เมื่อวัฒนธรรมกาแฟของแต่ละชาติก็มีความแตกต่างกัน ชวนอ่านเกร็ดสนุกๆ เกี่ยวกับกาแฟของแต่ละประเทศ เขาเรียกกาแฟของตัวเองกันยังไง และดื่มกาแฟแบบไหนกันบ้าง ลองไปอ่านดูนะ…
สวัสดีทุกคน วันนี้เราจะมาพูดถึงกาแฟ เมนูเครื่องดื่มที่เป็นเหมือนภาษาสากลในวัฒนธรรมการกิน เพราะไม่ว่าจะไปที่ไหน ประเทศอะไร ผู้คนก็มักเริ่มต้นวันหรือเติมพลังระหว่างวันด้วยกาแฟกันทั้งนั้นแต่ว่านะกาแฟของแต่ละประเทศก็ไม่เหมือนกัน แถมบางเมนูที่เห็นตามร้านกาแฟ เราก็อาจจะเรียกผิดมาตลอดก็ได้
วันนี้เราเลยขออาสารวบรวม 12 เมนูกาแฟจากทั่วทุกมุมโลกมาให้ทุกคนได้ทำความรู้จัก พร้อมกับประวัติและเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับวัฒนธรรมกาแฟของประเทศนั้นๆ ด้วย แล้วเพื่อนๆ จะรู้จักกาแฟของประเทศไหนบ้าง ตามไปดูกันเลย
• Espresso (Italy)
เอสเปรสโซ่ (Espresso) กาแฟสัญชาติอิตาลีที่เราคุ้นชื่อกันดี แต่ที่อิตาลีมีอีกชื่อ นั่นคือ คาฟเฟ่ (Caffé) เมล็ดกาแฟเมนูนี้จะคั่วนานกว่าเมล็ดทั่วไปทำให้ได้น้ำมันกาแฟมากกว่ากับรสชาติที่เข้มข้นมากกว่า และเอสเปรสโซ่แท้จะต้องมีครีมา (Crema) ชั้นโฟมที่เกิดการต้มกาแฟร้อนจนฟองผุดแล้วสะสมบนผิวกาแฟ
ประวัติศาตร์ของกาแฟดำเนินมายาวนานหลายร้อยปีที่อิตาลี คาเฟ่จึงเกิดขึ้นตามมามากมายโดย ร้านที่เก่าแก่ที่สุดชื่อว่า Caffe Greco นับย้อนกลับไปพบว่าเปิดกิจการในช่วงปี 1760 แหนะ หลังจากนั้นวัฒนธรรมการดื่มกาแฟที่บาร์ก็ตามมา โดยคนอิตาลีนิยมยืนจิบกาแฟร้อนๆ เติมพลังที่ร้านก่อนจะเริ่มต้นวันในแต่ละวัน
• Melange (Austria)
มีลองจ์ (Melange) กาแฟผสมนมที่เติมโฟมนมข้างบนอีกที กาแฟสัญชาติออสเตรียชนิดนี้มักถูกเข้าใจผิดว่าเป็นกาแฟเวียนนีส ซึ่งเป็นกาแฟเอสเปรสโซ่ใส่วิปครีม แต่สำหรับคนออสเตรีย เมนูนั้นเรียกว่า “ฟรานซิสแคน” (Franziscaner) เพราะสีของมันคล้ายกับสีน้ำตาลจากเครื่องแต่งกายของนักบวชของคณะพระฟรังซิสคาน
ร้านกาแฟในออสเตรียสมัยก่อนน่ะ เขาห้ามผู้หญิงเข้านะ ร้านกาแฟเคยทำหน้าที่เป็นเหมือนจุดนัดพบและนัดดื่มที่เสิร์ฟทั้งกาแฟกับเหล้า แถมยังมีไพ่กับโต๊ะพูลให้เล่น และบทบาทของผู้หญิงก็เคยเป็นเพียงแคชเชียร์เท่านั้น แต่พอช่วงศตวรรษที่ 18 ผู้หญิงก็เริ่มเข้าร้านกาแฟกันเป็นปกติแล้ว
• Kaffeost (Scandinavia)
รู้รึเปล่า คนในแถบแสกนดิเนเวียเขากินกาแฟกับชีสกัน! คนทางตอนเหนือของฟินแลนด์ สวีเดน และนอร์เวย์ มักเอาชีสมาไว้ที่ก้นแก้วแล้วเติมกาแฟร้อนๆ ตามลงไปให้ชีสละลาย จะดื่มพร้อมกาแฟหรือตักออกบางส่วนก็ได้ตามที่ชอบ เมนูนี้เรียกว่า คาเฟออสต์ (Kaffeost) ส่วนชีสที่นิยมใส่ในกาแฟคือ “juustoleipä” แปลว่า ชีสขนมปัง ที่เรียกแบบนี้ไม่ใช่เพราะเอาไว้กินกับขนมปังนะ แต่เพราะเขาทาแยมกับชีสกินแทนขนมปังเลยต่างหาก
วัฒนธรรมการดื่มกาแฟที่น่ารักมากๆ และอยากบอกต่อคือ ฟิกา (Fika) ของสวีเดน มันคือช่วงเวลาสั้นๆ ที่คนสวีเดนจะพักกินกาแฟคู่กับขนมหวานกัน แต่ที่มากกว่านั้นคือมันเป็นสัญลักษณ์ของการไม่เร่งรีบกับการใช้ชีวิต เราจะฟิกากับตัวเอง กับเพื่อน หรือเพื่อนร่วมงานก็ยังได้ และมีบริษัทบางที่ในสวีเดนที่กำหนดให้มีช่วงฟิกาแทรกในวันทำงานด้วยซ้ำ
อ่านเพิ่มเติม บทความ Let’s Have A Fika กาแฟแบบสวีดิช
Türk Kahvesi (Turkish)
กาแฟเติร์ก (กาแฟตุรกี) เป็นกาแฟต้มบนทรายร้อนๆ ในภาชนะที่เรียกว่า เจสเว (Cezve) มักเสิร์ฟในแก้วพอร์ซีเลนขนาดจิ๋ว ความสนุกคือเขามีวัฒนธรรมทำนายอนาคตจากเศษกาแฟที่เหลือที่ก้นแก้วด้วย
• Café Touba (Senegal)
คาเฟ่ ทูบา (Café Touba) หรือ กาแฟเซเนกัล กาแฟเมนูนี้ผสมเครื่องเทศชื่อ จาร์ (djar) ซึ่งทำจากพริกไทยเซลิม (Selim pepper) เมนูนี้เขาใส่เครื่องเทศตั้ง 1 ใน 4 ของกาแฟ พอลิ้มรสแล้วจะได้ทั้งรสขมของกาแฟและรสเผ็ดของเครื่องเทศ
คนเซเนกัลเขามีพิธีดื่มกาแฟเพื่อกระชับมิตรภาพโดยเฉพาะด้วยนะ พิธีนี้ชื่อว่า อัตตยา (Attaya) โดยจะแบ่งเสิร์ฟกาแฟ 3 รอบ รอบแรกเป็นตัวแทนของความยากลำบากในชีวิต รอบที่สองหมายถึงสิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้น และรอบสุดท้ายคือรอบที่ผู้ร่วมพิธีจะแบ่งปันความลับหรือเล่าเรื่องราวส่วนตัวสู่กันฟัง
• Cà phê sữa đá (Vietnam)
ก่า เฟ ซู เอ๊อะ ด๋า (Cà phê sữa đá) กาแฟชื่อยาวที่เสิร์ฟในฟิน (Phin) ซึ่งเป็นเครื่องมือดริปกาแฟของเวียดนาม โดยที่คนชงจะเตรียมแก้วใส่นมข้นไว้แล้ว เมนูนี้มีที่มาจากสมัยที่เวียดนามถูกปกครองโดยฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 19 สมัยนั้นทหารมักได้เรี่ยวแรงจากการดื่มกาแฟ แต่การขนย้ายและเก็บรักษานมสดนั้นแทบเป็นไปไม่ได้เลยใช้นมข้นแทน สูตรกาแฟเวียดนามเลยเป็นแบบนี้เรื่อยมาจนปัจจุบัน
อย่างที่รู้กันดีว่าเวียดนามเป็นสวรรค์ของคนดื่มกาแฟ คนที่นี่ดื่มกันทั้งวัน ดื่มในเวลาว่าง ดื่มตั้งแต่เช้ายันค่ำ เรียกได้ว่ากาแฟแทรกอยู่ในทุกจังหวะของชีวิต ข้อสังเกตเล็กๆ ที่อยากพูดถึงคือร้านกาแฟในเวียดนามมักจะอยู่ในที่เปิดหรือหันหน้าออกสู่ถนน ให้ได้จิบกาแฟไปชมบรรยากาศเมืองและวิถีชีวิตคนเวียดนามไปด้วย
• Kopi Joss (Indonesia)
โกปี จอส (Kopi Joss) หรือ กาแฟถ่าน เมนูนี้ก็เป็น กาแฟใส่นมธรรมดาๆ เนี่ยแหละจนกระทั่งอยู่ๆ ก็มีคนเอาแท่งถ่านร้อนๆ มาใส่ โดยถ่านจะละลายน้ำตาลให้หวานเป็นคาราเมลที่ติดกลิ่นไหม้นิดๆ และในจังหวะที่หย่อนแท่งถ่านร้อนๆ ลงไป กาแฟจะยิ่งส่งกลิ่นหอม ทั้งนี้ Kopi หมายถึง กาแฟ ส่วน Joss คือการเลียนเสียงของถ่านร้อนๆ เวลาที่โดนน้ำ
คนท้องถิ่นยังเชื่อว่าถ่านช่วยปรับสมดุลความเป็นกรด-ด่างของกาแฟทำให้ดีต่อสุขภาพช่องท้องด้วย เมนูนี้ถูกคิดค้นในช่วง 1960 ที่เมืองยอร์กยากาตา บนเกาะจาวาซึ่งเป็นเกาะที่มีกาแฟเป็นผลผลิตหลัก และปัจจุบันกาแฟเมนูนี้กลายเป็นของดีประจำเมืองไปแล้ว
• Dalgona coffee (South Korea)
กาแฟดัลโกนา (Dalgona coffee) ของเกาหลี ส่วนที่โดดเด่นคือ โฟมกาแฟที่เกิดจากการตีกาแฟผสมน้ำร้อนและน้ำตาลในสัดส่วนที่เท่ากันจนได้โฟมเนื้อแน่นที่ให้สัมผัสคล้ายครีม เมื่อตีเสร็จแล้วก็นำโฟมนี้ไปใส่ในกาแฟเย็น
ที่มาของกาแฟนี้จะต่างจากเมนูอื่นๆ สักหน่อย เพราะมันมาพร้อมกระแสทำอาหารทานเองที่บ้านในช่วงโควิด กาแฟนี้ก็เป็นอีกหนึ่งเมนูที่เป็นไวรัลขึ้นมาจากคนเกาหลีในอินเทอร์เน็ต ทำเอาสาวกกาแฟหลายๆ คนต้องลุกมาอัดวิดีโอทำตาม ตอนนี้เลยกลายเป็นภาพจำไปแล้วว่านี่คือกาแฟของคนเกาหลี
• Pharisäer (Germany)
พูดถึงเยอรมันแล้วจะไม่พูดถึงเหล้าได้ยังไง แถมกาแฟของประเทศนี้เขาใส่เหล้าด้วยน่ะสิ ฟาอิเซีย (Pharisäer) เรียกได้ว่า เป็นค็อกเทลร้อน ส่วนผสมคือ กาแฟเหล้ารัม น้ำตาล โปะด้วยวิปครีมนุ่มๆ ดื่มแล้วจะหายง่วงในทางที่ดีหรือไม่ดีก็ไม่รู้เหมือนกันนะ
ที่สนุกกว่านั้นคือเรื่องเล่าเกี่ยวกับต้นกำเนิดของเมนูนี้ เรื่องมีอยู่ว่าในพิธีทางศาสนาหนึ่งที่จัดขึ้นโดยบาทหลวงที่ไม่ชอบดื่มแอลกอฮอล์เลย แต่ดันมีคนมือดีแกล้งเอาเหล้าไปผสมในกาแฟ แถมตั้งใจปกปิดไอระเหยของรัมด้วยการใส่วิปครีมลงไป แต่สุดท้ายบาทหลวงเขาก็จับได้นะ เลยพูดต่อว่าไปว่า “Ihr Pharisäer (you Pharisees)” แปลว่าเจ้าคนหน้าไว้หลังหลอก เลยเป็นที่มาของชื่อกาแฟนั่นเอง
• Frappe (Greece)
รู้ไหมเฟรปเป (Frappe) แท้ๆ มาจากการเทโฟมกาแฟลงบนน้ำแข็งก้อน ซึ่งโฟมนั้นมาจากการตีน้ำตาลผสมกาแฟจนเป็นเนื้อครีม ไม่ใช่เฟรปปูชิโน่หรือกาแฟปั่นนมกับน้ำแข็งอย่างที่เราเห็นบ่อยๆ ตามร้านกาแฟ แล้ว เมนูนี้เป็นเมนูยอดนิยมของกรีก โดยเฉพาะช่วงหน้าร้อนเนี่ยจะยิ่งขายดีเลย
สำหรับคนกรีกคำชักชวนไปดื่มกาแฟอาจหมายความมากกว่านั้น การดื่มกาแฟคือการไปทานมื้อกลางวันอันแสนยาวนานด้วยกัน คือการพูดคุยปรึกษากัน ถ้าเมื่อไหร่ได้ไปดื่มกาแฟกับคนกรีก นั่นจะหมายถึงการเข้าสังคมแน่ๆ คนกรีกบางคนก็ใช้ คำว่า “Filoxeneia” ที่แปลคร่าวๆ ได้ว่า “จากคนแปลกหน้ากลายเป็นมิตรสหาย” อธิบายวัฒนธรรมการดื่มกาแฟของคนกรีก
• Café au lait (French)
กาเฟ โอ แลต (Café au lait) กาแฟดริปเสิร์ฟพร้อมโฟมนม อุ่นๆ สัมผัสนุ่มละมุนลิ้น ที่อุ่นโฟมนมเพื่อให้ความร้อนดึงรสหวานของนมออกมามากกว่านมที่อุณหภูมิปกติ
อยากจะบอกว่าคนฝรั่งเศสเขากินดื่มแบบสโลว์ไลฟ์มากนะ จะมื้อเที่ยง มื้อเย็น หรือเวลาพักดื่มกาแฟก็อาจลากยาวหลายชั่วโมงได้ทั้งนั้น แต่นั่นก็เพราะว่าเขามีความสุขกับโมเมนต์เล็กๆ ในชีวิตประจำวันและให้เวลาตัวเองได้เป็นส่วนหนึ่งของบรรยากาศรอบตัวด้วย ใครมีโอกาสได้ไปเที่ยวที่ฝรั่งเศส จะลองดูบ้างก็ไม่เสียหายนะ
• Qahwa (Arab countries)
คาห์วา (Qahwa) กาแฟจากประเทศแถบตะวันออกกลาง คนที่นั่นต้มกาแฟในหม้อที่เรียกว่า ดัลลา (Dallah) โดยใช้เมล็ดกาแฟที่บดพร้อมเครื่องเทศมาแล้ว แต่ก็ยังนิยมเติมเครื่องเทศระหว่างที่ต้มกาแฟไปด้วย โดยเครื่องเทศที่นิยมคือกระวาน
ประเทศแถบนี้ถือเป็นกำลังหลักสำคัญในการผลิตกาแฟสำหรับส่งออก คนในพื้นที่จึงคุ้นเคยกับเมล็ดกาแฟกัน ผู้ใหญ่ก็จะถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการเลือกเมล็ดกาแฟ การคั่วเมล็ด และกระบวนการชงกาแฟที่พิถีพิถันสู่รุ่นลูกหลาน ยังไม่นับวัฒนธรรมการดื่มกาแฟในบ้านที่สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยก่อนที่จะต้องเสิร์ฟกาแฟให้ผู้อาวุโสที่สุดเป็นคนแรกด้วยนะ
ที่มา
https://bit.ly/3PAqIOF
https://bit.ly/46aETB1
https://bit.ly/45eoytF
https://bit.ly/3LIZbcE
https://bit.ly/3LKxbVQ
https://bit.ly/46ydtop
https://bit.ly/46s8m9c
https://bit.ly/3PZX86s
https://bit.ly/45eoDNZ
https://bit.ly/46853Eq
https://bit.ly/3td0fPv