About
ART+CULTURE

H0M0HAUS

ล้อมวงคุยกับ 3 Festival Director ของ H0M0HAUS เทศกาลละครว่าด้วยความหลากหลายทางเพศ

Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • H0M0HAUS เทศกาลละครเวทีที่โฟกัสความหลากหลายทางเพศ กับการออกแบบเทศกาลเพื่อจุดประกายบทสนทนาว่าด้วยประเด็นนี้ ความพยายามสร้างศิลปินที่สนใจประเด็นเควียร์ และการดึงดูดคนดูหน้าใหม่กับคนที่อยากสนับสนุนคอมมูนิตี รวมถึงวิพากษ์ปิตาธิปไตยที่กดทับอยู่ด้วย

ไทยจะมีเทศกาลละครที่โฟกัสความหลากหลายทางเพศแล้วนะ!

‘H0M0HAUS’ คือเทศกาลที่มุ่งสร้างคอมมูนิตีเควียร์ สำหรับทั้งศิลปินและคนทั่วไป กิจกรรมในเทศกาลจึงยิ่งหลากหลาย ทั้งชวนม่วนจอย ทั้งชวนขบคิดเกี่ยวกับประเด็นความหลากหลายทางเพศในวงการศิลปะ ซึ่งนอกจากผลักดันประเด็นนี้ในมิติต่างๆ แล้ว ความหลากหลายของกิจกรรมเองก็สนับสนุนให้ทุกคนพูดเรื่องนี้ด้วยวิธีต่างๆ ตามแต่สะดวกหรือตามชอบใจด้วย

แล้วนอกจากละครเวที เทศกาลนี้มีอะไรบ้าง
เขียนบทมีไหม? มี!
ปาร์ตี้มีไหม? มี!
ถ้าอยากเต้นล่ะ? ได้!
นั่งคุยกันเฉยๆ ล่ะได้ไหม? ได้!

บอกเลยว่า คุณจะได้สัมผัสประการณ์หลากหลายรูปแบบผ่านเลนส์เควียร์ และมีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมกับเวิร์กช้อปมากมายที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างศิลปินที่สนใจประเด็นเควียร์ และผู้เชี่ยวชาญในหัวข้อความหลากหลายทางเพศ

ส่วนบทความนี้เกิดจากโอกาสที่ได้พูดคุยกับ Festival Director อย่าง โอ๊ต-ปฏิพล อัศวมหาพงษ์ ออม-ปัถวี เทพไกรวัล และแรปเตอร์-สิรภพ อัตโตหิ มาสำรวจแนวคิดในเรื่องราวหลังม่านของทั้งสามกัน

H0M0HAUS

The Directors

Festival Director ทั้ง 3 คนมารวมตัวกันได้ยังไง

โอ๊ต: เรากับออมเริ่มทำละครมาพร้อมกัน เพิ่งครบ 10 ปีพอดี แล้วช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โอ๊ตทำโปรแกรมชื่อว่า ‘SPECTATION AND SUSPICION’ เอาศิลปินรุ่นใหม่มาดูละครในเทศกาลละครกรุงเทพแล้วก็ถกกัน ปีแรกเราเจอแรปเตอร์ เออ ทำมาเกือบ 10 ปีก็เพิ่งเจอแรปเตอร์เนาะ

ออม: จะพูดก่อนค่ะว่า วงการละครเวทีในกรุงเทพฯ ก็ไม่ได้กว้างใหญ่ไพศาล มีคนดูมากมายขนาดนั้น 1 ปีมีไม่กี่งาน จะมีศิลปินใหม่โผล่มาก็ยากแล้ว ประเด็นเควียร์ที่เป็นซับเซ็ตของคำว่า ศิลปิน อีกทีหนึ่งก็น้อยลงไปอีก

H0M0HAUS

แรปเตอร์-สิรภพ อัตโตหิ

ทำไมถึงชอบการทำละครเวทีขนาดนี้

ออม: สนุก ชอบดูละครเวทีตั้งแต่เด็ก ชอบดูมิวสิคัล เริ่มจากการอยากเป็น แคทเธอรีน ซีตา โจนส์ (Catherine Zeta-Jones) ตอนดู ‘Chicago’ ในแผ่นวีซีดี (หัวเราะ) เติบโตมาก็ค้นพบว่า อ๋อ! สิ่งที่เราจะทำได้จริงๆ ถ้าเราชอบเรื่องเหล่านี้คือละครเวที

สำหรับเรา ละครเวทีเป็นสื่อให้ความบันเทิงกับคน และความบันเทิงไม่ได้มีแค่หัวเราะหรือสนุก มันมีความบันเทิงในการร้องไห้ ความบันเทิงในการไม่รู้เรื่องอะไรเลยแล้วกลับบ้านไปนั่งคิด แล้วพบว่าตัวเองไม่รู้เรื่อง สิ่งนี้เป็นความบันเทิงเหมือนกัน

แรปเตอร์: เราเรียนมา เราชอบ ก่อนหน้านี้เราก็เป็นแอคติวิสต์เคลื่อนไหวเรื่องประชาธิปไตยและ LGBTQIAN+ เราเคยมีส่วนร่วมอยู่กับมูฟเมนต์มากๆ เราลงถนน ตอนนี้สถานการณ์มันเปลี่ยนหมดแล้ว ไม่มีอะไรรองรับเหมือนแต่ก่อน

แล้วเธียเตอร์เป็นคำตอบ มันเป็นสื่อหนึ่งในการสื่อสารเชิงประเด็น เราสามารถยืนระยะอยู่ในจุดที่ไม่ต้องเอาตัวเองวิ่งเข้าไปชนกับอะไรไปเรื่อยๆ เรายังทำงานเชิงประเด็นต่อไปได้และทำในสิ่งที่เรารัก โดยที่ไม่ได้รับความเสี่ยงมากเกินไป

ต่างประเทศก็มีเยอะค่ะ ศิลปินที่ไม่ใช่ Commercial Artist ก็เป็นแอคติวิสต์เยอะ เราว่า เธียเตอร์เป็นเครื่องมือที่ถูกใช้เยอะ เพราะมันทำงานกับคนแบบ Person to Person

H0M0HAUS

โอ๊ต-ปฏิพล อัศวมหาพงษ์

อะไรจุดประกายให้เดินก้าวใหญ่อย่างการทำเทศกาล

โอ๊ต: มันเริ่มจากคำถามว่า ทำไมไม่มีศิลปินเควียร์คนอื่น ปี 2018 เราทำงานชื่อ ‘The 4th Rehearsal’ งานนั้นจับศิลปินเควียร์รุ่นใหญ่ชื่อ กั๊ก-วรรณศักดิ์ ศิริหล้า มาเจอกับศิลปินที่คนนิยามว่าเป็นรุ่นใหม่ ก็เป็นเรา มันเกิดคำถามว่า ทำไมยังเป็นโอ๊ตอยู่

สำหรับเรา วงการละครเวทีในประเทศนี้ไม่มีพื้นที่ให้คนที่นิยามตัวเองว่าเป็นเพศหลากหลายขนาดนั้น สิ้นปีที่ผ่านมาเลยคิดว่า บ่ได้แล้ว ต้องทำอะไรสักอย่างที่ทำให้เกิดศิลปินเควียร์มากขึ้น

สิ่งที่น่าจะตอบโจทย์ที่สุดคือเฟสติวัล โอ๊ตได้แรงบันดาลใจมาจากเทศกาลหนึ่งในเบลเยียมชื่อ ‘Homografia’ ปีหนึ่งจะรวมตัวคนที่สนใจประเด็นเควียร์ทางศิลปะการแสดง เป็นเทศกาลภาพยนตร์ด้วย เทศกาลนี้ไม่ได้ขึ้นตรงกับเธียเตอร์ใหญ่ของเขา มันไปที่ต่างๆ ที่ไปได้ เลยเอามาคุยกับออมกับแรปเตอร์ แล้วเดินทางมาเป็น H0M0HAUS

ออม: โอ๊ตก็นำสิ่งนี้มาเสนอ ตอนแรกบอกทำเล็กๆ ก็ไม่เข้าใจคำว่าเล็กของมันเหมือนกัน! ปีแรกแก ละคร 2-3 เรื่องแล้วกัน แต่ไม่ได้พูดถึง 5-6 Panel Discussion (หัวเราะ)

H0M0HAUS

The Plays

ละครในเทศกาล H0M0HAUS เกี่ยวกับอะไรบ้าง

โอ๊ต: โอ๊ตมีไอเดียอยากทำละครเกี่ยวกับ Patriarchy in Theatre แรปเตอร์ก็มีไอเดียทำประเด็นความหลากหลายทางเพศกับศาสนา เรื่องที่ 3 เป็นของเยอรมันว่าด้วยเรื่อง Trans Men

ปีนี้เราอยากโฟกัสการสร้างคอมมูนิตีศิลปินด้วยการสร้างพื้นที่ก่อน สร้างพื้นที่ให้คนเห็นว่า ศิลปะการแสดงประเด็นนี้ หรือการพูดถึงประเด็นนี้ในศิลปะการแสดง มันเป็นไปได้ มันปลอดภัย

เซอร์ไพรซ์มากที่มีงานของชาวต่างชาติด้วย

โอ๊ต: คนทำเพิ่งทำธีสิสจบด้วยตัวนี้ เขาสนใจเล่นละครเรื่องนี้ในภูมิภาคอื่นๆ ที่ไม่ใช่ยุโรป แล้วเขาก็เขียนขอทุนมาเล่นที่ประเทศไทยได้พอดี

โอ๊ตก็สนใจ เพราะเวลาคนมาถามว่ามี Trans Men เป็นศิลปินในวงการละครเวทีไหม ส่วนตัวโอ๊ตตอบว่า ไม่เจอ โอ๊ตไม่มีข้อมูลในหัวว่า เขาอยู่ที่ไหน เราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมถึงไม่มี และไม่กล้าตอบแทนคนในคอมมูนิตีเขา แต่เราคิดว่า การมีประเด็นนี้จะช่วยสนับสนุนว่า มันพูดกันได้นะ และมันมีอยู่จริง

H0M0HAUS

เมสเสจสำคัญที่อยากบอกผ่านละครเควียร์กับศาสนาคืออะไร

แรปเตอร์: เรามีเพื่อนเป็นแอคติวิสต์ที่เป็นมุสลิม เป็นทรานส์ และยังเชื่อในศาสนาอยู่ เราว่า สิ่งนี้สำคัญ เป็นจุดที่บอกว่า สังคมหาจุดในการอยู่ร่วมกันได้

เราสนใจศาสนา เพราะว่า สังคมมีภาวะ Islamophobia สูง ไม่ใช่แค่ในไทย แต่ในโลกที่ Christ-Based ส่วนไทยก็ Buddhist-Based ในขณะเดียวกันก็มีภาวะเกลียดกลัวคนที่มีความหลากหลายทางเพศ

‘Forgive me for I have sinned.’ เป็นแนวสารคดี พูดเรื่องผู้หญิงข้ามเพศมุสลิม พูดเรื่องการปะทะสังสรรค์ภายในตัวเองของคนที่พยายามหาวิธียืนหยัดในฐานะตัวฉันเองอย่างมีศักดิ์ศรี ต่อสู้ และวิพากษ์อำนาจที่กดขี่ตัวเอง วิพากษ์ศาสนา วิพากษ์สังคมชายเป็นใหญ่ในศาสนาและสังคม

เราเป็นเฟมินิสต์ค่ะ และเราก็สนใจแนวคิดของเฟมินิสม์ที่ชื่อว่า Intersectionality ซึ่งก็คืออัตลักษณ์ทับซ้อนของการกดขี่ จุดนี้ก็สำคัญ ความหลากหลายทางเพศและความเป็นมุสลิมคือตัวอย่างของความเป็นชายขอบที่มันอยู่ในชายขอบ

H0M0HAUS

Intersectionality ส่งผลกระทบมากขนาดไหน

แรปเตอร์: เราพูดก่อนว่า ไม่ได้เป็นมุสลิมนะคะ มันกระทบทุกอย่าง ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ ชีวิต สังคมการเมือง สุขภาพจิต Intersectionality คือการบอกว่า คนหนึ่งคนมีหลายอย่างที่ประกอบสร้างเป็นตัวเรา เพราะฉะนั้น เวลาเรามองการกดขี่หรือผลกระทบ มันก็คือทุกอย่างที่ประกอบสร้างเรามานั่นแหละ

ไม่ถึง 10 ปีก่อน คนไทยล้อเลียนมุสลิมว่า ‘มึงเป็นผู้ก่อการร้าย’ พอคุณเป็นเควียร์ในมุสลิม คนจะบอกว่า ‘อ้าว ศาสนามึงไม่ปาหินมึงเหรอ มึงก็ออกจากศาสนาไปเลย’ กลายเป็นว่า เลือกทางเดินชีวิตให้อีก มันเต็มไปด้วยคนที่มาตัดสินตีตรา

และ Intersectionality ทำให้เข้าใจว่า เราต้องสู้กับอะไรที่มากกว่าเรื่องของตัวเอง สมมติว่า คุณเป็นแรงงานและเป็นผู้หญิง แปลว่า คุณต้องสู้ทั้งเรื่องสิทธิสตรี ต่อสู้เรื่องสิทธิแรงงาน มันเป็นประเด็นโครงสร้าง ผูกโยงกันไปหมด

H0M0HAUS

กว่าจะเป็นละครเวทีสักเรื่อง ต้องทำอะไรบ้าง

ออม: แล้วแต่เรื่องเลย พูดกว้างๆ สำหรับละครทุกเรื่องไม่ได้ อย่างโอ๊ตทำละครเรื่องชีวิตตัวเอง โอ๊ตก็ไม่สามารถรีเสิร์ชธีสิสชีวิตตัวเองได้

โอ๊ต: เราเริ่มจากคำถาม ‘Hell Hath No Fury Like a Queer Scorned’ พูดเรื่องปิตาธิปไตยในวงการละครเวทีจากประสบการณ์การเป็นกะเทยในวงการมา 10 ปี

เราว่า วิธีที่คนทำกับเควียร์ โดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตามมันน่ากลัว เพราะมันไม่เคยถูกชี้ออกมาว่า พฤติกรรมนี้เกิดจากการใช้อำนาจอะไรบางอย่าง ในขณะเดียวกัน คนที่ทำพฤติกรรมเหล่านั้นไม่รู้ถึงผลกระทบ และจะไม่จำว่าตัวเองเคยทำอะไรกับใครเอาไว้ กลายเป็นว่าพฤติกรรมนั้นไม่มีอยู่จริง

เราก็เริ่มจากคำถามว่า กระบวนการเหล่านี้มีอำนาจยังไง ทำงานยังไงกับคนที่นิยามตัวเองเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศ จะบอกก่อนว่า เราเป็นมนุษย์อ่านรีเสิร์ช มันมีในหัวอยู่แล้วว่า ควรอ่านประมาณไหน เราก็หยิบมาอ่านอีกรอบ ทบทวนว่า เป็นอย่างที่ถูกที่ควรไหมกับที่เราคิด

แต่ส่วนตัวเราก็เชื่อว่า เธียเตอร์ไม่จำเป็นต้องวิชาการเบอร์นั้น เริ่มจากคำถามแล้วเราสำรวจไปพร้อมกับการซ้อม เราหยิบเรื่องส่วนตัวของคนสร้าง เรื่องของนักแสดงมาแชร์กันว่า มันเกิดอะไรขึ้น ทั้งสองคนอยากเล่าอะไร รีดออกมาให้หมด แล้วหยิบใช้เพื่อส่งสารที่ต้องการ แล้วค่อยหาสรรพสิ่งต่างๆ มาจัดวางให้เป็นละครที่ครบรส

แรปเตอร์: งานของเราเริ่มจากตั้งประเด็น แล้วก็หา Subject สัมภาษณ์ Subject เรามีลิสต์ว่าอยากรู้เรื่องอะไรบ้าง แล้วให้เขาเล่ามา ดูว่าอันไหนใช้ได้บ้าง อันไหนที่เขาไม่อยากเล่า จากนั้นก็จัดวาง

H0M0HAUS

ในเบื้องหลังการทำละคร คนยึดติดกับบทแค่ไหน

โอ๊ต: มันไม่จำเป็น บทที่มาจากเปเปอร์ไม่ใช่ Final Product แต่ก็เป็นวิธีคิดของการเรียนการสอนศิลปะการแสดงในประเทศไทยที่ว่า ควรจะเคารพผู้ประพันธ์ มันไม่ผิด มันปัจเจกมาก ขึ้นกับศิลปินว่าถนัดวิธีการไหน แต่ในความไม่ตายตัวนั้น เวลาสอนว่า บทประพันธ์อยู่สูงมาก มันเป็นอำนาจนิยมค่ะ

ก็มีดีเบตว่า กระบวนการเขียนบทให้เสร็จแล้วมาสั่งให้นักแสดงเล่นมัน Hierarchy นะ เป็นดีเบตที่พยายามจะทำลายขนบ อำนาจนิยมของการละคร

ส่วนตัวเราเชื่อเรื่องการแชร์อำนาจกันในกระบวนการ เราเป็นมนุษย์ที่ไม่ชอบคิดอะไรมาแล้วสั่งให้เขาทำ และด้วยความที่นิยามตัวเองว่าเป็นคนสนใจประเด็นเควียร์ เราพยายามจะต่อต้านอำนาจนิยมในสังคมชายเป็นใหญ่ในวงการศิลปะการแสดง ดังนั้นเราไม่ควรจะสมาทานอำนาจนี้

H0M0HAUS

ออม-ปัถวี เทพไกรวัล

The Ball

เห็นว่า เทศกาลจะนำเสนอ Ball Culture ที่กำลังเติบโตด้วย

ออม: เราจะมีบอลรูม มันเกิดจากคอมมูนิตีคนดำเควียร์ในนิวยอร์ก แต่ก่อนในยุค 80’s เขาถูกไล่ออกจากบ้าน เขารวมตัวกันใน Community Center หรือในสเปซหนึ่ง แล้วก็ ‘อ้อ ฉันจะเป็นแม่ให้เธอเอง’ แล้วก็อยู่ด้วยกัน ดูแลกัน จริงๆ บอลรูมจะมีบ้านนี้บ้านนู้นอย่าง House of LaBeija, House of Balenciaga, House of Ninja

บอลรูมเป็นกิจกรรมกลุ่มที่คนเหล่านี้ทำร่วมกัน เป็นการเต้น การ Walk ที่มีหมวดหมู่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และขยายกว้างมาก บอลรูมในฟิลิปปินส์ใหญ่มาก ในจีนใหญ่ก็มาก อินโดนีเซียเพิ่งมีบอลรูมครั้งแรก สิงคโปร์กำลังจะมีใน Pride Month ตอนนี้มีมาเรื่อยๆ ในไทยเพิ่งมี ยังไม่ถึง 10 ปี

H0M0HAUS

ระหว่างเติบโตต้องเจออุปสรรคอะไร

ออม: เราลำบากในการหาคนดู หาคนร่วม พอมองไปที่เพื่อนเรา เราก็ไม่อยากให้มันเป็นคัลเจอร์เล็กๆ อีกต่อไป ละครเวทีก็ด้วย

เราคุยกับโอ๊ต โอ๊ตก็บอกว่า บอลรูมเป็น Social Event อย่างหนึ่ง เราเลยโทร.หาเพื่อนทุกคน มาจัด Ball กันสักครั้งไหม เราอยากขับเคลื่อน Queer Culture อื่นๆ ในกรุงเทพฯ ซึ่งบอลรูมก็เป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วและแอคทีฟตลอดเวลา

ก็อยากให้มากันเยอะๆ เราออกแบบบอลรูมรอบนี้สำหรับคนที่ไม่เคยเข้าร่วมที่ไหนมาก่อน มาเรียนรู้กันว่า วัฒนธรรมนี้เป็นยังไง

H0M0HAUS

สปอยล์กิจกรรมในงาน H0M0 OTA Ball สักนิด

ออม: มันจะมีการประกวด มีถ้วยรางวัล มีแข่ง Walk แล้วก็จะมีวิธีการฝึกฝน แต่ละทีมฝึกโดยเข้าเวิร์กช้อปกับคนในคอมมูนิตีบอลรูมที่เขาเคยแข่งมาแล้ว หรือเขาก็มีคอมมูนิตีของเขาเอง มีแต่งตัวตามธีม มีการเต้น Vogue แต่ถ้าใครไม่อยากแข่ง แค่อยากมาจอยในงานก็ได้

น่าสนุกมากๆ หลายคนคงเสียดายที่ไม่รู้จัก Ballroom Culture เร็วกว่านี้

ออม: พวกนี้เป็นประสบการณ์การดูละครเวทีด้วย เราอยากพูดกับคนดูทุกคนว่า ละครเวทีทุกเรื่องก็เป็นเรื่องของมัน ถ้าสักครั้งหนึ่งเราจ่ายเงินไปดูละครที่เราไม่ชอบ ไม่ได้หมายความว่าทุกเรื่องจะเป็นอย่างงั้นหมด หรือถ้าชอบละครเวทีแล้ว ชอบความหลากหลายแล้ว เราต้องรู้ว่า มันมีความหลากหลายของละครด้วย

โอ๊ต: เราเชื่ออย่างแรงกล้าว่า โชว์ Drag หรือ Ballroom หรือ Tiffany เป็นกิจกรรมการแสดงทั้งหมด มันอาจจะไม่นิยามตัวเองเป็นแบบนั้น แต่มันมองด้วยแว่นนั้นได้

ในฐานะ Curator มันต้องชวนคนอื่นมอง เรามีโจทย์กับตัวเอง เราไม่อยากให้เทศกาลละครมีแต่ละครเวทีที่อยู่ในโรงละคร อยากชวนคนเปิดมิติการมองสิ่งต่างๆ นอกเหนือจากละครก็มีอีเวนต์ที่เชื่อมโยงกัน

H0M0HAUS

บอลรูมมีบทบาทอย่างไรในเทศกาลความหลากหลายทางเพศ

โอ๊ต: H0M0HAUS พยายามจะนำเสนอว่า เรามีรูปแบบการพูดเรื่องความหลากหลายทางเพศหลายวิธี หลากหลายอรรถรส หลากหลายอารมณ์ แล้วมันจะสะท้อนออกไปว่า เราก็ออกแบบการพูดเรื่องนี้ได้ด้วยวิธีการที่เราพอใจ

และเราว่า เวลาพูดถึงความหลากหลายทางเพศ มันไม่ใช่แค่ ‘เรามาพูดถึงกะเทยกันเถอะ’ มันควรจะน้อมรับทุกการเดินทางของความหลากหลายทางเพศ Pride ไม่ใช่แค่การเฉลิมฉลอง มันเป็นการกลับไปทบทวนการเดินทางของความหลากหลายทางเพศที่ผ่านมา เควียร์ไม่ได้เกิดจากความสนุกอย่างเดียว มันจะมีวาทกรรมว่า ‘กะเทยทุกคนต้องมีปัญหากับครอบครัว’ ซึ่งไม่ว่าจะมีหรือไม่มีก็เป็นปัจเจก แต่จริงๆ แล้วโลกใบนี้มันเป็นแบบนั้น

แรปเตอร์: มันเป็นประสบการณ์และประวัติศาสตร์ร่วม

H0M0HAUS

New Faces

ละครเวทีในไทยมีตัวละครเควียร์เยอะไหม

แรปเตอร์: การเรียนละครเวทีในปัจจุบันของหลายๆ ที่อยู่บนฐานไบนารีมาก ตัวละครเป็นผู้ชายกับผู้หญิง บทสำหรับเกย์ เลสเบี้ยนก็จะน้อยลงมา บททรานส์ยิ่งไม่ต้องพูดถึง ในขณะเดียวกัน คนที่มีความหลากหลายทางเพศก็มีเยอะ ฉะนั้น พวกเขาก็ต้องเล่นเป็นสเตรท บางคนก็โอเค แต่หลายครั้งจะมีความเหยียดเพศ อย่างคนที่เป็นทรานส์เล่นบทผู้หญิงไม่ได้ เขาไม่อนุญาต มันก็เคยเกิดขึ้น

โอ๊ต: ศิลปะการแสดงค่อนข้าง Tricky บางครั้งตัดสินด้วยรูปลักษณ์ภายนอกของคนบางคนที่ ณ วันนี้ไม่ตรงกับภาพจำชายจริงหญิงแท้ของคนบนโลก มันก็ไม่มีพื้นที่ให้เขาเลยในการที่จะเป็นนักแสดง

ส่วนตัวเราก็ไม่อยากเล่นเป็นชายจริงหญิงแท้ในละครเวที เราเลยปฏิเสธการเล่นเป็นตัวละครมาทั้งชีวิต ยุคแรกๆ ที่เราสร้างงาน เราถูกต่อต้านว่า ละครใช้เรื่องส่วนตัวไม่ได้ ละครต้องมาจากเรื่องที่ประพันธ์เสร็จแล้วเอามาแสดง แต่ละคร Convention ไม่มีพื้นที่ให้เรา เราจะไปทำทำไม

ประเด็นนี้ตีความว่ายังไงได้บ้าง

แรปเตอร์: เราว่า สภาพแบบนี้มันสะท้อนภาวะปิตาธิปไตย มันไม่มีศิลปินเควียร์ แต่ว่ามีเควียร์หรือผู้หญิงเป็นแรงงานกันเยอะ และคนไม่ค่อยสังเกตกัน

ตัวงานหรือการสร้างงานก็ไม่คำนึงเรื่อง Gender ไม่คำนึงเรื่องอำนาจ ไม่คำนึงประเด็นปิตาธิปไตย ถ้าพูดถึงเนื้อหาก็ผลิตซ้ำ Discourse ที่ทำร้าย LGBTQIAN+ หรือเหยียดผู้หญิง เราว่า มันเป็นภาพสะท้อนสังคมค่ะ การที่ไม่มีบท ไม่มีพื้นที่ ไม่มีตัวตนน่ะ

H0M0HAUS

แล้วนักเขียนบทละครประเด็นนี้ล่ะมีไหม

แรปเตอร์: น้อยมาก (เน้นเสียง) ในเมืองไทยไม่มีเลยค่ะ Zero!

โอ๊ต: จริงๆ Incubation Program เริ่มจากคำถามเดิมเลยว่า ทำไมไม่มีศิลปินเควียร์ ทั้งที่มีนักแสดงเควียร์เยอะมากที่เรียนอยู่แต่ก็หายไป มันไม่มีบทให้เขาเล่น มันมีอยู่ไม่กี่คนที่เขียนประเด็นนี้ ดังนั้นก็ควรจะสร้าง

เรามองว่า คนให้โอกาสการทำละครเยอะแล้ว มันมี BTF (Bangkok Theatre Festival) ให้คนสมัคร จ่ายเงินในราคาถูก แล้วได้ทำละครในหอศิลป์กรุงเทพฯ มันมี BIPAM (Bangkok International Performing Arts Meeting) ที่พยายามจะผลักคนไปแพลตฟอร์มต่างประเทศ มันมี BICT Fest (Bangkok International Children’s Theatre Festival) ที่ทำละครเด็ก แต่มันขาดบทสำหรับคนที่นิยามตัวเองว่ามีความหลากหลายทางเพศ

โปรแกรมในปีนี้ก็ปิดรับสมัครไปแล้ว ตอนนี้ตั้งตารออะไร

โอ๊ต: เราได้นักเขียนไทย 3 คน นักเขียนเกาหลี 1 คน เราอยากให้มีบทสนทนาร่วมกันเกี่ยวกับประเด็นนี้ด้วยว่า ทำไมการเขียนบทตัวละครนำที่มีความหลากหลายทางเพศมันยาก แล้วเราจะเขียนกันยังไง ขบวนการบ่มเพาะจะพามาเจอเมนเทอร์เขียนบท

Final Product จะถูกตีพิมพ์แล้วก็แจกจ่ายไปตามมหา’ลัย เพื่อให้อาจารย์รู้ว่า เอ้อ มันมีบทสำหรับคนเหล่านี้ เด็กจะได้ไม่มีปัญหาเวลาไปดีเฟนด์ธีสิสกับอาจารย์ว่า อยากเล่นแต่เล่นไม่ได้ เพราะไม่ใช่เพศตรงคาแรกเตอร์อีก พอกันทีดีเบตนี้แล้วก็นึกถึงเขาในฐานะนักแสดงคนหนึ่งสักที

ในขณะเดียวกัน ผลงานเหล่านี้ที่ถูกส่งไปตามมหา’ลัย ต้องถูกจัดการตามรูปแบบที่เป็นธรรมกับแรงงาน ถ้ามีนักศึกษามาขอเอาบทนี้ไปเล่นก็ต้องตกลงกันเรื่องลิขสิทธิ์ด้วย

H0M0HAUS

แชร์ความคาดหวังที่แต่ละคนฝากไว้กับเทศกาลนี้หน่อย

โอ๊ต: สำหรับเรา วันแรกที่เราก่อตั้ง H0M0HAUS มันเป็นพื้นที่ให้คนมารวมตัวกันแล้วเปล่งเสียงอะไรบางอย่างได้ พันธกิจไม่ใช่แค่ทำเทศกาลค่ะ มันเป็นพื้นที่ให้คนที่ทำงานศิลปะการแสดง คนที่สนใจประเด็นความหลากหลายทางเพศ มันถูกออกแบบมาเป็นแพลตฟอร์มในการสร้างพื้นที่สำหรับแลกปลี่ยนบทสนทนาเรื่องนี้ไปเรื่อยๆ

ละครคือเครื่องมือสำคัญมากในการทำให้เสียงเข้มแข็ง เราว่า ศิลปะมีพลัง มันทำงานในเชิงประสบการณ์ เวลาเราพูดถึงประเด็นต่างๆ บางครั้งมันอ่านได้ แต่พลังของศิลปะซับซ้อนกว่าการเห็นตัวอักษร และสองสิ่งนี้ต้องควบคู่กันไป

แรปเตอร์: H0M0HAUS กว้างกว่า Performative Art มันพยายามโยงกับการเคลื่อนไหว เป็นพื้นที่ให้เอาเรื่องปิตาธิปไตยมาพูดคุยกันบนโต๊ะ ปิตาธิปไตยที่ไม่ใช่แค่ในวงการละครเวที แต่ในสังคมด้วย เราว่า พอมีแพลตฟอร์มที่โฟกัสเรื่องนี้ มันกระตุ้นให้คนเริ่มสังเกตอะไรต่างๆ มากขึ้น คนที่อยู่ในภาพใหญ่ก็สนใจมากขึ้น

สิ่งที่น่าสนใจอย่างหนึ่งคือ Talk ของเราที่ชื่อว่า ‘Men-Kuy, Patriarchy in Theatre Scene’ คนแชร์กันเยอะมาก อาจจะแชร์ด้วยความตลก แต่มันก็แสดงให้เห็นว่า มันมีปัญหาบางอย่างที่รอวันให้คนหยิบขึ้นมาพูด

ออม: เราสนใจตามหาศิลปินที่สนใจประเด็นเควียร์ การทำเทศกาลใหญ่ที่มีกิจกรรมเยอะก็อาจจะเพิ่มโอกาสให้มีคนดูมากขึ้น หรือ Reach out ถึงคนที่สนใจละครเวที Panel Discussion และประเด็นเควียร์หลายคนให้มารวมตัวอยู่ในพื้นที่เดียวกัน

และเราสนใจที่จะตามหาพันธมิตร เรามีเวิร์กช้อปชื่อ ‘How to be good allies’ ชวนทำความเข้าใจว่า สิ่งที่ซัปพอร์ตคอมมูนิตีจริงๆ สามารถทำได้อย่างไร การซื้อตั๋วมาดูละครที่พูดอย่างโจ่งแจ้งว่า เป็นประเด็นเควียร์ก็เป็นการซัปพอร์ต เพราะฉะนั้นซื้อบัตรกันค่ะ

อย่างที่โอ๊ตพูดระหว่างบทสนทนาว่า “การรวมตัวกันเป็นเรื่องจำเป็น” ทั้งไดเรกเตอร์แต่ละคนที่มีแบรนดิงชัดเจน ทั้งผู้เชี่ยวชาญประเด็นเควียร์จากหลายสายอาชีพ เช่น เฟิร์ส-ธนพนธ์ อัคควทัญญู นักเขียนบทละครมือรางวัล เป็นต้น พวกเขาผนึกกำลังกันจนเกิดหลากกิจกรรมต่างอรรถรสให้เลือกสรร

แต่ที่เล่าไปข้างบนนี้ก็แค่น้ำจิ้ม ลองตามดูรายละเอียดโปรแกรมต่างๆ สำรวจหารสชาติที่ชอบได้ทาง H0m0Haus กับ homohaus_Official และอย่าลืมว่า เทศกาล H0M0HAUS จะมีขึ้นในวันที่ 31 พฤษภาคม – 9 มิถุนายน 2567 นี้แล้วนะ

Tags: