- มองตัวตนและการเติบโตของ Sundae Kids ตลอดระยะเวลา 10 ปี ผ่านนิทรรศการ “10 Years of Lost and Found”
เราใช้เวลาประมาณหนึ่งเดินชมนิทรรศการ “10 Years of Lost and Found” เพื่อตกตะกอนความคิดและชีวิตไปกับสิ่งที่ Sundae Kids อยากถ่ายทอด ก่อนที่เราจะไปพูดคุยกับพวกเขาถึงตัวตนของ Sundae Kids ในตลอด 10 ปีที่ผ่านมา
รู้ตัวอีกทีก็ 10 ปีเข้าไปแล้วที่เราได้รู้จัก ‘Sundae Kids’ คอมิกลายเส้นสุดน่ารักที่ถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตประจำวันของคู่รัก โดยสอง Illustrator ไทยอย่าง ‘โป๊ยเซียน-ปราชญา มหาเปารยะ’ และ ‘กวิน เทียนวุฒิชัย’
สารภาพก่อนเลยว่า ตอนได้รู้จัก Sundae Kids ในช่วงไม่กี่ปีแรก เราคือหนึ่งในคนที่เคยคิดว่า Sundae Kids ต้องเป็นศิลปินต่างชาติแน่ๆ เพราะภาษาที่ใช้ประกอบคอมิกล้วนเป็นภาษาอังกฤษ แต่ไม่กี่ปีให้หลังมานี้ เราจึงได้ถึงบางอ้อว่า ไม่เป็นเช่นนั้น เพราะ Sundae Kids คอลแล็บกับหลายแบรนด์ และหลายห้างร้านขนาดใหญ่ของไทย รวมถึงได้มีนิทรรศการเป็นของตัวเองที่ประเทศไทย ตั้งแต่ ‘Kid Within’ จนมาถึงนิทรรศการเดี่ยวครั้งล่าสุดอย่าง ‘10 Years of Lost and Found’
เมื่อครบรอบ 10 ขวบของ Sundae Kids ทั้งที เราจึงอยากชวนมามองตัวตนและย้อนดูเส้นทาง 10 ปีของโป๊ยเซียน-กวินกับ Sundae Kids ผ่านบทความนี้กัน
Sundae Not Sunday
จุดเริ่มต้นของ Sundae Kids เริ่มตั้งแต่การพบกันของโป๊ยเซียนและกวินในรั้วจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แม้ Sundae Kids จะเพิ่งครบ 10 ปี แต่การเดินทางของโป๊ยเซียนและกวินยาวนานกว่านั้น
ก่อนหน้านี้มีสิ่งที่ค้างคาใจเราอยู่ตลอด นั่นคือชื่อของ Sundae Kids ที่ทำไมคำว่า Sundae ไม่สะกดด้วยคำว่า Sunday ที่แปลว่าวันอาทิตย์
“เพราะมันมาจากไอศกรีมซันเดย์ (Ice Cream Sundae)” โป๊ยเซียนตอบสบายๆ พร้อมถามเรากลับบ้าง
“ทำไมถึงคิดว่าเป็นวันอาทิตย์ เพราะหลายๆ คนก็คิดว่าเป็น Sunday แบบวันอาทิตย์เหมือนกัน ทำไมหลายคนถึงคิดแบบนั้น”
เราตอบตามคิดที่มองว่า อาจเป็นเพราะศิลปินเกิดวันอาทิตย์ เลยตั้งชื่อนามปากกาว่าซันเดย์คิดส์ หรือเด็กที่เกิดวันอาทิตย์นั่นเอง
โป๊ยเซียนพยักหน้าเข้าใจ ก่อนให้กวินบอกเหตุผลจริงๆ ของการใช้ชื่อ Sundae Kids ที่มาจากไอศกรีมซันเดย์ว่า
“มีคำตอบสั้นกับคำตอบยาว ถ้าคำตอบยาวผมก็เล่าให้ฟังประมาณ 10 นาทีได้เลยนะ”
กวินเริ่มเล่าให้ฟังว่า โป๊ยเซียนตั้งต้นทำคอมิก Sundae Kids ตั้งแต่สมัยเรียนปี 4 ในช่วงที่กำลังทำธีสิสอยู่พอดี กวินเห็นว่าโป๊ยเซียนมีจุดแข็งที่สุดคือการทำงานสไตล์ Illustation เลยแนะนำให้โป๊ยเซียนทำพอร์ตโฟลิโอของตัวเองในด้าน Illustation เอาไว้เสียหน่อย Sundae Kids จึงเริ่มจากความตั้งใจที่อยากลงผลงานในเพจเฟซบุ๊ก เพื่อเก็บเป็นพอร์ตโฟลิโอของโป๊ยเซียนเฉยๆ
“ระหว่างช่วงทำธีสิส ผมมีเพื่อนรุ่นเดียวกันที่ทำธีสิสเกี่ยวกับ Inner Child พอดี ผมสนใจเรื่องนี้เพราะมองว่าความ Inner Child ในตัวผมหายไปโดยสมบูรณ์แล้ว แต่โป๊ยเซียนยังมีความเป็นเด็กในตัวสูง ซึ่งพอดีกับตอนนั้นพวกเรากำลังตั้งชื่อนามปากกากันอยู่ ในหัวของผมมีคำว่า Kid ขึ้นมาพอดีด้วย กลายเป็นว่าผมเลือกคำว่า Kids และเขาเลือกคำว่า Sundae มาใส่พอดีครับ”
แม้คำว่า Sundae จะเป็นคำจากความชอบที่โป๊ยเซียนเลือกมาผสมผสาน แต่คำว่า Sundae ที่สื่อถึงไอศกรีม กลับมีความหมายกับตัวกวินเองอย่างไม่น่าเชื่อเหมือนกัน
ช่วง 3 นาทีท้ายจาก 10 นาทีของกวิน เราจึงได้รู้เรื่องราววัยเด็กของกวินมากขึ้น หลังจากเรียนจบ กวินสัญญากับโป๊ยเซียนว่าจะทำ Sundae Kids ด้วยกัน แต่สถานการณ์ในตอนนั้นเปลี่ยนไปเล็กน้อย เมื่อกวินไปเข้าทำงานประจำในบริษัทที่ตัวเขาเองก็อยากลองทำ ช่วงปีแรกของ Sundae Kids จึงเป็นช่วงที่โป๊ยเซียนลงมือทำคนเดียว เรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากของ Sundae Kids เพราะการทำผลงานของโป๊ยเซียนคือการทำด้วยความชอบล้วนๆ โดยไม่มีรายได้เข้ามาเลยแม้แต่บาทเดียว
“โป๊ยเซียนก็ไม่เคยบ่นเลย ผมที่สัญญาแท้ๆ ว่าจะช่วย แต่กลับไม่ได้ช่วยได้เต็มที่ขนาดนั้น ผมแค่ให้คำปรึกษาเล็กๆ น้อยๆ”
กวินกลับมานั่งคิดทบทวนว่า เขาอยากช่วยโป๊ยเซียนได้มากกว่านั้น ทำให้กวินมองย้อนกลับไปถึงเรื่องราวสมัยยังเป็นเด็ก
“สมัยก่อนผมชอบกินไอติมมาก จนตอนนี้ก็ยังชอบนะ เมื่อก่อนครอบครัวมักพาผมไปกินไอติม Swensen’s ผมชอบอเมริกันทาวเวอร์ที่มีธงอเมริกาปักไว้ด้านบน ผมกินหมดถ้วยตลอด พ่อเลยบอกผมว่า ถ้ายูโตขึ้นยูก็มาเป็นพนักงานที่ร้านนี้ ยูจะได้กินไอติมฟรีแบบไม่อั้นทุกวัน”
เราและโป๊ยเซียนที่นั่งฟังอยู่ถึงกับหัวเราะออกมาด้วยความเอ็นดู เพราะทุกคนก็คงเคยมีประสบการณ์ที่โดนผู้ใหญ่หลอกล่อแบบนี้อยู่บ่อยๆ เหมือนกัน
“แต่เมื่อโตขึ้นจึงได้รู้ว่า การเป็นพนักงานตักไอติม เขาไม่ได้กินไอติมบุฟเฟต์ฟรีทุกวัน ความฝันที่จะเป็นพนักงานตักไอติมของผมก็ค่อยๆ หายไป จนกระทั่งได้เห็นโป๊ยเซียนกำลังทำในสิ่งที่เขาฝัน ผมที่กำลังทำงานประจำเหมือนผิดสัญญา ผมเปลี่ยนสถานะไปเป็นพ่อในวัยเด็กของผม ผมเลยลาออกจากงานประจำและมาช่วยโป๊ยเซียนทำ Sundae Kids เต็มตัว ฉะนั้นสำหรับผมแล้ว Sundae kids คือเด็กตักไอติม ครับ”
From 1 to 10
กว่าจะเป็นคอมิกแต่ละเรื่อง โป๊ยเซียนทำหน้าที่หยิบยกเรื่องราวน่ารักๆ ที่อยู่ในชีวิตประจำวันของทั้งคู่มาร้อยเรียงและวาดเป็นการ์ตูนหลายช่อง (บ้างก็ทำเป็นแบบการ์ตูน 4 ช่อง) ส่วนหน้าที่การลงสี ยกให้กวิน
“ไม่เชิงว่าผมไม่ชอบการลงสีของโป๊ยเซียน แต่ผมช่วยในจุดที่เขาอาจจะไม่ถนัด เพราะโป๊ยเซียนชอบลงสีแบบซ้ำๆ” กวินให้เหตุผล
“เรามีพาเลตต์สีที่ชอบเป็นของตัวเองตั้งแต่เด็กๆ เลยใช้อยู่แค่นั้น ซึ่งใช้กับทุกงานไม่ได้” โป๊ยเซียนบอก
บ่อยครั้งที่กวินขอให้โป๊ยเซียนแก้วิธีการลงสีเป็นสีอื่น ปัญหาที่ตามมาคือ ความงุนงงว่า โป๊ยเซียนต้องการใช้สีเฉดไหนกันแน่? เพราะความเข้มอ่อนของสีย่อมมีเฉดที่แตกต่างกันไป แต่อุปสรรคตรงนั้นก็หายไป เมื่อกวินลาออกจากงานประจำและมาช่วยโป๊ยเซียนแบบสุดตัว พร้อมกันกับบริษัทเดิมของกวินเองก็เสนองานให้ Sundae Kids มาทำด้วยกัน วิกฤตในช่วงปีตั้งไข่ของทั้งคู่ จึงผ่านพ้นไปได้ด้วยความมุ่งมั่นในความฝันของโป๊ยเซียน และการกลับมาทำตามคำสัญญาของกวิน
ทำงานด้วยกันมา 10 ปีเต็มขนาดนี้ เราเลยสงสัยว่า มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปหรือมีสิ่งไหนที่ยังคงเดิมสำหรับทั้งคู่บ้าง
“ในแง่วิธีทำงานของเราก็คล้ายๆ เดิมนะคะ แต่สิ่งที่ต่างออกไปคือ งานเราในตอนนี้หลากหลายมากขึ้น ขอบเขตงานใหญ่ขึ้น หลายคนไว้ใจให้เราได้ทำในสิ่งที่อยากทำหรืออยากทดลอง เรามีโอกาสได้ลองมากขึ้นจากช่วงแรกๆ เยอะเลย” โป๊ยเซียนอธิบาย
“จากเรื่องเล่าตอนอายุ 20 ไปสู่ตอนอายุ 30 ผมว่ามันซับซ้อนขึ้น เพราะกาลเวลาทำให้พวกเราเรียนรู้มากขึ้น เวลาเล่าเรื่องราวบางอย่าง ก็จะมีความรู้สึกหรืออารมณ์ที่ซับซ้อนขึ้นตามอายุไปครับ”
Sundae Kids ไม่เพียงแค่บันทึกเรื่องราว Inner Child ของทั้งคู่ แต่ยังเป็นงานที่เติบโตไปกับโป๊ยเซียนและกวินในทุกๆ วัน ยิ่งไปกว่านั้นยังพาให้เหล่าแฟนๆ Sundae Kids ได้เติบโตไปกับพวกเขาด้วย
“งานมันโตไปกับเรา เพราะส่วนใหญ่งานที่เราทำมา ก็สะท้อนความชอบในชีวิตช่วงนั้นของเราทั้งสองคนเลย ถ้าโตไปอีก 10 ปีก็คิดว่า เรื่องราวที่เราเล่าก็น่าจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ค่ะ”
ONCE เชื่อว่าคนที่ทำงานเดิมโดยไม่เปลี่ยนแปลงมากว่า 10 ปี ไม่เพียงแค่ต้องมีแพสชันและความรักต่องานเท่านั้น แต่คงต้องมองว่างานนั้นคือส่วนหนึ่งของชีวิต
“ถามว่า Sundae Kids มีความหมายต่อชีวิตเราขนาดไหนยังไงก็ตอบยาก เพราะมันเหมือนเป็นชีวิตเราไปแล้ว เรียกได้ว่าเป็น 1/3 ของชีวิตเรา ไม่ใช่แค่ว่า มีความหมายกับชีวิตยังไง แต่มันคือชีวิตของที่แยกออกจากกันไม่ได้เลย เพราะ Sundae Kids ไม่ใช่แค่อาชีพเฉยๆ แต่คือตัวตน คือการใช้ชีวิตไปแล้วจริงๆ”
“เช่นเดียวกับโป๊ยเซียนนะ 10 ปีคือการเดินทางที่ยาวนาน เป็น 1/3 ของชีวิตผมเหมือนกัน ได้ชมงานนิทรรศการหรือยังครับ? ผมว่าอีกความหมายของ Sundae Kids คือความฝันของโป๊ยเซียน ในทางอ้อมก็เป็นความฝันของผมที่มีต่อโป๊ยเซียนเหมือนกัน”
Yourself or Someone Else
ก่อนจะมานั่งจับเข่าคุยกับทั้งคู่ ONCE ได้เดินดูนิทรรศการ “10 Years of Lost and Found” เรียบร้อยแล้ว และแอบสงสัยถึงบางโซนของนิทรรศการนี้ด้วย
นิทรรศการครั้งแรกของ Sundae Kids เกิดขึ้นเมื่อปี 2016 ในชื่อ “Kid Within” ภาพโปรโมตที่เด่นหราคือ ภาพเด็กสาวถักเปียยืนกินไอศกรีม นิทรรศการนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการบอกเล่าตัวตนของ Sundae Kids ที่มีความเป็น Inner Child ในตัว และในปีนี้เอง “10 Years of Lost and Found” จึงอยากบอกเล่าตัวตนที่โตขึ้น เป็น Sundae Kids ในแบบที่ทั้งคู่ได้ค้นพบบางสิ่ง ได้ทำบางอย่างหล่นหาย และได้รักษาบางอย่างเอาไว้ในหัวใจ
ในนิทรรศการ “10 Years of Lost and Found” แบ่งเป็น 5 ห้องด้วยกัน ตั้งแต่ห้อง Intro, Heart, Found, Lost และ Mail Room
เมื่อคุณเข้าไปในนิทรรศการแล้วจะไม่สามารถเดินย้อนกลับทางเดิมได้ จำลองเส้นทางชีวิตที่คนเราไม่สามารถย้อนไปเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่ตัวเองเลือกได้ ในช่วง Intro ตั้งคำถามกับเรา เพื่อให้ค้นหาสิ่งที่ทำหล่นหาย สิ่งที่อาจลืมไป สิ่งที่เคยคิดถึง และสิ่งที่หวงแหน แล้วจึงเตรียมตัวเข้าสู่ห้อง Heart Room
ความสนุกอยู่ที่ตรงนี้ เพราะก่อนเข้าห้อง Heart Room ทุกคนจะพบกับอุโมงค์ทางแยกสีขาว-ดำที่เขียนไว้ว่า ‘Yourself’ และ ‘Someone Else’ ซึ่งทุกคนต้องเลือกเพียงอุโมงค์เดียวเท่านั้น และไม่สามารถเดินกลับมาเลือกใหม่ได้อีกรอบ
แล้วโป๊ยเซียนกับกวินเลือกเข้าอุโมงค์ไหนกันนะ?
“ผมเลือก Someone Else ซึ่งผมว่ามันขัดกับบุคลิกของผม หลายคนอาจคิดว่าผมต้องเลือก Yourself นะ”
“แล้วของเราก็จะตรงกันข้ามกับกวิน เพราะถ้าดูจากบุคลิกของเรา คนคงคิดว่าเราน่าจะเลือก Someone Else มากกว่า แต่จริงๆ แล้วเราเลือก Yourself นะ”
จริงๆ ไม่ได้คาดหวังแต่แรกว่า ทั้งคู่จะเลือกอะไร แต่ได้ยินแบบนั้นก็อดเห็นด้วยไม่ได้ว่า โป๊ยเซียนที่ดูสดใสและใจดี คงจะเลือก Someone Else ขณะที่กวิน มีบุคลิกดูมั่นคง มั่นใจ คงต้องเลือก Yourself ก่อนอันดับแรก
“เราว่าทุกคนที่เลือก Yourself ก็ไม่ได้จะเลือกตัวเขาเองไปทั้งชีวิต เพราะโป๊ยเซียนเองก็คงไม่ได้แบบนั้นทั้งชีวิตเหมือนกัน การเลือก 1 ครั้ง เป็นแค่จุดจุดหนึ่งในชีวิต ซึ่งถ้ามีโอกาสที่ต้องเลือกอีกครั้ง เราอาจจะเลือกต่างไปก็ได้ค่ะ”
ก่อนจะเดินเข้าอุโมงค์ ทุกคนจะได้รับโปสต์การ์ดที่ตรงกับสีอุโมงค์ที่เลือก แล้วจึงค่อยเดินมาต่อกันที่ห้องกลางอย่าง Heart Room ห้องที่พาไปสำรวจจิตใจของตัวเอง และห้องที่สะท้อนถึงโป๊ยเซียนและกวินได้อย่างชัดเจนที่สุด
รูปปั้นสีชมพูที่เหมือนบอลลูนเป่าลมชื่อว่า ‘Big Dream Girl’ เด็กผู้หญิงขนาดใหญ่นั่งอยู่กลางห้อง เป็นตัวแทนของโป๊ยเซียน เด็กหญิงผู้มีความฝันก้อนใหญ่ ถ้าเดินอ้อมไปด้านหลังอีกนิด จะเห็นผู้ชายตัวเล็กสีฟ้า ‘Big Dream Boy’ เด็กชายธรรมดาที่นั่งมองหัวใจบอลลูนสีชมพูของเด็กผู้หญิงอย่างตั้งใจ และเด็กชายคนนั้นคือ กวิน ผู้คอยสนับสนุนโป๊ยเซียนอยู่เบื้องหลังเสมอ
“หัวใจของ Sundae Kids ถ้าดูดีๆ ก็จะเห็นว่าตัวรูปปั้นผู้หญิงไม่มีหัวใจ หัวใจหายไป เพราะหัวใจอยู่ในมือของตัวผู้ชายแทนค่ะ”
ONCE ฟังมาถึงตรงนี้แล้วกลับรู้สึกเขินไม่น้อย จะดีแค่ไหนกันหากได้พบเจอกับคนที่ยอมรับและรักในตัวตนของเรา แถมยังพร้อมที่จะสนับสนุนในทุกเส้นทางที่เราใฝ่ฝัน ไม่แปลกใจเลยว่า ทำไมคอมิกของ Sundae Kids ถึงกินใจและเชื่อมต่อกับทุกคนอย่างไร้ข้อจำกัดได้ขนาดนี้
ในเมื่อโป๊ยเซียนคือหญิงสาวช่างฝัน แล้ว Sundae Kids กำลังมีฝันแบบไหนในวันนี้
“Sundae Kids เราไม่ค่อยฝันไปก่อนล่วงหน้าเยอะขนาดนั้น พวกเราคิดว่าปีนี้อยากทำอะไร เราเดินไปทีละก้าวที่เหมาะกับตัวเรา เราอาจจะอยากไปเมืองนอกหรือทำอะไรที่ไม่เคยทำในปีหน้าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เราคงทำในสิ่งที่รู้สึกอยากทำค่ะ”
“พอโตขึ้นมาถึงจุดหนึ่ง ความฝันของผมอาจจะไม่ได้ซับซ้อน แค่ได้เห็นคนคนหนึ่งเติบโต ได้ประสบความสำเร็จ ได้มีความสุขในเส้นทางของเขา นี่คือความฝันที่เรียบง่ายของผมในตอนนี้ หลังจากผ่านเรื่องราวต่างๆ ในชีวิตมาไม่น้อยครับ”
Facebook : Sundae Kids
Instagram : sundaekids
Website : sundaekids.com