About
CRAFTYARD

ก้านดอกชก

คราฟต์จากก้านดอกชกผลงานปราชญ์พื้นบ้าน หนึ่งเดียวในพังงา ชูคุณค่าท้องถิ่นที่หาดูยาก

เรื่อง เปรมวดี ปานทอง Date 06-08-2023 | View 2310
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • ชวนทำความรู้จักกับงานคราฟต์จากก้านดอกชก ของพี่สำรวย พละหงษ์ ศิลปินพื้นถิ่นที่เชี่ยวชาญการสร้างสรรค์ผลงานจากก้านดอกชก หนึ่งเดียวของพังงา

มีคนเคยบอกว่า “ของบางอย่างจะมีค่าก็ต่อเมื่ออยู่ถูกที่ถูกเวลา ถ้าอยู่กับคนที่มองเห็นคุณค่า ต่อให้เป็นของไม่มีราคา มันจะมีก็มีคุณค่าขึ้นมาทันที”

เฉกเช่นที่พี่สำรวย พละหงษ์ ศิลปินพื้นถิ่นที่เชี่ยวชาญการสร้างสรรค์ผลงานจากก้านดอกชก เพียงหนึ่งเดียวในจังหวัดพังงา และน่าจะเป็นหนึ่งเดียวในประเทศไทย ได้หยิบเอาความงามจากธรรมชาติที่ถูกมองข้ามมาถ่ายทอดเป็นงานศิลปะได้อย่างมีคุณค่า

ก้านดอกชก

…จากก้านดอกชกที่ถูกปล่อยทิ้งอยู่บนเขาสู่งานคราฟต์ตกแต่งผนังในโรงแรม Phang Nga Origin Hotel อันเป็นที่มาให้เราได้มาพูดคุยกับผู้อยู่เบื้องหลังการสร้างสรรค์งาน และเพิ่มคุณค่าให้กับก้านดอกชก กลายเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น

รู้จัก ‘ต้นชก’

ใครที่เคยมาพังงาน่าจะเคยได้ยินและลองกิน ‘ลูกชกหรือฉก’ ซึ่งนิยมนำมาทำขนมหวานลูกชกลอยแก้ว หนึ่งในของดีขึ้นชื่อเมืองพังงา

“จริงๆ ต้นชกไม่ได้เป็นพืชที่มีเฉพาะในพังงา จังหวัดใกล้เคียงอย่างกระบี่และสุราษฎร์ฯ ก็มีอยู่มาก แต่เขาไม่ได้เอามาใช้ประโยชน์เหมือนที่คนพังงาทำอยู่ หรือในภาคกลางและภาคอื่นๆ ก็มี แต่เป็นต้นชกอีกประเภทเรียกว่า ต้นชกหนู กินได้แค่ลูกกับยอด ไม่มีน้ำตาลชกเหมือนชกบ้านของทางใต้” พี่สำรวย เล่าถึงที่มาของเมนูเด่น

ก้านดอกชก

จากประสบการณ์ที่ศึกษาเก็บข้อมูลมาเกือบ 40 ปี พี่สำรวยนิยามต้นชกว่า เป็นไม้ล้มลุกที่อายุยืน ไม่ใช่ไม้ยืนต้นอย่างที่หลายคนเขียนไว้ เพราะมีอายุการใช้งานแค่ 45 ปี หลังจากนั้นจะแก่ตาย ลำต้นสูงประมาณ 20-25 เมตร ใช้เวลาเติบโตราว 25 ปีก่อนจะออกลูก เมื่อออกลูกแล้วก็จะค่อยๆ แก่ตายลงไป จนได้รับฉายา ‘ต้นลูกฆ่าแม่’

ก้านดอกชก

ภาพ : gosmartfarm.com

“ร้อยละ 80 ของต้นชกจะออกลูกเพียงครั้งเดียว ส่วนอีกร้อยละ 10-20 อาจจะออกได้ 2 ครั้งบ้างแต่น้อยมาก” เมื่อบวกกับแหล่งที่พบส่วนใหญ่จะขึ้นตามแนวภูเขาหิน มีความยากลำบากในการได้มาในแต่ละครั้ง แต่สามารถพบได้มากในชุมชนบ้านบางเตย อ.เมือง จ.พังงา ที่มีอาชีพหลักในการทำน้ำตาลชกและแปรรูปผลิตภัณฑ์ลูกชก

ก้านดอกชก

จากคำสบประมาทสู่ศิลปินพื้นถิ่น

แม้พื้นเพของครอบครัวดั้งเดิมจะไม่ใช่คนปักษ์ใต้ แต่การเกิดและเติบโตในชุมชนบางเตย ทำให้พี่สำรวยได้สัมผัสวิถีการขึ้นน้ำตาลชกของคนเฒ่าคนแก่ในท้องถิ่น กลายเป็นภาพจำตั้งแต่อายุประมาณ 3-4 ขวบ ทว่าด้วยจังหวะชีวิตที่ทำให้ต้องระหกระเหินไปเป็นช่างต่อเรือที่ระนองอยู่ 4-5 ปีในช่วงวัยรุ่น ต้องรอถึงอายุ 21 ปีก่อนจะหันมาทำน้ำตาลชกอย่างที่สนใจ

“ตอนนั้นกลับมาอยู่บ้านแล้วเห็นเขายังทำกันอยู่ เลยขึ้นไปดูว่าเขาทำอย่างไร จำได้ว่าพอถาม เขาก็สบประมาทว่า ทำไม่ได้หรอก ขนาด…ูทำมานานแล้วยังไม่ค่อยได้ผลเลย …ึงจะมีปัญญามาจากไหน พ่อแม่ก็มาจากอีสาน นับจากวันนั้นผมเลยตัดไม้ไผ่ขึ้นไปเลย ครั้งแรกโดนหนามตำกลับมาเลือดเต็มตัวไปหมด เพราะเรายังไม่มีประสบการณ์ ขั้นตอนหลายอย่างมีความซับซ้อน”

ด้วยความตั้งใจจะลบคำสบประมาทให้ได้ เขามุ่งมั่นศึกษาอย่างลึกซึ้งจนเข้าใจว่าธรรมชาติสรรสร้างมาแล้วจะไปฝืนไม่ได้ ก่อนจะกลายเป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ในชุมชน พร้อมเก็บข้อมูลบันทึกเรื่องราวและความรู้ต่างๆ เกี่ยวกับการทำน้ำตาลชกเป็นตำราของตัวเอง เพื่อโอกาสในการถ่ายทอดให้กับคนรุ่นหลังอย่างถูกต้อง

ก้านดอกชก

กระทั่งเมื่อกว่า 10 ปีที่แล้วเกิดมรสุมในชีวิตครั้งใหญ่ เลยคิดหารายได้เสริมจากสิ่งที่มีอยู่ จนเกิดไอเดียทำเฟอร์นิเจอร์จากก้านดอกชก ซึ่งได้จากการไปเก็บน้ำตาลชกและลูกชกที่เป็นอาชีพหลักอยู่แล้ว บวกกับมีทักษะงานไม้จากการต่อเรือติดตัวอยู่ด้วย

ก้านดอกชก

“แทนที่จะตัดทิ้งหรือปล่อยให้มันแห้งเหี่ยวตายไปเปล่าๆ ผมคิดว่าก้านดอกชกน่าจะนำมาทำประโยชน์ได้มากกว่า เลยลองเอามาทำเฟอร์นิเจอร์ จำได้ว่าตัวแรกคือเก้าอี้แบบมีพนักพิงตัวใหญ่ ทำเสร็จปรากฏว่ามีคนสนใจดีขายได้เร็วกว่าที่คิด จากนั้นก็ลองทำรูปสัตว์ประดับผนัง ทำเรือ ก็มีคนสนใจสั่งกันมาต่อเนื่อง” พี่สำรวย เล่าพร้อมกับชำเลืองไปยังชิ้นงานประดับผนังรูปช้าง หนึ่งในชิ้นงานชุดแรกๆ ที่เก็บไว้เป็นคุณค่าทางใจ

ก้านดอกชก

จากรายได้เสริมในตอนแรกกลับกลายเป็นรายได้หลักของครอบครัว ด้วยตัวเลขประมาณ 1,000-2,000 บาทต่อวัน พร้อมได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินพื้นถิ่นที่เชี่ยวชาญการสร้างสรรค์ผลงานจากก้านดอกชกหนึ่งเดียวของจังหวัด

ก้านดอกชก

ส่งต่อคุณค่า

“เหตุที่ไม่มีใครทำกัน ไม่ใช่เพราะทรัพยากรน้อย แต่เป็นเพราะการขึ้นไปเอาค่อนข้างลำบาก ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญพอสมควร บางครั้งขึ้นไปต้นหนึ่งมี 4-5 ช่อ ใช้ไม่ได้สักช่อ ต้องดูปีต่อปี ถ้ายังอยู่บนต้นข้ามปีก็ใช้ไม่ได้แล้ว มันจะผุ แต่ถ้าเอาลงมาที่บ้านแล้ว 10-20 ปีก็ยังใช้ได้”

ก้านดอกชก

ก้านดอกชก

ไม่เพียงแค่ก้านดอกชก หากก้านลูกก็สามารถเอามาทำงานแฮนด์เมดได้เช่นกัน คุณสมบัติเด่นของทั้งสองอย่างคือมีลวดลายและสีสวยงามแตกต่างกันในแต่ละช่อ มีความทนทาน รักษาง่าย เมื่อเอามาทำเป็นเก้าอี้จะให้ความรู้สึกเหมือนนั่งบนเครื่องนวดจากลักษณะของก้านชกที่มีความตะปุ่มตะป่ำตามธรรมชาติ

ก้านดอกชก

ก้านดอกชก

ก้านดอกชก

ทุกวันนี้งานส่วนใหญ่จะเป็นเฟอร์นิเจอร์และของประดับตกแต่งที่พี่สำรวยออกแบบเอง เช่น เรือจำลอง โต๊ะ เก้าอี้ แจกัน ช้าง นก และอีกมากมาย มีตั้งแต่ราคาหลักร้อยไปจนถึงหลักหมื่น หรือให้ทำตามแบบก็ได้

ก้านดอกชก

ก้านดอกชก

ก้านดอกชก

“อย่างเช่นชิ้นงานตกแต่งผนังในโรงแรมพังงา ออริจินนั้นทางเจ้าของโรงแรมมีแบบมาให้ดู และผมเป็นคนออกแบบใช้ก้านดอกชก เพราะเล็กกว่าก้านลูก ช่วยให้งานมีความประณีตมากกว่า”

ก้านดอกชก

ศิลปินพื้นถิ่นวัย 59 ปีบอกกับเราด้วยว่า ก่อนหน้านี้พยายามจะจดลิขสิทธิ์การทำเฟอร์นิเจอร์และงานคราฟต์จากก้านดอกชก แต่ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากติดปัญหาหลายอย่างที่เอื้อไปในเชิงบริษัทมากกว่า ขณะที่เขาทำกันในครอบครัวเลยล้มเลิกความตั้งใจไป

ก้านดอกชก

ก้านดอกชก

“คิดว่าจะทำไปเรื่อยๆ จนทำไม่ไหว เพื่อรักษาเอกลักษณ์ของท้องถิ่น และยินดีถ่ายทอดหากใครสนใจ จริงๆ ก็มีความคิดอยากยกระดับชิ้นงานให้เข้ากับยุคสมัยมากขึ้น แต่ปัญหาคือทุกวันนี้ก็ทำแทบไม่ทันแล้ว” เป็นเหตุผลที่พี่สำรวยไม่เปิดเพจเฟซบุ๊ก นอกเหนือจากการมีหน้าร้านเล็กๆ ชื่อ ‘ดอกแค’ ที่มาจากแคซึ่งเป็นคำเรียกไม้ต่อขึ้นต้นชก

ก้านดอกชก

หลายคนเรียกพี่สำรวยว่าปราชญ์ชาวบ้าน แต่เขาขอเปรียบตัวเองเป็นผู้ไขตำนานน้ำตาลชกมากกว่า เพราะที่ผ่านมาการทำน้ำตาลชกมีการเล่าขานกันมาเป็นตำนานแต่ไม่มีคนค้นพบที่เป็นตัวตน ไม่มีใครรู้ว่ามีจุดเริ่มต้นมาอย่างไร ทว่าใครอยากรู้เรื่องน้ำตาลชกก็จะมาถามเขา

ก้านดอกชก

“ผมมีความฝันอย่างหนึ่งคืออยากจะพิมพ์ข้อมูลเกี่ยวกับต้นชกและการทำน้ำตาลชกที่ได้จดบันทึกไว้ออกมาเป็นหนังสือให้ความรู้ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อสังคมและส่วนรวมในอนาคต”

ก้านดอกชก

ใครที่สนใจการสร้างสรรค์จากก้านดอกชก สามารถติดต่อได้ที่ร้านดอกแค ตั้งอยู่ห่างจากเทศบาลตำบลบางเตย อ.เมือง จ.พังงา ประมาณ 500 เมตร หรือโทร.089-287-9153

Tags: