About
ART+CULTURE

‘บุญ-แชร์’

‘บุญ-แชร์’ คอลเลกชันเก้าอี้สายบุญเมืองแพร่เพื่อเทกแคร์สรีระและไลฟ์สไตล์คนสูงวัย

Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • ชวนอ่านเบื้องหลัง ‘บุญ-แชร์’ คอลเลกชันเก้าอี้ไม้สักที่ออกแบบขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์การใช้ชีวิตของผู้สูงอายุได้อย่างครอบคลุม ‘บั๊ม–พงศธร กันทะวงค์’ อาจารย์วิทยาลัยชุมชนแพร่ หนึ่งในผู้ร่วมพัฒนาโปรเจกต์นี้

ถ้าพูดถึงแหล่งค้าไม้ เราคนกรุงเทพฯ จะนึกถึงบางโพ แต่ถ้าเป็นภาคเหนือ บั๊ม–พงศธร กันทะวงค์ บอกเราว่าต้องเป็นแพร่ เพราะจังหวัดนี้เป็นแหล่งปลูกไม้สักที่ดีอีกแห่งหนึ่งของไทย และยังมีการส่งออกไม้สู่ต่างประเทศมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 การทำไม้จึงเป็นทั้งวิถีชีวิตและอาชีพหลักที่ผูกโยงกับคนเมืองแพร่

ในนิทรรศการ สูงวัย…ขยาย (ความ) ซึ่งพูดถึงสังคมผู้สูงอายุผ่านการจัดแสดงผลงานของศิลปินทั้ง 11 คน หนึ่งในนั้นมี ‘บุญ-แชร์’ คอลเลกชันเก้าอี้ไม้สักจากจังหวัดแพร่ เพื่อรองรับสรีระของคนวัยนี้ตั้งวางโดดเด่นตามจุดต่างๆ…พอมานึกๆ ดูแล้ว แม้บ้านเราจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมานาน แต่เรายังไม่ค่อยเห็นเฟอร์นิเจอร์ไทยที่มีการทำวิจัย ออกแบบและพัฒนามาเพื่อคนวัยนี้กันอย่างจริงจัง

เรื่องราวของ บุญ-แชร์ จึงน่าแชร์ให้คนอื่นๆ ได้รู้จัก

บุญ-แชร์

Welcome to Furniture City

จังหวัดแพร่ประกาศยุทธศาสตร์เป็น ‘Furniture City’ ในปี 2014 ทำให้เกิดการรวมตัวกันของวิทยาลัยชุมชนแพร่ และ CEA หรือสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) เชียงใหม่ รวมถึงหน่วยงานภาคเอกชน ผู้ประกอบการเฟอร์นิเจอร์ไม้สักในจังหวัดและชุมชนชาวแพร่ เพื่อขับเคลื่อนเมืองแห่งไม้สัก ด้วยการยกระดับไม้ซึ่งเป็นของดีจากแพร่ ในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและสร้างงานให้กับชุมชน

บุญ-แชร์

โปรเจกต์แรกที่ทำร่วมกันคือเฟอร์นิเจอร์สำหรับเด็ก กระทั่งในปี 2017 บั๊มเล่าว่า รัฐบาลประกาศให้เมืองไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างเป็นทางการ ทำให้ทุกฝ่ายหยิบปัญหาสังคมผู้สูงวัยมาตีโจทย์ และพบว่า ปัญหาที่กลายเป็นอุปสรรคหลักของคนกลุ่มนี้คือสรีระ

บุญ-แชร์

‘เก้าอี้บุญ-แชร์’ เฟอร์นิเจอร์ไม้สักของแพร่เพื่อผู้สูงอายุจึงกลายมาเป็นโปรเจกต์ลำดับถัดมา โดยมีกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ค้าเฟอร์นิเจอร์หัวดง ตำบลดอนมูล วิสาหกิจงานไม้บ้านดอนมูล วิสาหกิจเทคโนโลยีงานไม้จังหวัดแพร่ และ ศูนย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เข้ามาร่วมในการพัฒนารูปแบบเฟอร์นิเจอร์สำหรับผู้สูงวัยกันอย่างจริงจัง ก่อนส่งต่อไปให้ผู้ประกอบการเฟอร์นิเจอร์ในชุมชนได้ผลิตและจัดจำหน่าย รวมถึงลดปัญหาความขาดแคลนของอุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับคนกลุ่มนี้ เช่น วอล์กเกอร์ที่มีคุณภาพดี ซึ่งต้องอาศัยการนำเข้าจากต่างประเทศเท่านั้น

บุญ-แชร์

บุญ-แชร์ คอลเลกชัน

ความหมายของ ‘บุญ-แชร์’ เกิดจากการตีความของนักออกแบบท่านหนึ่งจากวิสาหกิจชุมชนเทคโนโลยีงานไม้จังหวัดแพร่ ที่ต้องการทำเก้าอี้ให้คุณปู่ของเขา โดยมองว่าความตั้งใจนี้ถือเป็นเรื่องของบุญ ส่วนแชร์ยังพ้องเสียงกับ Chair ‘บุญ-แชร์’ จึงเปรียบเหมือนการที่เรามอบสิ่งดีๆ ให้คนที่เรารัก ซึ่งจะส่งต่อเป็นบุญให้เราในภายภาคหน้า

บุญ-แชร์

ในปี 2018 บุญ-แชร์ออกคอลเลกชันเก้าอี้ 3 แบบที่เราอยากเรียกว่าเป็น ‘สายบุญ’ ได้แก่ ‘บุญส่ง’ ที่มีโจทย์จากนักออกแบบซึ่งต้องการทำเก้าอี้ให้ปู่ผู้มีปัญหาเรื่องหัวเข่า โดยจะมาในลักษณะเก้าอี้โยกที่สามารถถ่ายเทแรงส่งของผู้นั่งและน้ำหนักการลุก – นั่งได้สะดวกสบาย อีกทั้งยังรับรองน้ำหนักผู้นั่งได้ถึง 100 กิโลกรัม

บุญ-แชร์

‘บุญเย็น’ ตอบโจทย์การนั่งพักดูโทรทัศน์ อ่านหนังสือได้สบายๆ ของผู้สูงอายุที่ต้องมีไม้เท้าติดตัว โดยที่วางแขนเก้าอี้จะมีที่เก็บไม้เท้าอยู่ข้างๆ บั๊มเล่าว่า การดีไซน์แบบนี้ช่วยลดการหลงลืมไม้เท้าได้ดี ส่วน ‘บุญค้ำ’ เป็นวอล์กเกอร์ไม้สักที่มีหวายเสริมด้วย ออกแบบกึ่งนั่งกึ่งยืน รองรับผู้สูงอายุที่เหน็ดเหนื่อยจากการเดิน ก็สามารถทิ้งตัวนั่งพักได้ นอกจากนี้ ยังใช้เป็นที่วางยาและของใช้อื่นๆ ระหว่างเดินได้ด้วย

บุญ-แชร์

บุญ-แชร์ ใช้ไม้สักจากสวนป่าเศรษฐกิจจากองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้เขตแพร่ทั้งหมด และกว่าจะเป็นคอลเลกชัน 3 ตัวนี้ ทั้งตัวบั๊ม ทีมนักออกแบบ และช่างไม้ท้องถิ่นต้องเลือกแบบเก้าอี้จากที่ออกแบบไว้ถึง 20 แบบ และยังต้องพัฒนา ลองผิดลองถูก กว่าจะได้เก้าอี้ที่มีคุณภาพใช้เวลาถึง 3 ปี อีกทั้งทางทีมยังต้องนำไปทดสอบความแข็งแรงและการใช้งานกับกลุ่มเป้าหมาย

บุญ-แชร์

“เราต้องนำเก้าอี้ไปทดสอบเสถียรภาพความแข็งแรง กระแทก 10,000 ครั้ง โยนจากที่สูงทดสอบ 10 ครั้ง แล้วก็นำไปทดสอบกับกลุ่มผู้สูงอายุในจังหวัดและต่างจังหวัด เราทำงานกับทีมแพทย์จากศูนย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่คอยเป็นที่ปรึกษา และเวลาผู้สูงอายุนั่ง เราจะมีแบบทดสอบถามเขาว่าการลุก-นั่งเป็นอย่างไร ทิ้งน้ำหนักตัวได้ดีไหม องศาตัวโยกของเก้าอี้จังหวะมันได้ไหม

บุญ-แชร์ วางขายครั้งแรกที่ศูนย์เวชศาสตร์เชียงใหม่ ได้ไปจัดแสดงที่ Chaing Mai Design Week และ Bangkok Design Week และล่าสุดกับการมาจัดแสดงที่นิทรรศการ สูงวัย…ขยาย (ความ) ที่ หอศิลป์ฯ กรุงเทพ (BACC) ที่ทำให้เราได้มีโอกาสรู้จักกับ บุญ-แชร์ นั่นเอง

บุญ-แชร์

บุญ-แชร์

แชร์แพร่เมืองไม้

ไม้สักนับเป็นวิถีชีวิตของชุมชนชาวแพร่ก็จริง แต่ถ้าถามถึงคนนอกที่มองเข้ามา บั๊มบอกด้วยสีหน้ายิ้มๆ ว่าดูไม่ดีสักเท่าไหร่ “แพร่เรามีภาพลักษณ์ในเชิงลบว่าเป็นเมืองชอบตัดไม้ทำลายป่า ด้วยความที่เราอยู่กับสิ่งแวดล้อม อยู่กับการตัดไม้เพื่อนำมาใช้ประโยชน์และส่งออก แต่จริงๆ แล้วนี่คือปากท้องของเรา สมัยก่อนสยามจะเข้ามาตัดไม้ที่นี่ไปเหลือ 90% แล้วเหลือ 10% แค่ตอ เราก็ต้องตัดเอาไปประยุกต์ใช้ประโยชน์เพื่อเลี้ยงปากท้องเหมือนกัน”

บุญ-แชร์

การเป็น Furniture City ของจังหวัดแพร่ในอีกแง่หนึ่ง ก็เพราะต้องการชูภาพลักษณ์เชิงบวกออกไป “จากวันแรกจนถึงวันนี้ บุญ-แชร์ เข้าสู่ปีที่ 6 แล้ว อย่างน้อยเราก็ปรับภาพลักษณ์ให้เป็นในเชิงบวกได้ด้วยการทำเฟอร์นิเจอร์เพื่อรองรับการใช้ชีวิตผู้สูงวัยได้จริง และสามารถลดการนำเข้าอุปกรณ์ทางการแพทย์ของคนวัยนี้จากต่างประเทศได้”

บุญ-แชร์

โปรเจกต์นี้ยังช่วยส่งเสริมทักษะการทำงานไม้และเพิ่มอาชีพให้กับชุมชน อีกทั้งในแง่ของการผลิตเฟอร์นิเจอร์ในจังหวัดแพร่ เดิมทีขายได้เพียงตัวละประมาณ 1,000-2,000 บาท แต่เมื่อเพิ่มศิลปะและดีไซน์เข้าไป ทำให้ บุญ-แชร์ สามารถยกระดับคุณภาพและราคาสินค้าจากเมืองแพร่ได้เท่าตัว โดยรายได้จากการขาย บั๊มยังบอกอีกว่าจะเข้าสู่ชุมชนทั้งหมด

บุญ-แชร์

ถ้าเดินชมนิทรรศการจะเห็นว่า ปัจจุบัน บุญ-แชร์ นอกจากมีคอลเลกชันเก้าอี้ 3 แบบจัดวางอยู่ตามมุมต่างๆ พร้อมดึงดูดคนที่เดินผ่านและคนรุ่นปู่รุ่นย่ามาลองหย่อนก้นนั่งดูแล้ว ยังมีเฟอร์นิเจอร์หน้าตาใหม่ๆ ทั้งเก้าอี้พนักพิงสูง เก้าอี้ไม้เท้า และโต๊ะข้างที่พักไม้เท้าที่ยังคงเน้นโชว์เสน่ห์ของเนื้อไม้ในดีไซน์ดูคลาสสิกเรียบง่ายแต่เข้าถึงผู้นั่งทุกวัย “เพราะเราต้องการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ให้ตอบโจทย์คนทั่วไปได้เข้าถึงด้วยตามหลัก Universal Design”

ไม่น่าล่ะพอเราเห็นปั๊บเป็นต้องขอไปลองนั่งดูปุ๊บ แล้วก็พบว่าคุณสมบัติของเก้าอี้บุญ-แชร์ สามารถรองรับสรีระของคนวัยอื่นๆ ได้ด้วย ใครที่กำลังมองหาเก้าอี้ให้คนรุ่นเก๋าในบ้าน ลองชวนกันมาดูของจริงก่อนตัดสินใจซื้อได้ในนิทรรศการ ‘สูงวัย…ขยาย (ความ)’ นะ จัดแสดงตั้งแต่วันนี้ – 26 พฤศจิกายน 2566 เท่านั้น

Tags: