- Cocoon Lost and Found นิทรรศการครั้งแรกของ ครูปาน – สมนึก คลังนอก ที่นำเสนอ Cocoon หรือน้องโคคูน เด็กน้อยในเสื้อฮู้ดหน้าตาน่ารักมาจากโลกต่างดาว คาแรกเตอร์สุดร่าเริง แท้จริงคือตัวแทน ‘ความสุข’ ที่อยากให้ทุกๆ คนมาค้นหาความสุขของตัวเอง เพื่อโอบกอดมันอีกครั้ง
- ครูปานเชื่อว่า ศิลปะที่ถ่ายทอดความสุขก็สามารถขับเคลื่อนผู้คนและช่วยประโลมจิตใจคนในสังคมได้ ทุกๆ ผลงานที่สร้างสรรค์จึงขอเน้นลายเส้นที่ตีความไม่ยาก ขอแค่มองแล้วเกิดรอยยิ้มก็เพียงพอแล้ว
ว่ากันว่าถ้าอยากรู้จักใครให้ดูหนังสือที่เขาอ่าน ถ้าเป็นภาพวาด ให้ใช้ความรู้สึกแรกเป็นตัวตัดสิน
การเข้าชมนิทรรศการ Cocoon Lost and Found นอกจากจะทำให้เราได้สำรวจความสุขภายในใจโดยมีคาแรกเตอร์ Cocoon คอยจูงมือไปตามหาหน้าตาความสุขในแบบฉบับของเราแล้ว ภายใต้แววตาที่แจ่มใสของเจ้าเด็กใส่ฮู้ด และสีสันพร้อมด้วยเทคนิคอันหลากหลายที่พลอยให้เราได้ยิ้มตาม กลับยิ่งทำให้อยากรู้จักตัวตนของศิลปินมากกว่าเดิม
วันนี้ ครูปาน - สมนึก คลังนอก ศิลปินผู้เปี่ยมล้นไปด้วยพลังบวกและหัวใจที่เป็นเด็ก จะมาเล่าเรื่องราวชีวิต พูดคุยเรื่องศิลป์ ผ่านศิลปะของเขาให้เราได้ฟังกัน
เริ่มแรกของหนทาง
ครูปานเริ่มวาดรูปมาตั้งแต่เด็ก แต่ด้วยที่บ้านมีฐานะยากจน เด็กชายปานจึงทดแทนการซื้อสี พู่กัน ด้วยการเปลี่ยนรากไม้ให้กลายเป็นพู่กัน เปลี่ยนพื้นดินโล่งให้เป็นผ้าแคนวาส เพื่อวาดเขียนธรรมชาติรอบตัวอย่างสร้างสรรค์ และหัวใจที่เต็มไปด้วยการมองโลกในแง่ดีอยู่เสมอ
ต่อมาจำเป็นต้องบวชเรียน ระหว่างนั้นที่วัดจัดการแข่งขันวาดรูป ก็ไม่พลาดขอเข้าร่วมประกวดด้วย ในการวาดรูปครั้งนั้นเขาไม่ได้รู้สึกว่านี่เป็นเรื่องยาก แถมชิ้นงานที่สร้างสรรค์ขึ้นก็ยังสวยงามตามที่คาดหวังไว้ ชั่วขณะนั้นเอง ครูปานย้อนมองชีวิตแล้วบอกกับเราว่า เขารู้ทันทีว่าการวาดรูปคือสิ่งที่ตนรัก
“ตั้งแต่วันนั้น ครูปานก็ฝึกวาดรูปด้วยตัวเองมาโดยตลอด วาดภาพตามกายวิภาค ใครให้วาดอะไรก็วาดตามเลย ฝึกวาดตา วาดเส้นผมตามหนังสือจนเราสามารถ capture หน้าคนมาเป็น drawing ของเราได้เลย แล้วก็มีไปห้องสมุดเพื่อไปอ่านหนังสือเกี่ยวกับศิลปะทุกอย่าง เราศึกษาด้วยตัวเองทั้งหมด”
หลังเรียนจบระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย เขามีโอกาสได้เรียนศิลปะอย่างจริงจังกับศิลปินดังอย่าง ม.ล. จิราธร จิรประวัติ ที่โรงเรียนมหานาค ซึ่งทำให้ครูปานรับหน้าที่เป็นครูผู้ช่วยสอนศิลปะมาจนถึงปัจจุบัน
มองหาความสุขผ่าน ‘Cocoon’
“เวลาเรามองเด็ก เขาจะให้ความรู้สึกละมุนละไม เพราะเขาจะมีความ soft อยู่ในตัวที่ใครๆ เห็นก็รู้สึกมีความสุขและเกิดรอยยิ้มได้เสมอ” คาแรกเตอร์ Cocoon หน้าตาจิ้มลิ้มในชุดฮู้ดนั้น ได้แรงบันดาลใจมาจากลูกศิษย์วัย 5 ขวบ ใส่ชุดลายดอกไม้วิ่งเข้ามาในโรงเรียนท่ามกลางฤดูหนาว ครูปานรู้สึกว่าภาพที่เห็นช่างน่ารัก เลยนำมาวาดแล้วดีไซน์ให้คาแรกเตอร์มีลักษณะเด่นมากขึ้นอย่างหัวโต ตากลมโตเปล่งประกาย จมูกและปากเล็กๆ ตัวอวบๆ ซึ่งทำให้ครูปานนึกถึงดักแด้ที่เคยเลี้ยงกับคุณแม่ อีกทั้งยังให้ความรู้สึกคล้ายกับเด็กที่ถูกห่อหุ้มไปด้วยใย เสมือนได้รับการปกป้อง จึงเป็นที่มาของชื่อ Cocoon หรือ เด็กน้อยโคคูนจากโลกต่างดาว ผู้มีดวงตากลมโตเพื่อมองหาความสุขจากสิ่งที่ได้เรียนรู้บนโลกใบนี้
ในทุกๆ ภาพจะมีผีเสื้อและนกที่ครูปานตั้งใจใช้เป็นสัญลักษณ์แทนเพื่อนร่วมเดินทาง ส่วนเหตุผลที่เลือกสัตว์ 2 ชนิดนี้เพราะ “การมีเพื่อน เราต้องให้อิสระกับเพื่อน นกและผีเสื้อเป็นสัตว์ที่โบยบินอย่างเป็นอิสระ แฝงไปด้วยความหมายดีๆ ที่ซ่อนอยู่ในภาพนั้นๆ”
นอกจากจะชอบวาดรูปแล้ว ครูปานยังเป็นนักช่างจินตนาการ เขาแต่งเรื่องราวให้กับโคคูนแต่ละตัวได้อย่างสร้างสรรค์มากทีเดียว แถมยังชอบหยิบธรรมชาติรอบตัว หรือบุคคลใกล้ตัวมาเป็นแบบในการสร้างสรรค์คาแรกเตอร์โคคูน ใครเป็นแบบ ก็จะนำชื่อของคนคนนั้นมาต่อท้ายชื่อของเจ้าเด็กชุดฮู้ดอีกที เป็นเสน่ห์ที่ทำให้ Cocoon แต่ละตัวมีความน่ารักแตกต่างกันออกไป อีกทั้งยังมีเรื่องราวที่น่าสนใจแอบซ่อนไว้ให้เราได้เข้าไปทำความรู้จักอีกด้วย
Cocoon เด็กน้อยร่าเริงที่ชอบเล่นสนุก คือตัวแทน ‘ความสุข’ ในวัยเด็กที่คอยมอบพลังใจดีๆ ให้ผู้คน ผลงานที่จัดแสดงในนิทรรศการ ทุกภาพจะมี quote สั้นๆ แทนความรู้สึกที่ครูปานแต่งขึ้นเอง ด้วยความตั้งใจอยากส่ง message ดีๆ ถึงคนที่มาเห็น บาง quote อดไม่ได้ที่จะหยุดมองนิ่งๆ เพื่อซึมซับตัวอักษร ไปจนถึงบรรยากาศของภาพๆ นั้น
“โคคูนให้ความหวังและความสุขกับครูปาน ครูเลยเชื่อว่าใครที่มองน้องก็จะได้รับความสุขเช่นกัน เพราะเขาน่ะเป็นตัวแทนของเด็กที่อยู่ในใจเราทุกคน ทุกคนมีความเป็นเด็กอยู่ในตัว แม้เราจะเคยผ่านความเป็นเด็กมาแล้ว ตัวเราในตอนนี้เปลี่ยนแปลงไปบ้าง แต่เด็กน้อยคนนั้นก็ไม่เคยหายไปไหน”
กว่าจะเป็นตาโต ปากเล็ก จมูกนิด
ก่อนจะมีคาแรกเตอร์ Cocoon ขอย้อนกลับไปสมัยแรกเริ่มของการวาดภาพที่ยังไม่มีสไตล์แน่ชัด “เราเน้นวาดเหมือนจริงมากจนเกินไป ถึงขณะที่ว่าจะต้องเก็บเส้นผมให้ครบทุกเส้น วาดตาต้องละเอียด การตัดใจที่จะลดหรือเพิ่มเติมรายละเอียดเป็นเรื่องที่ยากสำหรับเรามาก เพราะด้วยความที่ครูปานอยู่ในกฎระเบียบมาตั้งแต่บวชเป็นพระ นิสัยเราก็เป็นคนเรียบร้อย เชื่อฟังผู้ใหญ่ มันทำให้เราคิดนอกกรอบไม่เป็น เราใช้เวลา 4-5 ปีกว่าจะหาสไตล์ของตัวเองเจอ”
เพราะครูวาดเป็นคนมองโลกในแง่ดี คิดบวก และเป็นคนอ่อนโยน เขาจึงชอบวาดภาพผู้หญิง เพื่อแทน inner และความ soft ของครูปานเอง
ภาพวาดที่ชื่อ ‘หญิงตุ้ม’ เป็นผลงานชิ้นสำคัญที่ทำให้เขาหลุดออกจากการวาดภาพเหมือนจริง ศิลปินเน้น ‘การตัดใจ’ ที่ค่อยๆ ละทิ้งความคุ้นชิน ทิ้งความเหมือนจริง และเพิ่มเติมความ surreal เช่น เริ่มวาดตาให้โต จมูกเล็ก ปากนิด คอยาว ภาพที่ออกมานับว่าคือสไตล์ที่ใช่ของสมนึก คลังนอก กับลายเส้นที่เน้นความสดใสสร้างความสุขแบบนี้
“อยากให้รู้ไว้ว่า ศิลปะไม่มีอะไรที่ผิดถูกเลย พอเราออกจากกรอบได้นะ โห ทุกอย่างเป็นเรื่องง่ายไปหมด เรากล้าเปลี่ยนเลย ไอเดียต่างๆ มันพุ่งเข้ามา เราสนุกมากๆ กับการวาดรูปของเรา วาดไปก็มีความสุขไป สไตล์ของเรามันชัดเจนขณะที่ว่า คนเห็นก็รับรู้ว่านี่คือภาพของครูปาน”
ยิ้มให้ตัวเอง
นิทรรศการแบ่งพื้นที่ตามโซนต่างๆ ให้ตัวเราค่อยๆ พาตัวเองไปเก็บเกี่ยวความสุขที่เคยทำหล่นหาย ให้ตัวเองได้มีโอกาสโอบกอดมันอีกครั้ง ภายในงานจะพบกับคาแรกเตอร์น้องโคคูนในท่าทางต่างๆ ตามภาพวาด ประติมากรรม ตุ๊กตาไม้ ที่เผยให้เห็นการใช้สีในหลากหลายเทคนิค บางชิ้นยังเป็นผลงานที่ครูปานไม่เคยจัดแสดงที่ไหน
โซนที่อยากพูดถึงคือห้อง Cocoon Surprise เมื่อเดินเข้าไปจะพบกับประติมากรรมโคคูนขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ตรงกลาง รอบข้างห้อมล้อมไปด้วยกระจกที่มี quote คำคมเน้นกำลังใจดีๆ แปะไว้ ถ้าเดินเข้าไป คุณจะมองเห็นตัวเองสะท้อนออกมาจากกระจกในทุกมุม ถือเป็นโอกาสให้เราได้ใช้วินาทีนี้สำรวจและมองดูตัวเองอย่างชื่นชม ยิ้มให้กับตัวเอง ดอกไม้ที่น้องโคคูนถือไว้ข้างหลัง แท้จริงแล้วน้องกำลังเตรียมยื่นดอกไม้ให้กับเรา หรือเป็นการบอกนัยๆว่า ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น อย่าลืมที่จะรักและยิ้มให้ตัวเองเยอะๆ ดอกไม้ดอกนี้เสมือนเป็นกำลังใจที่ตัวเราต้องขยันมอบให้ตัวเองอยู่เสมอนะ
“นิทรรศการนี้อยากให้ทุกคนมาหาความสุข ลองดูสิความสุขของเราเป็นแบบไหน หน้าตาเป็นอย่างไร เราเชื่อว่าความสุขที่ดีที่สุดคือความสุขง่ายๆ ที่อยู่ใกล้ๆ ตัวเรา และอยู่ในความคิดของเราเอง”
ชิ้นงานทั้งหมดไม่ใช่งานที่ตีความยากหรือต้องใช้ความคิดตีความมากมาย เพียงแค่ได้มองแล้วยิ้มตามก็พอแล้ว ขอยกบทสนทนาของครูปานทิ้งท้ายในบทความนี้ เพราะเราเชื่อว่าหลังอ่านจบทุกคนจะสัมผัสได้ถึงพลังบวกและแง่คิดดีๆ ของศิลปินอารมณ์ดีคนนี้แน่นอน
“แม้ภาพเราจะไม่สะท้อนสังคม แต่เราเชื่อว่าแค่วาดรูปให้สวย คนดูมีความสุข มันก็แก้ปัญหาสังคมได้แล้ว อย่าลืมว่ารูปสวยๆ มันช่วยเยียวยาจิตใจสังคมได้ ครูปานเชื่อว่า ศิลปะคือยารักษาใจที่ดูเหมือนไม่จำเป็น แต่มันก็เป็นสิ่งไม่จำเป็นที่จำเป็นกับคนทุกคนอยู่ดี”