- พาสำรวจทุกแง่มุมของวัฒนธรรมการแต่งตัวที่เรียกว่า “โลลิตา” ซึ่งเป็นแฟชั่นย้อนยุคผสมความน่ารักแบบญี่ปุ่น สู่วัฒนธรรมสะท้อนตัวตนและความงามที่ไร้กาลเวลา
คุณเคยเห็นภาพของผู้หญิงแต่งตัวด้วยชุดเดรสย้อนยุคจากอังกฤษ แต่กลับให้ความรู้สึกแสนน่ารักแบบคาวาอิสไตล์ญี่ปุ่น ผ่านตาบ้างหรือไม่? หลายคนอาจคิดว่า นี่คือการแต่งตัวคอสเพลย์ แต่ในความจริงแล้ว นั่นคือหนึ่งในวัฒนธรรมแฟชั่นที่โดดเด่นที่สุดรูปแบบหนึ่งของโลก
เรากำลังพูดถึงแฟชั่น “โลลิตา” ที่ผสมผสานเครื่องแต่งกายจากโลกตะวันตกมาผนวกกับสไตล์ของญี่ปุ่น จนกลายเป็นแฟชั่นที่มีสีสันจนโด่งดังและได้รับความนิยมไปทั่วโลก ที่พัฒนาเติบโตจนกลายเป็นวัฒนธรรมที่ไปไกลกว่าแค่เรื่องราวของเครื่องแต่งกาย แต่เป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของผู้คนไปแล้ว
เช่นกันกับในไทยที่เมื่อวันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายนที่ผ่านมาได้มีการจัดงาน Dollita 2024 (Doll Exhibition and Fairy Tale Fashion Show) งานรวมตัวของคนรักวัฒนธรรมโลลิตาในบ้านเรา ซึ่งมีการแต่งตัวแฟชั่นโลลิตา แบ่งปันสิ่งของที่ชาวโลลิตาชื่นชอบ ไปจนถึงพบปะพูดคุยเพื่อแบ่งปันความชื่นชอบซึ่งกันและกัน แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของโลลิตาที่อยู่ทั่วทุกมุมโลก
ONCE ขอพาทุกคนมารู้จักแฟชั่นโลลิตาที่ไปไกลจนกลายเป็นวัฒนธรรมอันแข็งแกร่ง ให้เข้าใจถึงต้นตอที่มา และสิ่งที่ทำให้แฟชั่นรูปแบบนี้ไปไกลจนกลายเป็นวัฒนธรรมเฉพาะกลุ่มที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก
แฟชั่นโลลิตาแต่งตัวแบบไหน?
อธิบายให้เข้าใจแบบภาษาง่ายๆ แฟชั่นโลลิตาคือการแต่งตัวเหมือนกับคนชนชั้นสูงในประเทศอังกฤษ ในช่วงยุคศตวรรษที่ 18 กับศิลปะยุคโรโคโค จนถึงศตวรรษที่ 19 กับศิลปะยุควิคตอเรียน
แต่งตัวให้เหมือนในที่นี้คือไม่ใช่แค่การหยิบแรงบันดาลใจจากอดีตมาผสมผสานกับแฟชั่นยุคใหม่ แต่เป็นการกลับไปแต่งตัวให้เหมือนกับคนยุคนั้นจริงๆ ทั้งเสื้อผ้า หน้าผม เครื่องประดับ เครื่องใช้ต่างๆ หรือแม้กระทั่งการแสดงออกทางกิริยามารยาท
สิ่งที่แตกต่างออกไปในแฟชั่นโลลิตา กับแฟชั่นในอดีตจริงๆของประเทศอังกฤษ คือการดึงอิทธิพลของความน่ารักสไตล์ญี่ปุ่น หรือวัฒนธรรมคาวาอิ (Kawaii culture) เข้ามาผสมผสานในวัฒนธรรมโลลิตาด้วย เนื่องจากว่าสไตล์โลลิตาเริ่มต้นในประเทศญี่ปุ่น
เข้าใจได้ง่ายๆว่า แฟชั่นโลลิตาคือการแต่งตัวในสไตล์ของยุโรปสาวอังกฤษยุคโบราณที่ผสมผสานความน่ารักอันฉูดฉาดของประเทศญี่ปุ่นลงไปอย่างลงตัว เพื่อแสดงออกถึงความสวยงาม หรูหรา และน่ารักแบบฉบับญี่ปุ่นไปพร้อมกัน จนกลายเป็นวัฒนธรรมที่โดดเด่นขึ้นมาแบบที่เราคุ้นตากันดี
ปัจจุบันเอกลักษณ์ที่เราสรุปได้ง่ายกับสไตล์การแต่งตัวแบบโลลิตา คือ แฟชั่นที่มาพร้อมกับเสื้อและกระโปรง หรือชุดเดรสแบบ Jumper skirt ซึ่งจะให้ความสำคัญในส่วนของกระโปรงที่มักเป็นรูปแบบของกระโปรงสุ่ม (Petticoat) หรือกระโปรงคริโนลีน (Crinoline) ซึ่งเป็นกระโปรงสไตล์ย้อนยุคของยุโรป โดยเฉพาะกระโปรงแบบคริโนลีนถือเป็นกระโปรงที่ได้รับความนิยมมากในยุควิคตอเรียน
นอกจากชุดซึ่งเป็นส่วนสำคัญของแฟชั่นโลลิตา … การแต่งหน้า และทรงผมก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน โดยองค์ประกอบของเครื่องแต่งกายจะเน้นไปที่การใส่วิกผม เพื่อให้มีทรงผมความโดดเด่นให้เข้ากับชุดที่สวมใส่ รวมถึงมักจะประดับด้วยโบว์ขนาดใหญ่ หรือหมวกสไตล์ Poke bonnet จากยุควิคตอเรียน เพิ่มความน่ารักเข้าไปมากกว่าเดิม
นอกจากนี้ แฟชั่นโลลิตาจะใส่ถุงเท้าสูงระดับเข่า ถุงเท้าสั้น หรือถุงน่อง รวมถึงรองเท้าส้นสูงหรือรองเท้าพื้นราบที่มีโบว์ประดับ เพื่อเสริมสไตล์การแต่งตัวให้มีความโดดเด่นมากกว่าเดิม
เนื่องจากแฟชั่นโลลิตาเน้นสไตล์การแต่งตัวที่โดดเด่น ฉูดฉาด ผสมกับความสวยงาม หรูหราในแบบย้อนยุค และน่ารัก ทำให้แฟชั่นโลลิตามักถูกมองว่าเป็นการแต่งตัวแบบตุ๊กตา จนทำให้บางครั้งหลายคนก็เข้าใจผิดว่าแฟชั่นโลลิตาเป็นการแต่งตัวคอสเพลย์ แทนที่จะเป็นการแต่งตัวตามวัฒนธรรมของตนเอง
จุดเริ่มต้นวัฒนธรรมโลลิตา
จุดเริ่มต้นที่แท้จริงของวัฒนธรรมโลลิตาไม่มีข้อมูลบันทึกไว้ว่าเริ่มต้นตอนไหน? แต่เชื่อกันว่ารากฐานของวัฒนธรรมนี้มีจุดกำเนิดเริ่มมาจากคนกลุ่มหนึ่งในประเทศญี่ปุ่นที่หลงไหลในความงดงาม และศิลปะของยุโรปตะวันตกในช่วงศตวรรษที่ 18-19
จนกระทั่งปลายยุค 1970s เกิดกระแสการแต่งตัวในประเทศญี่ปุ่นที่เรียกว่า Otome-kei ซึ่งเป็นสไตล์การแต่งตัวในสไตล์น่ารักเรียบง่ายของผู้หญิง กับชุดกระโปรงที่ดูเรียบร้อย พร้อมกับสื่ออารมณ์ที่อ่อนหวานและโรแมนติกออกมา
บวกกับผู้หญิงญี่ปุ่นในยุค 70s อยู่ในกระแสที่ชื่นชอบอะไรที่ “น่ารัก” และแสดงความเป็น “หญิงสาว” ออกมา ทำให้เกิดการพัฒนาสไตล์ใหม่ๆของแฟชั่นในประเทศญี่ปุ่น จนเริ่มเกิดเป็นวัฒนธรรมการแต่งตัวแบบโลลิตาขึ้นมา
สำหรับแฟชั่นโลลิตาผู้ศึกษาด้านวัฒนธรรมแฟชั่นมองว่าเป็นการต่อยอดจากสิ่งที่คนญี่ปุ่นชื่นชอบ ไม่ว่าจะเป็นความหลงไหลในสไตล์แฟชั่นย้อนยุคของชาวตะวันตก, การก่อกำเนิดของแฟชั่น Otome-kei ไปจนถึงอิทธิพลของวัฒนธรรมคาวาอิ เข้ามาผสมผสานกัน เพียงแต่ว่าแฟชั่นโลลิตาคือแฟชั่นที่ไปสุดทาง ไม่มีการประณีประนอมกับค่านิยมในสังคมแต่อย่างใด
อันที่จริง วัฒนธรรมโลลิตาก็ไม่ได้เริ่มต้นจากผู้คนเพียงอย่างเดียว แต่แบรนด์แฟชั่นก็มีส่วนอย่างมากในการสร้างตัวตนให้กับแฟชั่นสไตล์นี้จนเป็นที่นิยม
แบรนด์แฟชั่นในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น อย่าง Milk หรือ Pink House ได้เริ่มต้นขายสินค้าที่แสดงออกถึงสไตล์น่ารักของหญิงสาวที่บริสุทธิ์ ไม่ว่าจะเป็นสไตล์ของผ้าจีบ หรือผ้าลูกไม้ที่ประดับด้วยโบว์ขนาดใหญ่ จนเริ่มเป็นการสร้างตัวตนให้กับแฟชั่นสไตล์นี้
หลังจากนั้นในยุค 80s แบรนด์แฟชั่นอย่าง Baby, The Stars Shine Bright และ Angelic Pretty จึงได้เริ่มเจาะตลาดด้วยการผลิตสินค้าในสไตล์โลลิตาอย่างจริงจัง ซึ่งยิ่งทำให้ความนิยมในแฟชั่นสไตล์นี้แพร่หลายมากขึ้นกว่าเดิม และจนถึงทุกวันนี้ทั้งสองแบรนด์ก็ยังถือว่าเป็นแบรนด์ชั้นนำของแฟชั่นโลลิตา
นอกจากนี้สื่อแมกกาซีนในประเทศญี่ปุ่น อย่าง FRUiTS, Gothic & Lolita Bible และ KERA ก็ถือว่ามีส่วนสำคัญในการสร้างภาพจำของแฟชั่นโลลิตาให้เป็นที่คุ้นตา รวมถึงก่อกำเนิดแฟชั่นที่หลากหลายซึ่งในทุกวันนี้ เหล่าแมกกาซีนจากญี่ปุ่นถูกมองว่ากลุ่มคนที่ทำให้ความงามแบบแฟชั่นโลลิตาเป็นที่รู้จักกว้างขวางมากกว่าประเทศญี่ปุ่น และถือเป็นกลุ่มคนกลุ่มแรกที่ทำให้วัฒนธรรมโลลิตาแผ่ขยายอิทธิพลไปทั่วโลก
ขอเป็นตัวเองในแบบที่อยากเป็น
สำหรับใครหลายคนแฟชั่นโลลิตาอาจจะดูสุดโต่งไปสักหน่อย อย่างไรก็ตามเรื่องนี้มีที่มาที่ไปว่าทำไมวัฒนธรรมโลลิตาถึงต้องแต่งตัวกันแบบจัดเต็มไม่สนใจใคร ซึ่งสะท้อนตัวตนอันชัดเจนของวัฒนธรรมนี้ออกมาได้เป็นอย่างดี
นั่นเป็นเพราะว่า ย้อนไปในยุค 70s สังคมญี่ปุ่นเต็มไปด้วยข้อระเบียบบังคับ ซึ่งได้รับอิทธิพลจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจของญี่ปุ่นที่เติบโตอย่างรวดเร็ว
ทำให้ผู้หญิงในยุคนั้นนิยมแต่งตัวในแบบที่ดูเป็นผู้ใหญ่และเป็นทางการ เพราะถูกคาดหวังให้มีบทบาทที่สุภาพและสง่างามในสังคม โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในที่ทำงานหรือในที่สาธารณะ รวมถึงสะท้อนถึงการแสดงออกถึงความมีวินัย และความเคารพต่อกฎเกณฑ์ทางสังคม ซึ่งเป็นคุณค่าที่สังคมญี่ปุ่นยึดถือ
อย่างไรก็ตามกรอบทางสังคมด้านการแต่งตัว ก็มาพร้อมกับความกดดันในแบบฉบับของญี่ปุ่น สุดท้ายจึงมีคนจำนวนหนึ่งที่มอบว่าสังคมกำลังตีกรอบการแต่งตัวซึ่งเป็นสิทธิส่วนบุคคล ที่กำลังบีบบังคับให้ผู้หญิงญี่ปุ่นต้องแต่งตัวสุภาพเรียบร้อยตลอดเวลา และหากไม่ทำตามก็จะถูกมองว่าเป็นคนที่ไม่พัฒนาไปตามสังคมญี่ปุ่นที่เปลี่ยนไป
ความไปสุดของแฟชั่นโลลิตาจึงเขามาตอบโจทย์ผู้หญิงกลุ่มหนึ่ง โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ที่เบื่อแรงกดดันและข้อบังคับการแต่งตัวของสังคม และวัฒนธรรมโลลิตาก็เป็นหนทางที่ดีที่จะทำลายกรอบด้านแฟชั่นที่ญี่ปุ่นสร้างขึ้นมา เพราะในการแต่งตัวผ่านสไตล์โลลิตาทุกคนสามารถแสดงความชอบของตัวเองออกมาได้อย่างเต็มที่
นอกจากนี้วัฒนธรรมโลลิตาจะไม่วิ่งตามกระแสสังคมไม่ว่าจะในยุคสมัยไหน แต่ให้ความสำคัญกับความชื่นชอบของตัวบุคคลที่จะต้องสร้างสรรค์ความงดงามในแบบฉบับของตัวเองขึ้นมา ที่นอกจากจะต้องสะท้อนตัวตนให้สมกับเป็นผู้ที่หลงไหลในแฟชั่นโลลิตา ยังต้องแสดงความเป็นตัวของตัวเองออกมาให้ได้มากที่สุด
รวมถึงในความเป็นจริง แฟชั่นโลลิตาก็ได้รับแรงบันดาลใจจากความคิดแฟนตาซี ไม่ว่าจะมาจากสื่อในรูปแบบต่างๆ หรือจินตนาการของผู้คนที่ชื่นชอบในวัฒนธรรม ซึ่งในแง่หนึ่งก็ช่วยสร้างความรู้สึกให้ผู้คนได้หลุดจากกฎระเบียบในโลกของความเป็นจริง และได้เป็นตัวของตัวเองตราบแต่ใจปรารถนาตามจินตนาการของตัวเอง
ซึ่งจุดนี้ได้ช่วยสร้างวัฒนธรรมโลลิตาที่แข็งแกร่งขึ้นมา ไม่ใช่เพียงแค่การแต่งตัวเพื่อความสวยงาม แต่ยังมีกิจกรรมต่างๆในสังคมโลลิตา ไม่ว่าจะเป็น การจัดปาร์ตีน้ำชา, การจัดงานเพื่อเฉลิมฉลองแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ ซึ่งในภาพหลังวัฒนธรรมที่แข็งแกร่งขึ้น ก็ช่วยให้ความเป็นโลลิตาแผ่ขยายสู่กิจกรรมรูปแบบอื่น ทั้งอาหาร, เครื่องดื่ม, ดนตรี, หนังสือ, การตกแต่งบ้าน, วิธีการพูด, มารยาทในสังคม, สิ่งของสะสม และอีกมากมาย เท่าที่วัฒนธรรมโลลิตาจะเข้าไปมีบทบาทได้
โลลิตากับตุ๊กตา ความสวยงามที่ขาดกันไม่ได้
จากงาน Dollita 2024 (Doll Exhibition and Fairy Tale Fashion Show) ที่ทีมงานของ Once ได้ไปร่วมชมถึงคอมมูนิตี้น่ารักของชาวโลลิตาในประเทศไทย ก็ได้เห็นว่าตุ๊กตาคือหนึ่งในส่วนสำคัญของคนที่หลงไหลในวัฒนธรรมนี้
หากมองถึงวัฒนธรรมโลลิตาเปรียบเทียบกับตัวตนของตุ๊กตา เราเห็นความเหมือนกันของทั้งสองได้เป็นอย่างดี แถมมีรากเหง้าย้อนไปถึงยุควิคตอเรียนเลยนะ
ย้อนไปในยุควิคตอเรียน มีตุ๊กตาสไตล์ BJD (Ball Jointed Dolls) เกิดเป็นที่นิยมขึ้นมา ซึ่งรูปลักษณ์ของตุ๊กตาแบบ BJD ก็มีความน่ารักเชื่อมโยงกับสไตล์ของโลลิตาได้เป็นอย่างดี เพราะตุ๊กตา BJD มีลักษณะเป็นตุ๊กตาจำลองที่คล้ายกับมนุษย์จริงๆ อย่างมาก พร้อมกับดวงตาโตที่ดูโดดเด่น และตุ๊กตาประเภทนี้ในยุควิคตอเรียนก็จะแต่งตัวด้วยชุดสไตล์วิคตอเรียน เหมือนกับคนในยุคนั้นจริงๆด้วย
เนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งของยุควิคตอเรียนที่มีอิทธิพลกับแฟชั่นโลลิตา ทำให้ตุ๊กตา BJD จึงเป็นที่ชื่นชอบของชาวโลลิตาไปด้วย และอย่างที่บอกว่าตุ๊กตา BJD จากยุควิคตอเรียน ก็แต่งตัวเหมือนกับชาววิคตอเรียนในยุคนั้น ทำให้ตุ๊กตาก็สามารถเป็นภาพสะท้อนของชาวโลลิตาได้เช่นกัน เหมือนชาววิคตอเรียนในยุคนั้น
สำหรับชาวโลลิตาหลายคนเห็นว่าตุ๊กตาคือสิ่งที่สะท้อนความโดดเด่น และสวยงามของวัฒนธรรมโลลิตาได้เป็นอย่างดี ทั้งเครื่องแต่งกายในรูปแบบเดียวกันที่มีรูปลักษณ์อ่อนหวานและประณีต ไม่ต่างอะไรกับเสื้อผ้าแฟชั่นของคนปกติ
รวมถึงภาพลักษณ์ของตุ๊กตาที่แสดงถึงความน่ารักไร้เดียงสาออกมาได้เป็นอย่างดี ด้วยชุดแต่งที่แสนน่ารัก ทรงผมแสนสวย และพอยต์สำคัญสุดคือดวงตาโตใหญ่ อันเป็นเอกลักษณ์
ชาวโลลิตาจำนวนไม่น้อยสะสมตุ๊กตาสไตล์ BJD เนื่องจาก สุนทรียศาสตร์(Aesthetics) ของทั้งสองอย่างเหมือนกันจนเรียกได้ว่าสามารถกลมกลืมมารวมอยู่ในวัฒนธรรมเดียวกันได้แบบสบายๆ
เพราะตุ๊กตา BJD ก็สามารถปรับเปลี่ยนสไตล์การแต่งตัวในแบบต่างๆ ที่สะท้อนตัวตนของเจ้าของตุ๊กตาได้เหมือนกับแฟชั่นการแต่งตัวแบบโลลิตา จนกลายเป็นภาพปกติที่เราจะเห็นชาวโลลิตาแต่งตัวเหมือนกับตุ๊กตาของพวกเธอ ซึ่งในกลุ่มคนที่ศึกษาวัฒนธรรมโลลิตาจริงจัง ก็เห็นว่าตุ๊กตา BJD เป็นส่วนหนึ่งกับวัฒนธรรมนี้แบบแยกไม่ออกไปแล้ว
นอกจากนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่า จุดเริ่มต้นของสไตล์คาวาอิที่มีส่วนผสมในแฟชั่นโลลิตาก็ได้รับแรงบันดาลใจมาจากตุ๊กตาน่ารักๆต่างๆนี่แหละ โดยเฉพาะในช่วงที่แฟชั่นโลลิตาเริ่มเป็นที่รู้จักในประเทศญี่ปุ่น แบรนด์เสื้อผ้าสายนี้ อย่าง Angelic Pretty หรือ Baby, The Stars Shine Bright ก็ออกแบบเสื้อผ้าโลลิตาด้วยการดึงจุดเด่นจากเสื้อผ้าของตุ๊กตาเข้ามาใช้ ทั้งลวดลายไปจนถึงสไตล์การตัดเย็บ
สรุป ตุ๊กตาและวัฒนธรรมโลลิตามีความเกี่ยวข้องกันทั้งในแง่ของแรงบันดาลใจ ตัวตนของความสวยงามที่สะท้อนออกมาในรูปแบบใกล้เคียงกัน ทำให้โลลิตาและตุ๊กตาเป็นสิ่งที่คู่กันอย่างลงตัว และช่วยเสริมภาพลักษณ์ของวัฒนธรรมแฟชั่นนี้ให้ดูโดดเด่น และพิเศษมากขึ้นไปอีก
ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับวัฒนธรรมโลลิตา
เหมือนที่เราได้เขียนไปแล้วว่า คนส่วนใหญ่เห็นแฟชั่นโลลิตากลายเป็นการแต่งตัวแบบคอสเพลย์ไปแล้ว ซึ่งนี่กลายเป็นปัญหาใหญ่ที่วัฒนธรรมนี้ต้องเผชิญอยู่
ความแตกต่างสำคัญระหว่าง การแต่งตัวแบบคอสเพลย์ กับ วัฒนธรรมโลลิตา คือในขณะที่การแต่งตัวแบบคอสเพลย์จะเป็นการแต่งตัวเพื่อเลียนแบบคาแรคเตอร์หรือตัวละครต่างๆให้เหมือนที่สุด แต่แฟชั่นโลลิตาจะต้องแต่งตัวเพื่อสะท้อนความชอบของบุคคลที่มีต่อวัฒนธรรมนี้ออกมา
นอกจากนี้การแต่งตัวแบบคอสเพลย์ยังไม่มีข้อจำกัดอะไรมากนัก ตรงกันข้ามกับแฟชั่นโลลิตาที่เครื่องแต่งกายจะมีข้อจำกัดที่ต้องเป็นสไตล์ย้อนยุค หรือตัวตนของวัฒนธรรมโลลิตาที่ชัดเจนอยู่ในนั้น
อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้แฟชั่นแบบโลลิตาก็เข้าไปมีบทบาทใน pop culture ต่างๆ ทั้งมังงะ, อนิเมะ, ภาพยนตร์และอีกมากมาย ทำให้วัฒนธรรมโลลิตาบางแขนงก็รับอิทธิพลของตัวละครมาดัดแปลงเป็นแฟชั่น เช่นกันกับคนแต่งคอสเพลย์ที่หลายคนก็แต่งตัวในสไตล์โลลิตา ตามตัวละครที่แต่ละคนชื่นชอบ
รวมถึงอีกปัญหาหนึ่งคือคนมักเข้าใจผิดว่าวัฒนธรรมโลลิตา มีที่มาจากนวนิยายโลลิตา (Lolita) ของวลาดิเมียร์ นาโบคอฟ (Vladimir Nabokov) ซึ่งบอกเล่าถึงเรื่องราวของชายหนุ่มที่ตกหลุมรักเด็กผู้หญิงอายุ 12 ปี จนก่อให้เกิดปัญหาด้านศีลธรรมตามมา
เนื่องจากชื่อที่เหมือนกันระหว่างนิยายกับวัฒนธรรมโลลิตา ทำให้หลายคนเข้าใจผิดว่าการแฟชั่นโลลิตาคือแฟชั่นที่แต่งตัวให้เป็นเด็กเพื่อยั่วยวนอารมณ์ทางเพศของผู้ชาย แต่ความจริงนั้นตรงกันข้ามนิยายโลลิตาได้เป็นแรงบันดาลใจในการเริ่มต้นรสนิยมแบบโลลิคอน (Lolicon) ซึ่งคำว่าโลลิคอนก็ได้รับแรงบันดาลใจมาจากชื่อนิยายโลลิตา
อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดคือวัฒนธรรมโลลิตาไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับนวนิยายโลลิตา รวมถึงแฟชั่นแบบโลลิตาก็ไม่มีความหมายอะไรที่สื่อไปทางรสนิยมทางเพศอีกด้วย แต่ให้ความสำคัญกับการแสดงตัวตนของผู้สวมใส่มากที่สุด