About
ART+CULTURE

NJORVKS Memories

NJORVKS อาร์ตไดเรกเตอร์นักออกแบบปกหนังสือให้เหมือนออกแบบคาแรกเตอร์คน

Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • คุยกับ นิว-สายรุ้ง รุ่งกิจเจริญการ เจ้าของนามปากกา NJORVKS จากเด็กไม่ดูการ์ตูนที่ชอบอ่านนิตยสาร สู่คนออกแบบที่ใช้ Typography เป็นเครื่องมือชูผลงาน สนุกกับการเปลี่ยนคาแรกเตอร์ตัวเอง และคิดคาแรกเตอร์ให้หนังสือที่ต้องออกแบบ

หลังจากพูดคุยและถ่ายรูปกันเสร็จสรรพ หรือเรียกให้ถูกและพูดให้เต็มคือ การมาสัมภาษณ์อาร์ตไดเรกเตอร์ประจำสำนักพิมพ์ Salmon Books อีกทั้งยังเป็นผู้ออกแบบปกหนังสือที่หลายคนอาจคุ้นตาและถูกใจ จนต้องซื้อกลับไปอ่านโดยไม่ทันได้รู้เรื่องย่อด้วยซ้ำ (เราเองก็เป็นหนึ่งในนั้น) สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี เรากำลังจะออกจากตึกบันลือกรุ๊ปไปเผชิญหน้ากับอากาศร้อนอีกครั้ง ซึ่ง นิว-สายรุ้ง รุ่งกิจเจริญการ เจ้าของตำแหน่งข้างต้นได้บอกกับเราว่า ถ้ากลับเย็นกว่านี้คงได้ประสบกับความวิบากของรัชดา ซอย 3 ในช่วงไพร์มไทม์คู่ไปด้วย

แต่ถ้าจะพูดถึงหลักใหญ่ใจความของบทความนี้ ก็ต้องย้อนเวลากลับไปสัก 2 ชั่วโมงก่อนหน้า เราชวนนิวพูดคุยเกี่ยวกับขั้นตอน กระบวนการ และแนวคิดการออกแบบปกหนังสือเล่มต่างๆ ภายใต้นามปากกา NJORVKS อ่านออกเสียงว่า ‘นิวยอร์ก’ มีที่มามาจากศิลปินชาวไอซ์แลนด์นาม Björk (ปีเยิร์ก) และความชื่นชอบในเมืองนิวยอร์ก

เราเชื่อว่าเล่มที่นิวเป็นคนออกแบบปก ไม่มากก็น้อยจะต้องมีอยู่ในกองดองหรือชั้นหนังสือของใครหลายคนแน่นอน ไล่เรียงกันคร่าวๆ ได้แก่ i don't want a new chapter, i like the old one, ON EARTH WE’RE BRIEFLY GORGEOUS, SLUR: BOOK และหนังสือรางวัลซีไรต์ปี 2566 อย่าง ด้วยรักและผุพัง

เมื่อ 2 ชั่วโมงที่แล้ว เราได้รู้อะไรบ้างจากการพูดคุยกับนิว หนึ่ง เธอเป็นคนสายงานออกแบบที่วาดรูปไม่ได้ พอเป็น แต่ไม่สวย ซึ่งเธอกลบปัญหานั้นด้วยความโดดเด่นด้าน Typography (การออกแบบที่ใช้ตัวอักษรเป็นหลัก) นั่นเองที่ทำให้ปกหนังสือของ Salmon Books มีคาแรกเตอร์ที่แตกต่างไปจากงานภาพประกอบในตลาดหนังสือบ้านเรา

สอง เมื่อพูดถึงคาแรกเตอร์แล้ว การทำงานของเธอและทีมก็มีอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ พวกเธอมักจะสร้างคาแรกเตอร์ให้หนังสือเพื่อจะได้มองเห็นภาพรวมและตัวตนของหนังสือเล่มนั้นๆ ส่วนอย่างสุดท้ายคือ การเอาแนวคิดด้านการโฆษณามาอยู่บนปกเพื่อไม่ให้มันขายยากเกินไป สะดุดตาเหมือนบิลบอร์ด และสู้กับความเร็วของโลกทุกวันนี้ได้ทันท่วงที

โดนคนอ่านหรือออกเสียงนามปากกาผิดเยอะไหม - เราถามคำถามแรกกับนิวเพื่อเริ่มต้นบทสนทนาเมื่อ 2 ชั่วโมงที่แล้ว

“น่าจะอ่านไม่ผิดนะ แต่อาจจะอ่านไม่ออกเลย” นิวเริ่มต้นบทสัมภาษณ์นี้ด้วยเสียงหัวเราะ

NJORVKS

KNOW MY NAME นามไม่สมมติ

ก่อนจะไปรู้จักกับผลงาน เราก็ต้องทำความรู้จักกับเจ้าของผลงานกันก่อนสักเล็กน้อย เริ่มตั้งแต่วัยเด็ก ช่วงเวลาที่ผู้คนมักจะถูกผูกติดอยู่กับคำว่าศิลปะ นิวเองก็เป็นหนึ่งในนั้นกับความชอบที่มีต่อรายการ Art Attack รวมถึงงานอดิเรกที่ชอบดูรูปและเลย์เอาต์ในหนังสือแมกกาซีนทั้งของไทยและเทศ เก่าและใหม่ หัวนิตยสารค่อยๆ เปลี่ยนไปตามยุคสมัย กระทั่งเข้าสู่ยุคของคอมพิวเตอร์ที่อินเทอร์เน็ตยังไม่แรงระดับ 5G มือถือยังไถ TikTok ไม่ได้ ทำให้ความสนุกของนิวในตอนนั้นคือ การฝึกใช้ Photoshop

“สมัยนั้น Photoshop ไอคอนยังเป็นขนนกอยู่เลย เราก็ไปร้านหนังสือเพื่อซื้อ Tutorial มาลองใช้ดูว่าโปรแกรมนี้ทำอะไรได้บ้าง เหมือนมันเริ่มจากตรงนั้น เพราะเราวาดรูปไม่ได้ แต่ยังอยากทำงานศิลปะอยู่ ก็เลยลองทำอันนี้ดู” นิวเล่าถึงจุดเริ่มต้นในแบบฉบับของคนไม่ถนัดวาดรูป

เวลาล่วงเลยผ่านไป นิวในวัยมหา’ลัยกลายเป็นคนที่ชื่นชอบในงาน Typography และใช้เป็นแนวทางหลักสำหรับออกแบบงานชิ้นต่างๆ เธอมองว่าส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการอ่านนิตยสารระดับใช้คำว่าเยอะมากได้เลย จนวันหนึ่งเธอก็เริ่มรู้สึกระหว่างมองงานออกแบบ มองการจัดเลย์เอาต์ หรือมองการวางรูปต่างๆ ว่า ถ้าเป็นเราคงจะทำอีกแบบหนึ่ง

“ช่วงสมัยเรียนมหา’ลัย เราไปเจองานของกราฟิกคนหนึ่งชื่อว่า Massimo Vignelli เป็นกราฟิกชาวอิตาลี เราจะเห็นกันในแผนที่ที่ว่า Subway ในนิวยอร์กจะเป็นป้ายวงกลมสีๆ แล้วมีตัวหนังสือเพื่อแบ่งแต่ละสาย เขาเป็นคนออกแบบระบบให้มันเข้าใจง่ายขึ้น แล้วด้วยความที่เราชอบนิวยอร์กอยู่แล้ว แถมงานของเขาอีกหลายๆ อย่างก็ถูกใช้ที่นิวยอร์กด้วย เรารู้สึกว่าดีจังเลย กราฟิกหนึ่งคนสามารถเปลี่ยนเมืองได้ในหลายๆ มิติ” นิวเล่าถึงความประทับใจ

NJORVKS

เข้าสู่ปี 3 ของมหา’ลัย เธอเลือกวิชาเอกเป็น Advertising ส่งผลให้งานในช่วงนั้นเป็น Print Ads ค่อนข้างเยอะ และเธอเองก็ดูจะชื่นชอบการทำสิ่งนี้พอสมควร

“ตอนนั้นรู้สึกว่ามันก็เป็นอะไรที่น่าสนใจจริงๆ นอกจากเราจะได้ทำกราฟิก เรายังได้คิดวิธีสื่อสารของตัวงานอีกว่าจะขายโปรดักซ์นี้บน Print Ads ที่มีขนาดและพื้นที่จำกัดยังไง” นิวอธิบายความรู้สึกเมื่อตอนนั้น

NJORVKS

แต่ไปๆ มาๆ จากเดิมทีที่มีความคิดว่า เรียนจบไปฉันคงเข้าทำงานที่เอเจนซีเฮาส์สักแห่ง กลับกลายเป็นว่านิวในสถานะ First Jobber ได้เข้ามาเป็นกราฟิกให้กับสำนักพิมพ์ปลาว่ายทวนน้ำอย่าง Salmon Books เสียอย่างนั้น หนำซ้ำยังเข้ามาเป็นกราฟิกเพียงคนเดียวอีกต่างหาก

“เราเป็นน้องเล็กที่เข้ามาใหม่ แล้วไม่มีรุ่นพี่ที่เป็นกราฟิก เราเลยพยายามทำเหมือนที่คนก่อนๆ เคยทำมา ใช้ไอคอน ใช้ภาพประกอบ แต่เราอาจจะวาดรูปไม่ได้เหมือนเขา ช่วงแรกๆ ก็อาจจะมีงานแนวคอลลาจอยู่บ้าง มันเป็นช่วงที่เรายังไม่รู้ว่า เราทำอะไรได้บ้างไม่ได้บ้าง”

NJORVKS

CHAPTER 1 : LOST

หลังจากเข้ามาทำงานได้ประมาณ 1 ปี นิวมีโอกาสลองทำปกหนังสือเป็น Zine เล่มเล็กๆ ที่จะวางขายในงานอาร์ตบุ๊กแฟร์ แต่พอทำออกมา ทางทีมกลับเปลี่ยนใจ ไหนๆ ทำแล้ว งั้นพิมพ์จำนวนเยอะๆ วางขายในร้านไปเลยละกัน เรื่องของเรื่องคือ นิวในตอนนั้นไม่รู้อะไรเกี่ยวกับการทำปกหนังสือเลย เรียกได้ว่าหลายๆ อย่างต้องพึ่งพาการคลำหาทางเอาเอง และรอรับฟีดแบ็กเพื่อมาปรับแก้ในงานต่อๆ ไป จนมาถึงหนังสือเล่มแรกที่ต้องออกแบบปกอย่างจริงจัง ไม่ใช่แค่ Zine เล่มเล็กๆ แล้ว เล่มนั้นคือ CHAPTER 1 : LOST หนังสือรวมเรื่องหลงของนักเขียน 14 ชีวิต

“เล่มนี้รู้สึกว่าเราพยายามไปหน่อย เพราะว่าข้างในจะมีการเล่นเลย์เอาต์ตามเรื่องที่เล่า ถ้ามันพูดถึงตัวละครตกลงมาจากฟ้า ตัวหนังสือก็จะตกลงตามไปด้วย เหมือนเราพยายามหาวิธีว่า เราทำอะไรสนุกๆ กับหนังสือได้บ้าง

หรือถ้าสังเกต การทำปกจะยังไม่ประณีตพอ ด้วยความที่เราโดนให้ทำปกเลย โดยที่ตอนนั้นเป็นกราฟิกคนเดียวในทีม ไม่มีอาร์ตได ไม่มีใครมาช่วยคุม ทำด้วยความเข้าใจของเราเองล้วนๆ ยังไม่รู้เลยว่าระยะขอบคืออะไร ตัดตกคืออะไร พอพิมพ์หนังสือจริงๆ แล้วเข้าโรงพิมพ์สีมันจะดรอปลง กระดาษที่เลือกก็มีผล มันเลยยังมีความขาดๆ เกินๆ อยู่”

NJORVKS

เล่มที่ 1 ผ่านมาถึงเล่มที่ 4 อย่าง ด้วยรักและผุผัง นิวถึงกับต้องบอกว่าแค่ปกที่ 4 ก็เจอกับงานยากแล้ว ในตอนนั้นเธอตั้งโจทย์การออกแบบไว้ว่า มันต้องเป็นหนังสือที่พูดเรื่องจีนๆ ที่ปกไม่ใช่สีแดง พร้อมกับหาองค์ประกอบอื่นๆ มาใช้เป็นตัวเสริมการเล่าเรื่องแทน ซึ่งกว่าจะมาเป็นปกที่เราเห็นกันก็ผ่านการลองผิดลองถูกมาไม่น้อยเลย

“ตอนแรกปกที่ทำจะเป็นรูปถ่ายคนที่แปะลงไปเลยแบบคอลลาจ แต่สุดท้ายทำออกมาแล้ว มันไม่ใช่สิ่งที่หนังสือเล่มนี้จะเล่า เล่มนี้มันเป็นเรื่องของความรู้สึก เป็นคำพูดที่พูดต่อกันในครอบครัวคนจีน งั้นลองทำ Typo ดีกว่า ส่วนหนึ่งเพราะจับจุดจากคำว่า ‘ด้วยรักและผุผัง’ ที่มีความตรงกันข้าม ก็เลยใช้มีดมาทำเป็นชื่อเรื่อง เพราะเป็นอุปกรณ์ทั่วไปที่เราใช้ในบ้าน แล้วมันก็สามารถทำร้ายเราได้ด้วย ไฟที่อยู่บนปกก็ให้แสงสว่างได้ ทำให้เราโดนเผาก็ได้” นิวเล่าถึงการออกแบบปกหนังสือรางวัลซีไรต์

การออกแบบปกหนังสือเล่มที่ 4 ของนิวก็ยังมีพื้นฐานอยู่บนคำว่าไม่รู้เช่นเคย ความไม่รู้อย่างแรกคือ การทำปกหนังสือจะเชื่อจากสิ่งที่เห็นในจอเพียงอย่างเดียวไม่ได้ เพราะเมื่อพิมพ์แล้วนำมาพับ ความหนาของหนังสือจะกินพื้นที่ที่เคยคิดว่าพอดีบนปกไปโดยปริยาย ไหนจะเรื่องการเว้นพื้นที่ให้คนวางนิ้ว การเลือกขนาดและความหนาของตัวอักษร หลายสิ่งหลายอย่างแม้แต่นิวในตอนนี้ก็เพิ่งจะมาสังเกตเห็นตอนหนังสือออกมาเป็นรูปเล่มแล้วนี้เอง

NJORVKS

“สมัยเรียนเราทำงานเพื่อให้สวย เพื่อให้อาจารย์ให้เกรด แต่การทำหนังสือ มันไม่ได้ขายคนแค่อายุเดียว หนังสือแซลมอนอาจจะดูเหมือนขายวัยรุ่น แต่ก็มีคนที่อายุเยอะ คนวัยทำงานที่อ่านเหมือนกัน จะทำไงให้บาลานซ์ระหว่างสไตล์ของเรากับการขายหนังสือเล่มนั้น เพราะพอมันไปอยู่ในร้านหนังสือ ใครจะซื้อก็ได้”

นิวยกตัวอย่างอีกเล่มหนึ่งที่มีชื่อว่า i don’t want a new chapter, i like the old one. เพราะเป็นเล่มที่เธอเริ่มรู้แล้วว่า การทำปกหนังสือต้องทำแบบไหน และนอกจากจะทำให้ปกสวยแล้ว เธอยังคิดอีกว่าเล่มนี้จะมีวิธีการขายอย่างไร

นิวนำลูกเล่นของตัวหนังสือที่ตอนจบของแต่ละตอนจะเป็นตัวเชื่อมไปยังตอนถัดไป และสำหรับคนที่วาดรูปไม่ได้ท่ามกลางตลาดที่ปกเรื่องสั้นโดยส่วนใหญ่เป็นงานภาพประกอบ การนำจุดเด่นด้าน Typo ของตัวเองมาใช้ จึงเป็นข้อดีที่ทำให้งานชิ้นนี้ออกมาไม่ซ้ำใคร

NJORVKS

ปกของหนังสือเล่มนี้จึงเป็นการนำชื่อเรื่องมาทำให้สามารถอ่านเป็นคนละประโยคได้ โดยที่สุดท้ายแล้วภาพรวมคือประโยคเดียวกัน ถึงอย่างนั้น นิวเองก็มีความกล้าๆ กลัวๆ ว่าไอเดียนี้จะผ่าน บก. รึเปล่า ยิ่งแล้วใหญ่เมื่อบนปกหนังสือไม่มีชื่อภาษาไทยเลย แต่เธอก็เชื่อในความรู้สึกของคนออกแบบที่ว่า ปกนี้น่าจะทำงานในแง่ของการดึงดูดความสนใจจากผู้คนได้ และน่าจะทำให้คนอยากรู้ว่าหนังสือเล่มนี้มันเกี่ยวกับอะไร

“จริงๆ เรามองหน้าปกทุกอันเหมือนเป็นบิลบอร์ดริมถนน มองว่าคนที่เดินร้านหนังสือเป็นรถ อาจจะมีรถที่ขับเร็ว รถที่ขับช้า รถที่ทันเห็นบิลบอร์ดทั้งแผ่น รถที่เห็นแค่แวบๆ รถที่ผ่านทางนี้ทั้งวันแล้วเห็นเรื่อยๆ ต่อให้เขาจะอ่านเทกซ์ไม่ทัน เขาก็ต้องเห็นสี หรือเขาเห็นบ่อยๆ แล้วจำได้ว่าปกนี้คือปกที่เห็นบ่อยๆ เรารู้สึกว่ามันต้องทำงานแบบนั้นให้ได้ เรารู้สึกว่ามันเป็นอะไรที่มากกว่าการทำปกหนังสือสวย ต้องทำงานในแง่มาร์เก็ตติ้งและการโฆษณาได้ด้วย” นิวอธิบายขณะที่ถือหนังสือปกมากลูกเล่นอยู่ในมือ

ถ้าอย่างนั้นมีเล่มไหนที่มองว่ายากไหม – เป็นคำถามสำหรับการคัดเลือกเล่มที่นิวจะพูดถึงต่อไป เธอครุ่นคิดอยู่ครู่หนึ่งก่อนชี้ไปที่ SLUR : BOOK

NJORVKS

นิวมองว่าความยากของเล่มนี้คือ การทำงานร่วมกันระหว่างสององค์กรอย่างสำนักพิมพ์และค่ายเพลง ส่งผลให้มีหลายปัจจัยที่ต้องคิดให้รอบคอบและถี่ถ้วนเพิ่มเข้ามามากขึ้น เพราะบางทีศิลปินอาจจะมีภาพในหัวอยู่แล้ว แต่ในมุมของการทำหนังสือ เธอไม่สามารถทำให้พวกเขาได้ ส่วนอีกแง่หนึ่งคือการตีความเพื่อการออกแบบ Slur เป็นวงแบบไหน ถ้า Slur จะมีหนังสือ หนังสือของ Slur จะเป็นอย่างไร ซึ่งนิวก็ใช้วิธีที่ไม่เกินคาด อันที่จริงก็เป็นวิธีที่เธอมักจะใช้อยู่บ่อยครั้ง นั่นคือการทำเพลย์ลิสต์เพลงที่บอกเล่าถึงอารมณ์ของหนังสือเล่มนั้น

“เราก็ใช้วิธีการฟังเพลง Slur แล้วก็ทำตามอารมณ์ไป ตอนที่ทำได้ประมาณครึ่งเล่ม Slur ต้องมาถ่ายรูปที่ใช้ในช่วงท้ายเล่ม ทั้งวงก็เลยได้ดูเลย์เอาต์เล่มนี้ก่อน เขาก็ให้ฟีดแบ็กมาเพิ่มเติม เพิ่มสีนี้ เพิ่มนู่นนี่นั่น ความกระดาษขาดๆ เขาชอบหรือไม่ชอบ เขาชอบ โอเค ถ้าชอบงั้นใช้ต่อ แต่ต้องใช้ประมาณไหน ซึ่งอันนี้เป็นปกที่ Slur เลือก ไม่ใช่ปกที่กองเลือก แต่สุดท้ายแล้วก็ต้องมาเจอกันครึ่งทาง” นิวเล่าต่อถึงปกที่ไม่ถูกเลือก

จากคำบอกเล่า ปกแรกของ SLUR : BOOK ที่ทางสำนักพิมพ์เลือกจะมีรูปของสมาชิกวงแปะอยู่เพื่อช่วยส่งเสริมในแง่การขายว่า ‘นี่คือหนังสือของ Slur นะ’ กลับกันทางวงไม่อยากให้วงผูกติดอยู่กับตัวศิลปินคนใดคนหนึ่ง และอีกเหตุผลคือ การมีหน้าของตัวเองอยู่บนปกหนังสือ มันชวนให้เขินน่ะสิ ซึ่งก็ตามที่นิวบอกว่าต้องพบกันครึ่งทาง ถ้าใช้รูปไม่ได้ งั้นขอชื่อวงใหญ่ๆ แล้วกัน

NJORVKS

SAL-ARYMAN

หลังจากพูดคุยถึงเรื่องหนังสือที่ยกตัวอย่างไป เราถามนิวว่าเคยนิยามแนวหรือสไตล์ให้กับงานของตัวเองไหม เธอบอกกับเราทันทีว่าไม่ได้คิดหรือนิยามเป็นจริงเป็นจังขนาดนั้น แต่มีอยู่คนหนึ่งที่เคยนิยามงานของเธอ นั่นคืออาจารย์สมัยเรียนที่ชอบบอกว่า เธอเป็นคนทำงานมือหนัก ทำเต็มพื้นที่ ใช้ตัวอักษรตัวใหญ่ ใช้สีที่โดดเด่น เป็นงานที่เหมือนมีเสียงตะโกนออกมา

“สำหรับเรารู้สึกว่ามันมาเพื่อช่วยแก้ปมการเป็นคนวาดรูปไม่เก่ง แล้วรู้สึกว่าเราขาดเซนส์ในแง่จินตนาการ อาจจะด้วยตอนเด็กไม่ดูการ์ตูน เลยขาดเซนส์ความสร้างสรรค์ งานเลยออกมาเป็นทรงที่แข็งๆ ทื่อๆ” นิวเล่าถึงสิ่งที่ตัวเองขาดไป

ช่วงแรกนิวยอมรับว่าก็มีเสียดายที่ตัวเองไม่สามารถวาดรูปได้ เพราะบางครั้งบางตอนมันน่าจะง่ายกว่านี้หากทำเป็น เช่น โปรเจกต์เกี่ยวกับบ้าน คนอื่นก็คงวาดบ้านไปส่งกันตามปกติ แต่สำหรับเธอที่ยอมรับว่าคงวาดออกมาไม่สวยแน่ๆ จึงต้องหาวิธีทำให้ความหมายของคำว่าบ้านสามารถสื่อสารออกมาผ่านงาน Typo ที่ชอบและถนัดแทน

NJORVKS

อีกอย่างหนึ่งที่เราได้รู้คือ นิวเป็นคนทำงานดราฟต์เดียว น้อยครั้งที่จะมีตัวเลือก เพราะถ้าชิ้นที่ชอบที่สุดไม่ถูกเลือก ตัวเองก็คงนอยด์น่าดู แต่นั่นแหละ สุดท้ายแล้วการพบเจอกันครึ่งทางก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้จริงๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเป็นหนังสือแปล

“จริงๆ ในแง่ของการทำงานไม่ได้ต่างกันมากกับหนังสือที่นักเขียนเป็นคนไทย เพียงแต่ว่าถ้าอย่างหน้าปกและเนื้อใน ก็ต้องเผื่อเวลาในการส่งกลับไปให้นักเขียนฝั่งนู้นดู เพื่อให้เขา approve ด้วยความที่มันคนละไทม์โซน บางทีเราส่งไปตอนเย็น มันคืออีกวันของเขา หรือบางทีเราส่งไปตอนนี้ ดันเป็นหยุดยาวของฝั่งนู้น

อีกข้อหนึ่งคือมันต้องส่งหลายต่อ เราส่งให้ บก. แล้ว บก.ต้องส่งให้เอเจนซี เพราะว่านักเขียนฝั่งนู้นจะมีเอเจนซีเป็นตัวกลาง เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเอเจนซีส่งไปถึงมือนักเขียนหรือยัง หรือว่าตอนนี้เอเจนซีดูกันเองอยู่ เพราะฉะนั้นบางทีเราก็รอแบบไม่รู้เลยว่าจะได้ฟีดแบ็กกลับมาไหม ทั้งที่หนังสือเราเสร็จแล้ว แต่เราไม่สามารถเอาออกไปขายได้ เพราะทางนั้นยังไม่ approve บางทีรอ 4 เดือนเพื่อให้เขาตอบกลับมาแค่ yes, approved. ก็มี” นิวเล่าถึงกระบวนการทำงานที่มีผลต่อความเดือดดาลในช่วงปิดเล่มของ Salmon Books

NJORVKS

นิวมองว่าการที่เธอได้มาออกแบบปกหนังสือ รวมถึงเรียนรู้และรับมือกับสิ่งต่างๆ ตั้งแต่สมัยยังเป็นกราฟิกคนเดียวของกองที่มีหน้าที่ตั้งแต่ออกแบบปก ดูแลเนื้อใน ใส่บาร์โค้ด ออกแบบบูธงานหนังสือ ทำป้ายราคา ยันตารางแจกลายเซ็น จนมาวันนี้ที่มีคนในทีมเพิ่มเข้ามา มีตำแหน่งเป็นอาร์ตไดเรกเตอร์ของสำนักพิมพ์ สู่คนที่มีความประนีประนอมกับความแข็งในตัวและในงานมากขึ้นแล้ว

“อย่างที่บอก ตอนเด็กๆ เราไม่ได้ดูการ์ตูน ดูแต่หนังจริงจัง สารคดี อ่านหนังสือ เลยโตมาเป็นเด็กแข็งๆ ประมาณหนึ่ง ช่วงแรกก็จะทำงานเป็นกริด เป็นตารางสามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม และจะทำงานโดยยึดความชอบของตัวเองมาตลอด เพราะงานมันจบที่เราคนเดียว

แต่พอมาทำงานหนังสือปุ๊บ มันมีคนที่เกี่ยวข้องหลายคนมาก บก. นักเขียน เจ้าของสำนักพิมพ์ ถ้าเป็นนักเขียนเมืองนอกก็มีตัวแทนของเขามาดูอีก ศิลปินก็จะพ่วงค่าย พ่วงผู้จัดการ พ่วงพีอาร์มาด้วย เพราะฉะนั้นเราไม่สามารถแข็งได้ขนาดนั้น ไม่สามารถบอกว่า ไม่ให้เปลี่ยน ไม่เปลี่ยนให้ มันทำไม่ได้ เรารู้สึกว่าต้องรู้วิธีพูดด้วย มันไม่ใช่แค่ไปบอกเขาว่าเปลี่ยนให้ได้แค่นี้แหละ ต้องพยายามพูดให้เขาเข้าใจว่าทำไมถึงเปลี่ยนได้แค่นี้ เป็นสิ่งที่เราต้องเรียนรู้”

NJORVKS

นิวเล่าถึงครั้งหนึ่งที่เธอเคยส่งคำอธิบายกลับไปยังต้นทาง หลังจากได้รับฟีดแบ็กกลับมาว่า ปกเวอร์ชันที่เธอออกแบบ ดูเป็นหนังสือ Young Adult (วรรณกรรมวัยรุ่น) เกินไป แต่เธอก็เชื่อมั่นในตลาดหนังสือของไทยที่แตกต่างจากทางฝั่งต้นทาง เพราะทางนั้นอาจมองด้วยสายตาคนตะวันตก ส่วนเธอนั้นมองด้วยสายตาของเจ้าบ้านที่ทำงานอยู่ในตลาดนี้ แม้ท้ายที่สุด นิวจะต้องจำใจแก้ไขและปรับเปลี่ยนปกจนไม่เหลือเค้าเดิมของดราฟต์แรกสักเท่าไหร่ ท้ายที่สุดในตอนที่เล่าถึงหนังสือเล่มนั้น เธอก็มองและถือว่าเป็นอีกบทเรียนหนึ่งเกี่ยวกับการประนีประนอมที่ได้จากการทำหนังสือแปล

เกือบลืมบอก หนังสือเล่มนั้นคือ TOMORROW, AND TOMORROW, AND TOMORROW

NJORVKS

NJORVKS 1st TIME

อย่างหนึ่งที่เราบอกไปตอนเปิดบทความ เธอและกองบรรณาธิการมักจะสร้างคาแรกเตอร์ให้กับหนังสือแต่ละเล่มว่า เขาจะเป็นคนยังไง กินข้าวที่ไหน ฟังเพลงอะไร เล่นเฟซบุ๊กหรือทวิตเตอร์ ไปจนถึงเป็นคนฐานะประมาณไหน ซึ่งแง่หนึ่งมันช่วยให้เธอและทีมเห็นภาพตัวตนของหนังสือเล่มนั้นๆ และช่วยให้เข้าถึงได้ง่ายขึ้นตามแบบฉบับของแซลมอนบุ๊คส์ มากหน่อยก็อาจรับรู้ถึงจิตวิญญาณ ถึงขั้นเห็นความเป็นคนที่อยู่ในหนังสือเล่มนั้น

สาเหตุหนึ่งที่ทำแบบนี้ เห็นจะเป็นเพราะการทำปกสำหรับเธอ รวมถึงสิ่งที่สำนักพิมพ์ Salmon Books ให้ความสำคัญคือ Storytelling (การเล่ารื่อง) ที่เมื่อทำเสร็จแล้วจะต้องสามารถมานั่งเล่าได้แบบที่นิวเล่าถึงหนังสือแต่ละเล่มให้เราฟัง แต่อีกแง่หนึ่ง การสร้างคาแรกเตอร์เหล่านั้นก็มีความยากปะปนอยู่เหมือนกัน

“มันก็ใช้เวลาขึ้น แต่พอเราไม่ใช่คนวาดรูป เราคิดงานในหัวได้ แต่ไม่สามารถวาดมันออกมาได้ เลยต้องหาวิธีทำยังไงก็ได้ให้มันออกมาเป็นคนคนหนึ่ง เพื่อที่เราจะได้นึกภาพตาม” นิวพูดถึงวิธีแก้ปัญหาที่บางครั้งก็ช่วยให้เธอไม่ต้องอ่านหนังสือทั้งเล่มเพื่อออกแบบปก

NJORVKS

มาถึงตรงนี้ เราสงสัยว่านอกจากความสวยงามแล้ว ปกหนังสือควรสื่อสารอะไรออกไปอีก นิวมองว่าปกหนังสือเป็นเหมือนตัวอย่างหนังความยาว 2-4 นาที มันต้องช่วยเล่าสิ่งที่นักเขียนอยากเล่า พูดด้วยน้ำเสียงเดียวกับเนื้อหา ขณะเดียวกันก็ต้องไม่ไปกระทบเนื้อใน โดยทั้งหมดนั้นจะเกิดขึ้นในพื้นที่สี่เหลี่ยมขนาดจำกัด และต้องจับสายตาคนที่เดินผ่านให้ได้อย่างชะงัดนัก เพราะช่วงเวลาที่คนเดินผ่านหนังสือสักเล่มนั้นแสนสั้น ยิ่งโลกออนไลน์ยิ่งแล้วใหญ่ ความเร็วกลายเป็นโจทย์ตั้งต้นให้คนทำปกต้องคิดว่า ทำอย่างไรคนถึงจะหยุดดูปกหนังสือเล่มนั้น

“เรารู้สึกว่าปกหนังสือไม่ควรบอกอะไรเยอะเกินไปสำหรับคนที่ยังไม่ได้อ่าน แต่สำหรับคนที่อ่านแล้ว มันควรจะต้องบอกภาพรวมทุกอย่างของหนังสือ มันต้องทำงาน 2 ด้านให้ได้” นิวเสริม

2 ชั่วโมงผ่านไปใกล้กลับมายังช่วงเวลาปัจจุปัน เราบอกกับนิวว่าเหลือ 3 คำถามสุดท้ายแล้ว เรายิงคำถามที่เหลือไปว่า ในฐานะคนทำงานออกแบบ งานต้องออกมาแบบไหนถึงจะเรียกได้ว่า งานชิ้นนี้ทำเสร็จแล้ว

NJORVKS

“เราชอบค่ะ” นิวตอบด้วยเสียงหัวเราะ “เมื่อก่อนจะคิดว่าเสร็จแล้วก็ต่อเมื่อหัวหน้าให้ผ่าน หนังสือได้พิมพ์ จบ แต่ว่าพอทำงานมาเรื่อยๆ ก็เริ่มรู้สึกว่า จริงๆ งานมันจะจบได้เราต้องภูมิใจกับมันด้วย เราไม่อยากทำงานออกไป แล้วไม่กล้าบอกว่าเราเป็นคนทำเล่มนี้ พยายามบอกกับทีมกราฟิกด้วยว่า งานมันจะเสร็จได้ก็ต่อเมื่อชอบแล้ว เวลาตรวจงานก่อนที่จะส่งให้นักเขียน ก่อนที่จะให้ บก.มาดู ก็จะถามกันเองเลยว่า ชอบหรือยัง ถ้ายัง ก็แก้ไปก่อน เรานำเสนอสิ่งที่เราอยากทำเต็มที่ แล้วถ้าเขาจะแก้ เขาก็ต้องแก้จากสิ่งที่เรานำเสนอไปแล้ว” นิวตอบคำถามแรกอย่างครบถ้วน

แต่ถึงแม้เราจะชอบขนาดไหน ก็ใช่ว่าทุกคนจะชอบตาม มันจึงนำมาซึ่งฟีดแบ็กจากนักอ่านในโลกออนไลน์ที่นิวยอมรับว่า ชาวแซลมอนนั้นขยันไปหามาอ่านเหลือเกิน ซึ่งบางคำติชมก็ทำเอานิวสั่นคลอนในความมั่นใจ เราควรจะแก้ดีไหมนะ ถ้าแก้แล้วนักอ่านชอบ แต่จะขาดความเป็นตัวเองไปเลย พอรับรู้ก็อดไม่ได้ที่จะเก็บมาคิดระหว่างออกแบบ จะปล่อยเบลอเลยก็คงไม่ได้ สุดท้ายแล้วก็ยังเป็นสิ่งที่เธอต้องหาสมดุลและรับมือกับมันต่อไป พร้อมๆ กับพึ่งพาการเล่นโซเชียลเพื่อบอกเล่าเรื่องราวการทำปกหนังสือ โดยหวังให้คนเข้าใจในสิ่งที่ตัวเองต้องการสื่อสารผ่านงานออกแบบมากที่สุดเท่าที่จะทำได้

คำถามรองสุดท้าย ความสนุกของการทำปกหนังสือคืออะไร นิวยกเรื่องคาแรกเตอร์มาพูดอีกที เพียงแต่ครั้งนี้เธอหมายถึงตัวเอง ซึ่งเป็นคนที่ไม่สามารถจดจ่ออยู่กับโปรเจกต์หนึ่งเป็นเวลานานๆ ได้ การทำปกหนังสือจึงเหมือนการได้ปรับเปลี่ยนคาแรกเตอร์ของตัวเองอยู่เรื่อยๆ

NJORVKS

“รอบนี้เราอาจจะเป็นคนขรึมๆ รอบถัดไปเป็นผู้หญิง แล้วก็เป็นผู้ชาย แล้วก็เป็นคนไม่มีเพศ แล้วเดี๋ยวเราก็เป็นผู้หญิงติ๊งต๊อง เดี๋ยวก็เป็นผู้หญิงมีความรัก แต่ละโปรเจกต์ทำให้ได้มองหามุมมองใหม่ๆ เพิ่มขึ้น และสนุกขึ้นด้วย” นิวเล่าด้วยรอยยิ้ม

บทสนทนาดำเนินมาถึงคำถามสุดท้าย คำตอบของเธอที่มีต่อคำถามนี้ค่อนข้างเกินความคาดหมาย เมื่อเราถามว่า เธอมีหนังสือเล่มที่อยากออกแบบปกให้เป็นพิเศษไหม นิวบอกว่าเธออยากออกแบบหนังสือที่กลุ่มเป้าหมายเคยชินกับภาพลักษณ์แบบนั้นไปแล้ว เราขอให้ยกตัวอย่างเพราะทีแรกนึกถึงหนังสือแปลที่มีปกต้นฉบับ

“พวกหนังสือพระเลย” นิวหักปากกาเซียนที่เก็งคำตอบไว้แบบไม่มีเหลือ “นิตยสารพระ หนังสือชายแท้ นิตยสารผู้หญิงหวานๆ พวกการ์ตูนผีในเซเว่น หรือการ์ตูนตาหวานที่มีภาพจำของมันอยู่แล้ว เราจะทำยังไงให้คงภาพจำนั้นไว้ โดยไม่ไปเปลี่ยนสิ่งที่กลุ่มเป้าหมายชอบ รู้สึกว่ามันยากแต่ว่าน่าทำ” นิวย้ำอีกทีว่าอยากทำจริงๆ นะ

ก่อนจากกันเราถามนิวว่ามีโอกาสได้ไปนิวยอร์กสักครั้งหรือยัง เธอบอกว่าตอนนี้ยัง แถมรู้สึกว่าไม่ได้ชอบนิวยอร์กขนาดนั้นแล้ว

“เมืองมันเร็วไปสำหรับอายุเราตอนนี้แล้ว รู้สึกว่ามันเป็นเมืองที่เหมาะกับเอเนอร์จีสมัยวัยรุ่น แต่ไม่นานมานี้เพิ่งไปลอนดอนมา ก็รู้สึกว่าจริงๆ ลอนดอนดูเป็นเรามากกว่าในแง่ของการ inspire ศิลปะ” นิวตอบคำถามท้ายสุดเป็นที่เรียบร้อย แต่บอกก่อนว่าเธอคงไม่เปลี่ยนนามปากกาเป็นลอนดอนแน่นอน…หรือเปล่า

NJORVKS

ติดตามผลงานของ NJORVKS ได้ที่
FB: NJORVKS
IG: NJORVKS

Tags: