About
ART+CULTURE

เสก-สร้าง

6 งานดีไซน์จากนิสิต Industrial Design ตั้งแต่งานคราฟต์ แอปพลิเคชัน อนิเมชัน เกม จนถึงแบรนด์เมือง

Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • ชวนเจาะลึกไอเดียเบื้องหลัง 6 งานดีไซน์ ทำความเข้าใจอาชีพดีไซเนอร์หลากหลายประเภทไปพร้อมกับทำความรู้จักภาควิชาออกแบบอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ใครว่า งานออกแบบมีแต่ความสวยงาม ใครว่า คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์สอนแค่ออกแบบตึก แสดงว่ายังไม่รู้จักภาควิชาออกแบบอุตสาหกรรม (Industrial Design) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เบื้องหลังความสวยงามล้วนมีเหตุผลรองรับ เพราะดีไซน์มาจากการทำความเข้าใจคน เพื่อตอบโจทย์การใช้งานของคน และทำให้ลูกค้าอยู่กับแบรนด์นานขึ้น

เบื้องหลังผลงานออกแบบในบทความนี้มาจากหลักสูตรที่ให้นิสิตเรียนรู้หลายทักษะ และอัปเดตหลักสูตรเป็นประจำให้สอดคล้องกับยุคสมัย นิสิตจึงประยุกต์ใช้ความรู้ได้ไม่สิ้นสุด ราวกับเสกมันขึ้นมาได้ดั่งใจ

นิสิตหลายคนพูดตรงกันว่า เรียนคณะนี้แล้วทำเป็นหลายอย่าง ฉะนั้น หากใครยังค้นหาตัวเองอยู่ คณะนี้จึงน่าสนใจทีเดียว และคุณอาจไม่จำเป็นต้องเลิกเป็นเป็ด เพียงแต่เป็นเป็ดที่รู้ว่า ตัวเองมีจุดแข็งอะไรบ้าง

ส่วนที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลยคือการเรียนรู้ผ่านการทำโปรเจกต์ ซึ่งกระตุ้นให้นิสิตพัฒนาตัวเองและสร้างทัศนคติเชิงบวกต่อความผิดพลาด หากล้มก็พร้อมจะลุกขึ้นมาเสมอ ไหนจะทำ Business Model ควบคู่ไปด้วย โดยมีลูกค้าคนแรกเป็นผู้เชี่ยวชาญอย่างอาจารย์มหาวิทยาลัย ดังนั้น นิสิตจากคณะนี้พร้อมเข้าสู่โลกแห่งการทำงานไม่แพ้ใครแน่นอน

เหล่านิสิตทั้ง 40 คนยังร่ายมนตร์ดลบันดาลนิทรรศการ ‘เสกสร้าง’ ขึ้นมา เพื่ออวดพลังวิเศษในการออกแบบของตัวเอง แถมฝากมาย้ำว่า งานนี้เหมาะกับทุกคน จะเป็นน้องๆ ที่กำลังเตรียมตัวเข้ามหาวิทยาลัย คนที่กำลังมองหาเพื่อนร่วมงาน หรือถ้าคุณแค่อยากรู้อยากเห็นก็มาได้นะ ดังที่นิสิตคนหนึ่งกล่าวไว้ว่า

“งานออกแบบคุยกับทุกคน”

แต่ก่อนจะไป มาดูผ่านตัวอย่างผลงาน 6 ประเภทจากนิสิต 6 คนที่รับบทเป็นผู้วิเศษ ทั้งเสกและสร้างชิ้นงานออกมาอย่างโดดเด่นแทบกินกันไม่ลงเลยทีเดียว

Material & Context Based

เสก-สร้าง

photo : ID Degree Show

เสก-สร้าง

ชื่อธีสิส : โครงการการออกแบบเครื่องปั้นดินเผา
ที่ตกแต่งด้วยเทคนิคน้ำเคลือบลาวา

ชื่อผลงาน : Error To Aesthetic

“มันเป็นอุบัติเหตุค่ะ”

จุดเริ่มต้นของตุ่มพองบนพื้นผิวแจกันคือ อุบัติเหตุในเตาเผา เมื่อน้ำเคลือบดันพองแล้วเชื่อมเซรามิก 2 ชิ้นที่วางใกล้กัน เอิน-ปนัสยา รัตนบรรณสกุล เลยปิ๊งไอเดียหยิบคุณสมบัตินี้มาออกแบบแจกันซะเลย

“มันเจ๋งอะ น้ำเคลือบพองตัวออกมา มันเอามาสร้างฟอร์มได้ ไม่ใช่แค่ฉาบเฉยๆ”

แจกันรูปทรงเดียวกันหลายใบถูกนำมาโชว์ แต่ละใบต่างกันที่ตุ่มพองที่ไม่อาจควบคุมตำแหน่งการเกิดได้ เมื่อผนวกกับภาพลักษณ์คล้ายผุพังและหลอมละลายนี้กับเบื้องหลังที่เป็นอุบัติเหตุ เอินจึงตั้งชื่อผลงานว่า ‘Error to Aesthetic’

 

เสก-สร้าง

Material & Context Based เน้นศึกษาตัววัสดุ ธีสิสนี้ค้นลึกไปถึงสัดส่วนของสารในน้ำเคลือบ เพื่อให้พองมากที่สุดระหว่างเผา ทั้งยังต้องศึกษาระยะห่างระหว่างแจกันที่เอื้อให้เชื่อมติดกัน และตัวแปรอื่นอีกมากมายราวกับเป็นนักวิทยาศาสตร์

เสก-สร้าง

“เราต้องรู้ก่อนว่า ขอบเขตของวัสดุคืออะไร แล้วมันมีหลายทางในการออกแบบ ออกแบบโดยใช้ขอบเขตของวัสดุให้มากที่สุด ออกแบบภายในขอบเขต หรือแหกกฎไปเลย”

เสก-สร้าง

เอินยกตัวอย่างบุคคลมากประสบการณ์คนหนึ่งที่เจอระหว่างฝึกงานที่ลำปาง เธอเรียกเขาว่า พ่อมด ผู้จับเซรามิกแล้วแกะสูตรออกมาได้เลย ต่อให้ไม่เป๊ะก็ใกล้เคียงมาก และเมื่อใดก็ตามที่เอินมีประสบการณ์มากพอ เธอจะต้องเป็นแม่มดที่มีพลังวิเศษนี้ไม่ต่างกันแน่

Passion Based

ชื่อธีสิส : โครงการออกแบบผลิตภัณฑ์กระเป๋า
โครงสร้างจากวัสดุสายยางซิลิโคน

ชื่อผลงาน : Still – Stretch

จะเป็นอย่างไร ถ้านำสายยางซิลิโคนมาถักกระเป๋า

กระเป๋าสานไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ นารีมาน-ณัฐกานต์ กาดีโรจน์ นิสิตจาก Passion Based จึงมองหาวัสดุที่แตกต่างออกไป ตั้งแต่วัสดุธรรมชาติ วัสดุสังเคราะห์ จนมาจบที่สายยางซิลิโคน

เสก-สร้าง

“มันเป็นวัสดุที่น่าสนใจมาก นอกจากใช้มันเป็นท่อกลางเอาไว้ผ่านของเหลว ถ้าเราเอามาศึกษาหรือทดลองก็เอาไปทำเป็นผลิตภัณฑ์อื่นได้อีก มันมีทั้งคุณสมบัติยืดหยุ่น สีใส โดนน้ำได้ พอถือขึ้นมา อุ๊ย มันยืดได้”

เสก-สร้าง

เสก-สร้าง

แม้คณะไม่มีคลาสสอนจักสาน นารีมานก็เริ่มหัดด้วยตัวเอง ออกแบบหลายแพตเทิร์น จนกระทั่งออกแบบรูปทรงกระเป๋าได้ตามต้องการ เธออาศัยความหลงใหลในงานจักสาน แล้วศึกษามันอย่างลึกซึ้งผ่านการค้นคว้า ทดลอง ทั้งผสมความเป็นตัวเองเข้าไป และนี่คือแก่นของ Passion Based

เสก-สร้าง

photo : ID Degree Show

เสก-สร้าง

photo : ID Degree Show

กระเป๋า ‘Still – Stretch’ แต่ละใบมีเอกลักษณ์ บางใบมีลายขดเป็นวงกลมต่อกันหลายชิ้น บางใบมีปลายแหลมทิ่มแทงออกมา นารีมานตั้งใจสื่อถึงสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลอย่างปะการัง ดอกไม้ทะเล หอยเม่น ฯลฯ คำบอกเล่าของเธอยังทำให้เข้าใจอีกว่า ความท้าทายของดีไซเนอร์ไม่ใช่แค่การหัดทักษะ แต่รวมถึงการวางคอนเซปต์ให้ชัดเจน สิ่งนี้สำคัญถึงขนาดที่ว่า ถ้าคนเห็นผลิตภัณฑ์ปุ๊บจะรู้เลยว่า กระเป๋าใบนี้เป็นของแบรนด์อะไร

เสก-สร้าง

photo : ID Degree Show

เกริ่นมาแบบนี้ แถมไฟแพสชั่นแรงกล้าจนแทบเป็นมนุษย์ไฟ เราจึงไม่แปลกใจเมื่อนิสิตคนนี้พูดว่า

“เราอยากมีแบรนด์ของตัวเอง สำหรับคนที่ไม่ถนัดด้านออกแบบ เราก็เป็นตัวแทนในการแสดงตัวตนของเขาออกมาด้วย”

Technology Based

ชื่อธีสิส : โครงการออกแบบ อนิเมชัน 2 มิติ ผสมเทคนิคงานกระดาษ จากประเด็นการกลั่นแกล้งในสังคมโรงเรียน
ชื่อผลงาน : Dansemare

เสก-สร้าง

photo : ID Degree Show

Technology Based ส่งตัวอย่างผลงานเป็นอนิเมชันสีทึม มีนักเรียนยืนอยู่ท่ามกลางห้องเรียนบรรยากาศหม่นหมองที่เล่นกับใจคนดูเพียงแวบแรกที่มอง

เสก-สร้าง

มิ้นท์-ฟาติมา กาญจโนภาส ตั้งใจรณรงค์ประเด็นการกลั่นแกล้งภายในโรงเรียน โดยตัวละครหลักมีสภาพจิตใจย่ำแย่จนมองสภาพแวดล้อมบิดเบี้ยวไปจากเดิม เห็นเพื่อนร่วมชั้นหน้าตาเปลี่ยนไป และแยกความจริงกับภาพหลอนไม่ออก

เสก-สร้าง

อนิเมชันนี้ไม่ได้เกิดจากคอมพิวเตอร์อุปกรณ์เดียวเท่านั้นนะ มิ้นท์ผสมเทคนิคแบบ 2D และ 3D เข้าด้วยกัน โดยอย่างหลังนี้ มิ้นท์ใช้เทคนิค Papercraft สร้างโมเดล แล้วใช้เทคนิค Projection Mapping หรือฉายโปรเจกเตอร์ลงบนโมเดลอีกทีหนึ่ง จากนั้นถ่ายวิดีโอมาแทรกในซีน 2 มิติที่มิ้นท์ต้องตัดต่อให้กลมกลืนกันด้วย

เสก-สร้าง

photo : ID Degree Show

ภาพหลอนในเรื่องได้แรงบันดาลใจจากศิลปะยุคกลางของฝรั่งเศสชื่อ Danse of Macabre หรือ ระบำแห่งความตาย ที่โครงกระดูกเต้นรำกับคนเป็น แล้วพาเดินเข้าสู่ความตาย มิ้นท์นำความเชื่อนี้มาปรับและเล่าใหม่ให้สอดคล้องกับเนื้อเรื่องของอนิเมชัน

เสก-สร้าง

‘Dansemare’ จึงโดดเด่นทั้งฉาก ตัวละคร เนื้อเรื่อง เทคนิคการออกแบบ แถมดึงความเชื่อจากวัฒนธรรมอื่นมาประกอบสร้างเป็นเรื่องราวที่กลมกล่อม อัดแน่นอยู่ภายในวิดีโอความยาว 4 นาที ที่ปล่อยตัวอย่างมาให้ดูผ่านช่องทางนี้ NightMare

เสก-สร้าง

มิ้นท์ฝันอยากไปอยู่ในเบื้องหลังของอนิเมชันหรือโฆษณาในฐานะ Art Director เธอจะกำหนดมู้ดและโทนของสื่อให้แข็งแกร่ง ผลงานเหล่านี้แม้ไม่เกิดการปฏิสัมพันธ์โดยตรงกับผู้คนเทียบเท่าสิ่งของ แต่มิ้นท์ก็จะเนรมิตภาพให้คนเข้าใจได้เพียงแค่ดูเหมือนอนิเมชันสุดหลอนนี้

Experience Based

ชื่อธีสิส : โครงการออกแบบประสบการณ์ซ่อมเซรามิก
เพื่อสร้างทัศนคติด้านความยั่งยืน

ชื่อผลงาน : SOMSAANG (ซ่อมสร้าง)

“Experience Based ใช้คำว่า User-centric ได้อย่างเต็มปากเต็มคำ”

การออกแบบประสบการณ์นั้นเป็นไปได้หลายทางขึ้นกับความต้องการของผู้ใช้เป็นหลัก โดยหนึ่งโปรเจกต์อาจมีมากกว่าหนึ่ง Touch Point (ช่องทางที่ผู้ใช้มีปฏิสัมพันธ์ด้วย) และวิธีที่เลือกมาจะต้องตอบโจทย์ปัญหาหรือส่งเสริมพฤติกรรมได้อย่างตรงจุด

เสก-สร้าง

ปุ๊น-กัณติกา วิชญเมธากุล หยิบเทรนด์เวิร์กช็อปเซรามิกมาทำธีสิสชื่อ ‘SOMSAANG’ (ซ่อมสร้าง) ผนวกกับประเด็นทางสังคมอย่างความยั่งยืน (Sustainability) ชวนผู้คนซ่อมเซรามิก เพื่อรักษาฟังก์ชันเดิมกับความทรงจำที่บรรจุอยู่ภายใน โดยปุ๊นออกแบบแอปพลิเคชันสำหรับแชร์วิธีซ่อมเซรามิกด้วยตัวเอง และใช้เป็นพื้นที่ให้คนมาแชร์เรื่องราวเกี่ยวกับการซ่อมสิ่งของด้วย

เสก-สร้าง

photo : ID Degree Show

เสก-สร้าง

photo : ID Degree Show

ปุ๊นยังจัดกิจกรรมซ่อมสร้างที่คาเฟ่ของคณะ เธอตระเตรียมเซ็ตอุปกรณ์การซ่อมไว้พร้อม แล้วนำชิ้นส่วนแตกหักเล็กๆ มาทำเป็นเครื่องประดับอีกต่อหนึ่งด้วยนะ จุดประสงค์หนึ่งของกิจกรรมนี้คือชี้ให้เห็นว่าการซ่อมไม่ยุ่งยากอย่างที่คิด แถมสนุกอีกตะหาก ตามไปดูของจริงกันทางนี้เลย somsaang.bkk

เสก-สร้าง

เซรามิกที่ผ่านการซ่อมถูกนำไปใช้เสิร์ฟอาหารในคาเฟ่ ซึ่งเป็นสถานที่ยอดนิยมของคนรุ่นใหม่ นอกจากส่งต่อเซรามิกให้คนที่ต้องการ การนำไปใช้งานจริงจะช่วยเสริมทัศนคติเกี่ยวกับการซ่อมอีกทาง เพราะปุ๊นรู้ดีว่า วิธีซ่อมคงไม่ใช่ตัวเลือกแรกของใครหลายคน ทั้งที่มันเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากเมื่อเทียบกับการทิ้งแล้วซื้อใหม่

เสก-สร้าง

เมื่อปุ๊นได้เป็น Service Designer ตามที่หวัง เธออาจต่อยอดทักษะไปใช้ออกแบบประสบการณ์ในร้านค้า หรือแม้แต่ออกแบบประสบการณ์ให้คนในองค์กร ทั้งนี้ ปุ๊นเน้นย้ำคำของอาจารย์ที่ว่า

“ไม่มีงานดีไซน์ที่ดีที่สุดบนโลกนี้ มีแต่งานที่ดีที่สุด ณ เวลานั้น”

เสก-สร้าง

พลังวิเศษของนักออกแบบประสบการณ์คือการค้นหา ต่อให้เป็นเรื่องซับซ้อนอยู่ลึกภายในใจคนขนาดไหนก็จะค้นจนเจอ และไม่ปล่อยผ่านรายละเอียดเล็กน้อยที่อาจสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ได้

Issue Based

ชื่อธีสิส : โครงการออกแบบสื่อกลางเสริมสร้างความสัมพันธ์เกี่ยวกับความเท่าเทียมทางเพศด้านการแต่งกายระหว่างคู่รัก
ชื่อผลงาน : เกม Dress Dating Day

เสก-สร้าง

photo : ID Degree Show

Issue Based มุ่งแก้ปัญหาสมชื่อ โปรเจกต์หนึ่งตั้งต้นจากปัญหา ส่วนผลงานดีไซน์ก็ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อช่วยผู้ใช้งานจัดการกับปัญหานั้นโดยเฉพาะ

เสก-สร้าง

photo : ID Degree Show

ดีดี้-ญาณิศา เพ็ชรศรีอุดม สร้างชิ้นงานสุดครีเอตเป็นเกมการ์ดที่เล่นควบคู่กับแอปพลิเคชันแต่งตัว พร้อมด้วยอาร์ตทอยสุดเก๋สร้างจากคาแรกเตอร์ของผู้เล่น ธีสิสนี้ต้องการเน้นประเด็นการออกความเห็นเกี่ยวกับการแต่งกายระหว่างคนรักที่มีสาเหตุมาจากระบอบปิตาธิปไตย โดยส่งเสริมให้คู่รักได้เปิดอกพูดคุยกัน

เสก-สร้าง

photo : ID Degree Show

ในส่วนของการ์ดนั้นมีเหตุการณ์จำลอง พร้อมระบุสถานที่ เมื่อจั่วการ์ดแล้ว ผู้เล่นจะสแกนตัวเองผ่านแอปพลิเคชัน แล้วใช้อวตารเป็นตัวแทนในการแต่งตัวตามโจทย์บนการ์ด แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือ เกมนี้จะช่วยผู้เล่นทบทวนตัวเอง และช่วยป้องกันการเกิดรอยร้าวในความสัมพันธ์ด้วย

ดีดี้ตั้งใจให้ ‘Dress Dating Game’ ผลิตอาร์ตทอยตามเอกลักษณ์ของผู้ใช้ด้วยนะ ทั้งทรงผม สีผิว รูปร่างของร่างกายจะขึ้นกับผู้เล่น ส่วนใบหน้าและดวงตารูปตัวอักษร ‘D’ นั้นคงเอกลักษณ์ของแบรนด์เอาไว้

เสก-สร้าง

photo : ID Degree Show

พูดเหมือนง่ายแต่ Issue Based ใช้เวลาทั้งเทอมแรกในการศึกษา ค้นคว้า และจัดสัมมนาก่อนจะเริ่มออกแบบชิ้นงานเป็นกิจลักษณะในเทอม 2 นิสิตยังต้องทำแผนการตลาดด้วยว่า จะขายยังไง ขายที่ไหน ผลิตภัณฑ์ไหนที่ดึงดูดกลุ่มเป้าหมาย มีใครเป็นสปอนเซอร์หรือพาร์ตเนอร์บ้าง และทั้งหมดนี้เป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น

การทำธีสิสจะว่า ช่วยเตรียมทักษะรอบด้านสำหรับทำแบรนด์เลยก็ว่าได้ นิสิตบางคนก็เอาแบรนด์ที่มีอยู่แล้วมาทำธีสิสและรับคำแนะนำทั้งจากอาจารย์กับผู้เชี่ยวชาญในวงการที่อาจารย์เชิญมา หลังจากนั้นคือการโฟกัสจุดที่ควรพัฒนา โดยเฉพาะการตีแผ่ปัญหาและเก็บข้อมูล เพราะผลลัพธ์ที่ดีจะสร้างอิมแพคต่อสังคมและเสริมมูลค่าแบรนด์ไปในตัวเลยล่ะ ยกตัวอย่างผลงานอื่น เช่น ที่นอนเพื่อแก้ปัญหา Revenge Bedtime เป็นต้น

“เราเป็นฮีลเลอร์ (Healer) ฮีลตัวเองด้วย ฮีลคนอื่นด้วย” ดีดี้พูดยิ้มๆ

Community Based

ชื่อธีสิส : โครงการออกแบบแบรนด์เมือง พื้นที่เทศบาลนครสวรรค์
ชื่อผลงาน : เข้ากลีบเมฆ (The Escape Cloud)

เสก-สร้าง

‘เข้ากลีบเมฆ’ (The Escape Cloud) คือธีสิสออกแบบแบรนด์เมือง โดยมีจุดประสงค์ดึงคนรุ่นใหม่มาใช้ชีวิต ณ นครสวรรค์ เจ้าของผลงานอย่าง หนูดี-ฎีการัช ธรรมรัตนกุล ก็เติบโตที่นครสวรรค์ ความคุ้นเคยและความเข้าใจเป็นต้นทุนสำหรับการสื่อสารให้คนนอกเห็นข้อดีของบ้านเกิดของเธอ และแม้แต่หนูดีเองก็เป็นหนึ่งในกลุ่มเป้าหมายด้วย

“คนรุ่นใหม่หลายคนเข้ากรุงเทพฯ แล้วไม่กลับมา”

เสก-สร้าง

หลังลงพื้นที่เทศบาลเมืองนครสวรรค์ หนูดียิ่งเห็นชัดว่า บ้านเกิดเต็มไปด้วยผู้สูงวัยที่มีความรู้ด้านประเพณีเก่าแก่ กลิ่นอายวัฒนธรรมจีนยังคงชัดเจน แต่หากปล่อยปัญหาดังกล่าวไว้ คุณค่าเหล่านี้ก็เสี่ยงที่จะหายไป และจากประสบการณ์ตรงของหนูดีเอง บ้านเมืองเงียบเชียบ มืดไว กลับไปทีก็เหมือนโดนบังคับให้นอนไว เธอเลยจับจุดเด่นเหล่านี้มาเป็นจุดแข็งของเมืองซะเลย

เสก-สร้าง

photo : ID Degree Show

หนูดีตั้งคอนเซปต์ ‘เข้ากลีบเมฆ’ เล่นคำกับวลี ‘หายเข้ากลีบเมฆ’ แต่ผู้คนไม่ได้กำลังหลบหนี เพียงแค่หายเข้าไปพักใจในเมืองแห่งสวรรค์ พอผนวกกับเทรนด์ Workation ให้คนรุ่นใหม่ย้ายงานมาทำที่นี่ ใช้ชีวิตท่ามกลางวัฒนธรรมเก่าแก่ เมืองที่ต่อยอดวัฒนธรรมมาเป็นงานสร้างสรรค์จะทำให้พวกเขากลับมามีไฟอีกครั้ง

เสก-สร้าง

photo : ID Degree Show

เสก-สร้าง

photo : ID Degree Show

การออกแบบแบรนด์ไม่หยุดแค่การคิดคอนเซปต์ แต่มันครอบคลุมไปถึงทิศทางการออกแบบโลโก้ เว็บไซต์ สินค้า โซเชียลมีเดีย ฯลฯ หรือก็คือ เมื่อมองภาพใหญ่และเข้าใจทุกส่วนแล้วจะต้องสื่อสารตัวตนของแบรนด์ให้ชัดเจนผ่านทุกงานดีไซน์ที่มี

“ดีไซเนอร์ต้องสื่อสารตรงจุด โดยเฉพาะรูปแบบ Visual เราไม่มีสิทธิ์แปะคำอธิบาย เพราะคนอาจจะไม่อ่าน คนมองแล้วต้องเข้าใจเลย”

เสก-สร้าง

จากผลงานทั้งหมดที่ยกมา ถ้าไม่รู้จักมาก่อนคงเผลอคิดว่าเป็นผลงานจากนิสิตคนละคณะ แล้วเวทมนตร์แห่งความสร้างสรรค์นั้นจะไปสุดขนาดไหนต้องพิสูจน์เองกับตา แล้วเจอกันที่ Siamscape ชั้น 1 ตั้งแต่วันที่ 22-26 พฤษภาคมนี้เท่านั้น!

Tags: