My Art Is Not Cute!
‘น้ำมนต์ – ชินรัตน์’ กับงานศิลปะจากกระดาษที่หน้าตาเป็นมิตร แต่วิธีทำไม่ได้น่ารัก
- รู้จัก ‘น้ำมนต์- ชินรัตน์ มงคลชัย’ ศิลปินผู้กำลังสนุกกับการทำงานศิลปะจากกระดาษ ที่จะมายืนยันว่างานของเธอไม่ได้น่ารักขนาดนั้น! แต่มากไปด้วยการทดลอง กระบวนการที่ ‘จริง’ กับตัวเอง และความตั้งใจที่จะสื่อสารให้ผู้ชมอินไปกับงาน
เราพบกับ ‘น้ำมนต์ - ชินรัตน์ มงคลชัย’ ครั้งแรกที่งานเปิดนิทรรศการของศิลปินคนหนึ่ง ซึ่งดันเป็นเพื่อนของเราทั้งสองคนพอดี ความชุลมุนตรงนั้นทำให้ได้แค่จดจำใบหน้า ถามไถ่ชื่อ แล้วก็แยกย้ายกันไป
ครั้งที่สองคือระหว่างนั่งไถฟีดอินสตาแกรมในช่วงค่ำของวันว่างๆ ทุกอย่างเริ่มจากผลงานที่ดูแล้วสบายๆ แต่เตะตา ก่อนเราจะกดเข้าไปดูโปรไฟล์แล้วพบว่า ‘เอ๊ะ! นี่มันคนที่เจอวันนั้นนี่นา’ เลยไม่รอช้าที่จะกดติดตาม
วันดีคืนดีโพสต์ที่บอกว่าเธอกำลังจะมีนิทรรศการเร็วๆ นี้ ก็เด้งขึ้นมาที่หน้าฟีด นำมาสู่ครั้งนี้ที่เรานัดพบเธอเพื่อพูดคุยกันในฐานะศิลปิน ณ Galieoasis ในนิทรรศการว่าด้วยเรื่องกระดาษ ‘PAPERCLUB 101’
เพื่อมาหาคำตอบให้ทุกคนว่า เจ้าของผลงาน ‘ดูเหมือนจะน่ารัก’ จนทำเอาหลายคนนั่งมองได้ทั้งวันเหล่านี้ ที่แท้แล้วมีวิธีการทำงานที่น่ารักจริงหรือเปล่า? และทำไมถึงเลือกใช้กระดาษเป็นวัสดุหลัก?
Art Goes Beyond Painting
น้ำมนต์เริ่มจับดินสอวาดรูปครั้งแรกตั้งแต่ยังไม่เข้าโรงเรียน เหตุเกิดเพราะอยู่ดีๆ แม่ที่วาดรูปเจ้าหญิงให้เด็กหญิงน้ำมนต์ทุกวัน ก็หยุดวาดไปดื้อๆ ซะงั้น เธอเลยเริ่มร้องไห้โวยวายตามประสาเด็ก และเอาดินสอมาละเลงระบายอารมณ์ลงบนกระดาษ ทำแบบนั้นอยู่สักพัก จนค้นพบว่า ‘เฮ้ย! เราก็วาดเองได้นี่นา ไม่เห็นจะยากเลย’
นับจากนั้น ความชอบในการทำงานศิลปะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ พร้อมๆ กับความจริงจังในการฝึกฝน จนในที่สุดน้ำมนต์ก็สอบติดคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และจับพลัดจับผลูมาเลือกเรียนเอก Painting ทั้งที่ไม่ได้ชอบงาน Painting ขนาดนั้นด้วยซ้ำ… แต่ด้วยการตัดสินใจแบบไม่ได้ตั้งใจครั้งนี้นี่แหละที่พานักศึกษางงๆ คนนี้ไปเจอตัวเองในแบบที่ใช่ที่สุด!
“พอเรียนเอกนี้ กลายเป็นว่าศิลปะไม่ใช่แค่การวาดรูปแล้ว มันเป็นเรื่องของการพัฒนาความคิด พัฒนาสิ่งที่เราสนใจจริงๆ และการรวบรวมข้อมูลความรู้มากกว่า อาจจะไม่ต้องเกี่ยวกับอาร์ตโดยตรงก็ได้” น้ำมนต์บอกกับเรา เดาว่าน่าจะเป็นเพราะความเปิดกว้างทางความคิดของอาจารย์ในเอก Painting ที่ทำให้เธอได้จับงานคอนเซปชวลมากขึ้น พูดง่ายๆ ก็คือศิลปะที่เน้นแนวคิดมากกว่าเทคนิคหรือสื่อที่ใช้สร้างงาน
น้ำมนต์เลยไม่ได้หมกมุ่นกับการเพนต์ภาพมากนัก แต่ขยายวงความสนใจไปทำทั้งงานภาพถ่าย และประติมากรรมขนาดเล็กๆ ด้วยวัสดุที่หลากหลาย เพื่อเล่าในสิ่งที่เธออยากจะเล่า โดยมีแกนสำคัญคือ “งานต้องจริงใจ เป็นมิตร และเข้าถึงได้ง่าย”
Mindful Material
ถ้าอย่างนั้น ศิลปะจากกระดาษที่เป็นเอกลักษณ์ของน้ำมนต์ในทุกวันนี้มีที่มายังไงล่ะ?
ความสัมพันธ์ของน้ำมนต์กับวัสดุที่แสนจะใกล้ตัวแต่เต็มไปด้วยความเป็นไปได้ไม่รู้จบนี้ เริ่มขึ้นอย่างเป็นจริงเป็นจังระหว่างที่เธอไปเรียนแลกเปลี่ยนช่วงปริญญาโทที่ Tama Art University วิทยาเขตฮาชิโอจิ เมืองมาชิดะ ประเทศญี่ปุ่น
บรรยากาศเงียบสงบแถบชานเมือง บวกกับแดดฟุ้งๆ ของญี่ปุ่นที่ไม่ว่าจะตกกระทบกับอะไร ก็ทำให้ดูมีชีวิตชีวาไปหมด ทำให้น้ำมนต์เริ่มทำงานกับภายในตัวเองมากขึ้น โดยดึงความสนใจรอบๆ ตัวมาช่วยเล่า
และแม้เครื่องมือในการสร้างผลงานจะเป็นเพียงกระดาษเเละสีชอล์ก ทีเด็ดอยู่ที่โปรเซสในตอนทำ “เราเริ่มทําในสตูดิโอคนเดียว มันเงียบมากจนเราได้ยินเสียงสีชอล์กถูกับกระดาษ จังหวะนั้นแหละ ทำให้รู้ว่าสิ่งที่เราสนใจจริงๆ คือกระบวนการที่ได้จดจ่ออยู่กับแอ็กชันอะไรสักอย่าง เหมือนเวลาเราถือศีลแล้วต้องจดจ่ออยู่กับลมหายใจเข้าออกนั่นแหละ แบบนั้นเลย” น้ำมนต์อธิบาย เครื่องมือเหล่านี้ช่วยให้เธอฝึกสติ (Mindfulness) ไปในตัว
ส่วนผลลัพธ์ที่ออกมาก็มักจะเป็นของที่เธอสนใจในช่วงนั้น อย่างเช่น สีและเทกซ์เจอร์ของอาหาร รูปร่างหน้าตาของคนที่ประทับใจ สถานที่ท่องเที่ยวที่อาจเคยเห็นผ่านตา ความทรงจำในวัยเด็ก ฯลฯ
จนเรียนจบ น้ำมนต์ก็ไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น เธอขุดเอาเทคนิคเปเปอร์มาเชที่ทำเล่นกับครอบครัวในวัยเด็กออกมาจากลิ้นชักความทรงจำ นำกระดาษเหลือทิ้งในห้องมาฉีก ผสมกับน้ำและกาวให้เป็นดินกระดาษ (Paper Clay) ก่อนจะลงมือปั้นเป็นรูปทรงต่างๆ ที่มีความหมายบ้าง ไม่มีความหมายบ้าง ตามด้วยการขัดให้เนียนนวลด้วยกระดาษทราย และลงสีแบบโทนอ่อนๆ สบายตาตามสไตล์เธอ
ชิ้นไหนอยากให้มีเทกซ์เจอร์พิเศษหน่อย น้ำมนต์ก็จะใส่เศษผงจากวัตถุใกล้ตัวลงไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นเปลือกไข่ เปลือกส้ม กากกาแฟ ดอกไม้แห้งจากวันรับปริญญาที่ไม่อยากทิ้ง หรือแม้แต่เส้นผมของเธอเอง!
ถามว่ากระดาษน่าใช้กว่าวัสดุอื่นยังไง? “น่าจะเป็นวัสดุที่ใกล้ตัวและจัดการง่ายมั้ง อีกอย่างคือผู้สร้างสรรค์สามารถเลือกเองได้โดยตรงเลย ต่างกับเฟรมผ้าใบสำเร็จรูป ที่ต้องผ่านโปรเซสจากมือคนอื่นมาอีกหลายต่อ” น้ำมนต์สรุป
Fierce But Soft
เราเดินตามน้ำมนต์ขึ้นไปที่ห้องนิทรรศการ เธอนั่งลงเเละหยิบศิลปะจากกระดาษให้เราดูทีละชิ้น พร้อมๆ กับเผยสตอรีที่ซ่อนอยู่ในตัวงาน ที่เราประทับใจที่สุดก็คงจะเป็นชิ้นเหล่านี้
Vanilla Sky ก้อนกระดาษสีส้มแกมฟ้า มองเผินๆ แล้วรูปทรงเหมือนถั่วอัลมอนด์ แต่ถ้าเอามือไปโอบอุ้มไว้พร้อมกันทั้งสองข้าง รูปทรงก็จะรับกับอุ้งมือเราเเบบพอดีเป๊ะ น้ำมนต์ซึ่งชื่นชอบท้องฟ้าตอนเย็นเอาซะมากๆ อธิบายว่า เธอสร้างรูปทรงนี้เพราะอยากให้ทุกคนได้รู้สึกเหมือนได้ถือ Vanilla Sky ไว้ในมือ
I Love you in Caramel Candy Language แท่งสีน้ำตาลหน้าตาเหมือนกันวางเรียงรายอยู่ 8 แท่ง ดูเหมือนจะไม่มีความหมายอะไร (จนเราเกือบหยิบมาเรียงใหม่แบบมั่วซั่ว) แต่สำหรับน้ำมนต์มันคือคำบอกรักจากเพื่อนชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งที่มักจะนำลูกอมคาราเมลมาฝากอยู่เสมอ ถ้าสังเกตดีๆ แท่งทั้ง 8 ถูกคั่นกลางด้วยสเปซเป็น 3 กลุ่มย่อยๆ กลุ่มแรก 1 แท่งแทน “I” กลุ่มสอง 4 แท่งแทน “LOVE” และกลุ่มสาม 3 แท่งแทน “YOU” นั่นเอง!
Dialog and Food Book อย่างที่เล่าไปว่าหนึ่งในแรงบันดาลใจสำคัญของน้ำมนต์คืออาหาร มากไปกว่าการกิน เธอสนใจในสีเเละพื้นผิวของมัน ผลงานหนังสือทำมือเล็กๆ เล่มนี้เลยเกิดขึ้น น้ำมนต์รวบรวมรูปของหวานของคาวมาจากโบรชัวร์ร้านอาหารหลายแห่งในญี่ปุ่น ตัดแปะ และเขียนข้อความประกอบ แม้ข้อความจะไม่สอดคล้องกับภาพ 100% แต่ก็เป็นการจับความคิดเธอในช่วงนั้น และเป็นการตีความภาพอาหารในมุมใหม่ๆ
ทั้งหมดนี้ รวมไปถึงผลงานทุกชิ้นที่จัดแสดงอยู่ ทำให้เห็นว่าผู้หญิงคนนี้ทำงานกับ ‘ความคิด’ ตัวเองมาหนักแค่ไหน ไม่ว่าจะรูปทรง วัสดุ พื้นผิว การจัดวาง ล้วนซ่อนความหมายเล็กๆ น้อยๆ ไว้ทั้งสิ้น
“สมัยก่อนคนชอบบอกว่างานเรา ‘น่ารัก’ ซึ่งช่วงแรกแรกที่ได้ยินก็ทำเอาหงุดหงิดเหมือนกันนะ ในใจตอนนั้นคือ ‘ไม่ได้อยากให้มันน่ารัก จริงจัง ไม่รู้เหรอว่าเครียดขนาดไหน’ (หัวเราะ)” น้ำมนต์เผยความในใจที่ไม่ค่อยได้เล่าให้ใครได้ฟังเท่าไหร่นักออกมา
โปรเซสในการทำที่ผ่านทั้งการฉีก ขีด ตบ และขัด เป็นสิ่งที่น้ำมนต์ให้ความสำคัญเช่นกัน เธอสามารถสร้างผลงานที่หน้าตาเป็นมิตรและเข้าถึงง่ายตามที่ตั้งใจไว้ แต่วิธีการทำก็ยังใส่อารมณ์แบบเต็มไม่กั๊ก (แอบรุนแรงซะด้วยซ้ำ) จนเรียกได้ว่า จริงกับตัวเองขั้นสุด
อาจารย์ที่ญี่ปุ่นที่มองลึกลงไปถึงความตั้งใจเหล่านี้ยังทักเลยว่า เอกลักษณ์ในงานของเธอคือความ ‘ก้าวร้าวแต่นุ่มนวล’
Art through the Senses
สิ่งหนึ่งที่เราชอบในการมาชมงานของน้ำมนต์คือการได้สัมผัสงานศิลปะเหล่านี้ด้วยมือของตัวเอง ได้รู้ว่าชิ้นนี้เรียบหรือขรุขระ หนักหรือเบา ทึบหรือกลวง
“ไม่กลัวงานพังเหรอ?” เราถามเธอ เพราะคิดว่าการที่งานเลอะ แตก หัก น่าจะเป็นฝันร้ายของศิลปินหลายๆ คน
“ไม่นะ เราซ่อมได้” น้ำมนต์สวนตอบแบบไม่ต้องคิด “ศิลปะไม่ใช่แค่ Art Form แต่คือประสบการณ์ และเรามองว่าการสัมผัสคือภาษาหนึ่งที่ทำให้เกิดประสบการณ์เหล่านั้น”
เธอเสริมว่านี่ก็เป็นอีกจุดที่เธอคิดมาดีแล้วเช่นกัน ซึ่งก็ตอบโจทย์ผู้ชมจริงๆ นั่นแหละ เพราะเมื่อวันก่อนก็เพิ่งมีเด็กมาดู แต่เธอไม่ต้องกังวลเลยว่างานจะตกแตก ด้วยวัสดุและวิธีการต่างๆ การซ่อมบำรุงไม่ได้ยากเลย และดูท่าว่าการสื่อสารด้วยภาษานี้จะได้ผล เพราะเด็กคนนั้นอินกับงานของน้ำมนต์มากๆ
บางคนอินถึงขั้นซื้อผลงานติดมือกลับไปเลยก็มี ทำเอาคนที่ ‘จริง’ กับงานตัวเองมากๆ อย่างน้ำมนต์ตื้นตันสุดๆ เพราะนอกจากการซื้อจะเป็นการสนับสนุนในรูปแบบหนึ่ง ยังเป็นภาษาที่ตอบกลับมาว่า ‘ฉันเข้าใจในสิ่งที่เธอทำอยู่นะ’ เป็นเครื่องหมายติ๊กถูกในเช็กลิสต์ที่ทำให้น้ำมนต์มองออกว่า ในงานชิ้นถัดไปเธอควรจะพัฒนาไปในทางไหน
รู้ตัวอีกทีเวลาก็ล่วงเลยไปเป็นชั่วโมงแล้ว…น้ำมนต์เคยเกริ่นกับเราก่อนหน้านี้ว่า นี่จะเป็นเดือนแรกที่เธอจะนำประสบการณ์และความรู้ไปช่วยให้คนอื่นได้เจอแนวทางของตัวเองบ้าง ในฐานะอาจารย์พิเศษ คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่ซึ่งเป็นเสมือนจุดเริ่มต้นของเธอ
เราอดตื่นเต้นไม่ได้ จนแอบเกิดคำถามในใจว่า คนที่มีมิติในการทำงานที่ละเอียด แต่ก็ยังกล้าที่จะทดลองกับสิ่งใหม่ๆ และไม่กลัวมือเลอะเปรอะเปื้อนแบบนี้ จะเป็นอาจารย์แบบไหนกันนะ?
“อาจารย์เอกเราเป็นผู้ชายทุกคนเลย ไม่มีอาจารย์ผู้หญิง เลยคิดว่าเราอาจจะให้ความสบายใจอะไรบางอย่างกับนักศึกษาได้ เหมือนเวลาเราคุยกับพ่อมันก็ดี แต่คุยกับแม่อาจจะได้อีกมุมนึง…อยากให้นักศึกษามีความแบบสบายใจที่จะแชร์แล้วกัน แล้วก็มีแรงบันดาลใจ มีแรงผลักดันในการพัฒนางานของเขาต่อไป อยากให้เรื่องที่เขาเคยคิดว่ายาก กลายเป็นสิ่งที่ไม่ยาก ให้มันเป็นการค้นคว้าที่สนุกอะไรแบบนี้” เธอตอบทิ้งท้าย เป็นคำตอบที่สะท้อนความเป็นตัวเองไว้อย่างแจ่มชัด
ลองสัมผัสงานของน้ำมนต์กันได้ตั้งแต่วันนี้ – 8 ธันวาคม ในนิทรรศการ ‘PAPERCLUB 101’ ที่ Galileoasis เวลา 10.00-18.00
และติดตามผลงานที่ไม่น่ารักของเธอได้ที่ IG: uowwau