About
Overnight

Uniquely Chiang Mai

InterContinental Chiang Mai The Mae Ping ในไวบ์พิพิธภัณฑ์ล้านนาและบ้านหลังที่สองของเติ้ง ลี่จวิน

เรื่องและภาพ สุทธิดา หทัยศรัทธา Date 11-07-2024 | View 1158
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • โรงแรมเปิดใหม่ภายใต้คอนเซปต์ “Living Museum” ที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ของหมู่บ้านช่างฆ้องเก่าแก่ และยังสร้างจากโครงสร้างของโรงแรมระดับตำนานของเชียงใหม่ พักผ่อนท่ามกลางร่องรอยประวัติศาสตร์ล้านนา ใช้ของที่คัดสรรมาอย่างดีจากท้องถิ่น และทัวร์ห้องโปรด เติ้ง ลี่จวิน

เชียงใหม่คือเมืองที่เราตื่นเต้นทุกครั้งที่ได้ไป แม้จะไปมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน

อาจเป็นเพราะทุกครั้งที่ไป เรามักค้นพบอะไรใหม่ๆ เกี่ยวกับเมืองนี้เสมอ ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหารอร่อยๆ ราคาไม่แพงที่ซ่อนอยู่ตามหลืบมุม บาร์แจ๊ซและค็อกเทลดีๆ หรือร้านหนังสืออิสระที่เจอระหว่างเดินเล่น ไม่มีอะไรที่หวือหวาจนเกินไป แต่เซอร์ไพรส์ได้ทุกรอบ เราว่านี่แหละคือเสน่ห์ที่ทำให้เราตกหลุมรักเมืองนี้ซ้ำๆ

และนี่ก็เป็นอีกครั้งนึงที่เราพบอะไรใหม่ๆ ในเชียงใหม่…คราวนี้ต่างออกไปจากทุกครั้งตรงที่ปลายทางของเราคือตึกสูงตระหง่านกลางตำบลช้างคลาน ตึกที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นที่พักผ่อนในฝันของใครหลายๆ คน วันนี้ตึกนั้นกลับมาในนาม ‘InterContinental Chiang Mai The Mae Ping’ โรงแรมที่บอกเล่าเรื่องราวของรากเหง้าตัวเองได้อย่างดี ด้วยความตั้งใจที่ว่า “อยากให้คนที่มาเชียงใหม่ ได้รู้จักเชียงใหม่จริงๆ”

InterContinental Chiang Mai The Mae Ping

Palimpsest

คือคำแรกที่เรานึกถึงเมื่อได้ฟังที่มาที่ไปโดยละเอียดของโรงแรมนี้ สำหรับใครที่ไม่คุ้นชินกับคำนี้ เรากำลังหมายถึงพื้นที่ทับซ้อนทางประวัติศาสตร์ ที่แม้จะเปลี่ยนผ่านไปหลายยุคหลายสมัยก็ยังคงทิ้งให้เห็นร่องรอยจางๆ ของสิ่งที่เคยมีอยู่ ในที่นี้คือการผลัดมือกันของหมู่บ้านช่างฆ้อง โรงแรมระดับตำนานของเชียงใหม่อย่างอิมพีเรียลแม่ปิง และ InterContinental Chiang Mai The Mae Ping

รถรับส่งพาเรามาถึงล็อบบี้ของโรงแรมที่ดีไซน์ให้มีหลังคาทรงจั่วแบบบ้านทรงไทยโบราณทางแถบภาคเหนือ พนักงานสุดสวยต้อนรับเราด้วยเวลคัมดริงก์สีสดพร้อมฆ้องเล็กๆ ในถาด ก่อนจะบอกว่า “คนทางเหนือตีฆ้องเพื่อเอาฤกษ์เอาชัย เชื่อว่าถ้าตีครบ 3 ครั้งก็จะได้กลับมาที่นี่อีกค่ะ” แน่นอน เราไม่รอช้าที่จะตีให้ครบ 3 ครั้ง เช็กอิน และเดินตามพนักงานสาวไปพบความจริงเกี่ยวกับฆ้องอีกอย่างหนึ่ง

InterContinental Chiang Mai The Mae Ping

ตั้งเด่นอยู่กลางลานสนามหญ้าของโรงแรม คือเจดีย์วัดช่างฆ้อง สัญลักษณ์ของชุมชนช่างฆ้องที่เคยอาศัยอยู่ในพื้นที่ตรงนี้เมื่อหลายร้อยปีที่เเล้ว ต้องบอกว่านี่เป็นไฮไลต์ที่เด่นที่สุดของโรงแรมเลยก็ว่าได้ เพราะนอกจากเราจะได้นั่งอยู่บนพื้นที่ที่มีประวัติศาสตร์ศิลป์เข้มข้นเเล้ว โรงแรมที่เราจะสามารถรับประทานอาหาร นั่งเล่นในสนามหญ้า ร่วมอีเวนต์งานดนตรี แบบมีองค์เจดีย์อายุกว่า 600 ปีเป็นฉากหลังไม่ได้หาได้ง่ายๆ ซึ่งสตาฟเล่าให้ฟังว่า ทางโรงแรมได้ปรึกษากับทางกรมศิลปากรเพื่อบูรณะและอนุรักษ์องค์เจดีย์ไว้ในพื้นที่นี้เองเลย

InterContinental Chiang Mai The Mae Ping

ในส่วนของตัวโรงแรมเองก็มีประวัติศาสตร์ยาวนานไม่แพ้กัน ตัวโครงสร้างของอาคารเดิมคือโรงแรมอิมพีเรียลแม่ปิง ที่หากใครได้ไปเชียงใหม่ในช่วงยุค 90 ก็คงต้องรู้จักกันดี เพราะนอกจากจะเป็นโรงแรมหรูหราของจังหวัดแล้ว ยังเป็นตึกสูงเป็นอันดับ 2 ของเชียงใหม่ในขณะนั้น

ทาง InterContinental ได้รื้อฟื้น ดัดแปลง และต่อเติม จนตัวอาคารและสถาปัตยกรรมภายในมีความร่วมสมัยมากขึ้น แต่ก็ยังคงกลิ่นอายอันอ่อนช้อยของความเป็นชาว ‘เวียงเจียงใหม่’ ไว้อยู่ ซึ่ง Peter Pottinga หรือ ‘ปีเตอร์’ เมเนเจอร์อารมณ์ดีชาวเนเธอร์เเลนด์จะมาเล่าให้เราฟังถึงคอนเซปต์หลักของโรงแรม…“Living Museum”

InterContinental Chiang Mai The Mae Ping

Living Museum

พูดถึงพิพิธภัณฑ์ เราอาจจะนึกถึงผลงานที่ถูกตั้งโชว์เรียงรายในห้องสีขาวๆ ใช่ไหมล่ะ? แต่ไม่ใช่กับที่นี่…แม้จะมีเครื่องเขินตั้งเรียงรายอยู่ตามโถงทางเดิน แต่นั่นเเค่เบสิกๆ เพราะคอนเซปต์ถูกใส่ไปตั้งแต่ในแปลนตัวอาคารที่ออกแบบมาให้เหมือนการสร้างบ้านแปงเมืองของชาวล้านนาแล้ว ฉะนั้น หากจะให้ลิสต์ความใส่ใจในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ทั้งหมดที่ทาง Intercontinental หยิบมาเล่นกับสเปซ บทความนี้คงจะมีความยาวสักประมาณ 30 หน้าได้ เราเลยขอรวมไฮไลต์ที่คิดว่าเด็ดมา ส่วนที่เหลือแนะนำให้ไปสัมผัสด้วยตัวเองเท่านั้น!

“We’re not just a bed for the night” โรงแรมของเราไม่ใช่เเค่ที่นอน คือสิ่งที่ปีเตอร์พูดซ้ำๆ ตลอดบทสนทนาของเรา เขาอยากให้การมาพักผ่อนที่นี่มีบรรยากาศเหมือนคาบวิชาประวัติศาสตร์ล้านนา ที่ไม่ต้องจริงจังถึงขั้นท่องจำ แต่อย่างน้อยก็ได้เห็นร่องรอยวิถีชีวิตของผู้คนที่เคยอยู่ตรงนี้

InterContinental Chiang Mai The Mae Ping

อย่างที่รู้กันว่าเชียงใหม่เป็นที่รู้จักในด้านงานศิลป์ ความคราฟต์ และความประณีตมาตั้งแต่โบราณ งานฝีมือตั้งแต่รัชสมัยพญามังรายอย่าง ‘ช่างสิบหมู่’ เลยได้รับการนำมาเล่าจุดเด่นนี้ผ่านของประดับจากงานแกะสลัก งานกลึง เครื่องเขิน เครื่องเงิน ฯลฯ ที่แต่งแต้มความเป็นล้านนาให้ห้องพักสไตล์ร่วมสมัยได้แบบไม่เคอะเขิน และที่น่าสนใจคือ ถึงเทคนิคที่นำมาใช้จะเก่ามากๆ แต่ดีไซน์ห้องกลับยังดูเข้าถึงง่าย สบายตา

ใครได้มาพักก็อยากจะชวนให้นับดูเล่นๆ ว่าจะเจอของประดับครบทั้ง 10 เทคนิคของช่างสิบหมู่ไหม

InterContinental Chiang Mai The Mae Ping

InterContinental Chiang Mai The Mae Ping

InterContinental Chiang Mai The Mae Ping

เราเองมีโอกาสได้พักในห้อง Premium King Suite ถึงสองคืน ต้องบอกว่าเป็นการพักผ่อนที่เต็มอิ่มและจรรโลงใจมากๆ นอกจากจะได้ใช้ชีวิตท่ามกลางงานศิลป์แล้ว ในห้องยังมีพื้นที่ให้ทำงาน นอนพักผ่อน ดูทีวี แบบเป็นสัดเป็นส่วน ราวเสื้อผ้าแบบเปิดที่ถูกนำมาใช้แทนตู้เสื้อผ้าทำให้หยิบจับของง่ายและทำให้พื้นที่ห้องดูกว้างและโปร่งขึ้นด้วย และที่ชอบที่สุดก็คงจะเป็นห้องน้ำ ที่มีอ่างขนาดใหญ่ให้นอนแช่หลังจากออกไปเที่ยวมาเหนื่อยๆ กับลายกระเบื้องที่สวยจนไม่อยากละสายตา

InterContinental Chiang Mai The Mae Ping

แถมห้องนี้ยังมองเห็นดอยสุเทพแบบชัดแจ๋วด้วยนะ ใครกำลังเบื่อๆ บรรยากาศในกรุงเทพฯ เปลี่ยนมา Work from Home ที่นี่ก็ดี ล้าๆ ก็แค่หันไปมองวิวภูเขา คงทำให้สดชื่นขึ้นได้เป็นกอง

InterContinental Chiang Mai The Mae Ping

InterContinental Chiang Mai The Mae Ping

InterContinental Chiang Mai The Mae Ping

โดย Room Type ที่นี่จะมีตั้งแต่ห้องไซส์ Classic ห้องเตียงคิงหรือทวินไซส์แบบ 30 ตารางเมตร ห้อง Premium 43 ตารางเมตรแบบที่เรานอน ห้อง One Bedroom Suite ขนาด 69 ตารางเมตร มีโซนนั่งเล่นแยกออกมาจากตัวห้องนอน และห้อง Ambassador Suite ขนาด 114 ตารางเมตร ไปจนถึงห้อง Presidential Suite 165 ตารางเมตร ห้องใหญ่ที่สุดที่มีห้องรับประทานอาหารเเละห้องทำงานในตัว

InterContinental Chiang Mai The Mae Ping

ยังไม่หมดแค่นั้น! อีกหนึ่งไฮไลต์ที่ปีเตอร์ภูมิใจนำเสนอสุดๆ ก็คือห้อง Suite ของ ‘เติ้ง ลี่จวิน’ หรือ ‘เทเรซา เติ้ง’ นักร้องเสียงหวานจากไต้หวัน เจ้าของเพลงดังระดับโลกอย่าง เถียน มี มี่, พระจันทร์แทนใจฉัน, I only care about you ฯลฯ ที่หลบหลีกความวุ่นวายมาพักผ่อนที่นี่ แม้แต่ในวันสุดท้ายของชีวิตเธอก็ยังอยู่ที่เชียงใหม่ และจากไปอย่างกะทันหันในวัย 42 ปีด้วยโรคหอบหืด

โรงแรมหยิบความทรงจำตรงนี้มาเล่าผ่านห้อง 1502 ที่ถูกเก็บไว้เป็นพิพิธภัณฑ์เล็กๆ โดยเป็นส่วนเดียวของอิมพีเรียลแม่ปิงที่ไม่ได้ถูกดัดแปลงเลย นอกจากจะได้ชมสถาปัตยกรรมภายในของห้องเฟอร์นิเจอร์ไม้ๆ แบบยุค 90 แล้ว ทางโรงแรมยังมีทัวร์เดินชมห้องนักร้องสาวระดับตำนาน พร้อมเปิดเพลงของเธอคลอไปด้วย

InterContinental Chiang Mai The Mae Ping

ส่วนตัวขอยืนยันว่าห้องนี้เป็น “a must” ของโรงแรมจริงๆ หลายคนที่ได้เห็นต่างพูดเป็นเสียงเดียวกัน ด้วยคำบรรยายสั้นๆ แต่ครอบคลุมถึงห้องนี้ว่า “สวย!” ความละเมียดละไมในการตกแต่ง และช่อดอกลิลลี่ที่วางอยู่ตามจุดต่างๆ สะท้อนตัวตนที่อ่อนหวานแต่ก็เป็นเอกลักษณ์ของเจ้าของห้อง จนอดไม่ได้ที่จะแชะภาพไปฝากแฟนตัวยงอย่างอากงอาม่าที่เปิดเพลงของเติ้ง ลี่จวินให้เราฟังตั้งแต่เด็กๆ งานนี้ใครเป็นแฟนเพลงแวะมาเดินชมให้หายคิดถึงกันได้เลย

InterContinental Chiang Mai The Mae Ping

Locally Sourced

แม้จะเป็นโรงแรมในเครือใหญ่ที่ร่วมมือกับบริษัทด้านงานบริการระดับโลกอย่าง IHG InterContinental Chiang Mai The Mae Ping ก็ยังไม่ลืมความเป็นเชียงใหม่ และพยายามจะเชื่อมโยงกับรากเหง้าให้ได้มากที่สุด ปีเตอร์เล่าว่า “เราสนับสนุนชุมชนท้องถิ่น 90% ของผักและผลไม้ในโรงแรมมาจากที่นี่ทั้งหมด ชาในห้องของคุณก็ใช่”

ชาที่พูดถึงก็คือชา Monsoon ซึ่งเป็นใบชาป่าที่ชาวบ้านเก็บมาขายเอง ด้วยความที่ไม่ได้ปลูกแบบฟาร์ม ทำให้รสชาติอาจจะไม่เหมือนชาตามมาตรฐานทั่วไป แต่บอกได้เลยว่าพิเศษกว่า “มีลูกค้ามาถามหาชา Earl Grey ธรรมดา เราก็บอกไปตามตรงว่าไม่มี เรายึดมั่นในจุดนี้

InterContinental Chiang Mai The Mae Ping

ของใช้ในห้องน้ำก็เช่นกัน โดยปกติแล้ว โรงแรมในเครือ InterContinental จะใช้ผลิตภัณฑ์ของ Byredo ซึ่งเป็นแบรนด์หรูจากสวีเดน แต่เราทำต่างออกไป เราทำเรื่องแบบยุ่งยากมากๆ เพื่อขอใช้ผลิตภัณฑ์ไทย แล้วก็ได้แบรนด์ Erb มาร่วมงานและสร้างกลิ่นซิกเนเจอร์ให้ผลิตภัณฑ์เรา โดยของที่เอามาสกัดกลิ่นและก็หาได้จากในเชียงใหม่นี่แหละ แถมแพ็กเกจจิงก็ผลิตในไทย มันทั้งโลคัลแล้วก็ลดคาร์บอนฟุตปรินต์ ในการขนส่ง”

ปีเตอร์อธิบายเพิ่มเติมอีกว่าเขาพยายามจะเอาแนวคิดนี้มาใช้กับทุกๆ อย่างในโรงแรม อย่างอาหารก็พยายามจะทำวากิวแบบไทย และคาเวียร์แบบไทย ซึ่งก็อยู่ในช่วงทดลองกันอยู่ และในส่วนของกาแฟก็เป็นแบรนด์ไทยเช่นกัน

InterContinental Chiang Mai The Mae Ping

ใครอยากมาสัมผัสความ “Locally Sourced” นี้ ในโรงแรมก็มีให้เลือกช้อปเลือกชิมอยู่หลายจุด โดยจะมีห้องอาหารอยู่หลักๆ 2 แห่ง เลานจ์ 1 แห่ง และบาร์อีก 1 แห่ง แต่ละที่คงคอนเซปต์ความเป็น Living Museum

โดยเริ่มที่ KAM หรือ ‘คำ’ Lobby Lounge เลานจ์ธีมเทศกาลยี่เป็ง หรือพูดง่ายๆ ก็คือเทศกาลลอยกระทงของชาวล้านนาที่จะมีการลอยโคมขึ้นฟ้าและล่องสะเปาลงแม่น้ำ เอเลเมนต์เหล่านี้ถูกนำมาใช้ตกแต่งในร้าน จะเห็นได้จากโคมไฟรูปทรงโคมลอย และภาพวาดบนฝาหนังที่บอกเล่าเรื่องราวของประเพณีนี้ ใครอยากมาพบปะพูดคุย นั่งจิบ Afternoon Tea ชิลล์ๆ ก็สามารถทำได้ที่นี่ และถ้ามาช่วงนี้จะพิเศษสุดๆ เพราะทางโรงแรมมีเซ็ตขนมผลไม้ตามฤดูกาลอย่าง ‘ทุเรียน’ ให้ได้รับประทานพร้อมชากันแบบเต็มอิ่ม

InterContinental Chiang Mai The Mae Ping

InterContinental Chiang Mai The Mae Ping

และห้องอาหารที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เลยก็คือ ‘The Gad Lanna’ ห้องอาหารแบบ All-Day Dining ตั้งแต่บุฟเฟ่ต์อาหารเช้าไปจนถึงอาหารค่ำสไตล์ฟิวชัน ที่ตกแต่งในธีมของ ‘กาด’ หรือตลาดนั่นเอง

The Gad Lanna เป็นห้องที่มีแสงสว่างส่องทั่วถึง ราวกับว่าเรามาจับจ่ายใช้สอยกันอยู่กลางแจ้ง มองออกไปจากห้องอาหารจะเห็นองค์เจดีย์พอดีเป๊ะ แถมโซนอาหารก็ตั้งเป็นสเตชั่นคล้ายเวลาเราไปเลือกซื้ออาหารที่ตลาดจริงๆ บนเพดานก็มีดีเทลเล็กๆ อย่างผ้าผืนเบาบางห้อยระย้า ที่สะท้อนยุคที่ต่างชาติหอบผ้าหอบผ่อนกันมาขายในเมืองเชียงใหม่

InterContinental Chiang Mai The Mae Ping

โซนของห้องอาหารนี้ทอดยาวไปจนถึงลานสนามหญ้า ซึ่งเป็นที่จัดกิจกรรมของโรงแรม ปีเตอร์แอบกระซิบมาว่า ถ้าอยากดินเนอร์ขันโตก โดยมีพื้นหลังเป็นเจดีย์เก่าแก่ก็สามารถทำได้ แค่จองเข้ามา เดี๋ยวสตาฟโรงแรมจะจัดการให้!

InterContinental Chiang Mai The Mae Ping

InterContinental Chiang Mai The Mae Ping

สุดท้าย ใครอยากชมพระอาทิตย์ตกสวยๆ บอกเลยว่าห้องอาหารนี้เหมาะที่สุดแล้ว ‘Hong Chinese Restaurant & Sky Bar’ คือร้านอาหารและบาร์วิวดอยสุเทพกลิ่นอายจีน ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก เติ้ง ลี่จวิน อีกที ที่นี่ไม่ใช่ร้านอาหารจีนธรรมดาๆ เพราะแต่ละเมนูคัดสรรโดยเชฟรุ่นใหม่ ที่อยากสร้างความวาไรตี้ให้กับอาหารจีน โดยการนำอาหารจีนสไตล์เสฉวน กวางตุ้ง และไต้หวันมาผสมผสานเข้าด้วยกัน

จานที่ปีเตอร์ภูมิใจนำเสนอมาก ได้แก่ ‘Traditional Peking Duck’ หรือเป็ดปักกิ่งสไตล์จีนกวางตุ้ง ที่เนื้อจะฉ่ำกว่าเป็ดปักกิ่งที่หลายๆ คนเคยรับประทานตามร้านอาหารจีนทั่วไป แถมยังมีพนักงานมาบริการหั่นเรียงใส่จานให้ถึงโต๊ะ เราได้ชิมแล้ว บอกเลยว่าฉ่ำสมคำร่ำลือจนอยากกลับมาซ้ำ ย้ำว่าจานนี้ต้องจองล่วงหน้าอย่างน้อย 1 วันด้วยนะ ถึงจะได้กิน เพราะทางเชฟต้องเลือกวัตถุดิบที่ดีที่สุดมาเพื่อรับประกันความหวานและฉ่ำของเนื้อเป็ด

InterContinental Chiang Mai The Mae Ping

InterContinental Chiang Mai The Mae Ping

InterContinental Chiang Mai The Mae Ping

นอกจากนี้ ยังมีจานเด็ดที่เชฟไม่อยากให้พลาดอย่างเมนูหมูสามชั้นละลายในปาก ‘Braised Pork Belly’ เป็นจานที่เราแทบจะร้อง “ว้าว!” ออกมาตอนได้เห็น เพราะเป็นครั้งแรกที่เห็นหมูสามชั้นเนื้อเด้งแวววาววางเรียงต่อกันเป็นทาวเวอร์แบบนี้ รับประทานคู่กับเมนูอาหารจีนคลาสสิกที่หาได้ทุกที่ แต่ก็ยังจะขอสั่งทุกครั้งที่เจออย่าง ‘Seafood Fried Rice’ ที่เพิ่มความจัดจ้านด้วยการนำมาผัดกับซอสเอ็กซ์โอ

InterContinental Chiang Mai The Mae Ping

ปิดท้ายด้วยเมนูของหวานจากผลไม้บ้านเรา ‘Chilled Mango Sago Cream’ มะม่วงเนื้อสมูตตี้รับประทานคู่กับสาคูและส้มโอ ช่วยเรียกความสดชื่นและคลายความ “ ถึง” ของรสชาติเครื่องปรุงแบบจีนในปากได้ดี

InterContinental Chiang Mai The Mae Ping

The Right People

ใกล้จะถึงเวลาที่ต้องลากันไป เราถามปีเตอร์ว่า “นอกจากคอนเซปต์แล้วคิดว่าอะไรที่ทำให้ Intercontinental Chiang Mai The Mae Ping แตกต่างไปจากโรงแรมอื่นๆ ในเชียงใหม่”

คำตอบที่ได้กลับมาเรียบง่ายแต่จริงใจ “The People”

แม้โรงแรมนี้จะมีอายุไม่ถึงปี แต่พนักงานกว่าครึ่งทำงานที่นี่มาเป็นเวลาหลายปีแล้ว บางคนทำมาเป็นสิบๆ ปีเลยด้วยซ้ำ เพราะพนักงานส่วนใหญ่มาจากอิมพีเรียลแม่ปิงนั่นเอง

InterContinental Chiang Mai The Mae Ping

สิ่งที่ติดตัวมากับสตาฟเหล่านี้ไม่ใช่แค่เพียงตำนานและประวัติศาสตร์ แต่คือหัวใจของงานบริการและความเป็นครอบครัว ซึ่งทำให้ปีเตอร์รู้สึกโชคดีมากๆ ที่ได้ทำงานกับทีมที่แน่นแฟ้นขนาดนี้ในโรงแรมที่เพิ่งเปิดใหม่แท้ๆ เขายังเสริมอีกว่า “คนที่นี่รู้สึกว่าโรงแรมนี้คือบ้านของเขา เพราะฉะนั้น พอแขกมา พวกเขารู้สึกเหมือนกำลังต้อนรับแขกเข้าบ้านของเขาเอง” เลยทำให้บรรยากาศในการทำงานเป็นไปด้วยความเป็นกันเองและกระตือรือร้น

InterContinental Chiang Mai The Mae Ping

ไม่นับว่าพนักงานส่วนใหญ่เป็นคนเชียงใหม่หรือคนจากภาคเหนืออีก ทำให้ความตั้งใจของโรงแรมที่จะเชื่อมแขกที่มาพักเข้ากับความรู้ท้องถิ่นเป็นไปได้ง่ายขึ้น อยากลองรับประทานอาหารใหม่ๆ หรือหากิจกรรมสนุกๆ ทำ ก็แค่เดินไปถามพนักงานสักคนในโรงแรม รับรองว่าจะต้องกลับมาพร้อมลิสต์ที่ยาวเป็นหางว่าวแน่นอน

InterContinental Chiang Mai The Mae Ping

“ปัจจุบันมีแขกกลับมาพักซ้ำมากมาย บางคนก็มาเป็นครั้งที่ 3 แล้ว! เป็นเรื่องที่ทำให้แปลกใจมากๆ เพราะโรงแรมก็เพิ่งเปิดได้ไม่นาน จะพูดว่าโรงแรมนี้ดีแค่ไหนคงยาก แต่การที่มีคนกลับมาพักซ้ำเรื่อยๆ ผมว่ามันบอกอะไรบางอย่างนะ” ปีเตอร์ปิดท้ายพร้อมยิ้มด้วยความภูมิใจ

InterContinental Chiang Mai The Mae Ping
Map: https://maps.app.goo.gl/CCWTuhLRZpbvi8kFA
Tel: 052 090 998
Website: https://chiangmai.intercontinental.com

Tags: