พักพังงา
Phang Nga Origin บูทีคโฮเทลแห่งแรกของเมืองพังงาที่จะทำให้ทุกคนหลงรักเมืองนี้
- Phang Nga Origin Hotel คือบูทีคโฮเทลแห่งแรกใจกลางเมืองพังงาของ เจน-ณัฐธิดา และ โชค-โชคชัย มุขแก้ว สะใภ้และลูกหลานชาวพังงา รีโนเวทจากบ้านเก่าอายุกว่า 60 ปีมรดกจากคุณตาคุณยาย ด้วยความหวังอยากให้ผู้คนรู้จักและอยากเข้ามาสัมผัสเมืองพังงามากขึ้น
- แนวคิดการออกแบบยึดหลัก Passive Design คือการอยู่ร่วมกับธรรมชาติในพื้นที่ ใช้ประโยชน์จากสายลม แสงแดด และแสงเงา สร้างความสวยงามจากธรรมชาติและสภาวะอยู่สบาย โดยมี Energy Saving Building เป็นจุดยืนทางธุรกิจ
- ที่นี่ใช้ครูช่างและช่างฝีมือในท้องถิ่นกว่า 30-40 คนในการรีโนเวท เพื่ออาศัยองค์ความรู้ในแต่ละแขนงส่งต่อคุณค่าภูมิปัญญาแบบโบราณ และทุกชิ้นที่เห็นคืองานแฮนด์เมดทั้งหมด
หลายคนคงเคยได้ยินฉายาพังงา ‘เมืองสวยในหุบเขา’ แต่ส่วนใหญ่อาจยังไม่รู้ว่าคำเรียกขานนี้มีที่มาจากตัวอำเภอเมืองพังงา เมืองที่ถูกมองเป็นแค่ทางผ่านไปภูเก็ต กระบี่หรือเขาหลัก ทั้งที่มีเสน่ห์ซ่อนอยู่มากมาย กลายเป็นแรงบันดาลใจหนึ่งของการเปิดตัว Phang Nga Origin Hotel บูทีคโฮเทลแห่งแรกใจกลางเมืองพังงา
อาคารร่วมสมัยแฝงกลิ่นอายพื้นถิ่นสีขาว มองผ่านเห็นฉากหลังเป็นภูเขาน้อยใหญ่ ไม่ได้สวยงามแค่รูปลักษณ์ภายนอก หากแต่ยังให้ความรู้สึกอบอุ่นเหมือนบ้านที่ตั้งใจนำเสนอความเป็นท้องถิ่นและความสวยงามตามธรรมชาติ
ยิ่งได้พูดคุยกับ เจน-ณัฐธิดา และ โชค-โชคชัย มุขแก้ว สะใภ้และลูกหลานชาวพังงา ผู้เป็นเจ้าของโรงแรมพังงาออริจิ้น ยิ่งเห็นถึงความตั้งใจในทุกขั้นตอน ใส่ใจในทุกรายละเอียด เพื่อหวังจะเป็นพื้นที่เล็กๆ ส่งมอบคุณค่าของท้องถิ่น ส่งต่อความสุขให้กับแขกผู้มาเยือนและเติมชีวิตชีวาให้ชุมชน
ยิ่งใครกำลังมองหาความสุขแบบสงบเรียบง่าย ยิ่งน่าจะชอบเหมือนกัน ถ้าพร้อมแล้วก็ตามมารู้จักเมืองพังงาในอีกมุมมองผ่านที่พักแห่งนี้กันเลย!
จากบ้านเก่าอายุ 60 ปีสู่บูทีคโฮเทล
“ด้วยอายุของเราในตอนนี้ หากมีโอกาสได้ทำอะไรสักอย่างที่มีคุณค่า เอากลิ่นอายในอดีตมารวมกับปัจจุบันและส่งต่อผ่านเรื่องเล่าถึงคนรุ่นหลังได้ ถือเป็นความหมายหนึ่งในชีวิตที่จะสร้างคุณค่าให้กับเรามากกว่าธุรกิจที่เรามี” เจน เปิดบทสนทนาด้วยเป้าหมายในวัยเข้าเลข 4
ประจวบเหมาะกับเมื่อ 5 ปีก่อนพื้นที่ขนาดเกือบ 500 ตร.ม.ตรงนี้ซึ่งเป็นบ้านเก่าแก่อายุกว่า 60 ปีของคุณตาคุณยายที่ส่งต่อมายังรุ่นหลาน ถึงคราวต้องปรับปรุงซ่อมแซมใหญ่ หลังผ่านการปล่อยเช่ามาตลอดหลายปี ถูกใช้งานมาหลากหลายตั้งแต่เป็นร้านซักรีด โรงเรียนสอนขับรถแห่งแรกในพังงา ร้านเสริมสวย ตลอดจนร้านอาหาร ความคิดเปลี่ยนบ้านเก่าเป็นบูทีคโฮเทลจึงเกิดขึ้นในวันนั้น
ในฐานะที่เกิดและเติบโตมาในเมืองพังงา โชคบอกว่าที่นี่ถูกมองเป็นแค่ทางผ่านมาตลอด แม้วันนี้การท่องเที่ยวของจังหวัดจะพัฒนาไปสู่การสร้างรายได้เป็นอันดับ 6 ของประเทศแล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีคนเข้ามาเยี่ยมชมตัวเมืองน้อยมาก เป็น Pain Point ที่อยู่ในใจพวกเขามาตลอดหลายปีที่ผ่านมา
“เราอยากเป็นส่วนหนึ่งในการเชิญชวนนักเดินทางมาเที่ยว” เจน ซึ่งพ่วงบทบาทอาจารย์พิเศษของวิทยาลัยชุมชนช่วยเสริมและเห็นโอกาสตรงนี้ ก่อนเล่าต่อว่า “จากประสบการณ์ได้ลงพื้นที่เป็นวิทยากรชุมชนบ่อยๆ ได้เจอปราชญ์ชาวบ้าน เห็นสิ่งที่น่าสนใจมากมาย เลยอยากนำเสนอเรื่องราวเหล่านั้นผ่านที่พักให้คนเข้ามารู้จักพังงามากกว่าแค่เขาหลักและทะเล อยากนำเสนอพังงาในมุมมอง ความสงบสุขคือนิยามความลักชัวรีใหม่ของชีวิต”
นอบน้อมต่อธรรมชาติ
ด้วยความเป็นมือใหม่ถอดด้ามด้านนี้ทำให้ เจน ตัดสินใจไปเทคคอร์ส ‘เปลี่ยนบ้านเก่าเป็นบูทีคโฮเทล’ และได้รู้จักกับแนวคิดทางสถาปัตยกรรม Passive Design คือการอยู่ร่วมกับธรรมชาติในพื้นที่ ซึ่งตรงกับความตั้งใจของทั้งคู่ที่อยากให้โรงแรมเป็นอาคารประหยัดพลังงาน ไม่ใช่เพื่อเป็นจุดขายแต่คือจุดยืนของธุรกิจ
“เราเจอกับสถาปนิกผู้ออกแบบ คือ ECO Architect บริษัทออกแบบจากภูเก็ตเพราะคำนี้เลย เราใช้วิธีเสิร์ชจากอินเทอร์เนต และเข้าไปคุยกันแล้วเขาเข้าใจสิ่งที่เราต้องการ”
เมื่อก้าวเข้ามาในโรงแรมทุกคนจะสัมผัสได้ถึงความโปร่งเย็นสบายจากลมธรรมชาติ มีแสงเงาแต่งแต้มความสวยงาม ภายในตัวอาคารและทางเดินไม่ต้องเปิดไฟเลยในช่วงกลางวัน เพราะถูกออกแบบมาให้ใช้ประโยชน์จากแสงอาทิตย์อย่างทั่วถึง ห้องพักก็มีระเบียง ประตู หน้าต่างรอบด้านที่มีบทบาทสำคัญต่อการถ่ายเทอากาศ เปิดรับลมจากธรรมชาติของฤดูกาล เพื่อสร้างสภาวะอยู่สบายและทำให้มีสุขภาพที่ดี
“เดิมทีแบบที่ออกมาตอนแรกมีทั้งหมด 8 ห้อง แต่ปรับเหลือ 6 ห้องเพื่อเพิ่มความรู้สึกสบายกว่า และมีพื้นที่เว้นว่างให้ธรรมชาติได้ร่วมสนทนากับแขกที่เข้าพัก” เจน เล่าให้ฟัง ก่อนโชคช่วยเสริมต่อ “ด้วยพื้นที่ที่มีหากซอยห้องเยอะมันจะไม่มีการหมุนเวียนของอากาศ ห้องน้ำจะไม่มีช่องลมอากาศ”
จึงไม่ต้องแปลกใจหากเข้าไปแล้วเห็นช่องตรงกลางระหว่างห้องน้ำกับห้องพักที่เว้นไว้ปลูกต้นไม้ก็เพื่อลดอุณภูมิและระบายความชื้นให้ลอยขึ้นด้านบน ส่วนไฟบริเวณ public area ก็จะใช้พลังงานโซลาร์เซลล์
เคารพบริบทท้องถิ่น
ภายนอกของพังงาออริจิ้นยังเน้นความเรียบง่าย แสดงถึงการอยู่แบบอ่อนน้อมถ่อมตนต่อชุมชน ข้างในแฝงกลิ่นอายวัฒนธรรม
ผู้เป็นสามีเล่าว่าตัวอาคารเป็นโครงสร้างเก่าแต่มีการปรับแต่งเล็กน้อยและเสริมเสาเข็มเพิ่มความแข็งแรงในการต่อชั้นสอง เพราะบ้านเดิมเป็นทรงลึกยาวมีชั้นครึ่ง ส่วนที่เสริมเข้ามาคือทางเดินและระแนงไม้ในโซนรับรองด้านหน้าชั้นบน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นไม้ที่รื้อบ้านเก่าด้านหลัง
อีกสิ่งที่น่าชื่นชมคือการเคารพกฎหมายบ้านเมือง ทำทุกอย่างไปตามกระบวนการ เช่น การขออนุญาติรีโนเวทอาคารเก่าเป็นโรงแรม ซึ่งใช้เวลานานมากเพราะเป็นเรื่องใหม่สำหรับพื้นที่ “แต่ในฐานะอาจารย์ ถ้าจะเป็น role model อะไรสักอย่าง ก็ควรจะเป็นด้วยความถูกต้อง” ฝ่ายภรรยาสะท้อนถึงความแน่วแน่ในเจตนารมย์
ส่งต่อคุณค่าแบบออริจิ้น
ความน่าสนใจอีกอย่างของที่นี่คือการรีโนเวทผ่านฝีมือครูช่างและช่างในท้องถิ่นกว่า 30-40 คน ด้วยองค์ความรู้ในแต่ละแขนงส่งต่อคุณค่าภูมิปัญญาแบบโบราณ
“งานบางอย่างมองเหมือนเป็นวัสดุสำเร็จรูป แต่จริงๆ แล้วคืองานแฮนด์เมดทั้งหมด อย่างบัวก็ต้องทำทีละช่อง รูดกับมือทุกอย่าง หรือถ้าสังเกตผนังดีๆ จะเห็นการฉาบที่ไม่เรียบ เป็นศิลปะการสร้างเท็กซ์เจอร์บนพื้นผิวอย่างหนึ่ง เพราะในอดีตจะไม่ปั่นปูนเรียบ รวมไปถึงงานไม้ที่ใช้การเข้าสลักแบบโบราณ”
แน่นอนว่างบบานปลายกว่าการใช้ผู้รับเหมา แถมปรับปรุงได้ 3 เดือนก็เจอโควิดกว่าจะเสร็จก็ล่วงเลยมาถึง 3 ปี แต่พวกเขายืนยันว่าคุ้มค่า!
“พอมีโควิดทำให้รู้สึกว่าชีวิตคนเราเปราะบางมาก ก่อนทำแบบเสร็จคุณยายก็เสีย ก่อนโรงแรมจะเสร็จคุณตาก็เสีย อะไรที่มันมีคุณค่าแล้วฝากไว้ได้ในวันที่เราไม่อยู่ก็เป็นสิ่งที่ดี” ความตั้งใจของเจนถ่ายทอดผ่านน้ำเสียงสั่นเครือ
“จะช้าหน่อยก็ไม่เป็นไร แต่ขอให้มันออกมาดี เพราะมันเหมือนเป็นความรักที่ตากับยายมอบไว้ให้เราได้ดูแลและส่งมอบต่อ” โชครำลึกถึงผู้ใหญ่อันเป็นที่รักด้วย
ไม่เพียงแค่นั้น พังงาออริจิ้นนำเอาบรรยากาศโดยรอบมาสร้างคาแร็กเตอร์ให้กับ 6 ห้องพักแตกต่างกัน เช่น ห้องชั้นบนด้านในสุดชื่อ Local Romance จะมีระเบียง 3 ทิศไว้ชมวิวภูเขา วิวเมืองและวิวชุมชน บางวันที่แดดดีฟ้าจะเปลี่ยนสีไปตามเฉด วันที่ฝนตกจะมีสายหมอกและอากาศเย็นสบายมาทักทาย เป็นความโรแมนติกที่ธรรมชาติในท้องถิ่นตั้งใจมอบให้ หรือห้อง Cultural Charm ที่จะมองเห็นวิถีชีวิตยามเช้าของผู้คนในเมืองเล็กๆ แห่งนี้ บ้างไปตลาด บ้างก็ตักบาตร บ้างออกกำลังกายจากระเบียงและหน้าต่าง
บางครั้งก็มอบ local experience ให้แขกได้ตักบาตรหน้าโรงแรมเหมือนคนในชุมชน และแขกชอบมาก หลายคนบอกว่าจะกลับมาอีก เพราะรู้สึกเหมือนที่นี่คือบ้านได้กลับมาเจอครอบครัว
แบ่งปันสู่ชุมชน
“เรามองว่าการทำธุรกิจในยุคนี้แข่งขันกันมากเกินไป พังงาออริจิ้นไม่จำเป็นต้องได้ทุกอย่างคนเดียว แต่ชุมชนควรได้ด้วย” เจนย้ำแนวคิด Sharing Economy
นอกจากการใช้ช่างท้องถิ่นแล้ว ที่นี่ยังตั้งใจคัดสรรและสนับสนุนผลิตภัณฑ์ในชุมชนไปจนถึงอาหารท้องถิ่น
“อย่างผ้าคาดเตียงก็เป็นผ้า Eco Print จากวิสาหกิจชุมชน ลายที่เห็นเกิดจากใบลิ้นฟ้าหรือเพกา ใบราชพฤกษ์ ใบดอกดาวกระจายที่ให้สีธรรมชาติและผ่านกระบวนที่ไม่ใช่เคมี หรือศิลปะตกแต่งผนังจากต้นชก จากฝีมือของพี่สำรวย พละหงษ์ ซึ่งเป็นศิลปินพื้นถิ่นรายแรกและรายเดียวในจังหวัดพังงาที่เชี่ยวชาญด้านนี้”
ต้นชกเป็นพืชที่มีลักษณะคล้ายปาล์ม มีความสูงประมาณ 20-25 เมตรชอบขึ้นตามแนวภูเขาหิน ปีหนึ่งออกผล ‘ลูกชก’ ถือเป็นของดีขึ้นชื่อเมืองพังงาที่หลายคนรู้จักและเคยกินเพียงแค่ครั้งเดียว และเราโชคดีที่ได้กินร่วมกับโอเอ๋วเป็นเมนูขนมหวานต้อนรับเมื่อมาถึง ส่วนโคมไฟอาจจะไม่ใช่ของท้องถิ่น แต่ก็เป็นงานชุมชนและอิงแรงบันดาลใจจากกรงนกภาคใต้
พนักงานของโรงแรมก็เป็นลูกหลานในพื้นที่ ด้วยวิธีการรับสมัครแบบออฟไลน์คือติดไวนิลหน้าโรงแรมไม่ได้ลงโซเชียลใดๆ เพราะยึดหลักถ้าเห็นก็ต้องเป็นคนแถวนี้ เพียงแค่สัปดาห์เดียวมีคนสมัครเยอะมากจนต้องเอาป้ายออก หรืออาหารเช้าก็มาจากท้องถิ่น
“ที่นี่แขกสามารถเลือกได้จะรับอาหารเช้าหรือ only room ก็ได้ กว่า 90% เลือกไปตลาดสด เพราะใกล้กับตลาดกราภูงา ตลาดเช้าของชุมชน เขาบอกว่าถ้าจะไปที่ไหนให้ถึงถิ่นนั้นต้องไปเดินตลาดเช้า ตลาดชุมชน แล้วจะเจอเสน่ห์ ได้เห็นวิถีชีวิต หรือถ้าแขกจะรับบริหารอาหารเช้า เราก็เลือกมาจากชุมชน”
แม้แต่ข้าวที่นำมาให้แขกตักบาตรก็เป็นข้าวไร่ดอกข่า ซึ่งเป็นข้าว GI ของพังงา ปลูกโดยการทำนาแบบโบราณของวิสาหกิจชุมชนอู่ข้าวอู่น้ำ นาหัวนอน ซึ่งเจน มองว่าเรื่องเหล่านี้คือการสร้างธุรกิจให้เดินไปด้วยกันกับชุมชน เป็นทั้งผู้ให้และรับในเวลาเดียวกันและเติบโตอย่างยั่งยืน
การเดินทางอย่างยั่งยืน
“มีคนเคยถามเราว่าจะทำอะไรเยอะแยะขนาดนี้ไปเพื่ออะไร” เจน เปรยก่อนจะบอกว่า คำถามในวันนั้นมันเห็นผลแล้วในวันนี้
ณ วันนี้โรงแรมเปิดบริการได้ยังไม่ถึงเดือน แต่มี Occupancy ค่อนข้างเกินคาด วันที่เราเข้าพักก็จองเต็มทุกห้อง แถมลูกค้ายังประทับใจและบอกต่อ ผู้คนได้รู้จักพังงามากขึ้น เพิ่มชีวิตชีวาให้กับชุมชน พวกเขาตั้งใจทำที่นี่ให้สวย เพื่อส่งให้พังงาเป็นจุดที่คนอยากเข้ามาสัมผัสมากขึ้น เมื่อปัจจุบันโรงแรมไม่ใช่แค่ที่พัก แต่เป็นจุดหมายปลายทางหนึ่งของนักท่องเที่ยว
“เราภูมิใจทุกครั้ง เมื่อมีคนมาบอกว่า ขอบคุณที่ทำให้คนรู้จักพังงามากขึ้น ขอบคุณที่ทำประโยชน์ให้กับชุมชน” โชค หนุ่มพูดน้อยเปรยขึ้นด้วยน้ำเสียงชื่นใจที่สัมผัสได้ถึงความพองโตของหัวใจ
ในเดือนหน้า ‘พังงาออริจิ้น’ เตรียมจะปรับพื้นที่รับรองด้านบนที่ตกแต่งด้วยไม้เป็น Tea Room สำหรับต้อนรับแขกที่ไม่ได้เข้าพักได้เข้ามาเสพบรรยากาศช่วงบ่ายถึงช่วงค่ำ จิบชากาแฟ กินขนมโบราณจากฝีมือคนในครอบครัวและวัตถุดิบปลูกเอง หากสังเกตจะเห็นใบเตยที่ปลูกไว้ตลอดริมทางเดิน ส่วนหนึ่งเพื่อความสวยงามและเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้ด้วย
นอกจากการต้อนรับอย่างอบอุ่นใส่ใจในทุกรายละเอียดแล้ว ทั้งคู่มักจะแนะนำให้แขกไปสำรวจ วนอุทยานสระนางมโนราห์ เที่ยวอ่าวพังงากับเรือชุมชนที่รู้ดีว่าเวลาใดตรงไหนสวยเพราะคุ้นเคยกับสถานที่ ชิมอาหารท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นหมี่ตลาดขวาง สูตรโบราณกว่า 100 ปี หมูสะเต๊ะบ่าววีที่รสชาติเข้มข้นแบบคนท้องถิ่น ผัดไทยเตาถ่าน หรือร้านดวง อาหารปักษ์ใต้ที่ไปออกรายการครัวคุณต๋อยมาแล้ว
เหมือนกับความหมายในโลโก้ที่เปรียบเหมือนต้นไม้ มีแท็คไลน์ Sense of Local Experience เป็นเหมือนดิน ตัวอาคารเป็นลำต้นที่จะเติบใหญ่ขึ้นไป ชื่อโรงแรมเป็นพุ่มต้นไม้ที่ให้ประโยชน์ทั้งตัวเราและสังคมด้วย และขอเป็นดวงดาวที่สวยงาม
“พลุมันสวย แต่การเป็นดวงดาวเล็กๆ เปล่งแสงมันก็สวยงามและยาวนาน อยู่คู่กับความสบายใจ มองไปแล้วเจอนะ เพราะเราเชื่อในวิธีการประชาสัมพันธ์แบบโบราณจากการบอกต่อของลูกค้า เป็นการให้เกียรติผู้ที่เข้ามาพักแล้วและผู้กำลังจะมา”
รู้จักที่นี่มากขึ้น
โรงแรมพังงาออริจิ้น
127 ถ.บริรักษ์บำรุง ต.ท้ายช้าง อ.เมือง จ.พังงา 82000
โทร : 0985975353
ไลน์ : @phangngaorigin
FB : Phang Nga Origin Hotel