พักเมืองลุง
ทริป 2 คืนในพัทลุงบนเส้นทางเที่ยวทะเลน้อย งานคราฟต์ ตลาด และพัก Dusit Princess แห่งแรกในภาคใต้
- เที่ยวเมืองลุง มัดรวบแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ชมงานคราฟต์ครบวงจรตั้งแต่แปลงปลูกถึงการทำเป็นผลิตภัณฑ์ เดิน 3 ตลาดท้องถิ่น เวลาทั้งหมด 3 วัน 2 คืนถึงพอ พร้อมพัก Dusit Princess Phatthalung ยืนยันว่า พัทลุงไม่ใช่แค่ทางผ่านแน่นอน
พัทลุงมีอะไรกันนะ
สารภาพว่าก่อนไปนั้น เราไม่มีภาพจังหวัดพัทลุงอยู่ในหัวเลย แต่เมื่อได้ขลุกตัวอยู่ในจังหวัดเงียบๆ แห่งนี้จึงพบว่า ‘พัทลุงวันเดียว…เที่ยวไม่พอ’
ทริปนี้ฝากตัวฝากใจไว้ที่ Dusit Princess Phatthalung โรงแรมเครือดุสิตธานีแห่งแรกในภาคใต้ การตกแต่งภายในดึงจุดเด่นจากงานคราฟต์ท้องถิ่นมาแทรกอยู่รอบตัวเต็มไปหมด ทั้งงานสานกระจูดและงานร้อยลูกปัดมโนราห์ ท่ามกลางห้องนอนกว้างขวางดูโมเดิร์น ลามไปถึงอาหารใต้จากวัตถุดิบท้องถิ่น กินของสดๆ จากแหล่งธรรมชาติเลยทีเดียว
บทความนี้มีของแรร์ เราลงลึกมากในเรื่องของงานคราฟต์ แวะชมงานสานกระจูดครบวงจรตั้งแต่แปลงปลูก สังเกตขั้นตอนการเตรียมกระจูด จนถึงสานออกมาเป็นผลิตภัณฑ์
ล่องทะเลน้อยเป็นหนึ่งในกิจกรรมห้ามพลาด เพราะทะเลน้อยคือแรมซาร์ไซต์ชื่อดังของประเทศไทย เท่านี้ก็อึ้งทึ่งในต้นทุนทางทรัพยากรธรรมชาติของเมืองลุงมากแล้ว แม้ไม่ได้เก็บจุดเด่นครบตามวลี ‘เขา ป่า นา เล’ ก็ตาม
มาดูกันว่า พัทลุงมีอะไรกันแน่ ถึงเที่ยววันเดียวไม่พอ
ทะเลน้อย
ขอเริ่มที่แลนด์มาร์กฮิต ‘ทะเลน้อย’
นี่คือแรมซาร์ไซต์แห่งแรกของประเทศไทยเชียวนา ตามข้อมูลทางสถิติ ว่ากันว่า ทะเลน้อยเต็มไปด้วยฝูงนกกว่า 287 ชนิด โดยนกน้ำจะได้รับความสนใจเป็นพิเศษ และยังมีควายน้ำราว 3,000 ตัว แต่ใครอยากทันดูควายลงน้ำก็ต้องตื่นเช้าหน่อยนะ
สิ่งแรกที่เห็นเมื่อลงเรือคือพืชน้ำอัดแน่นจนไม่เห็นผิวน้ำไกลสุดลูกหูลูกตา แต่เมื่อนั่งออกไปได้ระยะหนึ่ง บัวสีชมพูสดจึงโผล่มาให้เห็นเป็นระยะๆ ร่ำลือกันว่า แหล่งดอกบัวที่สวยที่สุดของประเทศคือที่ทะเลน้อยนี่แหละ
นกน้ำเดินอยู่รอบเรือไม่ไกล บ้างก็เป็นแม่นกที่มีลูกนกตัวจ้อยเดินตามเป็นขบวน แต่สงสัยย่างก้าวยังสั้นไปจึงข้ามช่องว่างระหว่างพืชน้ำไม่พ้น แม่นกวิ่งตามมาคาบลูกขึ้นจากน้ำทันใด นอกจากนั้นก็มีนกสีขาวปีกกว้างบินตัดผ่านหน้าเรือไป สายตาเรามองตามติดมัน พลางหลบเลี่ยงแสงแดดอุ่นยามเช้าที่ส่องกระทบผิวน้ำเข้าตา
เราต้องใช้ระยะเวลาหนึ่งถึงจะเข้าใกล้ฝูงควายน้ำ ตัวมันสีดำสนิท เขาโง้งแหลมสวยน่าประทับใจ เสียดายที่เราไปไม่ทันมันลงน้ำ เลยได้แต่มองมันเดินหาอะไรกินอยู่บนพื้นดิน เราวนไปดูดอกบัวอีกตอนขากลับ พูดให้ถูกคือฝ่าดงดอกบัวไปเลยล่ะ ดอกบัวแย้มบานต้อนรับเราตลอดทาง รู้ตัวอีกทีก็จะถึงฝั่งแล้ว
สำรวจชุมชนสานกระจูด
กระจูดคือชื่อคุ้นหูในวงการงานสานไทย บ้างก็ว่าแข็งแรงทนทานเป็นปี บ้างก็ส่งออกผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นไกลถึงต่างประเทศ เราเลยถือโอกาสไปดูเบื้องลึกเบื้องหลังก่อนจะมาเป็นกระเป๋าสานดีไซน์เก๋ที่วางขายอยู่เต็มท้องถนนในพัทลุง
ขอพาไปทำความรู้จักไกด์เสียก่อน เธอแนะนำตัวเองว่า ‘ป้าโฉม’ เธอเป็นคนพัทลุง หาเลี้ยงชีพด้วยการปลูกกระจูดและสานกระจูดขายกับสามี
ป้าโฉมพาเราแวะไปดูแปลงกระจูดของตัวเองที่พร้อมเก็บเกี่ยวหลังปลูกมา 2 ปี สามีของเธอตัดกระจูดกองเต็มพื้นโคลน ป้าโฉมอุ้มขึ้นมาหอบใหญ่และคัดเอาเฉพาะส่วนสีเขียวสดและเหนียวพอจะนำไปใช้ต่อ เธอสะบัดต้นที่สั้นและหักทิ้งบ้าง ดึงต้นแก่กรอบๆ ออกไปบ้าง กระจูดเต็มวงแขนลดลงครึ่งหนึ่งจากการกะคร่าวๆ ด้วยสายตา คนเพิ่งเคยเห็นแบบเราก็แอบตกใจ เก็บมาเยอะ เหลือใช้เพียงเท่านี้เอง แต่ป้าโฉมก็มีแปลงอายุขวบเดียวที่รอเก็บเกี่ยวในอีก 1 ปีข้างหน้าอยู่นะ
เก็บมาแล้วทำอะไรต่อ ป้าโฉมต้องเอากระจูดไปคลุกดินเหนียวขาวให้แห้ง เพื่อเพิ่มความเหนียวให้เส้นใย จากนั้นนำเข้าสู่กระบวนการรีดให้เรียบแบน
ขั้นตอนการรีด เริ่มจากวิธีดั้งเดิมคือ ‘กลิ้งกระจูด’ อุปกรณ์ที่ใช้คือคอนกรีตทรงกระบอกขนาดใหญ่พอให้คนขึ้นไปยืน และถ้าถามว่าใช้ยังไง ก็ใช้เท้านี่แหละดันหินก้อนใหญ่กลิ้งทับกระจูดไปมา แค่ยืนมอง เราก็เหนื่อยแทน
เมื่อกระจูดเรียบระดับหนึ่งแล้วนำไปเข้าเครื่องรีดต่อ เครื่องรีดนี้มีอยู่เครื่องเดียวในชุมชน เห็นว่าราคาไม่ใช่น้อยๆ คนในชุมชนสานกระจูดเลยจะนำกระจูดมาฝากรีดที่บ้านนี้
มาถึงขั้นตอนการดีไซน์และสานกระจูด นอกจากกระเป๋าก็มีเสื่อกับพัดด้วย เรากับเพื่อนร่วมทางถือโอกาสเลือกซื้อกันสักหน่อย งานสานแต่ละชิ้นมีเอกลักษณ์ของมันเอง ทั้งสีตามธรรมชาติที่ต่างกัน ไหนจะสีจากการย้อม การเย็บปิดขอบด้วยผ้าสีสดใส และลายสานที่แตกต่างกันอีก ลายส่วนหนึ่งที่เราทราบมามีลายฟันปลา ลายดอกจัน ลายลูกแก้ว และลายขัดสอง
ขั้นตอนหนึ่งที่ถือเป็นตัวเลือกหรือขั้นที่ไม่ทำก็ได้คือการเคลือบแข็ง โดยใช้กาวและแป้งมัน จุดประสงค์ก็เพื่อความแข็งแรงเป็นหลัก ก่อนจะนำไปตัดแล้วแปลงโฉมมันอีกต่อหนึ่ง เหมือนพัดมันวาวแข็งเป็นทรง เหมาะกับฟังก์ชันของมันที่ต้องทำหน้าที่ต้านแรงลมให้ดี
กระจูดไม่ได้ทำกันง่ายๆ กระบวนการเหล่านี้ทั้งใช้เวลาและเกิดจากความใส่ใจในทุกขั้นตอน เราตามดูวิถีชุมชนกระจูดแค่ครึ่งวันก็รู้ ไม่ต้องให้ใครบอก ถึงขั้นที่เราหลุดปากพูดออกมาเองว่า อยากอุดหนุนเยอะๆ ต่อราคาก็ไม่กล้าต่อแล้วทีนี้
เดินเที่ยวหลาด
ไหนๆ ของดีเมืองลุงอยู่ไหน? อย่ามองหาที่อื่นไกล ลองเดินตลาดสิ!
บทความนี้จะมาแนะนำ 3 ตลาดที่มีเอกลักษณ์ต่างกัน แถมมีสเปซให้พื้นที่กับกิจกรรมอื่นๆ นอกเหนือจากขายของด้วย นี่จะไม่ใช่การเดินตลาดสดแบบซื้อแล้วกลับแน่นอน เพราะพอเป็นเรื่องตลาด คนพัทลุงเขาเล่นใหญ่มาก
‘หลาดใต้ถุน’ อำเภอปากพะยูน
ชุมชนเปลี่ยนใต้ถุนบ้านเป็นตลาด ทุกวันนี้จัดเดือนละครั้งเท่านั้น ส่วนครั้งที่เราไปเป็นนัดที่ 4 แล้ว รู้มาว่า ตลาดในลักษณะนี้ผูกโยงกับวิถีชีวิตดั้งเดิมของคนแถวนั้น แต่มันหายไปช่วงหนึ่ง หลาดใต้ถุนนี้จึงเกิดขึ้น เพื่อส่งเสริมวิถีชีวิตดั้งเดิมรวมถึงอนุรักษ์วัฒนธรรมทางด้านอาหารด้วย
เราเดินไปไม่ถึงไหนก็ซื้อข้าวเหนียวปิ้งไส้กุ้ง ป้าเจ้าของร้านยัดใส่กรวยใบตองให้เต็มมือในราคาแค่ 20 บาท ใกล้ๆ กันนั้นมีไก่ย่างสมุนไพรสีเหลือง ลูกชิ้นปลาทำเองของชาวประมง ไหนจะขนมปาดา ขนมโดนัทสอดไส้ ซึ่งเป็นขนมดั้งเดิมของทางใต้ โดยเฉพาะในหมู่ชาวมุสลิม
ด้วยความที่หลาดใต้ถุนจัดในย่านที่อยู่อาศัย บรรยากาศจึงเป็นกันเองมาก เหมือนแวะเที่ยวบ้านคนนู้นคนนี้ นอกจากพ่อค้าแม่ขาย เด็กๆ ในละแวกก็ออกมาทำกิจกรรมระบายสีปลากัน นี่เป็นโอกาสดีให้คนเฒ่าคนแก่ผู้มีความรู้ได้สนทนากับคนรุ่นใหม่ที่สนใจอาหารท้องถิ่นกันล่ะ
มองโดยรวมแล้วบรรยากาศอบอุ่นท่วมท้นเกินกว่าตลาดทั่วไป คนในได้คงวิถีชีวิตดั้งเดิม คนนอกอย่างเราก็อยากบอกต่อไปให้ไกล
‘หลาดใต้โหนด’ อำเภอควนขนุน
เสิร์ชหาที่เที่ยวในพัทลุง ยังไงก็ต้องเจอตลาดนี้ แทบจะเรียกได้ว่า หลาดใต้โหนด เป็นตลาดต้นแบบที่ชูเกษตรกร ชาวประมง และคนค้าขายท้องถิ่นได้สำเร็จเลยล่ะ
ก่อนจะเป็นตลาด พื้นที่นี้เป็นของกนกพงศ์ สงสมพันธุ์ นักเขียนรางวัลซีไรต์ ปี 2539 หลังเขาเสียชีวิตลง ครอบครัวและคนใกล้ตัวจึงรวมตัวกันสร้างบ้านนักเขียนขึ้นมา เปิดใช้เป็นโรงเรียนศิลปะ และแน่นอนว่า มีรูปกับผลงานของนักเขียนดังอยู่ด้วย ปัจจุบันเป็นบ้านไม้โปร่งท่ามกลางธรรมชาติ มีมุมนิทรรศการและมีห้องสมุดเล็กๆ ให้อ่านฟรีสำหรับคนพัทลุงและนักท่องเที่ยวที่ผ่านมาแวะพัก
พื้นเพเดิมจุดประกายให้ต่อยอดพื้นที่ไปอีกขั้น โดยเฉพาะด้านศิลปวัฒนธรรม ทุกวันนี้จึงมีลานแสดงมโนราห์และมีนิทรรศการเกี่ยวกับมโนราห์อยู่ด้วย ช่วงที่เราไปก็เจอกลุ่มเด็กแต่งกายเต็มยศมาโชว์มโนราห์ให้ดู บ่ายวันหนึ่งมีหลายรอบการแสดงนะ ดูได้เรื่อยๆ เลย
ตลาดที่เกิดในภายหลังก็กินพื้นที่เป็นบริเวณกว้างจนน่าตกใจ แถมซอยเยอะชวนให้หลงทางกับคนที่มาด้วยกัน (อันนี้เล่าจากประสบการณ์ตรง) คนท้องถิ่นจำนวนมากมาตั้งร้านขายของ มีตั้งแต่อาหารคาวหวาน ซึ่งเป็นอาหารพื้นถิ่นในภาชนะจากธรรมชาติ ของสดจากเกษตรกร งานคราฟต์จากกระจูดรวมถึงผ้ามัดย้อม แถมมีโซนดนตรีสดถึง 2 แห่ง เป็นวงดนตรีเพื่อชีวิตทั้งคู่
ชุมชนเติบโตได้ดีในแบบของตัวเองเป็นเช่นนี้เอง ทั้งที่พัทลุงเป็นจังหวัดเงียบๆ แต่คนท้องถิ่นก็พยุงตัวเองและผลักดันกันและกันขึ้นมาด้วยการยกระดับตลาด ห้างสรรพสินค้าใหญ่โตกลายเป็นทางเลือกไปเลย เมื่อหลาดใต้โหนดดำเนินไปได้ดีท่ามกลางป่าตาลโตนดแห่งนี้
‘ตลาดป่าไผ่สร้างสุข (สวนไผ่ขวัญใจ)’ อำเภอควนขนุน
มาถึงตลาดสุดท้าย ตลาดนี้อยู่คู่ป่าไผ่สมชื่อ บรรยากาศร่มรื่นกว่า 2 ตลาดก่อนหน้า อาจเพราะทางเดินตรงยาวเป็นวงรี ไม่มีซอกซอยเล็กๆ ลมเข้าถึงทั่วพื้นที่ รูปแบบทางเดินนี้ทำให้เดินชมร้านค้าครบทุกร้านได้ง่ายๆ ด้วย
เราเดินสับเท้าเข้าไปพร้อมกับนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียกลุ่มใหญ่ แต่ไม่นานก็สลายตัวแวะดูสินค้าข้างทางกันแล้ว เราเองก็แวะร้านผ้าย้อมสีธรรมชาติใกล้ทางเข้า จัดเสื้อย้อมสาคูสีน้ำตาลมา 1 ตัว
เดินลึกเข้าไปจะมีโซนม้านั่ง มันอยู่พ้นช่วงร้านงานคราฟต์กับอาหารท้องถิ่นมาพอดี จึงได้จังหวะนั่งกินของที่ซื้อมาตรงนี้ พอเดินอ้อมมาถึงอีกฝั่งของวงรีก็จะเจอน้ำชุบ น้ำพริกในกะลามะพร้าวอยู่ด้วย มีทั้งแบบแบ่งขายและขายในถุงพลาสติกที่ซีลปิดปากถุงเรียบร้อย
สิ่งหนึ่งที่สังเกตเห็นคือของสดอาจไม่เยอะเท่าตลาดก่อนหน้า แต่ในทางกลับกัน ด้วยภาชนะพลาสติกพกพาง่ายหรือแม้กระทั่งลักษณะการขายน้ำพริกเป็นถุงนั้นเหมาะกับการซื้อกลับเป็นของฝากมาก นักท่องเที่ยวมาเลเซียกลุ่มใหญ่ใกล้เราคือตัวอย่าง
เช็กอินพัทลุง
ไม่รู้มีใครคิดเหมือนกันไหม แต่เราว่าเวลาไปเที่ยวไหน จุดเช็กอินแรกมักเป็นโรงแรม เพราะฉะนั้นการเลือกโรงแรมจึงสำคัญมาก
เราพักที่ Dusit Princess Phatthalung กลุ่มตึกโรงแรมสีน้ำตาลอ่อน ตั้งเด่นอยู่บนถนนตัดใหม่ แต่ส่วนที่ดึงดูดความสนใจมากกว่าคือหลังคาทรงแปลกตาเลียนแบบ ‘ยอ’ ในลักษณะคว่ำ ยอที่ว่าคืออุปกรณ์ดักจับปลาท้องถิ่น
ระหว่างนั่งรอพนักงานดำเนินเรื่องเช็กอิน เสียงหัวเราะเล็กแหลมก็แว่วเข้ามา เรามองตามไปเห็นสระน้ำสีฟ้าใส ไล่ระดับตื้นถึงลึก สระนี้เชื่อมกับระเบียงห้องชั้น 1 กลายเป็นลงเล่นก็สะดวก ผู้ปกครองก็สบายใจ ได้เฝ้าลูกอยู่ในสายตาตลอด บ้านไหนมีเด็กเล็กคงถูกใจไม่น้อย เพราะเราแค่มองยังยิ้มตาม กระทั่งเสียงพนักงานดังเรียกสติ เราเลยลุกจากเก้าอี้สานไปรับคีย์การ์ด
ห้องของเราอยู่ชั้น 3 เปิดประตูเข้ามาแล้วพบแต่กลิ่นอายความโมเดิร์น แม้แต่กระจูดสีอ่อนบนหัวเตียงก็เข้ากันดีกับเฟอร์นิเจอร์ไม้ทั่วห้อง ส่วนระเบียงหันเข้าหาเขาอกทะลุ สัญลักษณ์ทางธรรมชาติของพัทลุง ระหว่างรอเวลามื้อเย็น เราเลยนั่งเอนกายบนเก้าอี้สานแบบเดียวกับในล็อบบี้ ชมวิว ฟังเสียงเด็กเล่นในสระน้ำเพลินๆ
โรงแรมมีทั้งหมด 132 ห้อง สูง 5 ชั้น สเปซกว้างขวางพร้อมรองรับลูกค้าแบบครอบครัว แถมมีแนวโน้มจะได้ต้อนรับลูกค้าจากประเทศเพื่อนบ้านบ่อยๆ ชาวมาเลเซียกลุ่มใหญ่ที่เราเจอ ณ ตลาดป่าไผ่ก็มาเช็กอินไล่เลี่ยกัน รู้มาว่าช่วงที่เราไปพัทลุงตรงกับช่วงโรงเรียนปิดเทอมของบ้านเขาล่ะ
นี่แหละ จุดรับแขกจากต่างบ้านต่างเมืองที่ถูกใจทั้งคนไทยและคนต่างชาติ
ฉีเชี้ยว
ฉีเชี้ยวคือห้องอาหารใต้-พัทลุง-จีนที่แยกตัวจากโรงแรม มันเข้าถึงง่ายสำหรับคนนอกมาก ต่อให้ไม่อยากกินมื้อหลักก็มาได้ เพราะมี Dusit Gourmet คาเฟ่โดยเชฟระดับห้องอาหารของโรงแรมในเครือเชียวนะ
เราเลือกโต๊ะติดวิวสวนจากที่นั่งว่างทั้งหมดในห้องเพดานสูงโปร่ง จิบนมอัญชันจากข้าวสังข์หยดเพลินๆ รสชาติหอมเป็นเอกลักษณ์ยังไม่ทันจางหาย เมนูแนะนำก็เสิร์ฟถึงโต๊ะ
พิเศษใส่ไข่! ไม่ใช่เมนูข้าวที่ไหน แต่เป็นแฮกึ๊น ออเดิร์ฟของที่นี่เล่นเอาอิ่มเลย แฮกึ๊นลูกโตมีไส้ในเป็นไข่ล่ะ ข้างๆ กันเป็นฟองเต้าหู้ทอด น้ำจิ้มรสหวานตัดกับรสกลมกล่อมของแฮกึ๊นอย่างลงตัว
ข้าวมันไก่จากข้าวสังข์หยด รสสัมผัสแตกต่างจากข้าวมันทั่วไปที่ทำจากข้าวขาว ส่วนไฮไลต์ที่คิดไว้ดันไม่ใช่ไก่เนื้อแน่น แต่เป็นน้ำจิ้มที่มีให้เลือกถึง 4 รสชาติ ได้แก่ น้ำจิ้มขิงกระเทียม น้ำจิ้มเต้าเจี้ยว น้ำพริกน้ำส้มสายชู และน้ำพริกขี้หนูคั่ว
จานหลักอีกจานคือ แกงส้มปลากะพง เมเนเจอร์ห้องอาหารเตือนมาว่า เผ็ดร้อนถึงใจ ตอนแรกเราก็ไม่เชื่อ เพราะเราเป็นคนกินเผ็ด แต่มันเผ็ดพ่นไฟสมกับคำเตือนจริงๆ น้ำซุปปรุงจากพริกสดและเครื่องแกงทำเอง รสเปรี้ยวกำลังดี เนื้อปลาก็สด แถมปริมาณพอเหมาะพอแชร์ความอร่อยรอบโต๊ะ เมื่อมองภาพรวมแล้ว ทุกคนลงความเห็นว่าดีเกินคาด
เป็นธรรมดาที่โรงแรมพยายามใช้วัตถุดิบจากคนท้องถิ่น โรงแรมนี้ซื้อต่อจากแหล่งจับสัตว์และแหล่งปลูกผักตามราคาท้องตลาดนะ แต่อัญชันในเครื่องดื่มข้างมือเรานี้ โรงแรมปลูกเอง
เรื่องไม่ธรรมดาคือพนักงานในห้องอาหารเป็นคนพัทลุง 100% (อ้างอิงจากเมเนเจอร์ และเป็นข้อมูล ณ วันที่เราได้คุยกัน) คนส่วนใหญ่ล้วนมีประสบการณ์ทำงานในโรงแรมโชกโชน เพียงแต่กระจัดกระจายกันอยู่ทั่วจังหวัดท่องเที่ยวจังหวัดอื่น เมื่อ Dusit Princess Phatthalung เปิดตัว คนไกลบ้านเลยมีโอกาสกลับบ้านก็คราวนี้
เมเนเจอร์ยังเสริมเรื่องประเด็นเมืองรองหรือจังหวัดที่เป็นทางผ่านว่า
“พัทลุงเป็นเมืองรองที่ดี มีของ ไม่น้อยใจเลยที่ถูกเรียกว่าเมืองรอง ตอนนี้พัทลุงมีศักยภาพมาก”
มาพัทลุง มาพักกับ Dusit Princess Phatthalung
Maps: https://maps.app.goo.gl/Z24zdiitTutrno6A6
ใครอยากเที่ยวแบบเอกซ์คลูซีฟตามเราก็ขอคำแนะนำจากทางโรงแรมได้เลยนะ ไม่ต้องเกรงใจ!