- เขบ็ด – ฉัตตกาญจน์ วงษ์ศิริ หนึ่งในศิลปินในสังกัด BGC Glass Studio สตูดิโอในเครือบริษัท บางกอกกล๊าส จำกัด (มหาชน) ที่มุ่งสนับสนุนให้ศิลปินได้สร้างสรรค์ศิลปะแก้วในสไตล์ตนเอง และตั้งใจเป็นสตูดิโอศิลปะเป่าแก้วแห่งแรกในไทยที่เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ศิลปะแก้วครบวงจร จะพาเราไปรู้จักที่นี่ให้มากขึ้น
- BGC Glass Studio นำเทคนิคเป่าแก้วมาสร้างสรรค์ในเชิงศิลปะเป็นหลัก เสน่ห์อยู่ที่กระบวนการทำแก้วของศิลปิน ให้ความรู้สึกคล้ายอยู่ใน Performance Art ที่ศิลปินต้องทำงานเป็นทีม เพราะต้องอยู่กับความร้อนตลอดเวลา
เราเชื่อว่า ศิลปะแฝงอยู่ในทุกสรรพสิ่ง…แต่บางครั้ง ความคุ้นชินทำให้เราเผลอไผลจนมองข้ามบางสิ่งไป อย่างเมื่อนึกถึง ‘แก้ว’ ความรู้สึกแรกเรามองว่าเป็นแก้วน้ำ เป็นภาชนะไว้ใช้ดื่ม แทบไม่ได้นึกถึงแก้วในความหมายเชิงอื่นเลย
กระทั่งเมื่อปลายปีที่แล้ว เราเดินชมงานนิทรรศการงานหนึ่งแล้วได้พบผลงานศิลปินไทยที่ตั้งชื่อว่า Perfect? ที่ตั้งใจตั้งคำถามถึงความหมายเกี่ยวกับ ‘ความสมบูรณ์’ ของแต่ละคน แต่สิ่งที่ดึงดูดสายตาเรากลับเป็นผลงานศิลปะ ‘แก้ว’ ที่เขาปั้นเองทั้งหมด
ขออุทานดังๆ เพราะลืมไปจริงๆ ว่าแก้วก็เป็นศิลปะเหมือนกัน… ผลงานชุดนั้นพาเราให้ได้พูดคุยกับเจ้าของ เขาคือหนุ่มผมยาวที่เข้ามาแนะนำตัวด้วยชื่อ เขบ็ด - ฉัตตกาญจน์ วงษ์ศิริ พ่วงต่อด้วย “เป็นศิลปินในสังกัด BGC Glass Studio ครับ”
เขานี่ล่ะที่จะเป็นตัวแทนบอกเล่าเรื่องราวสตูดิโอนี้ให้เราได้รู้จัก
• เริ่มแรกของ BGC Glass Studio
เลี้ยวเข้าสนามกีฬาบางกอกกล๊าส (BG Stadium) เดินต่ออีกหน่อยก็มาถึง BGC Glass Studio ที่ซึ่ง เขบ็ด – ฉัตตกาญจน์ วงษ์ศิริ หนึ่งในศิลปินในสังกัดคือผู้อาสาพาเราเดินชมแกลเลอรีด้านหน้าสตูดิโอ
ภายในห้องจัดแสดงผลงานศิลปะแก้วของศิลปินไทยและเทศหลายคน แต่ละชิ้นงานโชว์ความสร้างสรรค์ ‘แก้ว’ ในเชิงศิลปะหลากหลายมิติ เดินไปข้างหลังจะพบกับเครื่องมือและอุปกรณ์ทำแก้ว ที่สเปเชียลยิ่งกว่าคือ ได้เห็นศิลปินในสังกัดจดจ่ออยู่กับการทำแก้วเป็นรูปทรงต่างๆ อย่างน่าสนใจ
บริษัท บางกอกกล๊าส จำกัด (มหาชน) เป็นแหล่งอุตสาหกรรมรายใหญ่ของไทยที่ผลิตแก้วและบรรจุภัณฑ์ครบวงจร ต่อมาบริษัทต้องการทดลองทำผลิตภัณฑ์แก้วรูปแบบใหม่ๆ ผนวกกับความตั้งใจเป็นผู้นำธุรกิจเกี่ยวกับแก้วครบวงจร จึงได้ก่อตั้ง BGC Glass Studio สตูดิโอขนาดย่อมที่มุ่งเน้นศิลปะเกี่ยวกับแก้วขึ้นเมื่อปี 2017 และที่นี่ยังถือเป็นสตูดิโอศิลปะเป่าแก้วแห่งแรกของไทยอีกด้วย
เป้าหมายหลักของสตูดิโอแห่งนี้คือ การเผยแพร่ความรู้ในการสร้างสรรค์ศิลปะแก้ว และความต้องการผลิตศิลปินที่สร้างสรรค์ศิลปะเป่าแก้วเพื่อให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง รวมถึงการผลักดันศิลปะแก้วฝีมือศิลปินไทยให้ไปสู่ระดับสากล โดยศิลปินในสังกัดจะได้รับเงินเดือนเฉกเช่นพนักงานบริษัทและรายได้พิเศษอื่นจากการจำหน่ายผลงาน อีกทั้งยังมีโอกาสได้เรียนรู้จากศิลปินแก้วจากนานาชาติ
• มุ่งเลือกคนหัวใจ ‘ศิลป์’
หลังจัดตั้งสตูดิโอ ช่วงเวลานั้นยังไม่มีคนไทยที่มีประสบการณ์ด้านการทำศิลปะแก้ว บริษัทจึงมุ่งเฟ้นหาบุคลากรที่จบด้านศิลปะ เพราะต้องการคนที่มีแนวคิด สร้างสรรค์งานศิลป์แบบ Pure Art เป็นหลัก เขบ็ดเป็นอีกหนึ่งคนศิลปะ เขาจบจากคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร หลังจากเป็นอาจารย์สอนศิลปะได้สักพัก ก็ผันตัวมาเป็นศิลปินรุ่นแรกๆ ในสังกัด BGC Glass Studio
“ศิลปินรุ่นแรกมีทั้งหมด 4 คน รวมผมด้วย ตอนนั้นไม่มีใครมีพื้นฐานการทำศิลปะแก้วเลย บริษัทจึงเชิญศิลปินแก้วที่มีชื่อเสียงจากต่างประเทศมาให้ความรู้พวกเรา”
• เทคนิคเป่าแก้วกับเสน่ห์เฉพาะตัว
“ที่นี่เรานำเทคนิคเป่าแก้ว (Glass Blowing) มาใช้ ซึ่งถือเป็นเทคนิคที่ใหม่มากและยังไม่มีใช้ในไทยในขณะนั้น ขั้นตอนหลักๆ เราจะใช้ตัวแท่งเหล็กจุ่มไปในแก้วร้อนๆ แล้วเป่าออกมาเพื่อสร้างรูปทรง สมัยก่อนเน้นทำภาชนะ สิ่งของต่างๆ แต่พอยุคสมัยเปลี่ยนไป เทคนิคนี้ก็นำมาใช้สร้างสรรค์แก้วในเชิงศิลปะมากขึ้น”
เทคนิคการทำแก้วนั้นมีหลายวิธี แต่เทคนิคการเป่าแก้วมีกระบวนการที่น่าสนใจและน่าตื่นเต้น เขบ็ดเล่าต่อว่า ระหว่างทำจะให้ความรู้สึกคล้าย Performance Art ซึ่งถือเป็นเสน่ห์ และมีความโดดเด่นที่หาไม่ได้ในเทคนิคอื่น ภาพเหล่าศิลปินที่จดจ่ออยู่กับการเป่าแก้วที่เราเห็นตอนเดินเข้ามาในสตูดิโอสนับสนุนคำพูดนี้ เพราะเราเองก็รู้สึกราวกับกำลังชมการแสดงโชว์เจ๋งๆ เลย
‘ดูเป็นกระบวนการที่ยากพอควรเลยนะ’ เราบอกเขาไปตามที่คิด เขบ็ดเลยลุกไปจับแท่งเหล็กจุ่มแก้วในเตาไฟ แล้วยื่นที่หนีบเหล็กให้เราลองปั้นแก้วดู เราส่งยิ้มแห้งให้หลังได้ลองทำ เพราะยากอย่างที่คาดไว้จริงๆ
“ช่วงที่เริ่มฝึกฝน สิ่งที่ท้าทายมากที่สุดสำหรับผมคือวัสดุ เพราะไม่เคยรู้จัก เลยต้องมานั่งเรียนรู้กันใหม่ อีกเรื่องคือความร้อน เมืองไทยอากาศร้อนอยู่แล้ว พอต้องทำงานกับไฟ กับความร้อนตลอดเวลา รู้สึกว่าน่ากลัวนะ มันจะเหนื่อยมากๆ ต้องดื่มน้ำเยอะๆ”
นอกจากนี้ ด้วยชิ้นงานที่มีขนาดใหญ่ เพื่อความปลอดภัยในการเป่าแก้ว จึงต้องทำงานกันเป็นทีม ไม่สามารถทำคนเดียวได้ “ผมมองว่าทั้งหมดนี้เป็นความท้าทายของการเป่าแก้ว ไม่ได้ถือเป็นอุปสรรค ส่วนตัวผมเรียกว่าเป็นการเรียนรู้ที่ดี”
• สนับสนุนตัวตนศิลปิน
จากการเดินชมผลงานศิลปะแก้วของสตูดิโอแห่งนี้ สิ่งที่เด่นชัดคือศิลปินแต่ละคนมีสไตล์เฉพาะตัวมากและไม่ซ้ำกันเลย เราอดสงสัยไม่ได้ว่า แล้วสไตล์งานของ BGC Glass Studio เน้นไปในทิศทางใด
“สตูดิโอเราค่อนข้างเปิดกว้าง เน้นความยูนีกของศิลปินเป็นหลัก ดังนั้นงานหลักของศิลปินไม่ใช่การทำ Commision ให้บริษัท แต่เป็นการทำงานแก้วเพื่อค้นหาและเสิร์ฟความเป็นตัวตนของศิลปินเอง เพราะผลงานเราจะไปจัดแสดงให้คนอื่นเห็นในรูปแบบของงานศิลปะจริงๆ” สตูดิโอจึงเปรียบเสมือนตัวกลางให้ศิลปินได้ค้นหาสไตล์ที่ใช่ของตนเองด้วย
มาถึงตรงนี้เราก็อยากรู้ว่าสไตล์งานของศิลปินหนุ่มที่พูดคุยด้วยนั้นเป็นอย่างไร เขบ็ดผู้ตั้งใจอยากสร้างสรรค์ศิลปะแก้วให้หลุดพ้นจากความเป็นภาชนะให้มากที่สุด ยิ้มแล้วเล่าด้วยสายตาเป็นประกายว่า
“สไตล์งานผมค่อนข้างมีดีเทลที่บอกเล่าถึงร่องรอย ถ้ามองไปที่แก้วจะเห็นรอยขีดข่วนมากมาย เพราะผมสนใจเรื่องมนุษย์ ช่วงหลังนี้ผมอยากเล่าถึงคนกับสภาพแวดล้อมและสังคม ผลงานที่ออกมา จะไม่มีฟังก์ชัน อาจจัดให้อยู่ในงานประติมากรรมอีกแบบที่เป็นวัสดุแก้วครับ”
• ถ่ายทอดการเรียนรู้ศิลปะแก้วครบวงจร
นอกจากต้องการผลิตและผลักดันศิลปินแล้ว สตูดิโอยังมีอีกหนึ่งเป้าหมายที่สำคัญไม่แพ้กันคือ การเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ด้านศิลปะแก้วให้ผู้ที่สนใจ BGC Glass Studio จึงทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัย ร่วมสร้างหลักสูตรเพิ่มวิชาแก้วเข้าไปในบทเรียน “เราทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ แล้วยังมีมหาวิทยาลัยในต่างประเทศด้วย เราค่อยๆ สอดแทรกศิลปะแก้วเข้าไปในหลักสูตร เพื่อให้น้องๆ เข้าใจความหมายและวัสดุแก้วครับ”
ในอนาคตสตูดิโอจะเปิดรับเด็กฝึกงานเพื่อถ่ายทอดศาสตร์ศิลปะแก้ว เพื่อส่งต่อไปยังผู้ที่สนใจ และว่าที่ศิลปินหน้าใหม่ให้ได้รู้จักและเรียนรู้เกี่ยวกับวัสดุแก้ว เป็นการส่งเสริมให้ได้ค้นหาตัวตนและสไตล์ที่ใช่ในแบบของตัวเอง
“ตอนเข้ามาเพื่อทำงานในฐานะศิลปินเป่าแก้ว ศิลปะแก้วยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักในประเทศไทย แต่ตอนนี้เริ่มมีผู้คนสนใจกันมากขึ้นแล้ว เห็นได้ชัดเลยตั้งแต่ช่วงโควิดที่เราเชิญกลุ่มนักเรียน นักศึกษาเข้ามาชมผลงานและชมการสาธิตเป่าแก้วของเรา เราขอเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยผลักดันศิลปะแก้วต่อไป เพราะเชื่อว่ายังมีผู้ที่สนใจและพร้อมที่เข้ามาเรียนรู้ศาสตร์นี้กับเราครับ”
ข้อมูลติดต่อ
ที่อยู่ : 47 ถนนรังสิต – นครนายก ตำบล บึงยี่โถ อำเภอ ธัญบุรี ปทุมธานี 12130
เบอร์โทรศัพท์ : 0-2834-7000 ต่อ 7445
เฟซบุ๊ก : BGC Glass Studio
เว็บไซต์ : BGC glass studio