About
Overnight

Vanich House

จากโรงกลึงอายุเกือบร้อยปีย่านตลาดน้อยสู่สเปซใต้ถุนในชื่อว่า Vanich House

Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • Vanich House สเปซใต้ถุนจากอาคารไม้เก่าอายุเกือบ 100 ปี ที่เป็นทั้งสเปซ คาเฟ่ ร้าน Select Shop และห้องพัก 1 ห้องถ้วน

ไม่บ่อยนักที่ผมจะได้เดินทางมาย่านตลาดน้อย เพียงแต่ครั้งนี้ไม่ใช่การมาเดินเล่น เดินเที่ยว หรือเดินเตร็ดเตร่ เพราะตอนนี้ผมกำลังยืนอยู่หน้าอาคารไม้ที่อยู่มาตั้งแต่ปี 1927 (ตามคำบอกเล่าของเจ้าของสถานที่) ซึ่งมีฟังก์ชันเป็นทั้งออฟฟิศสตูดิโอสถาปนิก Physicalist มีบ้านสำหรับอยู่อาศัย มีห้องพักจำนวน 1 ห้องถ้วน และมีร้าน Select Shop ภายในตัว

อย่างไรก็ตาม หลักใหญ่ใจความที่พาผมมาถึงที่นี่คือพื้นที่ใต้ถุนของอาคารไม้หลังนี้ ซึ่งมีชื่อว่า ‘Vanich House’ โดยเปลี่ยนจากโรงกลึงของครอบครัวให้กลายเป็นพื้นที่ใช้สอยเพื่อส่วนรวม ไม่ใช่แค่ในครอบครัว แต่ยังรวมถึงบุคคลภายนอกที่ต้องการพื้นที่นั่งพักหลบแดด หลบฝน ดื่มชา ดื่มกาแฟ หรือแค่เข้ามาแวะเวียนเยี่ยมชม เจ้าบ้านก็ยินดีต้อนรับ

พื้นที่นี้ออกแบบและดูแลโดย กาจ-กาจวิศว์ ริเริ่มวนิชย์ กับ ปุ้ย-ศศิกานต์ สุประดิษฐ์ ณ อยุธยา เจ้าของบ้านและ Co-founder ของสตูดิโอสถาปนิกข้างต้น ทว่า น่าเสียดายที่กาจเหมือนจะเสียงหายเกินกว่าจะมาร่วมพูดคุย จึงเป็นหน้าที่ของปุ้ยที่จะมาบอกเล่าที่มาที่ไป ความเป็นธรรมชาติ และศักยภาพที่พวกเขามองเห็นในพื้นที่ใต้ถุนอายุเกือบ 100 ปีแห่งนี้

Vanich House

ออฟฟิศพื้นเอียง

ย้อนกลับไปประมาณปี 2016 ปุ้ยเล่าถึงแรกเริ่มเดิมทีของโรงกลึงแห่งนี้ (ซึ่งเป็นของครอบครัวฝั่งกาจ) ที่ยังไม่ได้ใช้ชื่อว่า Vanich House เคยมีชื่อว่า ‘อู่หลียุ่นเชียง’ โดยยังคงถูกคนในบ้านเรียกกันสั้นๆ ว่าอู่ ในตอนนั้นพวกเธอตัดสินใจใช้ชั้น 2 เป็นสถานที่ตั้งของออฟฟิศ ยังไม่ได้รีโนเวต ขนาดนั่งเก้าอี้ยังต้องจิกเท้าเอาไว้ เพราะพื้นเอียง ก่อนจะโยกย้ายกันออกไปเช่าออฟฟิศอยู่ข้างนอกในเวลาต่อมา

Vanich House

“เราเริ่มจากทำออฟฟิศบนชั้นสองให้เสร็จก่อน ตอนแรกก็ไม่ได้คิดเลยว่าจะทำอะไรกันต่อในส่วนพื้นที่โรงกลึงเดิม แค่ว่าพอมาทำแล้วก็มันมือ ทำไปเรื่อย อยากทำให้เสร็จ ยิ่งการที่ลูกน้องจะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี พื้นที่นั้นต้องไม่เป็นไซต์งาน มันน่าเบื่อด้วยถ้าทำเฟส 1 เสร็จ แล้วอยู่ไปอีก 3 ปี ทำเฟส 2 ต่อ พออีก 3 ปี ก็ทำเฟส 3 ต่อ มันไม่จบไม่สิ้น เราก็เลยกัดฟันทำให้เสร็จทั้งหมดไปเลย” ปุ้ยเล่า

ส่วนคำถามที่ปุ้ยเริ่มคิด คือจะทำอะไรดี เพราะดูไปดูมา ก็มี Potential หรือศักยภาพในตัวของมันอยู่เหมือนกัน ยิ่งเมื่อรื้อของออกจนหมด กลายเป็นพื้นที่โล่งอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ตอนนั้นเองที่เธอเริ่มมองเห็นถึงเสน่ห์ของพื้นที่นี้ แต่แน่นอนว่าปัญหาก็เผยตัวมาให้เห็นเหมือนกัน ไม่ว่าจะความชื้น ความมืด และกลิ่นอับของเครื่องจักรเดิมที่เกิดจากความไม่ระบายอากาศ

Vanich House

“เราเลยดีไซน์ว่าเก็บผนังเก่าไว้เหมือนเดิมเลย” ปุ้ยเริ่มอธิบายถึงการออกแบบเพื่อแก้ปัญหา “รื้อผนังออกประมาณ 80 เซนติเมตร เพื่อให้ทั้งลมและแสงเข้ามา ข้างบนเปลี่ยนเป็น Sky Light ดึงแสงลงมา ทำยังไงให้ตรงนี้ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นห้อง ซึ่งด้วยตัวมันเอง ถ้าเราจะไปตั้งเสาเพิ่มตรงกลาง ตั้งได้นะ แต่วิสัยทัศน์จะไม่ได้แบบนี้ เราเลยเลือกที่จะปล่อยให้เป็นไปตามที่เป็น อย่างเช่น คานเหล็กที่เอามาเสริมแทนไม้ เราก็ไปค้นเจอไม้เป็นท่อนๆ เหมือนหมอนรถไฟแต่เป็นวงรี 13 อัน เอามาใช้ช่วยพยุง แอบทอนระยะสักหน่อย แต่ว่าไม่ได้ไปเปลี่ยนแปลงมัน เราออกแบบของที่จะมาช่วยพยุงให้ยังไปด้วยกันกับพื้นที่ได้มากกว่า”

Vanich House

ทั้งหมดนี้ร่วมกับโจทย์ที่อยากเก็บของเดิมเอาไว้ให้มากที่สุด และพยายามทำให้อยู่ได้นานที่สุดไปพร้อมๆ กัน

“อยากรู้เหมือนกันว่า จะอยู่ไปได้กี่ปี ตอนนี้ก็จะ 100 ปีแล้ว อาจจะ 200 หรือ 300 ปี แต่เราก็มีสต๊อกไม้ไว้คอยเปลี่ยน พวกนี้เป็นไม้ที่รื้อออกมา เราไม่ได้เป็นโรงไม้นะ แค่เก็บไว้เปลี่ยน ไว้ซ่อมแซม” ปุ้ยเล่าพลางชี้ไปที่กองไม้ด้านหลัง

Vanich House

ออกแบบครึ่งหนึ่ง ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติอีกครึ่งหนึ่ง

อันที่จริงโจทย์ของ Vanich House นั้นสั้นๆ ง่ายๆ และได้ใจความมาก เพราะถ้าคนที่เดินผ่านไปผ่านมาถามปุ้ยว่า กำลังทำอะไรอยู่ คำตอบนั้นคือ

“ทำให้เสร็จ” เธอตอบด้วยเสียงหัวเราะ

อย่างไรก็ตาม การออกแบบ ก่อสร้าง และเป็นรูปเป็นร่าง ถือเป็นการเสร็จเพียงครึ่งหนึ่ง ส่วนครึ่งหนึ่ง เธอขอปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ บริบท และผู้คนที่เข้ามา

Vanich House

Vanich House

Vanich House

Vanich House

“ต่อไปอาจจะมีโอกาสได้ทำอะไรมากขึ้นกับที่นี่ อาจจะใช้สเปซเราเป็นที่จอดรถ จัดนิทรรศการศิลปะ จัดอีเวนต์ ศักยภาพของสเปซจะพามันไปเอง โดยที่เราไม่ต้องดันทุรัง เพราะที่นี่จะเป็นอะไรก็ได้” ปุ้ยพูดถึงศักยภาพของตัวอาคารมากฟังก์ชันแห่งนี้

ผมถามปุ้ยว่ามีความกังวลหรือเปล่ากับอายุของสถานที่ หรือกังวลในเรื่องการเปิดร้านไหม หลังจบคำถามเธอครุ่นคิดอยู่ครู่หนึ่ง ก่อนจะบอกว่า ความเครียดที่มีต่อสถานที่นี้น้อยมาก หากต้องอธิบายเธอก็ย้อนกลับยืมคำพูดของสมัยเรียนอย่างสัจจะวัสดุมาปรับแต่งเป็นสัจจะของบริบท ถ้ามองบางสิ่งบางอย่างเป็นปัญหา เธอก็คงต้องวิ่งแก้ตลอดเวลา แต่ถ้ามองเป็นธรรมชาติ ก็ทำไปตามธรรมชาติที่เป็นนั่นแหละ

Vanich House

Vanich House

“ตรงนี้ของเดิมที่เป็นใต้ถุน คือทุกคนจะมาแชร์พื้นที่กัน อย่างเมื่อก่อนตอนที่สมาชิกในครอบครัวกาจอยู่กันเยอะๆ คนหนึ่งในบ้านอาจจะชอบพระเครื่อง ก็จะมีมุมพระเครื่องอยู่ตู้หนึ่ง อีกคนหนึ่งชอบเรียนภาษาสเปน ก็จะมีตู้หนังสือภาษาสเปนอยู่ แล้วก็มีมุมต่างๆ กระจายๆ ไปตามกิจกรรม ถ้าเป็นสเปซปัจจุบัน ลูกเรามาก็จะมีตู้เกมให้เล่น ถ้าแฟนเรามาก็จะมีเฟอร์นิเจอร์ให้ดู ลูกค้าเองก็มีของสวยๆ งามๆ ให้เลือกซื้อ มีกาแฟอร่อยๆ ให้กิน เป็นที่ที่ต้อนรับทุกคน ซึ่งเราไม่ได้คาดหวังเลยว่าลูกค้าจะนั่งกันเยอะและนานขนาดนี้ ทุกคนบอกว่าดูเฟรนด์ลี นั่งสบาย ไม่ได้รู้สึกเขินอะไรที่จะเข้ามา ไม่ได้รู้สึกว่านั่งแล้วต้องรีบไป” ปุ้ยเล่าขณะที่ลมกำลังถ่ายเทอากาศในใต้ถุนอย่างพอดิบพอดี

Vanich House

สถาปนิก VS อาคารไม้เก่า

ถามถึงความกังวลไปแล้ว ถ้าอย่างนั้นความยากล่ะ มากน้อยแค่ไหน – ผมถาม

“มาก!” ปุ้ยตอบทันทีที่จบคำถาม

ไล่เรียงไปทีละความยาก เริ่มจากอย่างแรก นั่นคือความคาดหวัง ทั้งจากตัวเอง และจากครอบครัว

“เราไม่สามารถทำตามความต้องการของทุกคนได้ อย่างตัวเราเองจะมองทุกอย่างเป็นธรรมชาติ เรายังอยากให้มันเป็นใต้ถุน วันหนึ่งเราจะขยายร้าน หรือวันหนึ่งบ้านจะขยายมาก็ยังปรับเปลี่ยนได้ แต่ถ้าต้องทำระแนงกั้นตามความต้องการของผู้ใหญ่ แล้วจะมองเห็นสวนที่อุตส่าห์ทำไว้ได้ยังไง” ปุ้ยเล่าถึงสิ่งที่เธอต้องต่อสู้เพื่อให้ได้มา

Vanich House

สอง การบริหารจัดการไซต์ เนื่องจากจำนวนของที่เยอะ เมื่อรื้อทุกอย่างออกมาจนหมด Unseen หรือเรียกได้ว่าเหล่าปัญหาที่ซุกไว้จะโผล่ออกมาให้เห็นตัวตามที่บอกไว้ รวมไปถึงความไม่รู้ในวัสดุที่คนสมัยก่อนใช้กัน

“อย่างหลังคา เราคิดว่าโครงสร้างอยู่อย่างนี้มาร้อยปีแล้ว แค่เปลี่ยนแผ่นเฉยๆ ก็ต้องอยู่ได้สิ ปรากฏว่าสังกะสีสมัยก่อนหนามาก แล้วตะปูตัวใหญ่มาก พอรื้อออกไป โครงสร้างไม้ก็หลุดตามออกไปหมดเลย ตอนแรกที่คิดว่าจะใช้เวลาเปลี่ยนหลังคาแค่สักเดือนหรือสองอาทิตย์ ก็ต้องมาเริ่มนั่งตีโครงสร้างใหม่

“แถมเรายังไม่อยากทิ้งของที่รื้อออกมา เพราะเราไม่รู้ว่าเราจะมีโอกาสได้ใช้หรือเปล่า น่าเสียดาย ซึ่งคนจะเข้าใจว่าไม้เก่ามีค่า แต่จะมีค่าก็ต่อเมื่อเราขายทั้งหลัง หรือเราไสให้เขาแล้ว เอาตะปูออกหมดแล้ว แต่ของเราเป็นทุ่งกองไม้ เพราะว่าข้างบนเคยมีผนังกั้นอยู่ 10 ห้องนอน แล้วเรารื้อออกหมดเลย ไม้ที่ออกมามหาศาลมาก ชิ้นเล็ก ชิ้นน้อย ชิ้นใหญ่ ต้องมาแยกไม้ รถก็เข้าออกยาก ปัญหาจะเป็นแบบนี้” ปุ้ยเล่าอย่างออกรสถึงปัญหาที่ต้องรับมือ

Vanich House

จนมาถึงวันที่สเปซแห่งนี้เสร็จสมบูรณ์ สำหรับปุ้ยแล้ว พื้นที่นี้เหมือนลูกที่โตขึ้นทุกวัน และมีเรื่องให้น่าชื่นใจอยู่เรื่อยๆ ไม่ว่าจะวันที่ปูพื้นเสร็จ วันที่เปิดไฟครั้งแรก วันที่ตั้งเสา แล้วจึงปล่อยให้เติบโตไปตามทางของมัน

ถึงอย่างนั้นปุ้ยก็ยกให้วันทำบุญบ้านเป็นวันที่ตื้นตันที่สุด เปรียบได้กับวันเกิดอายุครบ 1 ขวบ เพราะคือวันที่ได้เปิดประตูต้อนรับคนในครอบครัวให้เข้ามาเห็นพื้นที่นี้เป็นครั้งแรก จากทีแรกที่ยังไม่ให้ใครเข้ามา ข้อสำคัญของวันนี้คือทุกคนแฮปปี้เมื่อได้เห็นมัน

Vanich House

ซอยวานิช

ในส่วนของห้องพักนั้นมี 1 ห้องถ้วน มีชื่อว่า The Mechanic’s Room เนื่องจากเป็นพื้นที่ห้องพักคนงานเดิมบนชั้นลอยของโรงกลึง สามารถเดินเข้าได้จากอีกประตูหนึ่งได้แบบไม่ต้องเดินตัดร้าน สามารถมองเห็นวิวของแม่น้ำเจ้าพระยาได้ อีกทั้งยังมีต้นไม้สีเขียวประดับตัดกับวัสดุไม้ และด้วยอาชีพของปุ้ย เธอไม่รู้ว่าคนที่มาจะชอบไม่ชอบ มองว่าสวยไม่สวย แต่อย่างน้อยต้องอยู่สบายไว้ก่อน น้ำไหล ไฟสว่าง และแอร์เย็น

“แฟนเราชอบใช้สังกะสีมาก” ปุ้ยพูดถึงผนังสังกะสีในห้องน้ำ “เป็นสังกะสีเก่าที่เรารื้อมาจากหลังคาเก่า ซึ่งก็บอกแฟนว่ามันอันตราย อาจจะบาดคนได้ แฟนก็เลย งั้นคุณเอามุมนี้ไป เราก็เลยกวนตีนด้วยการใส่แชนเดอเลียร์ไปเลย” ฉะนั้นแล้วใครมาพักอย่าแปลกใจ ทำไมห้องพักบรรยากาศบ้านต้นไม้หลังนี้ถึงมีผนังห้องน้ำเป็นสังกะสี และมีแชนเดอเลียร์ประดับอยู่ข้างบนอีกที

Vanich House

Vanich House

Vanich House

ไหนๆ ก็เดินทั่วอาคาร พูดคุยกันจนรู้แล้วว่า ปุ้ยมองสเปซนี้ว่ามีศักยภาพ มีเสน่ห์ และมีโอกาสที่จะเกิดอะไรขึ้นอีกมากมายในอนาคตด้วยธรรมชาติและบริบท ในท้ายสุด เธอนิยามสถานที่แห่งนี้ไว้ว่าอย่างไร

“มันไม่ใช่ร้านกาแฟร้านหนึ่ง ไม่ใช่ Select Shop ร้านหนึ่ง ไม่ใช่ห้องพักห้องหนึ่ง มันคือบ้าน คือพื้นที่ของเรา แล้วเราทำกิจการนั้นกิจการนู้นที่รวมอยู่ในสเปซนี้ มันคือ Vanich House ที่มีพาร์ตหนึ่งเป็นใต้ถุนที่เราอยากเปิดให้ทุกคนเข้ามาใช้งาน” ปุ้ยนิยามสถานที่ของครอบครัวให้กับเราเป็นการปิดท้ายบทสนทนา

Vanich House

นั่งกินขนมหลบฝน

ตั้งแต่ตรงนี้เป็นต้นไป ผมขอยกพื้นที่ตรงนี้ให้กับ นุ่น-พีริยา โตมรศักดิ์ ในการแนะนำเมนูน่าสนใจในร้าน สำหรับคนที่อยากเข้ามาแวะเวียนนั่งเล่น นั่งกิน หรือนั่งคุยกันในวันที่อากาศดี เพราะปุ้ยเองก็ยกหน้าที่นี้ให้กับเธอเหมือนกัน

“ไม่รู้จะขายตัวไหน เพราะก็ลูกเราหมดเลย” ปุ้ยหัวเราะพลางดูเมนู

อย่างแรกคือน้ำแข็งไส 4 เมนู ที่นุ่นเลือกมาแนะนำ

“2 ตัวแรกจะเป็นโทนใสที่ไม่มีส่วนผสมของนม แต่จะมีเป็นตัวส้มกับมิกซ์เบอร์รี่แทน ซึ่งทั้งสองเมนูนี้เราทำไซรัปเองจากชาดำที่เป็นเบสชาที่ใช้ในร้านด้วย ใส่ซอสผลไม้ที่ทำเองอีกเช่นกัน

“อีก 2 ตัวจะมีชาไทยที่เราเบลนด์เอง ตัวหนึ่งเป็นเบสของนมวัว ส่วนอีกตัวหนึ่งจะเป็นชานมแมคาเดเมียที่ไม่มีนมวัวเป็นส่วนผสม จะมีความหอมของถั่วค่อนข้างเยอะ”

Vanich House

ในส่วนของเครื่องดื่มนั้นจะเน้นไปที่ตัวชามากกว่ากาแฟ โดยเฉพาะชาสกัดเย็นที่ปุ้ยเปรยกับเราไว้ก่อนหน้านี้

“เครื่องดื่มในซีรีส์ของชาที่เป็นม็อกเทล โดยตัวชาใสที่มีดอกไม้ เราจะเอาเบสชาสกัดเย็นมาปรุงรสเป็นเปรี้ยวหวาน มีเอกลักษณ์คือกลิ่นหอมของใบชาเขียว และมีกลิ่นหอมของดอกไม้และผลไม้แห้งซ่อนอยู่ข้างใน แล้วก็จะมีน้ำเชื่อมดอกไม้ของ Elder Flower และมีกลิ่นของชามินต์ที่เราสกัดซ่อนอยู่ด้วย

“อีกตัวเป็นกาแฟที่เราทำเป็นเมนูพิเศษขึ้นมา กาแฟดำกับน้ำส้มมะปี๊ด หลายๆ เมนูของเราจะใช้ตัวส้มมะปี๊ดด้วย ตัวนี้เลยจะค่อนข้างมีความเปรี้ยวนำ แล้วก็ความหวานจากน้ำผึ้ง ถ้าต้องการความสดชื่นหรือตื่นตัว ตัวนี้เหมาะเลย” นุ่นอธิบาย

นอกจากนี้ นุ่นยังนำเบเกิลครีมชีสเบอร์รี่ กับเบเกิลสโมคแซลมอน พาร์มาแฮม มาให้เราได้ลองคู่กับเครื่องดื่มและน้ำแข็งไส แน่นอนว่าตัวแป้งนั้นทำเองทั้งหมด แต่มีอย่างหนึ่งที่อยากให้ลองกัน นั่นคือขนมไทยอย่างกลีบลำดวนที่กินคู่กับกาแฟแล้วเข้ากันอย่างคิดไม่ถึงมาก่อน

Vanich House
ที่อยู่: ถนนทรงวาด ซอยเจริญกรุง 22 แขวงตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร 10100
แผนที่: https://maps.app.goo.gl/8sHoxSw4yimMDYG1A
เวลาทำการ: ทุกวัน เวลา 10:30 – 17:30 น. (ปิดทุกวันพุธ)
FB: Vanich house
IG: vanich_house

Tags: