About
ART+CULTURE

Why AI

AI GOD: Portrait of Alan Turing ภาพวาดจาก AI ประมูลขายกว่า 30 ล้าน! เพราะอะไรถึงยอมจ่ายแพง?

Date 20-11-2024 | View 72
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • ถือเป็นข่าวใหญ่ของโลกศิลปะ หลังผลงานภาพวาดศิลปะของ AI โดยจิตรกร AI ตัวแรกของโลกถูกประมูลในราคา 1.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 37 ล้านบาทไทย พร้อมกับการตั้งคำถามจากถึงเส้นแบ่งของคำว่าศิลปะที่มาจากหุ่นยนต์แทนที่จะเป็นความคิดของมนุษย์

ภาพวาดจาก AI

จุดเริ่มต้นของเรื่องราวคือการสร้างสรรค์ “ไอด้า” หรือ Ai-da ศิลปินหุ่นยนต์ตัวแรกของโลกที่สร้างด้วยความเข้าใจศิลปะในแบบฉบับของมนุษย์แท้ๆ (ผู้สร้างบอกมาแบบนี้) ซึ่งมีความสามารถในการสร้างสร้างสรรค์ผลงานศิลปะหลายรูปแบบ ทั้งจิตรกรรม, วรรณกรรม ไปจนถึงการออกแบบดีไซน์ต่างๆ

ก่อนหน้านี้ Ai-da เคยจัดนิทรรศการโชว์ผลงานศิลปะของตัวเองมาแล้วหลายครั้ง ซึ่งล่าสุดทาง Ai-da ได้เริ่มประมูลผลงานของตัวเองสู่ท้องตลาดเป็นครั้งแรก กับภาพวาดของอลัน ทัวร์ริง (Alan Turing) นักคณิตศาสตร์ชื่อดัง ผู้สร้างเครื่องเอนิกมา เครื่องมือแกะรหัสในสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นรากฐานของเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ในเวลาต่อมา

แรงบันดาลใจของภาพวาดนี้คือความคิดของ AI-da ที่ต้องการสร้างสรรค์งานภาพของหนึ่งในบุคคลผู้ถูกเรียกว่าบิดาแห่งคอมพิวเตอร์ อย่าง อลัน ทัวร์ริง เพื่อสะท้อนถึงผลงานของเขาที่ส่งผลมาถึงโลกในยุคปัจจุบัน อย่างการกำเนิด AI ในโลกยุคใหม่

เนื่องจากในอดีตอลัน ทัวร์ริง เคยตั้งคำถามว่า “หุ่นยนต์สามารถมีความคิดได้ไหม?” จนในวันนี้หุ่นยนต์สามารถสร้างสรรค์ผลงานศิลปะได้แล้ว จนกลายเป็นแรงบันดาลใจสู่ภาพวาดที่เกิดขึ้น

ภาพวาดจาก AI

“AI GOD: Portrait of Alan Turing” คือชื่อของงานชิ้นนี้ ภาพวาดขนาดสูง 90 นิ้ว กว้าง 64 นิ้ว ชิ้นนี้ได้ถูกประมูลออกไปในราคา 1.08 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (1,084,800) หรือประมาณ 37 ล้านบาทไทย ถือว่าเป็นการทำลายสถิติผลงานศิลปะราคาสูงสุดที่สร้างสรรค์จากหุ่นยนต์อีกด้วย

นี่คือก้าวสำคัญของการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะโดย AI กับการแสดงให้เห็นว่าผลงานศิลปะจาก AI ก็มีมูลค่ามากกว่าหลักล้านได้ อย่างไรก็ตาม มันก็ได้พาคำถามที่ถูกตั้งถึงความเหมาะสมว่าสุดท้ายแล้ว เราควรนับผลงานจากหุ่นยนต์เป็นศิลปะเหมือนกับผลงานจากความคิดและจินตนาการของมนุษย์หรือไม่?

นี่ไม่ใช่ข้อถกเถียงใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น สำหรับศิลปิน AI อย่าง Ai-da ต้องเผชิญกับคำถามนี้มาตั้งแต่เริ่ม โดยทางผู้สร้างหุ่นยนต์ตัวนี้ได้ให้เหตุผลถึงเรื่องนี้ไว้ว่า

“บทบาทและความหมายของศิลปะมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ดังนั้นผลงานของ Ai-da คือศิลปะอย่างแน่นอน กับการสะท้อนบทบาทของเทคโนโลยีในโลกยุคปัจจุบัน … เราไม่เชื่อว่าศิลปะเป็นเรื่องของผลงานที่เกิดจากมนุษย์เพื่อมนุษย์เพียงอย่างเดียวเท่านั้น … ผลงานของ Ai-da คือศิลปะ เพราะมนุษย์ไม่ควรเป็นไม่ควรเป็นผู้สร้างขอบเขตของคำว่า ‘ศิลปะ’ ไว้ด้วยตัวคนเดียว”

แน่นอนว่าไม่ใช่ผู้สร้าง Ai-da เพียงอย่างเดียวที่คิดแบบนี้ ผลงานของ Ai-da มีกลุ่มผู้ติดตามอย่างชัดเจน และในการประมูลครั้งนี้ มีการประมูลมากถึง 27 ครั้ง ซึ่งถือว่าไม่ธรรมดาเลยในการประมูลผลงานศิลปะ แสดงให้เห็นว่า มีคนที่เห็นคุ้นค่าในผลงานของ AI ตัวนี้อย่างชัดเจน

ภาพวาดจาก AI

คำถามที่ตามมาคือ ทำไมถึงมีคนยอมจ่ายเงินมากกว่า 1 ล้านดอลลาร์เพื่อผลงานจาก AI? Sotheby’s International Realty ผู้จัดประมูลผลงานภาพ AI GOD: Portrait of Alan Turing ได้ให้เหตุผลที่น่าสนใจเอาไว้หลายข้อ

ข้อแรกคือมูลค่าของผลงาน เนื่องจากปัจจุบันผลงานต่างๆ จาก AI มีมูลค่าสูงขึ้น ตลาดนี้มีแต่จะเติบโตขึ้น ดังนั้นการทุ่มเงินประมูลผลงานชิ้นนี้ของ Ai-da ก็ไม่ต่างอะไรจากการลงทุนเพื่อหวังเพิ่มมูลค่าของงานชิ้นนี้ในอนาคต

ข้อสองคือปฏิเสธไม่ได้ว่า นี่คือก้าวสำคัญของโลกศิลปะ มีหลายคนที่ชื่นชอบงานศิลปะก็ไม่ได้มองว่างานศิลปะต้องเป็นผลงานของมนุษย์เพียงอย่างเดียว แต่งานภาพ AI GOD: Portrait of Alan Turing สามารถเชื่อมโยงบทบาทของเทคโนโลยีกับงานศิลปะที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมมนุษย์ได้เป็นอย่างดี

ผลงานนี้ของ Ai-da ก็ยังเป็นการตอกย้ำความเชื่อของใครหลายคนที่มองว่า AI ก็ควรมีพื้นที่ได้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะ และศิลปะไม่ควรถูกจำกัดไว้ด้วยผลงานจากมนุษย์เพียงเดียวเท่านั้น

สรุปแล้ว เหตุผลที่ภาพวาดชิ้นนี้ถูกประมูลราคาสูงกว่า 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไม่ใช่แค่เรื่องความสวยงามของงานศิลปะเพียงอย่างเดียว แต่ชัดเจนว่าได้สะท้อนถึงความเชื่อมั่นในอนาคตของ AI กับวงการศิลปะ ไม่ว่าจะในแง่ธุรกิจ หรือในแง่ของความเชื่อทางศิลปะก็ตาม

เรื่องราวที่เกิดขึ้นจึงไม่ใช่แค่การตั้งคำถามถึงประเด็นความสวยงามของผลงานเพียงเดียว แต่คำถามที่ว่าสุดท้ายแล้ว ศิลปะคือเรื่องราวของมนุษย์เพียงอย่างเดียว หรือ AI ก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ จะยิ่งเป็นที่ถกเถียงกันได้มากกว่าเดิมว่าสุดท้ายมนุษย์จะพร้อมยอมรับ AI เป็นผู้สร้างสรรค์ผลงานได้เท่าเทียมกับมนุษย์หรือไม่?

AI GOD: Portrait of Alan Turing ผลงานภาพวาดจาก Ai-da จึงถือเป็นชิ้นงานที่สะท้อนช่วงเวลาสำคัญทางประวัติศาสตร์ของโลกศิลปะยุคใหม่ได้เป็นอย่างดี กับการที่เราทุกคนจะต้องมาตีความถึงความหมายและขอบเขตของคำว่า “ศิลปะ” กันใหม่อีกครั้ง

ส่วนเงินจำนวนมากกว่า 1 ล้านดอลลาร์ของภาพชิ้นนี้ จะเหมาะสมหรือมีคุณค่ามากแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับว่าอนาคตบทบาทของ AI กับวงการศิลปะ จะเดินหน้าไปต่อหรือสุดท้ายจะไม่ได้รับการยอมรับในสังคม เวลาเท่านั้นที่จะให้คำตอบแก่เราได้

Tags: