About
ART+CULTURE

มงกุฎดอกไม้ไหว

จาก ‘พันดิ้น’ สู่ ‘ฮั้วก๋วน’ มงกุฎดอกไม้ไหวเจ้าสาวในวิวาห์บาบ๋า

เรื่อง เปรมวดี ปานทอง Date 08-02-2023 | View 11955
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • หัตถศิลป์ดิ้นโบราณ หรือศิลปะการพันดิ้น ได้รับอิทธิพลจากตะวันตกในยุคปลายรัชกาลที่ 5 และโดดเด่นในวัฒนธรรมบาบ๋าทางภาคใต้ฝั่งอันดามันของไทย เพราะนำมาประดิษฐ์เป็น ‘ฮั้วก๋วน’ หรือมงกุฎดอกไม้ไหวของเจ้าสาวในงานวิวาห์
  • ‘ฮั้วก๋วน’ ของปอย-ตรีชฏา จัดทำโดยกลุ่มหัตถศิลป์ดิ้นโบราณ จังหวัดระนอง ที่ก่อตั้งโดยครูจุ๊บ – ปิยณัฏฐ์ อิสสระสงคราม ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะการพันดิ้นโบราณ ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากแจกันโบราณอายุ 100 ปีของตระกูล ณ ระนอง
  • มงกุฎดอกไม้ไหวของปอยเป็นแบบดั้งเดิม และมีการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมชาวบาบ๋าทางภาคใต้ของไทยกับปีนัง ใช้เวลาทำนานกว่า 3 เดือน จากปกติแค่ 1-2 สัปดาห์

ในขณะที่ผู้คนมากมายกำลังร่วมยินดีไปกับ ปอย - ตรีชฎา เพชรรัตน์ และโอ๊ค-บรรลุ หงษ์หยก ทายาทตระกูลดังเมืองภูเก็ต จนคีย์เวิร์ดคำว่า ‘ปอยตรีชฏา’ ขึ้นอันดับ 1 ของวันใน Google Trends และอีกสิ่งหนึ่งที่ได้รับความสนใจตามมาไม่แพ้กันคือ ‘ฮั้วก๋วน’หรือเครื่องหัวโบราณของเจ้าสาว

ฮั้วก๋วน เป็นชื่อเรียกมาจากภาษาจีนฮกเกี้ยน ‘ฮั้ว’ แปลว่าดอกไม้ ส่วน ‘ก๋วน’ หมายถึง มงกุฎ มีชื่อเรียกภาษาไทยว่า มงกุฎดอกไม้ไหว เป็นเครื่องประดับศีรษะของเจ้าสาวในพิธีวิวาห์ตามวัฒนธรรมบาบ๋า ประดิษฐ์ด้วยดิ้นเงินดิ้นทองเป็นดอกไม้ชูก้านประดับรอบฐาน

มงกุฎนี้ไม่เพียงทำขึ้นตามแบบโบราณและใช้วัสดุทองคำแท้ทั้งดิ้นและดอกไม้ทองเท่านั้น หากยังใช้เวลาถึง 3 เดือนในการทำอย่างประดิดประดอย โดยผู้อยู่เบื้องหลังความประณีตและงดงามครั้งนี้คือ ‘กลุ่มหัตถศิลป์ดิ้นโบราณ จังหวัดระนอง’ 

เราเลยอยากชวนไปรู้จักกับศิลปะงานทำมือแขนงนี้ผ่าน ครูจุ๊บ-ปิยณัฏฐ์ อิสสระสงคราม ประธานกลุ่มหัตถศิลป์ฯ และแม่งานในครั้งนี้ พร้อมพูดคุยถึงเบื้องหลังการประดิษฐ์ฮั้วก๋วนของสาวปอย รวมไปถึงการประยุกต์รูปแบบให้ร่วมสมัยเพื่อให้คงอยู่ต่อไปจากรุ่นสู่รุ่น

ฮัว 14

• อิทธิพลตะวันตกสู่วัฒนธรรมบาบ๋า

“ขอขอบคุณน้องปอยที่จุดประกายให้คนหันมาสนใจมงกุฎดอกไม้ไหว และหัตถศิลป์ดิ้นโบราณ หรือศิลปะการพันดิ้นของชาวบาบ๋า” ครูจุ๊บ ผู้ที่ได้รับการยกย่องให้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านหัตถศิลป์ดิ้นโบราณและเป็นวิทยากรในสถาบันการศึกษา ชมรมต่างๆ ออกตัวกับเรา ก่อนเสริมต่อว่า “กลุ่มชาติพันธุ์วัฒนธรรมบาบ๋า ซึ่งปรากฏอยู่ในภาคใต้ฝั่งอันดามัน ได้รับอิทธิพลศิลปะการพันดิ้นมาจากตะวันตก เข้ามาในเมืองไทยช่วงปลายรัชกาลที่ 5 – รัชกาลที่ 6”

ฮัว 7

ในอดีตผู้หญิงส่วนมากจะอยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน เข้าครัวทำงานประดิษฐ์ เย็บปักถักร้อย ยิ่งทำได้ประณีตงดงามยิ่งเป็นการเชิดหน้าชูตาวงศ์ตระกูล สมัยก่อนการแต่งงานคือการคลุมถุงชน ผู้ชายจึงแทบไม่รู้จักเจ้าสาวเลยด้วยซ้ำ แต่จะมีแม่สื่อคอยไปดูงานศิลปะพันดิ้นในตู้ครอบแก้วบ้าง งานปักรองเท้าบ้าง ชิมอาหารบ้าง เพื่อดูว่าผู้หญิงบ้านนี้เป็นแม่ศรีเรือนหรือไม่

ฮัว 13

 

ครูจุ๊บจบปริญญาโทด้านประวัติศาสตร์และเป็นคณะกรรมการสภาวัฒนธรรม บอกด้วยว่า จริงๆ แล้วศิลปะการพันดิ้นไม่ได้มีแต่ในกลุ่มชาติพันธุ์บาบ๋าเท่านั้น เพราะรับมาจากตะวันตก ญี่ปุ่นก็มี ส่วนในไทยเองก็มีการประดิษฐ์อยู่ในวัง เพียงแต่ของกลุ่มลูกหลานเลือดผสมพ่อจีนแม่เป็นสาวท้องถิ่นโดดเด่นที่เอาดิ้นมาประดิษฐ์เป็นมงกุฎดอกไม้ไหวที่ใช้ในการแต่งงาน

• สืบทอดภูมิปัญญา

ความสนใจในศิลปะการพันดิ้นของครูจุ๊บเริ่มขึ้นเมื่อ 11 ปีที่แล้ว หลังได้พบกับแจกันโบราณของตระกูล ณ ระนอง ในงานสถาปนาเมืองครบรอบ 150 ปี มีการจัดนิทรรศการแสดงข้าวของเครื่องใช้ การแต่งกายและเครื่องประดับวัฒนธรรมบาบ๋า ณ ค่ายเจ้าเมืองระนอง

“เป็นแจกันดิ้นโบราณ เอาดิ้นโปร่งมาทำเป็นตัวตุ๊กตา ดอกไม้ ผีเสื้อ คุณโกศล ณ ระนอง ผู้ดูแลจวนเจ้าเมืองระนอง บอกว่า เป็นแจกันอายุกว่า 100 ปีของคุณป้า จึงเริ่มสนใจและศึกษาตั้งแต่ตอนนั้น” เธอย้อนวันวานให้ฟัง

จากการลงพื้นที่ศึกษาค้นคว้า พบว่า ในยุคนั้นระนองมีผู้รู้ทางด้านนี้เหลือเพียงแค่ 3 ท่าน แต่ละท่านอายุมากแล้ว ท่านแรกคือคุณยายเสนอ นิลวิเชียร (ปัจจุบันเสียชีวิตแล้วด้วยอายุ 100 ปี) ส่วนอีก 2 คน คือ คุณยายประภา ปรีชาพงษ์ (92 ปี) และ คุณยายเป็กฮวด แซ่ตัน (91 ปี)

ประกอบกับศิลปะแขนงนี้ได้หายไปจากสังคมบาบ๋าเกือบ 100 ปี เพราะการแต่งงานรับอิทธิพลตะวันตกเข้ามาเปลี่ยนเป็นชุดแต่งงานสีขาว ไม่มีการถ่ายทอดงานฝีมือภายในครอบครัว เพราะผู้หญิงมีการศึกษามากขึ้น ไม่ได้เป็นแม่ศรีเรือนเหมือนแต่ก่อน ที่สำคัญเมื่อแฟชั่นของยุคเปลี่ยน ไม่ได้มีการปรับรูปแบบตาม ครูจุ๊บเห็นถึงปัญหานี้และรู้สึกว่าน่าเสียดายหากปล่อยให้มรดกทางวัฒนธรรมที่มีคุณค่านี้ต้องหายไปพร้อมกับผู้รู้รุ่นสุดท้าย

ฮัว 6

นี่จึงเป็นที่มาของแนวคิดการจัดตั้งกลุ่มหัตถศิลป์ดิ้นโบราณ จังหวัดระนองขึ้น แหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรม ชุมชนบ้านบางริ้น เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ในวงกว้าง นำเสนอผลงานการประดิษฐ์ทั้งแบบโบราณและการสร้างสรรค์ไอเดียใหม่ๆ เพื่อให้เข้าถึงง่ายและยั่งยืนมากขึ้น

ฮัว 10

• มงกุฎดอกไม้ไหวลูกครึ่งไทย-ปีนัง

ด้วยพื้นฐานทักษะด้านการออกแบบเสื้อผ้า เครื่องประดับและช่างประดิษฐ์ กับประสบการณ์ในหลายๆ ด้านที่มีอยู่แล้ว บวกกับความสนใจเป็นพิเศษ ทำให้กลุ่มหัตถศิลป์ฯ ผลิตผลงานโดดเด่นออกมามายมาย ไม่ว่าจะเป็นโพธิ์ปรก-พระดีบุก ราคาหลักหมื่น นกยูงดิ้นโบราณ รางวัลระดับเหรียญทอง CPOT (Cultural Product of Thailand) ปี 2559 เครื่องประดับและมงกุฎนางแบบปฏิทินรีเจนซี รวมไปถึงมงกุฎดอกไม้ไหวโบราณ จนไปเข้าตาว่าที่สะใภ้บ้านอาจ้อ

ฮัว 3

“ตอนแรกที่น้องปอยติดต่อมาทางเฟซบุ๊กยังคิดว่าใช่ตัวจริงหรือเปล่า ปอยบอกว่าศึกษาดูเนื้องานเราจากในอินเทอร์เน็ต ผลงานของกลุ่มมีหลากหลายและมงกุฎชิ้นหนึ่งที่เราเคยทำ แกะแบบจากของโบราณมาก่อน ปอยได้เห็นชิ้นนั้นเลยติดต่อมา หลังจากศึกษามาเยอะมาก”

แต่มงกุฎของปอยแตกต่างจากมงกุฎอันนั้น เพราะต้องการแบบดั้งเดิมและมีการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมชาวบาบ๋าทางภาคใต้ของไทยกับปีนัง

ฮัว 1

ประธานกลุ่มหัตถศิลป์ดิ้นโบราณเมืองระนอง อธิบายให้ฟังว่า มงกุฎงานวิวาห์บาบ๋าที่โดดเด่นมีอยู่ 3 ลักษณะคือ สิงคโปร์ จะคล้ายกับของงิ้ว  ส่วนไทยกับปีนังใกล้เคียงกันมากที่สุด แต่ของทางปีนังจะเป็นโลหะขึ้นรูปด้วยทองคำหรือโลหะเงิน ส่วนของไทยใช้ดิ้นเงินดิ้นทอง

ฮั้วก๋วนแบบดั้งเดิมจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ฐานกับช่อดอกไม้ ตัวฐานจะใช้ดอกมะลิร้อยเป็นมาลัย ไม่ก็ดอกพุด ดอกมะละกอตัวผู้ ไข่มุกหรือลูกปัดงาช้างประดับโดยรอบ ส่วนช่อดอกไม้ เรียกว่า ‘เฉ่งก๊อ’ ใช้ดิ้นเงินดิ้นทองประดิษฐ์เป็นก้านดอกไม้ 12 ช่อ (เลขมงคลตามความเชื่อของชาวจีนโบราณ) ประดับสับหว่างด้วยดอกไม้เพชรหรือเครื่องกะไหล่ทอง (เครื่องทองขึ้นรูป) ด้านบนประดับด้วยหงส์หรือฟีนิกส์ และผีเสื้อ

ฮัว 8

“มงกุฎของปอยเอาแบบปีนังมาใช้ ในส่วนของการนำทองคำไปให้ช่างขึ้นรูปเป็นดอกไม้เล็กๆ แล้วส่งมาให้เราประกอบกับดอกไม้ที่ทำจากดิ้นทองรวมกัน ทุกอย่างปอยส่งมาให้หมด ทำรื้อๆ กันอยู่ 3 รอบ เพราะจะต้องขึ้นรูปมงกุฎด้วยงานดิ้นธรรมดา เพื่อให้ปอยดูว่าชอบหรือไม่ อยากปรับแก้ตรงไหน รอบฐานของเป็นดอกไม้ไม่เอาลูกปัด เลยใช้เวลากันถึง 3 เดือน จากปกติจะใช้เวลาทำแค่ 1-2 สัปดาห์”

ฮัว 2

องค์ประกอบต่างๆ ของฮั้วก๋วนไม่ได้ประกอบขึ้นเพื่อความสวยงามเท่านั้น แต่ยังแฝงไปด้วยความเชื่อและคำสอน อย่างเช่น หงส์หรือฟีนิกซ์มีนัยสำคัญให้ครองรักด้วยความสงบร่มเย็นและเจริญรุ่งเรือง ส่วนผีเสื้อก็บอกถึงการมีชีวิตคู่ ขณะที่ยอดดอกไม้จะสั่นไหวตามการเคลื่อนไหว ว่ากันว่าเจ้าสาวตื่นเต้นแค่ไหนดูได้จากเฉ่งก๊อ ยิ่งตื่นเต้นมากก็ยิ่งสั่นไหวมาก เป็นที่มาของการเรียกว่า มงกุฎดอกไม้ไหว

ฮัว 5

• แหล่งเรียนรู้ สร้างงาน ส่งต่อคนรุ่นใหม่

ตามธรรมเนียมมงกุฎดอกไม้ไหวจะใช้ครั้งเดียวในงานวิวาห์ จึงเป็นสิ่งที่จับต้องได้ยากในอดีต บวกกับรูปแบบเดิมดูล้าสมัยไปสำหรับปัจจุบัน ครูจุ๊บและภาคีเครือข่ายในกลุ่มเลยออกแบบประยุกต์เป็นชิ้นงานที่ร่วมสมัย เข้ากับเทศกาลงานใหญ่ เช่น ดอกกุหลาบวันวาเลนไทน์ เข็มกลัดติดเสื้อ กิ๊บติดผม ต่างหู สร้อยคอ โซ่สายโยงชุดบาบ๋า ของที่ระลึก และของประดับตกแต่ง เป็นต้น ราคามีตั้งแต่หลักร้อยไปจนถึงหลักหมื่น เพื่อให้เข้าถึงง่ายสำหรับคนรุ่นใหม่

ฮัว 12

ที่สำคัญเป็นการสร้างงานสร้างรายได้ให้คนในชุมชนจากการผลิตชิ้นงาน เพื่อนำมาจำหน่ายในร้านขายของฝาก ของที่ระลึกที่แหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมชุมชนบ้านบางริ้น เมื่อมีออเดอร์ก็กระจายกันไปทำที่บ้าน แล้วมาช่วยกันประกอบ และยังเป็นงานอดิเรกให้ผู้สูงอายุหรือกลุ่มผู้เกษียณที่อาจเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าได้หากต้องอยู่บ้านเฉยๆ

ฮัว 9

ครูจุ๊บไม่เพียงถ่ายทอดความรู้ให้กลุ่มแม่บ้านและผู้สูงอายุ แต่เธอยังนำศิลปะโบราณนี้เข้าไปสอนในสถาบันการศึกษา เพื่อปลุกค่านิยมความหวงแหนมรดกทางวัฒนธรรมและสืบสานต่อไปในอนาคต ถ้ามีถนนคนเดินก็ให้กลุ่มแม่บ้านไปสาธิตและจัดเวิร์กช้อปให้กับนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศชม ได้รับความสนใจอย่างมาก หรือใครสนใจก็สามารถเข้ามาชมและเวิร์กช้อปได้ฟรี

ฮัว 11

“กลุ่มเราจัดตั้งเป็นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมหัตถศิลป์ดิ้นโบราณที่ไม่ได้ตั้งขึ้นเพื่อแสวงหากำไร เพราะฉะนั้นถ้าต้องการเรียนขั้นพื้นฐานง่ายๆ ประมาณ 20 นาที เราสอนให้ฟรี เพียงแต่ขอให้แจ้งล่วงหน้ามาสักนิดหากเป็นหมู่คณะ และถ้าช่วยซื้อสินค้าติดไม้ติดมือกลับไป จะเป็นกำลังใจให้คุณป้า คุณอา และคุณยายในชุมชน”

ปัจจุบันกลุ่มนี้มีภาคีเครือข่ายทั้งวิทยาลัยชุมชน กศน. โรงเรียน กลุ่มแม่บ้านตำรวจภูธร  ชมรมผู้สูงอายุบ้านบางริ้น ชมรมผู้สูงอายุบ้านบางนอน เข้ามาร่วมมือกันเพื่อร่วมอนุรักษ์ศิลปะการพันดิ้นโบราณให้อยู่คู่กับจังหวัดระนอง

ฮัว 4

“งานเหล่านี้มีค่าควรแก่การอนุรักษ์ เพราะปัจจุบันหาดูได้ยากแล้ว ตอนศึกษาหาข้อมูล งานโบราณบางชิ้นยังหลงเหลือให้ดูในพิพิธภัณฑ์ที่ปีนัง แต่ชาวบาบ๋าที่นั่นไม่มีคนสืบสานต่อ จึงเป็นเรื่องน่ายินดีที่ฝั่งไทยยังมีคนทำกันอยู่ แม้ในภาคใต้ฝั่งอันดามันจะเหลือไม่ถึง 10 ที่แล้วก็ตาม”

ไม่ใช่แค่วัฒนธรรมบาบ๋าที่สิ้นปีนี้ชุดยาย๋าจะขึ้นทะเบียนเป็นมรดกร่วม ประเภทภูมิปัญญาที่จับต้องไม่ได้ของยูเนสโก ระหว่างไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย แต่เราอยากคนรุ่นใหม่หันมาให้ความสำคัญและหวงแหนในมรดกทางวัฒนธรรมในทุกๆ ด้าน

“เพื่อให้เรื่องเล่าในอดีตได้เป็นเรื่องราวในอนาคตของคนรุ่นหลัง”


ภาพประกอบ : ครูจุ๊บ-ปิยณัฏฐ์ อิสสระสงคราม

กลุ่มหัตถศิลป์ดิ้นโบราณ จังหวัดระนอง
ที่อยู่ : 15/85 ซ.15 ถ.รัตนโกสินทร์ 200 ปี ต.บางริ้น อ.เมือง จ.ระนอง
FB : หัตถศิลป์ดิ้นโบราณ จังหวัดระนอง Old silk Ranong

Tags: