Family Tree
Archie Moore กับงานศิลปะสืบค้นเครือญาติย้อนไป 65,000 ปีจนคว้าสิงโตทองคำใน Venice Biennale
- Archie Moore ใช้ชอล์กเขียนชื่อสาแหรกเครือญาติ 2,400 รุ่น รวม 3,484 คน สืบค้นไปได้ถึง 65,000 ปีก่อนบนกระดานดำ สร้างงานศิลปะชิ้นมหึมายาว 60 เมตร สูง 5 เมตรในชื่อ ‘kith & kin’
- งานศิลปะชิ้นนี้ส่งผลให้อาร์ชี มัวร์เป็นชาวพื้นเมืองจากออสเตรเลียคนแรกที่ชนะรางวัลสิงโตทองคำจากเวนิส เบียนนาเล่ เทศกาลศิลปะเก่าแก่ที่สุดในโลก
อาร์ชี มัวร์ มีหลายสายเลือดไหลเวียนในตัว เขามีเลือดของแม่ที่เป็นชนเผ่าพื้นเมือง Bigambul-Kamilaroi ส่วนสายเลือดฝั่งบิดาเป็นชาวบริติช-สก็อตติช และในปัจจุบันเขาถือสัญชาติออสเตรเลีย อาร์ชีจึงเป็นทั้ง ‘คนอื่น’ และ ‘คนเหย้า’ ที่เข้าอย่างยิ่งกับธีมงาน ‘Foreigners Everywhere’ ของเทศกาลศิลปะนานาชาติเวนิส เบียนนาเล่ครั้งที่ 60
เจ้าถิ่นตัวจริง
ก่อนที่เวนิส เบียนนาเล่ครั้งนี้จะเปิดฉากขึ้นในวันที่ 20 เมษายน 2024 ภายในห้องจัดแสดงงานอันเงียบงันของ ออสเตรเลีย พาวิลเลียน ชายคนหนึ่งใช้ชอล์กขีดเขียนขยุกขยิกอย่างขะมักเขม้นบนกระดานดำ
อาร์ชีกำลังสร้างงานศิลปะที่ในเวลาต่อมาได้รับคำยกย่องว่าเป็น “หนึ่งในศิลปะชิ้นสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ของเวนิส เบียนนาเล่”
เขากำลังวาดแผนภูมิสาแหรกตระกูลด้วยรายชื่อเครือญาติ 3,484 คนที่สืบค้นกลับไปได้ถึง 65,000 ปี ให้กลายเป็นศิลปะที่ชื่อ ‘kith and kin’
‘kith and kin’ เป็นวลีที่ทุกวันนี้หมายถึงเพื่อนพ้องและครอบครัว
แต่ในภาษาอังกฤษโบราณช่วงปี 1300s ‘kith’ มีสองความหมาย หนึ่ง แปลว่า ‘คนบ้านนอก’ สอง คือ ‘แผ่นดินเกิดของคนคนหนึ่ง’
‘kith and kin’ ในมุมมองของอาร์ชีมีความหมายสองประการ หนึ่งคือ ประวัติศาสตร์ 65,000 ปีของชนเผ่าพื้นเมืองอะบอริจิน สองคือแนวคิดเรื่องเวลาและพื้นที่ที่ไม่เรียงลำดับกัน (a เกิดขึ้นก่อน แล้วจึงค่อยเกิด b เรียงเป็นเส้นตรง) ซึ่งเป็นแนวคิดเรื่อง ‘ความฝัน’ (Dreaming) ของชาวอะบอริจินที่เชื่อว่า ความฝันไม่ใช่ช่วงเวลาของนิทรา หากเป็นกระบวนการซึ่งสรรพสิ่งดำรงอยู่และดับสูญพร้อมกันโดยไม่มีอดีต ปัจจุบัน อนาคต (a และ b เกิดขึ้นพร้อมกันเป็นวงกลม) เป็นแนวคิดที่ William Edward Hanley Stanner นักมานุษยวิทยาชาวออสเตรเลียเรียกว่า ‘ทุกเมื่อ’ (The Everywhen)
อาร์ชีใช้งานศิลปะขนาดเท่าห้องสูง 5 เมตร ยาว 60 เมตรสื่อสารว่า ชาวพื้นเมืองอะบอริจินดำรงอยู่ทุกเมื่อในแผ่นดินที่พวกเขาเป็นเจ้าของที่แท้จริง ก่อนที่ฝรั่งผิวขาวชาวอังกฤษจะเข้ามาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อย่างป่าเถื่อนในปี 1788 และส่งนักโทษเข้ามาเป็นผู้อาศัยกลุ่มแรกของประเทศออสเตรเลีย
ศิลปะแห่งการไว้อาลัย
อาร์ชีเริ่มสนใจสาแหรกตระกูลตัวเองเมื่อมารดาล้มป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมองในปี 2016 ซึ่งเตือนให้เขาตระหนักว่า ข้อมูลของครอบครัวมากมายเพียงไรที่อาจสูญไปหากมารดาหมดลม
เขาเริ่มซักถามแม่ คุยกับญาติๆ พลางสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับครอบครัวตัวเองตามห้องสมุด หนังสือพิมพ์เก่าๆ แผ่นที่ โฉนดที่ดิน บันทึกของนักบวช สมาคมประวัติศาสตร์ เอกสารราชการ เว็บไซต์สืบค้นสาแหรก ancestry.com ฯลฯ
ท่ามกลางเอกสารมากกว่า 500 ชิ้นที่นำมาจัดแสดง ส่วนใหญ่แล้วสิ่งที่ทำให้เขาค้นพบญาติๆที่ตนไม่เคยรู้จักตลอด 65,000 ปีที่ผ่านมาคือรายงานการชันสูตรศพชาวอะบอริจินที่เขาจำลองมาเป็นศิลปะลอยน้ำ เพื่อให้คนดูต้องชะโงกตัวไปมองใกล้ๆ บัดนั้นจึงได้เห็นเงาของตนเองบนผิวน้ำ ชนเผ่าพื้นเมืองที่ถูกมองว่าเป็นคนอื่น คนนอก แท้จริงพวกเขาอยู่ในตัวพวกเราทุกคน ราวกับนี่คืออนุสรณ์ไว้อาลัยให้กับเจ้าของประเทศผู้จากไปตลอด 65,000 ปีที่ผ่านมา
อาร์ชียังเจตนาเขียนรายชื่อเครือญาติที่สืบค้นเจอ 3,484 คนด้วยชอล์กสีขาวบนกระดานดำ ประหนึ่งอาจารย์เล็กเชอร์วิชาประวัติศาสตร์ เชิญชวนให้ผู้ชมเรียนรู้เรื่องราวของชนเผ่าพื้นเมืองที่ถูกบันทึกอย่างกระจัดกระจาย หรือซ้ำร้ายเกือบหายเลือนไปกับกาลเวลา
ผู้ชนะเขียนประวัติศาสตร์
เมื่อครั้งที่ชาวอังกฤษรุกรานทวีปออสเตรเลียที่เป็นบ้านของชนเผ่าพื้นเมืองมาหลายหมื่นปีนั้น มีเผ่าเล็กเผ่าน้อยมากมายที่แทบจะถูกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เป็นต้นว่า เผ่า Bigambul ที่อาร์ชีสืบสายเลือดมานั้นเหลืออยู่เพียง 100 คน
อาร์ชีเขียนชื่อญาติแต่ละคนโดยวาดช่องสี่เหลี่ยมล้อมไว้ บางช่องเว้นว่าง บางช่องเห็นร่องรอยลบ บางรุ่นมีช่องว่างมากมาย และเครือญาติสายชนเผ่าพื้นเมืองมีจำนวนน้อยกว่าญาติฝั่งคนผิวขาวมากนัก ช่องว่างไร้ชื่อเหล่านี้อาจเป็นอะไรได้หลายอย่าง เป็นต้นว่า ในช่วงเวลานั้นอาจเกิดไข้ทรพิษ มีอีสุกมีใสระบาด ตำรวจฆ่าล้างบางครั้งใหญ่ หรือเจ้าอาณานิคมจงใจไม่บันทึกเรื่องราวของชนเผ่าพื้นเมืองเสียดื้อๆ
เพราะประวัติศาสตร์ถูกเขียนขึ้นโดยผู้ชนะเสมอ
ทว่าในช่องที่ใส่ชื่อได้นั้นเป็นชีวิตของคนที่เคยมีชีวิตอยู่ อาทิ William Moore ทวดของอาร์ชีที่ในวัย 16 ถูกประหารโทษฐานขโมยผ้าวูลหนึ่งม้วนและผ้าลูกฟูกหนึ่งม้วน
เป็นชีวิตของ William Henry Moore หลานของวิลเลียม มัวร์ที่ในเดือนมกราคมปี 1900 เป็นผู้โชคดีตามนโยบายส่งเสริมกสิกรรมของรัฐ จึงจับสลากได้ที่ดินกระหย่อมหนึ่งตรงพรมแดนระหว่างชนเผ่า Kamilaroi กับ Gamilaraay ในรัฐนิวเซาธ์เวลส์
เป็นเรื่องราวของ Jane Cleven ทวดฝั่งพ่อที่ได้รับที่ดินที่ถูกเจ้าอาณานิคมขโมยไป ซึ่งที่ดินผืนนี้เคยเป็นของทวดฝั่งแม่
‘kith and kin’ รื้อประวัติศาสตร์ของชนเผ่าพื้นเมืองผู้แพ้พ่ายขึ้นมาใหม่ เรียงลำดับ แยกประเภท บันทึกใหม่อย่างเป็นแบบแผน สร้างพื้นที่แห่ง ‘Dreaming’ ที่อดีต ปัจจุบัน อนาคตดำรงอยู่ด้วยกัน ที่ซึ่งทุกคนเชื่อมโยงกันอยู่ทุกแห่งหนในทางใดทางหนึ่งเสมอ
อาร์ชี มัวร์ ศิลปินวัย 54 เป็นสายเลือดชนเผ่าพื้นเมืองจากออสเตรเลียคนแรกที่เป็นผู้ชนะรางวัลสิงโตทองคำในเวนิส เบียนนาเล่ จากผลงานศิลปะแห่งมนุษยชาติ ‘kith and kin’
ข้อมูลจาก
• https://www.sbs.com.au/nitv/article/archie-traced-his-family-tree-back-65-000-years-it-won-him-the-worlds-oldest-art-prize/984mlbt0u
• https://www.nytimes.com/2024/04/20/arts/design/venice-biennale-golden-lion-australia-archie-moore.html
• https://www.berlinartlink.com/2024/04/02/interview-archie-moore-australia-pavilion-venice-biennale-kith-and-kin/
• https://www.theguardian.com/artanddesign/2024/apr/17/australia-venice-biennale-family-tree-kith-and-kin-archie-moore
• https://www.creativespirits.info/aboriginalculture/spirituality/what-is-the-dreamtime-or-the-dreaming
• https://thecommercialgallery.com/exhibition/archie-moore-kith-and-kin-venice-biennale/#:~:text=Hand%2Ddrawn%20in%20white%20chalk,back%20more%20than%202%2C400%20generations.