพ : Devasom Khao Lak Beach Resort & Villas

Tags: