About
ART+CULTURE X Melbourne

Melbourne Art Tour

ทัวร์มุมศิลปะเมลเบิร์น ชมอาร์ตแกลเลอรี่ แฮงเอาท์กับศิลปิน

เรื่องและภาพ Miss Rhubarb Date 09-01-2020 | View 2103

ตามศิลปินไทยในเมลเบิร์นไปเสพงานศิลป์ในอาร์ตแกลเลอรี แวะดูศิลปินสร้างงานในสตูดิโอ ก่อนพาร่วมปาร์ตี้กับคนในวงการศิลปะของออสเตรเลีย

Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • เมลเบิร์นเป็นแหล่งของอาร์ตแกลเลอรีดีๆ มากมาย ที่ไม่เพียงแต่มีหอศิลป์ขนาดใหญ่เท่านั้น แต่ยังมีอาร์ตแกลเลอรีเล็กๆ กระจายอยู่ตามย่านต่างๆ ให้ผู้คนเข้าถึงได้ง่าย
  • เสน่ห์ของอาร์ตแกลเลอรีที่เมลเบิร์นอยู่ตรงที่ภายในแกลเลอรีมีบรรยากาศเป็นกันเอง ผู้เสพงานสามารถเข้าถึงผลงานของศิลปินได้ในราคาที่เอื้อมถึง
  • การไปสัมผัสอาร์ตแกลเลอรีในเมลเบิร์น ควรไปในวันที่มีงานปาร์ตี้เปิดตัวนิทรรศการชุดใหม่ ซึ่งอาร์ตแกลเลอรีต่างๆ มักจัดเดือนละ 2 ครั้งในวันพุธ พฤหัสบดี หรือศุกร์

อาร์ตแกลเลอรีที่ทุกคนเข้าถึงได้

ศิลปะของเมลเบิร์นไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในหอศิลป์ชื่อดังของรัฐ อย่าง National Gallery of Victoria หรือ NGV ที่ใครมาที่นี่ ต้องไปเยี่ยมชมเท่านั้น แต่งานศิลปะยังมีอยู่ตามอาร์ตแกลเลอรีเอกชนเล็กๆ นับร้อยแห่ง ที่กระจายกันอยู่ในย่านต่างๆ ของเมลเบิร์น อาร์ตแกลเลอรีเหล่านี้เป็นท่อน้ำเลี้ยงหล่อหลอมชีวิตศิลปิน และยังเป็นประตูพาเราไปสัมผัสวงการศิลปะที่คึกคักของเมืองนี้

อาร์ตแกลเลอรี

อาร์ตแกลเลอรีในเมลเบิร์น

เมื่อก้าวเข้าไปในอาร์ตแกลเลอรีในเมลเบิร์น เราจะรู้สึกได้ทันทีว่าบรรยากาศมีความใกล้ชิดและเป็นกันเองกับผู้เสพงานศิลป์มากกว่าหอศิลป์หรือพิพิธภัณฑ์ที่เคร่งขรึม แกลเลอรีเหล่านี้เปิดให้ผู้สนใจที่เดินผ่านไปมาตามท้องถนนเข้าชมฟรี และหากพบผลงานที่ถูกใจ ก็สามารถซื้อหางานศิลปะไปเชยชมที่บ้านได้ในราคาไม่แพงเกินเอื้อม

บรรยากาศภายในอาร์ตแกลเลอรี

ย่านที่เป็นศูนย์รวมอาร์ตแกลเลอรีของเมลเบิร์นคือย่าน Collingwood และ Fitzroy ตั้งอยู่ห่างจาก CBD หรือเพียง 3-4 กิโลเมตร คุณสามารถขึ้นรถรางตรงมาได้เลยอย่างไม่ยากเย็น ที่นั่นนอกจากยังมีอาร์ตแกลเลอรีต่างๆ แทรกตัวอยู่เกือบ 40 แห่งแล้ว ยังจะมีงานสตรีทอาร์ตเท่ๆ มากมายตามมุมตึก มีร้านขายของ ร้านกาแฟ ร้านอาหาร และบาร์ ที่ประชันกันด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัวสุดฮิปเรียงรายตามถนน

ศิลปะเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน

พิมพ์พิศา ติณห์พลิศ ประติมากรดาวรุ่งคนไทยในเมลเบิร์น ที่เป็นเจ้าของ Blackcat Gallery ในย่าน Collingwood เล่าว่า “ที่นี่แกลเลอรีจะแบ่งแยกประเภทกันไป แกลเลอรีที่แสดงภาพถ่าย ก็จะแสดงภาพถ่ายอย่างเดียว ไม่แสดงงานอย่างอื่นเลย หรือสตรีทอาร์ต ก็สตรีทอาร์ตอย่างเดียว หรือ Visual Art ก็ Visual Art อย่างเดียว มันจะแยกกันไป แกลเลอรีที่นี่เลยมีหลากหลาย คนก็มีทางเลือกในการไปดูไปชม”

ผลงานศิลปะในแกลเลอรี

อาร์ตแกลเลอรีที่มีสีสันคือ แกลเลอรีที่มีศิลปินเป็นเจ้าของ (artist-run space) ที่เปิดขึ้นมาเพื่อสนับสนุนศิลปินด้วยกันเอง แกลเลอรีประเภทนี้จะมีความน่าสนใจกว่าแกลเลอรีพาณิชย์ทั่วไป เพราะผลงานที่นำมาจัดแสดงจะมีความแตกต่างกันไป ตั้งแต่ศิลปินหน้าใหม่ที่มุ่งสร้างโปรไฟล์ เน้นสร้างชื่อ ไม่เน้นขาย ไปจนถึงศิลปินท้องถิ่นที่มีชื่อเสียง ซึ่งมีแฟนๆ รอซื้อผลงานไปสะสมอยู่แล้ว ทำให้งานศิลปะที่ถูกนำมาจัดแสดงไม่จำเจ

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้วงการศิลปะในเมลเบิร์นคึกคัก คือศิลปะไม่ได้จำกัดอยู่แค่คนเฉพาะกลุ่ม

พิมพ์พิศาเล่าถึงประเด็นนี้ว่า “ที่เมืองไทย คนที่มาดูงานศิลปะส่วนใหญ่จะเป็นคนในวงการ จะเป็นเฉพาะกลุ่มจริงๆ เช่น นักเรียนศิลปะมาดูงาน เพื่อนฝูงอาจารย์มาดูงาน หรือคนที่สนับสนุนงานศิลปะเพื่อซื้อไปเก็งกำไร แต่ที่นี่ พ่อค้า แม่ค้า คนทั่วไป พอวันหยุดก็จะคุยกันว่า เราพาลูกไปเดินอาร์ตแกลเลอรีกันเถอะ”

งานศิลปะคือการลงทุนที่คุ้มค่า

ความที่ประชาชนทั่วไปสนใจศิลปะเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้งานศิลปะในเมลเบิร์นมีความ “ซื้อง่ายขายคล่อง” อย่างที่พิมพ์พิศา บอกกับเรา “ที่นี่ บางทีคนซื้องานศิลปะเพราะความพึงพอใจ ความชอบส่วนตัว บางคนก็จะสะสมงานของศิลปิน เพราะชอบในตัวศิลปิน โดยไม่ได้คำนึงถึงมูลค่ามากนักสำหรับงานที่แสดงในอาร์ตแกลเลอรีเล็กๆ แต่ถ้าเป็นแกลเลอรีใหญ่ๆ ที่เป็นแกลเลอรีการค้า ก็จะเน้นมูลค่า เพราะเป็นงานศิลปะที่จะนำไปขายต่อได้ในอนาคต เป็นเรื่องของการลงทุนอีกรูปแบบหนึ่ง”

ผลงานศิลปะ

งานประติมากรรม

ลูกค้าอีกกลุ่มที่พิมพ์พิศาบอกว่าแตกต่างจากเมืองไทยอย่างมาก คือพวกเรียลเอสสเตทเอเจนต์ ที่ไปดูงานศิลป์ในอาร์ตแกลเลอรีต่างๆ เพราะต้องการซื้อหรือเช่างานศิลปะไปตกแต่งบ้านหรืออพาร์ทเม้นต์ที่ตนเป็นตัวแทนขาย บางทีก็มีอินทีเรียดีไซน์เนอร์ ที่สรรหางานศิลปะไปประดับบ้านให้ลูกค้า หรือไปตกแต่งบ้านเพื่อถ่ายลงนิตยสาร เพราะฉะนั้น ผู้คนที่หลากหลายที่สนใจงานศิลปะ จึงทำให้มีอาร์ตแกลเลอรีผุดขึ้นมากมายในเมลเบิร์น

งานศิลปะคือการลงทุนที่คุ้มค่า

แม้จะมีจุดมุ่งหมายด้านการขายผลงานเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ศิลปินในเมลเบิร์นยังคงเน้นการสร้างสรรค์ผลงานที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว “การทำงานที่นี่ เราต้องเป็นตัวของตัวเองให้มากที่สุด มันจะขายได้ตลอด เพราะไม่มีใครทำเหมือนเรา ศิลปินที่นี่จึงต้องหาตัวตนของตัวเองให้เจอ ไม่ใช่วิ่งตามเทรนด์” พิมพ์พิศา ศิลปินไทยเจ้าของ Blackcat Gallery ใน Collingwood ย้ำ

แฮงค์เอาต์เป็นส่วนหนึ่งของอาร์ตแกลเลอรีในเมลเบิร์น

การจะไปสัมผัสกับบรรยากาศคึกคักในอาร์ตแกลเลอรีในเมลเบิร์น ควรไปในวันที่มีงานปาร์ตี้เปิดตัวนิทรรศการชุดใหม่ ที่อาร์ตแกลเลอรีต่างๆ มักจัดเดือนละ 2 ครั้งในวันพุธ พฤหัสบดี หรือศุกร์ ช่วงเย็นหลังเลิกงานที่บรรยากาศเป็นกันเอง ผู้คนที่มาชมงานมีทั้งคนในวงการศิลป์ ศิลปินด้วยกันเอง ครอบครัวของศิลปินที่มาให้กำลังใจ และประชาชนทั่วไปที่มีหัวใจศิลป์ ใครๆ ก็มาร่วมงานได้ทั้งผู้ใหญ่ เด็กๆ หรือแม้แต่สุนัขที่ตามเจ้าของมา ความครึกครื้นอย่างเป็นกันเองแบบนี้แหละ ที่ทำให้เราสามารถชมงานศิลป์อย่างไม่ต้องเกร็ง

นอกจากนี้ ในงานเขายังมีไวน์หรือเบียร์ขายในแกลเลอรีแก้วละ 5-10 ดอลลาร์ ให้คนที่มางานได้จิบ บางทีจะมีคนมาเล่นกีตาร์และร้องเพลงให้ฟังกันสดๆ หรือมีดีเจมาเปิดแผ่น ดูเผินๆ เหมือนไปงานปาร์ตี้ที่เพื่อนจัด แต่มีงานศิลปะให้ชมเป็นกับแกล้มไปด้วยตลอดงาน จึงเป็นเสน่ห์ที่แตกต่างจากหอศิลป์ใหญ่ๆ

บ่อยครั้งอาร์ตแกลเลอรีซึ่งตั้งอยู่ใกล้กัน จะนัดกันจัดปาร์ตี้เปิดตัวนิทรรศการพร้อมกัน ผู้คนจะได้สามารถแวะไปร่วมงานที่แกลเลอรีหนึ่ง เสร็จแล้วก็ไปต่อที่แกลเลอรีถัดไปได้อย่างสนุกสนานในคืนเดียวกัน

ไปชมงานศิลป์ในแกลอรีแล้ว ถ้าใครมีโอกาส ก็อยากให้ไปเยี่ยมชมอาร์ตสตูดิโอ เพื่อดูการทำงานของศิลปินด้วย พื้นที่ภายในสตูดิโอจะถูกซอยเป็นห้องเล็กๆ สำหรับให้ศิลปินนั่งสร้างสรรค์ผลงานศิลปะของตน อาณาจักรของศิลปินแต่ละคน จะมีสีสันและมีเอกลักษณ์ที่บ่งบอกความเป็นตัวตนของพวกเขา บรรยากาศเหมือนร้านขายของที่ละลานตา ไม่ใช่มีแค่ผลงานวางโชว์เท่านั้น แต่ยังมีศิลปินทำงานกันให้เห็น ให้เราได้ดูว่า กว่าที่ผลงานศิลปะแต่ละชิ้นจะออกถูกผลิตออกมาได้ มันต้องผ่านการกลั่นกรองความคิดและใช้เทคนิกสร้างสรรค์ออกมาอย่างไร

ศิลปะบอกเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์

สำหรับคนที่อาจจะไม่คุ้นเคยกับการไปชมงานศิลป์ เพราะบางทีอาจรู้สึกว่า “หัวสูงไม่ถึง ต้องปีนบันไดชม” พิมพ์พิศา อดีตอาจารย์สอนศิลปะที่มหาวิทยาลัยศิลปากร มีคำแนะนำว่า สิ่งสำคัญคือการที่เราต้องเปิดใจให้กว้าง

“ถ้าเราดูแบบผิวเผิน การดูงานศิลปะจะขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของเรา ในอาร์ตแกลเลอรี ยังจะมี Artist Statement ให้อ่าน เพื่อดูแนวคิดทางด้านศิลปะของศิลปินด้วย แต่ถ้าเรามีความสนใจ ก็สามารถไปหาอ่านในเชิงลึกได้ออนไลน์ว่างานศิลปะแต่ละประเภทมีลักษณะอย่างไร ก็จะได้ความรู้และสนุกกับการดูงานศิลปะมากขึ้นแต่การไปชมงานศิลปะความจริงแล้ว เราไม่ได้ดูแค่งานศิลป์เท่านั้น แต่เรายังได้ดูวัฒนธรรมของพื้นที่นั้นด้วย เพราะงานศิลปะเป็นบทบันทึกเหตุการณ์ในเวลานั้นๆ งานศิลปะจึงบ่งบอกถึงประวัติศาสตร์ด้วย ไม่ใช่แค่ความงามอย่างเดียว” พิมพ์พิศา กล่าวทิ้งท้าย

เชื่อเถอะว่า การไปชมอาร์ตแกลเลอรีและอาร์ตสตูดิโออิสระเหล่านี้ในเมลเบิร์นจะให้ความประทับใจแก่คุณไม่รู้ลืม เพราะนอกจากจะเป็นกิจกรรมที่เติมเต็มจินตนาการและเติมสีสันในวันว่างของคุณแล้ว ยังเปิดโอกาสให้คุณได้เห็นเสี้ยวหนึ่งของชีวิตคนทำงานศิลปะในออสเตรเลียอย่างใกล้ชิด มากกว่าแค่การชมภาพในกรอบกระจก

อาร์ตแกลเลอรีน่าไปในออสเตรเลีย

1. อาร์ตแกลเลอรีเกือบ 40 แห่งในย่าน Collingwood และ Fitzroy มักเกาะกลุ่มกันอยู่แถวถนน Brunswick Street, Smith Street, Wellington Street และ Johnson Street

Brunswick Street Gallery

2. Brunkswick Street Art Gallery (322 Brunswick Street, Fitzroy) และ Sutton Gallery (254 Brunswick Street, Fitzroy) ทั้งสองแห่งตั้งอยู่บนตึกอิฐสีแดงเก่าแก่อายุกว่าร้อยปี โดยแสดงงานศิลป์ในห้องเล็กๆ ต่างๆ ที่กระจายอยู่ในตึก มีงานหลากประเภทจากหลายศิลปินให้ชมพร้อมกันในที่เดียว ท่ามกลางบรรยากาศเก่าๆ สงบๆ

sutton gallery

3. ถ้าอยากชมงานแนวสตรีทอาร์ต งานแนวผสมผสานความเป็นกราฟฟิกอาร์ต ต้องมาแวะที่ Bside Gallery (121 Brunswick Street, Fitzroy) ที่แม้จะเป็นพื้นที่เล็กๆ แต่มีบรรยากาศของพลังคนรุ่นใหม่ ส่วนแกลเลอรีแนวเดียวกันที่เพิ่งเปิดใหม่ไม่ไกลคือ Honey Bones Gallery (50 Budd St, Collingwood) ซึ่งมีสตูดิโอให้ศิลปินเช่าเพื่อนั่งทำงานที่นั่นด้วย

budd gallery

4. Backwoods Gallery (25 Easey Street, Collingwood) เป็นพื้นที่แสดงงานศิลป์หลากประเภทในห้องแสดงงานที่กว้างขวาง แกลลอรีนี้ มีเอกลักษณ์คือพื้นห้องและเพดานที่เป็นไม้สีน้ำตาลเข้ม เป็นที่มาของชื่อแกลลอรี ในพื้นที่เดียวกับแกลลอรี ยังมีบาร์ที่ศิลปินและฮิปสเตอร์ท้องถิ่นติดใจคือ Paradise Alley ให้เราได้แวะหลังเดินลงบันไดมาจากห้องแสดงงาน

5. ใครที่อยากมาทักทายพิมพ์พิศา ติณห์พลิศ พร้อมชมงานศิลปินท้องถิ่นหน้าใหม่ และบางทีมีงานของศิลปินไทยมาจัดแสดงด้วย ต้องมาที่ Blackcat Gallery (95 Johnston St, Collingwood) แม้แต่ Headache Stencil จากเมืองไทย ก็เคยนำงานหยิกกัดรัฐบาล คสช. มาโชว์ที่นี่มาแล้ว ที่สำคัญปาร์ตี้ที่แกลลอรีนี้คึกคักและเป็นกันเองที่สุด

Blackcat Gallery

6. ส่วนผู้สนใจงานภาพถ่าย ต้องไม่พลาดชม Centre for Contemporary Photography (404 George Street, Fitzroy) แกลเลอรีที่ไม่มุ่งหวังผลกำไร ซึ่งมีคอร์สอบรมให้ผู้ชื่นชอบการถ่ายภาพ ไปถึงที่นั่นแล้ว ถ้าหิว ต้องแวะผับที่เสิร์ฟอาหารหรูตรงข้ามกับแกลเลอรี คือ Marquis of Lorne (411 George St, Fitzroy) ผับเก่าแก่ที่อยู่คู่ย่าน Collingwood มานาน ผู้สนใจสามารถติดตามข่าวนิทรรศการศิลปะและงานปาร์ตี้เปิดตัวนิทรรศการของแต่ละแกลเลอรีได้ทางเฟสบุ๊กเพจของแกลเลอรี

7. สำหรับอาร์ตสตูดิโอในย่าน Collingwood และ Fitzroy ที่น่าไปชมคือ สตูดิโอของ Honey Bones Gallery และ Everfresh Studio (1-5 Perry St, Collingwood) ซึ่งเน้นศิลปะแนวสตรีทอาร์ต ถ้าอยากชมศิลปินทำงานประเภท visual art ต้องขอร้องพิมพิศาให้พาชม Dike Gallery ในสังกัด Blackcat Gallery ของเธอ

street artist

ฺBlender Stidios

8. ถ้าอยากดูอาร์ตสตูดิโอแต่เวลาไม่มี ในย่านธุรกิจของเมลเบิร์นเลย ก็มี Blender Studios (33-35 Dudley St, West Melbourne) ของ Adrian Doyle ศิลปินสตรีทอาร์ตคนดังของเมลเบิร์น ซึ่งมีภรรยาสุดน่ารักคนไทยเป็นผู้จัดการสตูดิโอ ติดต่อไปขอชมได้ ที่นั่นมีศิลปินกว่า 20 คนที่สร้างสรรค์ผลงานหลากประเภทเช่าพื้นที่ทำงานอยู่

สามารถดาวน์โหลดแผนที่ท่องเที่ยวระบุที่ตั้ง พร้อมรายละเอียดของอาร์ตแกลเลอรีเกือบ 40 แห่งในย่าน Collingwood และ Fitzroy ได้จากเว็บไซต์ของ Yarra City Council หรือคลิก ที่นี่

Tags: