About
ART+CULTURE

Life is Art

มรกต เกษเกล้า บนเส้นทางศิลปิน Semi-abstract และความเป็นครูที่เรียนรู้ตลอดชีวิต

เรื่อง ศรีวลี หลักเมือง Date 23-03-2024 | View 1831
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • อ้อม-มรกต เกษเกล้า ศิลปินเจ้าของผลงานจิตรกรรมในรูปแบบกึ่งนามธรรม (Semi-abstract) ที่สื่อสารด้วยการเชื่อมโยงตัวเองเข้ากับสิ่งรอบตัว อ้อมยังเป็นอาจารย์สอนศิลปะ เพราะเป็นอาชีพที่ทำให้สอนและทำงานศิลปะที่ตัวเองรักมาตั้งแต่เด็ก

“คนทั่วไปอาจคิดว่าการเรียนศิลปะมันง่าย สบาย จะต้องอยู่ในโลกจินตนาการ แต่เอาเข้าจริง มันก็ต้องจริงจัง” อ้อม-มรกต เกษเกล้า ศิลปินและอาจารย์พูดถึงแง่มุมหนึ่งในการทำงานศิลปะ

ศิลปะสำหรับเธอต้องจริงจังขนาดไหน? เธอบอกด้วยน้ำเสียงหนักแน่นว่า เธอขออุทิศเวลาให้การทำงานศิลปะและการเป็นอาจารย์สอนศิลปะเพื่อเรียนรู้ไปตลอดชีวิต พร้อมถือคติว่า “ศิลปะคือชีวิตของเรา” อย่างนั้นเลย

มรกตถนัดทั้งงานวาด (Painting) ศิลปะสื่อผสมและจัดวาง (Mixed Media & Installation) งานตัดปะ (Collage) และงานภาพพิมพ์ (Print Making) ปัจจุบันเธอทำงานศิลปะทั้งแนวนามธรรม (Abstract) และกึ่งนามธรรม (Semi-abstract) ที่ยึดคอนเซปต์ตายตัว แต่ยังมีเค้าโครงจาก ‘แนวคิด’ หรือ ‘สัญญะ’ บางอย่างที่สื่อสารโต้ตอบกับคนดูได้ ตามคำว่า Semi หรือ ‘กึ่ง’ ที่เข้ามาขยายบริบทของคำว่า abstract

มรกตชวนไปสำรวจประสบการณ์ส่วนตัวของเธอที่ได้จากการสังเกตรายละเอียดในชีวิตประจำวัน รวมถึงความเปลี่ยนแปลงตามสภาวะภายในและภายนอกให้เชื่อมโยงถึงกันที่ไม่เพียงแค่ส่งพลังงานบางอย่างให้คนดูเท่านั้น แต่ยังเป็นการเชื้อเชิญให้สำรวจและชวนตั้งคำถามผ่านผลงานของเธออีกด้วย

มรกต เกษเกล้า

คือศิลปะ

ในระหว่างสนทนา มีประโยคหนึ่งที่พรั่งพรูมาจากความนึกคิดของอ้อม

‘ศิลปะคือชีวิตของเรา’

คนฟังอย่างเรา ‘เชื่อ’ ประโยคนั้นเลยทันที เพราะเรารู้สึกอย่างนั้นจริงๆ เราคุยกันจริงจังบ้าง คุยเล่นกันบ้าง ไหลเรื่อยไปถึงเรื่องจิตวิทยา แล้ววกกลับมาที่ผลงานด้วยความเป็นกันเองของเธอ ก่อนจะพบว่า ‘ศิลปะ’ ล้วนส่งผลโดยตรงต่อชีวิตอ้อมมาตลอด

“เราเลือกศิลปะตั้งแต่เด็กแล้ว ด้วยสิ่งแวดล้อมในครอบครัวสมัยรุ่นบรรพบุรุษเขาเป็นศิลปินกันหมด อย่างคุณทวดเป็นช่างแกะสลักและช่างแทงหยวก คุณปู่เป็นนักดนตรี ลูกพี่ลูกน้องก็เรียนสถาปัตย์ มัณฑนศิลป์ กราฟิกดีไซน์ ต้นตระกูลเลยมาทางสายศิลป์กันหมด เลยอยากเรียนบ้าง แม้พ่อรับราชการแต่ก็ให้อิสระในการเลือกสิ่งที่ชอบ นั่นเป็นเหตุผลให้เดินบนเส้นทางของศิลปะ

“ไม่ว่าจะทำงานศิลปะแบบไหน เราก็มีความสุข ศิลปะช่วยเราได้หลายอย่าง ความเป็นศิลปะคือการอ่านความคิดของคนได้ว่าเขากำลังคิดอะไร หรือการรับรู้ได้ถึงพื้นที่และชั่วขณะเวลาผ่านผลงานของบุคคลนั้น เพราะศิลปะมันโกหกกันไม่ได้”

มรกต เกษเกล้า

คือตัวตน

บทความชิ้นหนึ่งเคยเขียนบรรยายส่วนหนึ่งเกี่ยวกับกระบวนการทำงานศิลปะของมรกตไว้ว่า “ในฐานะศิลปิน ชีวิตของเธอหมุนรอบทุกสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นบรรยากาศสบายๆ ภายในบ้าน การได้เล่นกับแมวที่เธอรัก การได้ชื่นชมต้นไม้ และการได้เฝ้ามองท้องฟ้าซึ่งทำหน้าที่เป็นแรงบันดาลใจสูงสุดต่อการวาดภาพศิลปะในแต่ละวันให้ดำเนินต่อไปได้”

นั่นคือ ‘มรกต’ ศิลปินจากเชียงใหม่ที่จบการศึกษาจากไทยแล้วไปต่อที่เยอรมนี ผลงานของอ้อมเคยจัดแสดงทั้งนิทรรศการเดี่ยวและกลุ่มมาแล้วทั้งในไทยและอีกหลายประเทศ เช่น เวียดนาม อินเดีย เยอรมนี ออสเตรีย สวีเดน อิตาลี โปแลนด์ โรมาเนีย และมอนเตเนโกร ปัจจุบันเธอเป็นอาจารย์สอนศิลปะ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นวิทยากรรับเชิญ และยังคงจัดแสดงผลงานอย่างสม่ำเสมอ

มรกต เกษเกล้า

มรกต เกษเกล้า

ผลงานของเธอมีความผสมผสานระหว่าง Art&Craft ด้วยเทคนิคการชุนด้ายกับงานจิตรกรรม เธอพยายามบอกว่าไม่อยากจำกัดรูปแบบของการสร้างสรรค์งานศิลปะ ซึ่งมีศิลปินคนโปรดชาวเยอรมัน แกร์ฮาร์ด ริตช์เตอร์ (Gerhard Richter) ซึ่งทำงานหลากหลายและไม่จำกัดรูปแบบ ทำให้เธอไม่ยึดติดกับกรอบเดิมในการสร้างสรรค์งาน รวมถึงอัลบา ดูร์บาโน (Alba D’Urbano) อาจารย์ชาวอิตาเลียนตอนเธอเรียนที่เยอรมนี ที่ถนัดด้านอินเตอร์มีเดีย ซึ่งมีพื้นฐานทางกราฟิกดีไซน์ ทำให้ผลงานมีความหลากหลายและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ประทับใจ

มรกต เกษเกล้า

“สมัยเรียนเราทำงาน Mixed Media Installation มาตลอด เพิ่งจะมาทำงานวาดอย่างเดียวจริงๆ ตอนที่เป็นอาจารย์ที่คณะวิจิตรศิลป์เมื่อ 7-8 ปีที่แล้วเลยไม่อยากนิยามว่างานตัวเองเป็นแบบไหน แต่คนส่วนใหญ่จะบอกว่างานเราเป็นแนว Abstract แต่หลักๆ แล้วงานเราเป็น Semi-abstract ที่แปลว่า กึ่งนามธรรม ไม่ได้เป็นนามธรรมเสียทีเดียว เราอยากให้งานสื่อสารกับคนดูได้ บางชิ้นก็เป็นภาพสเก็ตช์ ซึ่งจะมีแนวคิดนำทางในชิ้นงาน เพราะเราถูกฝึกมาแบบนั้น”

มรกต เกษเกล้า

คือความต่าง

แนวคิดงานศิลปะในรูปแบบ Semi-abstract ที่เธอว่า เห็นได้ในนิทรรศการล่าสุด ‘SEAM-less’ ซึ่งเธอจัดแสดงคู่กับคัตเทีย พรินส์ (Katja Prins) ศิลปินชาวเนเธอร์แลนด์ กับการค้นประเด็นในเรื่อง ‘ความต่าง’ ที่อยู่ร่วมกันได้ ส่วนของอ้อมจัดเป็นภาพวาด 8 ชิ้น และคัตเทียเป็นประติมากรรมรูปแบบจิเวลรีดีไซน์ เป็นสององค์ประกอบที่มีทั้งความแข็งและความอ่อนแต่ดูเข้ากัน

มรกต เกษเกล้า

มรกต เกษเกล้า

คอนเซปต์และแนวคิดของอ้อมในนิทรรศการนี้ คือการนำกลุ่มก้อนที่เต็มไปด้วยมวลของความรู้สึกหดหู่ หรือความรู้สึกแย่ ซึ่งกำลังติดหล่มอยู่ในภาวะสงคราม การเผชิญหน้ากับปัญหาหลายๆ สภาวการณ์พร้อมกัน อ้อมได้หยิบยกปัญหาใกล้ตัวเกี่ยวกับการครอบครองกรรมสิทธิ์ที่ดินบริเวณหลังบ้าน โดยใช้แนวคิดเรื่องดินแดนที่ถูกครอบครอง (Occupied Territories) เพราะเป็นความขัดแย้งทางกายภาพที่ส่งผลต่อสภาพจิตใจของเธอเอง เธอเปรียบเทียบการถือครองนี้ต่อไปอีก เช่นเดียวกับแมวของเธอที่ถืออภิสิทธิ์ครอบครองอาณาเขตเดียวกัน แต่มักจะอยู่ด้วยกันไม่ได้ ซึ่งไม่ว่าจะมนุษย์หรือสัตว์ก็ต่างพยายามที่จะ ‘ครอบครอง’ สิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่แพ้กัน

มรกต เกษเกล้า

มรกต เกษเกล้า

มรกต เกษเกล้า

ยกตัวอย่างผลงาน ‘Organic Wall (2024)’ ที่นำแนวคิดมาจากกำแพงคอนกรีตกั้นเขตแดนในสงคราม (ปาเลสไตน์ ) เธอนึกถึงการครอบครองอาณาเขตที่ต้องแบ่งแยกดินแดนกันไม่จบสิ้น สร้างปัญหาใหญ่ให้ผู้คนโดยไม่แคร์อะไร เธอตกผลึกไอเดียได้ว่าต้องการจะเปลี่ยนรูปร่างของกำแพงคอนกรีตที่มองเห็นแล้วหนัก (ทางความรู้สึก) ให้ดูเบาบางลง ซึ่งความรู้สึกมองแล้วหนักและความรู้สึกที่เบาบางแสดงถึงความต่างที่ ‘เชื่อม’ เข้าด้วยกัน เลยคิดฟอร์มออกมาเป็นรูปทรงจากธรรมชาติ (Organic Form) จึงกลายเป็นชิ้นงานชื่อว่า Organic Wall ใช้เทคนิคการลงสีอะครีลิกทั้งหมด เธอท้าทายงานชิ้นนี้จากการลองจุ่มสีพู่กันทั้ง 2 ด้ามพร้อมกัน แล้วลากพู่กันบนเฟรมวาดรูปแค่รอบเดียวจบ จนได้มู้ดแอนด์โทนที่ลงตัวแล้วประทับใจ

มรกต เกษเกล้า

มรกต เกษเกล้า

ส่วนผลงานอีกชิ้นที่เธอประทับใจชื่อว่า ‘existence : non existence (2024)’ เป็นชิ้นงานต่อจาก Organic Wall ที่ประสานความต่างของ ‘Wall (ผนังคอนกรีต)’ กับ ‘Wall (ผนังลวดหนาม)’ ด้วยการสื่อถึงสัญญะของ ‘ความเศร้า’ ที่เธอใช้การตอบโต้ทางความรู้สึกระหว่างตัวเองกับเฟรมวาดรูปที่ขึงไว้ เหมือนเป็นการปฏิสัมพันธ์ต่อตัวงานด้วย ‘ความต่าง’ ที่หลากหลายจากงานชิ้นแรกถึงชิ้นสุดท้าย ซึ่งเธอพอใจกับผลงาน Organic Wall (2024) ชิ้นแรก และ existence : non existence (2024) ชิ้นสุดท้ายมากกว่าชิ้นอื่น คล้ายเป็นบทสรุปการเดินทางของชิ้นงานทั้ง 8 ชิ้น หรือไม่ก็อาจจะเป็นผลงานทั้งหมดที่สร้างสรรค์มาค่อนชีวิตของศิลปินเช่นเธอ

มรกต เกษเกล้า

คือชีวิต

การทำงานบนเส้นทางศิลปะเกือบ 2 ทศวรรษ กับการยึดอาชีพอาจารย์ สำหรับอ้อมแล้วใช่ว่าจะเดินดุ่มแล้วนึกอยากเป็นอาจารย์ได้เลย แต่เพราะเธอรักในศิลปะ และทบทวนตัวเองจนแน่ใจว่า หากจะพาศิลปะติดตัวไปตลอดชีวิตนั้นจะต้องทำอย่างไร คำตอบที่ได้คือการเป็น ‘ครู’ เพราะจะได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ควบคู่กับการบังคับตัวเองให้ทำงานศิลปะไปด้วย

“อาชีพอาจารย์เราจะเรียนรู้ด้านวิชาการอย่างเดียวไม่ได้ ต้องฝึกฝน ต้องสร้างสรรค์ ฉะนั้นคิดว่ามาถูกทาง ทำให้เราได้ศึกษา ได้เรียนรู้ตลอดเวลา ได้ทำงาน ได้อยู่กับศิลปะจริงๆ เพราะเวลาสอนหนังสือ เราจะมีโจทย์ให้ต้องแก้ไข การเรียนศิลปะเป็นคุณลักษณะเฉพาะของคน เป็นการหาความเป็นตัวเอง อาจารย์ก็เหมือนเป็นโค้ชที่คอยผลักดันนักศึกษาเพื่อที่จะหาความเป็นตัวตนของคนคนนั้นออกมา ซึ่งแต่ละเคส เราเรียนรู้เขา เขาเรียนรู้เรา ทำให้เราได้พัฒนาตัวเองไปด้วย

มรกต เกษเกล้า

“มาถึงจุดนี้พูดได้เต็มปากว่า เราพยายามที่จะเป็นอาจารย์และศิลปินที่ดีในเวลาเดียวกัน เราไม่รู้ว่าจะทำได้ดีแค่ไหน แต่ก็ทำเต็มที่ แม้ว่าอาจจะไม่ได้เป็นศิลปินที่รู้จักในโลกของศิลปะกระแสหลัก หรือสังคมศิลปะบ้านเราอาจจะไม่รู้จักเราก็ได้ แต่เราก็คลุกคลีกับการสอนหนังสือ การสร้างสรรค์งาน หรือการเดินทางไปพบเจออะไรใหม่ๆ ที่ทำให้ทบทวนเรื่องราวเกี่ยวกับพื้นที่และเวลาซึ่งสำคัญมาก เรามีความสุขกับชีวิตที่เราเลือกแล้ว

“เคยมีคนเห็นงานเราแล้วชอบ เขามาบอกให้เราลาออกจากการเป็นอาจารย์เลยนะ คิดว่าเขาคงห่วงว่าเราอาจจะไม่มีเวลาทำงานศิลปะ แต่เรามีความสุขกับการได้สอน เลยพยายามที่จะเป็นอาจารย์และศิลปินที่ดีไปด้วย ตอนนี้เราก็ยังทำอยู่…”

‘พยายามที่จะเป็นอาจารย์และศิลปินที่ดี’ ในความหมายของอ้อมเหมือนการกดปุ่ม Replay วนซ้ำๆ ร่ำไป


ขอขอบคุณรูปภาพ : อ้อม-มรกต เกษเกล้า

ติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่ MORAKOT KETKLAO, IG: morakotketklao

Tags: