About
Overnight

Stupid but happy Stay

Stupid Stay ที่พักย่านเจริญนคร 6 ห้อง 6 สไตล์ที่อยากให้แขกมีที่นอนโง่ๆ ท่ามกลางศิลปะ

Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • Stupid Stay ที่พักย่านเจริญนครที่อยากมอบประสบการณ์ให้แขกผ่านห้องพักทั้ง 6 ห้องที่ออกแบบให้ไม่เหมือนกัน ตั้งแต่ขนาดยันกระเบื้อง และหวังว่าความ stupid ของสถานที่จะช่วยเติมไฟให้แขกที่มานอนได้

“เพราะว่า Process เรามันโง่”

เป็นคำตอบพร้อมเสียงหัวเราะของ แหนม-มนัสรวี วงศ์ประดู่ กับ แนน-นภัสวรรณ ศิริสุคนธ์ Co-founder หลังจากถูกถามว่าทำไมถึงตั้งชื่อที่พักของตัวเองว่า ‘Stupid Stay’

ในช่วงเริ่มต้น เราได้รู้ว่าที่พักแห่งนี้สร้างขึ้นจากตึกแถว 2 ห้องทุบรวมกัน นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่อีกส่วนหนึ่งเป็นออฟฟิศสำหรับสตูดิโอของทั้งสองคน เรียกได้ว่าพวกเขาใช้สถานที่นี้อย่างคุ้มค่า แต่หลักใหญ่ใจความที่ทำแบบนั้นเห็นจะเป็นเพราะประสบการณ์ที่พวกเขาอยากให้แขกได้รับ ขณะเดียวกันก็เป็นประสบการณ์ที่เกิดจากคนทำโรงแรม หรือตัวพวกเขาเองที่ไม่เคยมีประสบการณ์ในการทำโรงแรมมาก่อนเลย

ส่งผลให้ที่พักแห่งนี้เต็มไปด้วยประสบการณ์มากมาย ตั้งแต่ห้องพักที่ถึงกับต้องตกใจทันทีเมื่อรู้ว่าพวกเขาออกแบบด้วยแนวคิดแบบไหน สิ่งที่แขกจะได้รับ ซึ่งถูกให้ความสำคัญทั้งตัวร่างกายและจิตใจ ไปจนถึงความสนุกของคนสองคนในการทำโรงแรมแห่งแรกและครั้งแรกในชีวิต

Stupid Stay

Creative Eco-system

“เราอยากทำให้ที่นี่เป็น Creative Eco-system หมายความว่า เรามีสเปซสำหรับทำสตูดิโอแล้ว ที่เหลือจะทำอะไรที่สามารถผลิตเงินให้เราได้ กิจการอะไรที่เราไม่ต้องไปเต็มตัวกับมันตลอด 24 ชั่วโมง งั้นทำโรงแรมกัน” แหนมเล่าถึงความหาทำของเธอ

จากเดิมที่จะมีเพียงออฟฟิศ The Head and The Heart Studio สำหรับทำแบรนด์ให้ลูกค้าของพวกเขา ไปๆ มาๆ ตึกแถวนี้ได้ถูกวางแผนรีโนเวตให้มีพาร์ตของโรงแรมเพิ่มเข้ามาด้วย แม้ในทีแรกจะตั้งใจให้มีถึง 8 ห้อง แต่เมื่อเข้าสู่ช่วงโควิค-19 ระบาดใหญ่โต พวกเขาก็เห็นโรงแรมน้อยใหญ่ล้มหายตายจากเป็นจำนวนมาก นั่นจึงทำให้ต้องมีการปรับเปลี่ยนแนวทางกันสักหน่อย

Stupid Stay

“เราวางคอนเซปต์กันตอนแรกว่า ทำไมเราถึงอยากทำสเปซนี้ให้เป็นโรงแรมแบบนี้ เราก็คุยกันจนรู้ว่า เพราะเราก็เป็นคนที่ชอบเที่ยวแบบนี้ เราชอบการได้สำรวจ ได้ค้นพบ เลยกลายเป็นคอนเซปต์ของโรงแรมว่า เข้ามาแล้วเหมือนได้สำรวจ และได้เชื่อมโยงกับชุมชนย่านนี้ที่มีความเป็น Art & Design” แนนอธิบายถึงตัวคอนเซปต์ให้ฟัง

อย่างไรก็ตาม เธอก็ยอมรับว่า ในระหว่างการรีโนเวตตลอด 3 ปี นับตั้งแต่ 2020-2023 เส้นทางไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาย ดีไม่ดีจะเป็นก้านกุหลาบด้วยซ้ำไป หลายครั้งยังมีความโง่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเช่นกัน จนแหนมถึงกับต้องเสริมขึ้นมาว่า ชีวิตนี้คงไม่มีอะไรยากไปกว่าการสร้างที่พักแห่งนี้ให้สำเร็จออกมาเป็นรูปเป็นร่างพร้อมให้บริการอีกแล้ว

Stupid Stay

“มีความโง่หลายอย่างเกิดขึ้น โดนโกงบ้าง ไม่รู้ว่าดีไซน์แบบนี้จะต้องใช้งบสูง แต่เราก็ยังอยากที่เซฟงบ ตอนแรกก็พยายามตั้งชื่อแบบเท่ๆ ให้มันลิงค์กับคอนเซปต์ Discovery แต่ก็ยังไม่เจออันที่ใช่ จนวันหนึ่งแหนมก็พูดว่า คิดออกละ ชื่อ Stupid เพราะเราโง่ (หัวเราะ) แล้วเราก็ชอบชื่อนี้เลย รู้สึกว่ามันเป็นเรา แถมฟังแล้วก็รู้สึกเกิดความสงสัยให้คนอยากเข้ามาสำรวจเพื่อค้นพบ เรารู้สึกว่าความโง่จะพาเราไปเจออะไรใหม่ๆ” แนนเล่าถึงที่มาของชื่อ

“จริงๆ ตอนนั้นโคตรทุกข์เลย ทำไปทำไม เลิกทำไหม ขายเลย รู้สึกว่าไม่ไหวแล้ว ปัญหาเยอะเหลือเกิน แต่วันหนึ่งตื่นมาก็คิดได้ว่า เราโง่ก็ยอมรับว่าโง่ก็แค่นั้น” แหนมเสริม

Stupid Stay

ถึงอย่างนั้น พวกเธอก็มองว่าความไม่รู้และความไม่มีประสบการณ์ถือเป็นข้อดีที่ทำให้ที่พักแห่งนี้ไม่ได้ถูกจำกัดเอาไว้ในกรอบ หลายอย่างหากเป็นที่อื่นคงเลือกอีกทางหนึ่ง แต่สำหรับพวกเขา การออกแบบ การวางระบบ แบบนี้ดีที่สุดแล้ว นั่นจึงทำให้พวกเขานิยามที่นี่ว่า ‘Stay’

“ถ้าจะทำให้คืนทุน เราคงเลือกทำอีกแบบไปแล้ว แต่พอไม่รู้ก็เลยทำแบบนี้ที่คิดว่าก็ทำได้แหละ เพราะงี้เลยชื่อว่า Stupid” แนนเล่าพร้อมเสียงหัวเราะของแหนม

Stupid Stay

6 Rooms 6 Roomtypes

เพื่อกันความสับสนของแขกต่างชาติ ที่พักนี้จะนับชั้นลอย ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนรวมให้พนักงานในออฟฟิศและแขกที่เข้าพักใช้สำหรับนั่งกินข้าว ใช้ห้องครัว (สำหรับรูมไทป์ที่ไม่มีห้องครัว) ใช้ทำกิจกรรม ใช้อ่านหนังสือในห้องสมุด รวมถึงใช้จับเข่าคุยร่วมกันในยามค่ำคืน นั่นจึงทำให้ที่นี่มีทั้งหมด 5 ชั้น และดาดฟ้าที่มี 2 เลเวลให้ขึ้นไปได้อีก ข้อสำคัญคือ 6 ห้องพัก 6 รูมไทป์ ทุกห้องไม่เหมือนกันและมีขนาดไม่เท่ากันเลย

