

Life as Pineapple
Cheong See Min ศิลปิน Textile Art สร้างงานผ่านใยผ้าสับปะรดเพื่อตามหารากเหง้าและตัวตน
- คุยกับ Cheong See Min ศิลปินหญิงจากมาเลเซียผู้ใช้ใยจากผ้าสับปะรดเพื่อค้นหาตัวตน รากเหง้าของตัวเอง พร้อมกับวิธีการศึกษาข้อมูลจากเอกสารหลายร้อยหน้าเปลี่ยนเป็นงานหัตถกรรมเล่าเรื่องชีวิต ชุมชน ไปจนถึงประวัติศาสตร์ และการเมืองระหว่างประเทศ
ยอมรับเลยว่าสับปะรดคือหนึ่งในผลไม้โปรด ด้วยรสชาติเปรี้ยวหวานทำให้ชอบกินมาตั้งแต่เด็ก ทุกครั้งที่มองสับปะรด ก็มองเป็นแค่ผลไม้หรือของกินประเภทหนึ่ง ไม่เคยมองมากกว่านั้น
จนกระทั่งผมได้ดูนิทรรศการ After the Pineapple ของศิลปินสาวจากมาเลเซียชื่อ ชอง ซีมิน (Cheong See Min) จึงรู้ว่าสับปะรดไม่ได้มีประโยชน์แค่เป็นของกินเท่านั้น แต่ใบของต้นสับปะรดสามารถนำมาทำเป็นใยสับปะรด เพื่อถักทอเป็นผ้าได้อีกด้วย
ก่อนเดินทางมาชมนิทรรศการครั้งนี้ ผมคิดว่าจะได้เห็นงานที่สะท้อนเรื่องราวของสับปะรดออกมาอย่างชัดเจน จินตนาการไปแล้วว่าจะได้เห็นการถักทอรูปสับปะรดขนาดยักษ์อะไรทำนองนั้น ซึ่งความจริงนั้นตรงกันข้าม
ชอง ซีมิน สร้างงาน Textile Art จากใยผ้าสับปะรด ถักทอเรื่องราวที่สะท้อนตัวตนของเธอ ตั้งแต่ความผูกพันในครอบครัว ชุมชน ไปจนถึงการเมืองระดับประเทศ แต่ไม่ว่าเรื่องราวจะไปไกลสักแค่ไหน สุดท้ายทุกอย่างมีจุดเริ่มต้นจากสิ่งนี้…สับปะรด
จากไกลเพื่อกลับมา
ชองเล่าว่า ครอบครัวเธอผูกพันกับสับปะรดอย่างมาก เพราะคุณยายเป็นคนงานในไร่สับปะรด และแม่ของเธอก็เติบโตในนั้น กลายเป็นความสัมพันธ์ที่แยกกันไม่ออก ระหว่างครอบครัวเธอกับสับปะรด
ประกอบกับตัวชองเกิดและเติบโตที่รัฐยะโฮร์ พื้นที่สำคัญที่สุดในการปลูกสับปะรดในมาเลเซีย และช่วงเวลาหนึ่งก็เป็นสถานที่ในการให้ผลผลิตของผลไม้ชนิดนี้มากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยิ่งทำให้ตัวตนของสับปะรดฝังลึกอยู่ในรากเหง้าของศิลปินคนนี้มาตั้งแต่ช่วงแรกเริ่มของชีวิต
ถึงเป็นแบบนั้นไม่ได้หมายความว่า ชอง ซีมิน รับรู้ถึงความผูกพันกับสับปะรดมาตั้งแต่เด็กเหมือนที่เธอกำลังเล่าเรื่องราวให้ผมฟังด้วยวัยหลัก 30 แต่ความรู้สึกทั้งหมดกลับเกิดขึ้นในวัย 19 ปี วันที่เธอต้องจากบ้านไกลเพื่อไปศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยที่ประเทศไต้หวัน
“เวลาไปอยู่ต่างประเทศ ทุกอย่างคือโลกใบใหม่ สำหรับฉันมันทำให้กลับไปคิดถึงรากเหง้าของตัวเอง เพราะตลอดเวลาที่อยู่ที่นั่น ฉันโดนถามตลอดว่า ‘เธอเป็นใคร มาจากประเทศไหน?’ หรือแม้กระทั่ง ‘สังคมหรือวัฒนธรรมของประเทศที่เธอมาเป็นยังไง?’
“ฉันอยากเล่าเรื่องประเทศของฉันมากนะ แต่ตอนนั้นคือเวลาที่ได้พบว่า ฉันไม่รู้จักอะไรเกี่ยวกับประเทศตัวเองเลย อธิบายไม่ได้ด้วยซ้ำว่าประเทศของฉันเป็นยังไง
“นั่นคือจุดเริ่มต้นที่พาตัวตนของฉันกลับมาที่มาเลเซีย ฉันตั้งใจที่จะรับรู้ให้ได้ว่าประเทศของฉันเป็นอย่างไร? ประวัติศาสตร์ของประเทศนี้ส่งผลกระทบกับชีวิตฉันยังไงบ้าง? ฉันอยากรู้ถึงรากเหง้าที่อยู่ในตัวตนของฉัน ก็คือประเทศมาเลเซีย”
ก่อนจะมีนิทรรศการนี้ในปี 2024 ที่ผ่านมา ชองสร้างชุดผลงานเล็กๆ ที่ได้แรงบันใจจากพืชสมุนไพร อย่าง กะเมีย ซึ่งเป็นหนึ่งในพืชส่งออกสำคัญของมาเลเซีย ภายใต้ชื่อ Where is the Gambier Plant? เพื่อสะท้อนเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างพืชชนิดนี้กับมาเลเซีย ที่เริ่มต้นสมัยยังเป็นรัฐอาณานิคมของอังกฤษ และสะท้อนชีวิตของคนมาเลเซียที่ช่วงเวลาหนึ่งต้องทำงานเป็นชาวสวนชาวไร่ เพื่อสร้างผลผลิตให้กับเจ้าดินแดนที่ห่างไกลออกไปอีกซีกโลกหนึ่ง และเธอได้นำส่วนหนึ่งของผลงานมาแสดงในนิทรรศการครั้งนี้ด้วย
“ฉันไม่ได้สนใจเรื่องราวเกี่ยวกับการล่าอาณานิคมหรอก แต่การล่าอาณานิคมเกี่ยวข้องกับพืชพวกนี้ ซึ่งฉันสนใจในพืชพวกนี้ ก็เลยหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องศึกษาเรื่องราวในช่วงการล่าอาณานิคม
“แม่ของฉันเคยบอกว่า มาเลเซียเป็นประเทศที่ร่ำรวย แต่เราไม่ได้ร่ำรวยเงินทอง เราร่ำรวยความอุดมสมบูรณ์ซึ่งอยู่ในพื้นดิน ที่มาเลเซียแค่คุณโยนเมล็ดพันธุ์ลงบนดิน ต่อให้ไม่ต้องดูแลอะไรมากมาย ก็สามารถเติบโตขึ้นมาได้ด้วยตัวเอง
“พืชพันธ์ุอย่างสับปะรดหรือกะเมียคือสินค้าเกษตรกรรมสำคัญในบ้านเกิดฉัน ที่สร้างรายได้มากมายให้กับมาเลเซีย แต่นั่นแหละ ไม่ว่าจะสับปะรดหรือกะเมีย ทุกอย่างเกิดขึ้นเพราะการล่าอาณานิคม รัฐบาลอังกฤษคือคนสั่งให้ปลูกพืชพันธ์ุพวกนี้ในมาเลเซียเพื่อเอาผลผลิตกลับประเทศ
“เรื่องราวพวกนี้มีความสำคัญกับประเทศ กับตัวฉันเอง ถึงจะเป็นแบบนั้นฉันก็เคยหลงลืมมันไป จนกระทั่งมาหาข้อมูลจริงจังถึงรู้ว่ามันใกล้ตัวแค่นี้เอง”
ศิลปะจากการค้นคว้า
ตลอดระยะเวลาที่พูดคุยกัน ชอง ซีมิน ถือหนังสือคล้ายรายงานเล่มหนาของเด็กมหาวิทยาลัยอยู่ตลอดเวลา มันคือข้อมูลการค้นคว้าหลายร้อยหน้าเกี่ยวกับเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับสับปะรดในมาเลเซีย
ชองทุ่มเทกับการหาข้อมูลเพื่อตามหาตัวตนของเธออย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเอกสารทางราชการ หนังสือ รายงานวิชาการ โดยเดินทางไปทั่วมาเลเซีย รวมถึงสิงคโปร์ เพื่อหวังเข้าใจทุกมุมมองที่เกี่ยวข้องกับสับปะรด ซึ่งเป็นรากฐานทั้งหมดของนิทรรศการครั้งนี้
“การค้นคว้าหาข้อมูลคือส่วนสำคัญนะ จริงๆ ตลอดระยะเวลาที่ฉันหาข้อมูล ก็เหมือนยิ่งได้เข้าใจในตัวเองมากขึ้น ทั้งประเทศของฉัน อัตลักษณ์ของฉัน เข้าใจว่าฉันเป็นตัวฉันในวันนี้ได้ยังไง
“ฉันคงต่างจากศิลปินคนอื่นๆ เพราะศิลปินหลายคนชอบแสดงตัวตนออกมาด้วยจินตนาการ หรือสิ่งที่พวกเขาเห็น ไม่ได้หมายความว่าฉันไม่ได้แสดงออกถึงจินตนาการผ่านผลงานของฉัน แต่ฉันก็ต้องการเรื่องราวมาสนับสนุนในผลงานของฉัน
“ฉันอยากเล่าให้ทุกคนที่มาชมงานได้รู้ว่า ที่มาและเรื่องราวของแต่ละผลงานมาจากไหน แบ่งปันความรู้และเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ให้ทุกคน”
ผลงานที่เราได้เห็นในนิทรรศการ After the Pineapple จึงมีที่มาที่ไปจากเรื่องจริงทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง, ภาพถ่ายในอดีต, ข้อความบันทึกในเอกสาร และประสบการณ์ตรงจาก ชอง ซีมิน ทุกอย่างที่เกิดขึ้นจริงผ่านการรับรู้ของศิลปินผสมผสานกลายเป็นเรื่องราวที่ถักทอออกมาผ่านผ้าใยสับปะรด กลายเป็นงานศิลปะที่เต็มไปด้วยเสน่ห์ชวนให้ค้นหา และเต็มไปด้วยความหมายอันล้ำลึก
ไม่ว่าจะเป็นงานถักที่สะท้อนถึงการหว่านเมล็ดลงบนถาดและงอกเงยขึ้นมาตามธรรมชาติ เพื่อแสดงถึงสภาพผืนดินอันอุดมสมบูรณ์ของมาเลเซีย และสะท้อนถึงความสัมพันธ์ระหว่างชาติเจ้าอาณานิคมกับประเทศใต้ปกครอง
“การหว่านพืชผลก็เหมือนกับเวลาชาติที่มีอำนาจแสดงกับเรา พวกเขาให้เราปลูกพืชมากมาย คิดโครงการต่างๆ ขึ้นมา แต่เมื่อถึงวันที่หมดความสนใจ พวกเขาก็จากไป โดยไม่ทำอะไร ทิ้งปัญหาไว้ให้คนท้องถิ่นต้องจัดการ”
ผลงานของ ชอง ซีมิน ไม่ได้พูดแค่เรื่องราวในมาเลเซียเท่านั้น แต่รวมถึงประเทศไทยด้วย โดยผลงานชิ้นหนึ่งได้แรงบันดาลใจจากภาพในอดีตของสังคมไทย กลายเป็นเรื่องราวที่ถูกถ่ายทอดออกมาในใยสับปะรด
“เรื่องมันเริ่มมาจากตอนที่ฉันหาข้อมูลเกี่ยวกับเกษตรกรรมในประเทศไทย ระหว่างที่ฉันหาข้อมูลได้เห็นภาพหนึ่ง (มาจากวันพีชมงคล) เป็นภาพที่ชาวต่างชาตินั่งอยู่บนรถแต่งตัวงดงาม ได้รับการยอมรับเป็นอย่างดี และได้รับการดูแลจากตำรวจที่ยืนอยู่ด้านข้าง แต่ขณะเดียวกันทางด้านซ้ายกลับมีชาวนายืนเท้าเปล่าเสื้อผ้าซอมซ่อ
“ทันทีที่เห็นภาพนี้ ฉันได้ไอเดียขึ้นมาในหัวทันที รู้สึกว่าต้องทำอะไรสักอย่างกับมัน ฉันแค่อยากสื่อสารอะไรบางอย่างออกมา บางทีฉันแค่สงสัย เพราะเท่าที่รู้ประเทศไทยไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของประเทศใด แต่ก็มีภาพนี้ออกมา
“แต่สุดท้ายที่ฉันทำงานเกี่ยวกับประเทศไทย ก็เพราะสนใจในภาคเกษตรกรรมของไทย ทุกวันนี้ไทยส่งออกสับปะรดมากกว่ามาเลเซียไปแล้ว ทั้งที่ก่อนหน้านี้มาเลเซียคือประเทศที่ส่งออกสับปะรดมากที่สุดในอาเซียน นี่คือเรื่องที่ฉันค้นคว้าและสนใจ
“การค้นคว้าหาข้อมูลคือสิ่งที่ขับเคลื่อนฉันในการทำงาน ทำให้ฉันยิ่งสนใจอยากทำงานกับแต่ละโปรเจกต์มากขึ้นเรื่อยๆ เหมือนกับฉันมีคำถามและพอหาข้อมูลก็ได้คำตอบที่คลายข้อสงสัย และระหว่างที่ฉันหาข้อมูลเพื่อหาคำตอบ ก็ยิ่งทำให้ฉันเกิดจินตนาการมาสร้างเป็นผลงานพวกนี้ ถึงฉันจะหาข้อมูลมากแค่ไหน สุดท้ายผลงานเหล่านี้ก็สะท้อนจินตนาการของฉันอยู่ดี”
ถักทอชีวิตจากเส้นใยสับปะรด
นอกจากผลงานผ้าทอแล้ว ชอง ซีมิน สนใจศึกษาใยผ้าจากต้นสับปะรด และกับการสร้างสรรค์ผลงานมาก จากนิทรรศการนี้ เธอได้ใช้ใยผ้ากว่า 10 แบบในการสร้างสรรค์ผลงาน
สำหรับตัวศิลปิน เธอเชื่อว่า ใยผ้าสับปะรดมีความมหัศจรรย์ เพราะจากข้อมูลที่ศึกษาค้นคว้าได้พบว่า ตั้งแต่ยุคที่ญี่ปุ่นยังอยู่ภายใต้การปกครองโดยจักรพรรดิ ผู้นำของดินแดนนี้ใส่เสื้อผ้าที่ทำจากใยผ้าสับปะรดในช่วงหน้าร้อน เพราะมีคุณสมบัติการระบายอากาศที่ยอดเยี่ยม
มากไปกว่านั้น การค้นคว้าของเธอได้พบว่า ใยผ้าจากสับปะรดก็มีบทบาทมาตั้งแต่ยุคอาณานิคมเช่นกัน เธอได้พบว่ายังมีฟาร์มในมาเลเซียที่ส่งใยผ้าสับปะรดไปที่อังกฤษ ไม่ใช่แค่ผลไม้เท่านั้น ใยผ้าสับปะรดก็มีความสำคัญกับชาวมาเลเซียมาอย่างยาวนาน
ยิ่งเธอศึกษาเรื่องราว ก็ยิ่งเห็นความสำคัญของสับปะรด ทั้งการสะท้อนความเติบโตของมาเลเซีย สู่การเป็นหนึ่งในพืชหลักที่สร้างเศรษฐกิจให้ประเทศ รวมถึงการสะท้อนวิถีชีวิตของชาวมาเลเซียในอดีตและรากฐานการเป็นแรงงานที่ส่งต่อมาถึงปัจจุบัน
สับปะรดในสายตาของ ชอง ซีมิน ยิ่งใหญ่กว่าการเป็นแค่ผลไม้มาโดยตลอด ในมุมมองของเธอ สับปะรดคือหนึ่งในสิ่งที่สร้างตัวตนของมาเลเซียให้เป็นแบบที่เป็นในทุกวันนี้ เสมือนกับสับปะรดเป็นหนึ่งในรากฐานสำคัญของการก่อร่างสร้างตัวของประเทศนี้ ไม่ว่าจะในมุมมองของผู้คน ตัวตน สังคม ไปจนถึงความเป็นชาติ
แต่ที่สำคัญที่สุด สับปะรดทำให้เธอรู้จักตัวเองมากขึ้น เห็นตัวเองมากขึ้นแบบไม่เคยเป็นมาก่อน โดยเฉพาะใยผ้าจากสับปะรดคือสิ่งที่มีความหมายกับชอง ซีมิน มากที่สุด
“ใยผ้าสับปะรดก็เหมือนกับสิ่งที่เป็นตัวแทนของฉัน ใยผ้าสับปะรดคือตัวตนของฉัน มันเล่าเรื่องแทนฉันหมดทุกอย่าง นี่คือเหตุผลสำคัญที่ฉันเลือกใยผ้าสับปะรดมาทำงาน
“สิ่งสำคัญที่สุดที่ฉันได้ตลอดการทำงานชุดนี้คือฉันได้รู้จักใยผ้าสับปะรดมากขึ้น ฉันเข้าใจการทำงานกับมัน เทคนิคต่างๆ ในการสร้างผลงาน ตลอดช่วงเวลาที่ทำงาน ฉันได้เห็นตัวเองมากขึ้น ฉันค้นพบตัวเองมากขึ้นกว่าเดิม”
ก่อนจะจากลากันไป ผมรู้สึกถึงมุมมองที่ชัดเจนของศิลปินกับสับปะรดอย่างครบถ้วน แต่เราถามคำถามง่ายๆ สุดท้ายกับเธอว่า ทำไมถึงสนใจการค้นหาตัวเองมาก หลายผลงาน หลายนิทรรศการของเธอจัดขึ้นเพื่อหาคำตอบในเรื่องนี้ เธออ่านหนังสือมากมาย เดินทางไปหลายประเทศเพื่อตอบตัวเองในเรื่องนี้ ทำไมถึงเป็นแบบนั้น
“เราเกิดมาเป็นมนุษย์ ทำไมถึงไม่อยากรู้จักตัวเองละ? ฉันถามตัวเองตลอดเวลาว่าฉันคือใคร? มาจากที่ไหน? นี่แหละคือแพสชันของฉัน ที่ทำให้ฉันอยากทำงานต่อไป” คงหาคำตอบที่ง่าย แต่ชัดเจนกว่านี้ไม่ได้อีกแล้ว
นิทรรศการ After the Pineapple
วันนี้ – 31 พฤษภาคม 2025
สถานที่: WarinLab
เวลาทำการ: อังคาร-อาทิตย์ 10.30-19.30 น.
Facebook: https://www.facebook.com/WarinLabContemporary
Instagram: https://www.instagram.com/warinlab/
Website: https://warinlab.com/
และติดตามผลงานของ Cheong See Min ได้ที่
Instagram: https://www.instagram.com/cymin_cheong/