Stupid Stay

ทำไมถึงให้ทั้ง 6 ห้องหน้าตาไม่เหมือนกัน – ผมถามทันทีด้วยความสงสัย

“นั่นน่ะสิ ทำไปทำไม” แหนมตอบกลับทันทีพลางหัวเราะ

“ช่วงโควิดเรารีเสิร์ชกัน” แนนเสริม “เรารู้สึกว่าถ้าเจอโควิดหรือว่ามีเหตุการณ์ไม่คาดคิดเกิดขึ้น แล้วเรามีกลุ่มเป้าหมายเป็นแค่นักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างเดียว ที่พักอาจจะตายได้เลย เราเลยอยากได้นักท่องเที่ยวไทยด้วย เพราะเราไม่รู้ว่าโควิดจะจบเมื่อไหร่ ก็เลยคิดทำเป็นโรงแรมที่เขาสามารถอยู่ได้ยาวๆ เหมือนบ้าน และยังต้องมีหน้าตาดูโอเคแบบที่คนไทยอยากมาสเตย์เคชัน”

Stupid Stay

Stupid Stay

ในอีกมุมหนึ่งพวกเขาก็คิดเผื่อสำหรับแขกกลุ่มครอบครัว เลยได้มีการปรับเปลี่ยนให้มี 2 ห้อง สามารถนอนได้ถึง 4 คน พร้อมห้องครัวภายในตัว ขณะที่อีก 4 ห้องจะสามารถนอนได้ 2 คน ไม่มีครัวในตัว

และแล้วสิ่งที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น ทว่า เป็นเรื่องดีๆ ที่เกิดขึ้น เพราะแนวคิดการออกแบบของพวกเขาได้ออกดอกออกผล จนมีแขกบางคนเลือกที่จะกลับมาเข้าพักอีกครั้ง เพื่ออยากจะลองนอนให้ครบทุกห้อง และอยากสำรวจว่าแต่ละห้องแตกต่างกันอย่างไรบ้าง

Stupid Stay

Stupid Stay

ถ้าถามว่าทั้ง 6 ห้องแตกต่างกันอย่างไร ก็คงต้องตอบตามที่แนนกับแหนมบอกมาว่า ไม่เหมือนกันสักอย่าง กระทั่งกระเบื้องยังไม่เหมือนกันเลย

“เราคิดว่ามันสนุกสำหรับคนพัก แต่สำหรับคนทำไม่ค่อยสนุกเท่าไหร่ (หัวเราะ) ขนาดเลือกเฟอร์นิเจอร์ยังไม่สนุกเลย ใช้เวลาเลือกนานมาก ถึงจะมีงบจำกัด แต่เทสต์เราก็ต้องออกมาดีไว้ก่อนในฐานะดีไซเนอร์” แนนเล่าพร้อมเสียงหัวเราะเมื่อนึกย้อนกลับไป

Stupid Stay

ท้ายที่สุดเหตุผลหนึ่งที่พวกเขาเลือกทำแบบนี้ เป็นเพราะความต้องการที่อยากจะมอบประสบการณ์ให้แขกผ่านงานออกแบบ เพื่อเป็นพื้นที่ส่วนตัวให้แขกได้ใช้ชีวิต เพราะบางคนอาจนอนรวมกับคนอื่น ไม่สามารถแม้แต่จะตกแต่งห้องได้ดั่งใจตัวเอง แหนมเล่าว่า หลายครั้งมักจะเจอคนที่ชอบการแต่งห้องมานอนที่นี่ หรือเด็กที่เรียนสถาปัตย์ขอเข้ามาดูเป็นกรณีศึกษา เธอจึงพอจะสรุปความได้ว่า คนที่มาที่นี่น่าจะเป็นคนที่รักในการออกแบบภายในประมาณหนึ่ง

“แต่ก็จะไม่เหมาะกับคนที่ต้องการโรงแรมลักชัวรีนะ เพราะเราไม่มีลิฟต์ หลายอย่างต้องบริการตัวเอง คนที่มาจึงต้องเข้าใจด้วยประมาณหนึ่ง ที่นี่เราเลยสื่อสารผ่านแอปพลิเคชันเป็นหลัก บอกวิธีการเดินทาง วิธีการเช็กอิน ให้ข้อมูลให้ครบทุกอย่าง สำหรับเรา การทำโรงแรม หัวใจคือเซอร์วิสด้วยส่วนหนึ่ง เราอยากบริการเขาให้ดีที่สุด” แนนเสริม

Stupid Stay

ซึ่งในคำว่าบริการ พวกเขารวมถึงทั้งทางร่างกายและทางจิตใจ

Physical จะมาพร้อมกับเตียงที่ดี ผ้าห่มนอนสบาย หมอนหนุนแล้วไม่ปวดคอ แสงไม่เข้ามากวนตอนเช้า เสียงไม่ดังรบกวน แอร์เย็นตลอดเวลา นั่นคือคีย์แรกที่พวกเขาให้ความสำคัญ

Mental แขกจะนอนหลับได้ยังไงถ้าต้องกังวลเรื่องความปลอดภัย ด้วยความที่เป็น Self Check-in จึงไม่มียาม ไม่มีรีเซ็ปชัน แต่ที่นี่มีประตู 3 ชั้นที่ต้องใส่รหัส และรหัสไม่ซ้ำกันในทุกครั้งที่เข้าพัก ทั้งหมดนี้เพื่อความสบายกายและใจของแขกเป็นสำคัญ

Stupid Stay

Small People, Big History.

“ตอนที่เราเปิดตัวที่พักพร้อมกับ Design Week เราก็ได้เจอคนเยอะมาก แล้วมีคนหนึ่งที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย เขาทำเกี่ยวกับเรื่องประวัติศาสตร์ในพื้นที่เล็กๆ แล้วเขาก็อยู่แถวเจริญนคร เขาอยากทำประวัติศาสตร์ย่านนี้เป็นเล่ม เขาก็เล่าให้เราฟังคร่าวๆ เราเลยรู้สึกว่ามันมีโอกาสในนี้” แนนเล่า

“สิ่งที่สนุกคือมันไม่ใช่ประวัติศาสตร์ของคนตัวใหญ่ มันคือประวัติศาสตร์ของคนธรรมดาในย่านที่ไม่ค่อยได้ถูกเล่าออกไป ทุกอย่างมันเล่าได้ แต่พวกเรามัวแต่ยึดติดอยู่กับประวัติศาสตร์ของตัวใหญ่ พอเรารู้ประวัติศาสตร์ของคนตัวเล็กๆ ในย่าน ย่านก็จะมีเสน่ห์ มันคือเรื่องเล่าของคนที่ขับเคลื่อนชุมชนนั้นจริงๆ” แหนมเสริม

Stupid Stay

นั่นเองคือตอนที่พวกเขาเชื่อและมั่นใจว่าย่านนี้มีโอกาสที่จะเติบโตไปได้ ในส่วนของพวกเขาเองก็พยายามที่จะเป็นเพื่อนบ้านที่แสนดี เคารพและนอบน้อมต่อผู้อยู่อาศัยเดิมในละแวก พร้อมๆ กันก็คอยสนับสนุนร้านใหม่ๆ ที่เปิดขึ้น ซึ่งหากมองดูดีๆ ร้านเหล่านั้นคือทายาทรุ่นสอง ไม่ใช่คนแปลกหน้าที่เข้ามาใหม่ แหนมหัวเราะเล็กน้อย เพราะคนแปลกหน้าที่เข้ามาใหม่ก็คือพวกเขานั่นเอง

กระทั่งการเปิดใหม่ของโรงแรมและที่พักในบริเวณโดยรอบของละแวก แง่หนึ่งพวกเขาก็มองว่า เป็นความท้าทายที่ต้องผลักดันตัวเอง มองหาจุดขายอันเป็นเอกลักษณ์ ความเป็นตัวของตัวเอง รวมถึงมองหาวิธีในการสื่อสารคอนเซปต์ให้ไปถึงตัวแขกที่เข้าพักให้ได้

Stupid Stay

“เรามองว่า ยุคนี้มันคือ New Renaissance ที่คุณจะเป็นอะไรก็ได้ คุณไม่ต้องจำกัดตัวเองว่าจะเป็นสตูดิโอออกแบบ หรือจะเป็นโรงแรม ยุคนี้คุณต้องมีประสบการณ์ ถ้าไม่มี คุณก็เป็นแค่ห้องพักอย่างเดียว ถ้าคุณคิดว่ามันสามารถให้ประสบการณ์บางอย่างที่น่าสนใจได้ มันก็คือโอกาสที่ที่นี่เท่านั้นจะสามารถมอบให้ได้” แหนมเล่า

ส่วนประสบการณ์ที่ Stupid Stay จะสามารถมอบให้แขกได้ในตอนนี้ อย่างหนึ่งที่แหนมกับแนนเล่าถึงเป็นพิเศษคือ Stay with Art ซึ่งพวกเขาจะชวนศิลปินที่รู้จักให้นำผลงานมาประดับไว้ในห้องพัก และถ้าลูกค้าคนไหนสนใจ สามารถซื้อกลับได้เลย

Stupid Stay

“อันนี้แก้ Pain Point ทั้งสองฝ่าย หนึ่งคือศิลปินไม่มีที่ให้ขายผลงาน สองคือไม่มีโชว์รูม อันนี้เหมือนเป็นโชว์รูมที่แขกสามารถนึกภาพได้เลยว่า ถ้าสิ่งนี้แขวนอยู่บนผนังในบ้านจะออกมาหน้าตาเป็นยังไง ฟากลูกค้าที่มาพักก็ได้ประสบการณ์แบบใหม่ ถ้างานนี้ขายไป ก็จะมีงานใหม่เข้ามา ห้องก็จะมีไดนามิก เกิดการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ

“เราจะกันเงินส่วนหนึ่งจากค่างานศิลปะเป็นกองทุน เพราะเราเห็นว่าดีไซเนอร์หรือศิลปินในประเทศไทยส่วนใหญ่เก่งมาก แต่ไม่มีโอกาส เราอยากให้กองทุนนี้สามารถช่วยผลักดันพวกเขาให้ทำงานต่อไปได้ เพราะสุดท้ายถ้าเขาหยุดทำงาน มันก็คือจบ งานศิลปะจากฝีมือนี้ก็จะหายไปเลย เราอยากเห็นศิลปินได้โอกาสเยอะขึ้น” แหนมเล่าถึงแนวคิดในการจัดโปรแกรมนี้ขึ้นมา

Stupid Stay

Stupid Lesson

ท้ายสุดนี้เราอยากให้คนที่ไม่เคยมีประสบการณ์การทำโรงแรมมาก่อนได้มาร่วมแบ่งปันว่า พวกเขาได้เรียนรู้อะไรบ้างจากโปรเจกต์นี้

“เราคิดว่าโรงแรมทำให้เราเป็นคนดีขึ้น เพราะจริงๆ เราเป็นคนขี้รำคาญ ไม่ชอบความกระจุกกระจิก แต่พอเห็นสิ่งที่แนนทำ ความตั้งใจของเขาที่อยากจะดูแลแขก เราก็รู้สึกว่า ถ้างั้นลองมาหาทางสนองความต้องการแขกตามความตั้งใจของแนน โดยที่ฟากเราและพนักงานไม่ต้องทำงานจนเป็นบ้า ทำยังไงให้เป็นระเบียบ มีคู่มือการดูแลที่ชัดเจนเพื่อให้ง่ายขึ้นกับคนทำงาน และเราก็ไม่ต้องคอยตอบปัญหาทุกอย่าง ถึงอย่างนั้นปัญหามันก็จะเกิด เราก็แค่ต้องแก้อย่างใจเย็น” แหนมพูดถึงในส่วนของตัวเอง

Stupid Stay

“เรียนรู้เยอะเลยค่ะ อย่างการเซอร์วิสคน เราก็ไม่นึกว่าตัวเองจะทำได้ดี แต่พอได้ทำแล้ว เราก็อยากให้แขกสบายที่สุด และออกไปด้วยความรู้สึกโอเคกับเรา ที่สำคัญคือ เราได้เรียนรู้ว่าความโง่ไม่ได้เป็นเรื่องไม่ดี ความโง่เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ที่จะเป็นคนฉลาดขึ้น

“เวลาที่แขกมาพักก็อยากให้เขาได้ค้นพบความ Stupid ในแบบของเรา อยู่แบบที่มัน Stupid บ้างก็ได้ หรือได้ค้นพบอะไรบางอย่างใน Creative Community นี้ แล้วให้มันไปเพิ่มไฟในการทำงานของเขา ในการที่เขาได้มาค้นพบความโง่ของพวกเรา” แนนปิดท้าย และหวังว่าความ Stupid ของโรงแรมนี้จะมอบประสบการณ์อันพิเศษให้กับแขกได้อย่างน่าสำรวจ

Tags: